การกลับบ้านคือมหากาพย์ของชีวิตคนชายขอบ: นนทวัฒน์ นำเบญจพล

จากการเดินทางติดตามทหารหนุ่มกลับบ้านเกิดที่ศรีสะเกษบริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชา ใน ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง สู่การเดินทางไปยังหมู่บ้านริมลำห้วยปนเปื้อนสารตะกั่ว หมู่บ้านคลิตี้ของชาวกะเหรี่ยงที่กาญจนบุรี ในสารคดี สายน้ำติดเชื้อ ก่อนจะวกเข้าเมืองมาสำรวจวัยรุ่นกรุงเทพฯ ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากมัธยมปลายสู่มหาวิทยาลัย ในภาพยนตร์กึ่งสารคดี #BKKY ล่าสุดภาพยนตร์พาเขาเดินทางเข้าไปในรัฐกันชนระหว่างไทยและพม่า ในสารคดี ดินไร้แดน

ผลงานที่ผ่านมาของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล มักจะเกี่ยวข้องกับการเดินทางหรือการกลับบ้าน นำมาสู่นิทรรศการ The Longest Way Round is the Shortest Way Home ที่ตั้งชื่อมาจากสำนวนภาษาอังกฤษแปลว่า ถ้ามีกระบวนการที่ดีก็จะทำให้จบงานได้ง่าย โดยใช้วิดีโอฟุตเทจเล่าเรื่องการเดินทางของ ต๊ะ ชายชาวไทใหญ่ในเชียงใหม่ที่เดินทางกลับบ้านที่พม่าไปทำบัตรประชาชนใหม่เพื่อจะนำไปทำพาสปอร์ตท่องเที่ยวตามความฝันที่อยากจะเดินทางไปประเทศอื่นๆ ในโลกนี้นอกจากไทยและพม่า

มรดกจากประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมารุ่นสู่รุ่น คุณภาพชีวิตที่มีทางเลือกแค่การจำยอมต่อข้อกำหนดของรัฐ หรือจะหนีไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแลกกับความฝันและอิสระที่ควรจะได้รับ

หนังสารคดีเรื่องแรก ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง คุณติดตามตัวละครที่เป็นทหารเดินทางกลับบ้านที่ศรีสะเกษ ในหนังสารคดีเรื่องล่าสุด ดินไร้แดน คุณก็ตามติดการกลับไปเป็นทหารของเด็กหนุ่มไทใหญ่ กระทั่งมาสู่นิทรรศการที่มีชื่อว่า The Longest Way Round is the Shortest Way Home คุณก็เลือกติดตามการเดินทางกลับบ้านของเด็กหนุ่มชาวไทใหญ่ที่เข้ามาทำงานในเชียงใหม่ ช่วยเล่าได้ไหมว่าคุณหลงใหลอะไรในการกลับบ้านของคนคนหนึ่ง

ใช่ ผมก็จะโดนแซวว่า ต้องตามเขากลับบ้านตลอดเหรอ แต่เราอยากรู้ เราอยากรู้ว่าเขาอยู่กันอย่างไร เราชอบไปเห็นชีวิตที่แตกต่างจากเรา เพราะฉะนั้นถ้าไม่ตามเขากลับบ้าน เราก็ไม่รู้

ทั้งหมดก็เกิดจากความอยากรู้และความสนใจว่า ทำไมคนไทใหญ่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเยอะมาก คนไทใหญ่ที่อยู่บริเวณรัฐกันชนระหว่างไทย-พม่า ทั้งในเชียงรายและเชียงใหม่ นอกจากนี้เรายังอยากรู้ว่าคนไทใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่รัฐฉานในพม่า เขาอยู่กันอย่างไร มีแบคกราวด์อย่างไร ก็เลยเกิดเป็นโปรเจ็คต์นี้ขึ้นมา ซึ่งจะประกอบด้วยหนังสารคดี (ดินไร้แดน) หนังสือ (Process of Time) นิทรรศการ (The Longest Way Round is the Shortest Way Home) และภาพยนตร์ฟิคชั่น (Doi Boy – อยู่ในขั้นตอนการเขียนบท)

