Sweet Home: มนุษย์ สัตว์ประหลาด และความหมายของการมีชีวิตอยู่

หากวันหนึ่งคุณตื่นมาแล้วพบว่าคนรอบตัวหรือแม้แต่ตัวคุณเอง กำลังกลายเป็นปีศาจ

คงจะเป็นเรื่องน่าแตกตื่นอยู่ไม่น้อยสำหรับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ‘Sweet Home’ ดัดแปลงจากการ์ตูนสยองขวัญที่ประสบความสำเร็จในเว็บตูน ซึ่งมียอดผู้อ่านกว่า 500 ล้านครั้ง เป็นซีรีส์แฟนตาซีระทึกขวัญที่ครองอันดับหนึ่งใน Netflix อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแก่นสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้นอกจากจะสะท้อนสังคมปัจเจกนิยมแล้ว ผู้กำกับ อี อึงบก ยังชวนให้เราตั้งคำถามถึงเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์

‘Sweet Home’ เล่าถึง ชา ฮยอนซู เด็กหนุ่มที่มีอาการชอบเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ตัดขาดจากสังคม หรือที่เรียกว่า ฮิคิโคโมริ (引きこもり) เขาสูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากอุบัติเหตุและตัดสินใจย้ายออกจากบ้านด้วยเงินประกันเพียงน้อยนิดมาอยู่ที่หอพักกรีนโฮม เพื่อหวังที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายและวางแผนฆ่าตัวตายเพราะไร้เป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ 

‘วันอังคารที่ 25 สิงหาคม ฆ่าตัวตาย’ บันทึกนัดหมายในโทรศัพท์ของฮยอนซูเพื่อกำหนดวันที่จะปลิดชีวิตตัวเองจากโลกใบนี้ ทว่าก่อนที่จะถึงวันนั้นเมืองที่เขาอาศัยอยู่ได้เกิดเหตุการณ์พิลึก ผู้คนทั่วทั้งเมืองเริ่มกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาด ทำให้ ชา ฮยอนซู จากเด็กหนุ่มที่ไร้เป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ ค้นพบว่าตัวเองปรารถนาที่จะมีชีวิตรอด                    

ชา ฮยอนซู

ความล้มเหลวของรัฐและการละทิ้งความเป็นปัจเจกชน

“ปลอดภัยกับผีอะไรล่ะ เราจะตายกันหมดนั่นแหละ
จบเห่กันถ้วนหน้าเลย”

วลีแถลงการณ์ในสถานการณ์นองเลือดของประธานาธิบดีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถูกถ่ายทอดสดสู่สายตาคนทั่วประเทศรวมถึงชาวกรีนโฮม สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลผู้ถูกคาดหวังให้เป็นผู้รับมือและหาวิธีจัดการกับวิกฤติที่เกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ ประเทศจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของทหาร 

ประชาชนหมดศรัทธาและหันหลังให้กับรัฐ อำนาจของรัฐกลายเป็นสิ่งไร้ตัวตน ไร้ประโยชน์ ประชาชนไม่ไว้ใจรัฐอีกต่อไปเฉกเช่นตอนที่ จอง อุยมยอง (แสดงโดย คิม ซังชอล) กล่าวกับชาวกรีนโฮมว่า “พวกทหารไม่ช่วยเราหรอก เขาจะกำจัดเราทิ้งต่างหาก หาทางรอดเอาเองนะครับ” คำพูดนี้ทำให้คนในชุมชนกรีนโฮมได้ละทิ้งความเป็นปัจเจกนิยมต่างคนต่างอยู่ และหันมาพึ่งพากันโดยมีเป้าหมายสำคัญที่สุดคือการมีชีวิตรอด ในภาวะไร้รัฐนี้ ชาวกรีนโฮมจึงหันมาสร้างระบบการปกครองขนาดย่อมขึ้นมา มีการแบ่งหน้าที่ตามความสามารถ ไม่สนใจสถานะ ชนชั้นเดิม และสร้างกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันขึ้นเพื่อการอยู่รอดในภาวะวิกฤติ

การที่สังคมเกาหลีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีเทคโนโลยีทันสมัย แต่อีกด้านหนึ่งซึ่งปฏิเสธไม่ได้คือสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปนั้นส่งผลให้ผู้คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น และนั่นกลายเป็นดาบสองคมที่ทิ่มแทงสังคมเกาหลีในปัจจุบันหลายต่อหลายแผล ไม่ว่าจะเป็นความเครียดในภาวะการแข่งขันสูง การแบ่งแยกผู้คน ปัญหาการฆ่าตัวตาย หรือกระทั่งการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

