แก๊งลักแมวแห่งยุคกาฬโรคและนักขโมยหมาในยุค COVID-19 ปัญหาปากท้องและอนามัยในการระบาด

ชะตากรรมของสัตว์เลี้ยงยอดนิยมอย่างแมวและหมาที่เราได้ยินอยู่เป็นระยะๆ ในยุค COVID-19 โดยเฉพาะในข่าวต่างประเทศ คือ ข่าวการขโมยหมาแมว เพื่อนำไปขายในช่วงการระบาดของ COVID-19

นักลักพาตัวหมายุค COVID-19

ธันวาคม 2020 รัฐบาลอังกฤษประกาศว่าจำเป็นต้องฝังไมโครชิปในแมวบ้านหลายล้านตัวภายใต้กฎหมายใหม่ กรมสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบท (DEFRA) ของอังกฤษเผยว่า มาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับอย่างเร็วที่สุดในปี 2021 นี้ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของแมวหลายพันคนตามหาแมวที่สูญหายหรือถูกขโมยได้

DEFRA ประกาศว่าจะทำการประชาพิจารณ์เป็นเวลา 8 สัปดาห์ เกี่ยวกับข้อเสนอที่จะบังคับให้เจ้าของฝังไมโครชิปในแมวของตน นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งใหม่ในการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ของสหราชอาณาจักร รัฐบาลคาดการณ์ว่าแมว 2.6 ล้านตัว หรือราว 1 ใน 4 จะได้ประโยชน์จากมาตรการใหม่นี้ ส่วนในกรณีสุนัขมีรายงานว่า มีสุนัขในอังกฤษได้รับการฝังไมโครชิปแล้วราว 9 ล้านตัว นับตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งจะช่วยให้สุนัขพลัดหลงและที่ถูกลักขโมยไปหลายพันตัวสามารถกลับมาเจอเจ้าของได้เร็วยิ่งขึ้น

รายงานขององค์กร Dogs Trust พบว่า ราคาของสุนัขบางสายพันธุ์เป็นที่ต้องการสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผลการใช้ search engine ค้นหาคำว่าซื้อลูกสุนัข’ นั้น เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 166 โดยพบว่าสุนัขพันธุ์ดัชชุนด์ มีค่าตัวเพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับหนึ่ง จาก 973 ปอนด์ (ราว 40,000 บาท) เป็น 1,838 ปอนด์ (ราว 74,000 บาท) โดยปรับขึ้นมาถึงร้อยละ 89 ในช่วงกลางปี 2020 มูลค่าที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ชาว dognapper มองเห็นโอกาสทางธุรกิจในการจะลักพาตัวสุนัขไปขายต่อ ส่งผลให้อัตราการขโมยสัตว์เลี้ยงในประเทศอังกฤษเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19

SkyNews รายงานเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2020 ว่า สถิติการลักขโมยสุนัขตามบ้านในประเทศอังกฤษเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 250 (สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา) โดยมีทั้งการจับตัวไปเรียกค่าไถ่ หรือลักขโมยสุนัขพันธุ์แท้เพื่อนำไปเพาะพันธุ์ขายลูกสุนัข

‘Jess’ และ ‘Tig’ สปริงเกอร์ สเปเนียลเพศเมียสองตัว ถูกลักขโมยไปในเดือนกันยายน ภายหลังได้เจ้าเจสส์คืนมา ส่วนเจ้าทิกยังอยู่กับคนร้าย หลังจากมีโทรศัพท์มาเรียกค่าไถ่ – เมลิสซา โคล (Melissa Cole) กล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษ เปิดเผยว่าการเพิ่มขึ้นของ dognapping หรือการลักขโมยสุนัข เป็นผลมาจากความต้องการสุนัขเพิ่มมากขึ้น ในช่วงที่ผู้คนต้องใช้เวลาอยู่แต่ในบ้าน ในช่วงล็อคดาวน์ COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นแก๊งขโมยสุนัขตามบ้านซึ่งทำกันเป็นขบวนการ แก๊งขโมยสัตว์เลี้ยงในบางพื้นที่ถึงขั้นทำเครื่องหมายชอล์กสีขาวไว้นอกบ้านเพื่อระบุให้สมาชิกชาวแก๊งร่วมรู้เห็นกันว่าบ้านไหนมีสุนัขล่อตาล่อใจและน่าขโมย