ถ้าได้ดู ดินไร้แดน เราโชคดีที่ได้เข้าไปถ่ายทำในพื้นที่ฝึกทหารของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ ปัญหาหลักของประเทศพม่าคือการสู้รบกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับกลุ่มรัฐบาลทหารพม่า เพราะว่าทหารพม่าต้องการรวมให้เหลือแค่พม่าอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น เรื่องของภาษาและวัฒนธรรมในชาติพันธุ์ต่างๆ จะไม่ถูกสอนให้คนชาติพันธุ์นั้นๆ ได้เรียน เขาจะได้เรียนแต่พม่าเท่านั้น ชาวไทใหญ่ก็รู้สึกมีความเป็นไทใหญ่มากกว่าที่จะเป็นพม่า ในประวัติศาสตร์ก่อนสงครามโลก แผนที่โลกไม่ได้เป็นแบบนี้ ไทใหญ่ก็จะเป็นรัฐฉานปกครองโดยเจ้าฟ้า หลังสงครามโลกก็เกิดการขีดแผนที่ขึ้นอย่างชัดเจน พออังกฤษไป ก็เริ่มปกครองกันใหม่ มีสนธิสัญญาปางโหลง เขาสัญญาว่าภายใน 10 ปีนั้นจะให้กลุ่มชาติพันธุ์ปกครองตนเอง ตอนนั้นนำโดยนายพลอองซาน ก็ถูกปฏิวัติโดยทหาร นายพลอองซานตาย ก็ฉีกสัญญาปางโหลงทิ้ง แล้วก็พยายามจะให้ปกครองในระบอบ คือให้มีแต่พม่าอย่างเดียว แล้วก็เลยเกิดเป็นปัญหาสู้รบกันมายาวนาน ไม่ใช่มีแค่ไทใหญ่อย่างเดียว มีทั้งกะเหรี่ยง ก็เป็นกองกำลังชื่อ KNU ของไทใหญ่ก็มีทั้ง SSA/RCSS เยอะแยะมาก

ช่วงที่เราถ่ายทำหนังสารคดี คือช่วงที่อองซานซูจีเพิ่งขึ้นมาปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกหลังจากที่ปกครองโดยรัฐบาลทหารมายาวนาน เราก็อยากรู้ว่ากลุ่มคนที่อยู่บริเวณชายแดน ตรงรัฐกันชนใน ดินไร้แดน เขามีความเป็นอยู่กันยังไง ซึ่งปรากฏว่าก็ไม่ได้ถูกรัฐสนใจมากนัก ถึงแม้ว่ามีสัญญาหยุดยิงเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่ภายในจริงๆ แล้วก็ยังสู้รบกันอยู่ด้วยซ้ำ

พอเราถามไถ่พูดคุยกับทหารที่อยู่กันบนดอย ‘ก่อวัน’ ที่เราไปถ่าย ดินไร้แดน ถามเรื่องความฝัน ถามว่ามีความฝันอะไรบ้าง เราเคยทำหนังเรื่อง #BKKY สัมภาษณ์เด็กที่กรุงเทพฯ 100 กว่าคน พวกเขามีความฝันเยอะแยะเต็มไปหมด แต่พอถามเด็กวัยรุ่นเด็กหนุ่มชาวไทใหญ่ที่เป็นทหารบนดอย เขาไม่สามารถตอบได้ว่าความฝันเขาคืออะไร หมายความว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะได้ฝัน การที่เขาอพยพเข้าไปอยู่บริเวณศูนย์อพยพเหล่านี้ เขาไม่มีบัตร ไม่มีอะไรเลย ฉะนั้นการอพยพถิ่นฐานไปที่อื่นเป็นไปได้ยาก ต้องเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แต่ว่าสิ่งเดียวที่เขาจะฝันได้คือการหนี การย้าย การแอบเข้ามาใช้ชีวิตใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่

