American Factory: ‘แรงงาน’ ปัจจัยการผลิตที่ไร้ชีวิต บนคลื่นทุนนิยมจีน

ภาพยนตร์เรื่อง American Factory เป็นภาพยนตร์สารคดี กำกับโดย Steven Bognar และ Julia Reichert (The Last Truck: Closing of a GM Plant, 2010). ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวกว่า 3 ชั่วโมง ผ่านบริษัทข้ามชาติจากจีนที่ชื่อว่า Fuyao (บริษัทผลิตกระจก) ที่เข้ามาซื้อกิจการโรงงานต่อจากบริษัท General Motors Moraine (GM) ในเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ

ที่มาของเหตุการณ์การเคลื่อนย้ายการผลิตจากประเทศที่กำลังพัฒนาไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจไม่ใช่ภาพที่เราคุ้นชิน แต่หากเรามองย้อนกลับไปถึงต้นตอของปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ คงต้องนับย้อนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 ในยุคสมัยของการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 2 ของจีน อย่าง เติ้ง เสี่ยวผิง ที่การเปิดประเทศและดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นนโยบายสำคัญของการเปลี่ยนโฉมหน้าระบบเศรษฐกิจของจีนและโลกไปตลอดกาล สิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงกับดักจากความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ไม่ว่าจะสกุลสังคมนิยม หรือสกุลทุนนิยม ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะไม่ว่า “แมวขาวหรือแมวดำ ขอแค่จับหนูได้ก็เป็นพอ” จนชาติตะวันตกกล่าวในเชิงทีเล่นทีจริงว่า นี่คือทุนนิยมและชาตินิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน (Capitalism and Nationalism with Chinese Characteristics) 

-1-

ชาตินิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน เป็นความรักชาติที่มีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ อันได้แก่ การถูกมหาอำนาจรุมรังแกอย่างน่าอับอายในช่วงล่าอาณานิคม กับความภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของจีนในอดีตที่มีความเป็นอารยธรรมสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสายเป็นเวลากว่า 4,000 ปี ซึ่งแสดงผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างตำราพิชัยสงครามซุนวูอันเป็นต้นกำเนิดของคำว่า ‘จงกั๋ว’ ที่แปลว่า ดินแดนอันเป็นศูนย์กลาง และนักปราชญ์ที่ทั่วโลกรู้จักอย่าง ขงจื๊อ ขงเบ้ง สิ่งเหล่านี้ได้ถูกปลูกฝังมานาน ดังในภาพยนตร์ที่เราได้เห็นความพยายามที่จะปลูกฝังความจงรักภักดีต่อบริษัทผ่านโครงสร้างทางสังคม และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ผ่านการยืนตรงแสดงความเคารพต่อบริษัท Fuyao ในตอนเช้า หรือแม้แต่ตอนงานเลี้ยงสังสรรค์ของบริษัท ดนตรีบรรเลงก็ยังเป็นเพลงปลุกใจและเพลงที่ปลูกฝังให้พนักงานจีนรักความเป็น Fuyao ในฐานะของผู้มีพระคุณ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจาก Academy Awards ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างโดยบริษัท Higher Ground Productions ซึ่งอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา และอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา มิเชล โอบามา ถือครองอยู่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง เช่น ในคำปราศรัยของผู้ร่วมอำนวยการสร้างอย่าง Jeff Reichert ผู้ซึ่งเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งอเมริกา ได้ประกาศในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ว่า “แรงงานในทุกๆ วันนี้ ต้องพบเจอกับความยากลำบากที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ …และเราเชื่อว่าสิ่งต่างๆ จะดีขึ้นเมื่อคนในโลกหันมารวมกันเป็นสหภาพ” การปราศรัยเช่นนี้อาจดูเป็นคำที่สวยหรู และดูเหมือนเป็นการสนับสนุนความเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในความเป็นจริง นั่นคือ การส่งเสริมให้เกิดสหภาพการค้าอเมริกันและพรรคเดโมแครตของสหรัฐ รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนผู้สนับสนุนหลักของลัทธิชาตินิยมและลัทธิคลั่งชาติ 