อี อึงบก ผู้กำกับซีรีส์เรื่องนี้ตั้งใจที่จะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมต่างๆ ผ่านโลกใบเล็กๆ สถานที่เดียวในเรื่องคือหอพักกรีนโฮม ผู้อยู่อาศัยในหอพักต่างคนต่างอยู่ที่ห้องของตัวเอง มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แต่พอสัตว์ประหลาดบุกจู่โจมและไม่อาจรับความช่วยเหลือจากโลกข้างนอกได้ พวกเขาต่างออกจากห้องของตนมาอาศัยอยู่รวมกันที่ชั้นหนึ่ง และใช้สรรพนามเรียกแทนตัวเองว่า ‘อูรี’ (แปลว่า พวกเรา) คำนี้คนเกาหลีมักใช้แสดงความเป็นเจ้าของเพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นพวกพ้องเดียวกัน

ค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางโรคระบาด

ถึงแม้ซีรีส์เรื่องนี้จะเปิดฉากด้วยความปรารถนาที่จะตายของตัวละครเอกที่ไม่เหลือเป้าหมายใดๆ ในการมีชีวิต แต่ตัวละครอื่นๆ ในหอพักกรีนโฮมทุกคนล้วนแล้วแต่มีความปรารถนาในการมีชีวิตอยู่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นนักบัลเลต์ นักดนตรี หมอ หรือแม้กระทั่งการมีชีวิตอยู่เพื่อคนที่รัก แน่นอนว่าเมื่อสัตว์ประหลาดบุกเมือง เป้าหมายเหล่านั้นกลายเป็นฝันลมๆ แล้งๆ ภายในชั่วพริบตา เพราะทุกคนสามารถกลายเป็นสัตว์ประหลาดและตายได้ทุกเมื่อ แต่ชาวหอพักกรีนโฮมก็ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา กลับกันพวกเขาค้นพบเป้าหมายของการมีชีวิตใหม่ คือการหาคำตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นและต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิตรอดต่อไป

ผู้ชมอาจไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดสัตว์ประหลาดใกล้บ้านท่านเพื่อจะค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ เพราะปัจจุบันแม้ไม่มีสัตว์ประหลาด แต่เกาหลีใต้พบกับวิกฤติด้านอื่นๆ อีกมาก เช่น สถิติการฆ่าตัวตายของหญิงสาวในปี 2020 ที่พุ่งขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยจากสถิติการฆ่าตัวตายของคนเกาหลีนั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 เมื่อปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง COVID-19 จึงกลายเป็นชนวนที่ทำให้คนเหล่านั้นตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณีหญิงสาววัย 27 ปีฆ่าตัวตายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เธอเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด นอกจากนั้นยังมีหญิงสาวอีก 3 คนในช่วงวัย 20 ปีถูกพบหมดสติอยู่ที่เนินเขา โดยคะเนได้ว่าเป็นการนัดกันฆ่าตัวตายหมู่

ปัญหาการฆ่าตัวตายในหญิงสาวนั้นรุนแรงจนกระทั่งรัฐบาลจำแนกให้หญิงสาวในช่วงวัย 20 และ 30 ปีเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายอย่างเป็นทางการ (ที่มา: บทความ ‘Young South Korean Women are Turning to Suicide in ever Greater Numbers. Covid-19 is Just the Start of Their Problems’)

ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะระบุว่าการฆ่าตัวตายของหญิงสาวเหล่านี้อาจจะมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระทบถึงเศรษฐกิจทำให้คนตกงาน รวมถึงสร้างความกดดันในการดำเนินชีวิตในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเงินทอง ทว่าการหาเลี้ยงตัวเองในสภาวะแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเมื่อประสบปัญหาก็ทำให้หลายคนตัดสินใจจบชีวิตไปในปีที่ผ่านมา

‘Sweet Home’ ซีรีส์เรื่องนี้ถูกปล่อยมาในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับไวรัส COVID-19 ถึงแม้ว่าสถานการณ์ในชีวิตจริงจะยังไม่เลวร้ายเทียบเท่าในซีรีส์ที่มีสัตว์ประหลาดเพ่นพ่านไปทั่วเมือง แต่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤติทางจิตใจ 

การดิ้นรนต่อสู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาและความเป็นมนุษย์ที่ชาวกรีนโฮมมอบให้ซึ่งกันและกันในซีรีส์ Sweet Home อาจชวนให้เราเห็นถึงความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ และชวนให้เราเห็นความสำคัญของการ ‘ตระหนักรู้’ มากกว่าการ ‘ตื่นตระหนก’  

ในโลกข้างนอกหอพักกรีนโฮม เราต่างกำลังต่อสู้กับโรคระบาด และนั่นไม่ได้น่ากลัวไปกว่าการต่อสู้กับด้านมืดที่ซุกซ่อนใต้ก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์

Author

ณิชกานต์ ภักดี
สาวอำเภอวารินผู้พลัดถิ่นมาอยู่ที่บ้าน WAY สนใจประเด็นร้อนทางสังคม และชื่นชอบการมองสังคมผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและซีรีส์ Netflix

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า