Blood Amber: ความจนผลักให้เราตะกายดวงจันทร์มาตุนกระเป๋าที่ว่างโหวง

รัฐคะฉิ่น ประเทศเมียนมาร์ ขึ้นชื่อทั้งเรื่องการเป็นแหล่งอัญมณีและเป็นสมรภูมิสงครามระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อย ส่วนผสมอันลงตัวของความแร้นแค้นและโอกาสริบหรี่ทว่าเย้ายวนที่จะหนีให้พ้นความจน

ภาพยนตร์สารคดี Blood Amber ที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2019 ถ่ายทำโดยผู้กำกับชาวเมียนมาร์ที่เดินทางออกจากหมู่บ้านแถบชนบทไปเรียนรู้การทำสารคดีในไต้หวัน ลีหย่งเชา (Lee Yong-Chao) เผยให้เห็นความเป็นอยู่ของแรงงานเหมืองอำพันในรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศเมียนมาร์ ทั้งเรือนนอนเพิงไม้ไผ่ เสบียงจำกัด น้ำอาบที่มีกลิ่นเหม็นและน้ำดื่มที่สะอาดเพียงแค่ ‘พอดื่มได้’ แถมกว่าจะได้ดื่มยังต้องเดินทางลัดเลาะไปตามลำธารด้วยรองเท้าแตะคู่เดียวเพื่อตวงน้ำใส่ขวด และกลับขึ้นเขาอีกครั้งเพื่อเอาน้ำมาแจกจ่ายทุกคน กว่าจะได้ดื่มน้ำ เท้าทั้งสองก็เดินจนมอมแมมเปื้อนดิน โสร่งก็ชุ่มไปด้วยเหงื่อ

งานในเหมืองหนักไม่ใช่เล่น แต่การไม่มีงานทำนั้นหนักกว่า มีบางวันที่คนงานต้องหยุดขุดเหมืองเนื่องจากเครื่องจักรพัง หรือน้ำบาดาลทะลักท่วมเหมือง กล้องถ่ายภาพยนตร์จับสีหน้าคนงานที่ไม่มีความสุขเพราะไม่มีงาน เมื่อไม่มีงานก็แปลว่าอำพันไม่ครบตามเป้า ซึ่งหมายถึงเงินที่น้อยลง งานที่หนักขึ้นในวันพรุ่งนี้ และเสบียงที่ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ

นอกจากข้าวสาร ผัก และกาแฟซอง สิ่งสำคัญที่ช่วยต่อชีวิตในเหมืองก็คือ ‘เซบอเละ’ หรือบุหรี่เมียนมา (cheroot) ยัดไส้ฝอยข้าวโพดและใบยาสูบ มวนด้วยใบไม้แห้งสีเขียวซีด มัดรวมเป็นห่อใหญ่ๆ ขายอยู่ในเมือง บางครั้งหัวหน้าคนงานก็จะเป็นผู้รับหน้าที่ซื้อเหมามาแจกจ่ายให้กับคนงานคนละห่อ เมื่อรับมาแล้วก็จะต้องจัดสรรปันส่วนบุหรี่ของตัวเองอย่างไรก็ได้ให้พอสูบจนจบงวดงาน ใครที่บริหารไม่ดีก็อาจต้อง ‘เดินขอ’ บุหรี่จากคนอื่น อดมากหน่อยก็ต้องเดินเก็บบุหรี่มวนเก่าที่ทิ้งตกตามพื้นขึ้นมาจุดสูบใหม่ให้คลายหนาวและมีแรงทำงาน

แต่ละงวดงาน ข้าวของเครื่องใช้จะถูกแจกให้คนงานคนละเท่าๆ กัน อย่างที่คนหนึ่งแซวว่าเป็นระบบ ‘คอมมิวนิสม์’ เนื่องจากนานๆ ทีหัวหน้าหรือตัวแทนคนงานก็จะขับรถมอเตอร์ไซค์เก่าๆ ลงจากภูเขาไปซื้อของใช้ในเมืองคราวละเต็มคันรถ เอามาแกะแบ่งแล้วห่อใหม่รวมกับข้าวของอื่นๆ แจกจ่ายเป็นเซ็ตเครื่องยังชีพ

กล้องถ่ายโฉบให้เห็นของใช้ในเซ็ต นอกจากบุหรี่เมียนมาร์คนละกำใหญ่ ยังมีสบู่และยาสระผมแบบซองไม่กี่อัน ดูแล้วชวนสงสัยว่าจะใช้พอได้อย่างไรในเมื่องานต้องคลุกฝุ่นคลุกดินทุกวันขนาดนี้

