[On This Day] 19 พฤษภาคม 2553 ที่ตรงนั้นเคยมีคนตาย

13 ปีที่แล้ว​ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา

13 ปีที่แล้ว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งหน่วยงานพิเศษที่ชื่อ ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน’ (ศอฉ.) เพื่อควบคุมการชุมนุมของมวลชนคนเสื้อแดง

13 ปีที่แล้ว ศอฉ. ปฏิบัติการ ‘กระชับพื้นที่’ ใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์

13 ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตจากกรณีสลายการชุมนุมมากกว่า 92 คน

และ 13 ปีที่แล้ว มีประชาชน 6 คน เสียชีวิตในเขตอภัยทาน

วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร ถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งเต็นท์พยาบาล ยาวตั้งแต่หน้าศาลาชัยสินธพ ไปจนเกือบถึงทางออกวัดปทุมฯ หน้าทางเข้ามีป้ายเขตอภัยทานติดไว้แผ่นใหญ่ ทุกคนเข้าใจโดยทั่วกันว่าเขตอภัยทานคือพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่กระสุนจริงมิสามารถรุกล้ำเข้ามาได้

เจ้าหน้าที่วัดปทุมฯ รายหนึ่งเล่าย้อนเรื่องราวเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่หลายคนที่พักอาศัยภายในวัด มีหน้าที่หลักคือการเปิด-ปิดไฟในพื้นที่ ไม่มีใครรู้ว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้น พวกเขาเห็นเพียงการตั้งเต็นท์ของผู้ชุมนุม การปิดถนนให้เหลือแค่เลนกลางให้รถวิ่ง มีร้านขายน้ำ ขายอาหารบริเวณนอกวัดปทุมฯ

นาทีก่อนเกิดเหตุ ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าความรุนแรงจะเข้ามาถึงภายในเขตอาราม เมื่อมีเสียงลั่นไก ผู้คนต่างพากันวิ่งหนีตายไปยังศาลาปฏิบัติธรรมด้านในสุดของวัด ศาลาแห่งนั้นเป็นเสมือนที่พึ่งสุดท้าย

ในวันนั้น เต็นท์พยาบาลไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย แต่กลับเป็นพื้นที่รองรับร่างของผู้วายชนม์ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสังหารด้วยอาวุธปืน

เราถามเจ้าหน้าที่วัดปทุมฯ ว่า “หลายปีที่ผ่านมาคงตอบคำถามเรื่องนี้มาเป็นร้อยครั้งแล้วใช่ไหม” เขาพยักหน้าตอบ ก่อนจะเล่าต่อว่า “ก็แค่ช่วงแรกๆ แต่หลังๆ มานี้ไม่ค่อยมีใครมาถามเรื่องนี้แล้ว จะมีก็แต่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่กลับมาทำบุญที่นี่ ทุกปี…13 ปีมาแล้ว”

แด่ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ในวัดปทุมฯ

กมลเกด อัคฮาด
สุวัน ศรีรักษา
อัฐชัย ชุมจันทร์
มงคล เข็มทอง
รพ สุขสถิต
อัครเดช ขันแก้ว

แด่ผู้เสียชีวิตทุกคน จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 
แด่ความกล้าหาญของเหล่าวีรชนคนเสื้อแดง
แด่ราษฎรที่คงอยู่ จดจำ และรำลึก

13 ปีผ่านมาแล้ว ผู้กระทำผิดยังคงไม่ได้รับโทษ ขณะที่กระบวนการยุติธรรมยังคงเงียบหาย

ที่มา:

ฟิซซา อวัน
ฟูลไทม์นิสิต พาร์ทไทม์บาริสต้า พกหนังสือไว้ข้างกายเสริมสร้างความเท่ในยุคดิจิทัล

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า