จิราพร เหล่าเจริญวงศ์: ส่องโรงพยาบาลสนาม พื้นที่ควบคุม-ดูแล-กักกัน และอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาพของโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่ล้อมด้วยรั้วลวดหนามเหมือนค่ายกักกันก็ค่อยๆ จางหายไป แทนที่ด้วยคำว่า ‘Hospitel’ และ ‘Home Isolation’ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลสนามไม่ว่าจะเรื่องดีหรือแย่ต่างก็ปรากฏขึ้นจริง และควรถูกหยิบยกมาพูดถึงกันใหม่อีกครั้งเพื่อเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา

การระบาดระลอกที่ 2 ของประเทศไทยจากคลัสเตอร์ตลาดกุ้ง ทำให้โรงพยาบาลสนามแห่งแรกถูกก่อตั้งขึ้นบริเวณจังหวัดสมุทรสาคร และกลายเป็นแม่แบบให้อีกหลายพื้นที่นำไปปรับใช้ต่อ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ทำให้โรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ เกิดความเหลื่มล้ำในการเข้าถึงการรักษา และผู้ที่เข้ารับการรักษาแต่ละคนอาจมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปกับการที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลสนามเป็นเวลา 14 วัน บางคนอาจรู้สึกว่าพื้นที่อย่างโรงพยาบาลสนามนั้นมีการติดตามสอดส่องผู้ป่วย และระบบรักษาความปลอดภัยที่เคร่งครัด จนทำให้สูญเสียความเป็นส่วนตัวไป 

สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าการวางระบบภายในโรงพยาบาลสนามไม่ใช่สิ่งที่ควรละเลยหรือถูกทำให้หลงลืมกันไป และนับเป็นเรื่องดีที่ได้มีผู้ใช้โอกาสนี้ทำการศึกษา เก็บบันทึก และรวบรวมเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในดินแดนลี้ลับอย่างโรงพยาบาลสนามมาเรียบเรียงเป็นงานวิจัย

ด้วยเหตุนี้ บทสัมภาษณ์ ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาภายใต้หัวข้อ ‘โรงพยาบาลสนามและโรคระบาดโควิด-19: พื้นที่ระหว่างการควบคุม-ดูแลในสถานการณ์ฉุกเฉิน’ โดยการสนับสนุนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในฐานะนักมานุษยวิทยาที่ทำการศึกษาอย่างเป็นระบบ ได้พบ ได้เห็น และได้สัมผัสกับโรงพยาบาลสนามในพื้นที่จริง การพูดคุยครั้งนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความเป็น ‘โรงพยาบาลสนาม’ ในมุมมองของนักมานุษยวิทยาได้เป็นอย่างดี

ทำไมถึงเลือกศึกษาโรงพยาบาลสนามเป็นโจทย์ในการวิจัย

จากเมื่อครั้งที่เคยลงไปทำงานวิจัยเรื่องผู้ลี้ภัยในช่วงเรียนปริญญาเอก ทำให้มีโอกาสได้ไปค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ ในหลายพื้นที่ เช่น ค่ายผู้ลี้ภัย Calais ที่ในประเทศฝรั่งเศส หรือ ค่ายผู้ลี้ภัยที่เวสต์แบงค์ในปาเลสไตน์ ค่ายเหล่านี้จะมีโรงพยาบาลสนามอยู่คู่กับค่ายผู้ลี้ภัยหรือค่ายผู้อพยพในพื้นที่สงครามอยู่เสมอ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้จักคำว่าโรงพยาบาลสนาม แต่ก็ยังไม่เคยเห็นการนำมาใช้ในบริบทสังคมไทยมาก่อนเลย 

ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หรือสึนามิเมื่อปี 2547 ตอนนั้นก็มีการพูดถึงเรื่องการสร้างโรงพยาบาลสนามสำหรับรับมือกับสภาวะฉุกเฉิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยสงครามก็ตาม แต่ก็ไม่เคยได้ใช้จนกระทั่งมาเกิดโควิด-19 จุดนี้เองที่ทำให้เกิดการสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเป็นโรงพยาบาลสนามในบริบทที่ต่างออกไปอย่างโรคระบาด ซึ่งไม่ใช่ทั้งภัยพิบัติ ไม่ใช่ทั้งสงคราม จึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงสนใจลงภาคสนามเพื่อทำงานเรื่องนี้

หมายความว่าอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีโรงพยาบาลสนามเลย?

ใช่ค่ะ เท่าที่ศึกษามาคือไม่มี ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ หมายถึงว่าอาจมีสถานที่หรือการบริการทางสาธารณสุขอยู่ใกล้ๆ กัน แต่อาจไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม หรือไม่ได้ถูกเรียกว่าโรงพยาบาลสนาม

จริงๆ แล้วกระทรวงสาธารณสุขไทยรู้จักและรู้เรื่องเกี่ยวกับโรงพยาบาลสนามมาตลอด เท่าที่พอจะเห็นก็คือเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ที่พยายามจะนำเรื่องโรงพยาบาลสนามเข้าไปในแผนรับมือภัยพิบัติแห่งชาติ แต่สุดท้ายก็ยังไม่เคยได้ใช้ ตอนน้ำท่วมใหญ่ก็ยังไม่ได้ใช้ เราก็เลยคิดว่าโควิดครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ได้ใช้

เมื่อเริ่มต้นศึกษาเรื่องนี้มีสมมุติฐานเบื้องต้นไว้อย่างไรหรือไม่

ไม่มีข้อสมมุติฐานใดๆ เลยค่ะ ด้วยความที่ตัวเองเป็นนักมานุษยวิทยา การตั้งสมมุติฐานเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องของความสนใจล้วนๆ บวกกับความสงสัยว่ามันทำงานยังไงในพื้นที่โรคระบาด จะต่างจากโรงพยาบาลสนามในบริบทอื่นๆ ที่เราเคยรู้จักมาไหม แล้วทำงานต่างกันหรือไม่ในพื้นที่ฉุกเฉินที่มีโรคระบาด 

