อุเบกขาของมหาอำนาจต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาในเมียนมาร์

ทุกครั้งที่ได้ยินชื่อรัฐยะไข่ หรือ Rakhine State จากสื่อทั่วโลกในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ มักจะหนีไม่พ้นประเด็นเรื่อง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การปราบปรามการก่อการร้าย และการอพยพของชาวโรฮิงญาที่ต้องหลบลี้หนีภัยออกจากรัฐยะไข่แล้วระหกระเหินไปอาศัย ณ บริเวณชายแดนของประเทศบังคลาเทศ อย่างค่ายผู้ลี้ภัยที่ Cox’s Bazar เพื่อเอาชีวิตรอดจากภารกิจกวาดล้างมุสลิมโรฮิงญาของรัฐบาลและกองทัพเมียนมาร์

ยะไข่เป็นรัฐขนาดปานกลางรัฐหนึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมียนมาร์ติดกับชายแดนบังคลาเทศ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธยะไข่ในพื้นที่มาแล้วไม่น้อยกว่า 100 ปี แต่ภายหลังจากที่ชาวโรฮิงญาได้อพยพลี้ภัยไปอยู่ในค่ายที่บังคลาเทศ รัฐบาลเมียนมาร์ก็สั่งรื้อถอนบ้าน สิ่งปลูกสร้าง และที่ดินทำกินของชาวโรฮิงญาทั้งหมด จนไม่เหลือร่องรอย และหลักฐานของการมีอยู่ของชาวโรฮิงญา (นั่นหมายรวมไปถึงเอกสารสิทธิ์ และหลักฐานเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยพักพิงของครอบครัวชาวโรฮิงญากว่า 700,000 รายอีกด้วย) พร้อมกับการนำสิ่งปลูกสร้างทางการทหารของกองทัพเมียนมาร์มาติดตั้งไว้ในบริเวณรอบๆ ที่อยู่อาศัยเดิมของชาวโรฮิงญาแทน

ในแง่หนึ่งปฏิบัติการไถกลบที่ดินที่รัฐบาลเมียนมาร์ได้สั่งให้กระทำนั้น สามารถตีความได้ว่าเป็นการกระทำที่รัฐบาลตั้งใจที่จะมุ่งลบล้างอัตลักษณ์ หลักฐาน และร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มมุสลิมโรฮิงญาที่เคยอาศัยอยู่ในยะไข่ตั้งแต่อดีตกาล ตามข้อสันนิษฐานเรื่องเจตนาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นักสังเกตการณ์จากสหประชาชาติ และนักวิชาการด้านโรฮิงญาหลายคนได้ตั้งเอาไว้

แต่ในอีกแง่หนึ่ง หลังจากที่เมียนมาร์ได้เปิดประเทศ และพยายามแก้ไขภาพลักษณ์ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทั้งมีการเปิดให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้นำประเทศ รวมถึงการปล่อย ออง ซาน ซูจี ออกจากการกักบริเวณ ทำให้เมียนมาร์เริ่มกลายเป็นจุดสนใจมากขึ้นบนเวทีโลก มีบริษัท และรัฐบาลหลายแห่งที่ออกตัวสนใจจะเข้าไปลงทุนภายในเมียนมาร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ จีน ที่มีแผนจะขยายอิทธิพลของตนเองเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ผ่านโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาด้วย Belt and Road Initiative เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

อันจะประกอบไปด้วยโครงการพัฒนารางรถไฟ ทางด่วน นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ และท่าเรือน้ำลึกที่จะช่วยเปิดทางออกสู่ทะเลของแผ่นดินทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนอย่างมณฑลยูนนาน ที่แต่เดิมนั้นเป็นเขตที่ดินตาบอด (landlocked area) ให้สามารถเชื่อมต่อเข้าหาอ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดียได้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดการพึ่งพาการขนส่งสินค้าผ่านช่องทางการเดินเรือสากลอย่างช่องแคบมะละกา ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจกุมอิทธิพลใหญ่สุดในทะเลแถบนั้นอยู่

จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหากจีนมักจะออกหน้ามาสนับสนุนเมียนมาร์ และรัฐบาลเมียนมาร์อยู่ตลอดเวลา ต่อกรณีความโหดร้ายที่รัฐบาลเมียนมาร์ได้กระทำต่อกลุ่มมุสลิมโรฮิงญา ไม่ว่าจะการฆ่า ข่มขืน ปล้นสะดม เผาหมู่บ้าน ใช้เฮลิคอปเตอร์ไล่ยิงเพื่อต้อนให้ออกจากพื้นที่ ฯลฯ การกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นการกระทำที่จีนรับได้ทั้งสิ้นตราบเท่าที่มันเป็น ‘การเมืองภายใน’ จีนย่อมไม่ก้าวก่าย และยินดีที่จะออกตัวมาปกป้องเมียนมาร์บนเวทีระหว่างประเทศ อย่างสหประชาชาติ โดยเฉพาะในเวลาที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่คนสำคัญๆ ภายในเมียนมาร์กำลังถูกทั่วโลกเพ่งเล็งด้วยมาตรการกดดันอยู่ จีนมักจะอ้างเรื่องการไม่แทรกแซงการเมืองภายใน หรือกิจการภายในของประเทศพันธมิตรอยู่เสมอๆ ทั้งหมดก็เพราะจีนมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่บนที่ดินแปลงใหญ่หลายๆ บริเวณภายในรัฐยะไข อันนี้ถือว่าเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้

สิ่งที่น่าสนใจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีแค่จีนที่ออกมาแสดงท่าทีปกป้องรัฐบาลเมียนมาร์ จากกรณีความโหดร้ายทารุณที่ทางการเมียนมาร์ได้กระทำต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาเท่านั้น แต่ยังมีญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำจากโลกเสรีประชาธิปไตย ที่ได้ส่งเอกอัครราชทูตของตนเองในเมียนมาร์(อิชิโระ มารุยามะ) ออกมาให้ความเห็นกับสื่อในทิศทางที่ว่าทางการญี่ปุ่นไม่เชื่อแต่อย่างใดว่ารัฐบาลและกองทัพของเมียนมาร์จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการที่โหดร้ายอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา พร้อมกับปฏิเสธที่จะ ‘ตัดสิน’ พฤติกรรมของรัฐบาลเมียนมาร์ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นเชื่อว่ารัฐบาลเมียนมาร์ไม่ได้มีเจตนาจะกระทำลงไปแบบนั้น แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องของความจำเป็นในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายชาวโรฮิงญา (Arakan Rohingya Salvation Army)

เช่นเดียวกันกับอินเดีย ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ได้ส่งไม้ต่อให้กับกระทรวงการต่างประเทศของตนเอง ออกแถลงการณ์สนับสนุนการกระทำของรัฐบาลเมียนมาร์ในทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มมุสลิมโรฮิงญาและกองทัพเมียนมาร์ พร้อมไปกับประณามถึงกลุ่มโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ว่ามีลักษณะเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายจนทำให้ตำรวจและทหารเมียนมาร์ต้องบาดเจ็บล้มตายไปกว่า 30 ศพ (แต่ไม่ได้ออกความคิดเห็นถึงเรื่องที่รัฐบาลเมียนมาร์ทำปฏิบัติการกวาดล้างโรฮิงญา)

อนึ่ง อินเดียโดยเฉพาะรัฐบาลของพรรค BJP ที่นำโดย นเรนทรา โมดิ นั้นมีพื้นฐานความรังเกียจชาวมุสลิมโรฮิงญาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากเชื่อว่าชาวโรฮิงญากว่า 40,000 คนภายในอินเดียนั้นเป็นพวกที่ชอบอพยพจากบังคลาเทศเข้ามาในอินเดียอย่างผิดกฎหมายผ่านทางเขตรัฐเบงกอลตะวันตก และมีแผนจะขับไล่ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในอินเดียทางตะวันออกให้พ้นออกไปจากอินเดียอยู่เสมอๆ (ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการนำกฎหมาย Citizenship Amendment Act มาประกาศใช้) และที่สำคัญคือ อินเดียเชื่อว่ากลุ่มมุสลิมโรฮิงญานั้นมีส่วนเกี่ยวข้องและความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงที่ปฏิบัติการภายในภูมิภาคเอเชียใต้ ทั้งกลุ่ม Jamaat-ul-Mujahideen (JMB) กลุ่ม Indian Mujahideen และกลุ่ม Lashkar-e-Taiba การจะบอกว่าเมียนมาร์และอินเดียนั้นมีพื้นเพทางความคิดต่อชาวมุสลิมในแบบเดียวกันก็คงจะไม่ผิดนัก

