พระราชวังมัณฑะเลย์: เมื่อวังกลายเป็นลานสังหาร สถานที่ซ้อมทรมาน และคุกขังนักโทษการเมือง

-1-

“ค่ายสอบปากคำในวังมัณฑะเลย์เหมือนนรกจริงๆ” พระหนุ่มรูปหนึ่งกล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับ The Mainichi หนังสือพิมพ์รายวันแห่งชาติของญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม 2021

เขาถูกไล่ยิงด้วยกระสุนขณะวิ่งหนีทหาร ถูกทุบตีด้วยกระบองและปืนไรเฟิล ทหารเตะเขาที่ศีรษะ หน้าอก และหลัง พวกทหารยังถ่ายรูปพระสงฆ์และผู้ประท้วงคนอื่นๆ ในขณะต่อต้านขัดขืน เพื่อสร้างหลักฐานว่ามีเจตนาทางอาญา

ทหารบังคับให้พระถอดจีวร และส่งตัวไปยังศูนย์สอบปากคำที่ตั้งอยู่ในพระราชวังมัณฑะเลย์ หากใครเป็นพระ พวกเขาจะสั่งให้กระโดดเหมือนกบ และในเวลากลางคืน ต้องนอนราบกับพื้น หากเผลอเงยหัวขึ้นมา ผู้คุมจะยิงพวกเขาด้วยหนังสติ๊ก

นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมพระราชวังมัณฑะเลย์ที่ได้เคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์พม่า สมัยมัณฑะเลย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์โศกนาฏกรรม ซึ่งเกิดขึ้นในวังแห่งนี้ในช่วงปีแรกของรัชกาลพระเจ้าตี่บอ หรือธีบอ หรือสีป้อ ปลายศตวรรษที่ 19 อาจจะรู้สึกพึงพอใจและเศร้าใจผสมปนเปกัน เพราะตามท้องเรื่องเล่าว่า สมาชิกราชวงศ์จำนวนมากถูกกษัตริย์และราชินีพม่าองค์สุดท้ายและผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังฆ่าตายที่นี่ ก่อนที่การปกครองโดยราชวงศ์พม่าถูกยกเลิกโดยชาวอังกฤษ ซึ่งว่ากันว่าอังกฤษสามารถช่วยชีวิตเจ้านายพม่าบางคนที่กำลังจะถูกสังหารในขณะนั้น

หนังสือนำเที่ยวพระราชวังมัณฑะเลย์ส่วนใหญ่ต่างเล่าถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานของเหตุการณ์ ‘การสังหารหมู่’ ในวังมัณฑะเลย์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1879 แต่หนังสือดังกล่าวมักให้ภาพบุคคล ผู้เคราะห์ร้าย ในโศกนาฏกรรมครั้งนั้นไม่ครบถ้วน 

พระราชวังมัณฑะเลย์สร้างโดยพระเจ้ามินดง แห่งราชวงศ์คองบอง และถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยรัฐบาลพม่า หลังจากโดนระเบิดของอังกฤษถล่มจนราบคาบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือแต่ป้อมปราการและคูน้ำกว้างขวาง ขนาดมีภาพหลักฐานว่าเคยมีการพระราชดำเนินโดยชลมารค ด้วยขบวนเรือพระที่นั่งนับร้อยลำรอบคูน้ำ 

พระเจ้ามินดง

ปัจจุบันพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังถูกแบ่งเป็นที่ทำการของกองทัพพม่า และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมความงามของสถาปัตยกรรมไม้สัก ประกอบด้วย ท้องพระโรงอันเป็นที่ประทับของพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า ซึ่งหลังจากพม่าเสียเมืองให้แก่อังกฤษ พระองค์ถูกเนรเทศไปอยู่อินเดียจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ 

ไม้สักถูกสลับลวดลายอ่อนช้อยโดยฝีมือศิลปินรุ่นใหม่ พอเห็นเค้าลางความประณีตวิจิตรคล้ายเดิมอยู่บ้าง นอกจากนี้ภายในพื้นที่วังยังมีโรงมหรสพ พระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์และพระสนม 117 ตำหนัก รวมทั้งหอคอยส่องเมืองที่มองเห็นภาพพื้นที่ในปกครองได้ 360 องศา

-2-

การสังหารหมู่ในวังครั้งนั้นไม่ใช่ครั้งสุดท้ายในรัชสมัยพระเจ้าธีบอ หนังสือพิมพ์ The Times of India รายงานเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1884 ว่ามีคนถูกยิงหลายร้อยคน บางคนถูกชำแหละเป็นชิ้นส่วน และถูกเผาจนตาย โดยที่กษัตริย์และราชินียังคงนั่งมองดูอยู่ การสังหารหมู่ครั้งใหญ่ในวังมัณฑะเลย์เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1884 ผู้เคราะห์ร้ายราว 400 คนรวมถึงสมาชิกราชวงศ์ ซึ่งหลบหนีไปในปี 1879 ถูกฆ่าอย่างทารุณในคุกภายในพระราชวังมัณฑะเลย์