คำถามในงานวิจัยคือ เราสนใจว่าโรงพยาบาลสนามมีบทบาทในการรับมือกับโรคระบาดอย่างไร ทำไมถึงเกิดขึ้น เป็นคำถามง่ายๆ มากเลยค่ะ แล้วการที่ถูกตั้งขึ้นมาท่ามกลางสภาวะฉุกเฉินทำให้โครงสร้างชั่วคราวของโรงพยาบาลสนามเป็นอย่างไร หรือมีความสัมพันธ์อย่างไรกับสังคมไทยในบริบทของโรคระบาด 

พอลงไปศึกษาก็พบว่าโรงพยาบาลสนามมีบทบาทสำคัญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาครที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นจุดที่ตั้งขึ้นมาสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อ โดยในนั้นจะมีห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) ตอนนั้นแรงงานต่างชาติติดเชื้อค่อนข้างเยอะ ด้วยความที่พวกเขาต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในห้องเล็กๆ แคบๆ อาจจะห้องละ 10 ตารางเมตร อาศัยด้วยกัน 10 คน ดังนั้นการแพร่เชื้อก็เลยเกิดขึ้นได้ง่าย แล้วก็ติดในหมู่แรงงานข้ามชาติเยอะไม่ว่าจะเป็นตลาดกลางกุ้งก็ดี ตลาดมหาชัยก็ดี ดังนั้นโรงพยาบาลสนามก็เลยเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่นั้น 

จริงๆ แล้วแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ก็ไม่ได้แสดงอาการทุกคน มีเฉพาะบางคนที่ป่วยหนักเท่านั้นที่จะได้อยู่ในวอร์ด ส่วนคนที่ป่วยเบาหรือไม่แสดงอาการก็จะได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลสนาม

ในงานศึกษาชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับทฤษฎีทางมานุษยวิทยาอย่างไรบ้าง

เยอะมากเลยค่ะ จริงๆ แล้วตอนที่ลงไปพื้นที่อาจจะยังไม่ได้เห็นทฤษฎีเยอะ แต่พอได้ข้อมูลมา แล้วกลับมาวิเคราะห์ข้อมูลหรือพยายามที่จะ conceptualize (วางกรอบแนวคิด) ก็ทำให้มองเห็นหลายคอนเซปต์ 

คอนเซปต์แรกก็คือ ‘แคร์’ (care) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือเข้าไปดูว่ามีการดูแลในสภาวะโรคระบาดฉุกเฉินอย่างไร ทุกอย่างต้องทำอย่างรวดเร็ว ต้องดูแลตั้งแต่คนไข้ตรวจพบเชื้อ แล้วส่งไปที่โรงพยาบาลสนาม การยืนยันผลตรวจ การใส่ชุด PPE การเรียกคนไข้มาตรวจทุกๆ วัน อะไรแบบนี้ ซึ่งจะเห็นถึงกระบวนการและความใส่ใจดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงมุมมองของการดูแลด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้รับบริการหรือผู้ให้บริการ

คอนเซปต์ที่สองก็คือ เราสนใจในความเป็นสภาวะฉุกเฉินของโรงพยาบาลสนามที่ต่อเนื่องมาจากความสนใจเรื่องผู้ลี้ภัย งานชิ้นนี้อาจจะไม่ใช่เชิงทฤษฎีมานุษยวิทยามากนัก แต่อ้างอิงไปถึงงานของนักปรัชญาชื่อ จอร์โจ อะกัมเบน (Giorgio Agamben) ที่ศึกษาว่าภายใต้ภาวะฉุกเฉินของรัฐ (State of Emergency) รัฐทำยังไง และเอาอำนาจมาจากไหน ซึ่งในงานก็บอกไว้ว่ารัฐเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของคนในประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลไทย ดังนั้นเขาก็เลยประกาศสภาวะฉุกเฉินผ่านสภาวะความเป็นความตายของมนุษย์ ซึ่งอำนาจอธิปไตยที่รัฐมีผ่านประกาศภาวะฉุกเฉิน ก็จะกลายมาเป็นสภาวะยกเว้น (State of Exception) และกฎหมายในสภาวะนี้ก็จะมีอำนาจมากกว่ากฎหมายอื่นๆ ทั่วไป 

คอนเซปต์ที่สามเป็นเรื่องของพื้นที่ ดูว่ามีพื้นที่อะไรบ้างในสภาวะฉุกเฉินที่เข้าได้ เข้าไม่ได้ ในพื้นที่อย่างโรงพยาบาลสนาม อำนาจทำงานอย่างไรบ้าง การจัดสร้างพื้นที่สะท้อนถึงความเท่าเทียมกันไหม หรือสะท้อนถึงการตรวจตราสอดส่อง 

ในโรงพยาบาลสนามจะมีเขตที่แยกพื้นที่เอาไว้ พื้นที่ที่สกปรกหรือพื้นที่ของผู้ติดเชื้อจะแยกขาดจากพื้นที่ที่สะอาด ก็คือพื้นที่ที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ดำเนินงาน ขณะเดียวกันตัวพื้นที่ทางกายภาพเอง บางครั้งอาจจะมีรั้วรอบขอบชิดสูงขึ้นไปเลยเพื่อกันไม่ให้คนไข้หนีออกมา หรืออาจจะไม่ต้องการให้เชื้อโรคติดต่อผ่านกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งน้ำมูก น้ำลาย หรือว่าของเสียที่คนไข้ขับออกมา ตรงนี้เราก็เห็นอำนาจที่มันทำงานผ่านพื้นที่ทางกายภาพ 

