Hong Kong: The Day After Tomorrow หลังวันพรุ่งนี้ ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การชุมนุมประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ของฮ่องกงเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2019 ชาวฮ่องกงหลักแสนมาร่วมกันชุมนุม โจทย์ใหญ่ในครั้งนี้คือการคัดค้านกฎหมาย ‘การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน’ (extradition bill) ที่จะทำให้จีนขอให้ทางการฮ่องกงส่งตัวผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีที่ประเทศจีนได้ และจีน-มหาอำนาจเผด็จการในสายตาโลกสากล จะเข้ามาสวม ‘ความเป็นจีน’ ให้กับฮ่องกงมากขึ้นอีกขั้น

การชุมนุมประท้วงมาถึงจุดสูงสุดในวันพุธที่ 12 มิถุนายน หลังการปะทะหลายครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐยกระดับมาตรการควบคุมฝูงชน เริ่มฉีดน้ำใส่ ยิงแก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย และใช้กระสุนยาง ทำให้ยอดผู้บาดเจ็บล่าสุดคือ 72 คน สาหัส 2 คน

ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่คือกลุ่มคนหนุ่มสาวชุดดำ พยายามฝ่าแนวกั้นเข้าไปปิดล้อมอาคารสภานิติบัญญัติฮ่องกง (Legislative Council: LegCo) ซึ่งล่าสุดได้เลื่อนวาระการพิจารณากฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายนออกไปอีก

นี่คือการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ฮ่องกงได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1997 ความรุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษมีทีท่าบานปลายกว่า ‘การปฏิวัติร่ม’ (Umbrella Revolution) เมื่อปี 2014 ทำให้ทางการต้องประกาศให้หน่วยราชการบางส่วนหยุดงาน ห้างสรรพสินค้าและย่านการเงินปิดตัวชั่วคราว

หลังจากโยนหินถามทางครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ครั้งที่ 2 ในวันพุธ วันพรุ่งนี้ 16 มิถุนายน ชาวฮ่องกงจะมารวมตัวกันอีกครั้ง ในขบวนที่พวกเขาเรียกว่าจะเป็น ‘การต่อสู้ครั้งสุดท้าย’ เพื่อคัดค้านกฎหมายและการครอบงำของจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะได้ชัยชนะหรือไม่ หลังวันพรุ่งนี้ ฮ่องกงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

จุดเริ่มต้นที่ฆาตกรรมวันฮันนีมูนและความหมายของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

การชุมนุมของผู้คนนับแสนนับล้านเริ่มต้นจากการฆาตกรรมที่ไต้หวันในปี 2018 เมื่อหญิงสาวฮ่องกงวัย 19 ปูน เชียว-หยิง (Poon Hiu-Wing) เสียชีวิตขณะไปฮันนีมูนกับ เฉิน ตง-เจีย (Chan Tong-Kai) แฟนหนุ่มวัย 20 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย แต่ขณะนั้นฝ่ายชายเดินทางกลับมาที่ฮ่องกงแล้ว ทำให้ไต้หวันไม่สามารถนำตัวกลับมาดำเนินคดีได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

ผู้สนับสนุนกฎหมายนี้ยกกรณีฆาตกรรมฮันนีมูนเป็นตัวอย่าง เพราะที่ฮ่องกง เฉิน ตง-เจีย จะถูกลงโทษในคดียักยอกทรัพย์และฟอกเงินของแฟนสาว มีโทษเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ปัญหาคือ โทษนี้ไม่มีความผิดฐานฆาตกรรม จึงมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนก่อนที่ เฉิน ตง-เจีย จะพ้นโทษและอาจหลบหนี

ผู้สนับสนุนชี้ข้อดีเพิ่มอีกว่า การแก้ไขกฎหมายจะทำให้ฮ่องกงไม่เป็นที่หลบภัยของผู้กระทำผิด จากเดิมผู้พิพากษาท้องถิ่นจะเป็นผู้พิจารณาคำขอการส่งตัว หากผู้ใดมีความขัดแย้งด้านศาสนา การเมือง หรือมีโอกาสรับโทษประหารชีวิต จะปฏิเสธการส่งตัวทันที แต่กฎหมายใหม่นี้ ผู้ว่าการฮ่องกงมีอำนาจรับรองคำร้องได้ หลังผ่านการพิจารณาของศาลและฝ่ายกฎหมาย โดยไม่ต้องดูขั้นตอนอื่นๆ ในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