การได้รับรางวัลของภาพยนตร์ ดูจะเป็นที่ชื่นชอบของ บารัค โอบามา จนอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐต้องโพสต์ลงทวิตเตอร์ แสดงความยินดีต่อทีมงานผู้สร้าง รวมถึง Julia Reichert และ Steven Bognar ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างในครั้งนี้ ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จในการถ่ายทอดเรื่องราวที่ซับซ้อนเชิงโครงสร้างทางสังคม ความต่างทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ และภาษา ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่เกิดจากความแตกต่างหลากหลายตั้งแต่ระดับปัจเจก สถาบันครอบครัว ไปจนถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กำลังเปลี่ยนขั้วอำนาจจากตะวันตกไปสู่ตะวันออก 

ฉากแรกของสารคดีเริ่มต้นด้วยสถานการณ์การปิดตัวลงของบริษัท GM ในเดือนธันวาคม 2008 จนกระทั่ง 5 ปีต่อมา ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทข้ามชาติจากประเทศจีนกำลังมองหาโอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในดินแดนแห่งเสรีอย่างสหรัฐ หนึ่งในนั้นคือ บริษัทผลิตกระจกอย่าง Fuyao สิ่งที่น่าสนใจตั้งแต่ฉากแรกคือ ฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ของ Fuyao ได้ประกาศที่จะจ้างแรงงานในท้องที่ และพนักงานที่เคยทำงานกับบริษัท GM ที่ได้ปิดตัวลงเมื่อ 5 ปีก่อน อันเป็นจุดเริ่มต้นของประเด็นคำถามที่ว่า ผลประโยชน์หลักของเหล่าแรงงานอยู่ที่ใดในประเด็นเรื่อง ‘การปฏิบัติต่อแรงงาน และวัฒนธรรมจีนกับอเมริกัน’ และชะตากรรมในการรวมตัวกันของสหภาพแรงงาน United Auto ที่โรงงานในโอไฮโอจะไปในทิศทางใด 

ผู้บริหารชาวอเมริกันของ Fuyao ได้กล่าวในช่วงพิธีเปิดทำการของโรงงานว่า “สิ่งที่พวกเรากำลังทำและสร้างอยู่ ถือเป็นหนึ่งก้าวที่จะสานสัมพันธ์สองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน (วัฒนธรรมอเมริกันและวัฒนธรรมจีนแผนดินใหญ่)” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากคำกล่าวบนเวทีเมื่อแรงงานเข้าไปสอบถามผู้บริหารชาวอเมริกันว่า “บริษัทของเราจะมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือไม่” คำตอบที่ได้คือ “ไม่มี และสาเหตุที่ต้องเป็นเช่นนั้นมันก็เป็นเพราะความปรารถนาของเราเองที่จะไม่มีสหภาพแรงงาน” 

ในช่วงครึ่งแรกของภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งแบบกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ของระบบบริหารจัดการแบบ Fuyao ที่มุ่งเน้นที่จะทำกำไรให้กับบริษัท ซึ่งการถ่ายทำของผู้กำกับได้เข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นปัญหาแบบผิวเผินระหว่างวัฒนธรรมการทำงานแบบจีนและแบบอเมริกัน ซึ่งปัญหาใหญ่ของการบริหารจัดการของ Fuyao คือ การขาดดุลการผลิตของโรงงานหลังจากการดำเนินงานของโรงงานได้ไม่นาน ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างแรงกดดันอย่างใหญ่หลวงต่อเหล่าผู้บริหาร 

หัวหน้าของ Fuyao เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่งว่า “เหตุผลที่บริษัทของเรามีระดับการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ นั่นก็เพราะว่าประสิทธิภาพของแรงงานชาวอเมริกันนั้นต่ำ” สนับสนุนด้วยบทสนทนาที่ว่า ชาวอเมริกันมีมือที่ใหญ่ ทำงานช้า และต้องใช้เวลาเทรนงานหลายครั้ง เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันของแนวคิด Result-Orientation Culture กับ People-Focus Culture ที่จีนเองต้องการที่จะสร้างผลกำไรโดยมองแรงงานเป็นเพียงปัจจัยที่ใช้ในการผลิตสินค้า ไม่ใช่ทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ในขณะที่อเมริกามีความต้องการที่จะคานอำนาจของนายทุนไม่ให้ใช้อำนาจมากจนเกินไป โดยการจัดตั้งสหภาพแรงงานอันเป็นไปตามสิทธิแรงงานและความเป็นมนุษย์ด้วย แต่ด้วยสหภาพแรงงานจะทำให้การผลิตและการดำเนินการนั้นช้าลง เพราะเมื่อแรงงานมีสิทธิ์ มีเสียง การตัดสินใจบางอย่างอาจจะต้องชะงักลงได้ง่ายๆ วิเคราะห์จากคำกล่าวของท่านประธาน Cao อันทำให้เราได้เห็นถึงความต่างในมุมมองของทางฝั่งลูกจ้างและนายจ้างที่มีที่มาจากโครงสร้างทางสังคมที่ต่างกัน 