นอกจากพื้นที่แล้ว ก็คืออำนาจในการจ้องมอง เราพบว่าโรงพยาบาลสนามจะมีส่วนที่แยกจากกันระหว่างคนไข้กับบุคลากรทางการแพทย์ แม้อยู่ติดกันก็จริง แต่ก็ยังถูกกั้นด้วยกระจก คนไข้ต้องอยู่ในโถงอาคารเท่านั้น ส่วนบุคลากรทางการแพทย์อยู่ข้างนอก มองเห็นกันผ่านกระจกใส มากไปกว่านั้นยังใช้กล้องวงจรปิด (CCTV) ติดทุกมุมของโรงพยาบาลสนาม แสดงให้เห็นถึงอำนาจผ่านการจ้องมอง คือไม่ว่าคุณจะทำอะไร ที่ไหน คุณก็จะถูกมองเห็น ถูกตรวจตราสอดส่องอยู่ตลอดเวลา 

จะเห็นว่าจริงๆ แล้วในโรงพยาบาลสนาม คอนเซปต์ที่ใช้มีอยู่ 3 ส่วนหลักๆ คือ การดูแล สภาวะฉุกเฉิน และอำนาจบนพื้นที่ ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้จะทำงานไปพร้อมๆ กัน ผ่านการประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งเป็นเรื่องความเป็นความตาย โรงพยาบาลสนามจึงถูกสร้างขึ้นมาจากอำนาจตรงนี้ แล้วอำนาจตรงนี้ก็เข้ามาทำงานในชีวิตประจำวันของคนไข้ผ่านการจับจ้องเรือนร่างเขาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถูกทำให้ชอบธรรมผ่านเงื่อนไขของคำว่าการดูแล เพราะใครๆ ก็อยากหายจากโควิดใช่ไหม ใครๆ ก็ไม่อยากเอาเชื้อไปติดคนอื่นในบ้าน คนจึงเลือกที่จะมาโรงพยาบาลสนาม เพื่อจะได้อยู่ภายใต้สายตาของแพทย์ แต่ก็ต้องยอมแลกกับการถูกมอง หรือถูกติดตามชีวิตประจำวันมากกว่าเดิม

ในงานวิจัยพูดถึงแนวคิด ‘ชีวิตที่เปลือยเปล่า’ (bare life) อยากทราบใครบ้างที่เป็น bare life นอกจากแรงงานข้ามชาติแล้ว คนไทยที่อยู่ในนั้นจะถูกนับรวมด้วยหรือไม่ 

เราคิดว่าแนวคิดเรื่อง bare life ของอากัมเบน อาจจะมีข้อจำกัดเวลาอธิบายในประเด็นโรงพยาบาลสนาม ก็คือเรายังเห็นถึงส่วนหนึ่งของรัฐที่พยายามจะช่วยชีวิตคน แต่ความเป็น bare life ของแรงงานข้ามชาติมีแน่นอนอยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้าคุณเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย คุณก็ไม่สามารถได้รับการปกป้องโดยรัฐได้ แต่โควิด-19 เป็นสภาวะพิเศษ มันทำให้ความเป็น bare life ลดลงไปเล็กน้อย เพราะว่าโรคระบาดไม่ได้เลือกติดที่คนใดคนหนึ่ง มันติดได้ทุกคน ดังนั้นรัฐก็เลยต้องเอาเรือนร่างของแรงงานข้ามชาติเข้ามาไว้ในระบบสาธารณสุขของไทยด้วย 

มีสิ่งที่อยากจะใส่ลงไปในงานวิจัย แล้วไม่ได้เขียนลงไปบ้างไหม

ก็มีนะคะ อย่างเช่นประเด็นเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส อยากรู้ว่าบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะในประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากแค่ไหน อาจจะเกินขอบเขตของโรงพยาบาลสนามไป แล้วเวลาคนติดเชื้อแต่ละสายพันธุ์เข้าไปอยู่รวมกันจะมีการแลกเชื้อกันไหม อาการหลังการหายป่วยไปจะเป้นอย่างไร

อีกหนึ่งเรื่องที่สนใจคือ ขยะและน้ำ หรือของเสียที่ขับออกมาจากร่างกายคนไข้ ประเด็นนี้ก็อยากจะทำต่อ เพราะของทุกอย่างในโรงพยาบาลสนามมีโอกาสติดเชื้อได้หมด และทุกอย่างก็ไปรวมกันอยู่ในนั้น แต่ว่า ณ ตอนนี้โรงพยาบาลสนามอาจจะปิดไปหมดแล้วก็ได้ 

จริงๆ เขามีระบบกำจัดของเสียที่ค่อนข้างดีนะ เราได้ลงไปดูหลายแห่งในจังหวัดสมุทรสาคร เขามีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือมาวัดค่าต่างๆ กับมาใส่คลอรีน แต่เราก็อยากรู้ว่าของเสียที่ดูดออกไปทั้งหมดถูกนำไปบำบัดที่ไหน ถ้าไม่ได้ถูกบำบัดที่โรงพยาบาล เขาบำบัดอย่างไร แล้วเมื่อปล่อยสู่พื้นที่จะเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างเช่นบางแห่ง ชาวบ้านจะไม่พอใจที่มีโรงพยาบาลสนามหรือว่ามีศูนย์พักคอยไปตั้งอยู่ใกล้เคียง เนื่องจากน้ำเสียจะไหลลงไปในคลองที่ชาวบ้านใช้ บางส่วนอาจจะลงไปในคลองที่เขาปลูกส้มโอ มะพร้าว พืชผักทั้งหลาย จุดนี้ก็เป็นสิ่งที่เรารู้สึกสนใจ

อยากให้ช่วยเล่าการทำงานของโรงพยาบาลสนามตั้งแต่แรก

ตั้งแต่แรกเลยจะต้องตรวจคัดกรองก่อน ไม่ว่า ATK หรือ PCR เมื่อตรวจแล้วมีผลเป็นบวก แต่หมออาจประเมินว่าเป็นคนไข้กลุ่มไม่แสดงอาการ ก็จะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลสนามที่ขึ้นตรงกับโรงพยาบาลหลัก เพราะโรงพยาบาลสนามจะเปิดไม่ได้ถ้าไม่มีโรงพยาบาลหลักสนับสนุน ซึ่งระหว่างทั้งสองโรงพยาบาลจะห่างกันประมาณ 15 นาที ในระยะที่ขนส่งคนไข้ได้ 