แต่ใช่ว่าการขโมยสัตว์เลี้ยงนั้นจะเพิ่งมีในยุค COVID-19 เท่านั้น ย้อนกลับไปในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีรายงานข่าวว่าสัตว์เลี้ยงมีราคาค่าตัวสูงลิ่วและมีการลักขโมยเพื่อนำไปขายในช่วงที่มีโรคระบาดเช่นเดียวกัน จนเกิดมีแก๊ง catnapper kid หรือเด็กขโมยแมวขึ้นมา น่าสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวมนุษย์เหล่านี้กลายมาเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ได้นำมาใช้จัดการกับวิกฤติโรคระบาด ไม่ใช่เพื่อคลายเหงา แต่เป็นบทบาทหน้าที่ทางสาธารณสุข

แมว ‘Animal Technology’ ของนักบริหารอาณานิคมอังกฤษ

หนังสือพิมพ์ The Straits Times ของสิงคโปร์ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 1909 หน้า 6 และหนังสือพิมพ์ The Daily News ที่ตีพิมพ์ในนครเพิร์ธ รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ฉบับวันที่ 8 เมษายน 1909 หน้า 7 มีพาดหัวข่าวเรื่องเดียวกันว่า ‘Cat Farm at Mandalay’ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงแมวในเขตเมืองมัณฑะเลย์ อาณานิคมพม่า เพื่อจะนำแมวมาใช้ในระบบสาธารณสุขของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และเพื่อส่งออกแมวไปขายในอาณานิคมอื่นๆ ของอังกฤษด้วย

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Daily News ฉบับวันที่ 8 เมษายน 1909 หน้า 7

มีการเปรียบเทียบว่าค่าใช้จ่ายในฟาร์มแมวที่เมืองมัณฑะเลย์นั้นมีมูลค่าสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อนในโรงพยาบาลเสียอีก ค่าเลี้ยงดูแมวแต่ละตัวในฟาร์ม ตกตัวละ 5.10 รูปีต่อเดือน ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่รักษาตัวในโรงพยาบาลได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอาณานิคมอยู่ที่คนละ 5 รูปี

คำถามคือ ทำไมแมวถึงมีค่าใช้จ่ายในการดูแลมากกว่ามนุษย์ผู้ทุกข์ทรมานจากโรคเรื้อน บางคนอาจคิดว่า นี่คือการเสียดสีรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษในการจ่ายค่าเลี้ยงดูแมวและความล้มเหลวของการบริหารอาณานิคมก็ได้ แต่ที่เป็นอย่างนั้นเพราะนักบริหารอาณานิคมมีโครงการสาธารณสุขในดินแดนอาณานิคมโดยการใช้แมวช่วยกำจัดสัตว์พาหะของโรคระบาด ในฐานะเป็น animal technology

โครงการฟาร์มแมวที่เมืองมัณฑะเลย์นี้มีต้นแบบมาจากการตั้งฟาร์มแมวในเมืองบอมเบย์ อาณานิคมอินเดีย ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักบริหารอาณานิคมอังกฤษได้ตั้งฟาร์มแมวขนาดใหญ่ขึ้น 3 แห่งในอาณานิคมอินเดีย พม่า และฮ่องกง เพื่อผลิตแมวเอามาใช้ในงานสาธารณสุขในดินแดนอาณานิคมแห่งตะวันออกไกล

นักบริหารอาณานิคมอังกฤษในอินเดียพบว่าชาวพื้นเมืองในอินเดียใช้แมวต่อสู้กับโรคระบาดที่เกิดขึ้นทุกปีตั้งแต่ทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา โดยโรคระบาดนั้นคือ Plague หรือ Pestis หรือ กาฬโรค ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