From the film AMERICAN FACTORY

ความขัดแย้งในกรณีศึกษานี้สร้างความงุนงงระหว่างแนวคิดกับความเชื่ออยู่ไม่น้อย เพราะการศึกษาไทยพร่ำสอนเราอยู่เสมอว่า จีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ อันมีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และอเมริกาเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ของทุนนิยม แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนจากคอมมิวนิสต์ที่เคยปิดประเทศ ทำนารวม เข้าสู่การเป็นเจ้าแห่งทุนนิยมเป็นเช่นไร และความย้อนแย้งนี้ที่พบได้ไม่บ่อยครั้งนัก เมื่อประเทศอันเป็นสัญลักษณ์แห่งทุนนิยมถูกความเป็นทุนนิยมของจีนเข้ามาสั่งสอนถึงในบ้าน เปรียบเสมือนระเบียบโลก 2 ระเบียบ กำลังเดินคู่ขนานซึ่งกันและกัน คือ Anglo-American World Order คู่ขนานไปกับ China-Centric World Order

เมื่อกลุ่มผู้บริหารอเมริกันเดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงงานสาขาใหญ่ที่มณฑลฟูเจียน ประเทศจีน ทำให้พวกเขาพบเข้ากับความต่างอย่างสุดขั้วระหว่างวัฒนธรรมการทำงานของจีนและของอเมริกัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว คนจีนทำงานวันละ 12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ หรือแม้แต่คนจีนที่ไปทำงานต่างประเทศก็ไม่ได้รับเงินพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่ค่าแรงของคนจีนนั้นถูกกว่าคนอเมริกันที่ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ 

สิ่งที่เหล่าผู้บริหารพบคือ ความตื่นตะลึงกับความมีวินัยของแรงงานจีนที่ทุกเช้าจะมารวมตัวกันเพื่อร้องเพลงที่เน้นย้ำเรื่องความจริงจังในการทำงาน จากนั้นจะแยกไปประจำจุดต่างๆ ตามแต่ละแผนก เพื่อมาประชุมแก้ไขปัญหาที่เจอและอัพเดทความคืบหน้าของการทำงาน โดยคนทุกคนจะมีหมายเลขบอกพิกัดว่าต้องยืนตรงไหนของโรงงาน มีการสั่งซ้ายหันขวาหัน และทำความเคารพผู้บังคับบัญชา ในขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยแทบไม่ต้องมี อีกทั้งคนงานจีนยังสามารถแยกขยะที่เป็นกระจกได้ด้วยถุงมือธรรมดาที่ไม่สามารถป้องกันสิ่งมีคมได้ 

ในระหว่างบทสนทนาของฝ่ายผู้บริหารอเมริกันและจีน ทั้งสองฝ่ายได้สังเกตเห็นว่าคนงานมักจะพูดคุยกันระหว่างที่ทำงาน และหนึ่งในทีมผู้บริหารจากจีนได้เสนอวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้ไว้ว่า “ก็เอาเทปปิดปากพวกเขาไว้ จะได้ไม่ต้องพูด” และในตอนท้ายเหล่าผู้บริหารที่เข้ามาดูงานก็ได้บทสรุปว่า สาเหตุที่ผลผลิตที่ออกมานั้นมีประสิทธิผลต่ำ นั่นก็เพราะความเกียจคร้านของแรงงานชาวอเมริกัน เมื่อการเยี่ยมดูงานเสร็จสิ้น ทีมผู้บริหารอเมริกันได้เดินทางกลับสหรัฐ และได้เริ่มดำเนินการตามแผนนโยบายใหม่ที่ได้รับมา อย่างเช่นการประชุมพบปะก่อนเริ่มงาน ในขณะเดียวกันแรงงานจากโอไฮโอก็เริ่มรู้สึกไม่พอใจกับการบริหารจัดการแบบจีนมากขึ้น คนงานเริ่มบ่นเกี่ยวกับการรื้อห้องอาหารกลางวันเพื่อทำเป็นที่ว่างสำหรับเก็บสายการผลิตอุณหภูมิสูงในโรงงาน รวมถึงลดพื้นที่ระหว่างสายการผลิตให้แคบลง เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยเยอะขึ้น