เมื่อไปถึงคนไข้ต้องอยู่ที่จุดเฝ้าสังเกตอาการก่อนเพื่อซักประวัติ จากนั้นก็ดูว่าโรงพยาบาลหลักส่งมาถูกคนไหม เป็นโควิด-19 จริงหรือเปล่า เพราะมีบางกรณีที่คนไข้ไม่ได้เป็น แต่มาพร้อมกับรถของคนไข้ที่เป็น ดังนั้นคุณก็ต้องกักตัวไปด้วยเหมือนกัน พอตรวจคัดกรองแล้วก็จะได้เลขที่บนเตียง ได้เลขประจำตัวคนไข้ จากนั้นจะอยู่ไปจนถึง 14 วัน จริงๆ คือ 15 วัน ถ้านับตั้งแต่วันแรกที่เข้า 

ทุกๆ วันคนไข้จะถูกตรวจอุณหภูมิแล้วสังเกตอาการไอ เจ็บคอ หรือว่ามีอาการที่ร้ายแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หายใจออกไหม ถ้าใครที่อาการปกติดีหมอก็อาจจะเรียกมาเช็ก 2-3 วันครั้ง แต่ถ้าใครอาการแย่ลงหมอก็อาจจะตรวจถี่หน่อย แล้วอาจจะต้องส่งตัวคนที่หายใจเองไม่ได้กลับไปโรงพยาบาล ส่วนชีวิตประจำวันคนไข้ก็เหมือนเรา คือตื่นเช้ามาก็กินข้าว บางคนเจ็บคอก็อาจจะกินยาบ้าง ตอนบ่ายเขาจะไปเตะตะกร้อ สันทนาการอะไรของเขาในพื้นที่ตรงนั้น ที่ลำบากคือเตียงนอนมันอยู่ติดๆ กัน อาจจะร้อนมาก เพราะไม่มีแอร์ 

photo: คลังภาพจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

พื้นที่โรงพยาบาลมีสถานะเป็นพื้นที่สำหรับการดูแล พื้นที่ชายแดนมีสถานะเป็นพื้นที่ควบคุมการเข้าออก ถ้าเช่นนั้นตัวโรงพยาบาลสนามมีสถานะอย่างไร

คือมันเหมือนกับพื้นที่ชายแดนในการควบคุม ซึ่งชายแดนทำหน้าที่คัดกรองคนเข้าออก ตอนประกาศล็อกดาวน์ก็ต้องป้องกันไม่ให้คนเข้าเลย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เป็นพลเมืองของรัฐไทย ชายแดนมันทำหน้าที่แค่อย่างเดียว แต่โรงพยาบาลสนามทำหน้าที่ 2 อย่าง คือมีทั้งป้องกันและมีการดูแลด้วย เปรียบเสมือนโรงพยาบาลธรรมดา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนชายแดนด้วย

อธิบายเพิ่มคือมีการคัดกรองคนเข้าออก คนที่เข้าไปในนั้นแล้วกว่าจะออกมาได้คือ 14 วันหลังจากนั้น ส่วนคนที่อยู่ดีๆ จะเดินเข้าไปก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะคุณจะต้องถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลก่อน จุดนี้ทำให้ได้เห็นถึงสภาวะกึ่งกลางระหว่างการควบคุมกับการดูแล เป็นกึ่งๆ ชายแดนด้วย เป็นกึ่งๆ โรงพยาบาลด้วย 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือโรงพยาบาลสนามคล้ายกับค่ายผู้ลี้ภัยมาก เรามักจะคิดว่าประเด็นอย่างผู้ลี้ภัย ค่ายผู้ลี้ภัย เป็นเรื่องไกลตัว เพราะอยู่ที่ชายแดน สิ่งที่น่าสนใจคือ โรงพยาบาลสนามเหมือนกันกับค่ายผู้ลี้ภัยตรงที่มันเป็นพื้นที่โดดเดี่ยวจากชุมชน มันไม่ได้ถูกปฏิสัมพันธ์ มันไม่ได้อยู่ในชุมชน แต่มันอยู่แยกออกมา แล้วก็เห็นถึงรั้วรอบขอบชิดและการคัดกรองคนเข้าออก ตรงนี้จะเห็นถึงความเป็นค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ในตัวตนของโรงพยาบาลสนามด้วย 

การจัดการทุกอย่างในนั้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรม การส่งอาหาร การให้ที่พัก มันคือการจัดการในค่ายผู้ลี้ภัยทั้งสิ้น และมันคือการจัดการสถานการณ์วิกฤติในสภาวะสงคราม ในสภาวะภัยพิบัติ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ลักษณะของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลค่ายลี้ภัยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสนามจะมีความแตกต่างกัน เพราะค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่กว่า กินความหมายของการดูแลหรือความหมายของชีวิตประจำวันที่เยอะกว่า ส่วนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสนามอาจจะเป็นแค่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 

ประชากรหลักในโรงพยาบาลสนามคือใครบ้าง

ถ้าในจังหวัดสมุทรสาคร แรงงานข้ามชาติจะชัดเจนเลยค่ะ แรงงานข้ามชาติมีทั้งเชื้อชาติพม่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว หรืออาจจะมีฟิลิปปินส์ จีน ที่ติดเชื้อแล้วถูกส่งไปอยู่โรงพยาบาลสนาม ส่วนโรงพยาบาลสนามในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนไทย แต่ว่าโรงพยาบาลสนามในกรุงเทพฯ มันก็แบ่งอีกว่าจะเป็นเกรดไหน อาจจะเป็น Hospitel ก็ได้ หากคุณไม่อยากอยู่โรงพยาบาลสนามร่วมกับคนอื่น หรือว่าคุณมาโรงพยาบาลสนามที่ดีหน่อย อย่างโรงพยาบาลสนามจุฬาฯ คนที่เข้าไปรักษาก็คือนิสิต เพราะเขาสร้างไว้ให้เฉพาะนิสิตและบุคลากรของจุฬาฯ เท่านั้น

