คืนกลางคืน

“อย่างที่เห็นเลยค่ะ เงียบมาก” ประโยคแรกที่หญิงสาวร้านอาหารญี่ปุ่นพูดกับผม เกือบสองทุ่มแล้วที่สถานีศาลาแดง ผมเดินเลียบทางเท้าลัดไปตามซอยธนิยะ ผู้คนบางตาด้วยจำนวนร้านที่ปิดมากกว่าเปิด ท่ามกลางเงามืดที่แสงส่องไม่ถึง หญิงสาวคนหนึ่งยืนกรอกน้ำดื่มอยู่หน้าร้านอาหารญี่ปุ่น แสงส้มเขียวซีดสี เมื่อมองเข้าไปในร้านแล้วไม่พบลูกค้าสักคน เป็นยังไงบ้างครับ ดีขึ้นไหม-ผมถาม เธอตอบพลางยิ้ม ซึ่งดูก็รู้ว่าเป็นยิ้มที่มาจากความเหนื่อยล้า ไม่มีเคอร์ฟิวแล้วไม่ดีขึ้นบ้างเลยเหรอครับ-ผมถามต่อ เธอบอกว่าจะเรียกว่าดีขึ้นก็ตรงที่นานๆ ทีพอจะมีลูกค้าเข้าร้านบ้าง ต่างจากช่วงเคอร์ฟิวที่แทบไม่มีลูกค้าเลย ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเริ่มมากันประมาณทุ่มสองทุ่ม พอเคอร์ฟิวสามทุ่มลูกค้าหายหมด อีกอย่างคือตอนนี้ร้านขายเครื่องดื่มได้แล้ว

“ตอนที่ขายเครื่องดื่มไม่ได้ ลูกค้าจะนั่งไม่นานใช่ไหมครับ”

“เปล่าค่ะ เขาไม่นั่งเลย”

ยืนคุยกับหญิงสาวหน้าร้านอาหารญี่ปุ่นสักพัก จากนั้นเดินลึกไปตามแสงสว่างจากหน้าร้านรวงที่กระจายกันอยู่ประปราย เลี้ยวซ้ายและเลี้ยวซ้ายอีกทีจนถึงบริเวณที่เป็นสถานบันเทิงเรียงราย หากคืนนี้เหลือเพียงเงาและความเงียบ ประตูทุกร้านปิดสนิท ไม่มีวี่แววของผู้คน ไม่ต่างจากพัฒน์พงศ์ที่แม้จะพอมีแสงสว่างจากบางร้านที่เปิดไฟภายใน แต่ก็มีเพียงโต๊ะเก้าอี้ที่ตั้งไว้เปล่าๆ สิ่งมีชีวิตที่เห็นมากที่สุดในซอยคงเป็นเหล่าแมวจร สีขาว เหลืองนวล ลายสลิด ลายเปรอะส้มดำ

ร่วมยี่สิบวันแล้วที่กลางคืนไม่ถูกล็อค ซึ่งก็เหมือนปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว ผมเลือกหยิบกล้องออกไปเดินตามถนน แวะไปตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ แม้ส่วนตัวจะไม่ใช่ผู้ประกอบการ หากก็รู้สึกว่าการมอบกลางคืนกลับสู่สภาวะปกติ หรือเกือบจะปกตินั้น แนบมาพร้อมความหวังของผู้คน ชวนให้นึกถึงการเริ่มต้นใหม่ แม้จะเป็นได้เพียงความคาดหวังก็ตาม

ขณะเดินทอดไปตามทางเท้า พอพ้นช่วงหัวค่ำแล้วแทบไม่พบผู้คนเดินตามถนนหรือซอกซอย ทางเดินที่เงียบอยู่แล้วดูไม่น่าไว้วางใจขึ้นอีก เมื่อไม่มีแสงไฟทางส่องสว่าง