-2-

สิ่งที่เราได้เห็นต่อมาคือ ความขัดแย้งระหว่างสองแนวคิด คือ แนวคิดชาตินิยม หรือ Nationalism และแนวคิดหลากหลายนิยม หรือ Cosmopolitanism ซึ่งในภาพยนตร์ได้เผยให้เห็นถึงช่วงงานเลี้ยงที่ทั้งสองชาติจะต้องขึ้นมาแสดงเพื่อเสริมสร้างความเป็นมิตรต่อกัน อย่างตอนที่แรงงานจีนกำลังขับร้องเพลงที่พูดถึงความเป็นชาติ ความทุ่มเทเพื่อการทำงาน และครอบครัว ขณะที่การแสดงของแรงงานอเมริกันคือการออกไปร้องเพลง YMCA ที่แสดงถึงความสนุกในการใช้ชีวิต อันเป็นแนวคิดที่มีความต่างขั้วกันอย่างเห็นได้ชัด โดยที่ขั้วหนึ่งมองเพียงพวกเดียวกัน และแบ่งแยกกีดกันความไม่ใช่พวกออกจากสังคมหรือประเทศชาติของตน ในขณะที่อีกขั้วหนึ่งมองถึงโลกทั้งใบในฐานะของประชากรโลกที่ไม่แบ่งแยก 

แนวคิดความหลากหลายนิยม (Cosmopolitanism) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก kosmopolitês ที่แปลว่า พลเมืองโลก (World Citizen) เป็นคำที่อธิบายถึงความหลากหลายของมุมมองที่สำคัญในการยอมรับแนวคิด วัฒนธรรม สังคม การเมือง เศรษฐกิจของกันและกัน หัวใจของแนวคิดนี้ที่นักหลากหลายนิยมได้ให้ไว้ก็คือ แนวคิดที่มนุษย์ทุกคนบนโลกอาศัยอยู่ร่วมกันโดยปราศจากความต่างทางด้านการเมือง และเป็น (หรือควรเป็น) พลเมืองในสังคมเดียวกัน และเคารพในความแตกต่าง

แนวคิดชาตินิยม (Nationalism) เป็นแนวคิดทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ มีการเคลื่อนไหวที่โดดเด่นในด้านการส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำนาจอธิปไตยของตนเอง (Nation’s Sovereignty) อันรวมไปถึงการเสริมสร้างและคงอยู่ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ชาติเพียงหนึ่ง บนพื้นฐานของวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา การเมือง และความเชื่อในประวัติศาสตร์เดียวกัน และส่งเสริมความภาคภูมิใจในความสำเร็จของชาติ (Patriotism) 

แนวคิดชาตินิยมเชื่อว่า แต่ละชาติควรที่จะปกครองตนเองอย่างอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก (Self-determination) ซึ่งแนวคิดนี้ถือเป็นการเคลื่อนไหวสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และมีการเริ่มต้นยุคสมัยของแนวคิดชาตินิยมในยุโรปในศตวรรษที่ 19 ก่อนจะแพร่ไปทั่วทั้งเอเชียและแอฟริกาในศตวรรษที่ 20 แต่ปัจจุบันเราคงจะมองจีนเป็นเพียงประเทศคอมมิวนิสต์เช่นเดิมไม่ได้ เพราะหลังจากการปฏิรูปประเทศในยุคสมัยผู้นำคนที่ 2 ประเทศจีนเริ่มนำเอาความเป็นทุนนิยมเข้ามาใช้เป็นฐานในการบริหารระบบเศรษฐกิจของประเทศ จีนเรียกแนวทางการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางว่า สังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน (Socialism with Chinese Characteristics) เพราะจีนคงรู้ดีว่าการที่จะขึ้นไปเป็นใหญ่ได้ ย่อมไม่สามารถกระทำได้โดยลำพัง จีนจึงเริ่มสานความสัมพันธ์กับนานาประเทศไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะมีอุดมการณ์ทางความเชื่อที่ต่างจากตนเอง 