แคร์รี แลม ผู้ว่าการฮ่องกง

ใครคือตัวตั้งตัวตีในการแก้กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

แคร์รี แลม (Carrie Lam) คือผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงคนที่ 4 เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 กรกฎาคม 2017 จากคณะกรรมการ 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจจากจีน ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกเธอว่า เป็นผู้ว่าฯ ที่มาจาก ‘การเลือก มากกว่าการเลือกตั้ง’ (selection rather than an election) นอกจากนี้ครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติก็มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม คัดจากกลุ่มผู้สนับสนุนแนวทางของจีน

แคร์รี แลม ยืนกรานสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายนี้ เธอให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้เกาะฮ่องกงเป็น ‘สวรรค์ของผู้ลี้ภัย’ โดยเฉพาะผู้หลบหนีความผิดจากประเทศจีน

เธอยังประณามการกระทำของผู้ชุมนุมประท้วงและการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ไว้ว่า

“มันไม่มีการชุมนุมอย่างสงบอีกแล้ว พวกเขาวางแผนจะก่อจลาจลระดับนานาชาติ” และ “พวกเขาได้ลงมือทำเรื่องอันตรายและรุนแรงถึงชีวิต เช่น จุดไฟ ใช้เหล็กแหลมเป็นอาวุธ และขว้างปาก้อนอิฐใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ”

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการหญิงคนแรกก็รู้ว่าเรื่องนี้จะทำให้มวลชนรวมตัวกันมากขึ้น และความรุนแรงจะบานปลาย จึงได้เลื่อนการพิจารณากฎหมายออกไป

ทำไมชาวฮ่องกงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

เพราะชาวฮ่องกงรู้ว่ากฎหมายนี้จะถูกนำมาใช้กับศัตรูทางการเมือง และคำว่า ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ (One Country, Two Systems) ซึ่งกฎหมายสูงสุดคือ Basic Law มีอิสระในการบริหารตนเองในระดับสูง (high degree of autonomy) มีแนวโน้มถูกกลืนไปอยู่ภายใต้อาณัติของจีนมากกว่าเดิม นั่นหมายถึงสิทธิและเสรีภาพของชาวฮ่องกงก็จะลดลงไปเรื่อยๆ

แม้จะมีการอ้างถึงความเป็นธรรมที่มีมากขึ้น แต่ผู้ชุมนุมไม่เชื่อใจทางการจีน เพราะว่ากฎหมายนี้จะถูกนำมาใช้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง และทางการฮ่องกงก็ไม่สามารถปฏิเสธคำขอของรัฐบาลจีนได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะอัตราการตัดสินของศาลจีนว่า ‘มีความผิด’ คือ 99 เปอร์เซ็นต์ จีนใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมตัว ทรมาน และไม่อนุญาตให้มีตัวแทนทางกฎหมายหรือทนายเพื่อต่อสู้คดีในรูปแบบปกติ

 

เราไม่ใช่ ‘ชาวจีน’

ชาวฮ่องกงเกือบทั้งหมดมีเชื้อสายดั้งเดิมจากจีน และแม้ฮ่องกงจะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่การสำรวจของมหาวิทยาลัยฮ่องกงแสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่บอกว่าตัวเองเป็น ‘ชาวฮ่องกง’ (Hong Kongers) มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ที่แสดงตัวว่าเป็น ‘ชาวจีน’

นอกจากนี้ จากการสำรวจคนรุ่นใหม่ในปี 2017 ผลยังออกมาว่า มี 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ระบุว่าตัวเองเป็น ‘ชาวจีน’

