มองมหาอำนาจจีน ในวันที่จุดคานงัดเคลื่อนสู่ทิศตะวันออก

เมื่อโลกเปิดกว้างจนละลายเส้นแบ่งความเป็น ‘ตะวันตก’ และ ‘ตะวันออก’ ให้ค่อยๆ จางไป ประเทศมหาอำนาจและเป็นรัฐเอกราชเดียวในเอเชียตะวันออกที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน จะได้รับผลกระทบหรือมีท่าทีอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงนี้

ทำความเข้าใจและถอดสมมุติฟากตะวันออกที่เป็นตะวันตก และตะวันตกที่เป็นตะวันออก ผ่านงานเสวนา ‘เมื่อจุดคานงัดเขยื้อนโลกอยู่ทางทิศตะวันออก’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 โดยภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดูว่าโลกทั้งสองฟากนี้ มีจุดที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

เมื่อตะวันตกเริ่มเข้าสู่จีน

ถอดสมมุติโดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วรศักดิ์อธิบายถึงแนวคิดแบบตะวันตกแรกๆ ที่เริ่มไหลเข้าสู่จีน ว่า “แนวคิดเรื่องการค้าเสรี ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดเสรีนิยม อย่างไรก็ตาม การไหลเข้าไปเช่นนี้ ไม่อาจทำให้จีนยอมจำนน ในทางตรงกันข้าม จีนกลับดื้อรั้น แม้จะถูกกดดันให้เปิดเสรีมากขึ้นก็ตาม ซึ่งความดื้อรั้นนี้ตั้งอยู่บนหลักคิด ‘ขงจื้อ’ ที่อยู่กับชาวจีนอย่างยืนยงและถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม จึงเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่าย เสรีนิยม-อนุรักษนิยม”

ด้วยสาเหตุนี้ จึงทำให้ในยุคต่อมาเกิดการเผชิญหน้ากันอย่างแหลมคม ระหว่างหลักคิดเสรีนิยมและสังคมนิยม แต่ไม่ได้มีจุดจบว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะไป ซึ่งใช้เวลานานหลายสิบปี กว่าที่ระบบแนวคิดเสรีนิยมจะเบียดแทรกเข้ามาและเติบโตไปพร้อมความเสื่อมถอยของราชวงศ์เก่าแก่ของจีนได้อย่างช้าๆ

การเผชิญหน้ากันระหว่างสองแนวคิดในเวลานั้น ค่อนข้างมีชีวิตชีวาอยู่ไม่น้อย ขณะนี้แนวคิดสังคมนิยมกำลังรอฟักตัวมาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ ปัญญาชนเสรีนิยมที่ว่า หูซื่อ ได้ชักชวนนักเสรีนิยมฝั่งตะวันตก ชื่อว่า จอห์น ดิวอีย์  (John Dewey) เป็นชาวอเมริกัน เข้ามาเผยแพร่หลักคิดเสรีนิยม

“แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ยุคผู้นำของ เติ้ง เสี่ยวผิง การเผชิญหน้าก็ต้องสิ้นสุดลง เพราะในที่สุดจีนเลือกสมาทานเข้าสู่ลัทธิเสรีนิยมใหม่หรือ Neoliberalism

“จีนไม่ต้องใช้ความเป็นประชาธิปไตยหรือการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมาค้ำคอตัวเองให้มาก เหมือนดั่งที่ตะวันตกทำ แต่ปรับแนวคิดนี้ให้เป็นแบบจีนๆ จนสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย แม้ต้องอยู่ท่ามกลางขยะกลางทะเลและมลพิษทางอากาศ”

ส่งผลให้ทุกวันนี้ปรัชญาทางการเมืองตะวันตกในจีน ยังคงเป็นส่วนผสมระหว่างสังคมนิยมใหม่และเสรีนิยมใหม่ ซึ่งส่วนผสมที่ว่านี้ ถูกดำเนินไปภายใต้รูปร่างหน้าตาของผู้ปฏิบัติอันปราศจากกลิ่นนมเนย แต่ได้สร้างตัวตน จนกลายเป็นมหาอำนาจที่น่าเกรงขาม และถ้า เหมา เจ๋อตุง ยังมีลมหายใจอยู่ คงตอกย้ำความเชื่อของเขา ผ่านคำพูดของตัวเองที่เคยลั่นไว้ในปี 1950 ว่า ณ บัดนี้ ‘สายลมตะวันออกได้พัดอยู่เหนือสายลมตะวันตกแล้ว’

จีน มหาอำนาจที่ไม่เคยแน่นิ่ง

ถอดสมมุติโดย: รองศาสตราจารย์วีระ สมบูรณ์ อาจารย์อาวุโส ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อันที่จริงการเกิดเสรีนิยมขึ้นในจีน ก็นับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ยอดเยี่ยมของการเขยื้อนจุดคานงัด ที่ฟากตะวันตกทำต่อฟากตะวันออก และเป็นสิ่งตอกย้ำว่า ตะวันตกจะมีอิทธิพลต่อจีนมากจริงๆ