ส่วนฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ที่มาทำงานโรงพยาบาลสนามค่อนข้างหลากหลายเช่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่งเป็นหมอสูตินารีแพทย์ ไม่เคยมีประสบการณ์การทำโรงพยาบาลสนาม แต่ต้องมาทำเพราะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน คุณหมอก็มาวางระบบเอาไว้ให้อย่างดี แล้วก็ชวนนายก อบต. เจ้าหน้าที่ นายกเทศมนตรี หรือว่านายอำเภอ มาช่วยกันในเรื่องการหาพื้นที่ น้ำ ห้องน้ำ และหลายๆ เรื่องซึ่งนำโดยฝ่ายสาธารณสุขเป็นหลัก 

นอกจากแพทย์ที่ประจำในโรงพยาบาลสนามแล้ว ก็มีทั้งเภสัชกรและพยาบาล พยาบาลก็มาจากหลายสาขา ไม่ใช่แค่ในแผนกอายุรกรรมเท่านั้น อาจจะเป็นพยาบาลในห้องผ่าตัดหัวใจ อาจจะผลัดเปลี่ยนเวรกันไป แล้วแต่ว่าองค์กรจัดสรรมายังไง ขณะเดียวกันก็รวมไปถึงฝ่ายกระทรวงมหาดไทย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือนายก อบต. ก็ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ รวมถึงภาคเอกชนด้วย เช่น เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่อยู่ เขาก็ให้พื้นที่สาธารณสุขไปใช้ ดังนั้นจึงประกอบไปด้วยคนต่างๆ เยอะมาก 

ช่วงที่ลงพื้นที่ไปทำการศึกษา สภาวะจิตใจของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไรบ้าง

เราลงไปศึกษาในช่วงที่โรคระบาดเริ่มเบาลงแล้ว คือหลังระลอกที่ 2 แต่ทุกคนก็ยังยุ่งมาก ทำได้แค่ขอเชิญเขามาสัมภาษณ์ใน Zoom meeting ซึ่งในเชิงสุขภาวะทางใจ (mentality) เขาก็เต็มร้อยกับการทำงานของเขา แต่ถามว่าเหนื่อยไหม เราคิดว่าเขาเหนื่อยแน่นอน หลายๆ คนก็อาจจะรู้สึกอยากกลับบ้าน แต่ก็กลับไม่ได้เพราะกลัวว่าจะพาโรคไปติดคนที่บ้าน เพราะการมาอยู่โรงพยาบาลสนามมันก็เสี่ยงกับตัวเขาเอง ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ที่อยู่โรงพยาบาลสนามก็จะอยู่นาน อาจจะพอได้พักเบรกแล้วก็ค่อยกลับบ้าน เท่าที่เรารู้ตอนสัมภาษณ์ พยาบาลบางคนก็อยู่เป็น 10 เดือนเลยค่ะ

อุปกรณ์วัสดุขาดแคลนแค่ไหน

ส่วนใหญ่พร้อมนะคะ อาจจะมีขาดบ้างเกินบ้าง แต่ในเชิงของการประสานงาน เขาค่อนข้างประสานงานกันได้ดี เขาจะเอาจากส่วนที่เกินมาเติมให้กับส่วนที่ขาด ส่วนใหญ่อุปกรณ์พร้อม และเนื่องจากคนไข้ที่เข้ามามีอาการไม่เยอะก็เลยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มันซีเรียส ไม่ว่าจะเป็นถังออกซิเจน หรือว่าเครื่องช่วยหายใจที่ไม่ได้มีในโรงพยาบาลสนามตั้งแต่แรก แต่ว่าอุปกรณ์อื่นๆ ทั่วไป เช่น รถเข็น สำลี เจล แอลกอฮอล์ มีพร้อม อาจจะเพราะมีเอกชนเข้ามาบริจาคเยอะมากด้วย สิ่งที่ไม่พอน่าจะเป็นน้ำดื่ม เพราะในนั้นอากาศร้อนมาก ต้องขอบริจาคเยอะค่ะ

ส่วนการบริจาคก็จะมี 2 ส่วน คือน้ำใช้กับน้ำดื่ม โดยน้ำใช้ อบต. จะเป็นคนเอามาให้ ส่วนน้ำดื่มต้องรับบริจาค คู่ไปกับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเด็กอ่อน เพราะมีแม่ที่ติดเชื้อแล้วต้องอยู่ในโรงพยาบาลสนามด้วย แต่ละโรงพยาบาลสนามอาจจะต้องการหลายๆ อย่างที่แตกต่างกันออกไป เช่น เบาะเด็ก แพมเพิร์ส นมผง สิ่งเหล่านี้แหละที่ขาดแคลนจนต้องขอบริจาค 

ช่วงที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ได้เห็นการเลือกปฏิบัติบ้างหรือไม่

เราก็ตอบได้ยาก เราคิดว่ายังค่อนข้างน้อยในมุมของเรา เมื่อเทียบกับกรณีแคนป์คนงานที่ชัดเจนว่ามีการเลือกปฏิบัติ (discriminate) ค่อนข้างเยอะ เพราะบุคลากรทางการแพทย์เขาก็อยากรักษาคนไข้ให้หาย ไม่อยากให้การระบาดกระจายไปไกล มีความเป็นมืออาชีพเต็มเปี่ยมมาก เขาก็จะอยากดูแลให้ดีที่สุด

เราคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องข้อจำกัดทางวัฒนธรรม บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มาจากจังหวัดสมุทรสาคร อาจจะไม่ได้ปฏิสัมพันธืกับแรงงานข้ามชาติมากนัก บางคนก็คงยังไม่เขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องสื่อสารภาษาอะไรกับแรงงาน ต้องพึ่งพาล่าม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นล่ามภาษาพม่า ขณะที่ในโรงพยาบาลสนามมีแรงงานลาวกับกัมพูชาด้วย ซึ่งก็เป้นข้อจำกัด ถามว่าเป็นการเลือกปฏิบัติไหม อาจจะต้องฝากให้ทุกคนช่วยกันคิด 

นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว แรงงานก็รู้สึกว่าอาหารที่เอามาให้ทำไมมีแต่อาหารถูกปากคนพม่า ทำไมไม่ทำอาหารที่ถูกปากคนเชื้อชาติอื่นบ้าง เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ ล่าม ก็มีแต่ภาษาพม่า ไม่มีภาษาอื่นๆ เลย เขาก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าเขาไม่ได้รับการดูแลที่ดีเท่ากับเพื่อนแรงงานชาวพม่า ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครกลุ่มแรงงานพม่าอาจจะเยอะที่สุด ทำให้ล่ามที่นี่ส่วนใหญ่จึงเป็นล่ามภาษาพม่า

สุดท้ายก็แก้ปัญหาการหาล่ามที่เป็นคนพูดภาษาอื่นได้มาเพิ่ม มันก็มีประเด็นเรื่องพวกนี้อยู่และเป็นเรื่องสำคัญ ในอนาคตเวลาคุณจัดการเรื่องพวกนี้ก็ต้องคำนึงถึงคนในประเทศไทยที่ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นด้วย 

มีเรื่องไหนบ้างที่คนข้างนอกกับคนข้างในโรงพยาบาลสนามเข้าใจไม่ตรงกัน หรืออาจจะเป็น unseen ที่ยากจะเห็น

เรื่องunseen นี่น่าจะ ยันต์กันผีค่ะ (หัวเราะ) คือจะมีบางโรงพยาบาลสนามที่ตั้งในพื้นที่ที่น่าจะเป็นเขตผีดุ ตอนที่เราเดินเข้าไป แต่ละห้องที่เก็บอุปกรณ์ทางการแพทย์จนถึงห้องที่เขาไว้ใช้พักผ่อน แม้แต่ห้องที่เอาไว้ตรวจดูคนไข้ที่คุยกันผ่านจอ ก็จะมียันต์ท้าวเวสสุวรรณแปะอยู่ พอถามว่าทำไมต้องแปะ เขาบอกว่า “มันอยู่ลำบากมากเลยค่ะอาจารย์” เลยจำเป็นต้องมีเอาไว้เพื่อความอุ่นใจของบุคลากรทางการแพทย์เวลากลางคืน หรือโควิดจะน่ากลัวน้อยกว่าผี?

พูดถึงความเชื่อ เรื่องความเชื่อกับโรงพยาบาลสนามมีมิติใดน่าสนใจบ้าง

อันนี้อาจจะไม่ได้เจอในจังหวัดสมุทรสาคร แต่เท่าที่เราฟังมาจากที่กรณีของอำเภออื่นๆ ชาวมุสลิมที่เขามีวิถีปฏิบัติตามหลักศาสนาของเขาก็อยากได้อาหารฮาลาล แต่ว่าอาหารที่บริจาคมาอาจจะไม่ได้ทำตามหลักศาสนา ของบริจาครวมกันในถุงบริจาค ผู้ให้อาจจะไม่ทราบว่าถุงบริจาคดังกล่าวจะถูกส่งไปยังพื้นที่ชุมชนชาวมุสลิม จึงอาจมีอาหารที่ไม่ฮาลาลรวมอยู่ด้วย

อีกเรื่องคือแม่ครัว พวกเขาก็อยากจะได้แม่ครัวที่ปรุงอาหารฮาลาล ซึ่งก็หาได้ยาก จนสุดท้ายต้องซื้ออุปกรณ์ไปให้คนไข้ทำอาหารกันเองในโรงพยาบาลสนาม

ส่วนศาสนาพุทธมีการเชิญพระมาบ้าง แต่พระก็สวดได้แค่ข้างนอกแล้วผ่านเครื่องขยายเสียงเข้าไปข้างใน เรื่องอื่นๆ ในเชิงศาสนาเรายังไม่เห็นอะไรที่นอกเหนือกว่านี้

โรงพยาบาลสนามของไทยกับต่างประเทศเท่าที่เห็นมา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ที่ดูไบกับสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเหมือนตู้เคบินเป็นส่วนๆ แล้วก็ทำเป็นโถงยาวกั้นเป็นห้องๆ ไป จริงๆ ก็ไม่ได้ต่างไปจากโรงพยาบาลสนามของไทยสักเท่าไหร่ 

การเปรียบเทียบโรงพยาบาลสนามอาจจะยากตรงที่บางประเทศเขาไม่ได้ใช้โรงพยาบาลสนามเพื่อรับมือกับโรคระบาดเหมือนเรา คือเขาให้ประชาชนทำ Home Isolation แทน โดยเฉพาะประเทศในยุโรป หากคุณติดเชื้อมา คุณก็กักตัวอยู่ที่บ้าน คนที่ดูแลก็คือเป็นคนในบ้านของคุณเอง อาหารก็เป็นอาหารในบ้านที่คุณทำเอง หากคุณอยู่คนเดียวก็จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดูแล เอาข้าวเอายาไปให้ 

โมเดลโรงพยาบาลสนามต้องบอกก่อนว่ามีน้อย ไม่ได้กระจายไปทั่วโลก มีแค่ประเทศไทยกับจีนที่ใช้เป็นหลัก สหรัฐอเมริกาเท่าที่เราพยายามศึกษามา เขาพยายามจะทำ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ คือเขาก็สร้างเสร็จแล้ว หมดงบไปหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้