คำว่า ‘ชาวฮ่องกง’ มีสถานะทางกฎหมาย อยู่ในสังคมที่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากอยู่ใต้อาณัติของอังกฤษมานาน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สำนึกและวิถีของพวกเขาห่างไกลจาก ‘ความเป็นชาวจีน’ สิ่งเหล่านี้ทำให้แนวคิดต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่มีมากขึ้น โดยเฉพาะการพยายามเข้ามาแทรกแซงทางด้านกฎหมาย การศึกษา วัฒนธรรม แม้กระทั่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนเองก็ทำให้ชาวฮ่องกงไม่พอใจ

นักกิจกรรมรุ่นใหม่หลายคนมีความพยายามสุดขั้วที่จะเรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นเอกราชจากจีน และการพยายามผลักดันกฎหมายนี้จะยิ่งทำให้ฮ่องกงไปอยู่ใต้ความควบคุมของจีนมากขึ้น

“ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณา ฮ่องกงจะกลายเป็นเพียงอีกเมืองหนึ่งของจีน” หนึ่งในผู้ชุมนุมประท้วงบอกกับสำนักข่าว BBC

เกร็ดเล็กจากการชุมนุมใหญ่

การชุมนุม 79 วันในปี 2014 ได้มอบบทเรียนเอาไว้มากมายสำหรับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮ่องกงในวัยนักเรียนนักศึกษา

ในวันชุมนุม ภายในไม่กี่ชั่วโมง ณ จุดบริการที่ตั้งอยู่หลายแห่ง ที่นั่นจะเป็นศูนย์แจกจ่ายร่ม หน้ากาก น้ำขวด พลาสติกแรป เพื่อป้องกันสเปรย์พริกไทยและแก๊สน้ำตา รวมถึงสายเคเบิลพลาสติก เทปกาว และถุงมือ นอกจากนี้ยังมีอาหาร ขนมปัง บิสกิต ตุนไว้จำนวนหนึ่ง

วันพุธที่ 12 มิถุนายน มีแคมเปญออนไลน์ ‘Create Friendly Car Crash’ เชิญชวนให้นำรถยนต์ส่วนตัว รถบรรทุก และรถบัส มาปิดถนน ทำให้มีรถยนต์อย่างน้อย 10 คันมาต่อแถวกั้นถนน Queensway บริเวณที่จะเชื่อมต่อไปยังใจกลางย่านธุรกิจของฮ่องกง

อีกหนึ่งคำถามสำคัญคือ คนนับล้าน พวกเขากินนอน เข้าห้องน้ำกันที่ไหน?

คำตอบคือ บริเวณพื้นที่ชุมนุมเป็นใจกลางเมือง ล้อมรอบด้วยร้านค้าและห้างสรรพสินค้า เช่น อาคาร Pacific Place ที่ผู้ชุมนุมใช้เป็นที่หลบแก๊สน้ำตา ก็มีร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงบริเวณนั้นมีทางเดินเชื่อมไปยังสวน มีห้องน้ำสาธารณะมากมาย ต่างจากการชุมนุมปี 2014 ที่ผู้ชุมนุมชายต้องพกขวดเปล่า และผู้ชุมนุมหญิงต้องใช้ผ้าปิดบังยามทำธุระส่วนตัว

เรื่องอาหารการกิน ไม่ไกลจากบริเวณนั้นมีทั้ง MacDonald’s Next และ KFC รวมถึงร้านอาหารแถวนั้นก็ยังทำฮ็อตดอกมาแจกจ่ายผู้ชุมนุมโดยไม่คิดเงิน

อย่างไรก็ตาม เสียงจากผู้ประท้วงบางคนเริ่มบอกว่า “ตอนนี้เราต้องการแกนนำ เพราะทุกอย่างเริ่มสับสนไปหมดแล้ว”

หลังพุธ 12 มิถุนายน นับถอยหลังสู่จุดเริ่มต้นใหม่

ฮ่องกงเริ่มกลับสู่สภาพปกติหลังการชุมนุมใหญ่เมื่อวันพุธที่ 12 มิถุนายน วันรุ่งขึ้น ถนนหลายสายเปิดการจราจร ร้านค้ายังคงปิดบริการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงเฝ้าระวังอยู่ในหลายพื้นที่

