ความท้าทายเร่งด่วนเรื่องศักยภาพการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
นักวิชาการอิสระและอดีตนักวิจัยแลกเปลี่ยนด้านระบบสาธารณสุข
Harvard T.H. Chan School of Public Health
[email protected]

ข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ระบุว่า ขณะนี้โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในทั่วโลก สามารถดำเนินการได้แล้ว 205 ล้านโดส ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยมีความหวังว่า วัคซีนกำลังจะช่วยเป็นปัจจัยสำคัญให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นฟูกลับมาได้

ส่วนมากจะเป็นประเทศร่ำรวยและประเทศในโลกตะวันตก ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากกว่าประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศสามอันดับแรกที่ฉีดวัคซีนได้มากสุด คือ สหรัฐอเมริกา 63 ล้านโดส จีน 40 ล้านโดส และอังกฤษ 18 ล้านโดส ในขณะที่บางประเทศในเอเชียได้เริ่มต้นบ้างแล้ว เช่น อินโดนีเซีย 2 ล้านโดส บังคลาเทศ 1.8 ล้านโดส ศรีลังกา 200,000 โดส เนปาล 160,000 โดส พม่า 100,000 โดส เป็นต้น ซึ่งรวมแล้วไม่ถึง 100 ประเทศที่สามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้

นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ ประเมินว่า ต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนราว 70-90 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่เพียงพอในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19

ซึ่งข้อมูลสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ด้วยอัตราปริมาณการฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่อวันในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐอเมริกา จะบรรลุเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ ภายในเวลา 10 เดือน กล่าวคือ ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ส่วนในระดับโลกจะต้องใช้เวลาอีกประมาณเกือบ 5 ปี

จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยจะใช้เวลานานเพียงใดสำหรับการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่เพียงพอสำหรับคนไทย

ถ้าประเทศไทยกำหนดจำนวนการฉีดที่ 92 ล้านโดส คิดจาก 70 เปอร์เซ็นต์ ของคนไทย 66 ล้านคน หรือ 46 ล้านคน โดยได้รับการฉีดคนละ 2 โดส

  • หากฉีดได้เฉลี่ยวันละ 400,000 โดส จะใช้เวลาประมาณ 7 เดือน
  • หากฉีดได้เฉลี่ยวันละ 200,000 โดส จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี 3 เดือน
  • หากฉีดได้เฉลี่ยวันละ 100,000 โดส จะใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง
  • หากฉีดได้เฉลี่ยวันละ 50,000 โดส จะใช้เวลาประมาณ 5 ปี

เปรียบเทียบกับศักยภาพการฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่อวันในปัจจุบันของบางประเทศที่น่าสนใจ เช่น จีน 1.5 ล้านโดสต่อวัน  สหรัฐอเมริกา 1.3 ล้านโดสต่อวัน อังกฤษและอินเดีย 400,000 โดสต่อวัน เยอรมนี 140,000 โดสต่อวัน อิสราเอล 130,000 โดสต่อวัน ฝรั่งเศส 120,000 โดสต่อวัน และ สิงคโปร์ ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เบลเยียม หรือฟินแลนด์ 10,000 – 20,000 โดสต่อวัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564)

ทั้งนี้ เราคาดหวังว่า ศักยภาพการฉีดวัคซีนของมนุษยชาติจะเพิ่มมากขึ้นในอัตราเร่งที่สูงขึ้น ด้วยธรรมชาติกลไกตลาดที่วัคซีนเป็นสินค้ามีความต้องการสูง ด้วยนโยบายและมาตรการของรัฐบาลแต่ละประเทศในการเร่งศักยภาพการฉีดวัคซีนให้ประชาชน และด้วยโครงการเข้าถึงวัคซีนขององค์กรระหว่างประเทศด้านสาธารณสุข

คำถามที่น่าสนใจ คือ ประเทศไทยควรจะพัฒนาศักยภาพในการฉีดวัคซีนเพียงใด และอย่างไร จึงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เพียงพอ

เพื่อที่ประชาชนจะสามารถประกอบกิจกรรมได้เป็นปกติ และฟื้นฟูธุรกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สายการบิน โรงแรม ตลอดจนถึงร้านอาหาร สถานศึกษา โรงเรียนกวดวิชา ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง ฯลฯ รวมถึงทุกสาขากิจกรรมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ คำสั่งปิดธุรกิจชั่วคราว การหดตัวลงของกำลังซื้อภายในประเทศ และ การขาดรายได้จากการท่องเที่ยว