ในปี 1896 เกิดการระบาดใหญ่ในดินแดนอาณานิคมอินเดียของอังกฤษ และระบาดต่อเนื่องอยู่หลายปี เชื้อโรคได้อ้อมไปถึงสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อาระเบีย เปอร์เซีย อียิปต์ แอฟริกาตะวันตก เข้าไปในรัสเซียและยุโรป และยังข้ามหาสมุทรแอตแลนติกไประบาดในอเมริกาและเม็กซิโก โดยในปี 1907 มีรายงานข่าวยืนยันว่าตรวจพบเชื้อในหนูที่เมืองซีแอตเติล เมืองท่าชายฝั่งในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

สำมะโนแมว: จากสาธารณสุขพื้นเมือง สู่สาธารณสุขจักรวรรดินิยม

ไม่รู้ว่าระบบสาธารณสุขของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ในปี 1907 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีข่าวยืนยันว่าพบเชื้อในหนูที่เมืองซีแอตเติล เชื้อจากต้นทางดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการระบาดได้ยาวนานเป็นสิบปี มีรายงานตีพิมพ์ลงใน The Indian Medical Gazette ฉบับที่ 42 ประจำเดือนตุลาคม 1907 หน้า 361-362 โดย พันโทนายแพทย์แอนดรูว์ บูแคนัน (Andrew Buchanan) ซึ่งเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่เขตอมราวตี รัฐมหาราษฏระ อาณานิคมอินเดีย เล่าว่า เขาพยายามค้นหาและทดลองวิธีการที่จะเป็นไปได้ในการยับยั้งกาฬโรคในเขตเมืองอมราวตี ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 5,000 คน เขาค้นหาอยู่นานกว่า 9 เดือน จนมาพบข้อมูลบางอย่างในรายงานข่าวของ Pioneer Press เมื่อเดือนมกราคม 1907 ในรายงานอ้างถึงหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อ Airla ที่ตั้งอยู่ระหว่าง nagpur และ Kalmeshwar

ในช่วงที่เกิดการโรคระบาดรุนแรง ชาวบ้านในหมู่บ้าน Airla มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยมากเมื่อเทียบกับสถานที่ใกล้เคียง แม้ว่าจะมีผู้คนจากภายนอกหมู่บ้านเดินทางเข้าออกอยู่ตลอดเวลา รายงานระบุว่าหมู่บ้าน Airla มีประชากรแมวเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านวางเครื่องดักหนูไว้ทั่วไป แต่ก็มีหนูจำนวนน้อยที่ติดกับดัก

หลังจากนั้น หมอบูแคนันต้องการพิสูจน์ทราบว่าแมวท้องถิ่นสามารถป้องกันและรักษาโรคระบาดได้หรือไม่ อย่างไร โดยเขาได้ทำการสำรวจสำมะโนครัวแมวใน 5 Taluq หรือ 5 แขวง คือ Amraoti, Chandur Daryapur, Morsi และ Ellichpur ในหมู่บ้านจำนวน 1,000 กว่าหมู่บ้าน พบว่า

  • หมู่บ้านที่มีแมวไม่เกินร้อยละ 20 (357 หมู่บ้าน) พบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 3,585 ราย
  • หมู่บ้านที่มีแมวตั้งแต่ร้อยละ 20-50 (514 หมู่บ้าน) พบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 550 ราย
  • หมู่บ้านที่มีแมวมากกว่าร้อยละ 50 (146 หมู่บ้าน) พบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 14 ราย

หมอบูแคนัน ได้ทำสำมะโนแมวทั้งหมดใน 5 แขวง สำรวจพบว่ามีแมวจำนวน 28,835 ตัว เขาได้เสนอผลการศึกษาของเขาต่อผู้บริหารอาณานิคมอังกฤษ เพื่อใช้แมวในฐานะเป็น animal technology ในการบริหารจัดการโรคระบาดในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งก็มีทั้งที่เห็นดีเห็นงามด้วย และที่ไม่อยากจะปักใจเชื่อได้ เกรงว่ามันอาจจะเป็นการจัดฉากเรื่องแมวเพียงไม่กี่ตัวที่วิ่งไล่ล่าฆ่าหนูได้