วันพฤหัสบดี ผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มกระจัดกระจายเริ่มจัดขบวนเคลียร์พื้นที่ เก็บขยะ บริเวณ Tamar Park ใกล้อาคารสภานิติบัญญัติ ผู้ชุมนุมล้อมวงร้องเพลงสวดพร้อมกับแซ็กโซโฟนบรรเลง อีกกลุ่มหนึ่งพยายามจัดหาอาหารและน้ำดื่ม ตั้งจุดปฐมพยาบาล มีที่ปรึกษาทางกฎหมาย นักเรียนมัธยมนำของกินเล็กๆ น้อยๆ และผลไม้มาแจกจ่ายผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ในพื้นที่

“มันน่าสะเทือนใจ มันคือหายนะ” โยโย เฉิน (Yoyo Chan) ผู้เคยอดอาหารประท้วงรัฐบาล กล่าวขณะช่วยเก็บกวาดพื้นที่หลังการสลายการชุมนุม เธอพบกระเป๋าที่ถูกทิ้งไว้ พร้อมบัตรประจำตัวที่ระบุว่า เจ้าของกระเป๋าเป็นเพียงเด็กสาวอายุน้อยคนหนึ่ง “ซึ่งเต็มไปด้วยความคาดหวัง เธอต้องการจะช่วยเมืองนี้เท่านั้นเอง”

บางกลุ่มรวบรวมหมวกกันน็อค หน้ากาก และสิ่งของอื่นๆ เพื่อรองรับผู้ชุมนุมที่จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ผู้ชุมนุมบางส่วนยังคงยืนท้าทายต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ชุมนุมกลุ่มใหม่ บางส่วนเป็นเด็กมัธยม ปรากฏตัวเข้าร่วมพร้อมข้อความประณามการกระทำรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ‘Stop police brutality’ และ ‘Stop shooting Hong Kong students’ – “เรามารวมตัวกันที่นี่เพื่อแสดงให้พวกตำรวจเห็นว่าเราไม่มีทางยอมแพ้” นักศึกษาวัย 23 ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian

แอนนา โซ (Anna So) เด็กมัธยมวัย 14 ปี ให้สัมภาษณ์กับ TIME ว่า ในวันที่โรงเรียนหยุด เธอตระเวนหาซื้อน้ำขวดและหน้ากาก หลังจากเดินหาอยู่สามสี่ร้าน เธอพบเพียงร้านเดียวที่ยังพอหาซื้อของเหล่านี้ได้ ของเหล่านี้ถูกนำไปรวบรวมที่ Tamar Park บริเวณที่ผู้ชุมนุมถูกสลายอย่างรุนแรง

“หนูคิดว่ามันสำคัญมากที่ต้องอยู่ที่นี่เพื่อสนับสนุนการชุมนุม” เธอบอก “หนูต้องการปกป้องฮ่องกง ไม่ต้องการให้ฮ่องกงสูญเสียอิสรภาพไป”

นักศึกษาบางส่วนพยายามยึดพื้นที่ห้างสรรพสินค้าใกล้ที่ทำการรัฐ พยายามติดต่อรวบรวมพรรคพวกให้มาปิดกั้นเส้นทางไม่ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติผ่าน ในกรณีที่ถึงกำหนดวันพิจารณาอีกครั้ง

วาน จี ตัน (Man-Kei Tam) ผู้อำนวยการ Amnesty International Hong Kong กล่าวถึงความรุนแรงที่ถูกยกระดับขึ้นจากการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “การตอบโต้ที่รุนแรงเกินไปจากตำรวจ แทนที่จะทำให้เรื่องยุติ กลับยิ่งเพิ่มความตึงเครียดและดูเหมือนว่าจะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงเลวร้ายลงไปอีก”

ขณะที่ผู้ว่าการ แคร์รี แลม กล่าวถึงการชุมนุมเมื่อเย็นวันพุธโดยเปรียบหนุ่มสาวที่มาชุมนุมเหมือนลูกของเธอ “ฉันเองก็เป็นแม่ของลูกชายสองคนเหมือนกัน” เธออุปมา “ถ้าหากปล่อยให้ลูกทำตามใจทุกครั้ง เช่นหากเขาไม่ยอมเรียนหนังสือ… ระหว่างเรามันก็อาจจะโอเค ในช่วงสั้นๆ

“แต่ถ้าฉันยอมตามพฤติกรรมเอาแต่ใจของลูกไปเรื่อยๆ เขาย่อมเสียใจเมื่อโตขึ้น ถึงตอนนั้นเขาจะถามฉัน ‘ตอนนั้นทำไมแม่ไม่ห้ามผม’”

พวกเราจะกลับมา!