ความแพร่หลายของโมเดลแบบมีส่วนร่วมในช่วงหลังสงคราม มีผลอย่างมากต่อภูมิศาสตร์ทางการเมืองจากชัยชนะของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มต่อต้านจักรวรรดินิยมในประเทศอาณานิคมทั่วโลก การเคลื่อนไหวเหล่านั้นส่งผลให้เกิดผลผลิตทางความคิด การปฏิบัติ รวมถึงการร่วมมือและการปฏิรูปนิยมทั่วทั้งเอเชีย การเคลื่อนไหวเหล่านั้นยังเกิดขึ้นเพื่อลดความไม่เท่าเทียมและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม 

อดีตคนงานของ GM คนหนึ่งอธิบายว่า เมื่อก่อนเธอทำเงินได้มากกว่า 29 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ที่โรงงานผลิตรถยนต์ (GM) ในขณะที่ปัจจุบันเธอทำงานที่โรงงานของ Fuyao ในงานเดียวกัน ปลอดภัยน้อยกว่า แต่ได้รับค่าแรงต่อชั่วโมงน้อยกว่า 13 ดอลลาร์ ซึ่งไม่ใช่แค่ชาวอเมริกันที่ได้รับค่าจ้างเช่นนี้ แต่แรงงานข้ามชาติชาวจีนที่มาที่นี่ก็ประสบเช่นกัน 

“พวกเขาถูกพามาที่นี่ ถูกบังคับให้ต้องละทิ้งครอบครัวเป็นเวลาหลายปี” คนงานชาวอเมริกันรายหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเร่งแรงงานในการผลิต เธอกล่าวว่า “เรามีฝั่งหัวหน้างานชาวจีนที่ต้องการตัวเลข (จำนวนสินค้าที่ต้องผลิต) และฝั่งลูกค้าที่ต้องการคุณภาพ (ของสินค้า)” 

ในขณะที่ผู้สร้างภาพยนตร์ดูเหมือนจะใช้คำ “ความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมของชาวจีนและอเมริกัน” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างสองวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเลย แต่เหตุผลสำคัญคือ แรงผลักดันพื้นฐานที่ผูกพันกับการเติบโตของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกต่างหาก ซึ่งการตีความปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของ Reichert และ Bognar ในการทำความเข้าใจกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 

-3-

หนึ่งในฉากเริ่มต้นที่เผยให้เห็นถึงความยากลำบากของแรงงานอเมริกันหลังจากการปิดตัวลงของโรงงาน GM หลายคนกำลังพบเจอกับความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนไร้บ้าน และหนึ่งในทางเลือกหรือทางเลือกเดียวที่จะกู้สถานการณ์กลับมาได้คือ การเข้าทำงานในบริษัท Fuyao ที่ได้เข้ามาซื้อโรงงาน GM และประกาศรับสมัครแรงงานที่เคยทำงาน ณ โรงงานแห่งนั้น 

ประเด็นที่ได้เห็นคือ ความยากจนของปัจเจกชน (แรงงาน) ในประเทศที่เราเรียกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว กับความพยายามในการหางานทำเพื่อสร้างรายได้ที่มากเพียงพอที่จะเช่าบ้านสักหลังของแรงงานอเมริกันคนหนึ่ง หลังจากที่บริษัท GM ที่เธอเคยทำงานอยู่นั้นได้ปิดตัวลง คำถามที่ตามมาของใครหลายๆ คน คือ เธอคนนั้นยากจนจริงหรือ เพราะทั้งตัวเธอเองมีแต่เสื้อผ้าที่ดูดีและดูใหม่ แต่เมื่อตัดภาพมาที่ประเทศแถบเอเชีย ความยากจนดูจะเป็นสิ่งที่ดูออกง่ายเสียเหลือเกิน หรือความยากจนที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดมาจากการตีตรา (label) หรือการทำให้เป็นกฎตายตัว (stereotype) โดยกลุ่มชนชั้นนำว่า ความยากจนวัดได้ด้วยสายตา จากการที่ไม่มีเสื้อผ้าแบบตะวันตก หรือการไม่มีที่อยู่อาศัยแบบบ้านที่เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง 