อย่างไรก็ตาม โครงการของเขาก็ยังดำเนินการเรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 1930 และได้รับการอ้างอิงถึงในเอกสารของนักบริหารอาณานิคมต่างๆ และมีการนำโครงการของเขาไปใช้ในเขตอาณานิคมอื่นๆ ของอังกฤษ อย่างเช่นในปี 1909 กาฬโรคระบาดในอาณานิคมแอฟริกาตะวันออก รัฐบาลบริหารอาณานิคมอังกฤษได้ออกประกาศเชิญชวนให้เจ้าของบ้านเลี้ยงแมวไว้ที่บ้าน และในปีเดียวกันนี้ก็มีข่าวการจัดตั้งฟาร์มแมวในอาณานิคมพม่าเพื่อใช้รักษาโรคระบาดและส่งออกไปขายด้วย ในปี 1918 เกิดโรคระบาดแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในอาณานิคมศรีลังกา ซึ่งอังกฤษได้จัดการโรคในขั้นต้น โดยการให้นำกองทัพแมวเข้าไปในเขตพื้นที่ที่พบการติดเชื้อ

แมวสีไหนชาติไหนก็จับหนูได้เหมือนกัน แต่ใช่ว่าจะปฏิบัติงานภาคสนามได้ดีเท่ากัน

โครงการของบูแคนันมีคนสนับสนุนทั่วอาณานิคมของอังกฤษในเอเชีย หลังจากที่นักบริหารอาณานิคมได้นำโครงการของเขามาทดลองใช้และใช้งานจริง มีการถกเถียงกันเกิดขึ้นว่า แมวพันธุ์ไหนชาติใด ที่สามารถฆ่าหนูได้ดีที่สุด

หนังสือพิมพ์ Hong Kong Daily Press รายงานเมื่อเดือนมกราคม 1909 ว่า

‘ถึงแม้เป็นที่ยอมรับกันว่าแมวสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้ โดยการฆ่าหนูที่เป็นตัวพาหะนำโรค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแมวทุกตัวมีศักยภาพในการทำงานสาธารณสุขได้เท่ากันเสียเมื่อไร’

ชาวจีนในฮ่องกงและรวมถึงชาวญี่ปุ่นชื่นชอบแมวอินเดียมากกว่าแมวพื้นเมือง เพราะพวกเขาคิดว่ามันกล้าหาญกว่าแมวจีนที่ค่อนข้างจะขี้อาย

หลังจากโครงการแมวในงานสาธารณสุขของหมอบูแคนัน นักบริหารอาณานิคมอังกฤษมีความพยายามทดลองนำเอาแมวสายพันธุ์อังกฤษเข้ามาเลี้ยงและใช้งานในอาณานิคมอินเดีย เพราะพวกเขาคิดว่าแมวอังกฤษดุกว่าแมวอินเดียที่ดูออกจะเรียบร้อยกว่า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จตามคาด แมวอังกฤษตายเป็นจำนวนมากและลดดีกรีความดุดันลง เพราะพวกมันต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดในเขตร้อนและไม่อาจทนทานต่อสภาพอากาศได้ จึงเป็นผลสรุปให้แมวอินเดียเป็นที่นิยมมากที่สุดในอาณานิคมตะวันออกไกล