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน บ่ายสองโมงครึ่ง จะมีการรวมตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง และในวันจันทร์ พนักงานจะหยุดงานสไตรค์ นักเรียนจะปิดคลาส เพื่อทำการประท้วงต่อเนื่อง

“เราต้องออกมารวมกัน เราส่งเสียงไปยังผู้ชุมนุมทุกคน เราจะชนะได้ ถ้าทุกคนออกมารวมตัวกัน” คือคำพูดของ หลี่ จั๋ว-เหยิน (Lee Cheuk-Yan) นักกิจกรรมทางการเมือง ที่ส่งไปยังผู้ชุมนุมให้ออกมาร่วมต่อต้านความพยายามของ แคร์รี แลม ในการผลักดันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

“แม้ว่าตำรวจจะใช้กำลังอย่างรุนแรงและมีคำสั่งให้ใช้ความรุนแรงของรัฐ ฮ่องกงจะไม่มีวันยอมแพ้” จิมมี แชม (Jimmy Sham) จากกลุ่ม Civil Human Rights Front (CHRF) กล่าวไปในทางเดียวกัน

CHRF เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมออกมารวมตัวกันที่ Victoria Park หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเขาประเมินว่ามีผู้ชุมนุมเข้าร่วมประมาณ 1 ล้านคน “เรามีประชาชน 1.03 ล้านคนออกมาในวันอาทิตย์ที่แล้ว เราจะมีมากกว่านั้นอีก” แชมกล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี

แชมย้ำว่า “ถ้าพวกเราทุกคนออกมารวมตัวกัน เราสามารถชนะพวกเขาได้”

รองศาสตราจารย์เหยา เหว่ย ปิง (Yau Wai Ping) จากมหาวิทยาลัย Hong Kong Baptist University ผู้ร่วมประท้วงอดอาหาร กล่าวว่า “การประท้วงนี้คือการรวบรวมผู้คนเข้าด้วยกัน กฎหมายนั้นส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน” และเธอยังเสริมว่า “เรายังไม่รู้ว่าเราจะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้หรือเปล่า แต่ในระยะยาว ฉันค่อนข้างเป็นพวกมองโลกในแง่ดี ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นด้านบวกเกิดขึ้น ในระยะยาวจะเป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัยใหม่ของชุมชนและสังคมในแบบที่เราต้องการสร้างขึ้นมา”

บทเรียนจากความผิดพลาด การชุมนุมประท้วงแบบไฮเทคของฮ่องกง

บางคนเรียกการประท้วงครั้งนี้ว่าเป็น #612strike หรือ Occupy 2.0 – ครั้งที่ 2 หลังจากการชุมนุมยืดเยื้อเกือบ 80 วัน ใน ‘Occupy Central with Love and Peace’ และ ‘การปฏิวัติร่ม’ ปี 2014 ความผิดพลาดของการชุมนุมปี 2014 คือบทเรียน ที่แกนนำถูกจับกุมตัว และเป้าหมายของพวกเขาไม่บรรลุผล ทำให้การประท้วงครั้งใหญ่ปี 2019 นี้ไม่มีแกนนำ ไม่มีการจัดตั้ง แต่ยุทธศาสตร์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้ชุมนุมไปไกลกว่านั้น นอกจากการปิดบังใบหน้าจากกล้องวงจรปิด นั่นคือการใช้เทคโนโลยีให้เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

บทบาทของเทคโนโลยีนั้นลื่นไหลและปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย บางครั้งเทคโนโลยีก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐในการกดทับประชาชน แต่บางครั้งบทบาทของมันก็เปลี่ยนเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้ในการต่อสู้อำนาจรัฐ

ในการชุมนุมใหญ่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีรายงานว่าเซิร์ฟเวอร์ของ Telegram แอพพลิเคชั่นส่งข้อความที่ได้รับความนิยมถูกโจมตี โดยทาง พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้งแอพได้ทวีตใน Twitter ว่า การโจมตีมีต้นตอมาจากประเทศจีน