Asian Development Bank หรือ ADB (2009) ระบุว่า ความยากจนนับเป็นความกังวลระยะยาวแบบถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังประสบกับปัญหาเช่นนี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงยังสามารถพบเห็นคนไร้ที่พึ่งตามถนนในเมืองใหญ่ของหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งความยากจนเองถูกนับเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามท้องถิ่นหรือพื้นที่ห่างไกล (Bradshaw, 2005) เนื่องจากความพยายามในการพัฒนาชุมชนห่างไกลในชนบทเพื่อเยียวยาและลดปัญหาความยากจน ส่งผลให้เกิดความแตกต่างที่ว่า ทฤษฎีความยากจนแบบใดกันแน่ที่เหมาะกับปัญหาที่กำลังได้รับการแก้ไข 

สปิคเกอร์ (2006) กล่าวว่า ความยากจนไม่สามารถนิยามได้ด้วยความหมายที่ตายตัว แต่ด้วยความหมายที่หลากหลายที่เชื่อมโยงถึงการเกิดขึ้นใหม่ของความยากจนในแต่ละรูปแบบ ซึ่งความยากจนถูกนิยามเป็นแนวคิดที่สำคัญอันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการ (need) การกีดกัน (deprivation) และการเข้าถึงทรัพยากรที่จำกัดของบุคคล (limited resources) สปิคเกอร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ความยากจนคือการขาดแคลนซึ่งสิ่งของสินค้าที่จำเป็น การบริการ การกีดกัน การขาดรายได้ ความมั่งคั่ง และทรัพยากรที่จะใช้ในการบริโภคตามที่บุคคลต้องการ หรืออีกนัยหนึ่งคือ สปิคเกอร์ให้นิยามความยากจนว่ามีสาเหตุมาจากการถูกกีดกันจากการเข้าถึงทรัพยากรอย่างหนักหน่วง และเมื่อใดก็ตามที่ความยากลำบากของพวกเขาเหล่านั้นถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เมื่อนั้นความยากจนจะเป็นสิ่งที่มิอาจเลี่ยงหนี 

ย้อนกลับไปที่เนื้อหาภาพยนตร์ เราจะพบความละม้ายคล้ายคลึงกันกับสถานการณ์ที่แรงงานชาวอเมริกันถูกมองว่าไม่ได้ดูยากจนเลย เพราะเขามีเสื้อผ้า มีรถ เพียงแค่ไม่มีบ้านอยู่อาศัยก็เท่านั้น ในขณะที่ชาวอเมริกันที่ถูกตัดสินไปแล้วว่าไม่ได้ยากจน กำลังประสบกับความเปราะบางทางสังคมที่ตนเองจะต้องอาศัยอยู่อย่างคนไร้บ้าน และไร้งาน 

อีกหนึ่งในความต่างกันทางด้านอุดมคติการใช้ชีวิตแบบอเมริกันที่ได้รับการหล่อหลอมจากวัฒนธรรม ‘ความฝันอเมริกา’ (American Dream) ที่ซึ่งแรงงานจีนดูจะไม่เข้าใจและต่อต้านวัฒนธรรมอเมริกาในช่วงแรกๆ กลับโดนวัฒนธรรมแบบความฝันอเมริกาเข้าครอบงำเช่นเดียวกัน ดังตอนหนึ่งที่แรงงานจีนซึ่งเข้ามาทำงานในแผ่นดินอเมริกากล่าวว่า สมัยก่อนความสุขของคนจีนขอแค่มีงานทำ มีเงินใช้เพียงพอ และได้เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานก็มีความสุขจะแย่อยู่แล้ว ชีวิตนี้คงไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้ แต่เมื่อการอยู่ร่วมกันในชีวิตและวัฒนธรรมแบบตะวันตกเริ่มเข้ามาหยั่งลึกถึงจิตใจ พวกเขาก็รู้สึกว่าตัวเองต้องการมากขึ้น อยากได้มากขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองต้องได้ในสิ่งที่ควรจะได้