พอเรารู้อย่างนั้นเราก็เลยไปเชียงใหม่เพื่อรีเสิร์ชต่อ พอเราไปเชียงใหม่ไปรีเสิร์ชต่อเราก็อยากทำเป็นสารคดีเหมือนกัน เกิดเป็น ดินไร้แดน แต่ว่าพอเราได้สัมภาษณ์ ที่เห็นในห้องจัดแสดงในนิทรรศการ ห้องสีเขียว คือเนื้อหาหลายอย่างมันค่อนข้างเซนซิทีฟ เรื่องงานของเขา เรื่องของการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หรือว่าเรื่องการเอาตัวรอดที่เชียงใหม่ บางทีมันอาจจะทำให้ได้รับผลกระทบกับพวกเขาถ้าเราไปตามถ่าย เราก็เลยแบ่งเป็นพาร์ท เริ่มเกิดเป็นไอเดียว่าข้อมูลที่ได้มาจากการรีเสิร์ช เราจะทำออกมาหลายมีเดีย ตอนนั้นมีแค่สองอันที่คิด ก็คือว่าเป็นหนังฟิคชั่นก็คือเรื่อง Doi Boy กับสารคดี ดินไร้แดน แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ มันมีข้อมูลเต็มไปหมดเลย ก็คิดว่าทำเป็น exhibition ที่กำลังจัดแสดงอยู่นี้ The Longest Way Round is the Shortest Way Home และทำเป็นหนังสือ ชื่อ Process of Time ทำเป็นรายการทีวี ก็ทำครบหมดแล้ว ก็เหลือ Doi Boy อย่างเดียวตอนนี้

เมื่อครู่ คุณพูดถึงห้องหนึ่งในนิทรรศการก็คือห้องสีเขียวคล้าย green screen ทำไมต้องเป็นสีนี้

พอเราพูดถึงเรื่องของ identity ในฐานะของคนทำหนังก็จะรู้สึกว่า green screen มันถูกออกแบบมาเพื่อให้เอาอะไรบางอย่างลงไปแทนที่ เพราะฉะนั้นในห้อง casting call เราไม่อยากโชว์ใบหน้าพวกเขาด้วยเหตุผลของเนื้อหาด้วย พอเราไม่โชว์หน้าของเขา แต่พรีเซนต์ทั้งห้องให้เป็น green screen แทน เราก็รู้สึกได้ถึงการ blank identity ของพวกเขา

อย่างที่เล่าให้ฟังว่า เราไปเชียงใหม่หลายรอบ เราไม่รู้เลยว่าเขาเป็นคนไทใหญ่ เรากลับนึกว่าพวกเขาเป็นคนไทย แล้วเรารู้สึกว่าเขาเอา identity แบบไทยเข้ามาสวมใส่จนแนบเนียน เพราะฉะนั้นเราก็เลยแทนค่าด้วยสี green screen เพราะมันจะถูก replace ตัวตนใหม่เข้าไป

ในห้องนี้เรายังเห็นวัสดุอย่างไม้ไผ่และกระสอบข้าวด้วย?

ถ้าพูดถึงวัสดุที่เอามาใช้ จอจะถูกทำด้วยไม้ไผ่ โครงสร้างทำด้วยไม้ไผ่ เพราะไม้ไผ่คือวัสดุหลักในชีวิตของผู้คนบนดอยหลากดอยที่เราไป เราอะเมซิ่งกับนวัตกรรมไม้ไผ่มาก (หัวเราะ) เพราะว่าไม้ไผ่มันถูกเอาไปทำทุกๆ สิ่ง สากกระเบือยันเรือรบ สร้างบ้าน สร้างแคร่ สร้างที่นั่ง สร้างโต๊ะ สร้างเตียง สร้างหมดเลย