ภาพยนตร์ไม่ได้ระบุพิกัดที่แน่ชัดของเหมือง แต่จากการพูดคุยกับผู้กำกับหลังชมภาพยนตร์จบก็พอทำให้เดาได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นในหมู่บ้านทะนาย (Tanai) ในหุบเขาฮูกอง (Hukawng) แหล่งอำพันที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของรัฐคะฉิ่นที่เพิ่งจะมีการโปรยใบปลิวจากเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเมียนมาร์เพื่อเตือนให้ชาวบ้านบริเวณนั้นอพยพด่วนภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2017 มิฉะนั้นจะ ‘เดือดร้อน’ หรือถูกตีขลุมว่าเป็นกองกำลังอิสระแห่งรัฐคะฉิ่นที่รัฐบาลจำต้องเข้ามาปราบปราม

ผู้กำกับโปรยกลิ่นอันตรายของสงครามระหว่างทัตมาดอว์ (Tatmadaw) หรือกองทัพรัฐบาลเมียนมาร์ และกองกำลังอิสระแห่งรัฐคะฉิ่น (Kachin Independent Army: KIA) เอาไว้เป็นเบื้องหลังจางๆ ในฐานะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการปิดหรือเปิดเหมือง ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมา

มีฉากหนึ่งที่คนงานเหมืองรายหนึ่งบรรยายเสียงระเบิดที่แว่วอยู่ไกลๆ ว่า

“รัฐบาลเอาเงินของเรามาสู้กับเรา” เขาว่า “ชินแล้ว เหมือนมีงานวัด” เพียงแต่อาจหวั่นใจเล็กน้อยหากระเบิดนั้นไม่ได้มาจากฝั่งตนเอง

ถ้าบนดินคือสงครามและความยากเข็ญ ใต้ดินก็คือขุมความหวัง ผู้กำกับพาเราเดินทางไปตามอุโมงค์ที่ทอดดิ่งลงสู่เหมืองอำพันแห่งหนึ่ง ซึ่ง ‘บางโม่’ หนุ่มคนงานเหมืองเนื้อตัวมอมแมมถอดเสื้อปีนลงไปโดยไร้อุปกรณ์เซฟตี้ ภาพที่ออกมาเมื่อมองจากปากหลุมลงไปเหมือนแมงมุมสีเนื้อกำลังขยับคืบคลานไปในหลุมดำ

รายได้ก้อนหนึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน หัวหน้าคนงานจะได้ส่วนแบ่งมากที่สุด คือ 2 ใน 4 อีก 1 ใน 4 จะตกสู่เจ้าของเหมือง และ 1 ใน 4 เสี้ยวสุดท้ายเป็นส่วนแบ่งระหว่างคนงานจำนวน 8 คน

ตัวเลขที่น่าสนใจในหนังบอกให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วคนงานเหมืองแต่ละรายจะได้ส่วนแบ่งจากการขายอำพันกระสอบหนึ่งเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งจะหมดไป หมุนเวียนกับค่าใช้จ่ายประจำวัน สบู่ ยาสีฟัน กาแฟซอง บุหรี่ และเงินเก็บสำหรับส่งกลับบ้านอีกเล็กน้อย

บางครั้งเงิน 3 เปอร์เซ็นต์ที่ได้มาก็ถูกหักรายทางไปกับค่าหยูกยารักษาอาการอ่อนเพลียจากการทำงาน ภาพยนตร์ฉายภาพ ‘โรงหมอ’ สถานีอนามัยเล็กๆ เป็นเพิงไม้ไผ่ที่หน้าตาไม่ชวนเชื่อว่าจะปลอดภัย แต่เป็นที่ที่คนงานมักมาใช้บริการเมื่อไม่สบาย ฉีดยาครั้งหนึ่งเสียค่าบริการ 5,000 จ๊าต นอนพักสักครู่แล้วก็กลับไปทำงานต่อ

เงินน้อย-งานหนัก-ไม่มั่นคง  คงเป็นคำจำกัดความของชีวิตคนในเหมืองตั้งแต่หัวหน้าคนงานไปจนถึงคนงานธรรมดาๆ แรงงานคนหนึ่งระบายความในใจอย่างอัดอั้นว่า 2 ปีที่ผ่านมาทำงานจนไม่ได้กลับบ้าน แต่ก็ส่งเงินกลับไปได้เพียงเล็กน้อย ราว 400,000 จ๊าต (ประมาณ 8,000 บาท) เท่านั้น ที่น่าประหลาดใจคือ แม้งานในเหมืองจะหนักหนาและไม่มั่นคง คนที่ทำงานในนั้นก็ยังหวังจะเก็บเงินสักก้อนเพื่อซื้อที่ดินเปิดเหมืองของตัวเองอยู่ดี

“จะสู้หน้าคนที่บ้านได้ก็ต่อเมื่อมีเงินเยอะๆ” เขาเล่า เป็นสถานการณ์แรงงานหนุ่มสาวหลายคน แม้แต่คนงานชาวไทยที่มีภาระต้องหาเลี้ยงคนที่บ้านก็คงประสบภาวะกดดันไม่ต่างกัน