ปัญหาค่าแรงที่ลดลง การเร่งงาน และเวลาการทำงานที่เพิ่มขึ้นกับแรงงานอเมริกันที่ Fuyao America ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน แต่ประเด็นปัญหานี้เหล่านี้ไม่ได้เป็นผลมาจากทัศนคติแบบอเมริกันตามที่คุณ Cao เข้าใจ เพราะการเรียกร้องถึงสิทธิแรงงานอย่างความต้องการในการตั้งสหภาพแรงงาน เกิดจากการหล่อหลอมและตกทอดเป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่นของอเมริกา บนฐานของการต่อสู้ทางชนชั้นของแรงงานมานานกว่าศตวรรษ จนท้ายที่สุดอเมริกาก็สามารถสร้างสภาพการทำงานที่ปลอดภัยกว่า (แต่ไม่ปลอดภัยอย่างแท้จริง) และผลประโยชน์ที่ดีกว่าให้แก่แรงงานสหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเทียบกับแรงงานในประเทศจีนที่ต้องทนอยู่กับสภาพการทำงานที่นานกว่า อันตรายมากกว่า อันเป็นผลกระทบโดยตรงจากการฟื้นฟูระบบทุนนิยมและมาตรการปฏิรูปตลาดที่เกิดขึ้นในประเทศจีนตั้งแต่ปี 1978 ที่ในช่วงเวลานั้นระบบราชการของกรุงปักกิ่งได้เปิดโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ (ตะวันตก) เข้ามาใช้ตลาดแรงงานราคาถูก (อย่างกดขี่) ซึ่งเมื่อแรงงานทนต่อสภาพการทำงานที่โหดร้ายไม่ไหวและลุกขึ้นต่อต้าน ตำรวจของรัฐ รวมถึงรัฐเองกลับเลือกที่จะตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพื่อให้แรงงานไม่กล้าลุกฮือ จนกลายเป็นสังคมที่แรงงานถูกกดขี่เรื่อยมา

จุดที่ผู้ผลิตสารคดีเรื่องนี้สอบตกเช่นกัน คือการหันเหไปให้ความสำคัญต่อประเด็นกฎการทำงานที่เข้มงวด ชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้น ค่าจ้างที่ต่ำลง และการจัดการที่ล่วงล้ำความเป็นปัจเจก เพียงเพราะการเปลี่ยนแปลงหลังจากไปศึกษาดูงานที่สำนักงานใหญ่ที่จีน แต่เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจริงๆ ตอนนี้ คือ ปัญหาการใช้แรงงานคนงานที่มากเกินไปต่างหาก ซึ่งในอเมริกาการใช้งานเช่นนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติทางสังคมอย่างต่อเนื่องในทุกอุตสาหกรรมของสหรัฐในช่วงยุคก่อนหน้านี้ 

ในขณะที่ American Factory นำเสนอความยากลำบากบางประการที่คนงาน Fuyao กำลังเผชิญอยู่ ตั้งแต่เรื่องของเงินเดือนที่ต่ำ ความไม่มั่นคงในการหาที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมการทำงานที่ร้อนจัด การบาดเจ็บในที่ทำงานที่ไม่ได้รับการเยียวยาจนแรงงานต้องกลับมาจัดการด้วยตนเอง ความกังวลด้านความปลอดภัย ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งสู่มุมมองที่ผิด โดยหนึ่งในความคิดที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง คือ การนำเสนอการต่อสู้เพื่อประโยชน์ของแรงงานของกลุ่ม United Auto Workers (UAW) ออกมาอย่างไร้เหตุผล และประเด็นที่คุณ Cao ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานของ Fuyao ที่พยายามต่อต้านการตั้งสหภาพแรงงานอย่างเต็มที่ จนเรื่องราวเลยเถิดขนาดที่การจัดตั้งสหภาพเป็นประเด็นการเมืองภายในองค์กร กลุ่มคนงานเองเริ่มเรียกร้องให้ทำประชามติเพื่อโหวตว่าควรมีสหภาพหรือไม่ จนสุดท้ายก็ต้องมีการจัดประชามติจริงๆ จากการแทรกแซงของสหภาพยานยนต์ (United Auto Works) ซึ่งกลุ่มคนงานบางส่วนของ Fuyao ก็ได้จัดแคมเปญด้วยการแจ้งใบปลิวและถือป้ายโหวต ‘Yes’ นอกโรงงาน ฟากฝั่งบริษัทเองได้มีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อการยับยั้งสหภาพแรงงาน (The Union Avoidance Consultants) หลายล้านดอลลาร์ เพื่อจัดการพนักงานที่แข็งข้อ รวมถึงมีการกลั่นแกล้งพนักงานหัวโจกด้วยการให้ทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ เพื่อให้มีผลงานที่แย่และเป็นเหตุผลที่จะใช้ในการไล่ออก โดยในกลุ่มผู้บริหารก็ทำการโละผู้บริหารคนอเมริกันทั้งหมด และแต่งตั้งผู้บริหารคนจีนแทน มีการเอาใจด้วยการเพิ่มค่าแรง 2 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และสนับสนุนให้โหวต ‘No’ จนท้ายที่สุดเหตุการณ์ไปถึงจุดแตกหักที่คุณ Cao ประธานบริษัท Fuyao ประกาศอย่างชัดเจนว่า “หากสหภาพแรงงานเกิดขึ้นจริง ฉันจะปิดตัวโรงงานแห่งนี้ลง” 