ปัจจุบัน พระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงแห่งสุดท้ายของยุคราชวงศ์ ถูกดัดแปลงให้เป็นหนึ่งในศูนย์ทรมานที่น่ากลัวที่สุดของประเทศภายใต้การปกครองของนายพล มิน อ่อง หล่าย

ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2022 คนทั้งโลกได้ร่วมเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ความรุนแรงรายวันโดยรัฐบาลของนายพล มิน อ่อง หล่าย ในบรรดาผู้คนหลายพันคนที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ผู้เคราะห์ร้ายหลายคนถูกทรมานด้วยน้ำมือของผู้จับกุม วิดีโอจำนวนนับไม่ถ้วนแสดงให้เห็นการเฆี่ยนตีและตะโกนคำหยาบคายใส่ผู้ประท้วง และคนอื่นๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของการปราบปรามอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

บ่อยครั้งที่มีการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่งมักจะตามมาด้วยการสอบปากคำอย่างเข้มข้นเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ เหยื่อที่รอดชีวิตจากค่ายสอบปากคำมักมีรอยแผลเป็น ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความโหดร้ายและความมุ่งมั่นที่จะยึดอำนาจในทุกวิถีทางของเผด็จการ

-3-

ผู้รอดชีวิตจากศูนย์สอบปากคำอาจโชคดีกว่าคนอื่นๆ อีกหลายคน ที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวตั้งแต่เกิดรัฐประหาร คำให้การของพวกเขายืนยันว่ารัฐบาลทหารไม่สนใจชีวิตมนุษย์ สิ่งที่พบคือการเค้นข้อมูลโดยใช้ความรุนแรง

6 กันยายน 2021 มะ ซอ หาน นเว อู นักเคลื่อนไหวและนักเขียนข้ามเพศ ถูกกองทัพเมียนมาจับที่บ้านของเธอในเมืองมัณฑะเลย์ หลังจากนั้นเธอถูกนำตัวไปที่ค่ายทหารในพระราชวังมัณฑะเลย์ เพื่อสอบปากคำ

“ที่เลวร้ายยิ่งกว่าคุก คือ ค่ายสอบปากคำในพระราชวังมัณฑะเลย์” นักเคลื่อนไหวและนักเขียนข้ามเพศ มะ ซอ หาน นเว อู เปิดเผยประสบการณ์ของเธอ

กองกำลังรักษาความปลอดภัยปิดตาเธอและพาเธอไปที่ค่ายสอบปากคำทหารในพระราชวังมัณฑะเลย์

“ฉันถูกซ้อมทรมานอย่างไร้ความปรานีเป็นเวลาสองวัน พวกเขาล่วงละเมิดทางเพศฉัน พยายามตรวจสอบว่าฉันทำศัลยกรรมหรือไม่ พวกเขาทุบตีขาของฉันด้วยปืน พวกเขาเทน้ำร้อนราดตัวฉัน ตบหน้าฉัน แล้วเตะฉันหลายครั้ง” 

เธอถูกย้ายไปยังเรือนจำโอโบในเมืองมัณฑะเลย์ และถูกตั้งข้อหาละเมิดมาตรา 505A แห่งประมวลกฎหมายอาญาของพม่า ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดสามปี

“เมื่อมาถึงเรือนจำโอโบพวกเขาบังคับให้ฉันแต่งตัวเป็นผู้ชายและขังฉันไว้ในห้องขังรวมกับผู้ชาย พวกเขาเรียกฉันอย่างเยาะเย้ยว่า ‘อะเช่าก์มะ(အခြောက်မ – ภาษาพม่า แปลว่า กะเทย หรือ เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่ม LGBTQ+)”

มะ ซอ หาน นเว อู ถูกจับในข้อหาเข้าร่วมฝึกยุทธวิธีป้องกันตนเองกับกลุ่มกะฉิ่นอิสระ (KIA) ต่อมาได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2021

ระหว่างการสอบสวนโดยกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลทหารภายใต้การนำของนายพล มิน อ่อง หล่าย ศิลปิน นักศึกษา พระสงฆ์ และนักเคลื่อนไหวหลายคนต้องเผชิญกับการทรมานที่คล้ายกัน