ดูรอฟเชื่อว่า การโจมตีเป็นความพยายามยับยั้งการประท้วงในฮ่องกงของจีน โดยทางการจีนได้ใช้บอต (Bots) จำนวนมากในการก่อกวนระบบเครือข่ายของแอพพลิเคชั่นจนทำให้ผู้ใช้งานจริงไม่สามารถใช้เครือข่ายได้

ทางการจีนมีชื่อเสียงในการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตควบคุมประชาชนในประเทศของตนอย่างเข้มงวด เว็บต่างประเทศจำนวนมากถูกบล็อค แทบไม่มีการพูดถึงการประท้วงในฮ่องกงในพื้นที่ข่าวและโซเชียลมีเดีย

โดยในฮ่องกงผู้ประท้วงกลุ่มแรกค่อยๆ ไหลทะลักเข้าสู่ถนนก่อนเวลา 8 โมงเช้าทุกวัน ภายในเวลาไม่กี่นาทีข้อความมากมายทยอยเด้งขึ้นบนหน้าจอโทรศัพท์ มีการแชร์ข้อมูลบอกตำแหน่งของกองกำลังตำรวจและจุดที่ผู้ประท้วงต้องการกำลังเสริม

ในเช้าวันพุธที่ผ่านมา ผู้ประท้วงนับพันคนปิดเส้นทางการเดินทางหลักต่างๆ ของฮ่องกง แอพพลิเคชั่นส่งข้อความเช่น Telegram, WhatsApp หรือ Signal กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของนักประท้วงทุกคน

นักเรียนมัธยมที่เข้าร่วมการประท้วงส่งข้อความที่ผ่านการเข้ารหัสในการแลกเปลี่ยนแผนการปฏิบัติการ มีการตั้งกลุ่มในแอพ Telegram เพื่อส่งข้อความขออุปกรณ์ต่างๆ หรือชุดปฐมพยาบาล บางกลุ่มมีสมาชิกกว่าหมื่นคน มีการใช้ช่องทาง streaming อย่าง Twitch และ Periscope ถ่ายทอดสดการประท้วงแบบ real-time ซึ่งปกติแล้ว Twitch เป็นบริการสตรีมมิ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่นักแคสต์เกม

กลุ่มผู้ประท้วงรู้ดีกว่าการใช้เทคโนโลยีก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะรัฐบาลเองก็สามารถจับตาดูผู้ประท้วงผ่านช่องทางนี้ได้เหมือนกัน

“ประชาชนฉลาดที่จะใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในปัจจุบัน พวกเขาใช้เทคโนโลยีโดยที่ทางการไม่อาจเข้าถึงหรือสะกดรอยได้” ลก หมัน ซุย (Lok Man Tsui) อาจารย์ด้านสื่อและเทคโนโลยีที่ Chinese University of Hong Kong กล่าวต่อว่า หนึ่งในวิธีรักษาความปลอดภัยคือการปิดระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าและลายนิ้วมือของไอโฟน เพราะกฎหมายของฮ่องกงอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิไม่ให้ความร่วมมือในการปรักปรำตัวเอง พวกเขาสามารถปฏิเสธที่จะมอบรหัสผ่านหรือ pin ของโทรศัพท์ตัวเอง

และแอพพลิเคชั่นอย่าง Telegram ก็อาจจะไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่ผู้ประท้วงเชื่อกัน ข้อความที่ถูกส่งใน Telegram แตกต่างจาก WhatsApp Signal หรือ iMessage เพราะค่าตั้งต้นของแอพพลิเคชั่นไม่ได้เปิดฟังก์ชั่นเข้ารหัสข้อความไว้ตั้งแต่เริ่มใช้ “คนส่วนมากไม่รู้ว่าตัวเองต้องเปิดระบบนี้” ลก หมัน ซุย กล่าว