ท้ายที่สุด ผลโหวตออกมาด้วยคะแนนเสียงโหวต ‘No’ 60 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ในทางปฏิบัติได้ก่อเกิดการกระทำในลักษณะเดียวกันที่ชี้ให้เห็นว่า สหภาพแรงงานที่อ่อนแอลงส่งผลต่อสำนึกร่วมในการรักษาผลประโยชน์ของแรงงานด้วยกันที่ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ 

จากปัญหาทั้งหมดนำไปสู่ตอนท้ายของสารคดีที่คุณ Cao ได้รับคำแนะนำจาก Vendor ในการนำระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ทั้งหมด สุดท้ายใบปิดของเรื่องคือ การพลิกฟื้นจากขาดทุนเป็นกำไรของโรงงานแห่งนี้ ในขณะที่ค่าแรงยังคงอยู่ที่ 14 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงจนถึงปัจจุบัน

ท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์ที่แรงงานต้องเผชิญทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีนถือเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การตรวจสอบ วิเคราะห์ และค้นหาเจาะลึกถึงความเป็นมาในระดับมหภาค และปัจจัยที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ประเทศด้อยพัฒนากว่าสามารถตั้งสายพานการผลิตในประเทศที่เจริญแล้วกว่าได้ ในเรื่องที่นอกเหนือจากการถ่ายทอดให้ได้เห็นมุมมองที่ต่างกันของผู้บริหารชาวจีน และพนักงานชาวอเมริกันส่วนใหญ่ โดยจุดแตกต่างหลักคือ วัฒนธรรมการทำงาน และการเปิดเผยข้อมูลให้เราได้เห็น แม้กระทั่งการประชุมของผู้บริหารคนจีนที่ต่อว่าพนักงานข้างหลัง ในขณะที่ความไม่พอใจของพนักงานก็ได้รับการถ่ายทอดเช่นกัน ทั้งยังเห็นแนวโน้มของค่าแรงเฉลี่ยและจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานที่ลดลง สวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ปรึกษาชื่อแปลกอย่าง Union Avoidance Consultants 

อย่างไรก็ตาม Reichert และ Bognar ได้จำกัดการวิเคราะห์แบบผิวเผินของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพียงความขัดแย้งทางวัฒนธรรมของโรงงานข้ามชาติโรงงานหนึ่ง และสอบตกที่จะเจาะไปถึงประเด็นกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมโลกภายใต้สถานการณ์ที่คนงานกำลังพบเจอ ณ Fuyao

อ้างอิง
  • Bradshaw, T. (2007). Theories of Poverty and Anti-Poverty Programs in Community Development. Community Development, 38(1), pp. 7-25. doi:10.1080/15575330709490182
  • Jean-Pierre Cabestan. (2015). US-China Relations in the Twenty-First Century: A Question of Trust.abingdon, Oxon & New York, Routledge, xviii, pp. 206. 
  • John Wong. (2013). A China-centric economic order in East Asia, Asia Pacific Business Review, 19:2, 286-296, DOI: 10.1080/13602381.2012.739358 
  • Shih, Willy. (2017). Fuyao Glass America: Sourcing Decision. Harvard Business School Teaching Note 618-032. (Revised August 2019.) 
  • Spicker, P. (2006). Definitions of Poverty: Twelve clusters of meaning. Poverty: The International Glossary pp. 229
  • United Nations. (n.d.). Nationalism and development in Asia. Retrieved February 18, 2019, from
  • https://www.wider.unu.edu/publication/nationalism-and-development-asia.

รุ่งโรจน์ ตติยวงศ์วิวัฒน์
ชายหนุ่มผู้รักการถ่ายทอดผ่านการเขียนและการสนทนาในประเด็นนโยบายและสวัสดิการสังคม และปัญหาสังคม มีอาจารย์กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ เป็นที่ปรึกษาด้านทฤษฎีสังคมและเศรษฐกิจกับแรงงาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า