พอมาถึงงานนี้เราก็เลยเล่นกับ material ที่เป็นไม้ไผ่

ต้องย้อนกลับไปเล่าตอนหนัง ดินไร้แดน เข้าฉาย เราก็เช่าโรงหนังปกติ แล้วก็ทำเฟซบุ๊คเพจเพื่อประชาสัมพันธ์เหมือนหนังทุกเรื่อง แต่ว่าเรื่องนี้เฟซบุ๊คคึกคักสุดเลย คนไลค์คนแชร์กันเป็นพัน ซึ่งคนไทใหญ่แห่กันมาจากไหนก็ไม่รู้ แชร์กันกระหน่ำมาก เขาตื่นเต้นมากที่หนังไทใหญ่ฉายโรง หนังทหารไทใหญ่ฉายโรง เขาอยากดูกันมาก แต่พอมันถูกฉายในโรงภาพยนตร์ เขาไม่ fit in กับการเดินห้างสรรพสินค้า ไม่ fit in กับการดูหนังในโรงหนัง ด้วยไลฟ์สไตล์ ค่าแรงประจำวัน ถ้าเทียบกับค่าตั๋ว ถึงขนาดที่ว่ามีวัยรุ่นยูทูเบอร์ไทใหญ่ทำคลิป ‘how to ดูดินไร้แดนในโรงภาพยนตร์’ ตั้งแต่เดินเข้าห้างยันกดลิฟต์ ซึ่งน่ารักมาก แล้วพอมาวันฉายจริง ตอนแรกคิดว่าคนจะมาดูกันเยอะ แต่กลับมีชาวไทใหญ่นิดหน่อย ที่เหลือก็เป็นคนไทยกับคนต่างชาติเหมือนเดิม กลายเป็นคนกลุ่มเดิมอยู่ดี เราก็เลยถามคนในเพจว่าถ้าจะเอาดินไร้แดนไปฉาย ดูฟรี อยากดูที่ไหนกัน เขาก็บอกว่าอยากดูในวัด เราก็เลยเอาหนังไปฉายให้ดูฟรีที่วัดไทใหญ่ ฉายแบบกลางแปลง ที่วัดกู่เต้าที่เชียงใหม่ ปรากฏว่าคนมาดูกันสองพันคน แน่นวัด แบบแน่นโคตรๆ เขาอยากดูกันจริงๆ พอมันอยู่ในพื้นที่ที่เขา fit in เขาก็มาดูได้

เพราะฉะนั้นพอเราฉายกลางแปลงเสร็จ เราก็เห็นโครงสร้างของหนังกลางแปลง เราก็เลยเอาโครงสร้างของจอหนังกลางแปลงมาประกอบเป็นไม้ไผ่ แล้วก็ใช้ขึงผ้ากลางแปลงกับมัน ก็ได้จอแล้ว

ผ้าม่านกับเบาะนั่ง เราได้ไอเดียมาจากตอนที่ตาม ‘ต๊ะ’ กลับบ้าน อาชีพหลักของที่บ้านเขาคือการทำนา เราก็คิดถึงกระสอบข้าว กระสอบข้าวที่เราคุ้นตามันเป็นแถบเขียวใช่ไหม แต่เมื่อเราค้นข้อมูลต่อ ปรากฏว่ากระสอบข้าวที่บ้านต๊ะมันไม่ใช่กระสอบข้าวแบบนั้น เราก็เลยเพิ่งรู้ว่ากระสอบข้าวแบบมีแถบสีเขียวมันเป็นอัตลักษณ์ เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะกระสอบข้าวไทยเลย

ทีนี้เราก็หาข้อมูลต่อ เราไปเจอข่าวหนึ่ง เราสนใจมาก เป็นข่าวจากเว็บผู้จัดการ รายงานข่าวเรื่องพบกระสอบข้าวบริเวณชายแดนไทย-พม่า กำลังจะนำข้ามจากฝั่งพม่าข้ามแม่น้ำมาจำนำข้าวในยุคยิ่งลักษณ์ ข้าวในกระสอบนั้นก็เป็นกระสอบที่มีแถบสีเขียว ซึ่งหมายความว่าการจำนำข้าวก็ต้องสวมอัตลักษณ์กระสอบข้าวไทยใช่ไหม เราก็เลยนึกกระหวัดถึงคนเหล่านี้ คนไทใหญ่ที่เข้ามาแล้วต้องสวมอัตลักษณ์บางอย่างที่ดูเป็นคนไทยเข้าไป ก็ complete ในเรื่องของไอเดีย เราก็เลยเอากระสอบข้าวไทยมาทำเป็นผ้าม่าน แล้วก็เห็นว่ากระสอบข้าวมันดูอ้วนๆ ดี ดูน่านั่ง ก็เลยคิดว่าเอามาทำเบาะนั่งด้วยดีกว่า