ผู้ประท้วงคนหนึ่งกล่าวว่า เพื่อนๆ ของเธอเลิกใช้บัตร Octopus ซึ่งเอาไว้ใช้กับขนส่งสาธารณะ บัตรดังกล่าวมีเลขที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ วันเกิด หรือรหัสบัตรประชาชน พวกเขาจึงกลัวว่ารัฐจะสามารถติดตามตัวผู้ใช้ได้ ส่งผลให้ตอนนี้แถวซื้อบัตรรถไฟใต้ดินฮ่องกงยาวเหยียดเพราะประชาชนต้องการซื้อตั๋วเที่ยวเดียว

นอกจากนี้ยังมี Keyboard Frontline กลุ่มให้คำปรึกษาอิสระในอินเทอร์เน็ต เผยแพร่ใบปลิวออนไลน์ให้ความรู้ผู้ประท้วงว่าจะปกป้องข้อมูลส่วนตัวอย่างไร เช่น การงดใช้ไวไฟสาธารณะและทิ้งโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน

มีการแนะนำให้ใช้อลูมิเนียมฟอยล์พันรอบบัตรประชาชน พาสปอร์ต และบัตรธนาคาร เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวจาก RFID scanner ของรัฐ โดย กลาเซียร์ กว่อง (Glacier Kwong) สมาชิกหลักของกลุ่มกล่าวว่า “มันไม่แน่นอนว่ามีอะไรบ้างที่สามารถถูกติดตามได้หรือไม่ได้ ตอนนี้มีทฤษฎีสมคบคิดเป็นจำนวนมากเกิดขึ้น ความไม่แน่นอนนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกฎหมายที่มีความไม่ชัดเจน” ซุยกล่าวเสริม

การใช้ระบบ DDoS ส่งบอต (Bots) เพื่อขัดขวางการชุมนุมของจีน มีความคล้ายคลึงกับกรณีของประเทศรัสเซีย อิหร่าน หรืออินโดนีเซียที่แบน Telegram ภายใต้ข้ออ้างว่ามันถูกใช้โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและผู้ก่อการร้าย การพยายามโจมตี Telegram ของจีนแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมองว่าแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมีภัยต่อความมั่นคงของตน หรือความหวาดกลัวต่อการถูกตรวจจับของผู้ประท้วงแสดงให้เห็นว่าผู้ประท้วงนั้นตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีในศึกครั้งนี้

ปรากฏการณ์การประท้วงที่ฮ่องกงทำให้เราเห็นบทบาทของอินเทอร์เน็ตที่แปลกใหม่ไปกว่าเดิม ประชาชนปรับตัวและใช้อาวุธที่เคยเป็นของรัฐในการต่อสู้กับรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไปนี้เทคโนโลยีคงไม่ใช่เครื่องมือที่รัฐจะใช้อย่างสบายใจแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นสิ่งที่รัฐต้องหวาดกลัว

หากร่างกายต้องการการปะทะ

การชุมนุมอย่างสงบและมีอารยะคืออุดมคติในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ แต่หลายครั้งหลายคราพิสูจน์แล้วว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐจะยอมจำนนต่อฝูงชน ไม่ว่าจำนวนมากแค่ไหน อาจจริงหรือไม่ก็ได้ที่ว่า “พวกเขาไม่มีกระสุนพอที่จะยิงพวกเราทุกคนหรอก” แต่ที่แน่ๆ คือพวกเขามีสารพัดอุปกรณ์ที่ทำให้มวลชนล่าถอยหรือสลายกระจายเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้

เมื่อต้องเผชิญหน้า ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ นี่คืออุปกรณ์พื้นฐานจำเป็นที่ชาวฮ่องกงและผู้ชุมนุมในหลายๆ ประเทศเตรียมติดตัวไว้เมื่อคิดจะลงสู่ถนน

คำเตือนคือ อาจได้ผลเฉพาะรัฐที่ไม่มีการใช้ ‘กระสุนจริง’