แมงมุมสีเนื้อตัวแล้วตัวเล่าคืบคลานลงไปในเหมือง ขุด ค้น และส่องไฟฉายไปตามแนวหินทั้งวัน —บางทีก็ทั้งคืน— เพื่อจะหาอำพันสีแดงเลือดสักก้อนหนึ่ง ความหวังวามวาวของชาวเหมืองเมียนมาร์ที่จะหลุดพ้นจากความยากจน ขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าเหมืองจะถูกสั่งปิดจากสงครามอีกเมื่อไหร่

แม้บทสนทนาระหว่างแรงงาน หัวหน้าเหมือง และผู้กำกับจะวนเวียนอยู่แต่เรื่องเงินๆ ทองๆ เรากลับรู้สึกว่าคนเหล่านั้นก็เพียงแต่ ‘หิวข้าว’ ไม่ได้หิวเงินจนหน้ามืดตามัว

ความหิวข้าวผลักให้คนจนกลายเป็นคนพร่ำเพ้อคิดตะกายเก็บดวงจันทร์มาแนบกระเป๋าเสมอ อย่างที่บางโม่และคนงานเหมืองร้องเพลงปลุกใจตัวเองระหว่างอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน เนื้อเพลงนั้นพูดถึงชายเสียสติที่คิดอยากจะสอยดวงจันทร์มาเก็บไว้ใส่กระเป๋าเป็นของตัวเอง

ยิ่งเป็นความหิวในเมืองที่ไม่พร้อมจะหยิบยื่นบันไดให้แก่คนจนได้ป่ายปีนโดยง่าย เนื้อตัวของผู้ผจญภัยจึงเต็มไปด้วยริ้วรอยบาดแผล ทั้งริ้วรอยเล็กๆ น้อยๆ เช่น ความอ่อนเพลียจากการโหมงาน ที่เพียงแค่ไปฉีดยากับหมอสถานีอนามัยแล้วนอนพักสักครู่ก็หาย หรือริ้วรอยที่สาหัสกว่านั้นที่ภาพยนตร์ไม่ได้บันทึกไว้ มีความเสี่ยงมหาศาลกว่าจะได้อำพันสักชิ้นปะปนมากับก้อนหิน มีคนงานเหมืองขาดอากาศหายใจระหว่างน้ำท่วมเหมืองหรือถูกไฟฟ้าช็อตเสียชีวิตอยู่ประปราย แต่ข่าวอาจไม่ได้แพร่กระจายมาที่เมืองไทยเท่าไหร่นัก

ทั้งบ้าบิ่นและเสียสติ การตะกาย (หรือคืบคลานลงไปตามเหมืองใต้ดิน) เพื่อหาดวงจันทร์ใต้ดินสักเสี้ยวหนึ่งจึงเท่ากับว่าได้วางชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อความมั่งคั่งของตัวเองและครอบครัว

ภาพยนตร์อำลาจอไปด้วยแววตาอหังการของคนงานและหัวหน้าคนงานขณะชูก้อนอำพันสีแดงเลือดขนาดใหญ่กว่าก้อนอิฐเอาไว้คนละก้อน ลีหย่งเชา ผู้กำกับเล่าว่า ฉากจบของหนังได้มาด้วยความบังเอิญล้วนๆ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยจึงทำให้วันสุดท้ายของการถ่ายทำเป็นวันเดียวที่เขามีโอกาสได้บันทึกภาพโลกใต้ดินในเหมือง

เรานึกภาพลีหย่งเชาจำลองตัวเองเป็นแมงมุมมนุษย์อีกตัวแล้วคืบคลานไปในเหมือง หนึ่งชั่วโมงหลังจากได้รับอนุญาตให้ลงไปถ่ายทำ คนงานก็กอบอัญมณีไว้ในมือ ส่วนเขาก็ได้ฟุตเทจที่พีคที่สุด น่าประทับใจที่สุดในเรื่อง

มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมาอ่อนไหวกับเรื่องราวของคนงานเหมืองห่างไกล นึกย้อนไปเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน กำไลหินสีต่างๆ กลับมาเป็นกระแสนิยม เราในตอนนั้นสวมกำไลกรุ๋งกริ๋งเต็มแขน หินเหล่านั้นก็คงมาจากเหมืองใดเหมืองหนึ่งในประเทศใดก็ไม่รู้ ก่อนจะถูกขุดและขัดจนสวยพอจะนำมาร้อยเรียงวางขาย และอาจด้วยเหตุบังเอิญ ในวันรับชมสารคดีที่เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน ซึ่งฉายเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เปิด เราสวมต่างหูหยกราคาถูกๆ คู่หนึ่งที่ซื้อมาจากชายแดนเมียนมาร์พอดี

ไม่รู้ว่าจะเป็นอัญมณีจากฝีมือและหยาดเหงื่อของนักตะกายจันทร์คนใด และค่าต่างหูคู่นั้นจะเติมกระเป๋าเสื้อของนักตะกายจันทร์ให้อิ่มท้องพอสักครึ่งมื้อหรือไม่

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า