เราชอบงานศิลปะที่มันฟังก์ชั่น คืองานศิลปะมันไม่จำเป็นจะต้องฟังก์ชั่นก็ได้ แต่เราชอบงานศิลปะที่มันฟังก์ชั่น ที่มันสามารถที่จะมีคุณประโยชน์อย่างอื่นด้วยนอกจากความหมาย

ชาวไทใหญ่ดูหนังที่เล่าชีวิตของเขาบนจอแล้วฟีดแบคเป็นยังไงบ้าง

เขาไม่มีโอกาสได้ดูหนังที่เป็นหนังไทใหญ่มากนัก identity ที่เป็นไทใหญ่ เริ่มตั้งแต่ตอนเราทำซับไตเติลเลย เราให้คนไทใหญ่ที่อยู่เชียงใหม่มาช่วยแปลภาษาไทใหญ่ในช่วงที่เราตัดต่อ น่าสนใจคือเขาเพิ่งได้รับรู้ประวัติศาสตร์ไทใหญ่หลายๆ อย่างจากในหนังของเรา เพราะช่วงที่เขามาเมืองไทย เด็กๆ ที่พม่าถูกห้ามเรียนห้ามศึกษาประวัติศาสตร์ไทใหญ่

ส่วนฟีดแบค ส่วนหนึ่งก็ชื่นชมที่มีหนังที่เขานำเสนอด้านนี้ของชาวไทใหญ่ออกมา แต่ว่า ในอีกทางหนึ่ง ด้วยความที่รสนิยมการทำหนังของเรา ด้วยสไตล์ของเรา ที่เหมาะกับในการฉายเฟสติวัลระดับนานาชาติมันอาจจะมีโครงสร้างที่ค่อนข้างที่จะไม่คุ้นตากับเขามาก ก็เหวอไปก็มีหลายคน

ซึ่งอันนี้เป็น conflict ส่วนตัวในใจเหมือนกัน ถ้าเราอยากทำหนังที่มัน controversy หรือมันมีผลลัพธ์ต่อสังคมมากๆ โครงสร้างของภาพยนตร์หรือศิลปะบางทีก็อาจจะไม่ได้ complete ขนาดนั้นในการทำสิ่งนั้น บางทีก็ต้องเลือก treat แต่ว่าเราก็พยายามแล้วแหละ จากที่เราทำมา ฉายเฟสติวัลก็เป็นอะไรที่เซฟอยู่ตัวแล้ว ทีนี้อะไรพวกนี้มันต้องหาวิธีการ รูปแบบในการจัดฉายให้สนุกมากกว่าปกติ

ตัวละครอย่าง ‘ต๊ะ’ ที่คุณเลือก ถือว่าเป็นตัวแทนชีวิตของคนไทใหญ่รุ่นใหม่ได้ไหม

ก็มีหลากหลายแหละ แต่เท่าที่สัมภาษณ์มา 30 คน พวกเขาก็จะมีโครงสร้างชีวิตที่คล้ายๆ กัน คือฉันก็อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ฉันก็อยากจะเลือกที่จะมีฝันได้ อยากมีความฝันของตัวเอง ก็เลยตัดสินใจมาที่เชียงใหม่ ซึ่งการตัดสินใจมาที่เชียงใหม่ก็เป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ เพราะว่าการจะกลับบ้านอีกทีก็เป็นเรื่องยาก ด้วยเงิน ด้วยเอกสาร ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ต๊ะอยู่เมืองไทยมา 6 ปี ก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เขาอยากกลับบ้านมานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาส การที่เขาได้กลับบ้านเป็นประสบการณ์ที่วิเศษมากสำหรับเขา เขาไม่เจอหน้าพ่อ ไม่เจอหน้าครอบครัวมา 6 ปีแล้ว เราคิดไอเดียนี้ขึ้นมา และก็อยากทำมากๆ เพราะน่าจะได้โมเมนต์ที่น่าสนใจ จึงยื่นข้อเสนอให้ต๊ะในการอำนวยความสะดวกให้เขาในการกลับบ้าน และเราก็ตามเขากลับบ้านเพื่อถ่ายทำสารคดี