เพราะตัวอย่างงานวิจัยจากประเทศอิสราเอล พบว่า วัคซีนมีผลชัดเจนในการสร้างภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ สามารถลดการติดเชื้อที่แสดงอาการ (symptomatic) ได้ถึง 94 เปอร์เซ็นต์ จากกลุ่มตัวอย่าง 600,000 คนที่ได้รับวัคซีน Pfizer ครบ 2 โดส ขณะที่อัตราผู้ติดเชื้อที่อาการป่วยรุนแรงก็ลดลงถึง 92 เปอร์เซ็นต์

การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนไทย จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ซึ่ง สศช. หรือ สภาพัฒน์ได้ระบุเป็นลำดับแรกสำหรับประเด็นของการบริหารเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2564 คือ การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และประสิทธิภาพการกระจายวัคซีน

ข่าวดีสำหรับประเทศไทย คือ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายชัดเจนของนโยบายการฉีดวัคซีน จำนวน 63 ล้านโดส แบ่งเป็น 2 ระยะ

1. การกระจายวัคซีนระยะแรก คือ ระยะเร่งด่วนสำหรับพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 2 ล้านโดส ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่มีการควบคุมเฝ้าระวังและมีการพบการติดเชื้อต่อเนื่อง วัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคและเพื่อรักษาระบบสุขภาพของประเทศ เป้าหมายวัคซีนเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงสูง เป็นต้น

2. การกระจายวัคซีนระยะสอง จำนวน 61 ล้านโดส ช่วงเดือนมิถุนายน กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564 เฉลี่ยวันละ 500,000 โดส วัตถุประสงค์เพื่อรักษาเศรษฐกิจสังคมและความมั่นคงของประเทศ และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยซึ่งมีความพร้อมของระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ จึงควรที่จะระดมสรรพกำลัง ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยกันเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชากรไทยโดยเร็วที่สุด

ถึงแม้ว่า จะมีข้อจำกัดของระบบระเบียบราชการ หรืออุปสรรคความท้าทายประการใดก็ตาม ทั้งเรื่องการผลิต การขนส่ง การจัดเก็บรักษา และการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน ก็ต้องร่วมมือร่วมใจฟันฝ่าก้าวข้ามไปสู่เป้าหมายการฉีดวัคซีนของประเทศตามแผนการกระจายวัคซีนให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็วที่สุด

เพราะทุกเดือนที่ล่าช้าออกไป คือต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจขนาดมหาศาล ซึ่งภายในตัวเลขนั้น คือ ความทุกข์ยากในชีวิตของพี่น้องคนไทยที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว และยังไม่ทราบแน่ชัดว่า จะสามารถสิ้นสุดลงเมื่อใด

วิกฤติเศรษฐกิจประเทศไทยในครั้งนี้ คือครั้งที่ 3 ภายในรอบ 60 ปี สำหรับสถานการณ์ GDP ของประเทศเติบโตติดลบ  โดยครั้งแรกในรอบ 60 ปี คือ วิกฤติต้มยำกุ้ง GDP ลดลง 7.6 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2541 ครั้งที่สอง คือ ผลจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ซับไพรม์) ในสหรัฐอเมริกา GDP ลดลง 0.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2552 และครั้งนี้ ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ GDP ลดลง 6.1 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563  จึงถือว่า หนักหนาสาหัสมาก และยังไม่ทราบว่า จะฟื้นตัวมาเป็นปกติได้เมื่อใด ตราบที่ประชาชนยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่

ดังที่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้กรุณาให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าภาคการท่องเที่ยวกลับมาไม่ได้ เศรษฐกิจจะไม่สามารถฟื้นกลับมาได้

ท่านกล่าวชัดเจนว่า วัคซีนคือตัวเอกของจริง ในขณะที่มาตรการต่างๆ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ การเยียวยา เป็นเพียงการซื้อเวลา เพื่อพยุงเศรษฐกิจประเทศ จนกว่าการท่องเที่ยวของประเทศจะสามารถกลับมาได้

เพราะหากไม่มีวัคซีน เราจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ เหมือนในอดีตที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี ทำให้ภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ – 12 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP และส่งผลต่อการจ้างงาน 20 เปอร์เซ็นต์ ของตำแหน่งการจ้างงานทั้งหมด

ดังนั้น ข้อสรุปของบทความนี้ คือ ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ จะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพการฉีดวัคซีนของประเทศ อีกทั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ล่าช้า และป้องกันการแพร่ระบาดรอบต่อไปที่อาจเกิดขึ้นได้อีก

อ้างอิง

Author

ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
นักวิชาการอิสระและอดีตนักวิจัยแลกเปลี่ยนด้านระบบสาธารณสุข Harvard T.H. Chan School of Public Health

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า