หนังสือพิมพ์ The Straits Times of Singapore ลงข่าวเมื่อเดือนตุลาคม 1908 ว่า รัฐบาลฮ่องกงมีแผนนำเข้าแมวอินเดียล็อตใหญ่ เพื่อใช้ผสมพันธุ์กับแมวพื้นเมืองในเกาะฮ่องกง ตามโครงการพัฒนาสายพันธุ์แมวให้มีขีดความสามารถในการล่าหนู รัฐบาลบริหารอาณานิคมฮ่องกงได้นำเข้าแมวอินเดียและยังส่งออกแมวอินเดียไปขายต่อยังญี่ปุ่น พร้อมกับอ้างอิงสรรพคุณโครงการของหมอบูแคนัน ที่ใช้แมวรักษาโรคระบาด ส่งผลให้ญี่ปุ่นนำเข้าแมวจากฮ่องกงและอินเดียเป็นจำนวนมาก จนแมวจากแหล่งดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ญี่ปุ่นกำลังนำเข้าแมวจำนวน 4,000 ตัวจากกรุงวอชิงตัน

The Straits Times of Singapore รายงานเมื่อเดือนเมษายน 1909

กระนั้นก็ยังพบว่ายังขาดแคลนแมวอีกถึง 10,000 ตัว ความต้องการแมวของญี่ปุ่นได้สร้างความปั่นป่วนให้สหรัฐอเมริกา มีรายงานระบุว่ากงสุลอเมริกันถึงกับต้องให้สัญญาว่าจะส่งแมวไปให้ญี่ปุ่นในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น

‘Catnapper Kid’ แก๊งเด็กลักแมว

ตั้งแต่ช่วงปี 1907-1910 หลังจากมีสถิติผลการศึกษาในอาณานิคมอินเดียของหมอบูแคนันและผู้คนได้รู้ต้นทางของโรคระบาดที่แน่นอน ทำให้เกิดกระแสความนิยมใช้แมวเพื่อป้องกันและรักษาโรคระบาด ในตะวันออกไกล หลายดินแดนมีการนำเข้าแมวหลายพันตัวเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด  ถึงขนาดว่าเกิดตลาดมืดแมวขึ้นมา

‘Beware Catnapper Kid’— The Spokane press. [volume] (Spokane, Wash.), February 18, 1909, p. 3

หนังสือพิมพ์ The Spokane Press ของสหรัฐอเมริการายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1909 รายงานว่าในเมืองฟิลาเดลเฟีย ถึงขั้นว่ามีการพัฒนาตลาดมืดเพื่อส่งออกแมวไปขายยังญี่ปุ่นที่กำลังมีความต้องการนำเข้าแมวสูงมาก นั่นทำให้เกิดแก๊งลักขโมยแมวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวแทนจำหน่ายแมวถูกกล่าวหาว่าจ่ายเงินจำนวน 10 ถึง 25 เซ็นต์ให้กับแมวหนุ่ม คนเลี้ยงแมวพูดกันว่า ส่วนใหญ่แก๊งลักแมวเป็นเด็กที่ต้องการหารายได้พิเศษ จนทำให้มีคำเตือนถึงคนเลี้ยงแมวว่าให้ระวังเด็กลักแมว

ในยุคอาณานิคมมีการเคลื่อนย้ายแมวข้ามประเทศ แมวมีความสำคัญในฐานะที่เป็น ‘ratters’ มันได้รับการผสมพันธุ์ ผลิต ซื้อขาย และปรับใช้เหมือนกับเทคโนโลยีทางสาธารณสุขในรูปแบบอื่นๆ ที่ผลิตในอุตสาหกรรม อย่างเช่น วัคซีน

‘Send us cats!’

The Spokane Press. [volume] (Spokane, Wash.), February 18, 1909, p. 3

โปรดส่งแมวมาให้เรา พวกเราต้องการแมวล่าหนูที่แพร่เชื้อกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง นั่นเป็นเสียงเว้าวอนของบรรดาผู้จัดหาแมวในฟิลาเดลเฟีย เพื่อส่งแมวไปขายยังญี่ปุ่น ซึ่งกำลังรอคอยและต้องการแมวจำนวนมาก สำหรับจัดการกับโรคระบาด

บรรยากาศตอนนั้น ก็คงจะคล้ายๆ กับยุค COVID-19 ที่หลายประเทศก็กำลังตั้งหน้าตั้งตารอคอย และกล่าวว่า โปรดส่งวัคซีนมาให้เรา

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า