ช่วยเล่ากระบวนการพาต๊ะเดินทางกลับบ้านว่าเป็นอย่างไร

หลังจากแอบหนีเข้ามาไทยเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เขามีแค่บัตรประชาชนพม่า เขาก็ไปทำงาน นายจ้างทำบัตรที่เรียกว่า พาสปอร์ตสำหรับ immigrant พาสปอร์ตสำหรับแรงงาน เล่มสีเขียว ซึ่งมันจะใช้อยู่ในประเทศไทยและพม่า ได้ 2 ประเทศนี้เท่านั้น

เป้าหมายของทริปนี้ก็คือว่า การกลับไปพบเจอครอบครัวและญาติพี่น้องที่ต๊ะไม่ได้เจอมานาน และเพื่อกลับไปทำบัตรประชาชนพม่า เพื่อที่จะนำบัตรประชาชนพม่าไปทำพาสปอร์ตท่องเที่ยว พาสปอร์ตแบบที่พวกเราถือกัน พาสปอร์ตท่องเที่ยวมันมีการ apply work permit อีกแบบหนึ่ง แล้วก็พาสปอร์ตนี้สามารถเดินทางไปประเทศอื่นๆ ได้นอกจากประเทศไทย

ก่อนที่ต๊ะจะเดินทางกลับบ้าน จะต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเชียงใหม่ เขาก็ให้รายงานตัว ถ้ากลับมาก็ต้องรายงานว่ากลับมาแล้ว ทีนี้เขาก็ถามว่าไปเครื่องบินหรือไปรถ เราก็บอกเดินทางด้วยเครื่องบิน ก็โอเคไม่เป็นไร

พอถึงวันเดินทาง เราต้องนั่งเครื่องบินจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ จากกรุงเทพฯ ไปมัณฑะเลย์ จากมัณฑะเลย์ต้องนั่งรถต่อไปที่ตองจี ตองจีต้องนั่งรถต่อมาปางโหลง ปางโหลงแล้วก็นั่งมอเตอร์ไซค์ต่อไปที่บ้านเขา ทีนี้พอถึงที่สนามบินดอนเมือง ก่อนที่จะบินข้ามไปที่พม่า ก็เกิดเหตุการณ์ว่า พาสปอร์ตของต๊ะ ซึ่งเราถามมาแล้วอย่างดีว่ามันขึ้นเครื่องได้ใช่ไหม แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าพาสปอร์ตที่ต๊ะถืออยู่คืออะไร เขาต้องใช้เวลาเช็คประมาณสี่สิบนาทีว่ามันคืออะไร แล้วข้ามได้ไหม เพราะว่าคนมีพาสปอร์ตแบบนี้ที่จะขึ้นเครื่องบินแทบจะเป็นศูนย์ ส่วนใหญ่เขาจะนั่งรถกลับบ้าน พอไปถึงพม่าก็เอาแล้ว ถามเหมือนกัน เช็คอีกรอบหนึ่งเหมือนกัน เพราะไม่เคยเห็นอย่างนี้มาก่อน แล้วก็ถามหาบัตรประชาชนต๊ะ ซึ่งต๊ะทำหายหนึ่งปีหลังจากที่มาอยู่เมืองไทย