ในส่วนของเกาหลีใต้ที่แม้จะมีการให้นักการทูตของตนเองออกมาให้ความเห็นผลักดันให้เมียนมาร์รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับโรฮิงญา แต่ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลเกาหลีใต้ก็แสดงออกถึงแนวโน้มของการขยายกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนภายในเมียนมาร์อยู่อย่างต่อเนื่อง (ตามแผนของนโยบาย New Southern Policy ของประธานาธิบดีมุน แจ อิน) โดยไม่ได้มีมาตรการกดดันใดๆ ต่อทางรัฐบาลเมียนมาร์และผู้ที่เกี่ยวข้อง มิหนำซ้ำจากประวัติการค้าขายอาวุธของเกาหลีใต้ให้แก่เมียนมาร์ในอดีต ยังอาจสันนิษฐานได้ว่าอาวุธที่กองทัพเมียนมาร์ใช้ในการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญานั้น อาจเป็นสินค้าที่ผลิตโดยกลุ่มอุตสาหกรรม Daewoo ของเกาหลีใต้ซึ่งได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตอาวุธภายในเมียนมาร์ตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งหากย้อนกลับไปพิจารณา ก็จะพบได้ไม่ยากว่าจุดร่วมที่สำคัญที่ประเทศมหาอำนาจระดับภูมิภาคเหล่านี้มีเหมือนกัน นอกจากสายสัมพันธ์ที่ดีที่ประเทศเหล่านั้นหยิบยื่นให้กับเมียนมาร์ในยามที่กำลังถูกประชาคมโลกกดดัน ก็คือ ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดียนั้นมีแผนการเทเงินลงทุนปริมาณมหาศาลลงไปในรัฐยะไข่ เพื่อแปลงเขตแดนบริเวณนั้นให้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของตนเองเหมือนกันนั้นเอง

รัฐบาลจีนต้องการคุมท่อส่งน้ำมัน-แก๊สจากอ่าวเบงกอลเข้าไปยังมณฑลยูนนาน และต้องการท่าเรือน้ำลึกไว้เป็นศูนย์กลางทางด้านการขนส่งสินค้า สำหรับอินเดียนั้นมีโครงการ Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project มูลค่ากว่า 500,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ตั้งใจจะใช้ทะเลแถบอ่าวเบงกอลและที่ดินในรัฐยะไข่กับคะฉิ่นในการสร้างเส้นทางขนส่งเพื่อเชื่อมรัฐเบงกอลตะวันตกเข้าหารัฐมิโซราม อันเป็นที่ดินตาบอดแห่งหนึ่งของอินเดียที่อยู่ติดกับรัฐนากาแลนด์ ส่วนทางญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นแม้จะยังไม่มีการประกาศออกมาถึงโปรเจ็คต์การลงทุนที่แน่ชัดภายในรัฐยะไข่ แต่เอกอัครราชทูต อิชิโระ มารุยามะ บอกเป็นนัยไว้ว่าอาจเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเกษตรกรรม (ในกรณีของญี่ปุ่น) ส่วนเอกอัครราชทูต อี ซัง ฮวา นั้น เผยว่าอาจเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอและอสังหาริมทรัพย์ (ในกรณีของเกาหลีใต้) แต่สิ่งที่ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นนั้นแสดงออกถึงความสนใจเหมือนกันคือ เรื่องระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นระบบไฟฟ้า และพลังงานภายในรัฐยะไข่ที่ตนเองอาจจะต้องเข้ามาให้การช่วยเหลือพัฒนา

อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะผลประโยชน์และแรงผลักทางยุทธศาสตร์ล้วนๆ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนท่าทีของมหาอำนาจระดับภูมิภาคทั้ง 4 ประเทศนี้ในการตัดสินใจปิดหูปิดตาแล้วเดินหน้าให้การสนับสนุนเมียนมาร์บนเวทีระหว่างประเทศเช่นนี้ จีนต้องการลดการพึ่งพาช่องแคบมะละกาด้วยการกระจายความเสี่ยงโดยเพิ่มเส้นทางการขนส่งลำเลียงสินค้าทางทะเลจากตะวันออกกลางให้ได้มากที่สุด ดังนั้นท่าเรือน้ำลึกและท่อส่งแก๊สจากชายฝั่งทะเลของรัฐยะไข่จึงสำคัญสำหรับจีนมาก เพราะยะไข่สามารถช่วยเปิดทางออกสู่ทะเลให้แก่แผ่นดินแถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีนได้ หากจีนลดการพึ่งพาเส้นทางลำเลียงสินค้าด้วยช่องแคบมะละกาลง สหรัฐอเมริกาก็มีโอกาสที่จะใช้กองทัพเรือของตนเองในช่องแคบมะละกามาบีบคอกดดันจีนอีกได้ยากขึ้น