แต่วีระได้อธิบายเสริม และยกกรณีศึกษาที่ทำให้เห็นโลกอีกแง่หนึ่งว่า ‘จีนก็มีความสำคัญกับตะวันตกเช่นกัน’

“จีนในฟากตะวันตกมีอิทธิพลและความสำคัญมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่อดีตแล้ว ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีการศึกษาและเผยแพร่องค์ความรู้แบบจีนสู่ตะวันตกอย่างแพร่หลาย เห็นได้จากตำราเก่าๆ ที่ถูกเขียนและตีพิมพ์เป็นภาษาละติน เช่น หนังสือชื่อว่า Confucius sinarum philosophus จัดทำโดยนักบวช เนื้อในเป็นเรื่องราววิทยาการแบบขงจื้อ รวมถึงความรู้แบบจีน (Knowledge of China) ซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อปี 1678 หรือราวๆ สมัยพระนารายณ์ ในไทย”

สิ่งที่น่าสนใจคือ เนื้อในหนังสือเล่มนี้พูดถึง ‘หลักทวิลักษณ์’ หรือ หยินหยาง ซึ่งทำให้รู้ว่าคนจีนมีวิธีคิดและเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปของธรรมชาติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเป็นไป โดยไม่มีเรื่องของศาสนาหรือเทพเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง

“อีกเล่มที่ถูกเผยแพร่ชื่อว่า Jean Baptiste du halde เป็นหนังสือภูมิศาสตร์เล่มแรกของจีนที่มีรูปภาพแผนที่อย่างละเอียด จึงทำให้ชาวตะวันตกเริ่มมองเห็นและสนใจในจีนมากขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีงานอีกหลายชิ้นที่ชาวตะวันตกพยายามศึกษาแนวคิดของจีน จนสามารถสังเคราะห์ได้ว่า “จีนทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา จริยธรรม การปกครอง กฎหมาย การสืบทอด การไม่แยกขาดของพลเมือง” ซึ่งแนวคิดต่างๆ เช่นนี้ มันนำไปสู่การอธิบายถึง ‘ความเสรีในแบบจีน’ ที่มีผลลัพธ์เป็นความมั่งคั่งอย่างล้นหลามในปัจจุบัน

เมื่อเส้นแบ่งระหว่างตะวันตก-ตะวันออกไม่เป็นสีขาวและดำที่ชัดเจนอีกต่อไป ความรู้ถูกถ่ายเทไปมา ตะวันตกไหลเข้าตะวันออก-ตะวันออกไหลเข้าตะวันตก

วีระบอกว่า “ในฐานะผู้นำประเทศ สี จิ้นผิง จึงต้องศึกษางานต่างๆ จากตะวันตกด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจและประมวลความเป็นจีน ผ่านสายตาตะวันตก และเดินไปสู่จุดหมายแบบที่ตัวเองคาดไว้”

ซึ่งท่ามกลางยุคเสรีนิยมและความเบลอของเส้นแบ่งโลกนี้ โจทย์ต่อไปของจีนคือการจะหาวิธีการใด ที่จะทำให้ตัวเองเดินไปอย่างปลอดภัย และยังคงเป็นตัวเองอยู่…เพื่อจะทำให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศผู้นำด้านความเข้มแข็งระดับชาติ และมีอิทธิพลต่อนานาชาติให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นความฝันอันสูงสุดของจีน

จีน ผู้ละทิ้งตะวันออก?

ถอดสมมุติโดย: ธีวินท์ สุพุทธิกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อมองเห็นการถ่ายเทความรู้ต่างๆ ระหว่างตะวันตก-ตะวันออก จนหล่อหลอมทำให้เกิดเป็นแนวคิดที่สะท้อนจุดยืนในเชิงยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจอย่างจีนแล้ว

ธีวินท์ชวนตั้งคำถามทิ้งท้ายในงานเสวนาได้อย่างน่าสนใจไว้ว่า “แม้ สี จิ้นผิง จะพยายามศึกษาและอ่านแนวคิดจากตะวันตกอย่างมากมาย แต่ไม่มีงานใดที่เป็นงานแนวคิดเชิงญี่ปุ่นเลย”

ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่แน่ใจและพูดยาก หากจีนมองญี่ปุ่นว่าเป็นศัตรู ก็คงไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องไปเรียนรู้ให้มากนัก แต่อย่าลืมว่า ญี่ปุ่นได้กลายเป็นหมากในเกมสงครามคาบสมุทรเกาหลีที่แข็งแรงและมีพลังในตัวเอง ซึ่งจีนก็ควรจะให้ความสำคัญเช่นกัน

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า