ตอนที่ต๊ะเข้ามาในไทย เขาไม่ได้มาเครื่องบินใช่ไหม

เครื่องบินมายากมาก

แต่คุณพาเขานั่งเครื่องกลับบ้าน

ใช่ ผมขี้เกียจนั่งรถไง ก็ต้องนั่งตูดแข็งอยู่ดี เพราะมันไกลเหลือเกิน

ตอนแอบเข้ามาไทย เขาก็มาทางแม่สาย แม่สายคือเส้นทางที่คนข้ามไปมาเยอะที่สุด แล้วก็เข้าผิดกฎหมายเยอะสุดด้วยเช่นกัน ที่เชียงราย เพราะว่ามันมีชายแดน ถ้าฟังสัมภาษณ์หลายๆ คนคือมีทั้งคนที่แอบเข้ามาทางป่า คนที่แอบเข้ามาทางน้ำ คนที่แอบเข้ามาทางด่านก็มี นอนหลังรถปิคอัพแล้วเอาผ้ายางคลุม อะไรอย่างนี้ มีหลากหลาย ของต๊ะทางไหนไม่รู้จำไม่ได้แล้ว

ผู้ชายไทใหญ่หรือเด็กวัยรุ่นเขาต้องเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบเกณฑ์ไหม มีกฎหมายบังคับไหม

มีกฎบังคับว่าถ้ามีลูกชายสองคน คนหนึ่งจะต้องเป็นทหาร แต่ผมไม่แน่ใจว่าทุกพื้นที่หรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น แล้วก็มีหลายบ้านมากที่ไม่ได้อยากจะเป็นทหารเลย ก็เลยจำเป็นที่จะต้องหนีมาอยู่เมืองไทยทั้งครอบครัวก็มี แต่ฉากในหนังเรื่อง ดินไร้แดน คือ มันเป็นพื้นที่ที่ปกครองโดยทหารเลย หนีไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าจะหนีก็ต้องหนีแล้วอย่ากลับไปอีก ถ้ากลับไปก็อาจจะถูกทำโทษได้

กรณีของต๊ะ เขาตัดสินใจออกจากบ้านเกิดหลบหนีเข้ามาทำงานในเชียงใหม่ เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเหตุผลอื่น

เรื่องเศรษฐกิจด้วย แล้วก็เรื่องความอยากมีชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากมี อารมณ์เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราเห็นใครสักคนหนึ่งในทีวี แล้วอยากเป็นแบบนั้นบ้าง การที่เขาตื่นมาแล้วเห็นแต่ทุ่งหญ้าทุ่งนา แล้วการได้เห็นสื่อต่างๆ ที่เขาเห็น เขาอยากที่จะมีชีวิตอีกแบบหนึ่งบ้าง รู้สึกว่าชีวิตมันควรจะ…

มีทางเลือกมากกว่านี้?

ใช่ อย่างต๊ะเอง เขาก็บอกว่า ผมชอบมากเลย อันนี้ก็จะไปอยู่ในบทหนังด้วย (บทภาพยนตร์เรื่อง Doi Boy ของนนทวัฒน์ยังอยู่ในขั้นตอนการเขียนบท) เขาก็ชอบวิ่งตามเครื่องบิน เด็กๆ เขาไม่รู้ว่ามันคืออะไรด้วยซ้ำ แล้วเขาก็คิดว่าโลกทั้งโลกมันมีแค่ในรอบบ้านเขา แล้วพอวันหนึ่งเขาได้มีโอกาสไปบวชที่อีกเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ ชื่อ ตองจี เป็นครั้งแรกที่เขาได้ดูทีวี เขาถึงได้รู้ว่ามันมีประเทศไทย แล้วก็มีโลกใบนี้อยู่นอกเหนือจากพื้นที่ที่เขาอยู่

Author

กัลยรัตน์ ธีรกฤตยากร
ฝึกเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่ดีๆ ก็หยุดพักมาฝึกงาน เรียนสื่อสารมวลชนใกล้จะจบในไม่ช้า ชอบออกกอง เป็นผู้อ่านมานาน อยากเป็นผู้เขียนที่ดีบ้างจึงมาฝึกกับกองบรรณาธิการ WAY สนใจงานสารคดี มักจะเติมพลังด้วยการไปดูหนัง ไปงานเทศกาลดนตรี และฟังเสวนา

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า