ตามรายงานของสมาคมช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองพม่า ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2022  ระบุว่ามีผู้ถูกคุมขังรวม 11,393 คน เนื่องจากต่อต้านรัฐประหารในปีที่แล้ว และมีผู้ต้องโทษจำคุกแล้ว 1,212 ราย

-4-

การทารุณกรรมที่เลวร้ายที่สุดบางอย่างยังคงถูกปิดซ่อนไว้ในวังมัณฑะเลย์โดยมิให้ใครเห็น อย่างที่ครั้งหนึ่ง Chas Duroiselle รายงานใน Guide to the Mandalay Palace ตีพิมพ์ในปี 1963 ว่า “มีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นภายใต้ความมืดมิดในวังมัณฑะเลย์ พระราชโอรสของกษัตริย์มินดงหลายองค์ถูกประหารชีวิต มีเพียงสององค์ที่หลบหนีได้ เพราะชาวอังกฤษช่วยชีวิตและพาพวกเขาไปยังพม่าตอนล่าง” 

ทุกวันนี้ สวนที่เคยเชื่อว่ามีการสังหารหมู่ในวังมัณฑะเลย์ไม่มีร่องรอยของการนองเลือด เป็นเพียงมุมเงียบสงบ ที่มีสนามหญ้า ตัดแต่งอย่างดี ล้อมรอบด้วยต้นไม้และดอกไม้นานาพันธุ์

รายงานของสหพันธ์สหภาพนักศึกษาพม่า (ABFSU) ระบุว่า นักศึกษาสามคนจากมหาวิทยาลัยยะดะหน่าโบ่ง เมืองมัณฑะเลย์  ถูกควบคุมตัวและถูกส่งตัวไปยังศูนย์สอบปากคำในวังมัณทะเลย์ พวกเขาถูกซ้อมทรมาน โดยการแทงไม้ไผ่เข้าไปในทวารหนัก ต่อกรณีนี้ ผู้เขียนได้ติดต่อไปที่ ABFSU เพื่อสอบถามถึงหลักฐานตามรายงานระบุ

“ระหว่างการสอบปากคำ พวกเขาใช้ไม้ไผ่แทงเข้าไปในทวารหนักของเหยื่อ ซึ่งมันทุกข์ทรมานมากกว่าการตบหน้าหรือทุบตีตามเนื้อตัว และพวกเขายังได้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศด้วย” เจ้าหน้าที่ข้อมูลของ ABFSU

ผู้เคราะห์ร้ายหลายคนถูกซ้อมทรมานในรูปแบบเดียวกัน และยังถูกปฏิเสธการรักษาอาการบาดเจ็บ ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

เจ้าหน้าที่ข้อมูลของ ABFSU อ้างถึงหลักฐานใบสั่งยาสำรับหนึ่งของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งเป็นหลักฐานที่ได้รับมาจากทนายของผู้เคราะห์ร้าย ในใบสั่งยาแสดงรายการยา 6 รายการ ได้แก่ Lorix Plus, Flumox, Septidine, Diltigesic, Daflon และนมแมกมีเซีย ตามข้อมูลของเภสัช ครีม Lorix Plus ใช้สำหรับป้องกันโรคหิดและการติดเชื้ออื่นๆ Flumox เป็นยาปฏิชีวนะ และ Septidine เป็นยาฆ่าเชื้อ ทั้ง 3 รายการนี้ สามารถใช้รักษาอาการต่างๆ ได้ ขณะที่นมแมกนีเซีย ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก ส่วน Daflon และ Diltigesic ใช้รักษารอยแยกทางทวารหนักและอาการบาดเจ็บอื่นๆ ทางทวารหนัก ใบสั่งยาเป็นหลักฐานยืนยันความโหดร้ายในศูนย์สอบปากคำภายในวังมัณฑะเลย์

การสอดวัตถุแปลกปลอม เช่น ไม้ไผ่ เข้าไปทางทวารหนักของบุคคลนั้น อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ตามคำวินิจฉัยของแพทย์ที่ ABFSU ขอเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับรายการยาที่ปรากฏในใบสั่งยา

“ความรุนแรงของการบาดเจ็บขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความลึกของการสอดใส่ เราไม่รู้ขนาดของแท่งไม้ไผ่ มันอาจถึงแก่ชีวิตได้หากลำไส้มีรูพรุนหรือทะลุ การทรมานนี้อยู่นอกเหนือระดับการสอบสวน และไม่เป็นที่ยอมรับโดยสิ้นเชิง”  

ถึงวันนี้ มวลเมฆแห่งความทุกข์ทรมานยังคงปกคลุมอยู่ที่นั่น มืดมนและหนาทึบเสียจนไม่อาจจินตนาการถึงผู้เคราะห์ร้ายในวังนั้นได้

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า