ตลอดสามคืนของการสำรวจ สถานที่ซึ่งผู้คนคลาคล่ำที่สุดคือเยาวราช และถนนข้าวสารตามลำดับ จากโต๊ะเก้าอี้ที่เต็มเกือบทุกร้าน และจำนวนคนที่ต่อแถวยาวเหยียดรอซื้ออาหารคาวหวาน พอจะพูดได้ว่าเยาวราชกลับมาคึกคักอย่างที่เรารู้จัก ส่วนที่หน้าถนนข้าวสารมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจหลักฐานการฉีดวัคซีน หากใครไม่มีหรือไม่ได้พกหลักฐานมาต้องซื้อชุดตรวจเร็วให้เจ้าหน้าที่ตรวจกันตรงนั้น พอให้อุ่นใจก่อนเข้าถนนไปสัมผัสราตรี

ไม่เหมือนกับถนนข้าวสาร หรือบาร์ในโรงแรม ร้านกินดื่มที่ไม่ได้อยู่ตามแหล่งรวมสถานบันเทิง กลับไม่สามารถขายเครื่องดื่มให้ลูกค้าได้ พนักงานที่ร้านย่านลาดพร้าวบอกกับผมว่าทางร้านขอใบอนุญาตไม่ทัน แต่จะให้ปิดร้านต่อไปก็แบกรับภาระไม่ไหว

สิ่งที่ไม่ต้องตั้งใจสังเกต แต่คุณจะพบเห็นได้ตามทางเท้าหรือป้ายรถเมล์ พวกเขาคือคนไร้บ้าน คนที่เงียบเสียงที่สุดในยามค่ำคืน ผมพบคนไร้บ้านแทบทุกจุดตลอดการเดินเท้า พบมากตั้งแต่หน้าถนนข้าวสารเลยเรื่อยทั้งสองฟากฝั่งราชดำเนิน อีกที่คือรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ป้ายรถเมล์เปรียบเป็นชายคาชั่วคราว แสงสว่างอาจสอดแยงดวงตา กระนั้นอาจเป็นความปลอดภัยเดียวที่พวกเขาจะได้รับขณะหลับใหล

ห้าทุ่มสิบสี่กว่านาที ก้าวขึ้นรถไฟฟ้ากลับที่พัก เดินเท้าต่อเข้าซอย ระหว่างนั้นพบร้านรถพ่วงขายทองหยิบทองหยอด แมลงทอด ผมแวะอุดหนุนและชวนพี่คนขายคุยไปพลาง ชายกลางคนผิวสีเข้มเล่าเรื่องการไปๆ กลับๆ ต่างจังหวัด และชีวิตที่ต้องลุ้นวันต่อวันตลอดเวลาสองปีที่ต้องเผชิญสถานการณ์โรคระบาด และมาตรการจัดการของรัฐ พี่ชายคนนี้คือหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนชีวิตคนรากหญ้าในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

ไม่แน่ใจว่าเราคุยกันนานเท่าไร หากผมยังจำประโยคสุดท้ายของเขาได้ดี “ขอบคุณที่สัมภาษณ์ผม เหมือนได้ระบาย ปกติผมก็ไม่รู้จะไปบ่นกับใคร”

“โชคดีนะพี่” ผมกล่าวก่อนจะเดินจากมา ขณะไขกุญแจเข้าห้อง นึกถึงคำว่าโชคดีที่ตัวเองเพิ่งพูด ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกที่มากเกินพอดีหรืออย่างไร ผมแวบคิดว่าไม่ควรมีใครต้องนั่งรอโชคดีอีกแล้วหรือเปล่า ในฐานะประชาชนคงไม่มากเกินไปหากจะหวังถึงคุณภาพชีวิตที่ดีพอประมาณ พอช่วยเหลือตัวเองให้เอาตัวรอดได้ อย่างไม่ต้องรอลุ้น หรือนึกฝันเพียงพ้นวัน

จรณ์ ยวนเจริญ
มนุษย์ขี้กลัว ผู้ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ทาสหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า