สำหรับอินเดียนั้นมองว่าตนเองเป็นผู้มีอิทธิพลใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ นั่นหมายความว่าอินเดียมองว่ามหาสมุทรอินเดีย รวมถึงอ่าวเบงกอล (เรียกรวมๆ กันว่า The IOR) เป็นเขตอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของตนเองโดยอัตโนมัติ การที่จะมีมหาอำนาจอื่นนอกภูมิภาคเข้ามาหยั่งรากขยายอิทธิพลจนทับซ้อนกับเขตที่อินเดียควบคุมอยู่อย่างบังคลาเทศ รัฐยะไข่ของเมียนมาร์ การสร้างท่าเรือน้ำลึกบนอ่าวเบงกอลอย่างที่จีนกำลังมีแผนจะทำอยู่นั้นย่อมทำให้อินเดียรู้สึกไม่สบายใจจากการถูกรุกล้ำ เพราะเมียนมาร์นั้นมีเขตแดนติดอยู่กับอินเดียหากจีนเข้ายึดครองพื้นที่ทางตะวันตกของเมียนมาร์ได้สำเร็จเมื่อใด ก็เหมือนกับอินเดียถูกจีนเข้ามาปิดล้อมแผ่นดินทางตะวันออกของตนเองไปโดยปริยาย สถานการณ์ลักษณะนี้ย่อมยอมรับไม่ได้สำหรับอินเดีย อินเดียจึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะหาเรื่องเข้าไปกดดันเมียนมาร์ หรือบีบคั้นเมียนมาร์ในเรื่องของชาวมุสลิมซึ่งอินเดียเองก็ไม่ได้ชอบขี้หน้าอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้น แม้ว่าจะนำเสนอตัวเองในฐานะหมุดตัวสำคัญเพียงไม่กี่ตัวของค่ายเสรีประชาธิปไตยภายในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเกาหลีใต้และญี่ปุ่นนั้นเป็นหมากและสถาปัตยกรรมทางภูมิรัฐศาสตร์ชุดสำคัญที่สหรัฐอเมริกาได้วางทิ้งไว้จากเมื่อครั้งการดำเนินนโยบายสกัดกั้นภัยคอมมิวนิสต์เมื่อสมัยสงครามเย็น (containment strategy) ทำให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีหน้าที่หลัก คือ ต้องคอยเป็นกำแพงและแนวเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้จีนสามารถขยายอิทธิพลของตนเองออกไปยังนอกภูมิภาค หรือเกินขอบเขตออกมานอกทะเลจีน (เพราะเมื่อใดก็ตามที่อิทธิพลของจีนทะลักออกมานอกทะเลจีน มันจะไหลกระจายไปยังเขตทะเลแปซิฟิกซึ่งเป็นทะเลหลังบ้านของสหรัฐอเมริกา) โดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องการส่งออกโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแข่งกับจีนอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่สมเหตุสมผลเท่าใดนักหากทั้งเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นจะออกหน้าผสมโรงกันประณามเมียนมาร์ให้เป็นตัวร้ายบนเวทีโลก ในเวลาที่จีนกำลังแผ่อิทธิพลเข้าไปภายในเมียนมาร์ ที่นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้นแล้วยังเป็นเหมือนการผลักไข่ (เมียนมาร์) เข้าสู่ตะกร้าของจีนอีก และในส่วนของเมียนมาร์เองก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในระดับที่เปิดประตูพร้อมจะให้โอกาสทั้ง 2 ประเทศเข้ามาลงทุนแข่งกับจีน การที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะเพิกเฉยไม่เข้าไปกดดันบีบคั้นเมียนมาร์จึงไม่ใช่เรื่องที่เหนือการคาดเดานัก

โดยภาพรวมจึงอาจตั้งข้อสรุปได้ว่า รัฐยะไข่นั้นนอกจากจะเคยเป็นบ้านของโรฮิงญาในอดีตแล้ว ในปัจจุบันยะไข่ยังเป็นพื้นที่และเวทีการประชันกันของมหาอำนาจระดับภูมิภาคทั้ง 4 ประเทศในเกมของการแย่งชิงอิทธิพลเหนือจุดยุทธศาสตร์แห่งสำคัญที่คาบเกี่ยวระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันอีกด้วย ซึ่งความจริงที่โหดร้ายกว่านั้นก็คือ ในฝ่ายบริหารของทั้ง 4 ประเทศนั้นแทบไม่มีใครจริงใจที่จะมุ่งแก้ปัญหาถึงประเด็นว่าโรฮิงญาจะได้กลับบ้าน (ยะไข่) ไหม-เมื่อไร มากเท่ากับการเดินหมากชิงไหวชิงพริบกันในเกมทางยุทธศาสตร์ที่ผู้ชนะจะได้ส่วนแบ่งของเค้กรัฐยะไข่ และในขณะเดียวกันจะแผ่ขยายอิทธิพลไปได้ในสัดส่วนปริมาณเท่าใด

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า