อย่างที่จีน เราคิดว่าเพราะว่าโรงพยาบาลสนามมากับนโยบาย Zero Covid-19 ที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้โควิดเป็นศูนย์ ดังนั้นจีนเลยพยายามที่จะกักบริเวณ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ ขณะที่ในของประเทศไทยเท่าที่รู้คือ ประชากรไทยไม่ได้อาศัยอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว แต่เป็นครอบครัวขยาย ครอบครัวหนึ่งอาจจะมีทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ไปจนถึงเด็กเล็กด้วย ดังนั้นโรงพยาบาลสนามเหมาะที่สุดโดยเฉพาะระลอกแรกกับระลอกที่ 2 ที่ต้องการแยกคนไข้ที่ติดเชื้อออกจากผู้อยู่อาศัยคนอื่นที่ไม่ได้ติดเชื้อใต้ชายคาเดียวกัน

พูดถึงแนวคิดเรื่องการควบคุมดูแล ข้างในโรงพยาบาลสนามมีมาตรการอย่างไร

ลักษณะทางกายภาพก็คือมีรั้วลวดหนามล้อมรอบ อันไหนที่ไม่มีรั้วลวดหนามก็ต้องมีประตูรั้วรอบขอบชิดแน่นอน พอเข้าไปก็จะเป็นโถงยาวที่เป็นส่วนของพื้นที่คนไข้ การควบคุมมันไม่เหมือนโรงพยาบาลทั่วไปที่สามารถให้ผู้ป่วยเดินไปเดินมาได้ ถ้าคุณพักฟื้นก็เดินไปเดินมาได้ แต่พื้นที่และระยะเวลาจำกัด 

การควบคุมเหล่านี้ไม่ใช่ผ่านแค่พื้นที่อย่างเดียว แต่จะเป็นการควบคุมผ่านเวลาด้วย ในเชิงเวลาคือคุณรู้อยู่แล้วว่าก่อนจะเข้าไปคุณจะต้องอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นระยะเวลากี่วัน ห้ามออกมา ดังนั้นไม่ใช่แค่ควบคุมผ่านพื้นที่และเวลา แต่เป็นเพราะถูกกำหนดจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มาแล้วว่าต้อง 14 วัน 

ถ้าเช่นนั้น การควบคุมเรื่องเวลาจะเป็นเรื่องดีหรือเปล่า เพราะรู้ว่าจะต้องเข้าไปกี่วัน

ใช่ จะแตกต่างจากการรอคอยที่ไม่สิ้นสุด ข้อดีคือคุณรู้อยู่แล้วว่าถ้าคุณเข้าไปวันที่ 1 วันที่ 15 คุณได้ออก เราว่าความทรมานมากกว่าก็คือการเข้าไปโดยที่ไม่รู้ว่าจะต้องรอจนถึงเมื่อไหร่ ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณไปสนามบินก็แน่นอนว่าเป็นพื้นที่ของการรอคอย โรงพยาบาลสนามเองก็เป็นพื้นที่ของการรอคอยเหมือนกัน สนามบินคุณรู้ว่าเดี๋ยวเที่ยวบินคุณจะต้องขึ้น 10 โมง คุณก็ไปรอตั้งแต่ 8 โมง มีเส้นตายว่าคุณต้องรอไป 2 ชั่วโมง ดังนั้นคุณรอได้อยู่แล้ว แต่ถ้าล่าช้าไปแบบไม่รู้ว่าเครื่องบินจะมาเมื่อไหร่ คุณก็จะเริ่มกระวนกระวายแล้ว การมีเดดไลน์จึงช่วยทำให้มีไทม์เอน (Time-ends) สิ่งนี้สำคัญกับมนุษย์ แต่ถ้ารอคอยแบบที่ไม่มีเส้นตาย อย่างเช่นค่ายผู้ลี้ภัย ไม่รู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าจะได้ไปตั้งรกรากในประเทศที่สาม เราว่าอันนี้น่าจะทรมานกว่า

แต่ 14 วันของคนเราก็ไม่เท่ากัน อันนี้ขอพูดกว้างๆ อาจจะไม่ใช่แค่แรงงานข้ามชาติแล้วกันนะคะ เราในฐานะที่เป็นนักวิชาการ 14 วันของการกักตัวอาจจะไม่ได้นานเท่ากับแรงงานข้ามชาติ เพราะเราสามารถทำงานของเราได้ เรามีคอมพิวเตอร์ ในโรงพยาบาลสนาม ทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเรายังเป็นขั้นเป็นตอนอยู่ แต่เมื่อเทียบกับแรงงานข้ามชาติ ชีวิตพวกเขาต่างกัน เพราะ 14 วัน หมายถึงเขาต้องสูญเสียรายได้จากการไม่ได้ไปทำงาน เงินเขาลดลงไปเรื่อยๆ ทุกวัน เขายังต้องจ่ายค่าเช่าบ้านอยู่ โดยที่ไม่ได้มีรายได้เข้ามา จุดนี้คือความขัดแย้งกับเวลา (Conflict of Times) ที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน มันคือความเหลื่อมล้ำผ่านบริบทของเวลา

แม้กระทั่งแรงงานข้ามชาติบางคนที่เพิ่งเข้ามาแล้วภรรยาคลอด แน่นอนว่าเขาต้องอยากไปเจอภรรยา เขาต้องอยากจะออกไปเจอลูกของเขา เขาต้องอยากเร่งวันเร่งคืนให้หมดออกไปไวๆ จะได้ออกไปสักที

ในเรื่องนี้เลยทำให้คนพยายามหนีออกจากโรงพยาบาลสนามใช่หรือไม่

ก็ใช่ค่ะ เขาอาจจะมีหลายเรื่องนะคะ เช่น เขาอาจจะเบื่อเพราะไม่มีอะไรทำในนั้นก็ได้ แต่หลักๆ อย่างที่เราบอกคือ แรงงานสูญเสียรายได้ เขาก็ไม่ได้อยากอยู่ จริงๆ เขาไม่ได้มีอาการมาก การที่เขายังอยู่ในโรงพยาบาลสนามแปลว่าเขาก็ยังแข็งแรงอยู่ แล้วเขาเป็นแรงงาน วัยแรงงานคือวัยที่ร่างกายแข็งแรง ดังนั้น ถึงได้รับเชื้อมาเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาป่วยหนัก เขาอาจจะรู้สึกป่วยเหมือนหวัด ไม่กี่วันก็หาย ดังนั้นถัดจากช่วงดังกล่าวเขาอยากไปทำงานแล้ว เขากลัวว่าจะตกงานถ้าไม่กลับไปทำงาน ถ้านายจ้างได้คนใหม่มาแทนที่เขา เขาก็จะเสียงานไปเลย ไม่มีงานทำไปเลย อันนี้น่าจะเหตุผลหลัก ส่วนเหตุผลที่สองก็คือน่าจะเบื่อด้วยค่ะ 