  1. สวมหมวกกันน็อค หมวกมอเตอร์ไซค์ จักรยาน เพราะศีรษะคือสิ่งสำคัญ การทุบตี กระสุนยาง ก้อนหิน อาจทำให้บาดเจ็บสาหัส หนักกว่านั้นคือถึงตาย และเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด หมวกกันน็อคนั้นไม่ควรมีตราสัญลักษณ์ทหารหรือตำรวจ
  2. สวมเสื้อผ้ามิดชิด มีความหนา แต่ยังเคลื่อนไหวและ ‘วิ่ง’ สะดวก เพื่อป้องกันสเปรย์พริกไทย กระสุนยาง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยีนส์ แจ๊คเก็ต หรืออาจเสริมผ้าพันคอเข้าไปเพื่อป้องกันจุดอ่อน เสื้อผ้าที่ว่าควรมีสองชั้น ในกรณีที่ต้องถอดเสื้อชั้นนอกออก เช่น ขณะถูกรวบตัว โดนสเปรย์หรือแก๊สน้ำตาเข้าจังๆ และควรมีชุดสำรองไปเปลี่ยน นอกจากนี้ สเปรย์ป้องกันน้ำที่ใช้สำหรับฉีดเสื้อผ้าไม่ให้ซับแก๊สต่างๆ เข้าไปก็เป็นอีกสิ่งที่ควรพิจารณา
  3. ถ้าพอมีงบประมาณ อาจซื้อสนับมาสวมป้องกันการทุบตีข้อต่อ ทั้งเข่า ศอก หากเป็นผู้ชายอาจเพิ่มออพชั่น ‘กระจับ’ ถ้าเสิร์ชดูในเว็บไซต์ยูทูบจะพบวิธีการทำอุปกรณ์ป้องกันร่างกายแบบ DIY มิใช่น้อย ทั้งทำจาก PVC แม้แต่กระป๋องเบียร์ก็มี
  4. ควรเลือกรองเท้าแบบที่สวมแล้ววิ่งได้อย่างรวดเร็ว รองเท้ากีฬาชนิดพื้นหนา ผ้าไม่ฉีกขาดง่ายจนเกินไปนัก ใช้เตะกระป๋องแก๊สน้ำตาได้ รวมถึงอาจมีถุงมือหนาๆ ที่ป้องกันความร้อนจากกระป๋องแก๊ส ในยามจำเป็นต้องจับมันขว้างไปไกลๆ จริงๆ
  5. หน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย อาจหาซื้อหน้ากากจริงจังที่มีชั้นกรองอากาศเตรียมไว้ เพื่อป้องกันใบหน้า ทั้งตา จมูก ปาก และการสูดดม หรือถ้าไม่สามารถหาได้ก็ควรคว้าอุปกรณ์ที่หาง่ายใกล้ตัว เช่น หน้ากากอนามัย ซึ่งช่วยให้บรรเทาการสูดดมหรือปะทะกับแก๊สตรงๆ ได้บ้าง และควรสวมแว่นตาแบบปิด แว่นนิรภัย ไม่ให้แสบตาตอนโดนสเปรย์พริกไทยหรือแก๊สน้ำตา
  6. เตรียมตัวล้างแก๊สน้ำตาออกจากปาก จมูก และตา สามารถใช้ Campden Tablets (มีส่วนผสมของ Potassium Metabisuphite) ที่ใช้ในการฆ่าจุลินทรีย์ในการหมักผลไม้ ผสมกับน้ำเพื่อชำระล้างแก๊สน้ำตา หรืออาจจะใช้น้ำมะนาว นม เพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น  หรือง่ายกว่านั้นคือการล้างด้วยน้ำสะอาดให้มากที่สุด และอย่าทาโลชั่นหรือครีมบนผิวหนังไปชุมนุม เพราะจะทำให้ล้างทำความสะอาดยาก

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
euronews.com
bbc.com
theguardian.com
time.com
wikihow.com
abacusnews.com
japantimes.co.jp
inkstonenews.com
twitter.com/Fight4HongKong

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Author

ทัศ ปริญญาคณิต
นักศึกษาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง ไปเที่ยว นอกจากนั้นยังชอบมีมคอมมิวนิสต์ และเสือกเรื่องดราม่า

Author

ชาลิสา พุทธรักษา
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ งานอดิเรกยามว่างคือดูสไตล์การแต่งตัวในช่วงนี้ และเป็นผู้ที่ถือคติว่าห้ามแต่งตัวซ้ำกันในแต่ละวัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า