เขารู้แล้วอยู่แล้วว่ากินอาหารกล่องทุกมื้อก็เบื่อ ถ้าใครที่มีญาติมาหาแล้วฝากอาหาร ก็อาจจะฝากยาเสพติด กระท่อม หรือแม้แต่บุหรี่ อันนี้ก็ไม่ได้ หลายอย่างเขากังวลว่าจะไปทำให้ปอดอักเสบ ทำให้คึกเกินไปจนอาจจะไม่นอน เป็นต้น

นอกจากการควบคุมสอดส่องโดยรัฐแล้ว สังคมไทยสอดส่องกันเอง หรือควบคุมกันเองแค่ไหน

อันนี้แน่นอนอยู่แล้ว ใครๆ ก็ไม่อยากติดเชื้อ ก็ระแวงซึ่งกันและกัน แม้แต่เรากับเพื่อนยังระแวงกันเองเลย จริงไหม ถ้าเราไปจุดเสี่ยงมา เราก็จะไม่ไปเจอเพื่อน ไม่ไปเยี่ยมพ่อแม่เราด้วยซ้ำ ก็เหมือนกันกับสังคมข้างนอก โดยเฉพาะชุมชนที่มีแรงงานข้ามชาติและคนไทยอาศัยอยู่ด้วยกัน เช่น ที่อำเภอแม่สอด หรือที่จังหวัดสมุทรสาคร เขาก็จะต้องกังวลอยู่แล้วว่า แรงงานข้ามชาติได้ฉีดวัคซีนหรือยัง เขาจะนำพาโรคมาด้วยหรือเปล่า เวลาคนในชุมชนไปต่างจังหวัดเขาก็จะรู้อยู่แล้วว่าใครบ้าง เขาก็ต้องตรวจตราอยู่แล้ว 

ตอนแรกที่มีแรงงานอพยพกลับจากกรุงเทพฯ ไปแม่สอด คนที่นั่นก็กังวล เพราะตอนนั้นต่างจังหวัดยังติดเชื้อน้อยอยู่ เขาก็กังวลว่าคุณจะพาโรคมาด้วย แม้กระทั่งเป็นแรงงานข้ามชาติด้วยกัน พูดภาษาเดียวกัน ก็ยังระแวงกัน พอเกิดโควิด-19 เขาก็ต้องตรวจตราสอดส่อง ใครเข้าออกชุมชนเขาบ้าง แล้วจะทำให้ชุมชนเขาติดเชื้อหรือเปล่า อันนี้มันก็เกิดการระแวงซึ่งกันและกัน ไปจนถึงไม่ดูแลกันและกัน 

อะไรคือความไม่เท่าเทียมกันของชีวิตในทางมานุษยวิทยาบ้าง

ความไม่เท่าเทียมกันของชีวิต อันนี้ชัดเจนมาก อย่างระลอกแรก คุณจะเห็นว่าคนที่กลับเข้ามาในประเทศไทยหรือนักท่องเที่ยวก็จะได้กักตัวในสถานที่กักตัวของรัฐ แต่แรงงานข้ามชาติตอนแรกไม่ได้แบบนั้น ย้อนกลับไปถ้ายังจำได้ แรงงานไทยที่กลับมาจากเกาหลีที่ถูกเรียกว่า ‘ผีน้อย’ หรือแรงงานไทยที่กลับมาจากมาเลเซีย จะถูกให้ไปกักตัวที่ศาลาวัด หรือบนถนน แล้วก็เอามุ้งครอบไว้ ในทางกลับกัน ถ้าคุณเป็นนักเรียนหรือว่าอาจารย์ ก็จะได้รับการกักตัวที่โรงแรม มันก็เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันชัดเจน 

ประเด็นต่อมาคือเรื่องอคติ โดยเฉพาะกับแรงงานไทยที่กลับเข้ามาจะถูกเรียกว่าเป็นผู้นำเชื้อมาแพร่ในประเทศ แต่ในทางกลับกัน นักเรียนไทยหรือคนไทยที่ไปติดค้างอยู่ต่างประเทศก็มีโอกาสนำเชื้อกลับเข้ามาไม่ต่างกัน แต่กลับไม่ถูกมองในแบบนั้น อคติมันตกไปอยู่กับแรงงานด้วยซ้ำ อันนี้ขนาดคนไทยด้วยกันนะคะ พอมาระลอก 2 ยิ่งชัดเจนกว่าเดิม ก็คือการระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง คนติดเชื้อหลักๆ คือแรงงานข้ามชาติ ทีนี้อคติยิ่งผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเลย มีประโยคประเภท “นี่ไงคุณเป็นแรงงานข้ามชาติ” หรือ “นี่ไงกรุงศรีฯ จะแตกแล้ว” ในทวิตเตอร์ในช่วงนั้นเต็มไปหมด ก็อคติล้วนๆ เลยที่นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ 

โอเค ความเหลื่อมล้ำในระลอกที่ 2 มันอาจจะถูกแทนที่ด้วยระบบสาธารณสุขที่เราบอกว่าไม่ได้ทำให้ร่างกายของแรงงานพม่าเป็น bare life ขนาดนั้น เพราะถูกนับรวมเข้ามา แต่ในภาพใหญ่เหลื่อมล้ำหรือไม่ ก็ใช่แน่นอน อคติพุ่งกระฉูด แต่ในเชิงของการรักษา การดูแลรักษา ก็ถือว่ายังดี

พอมาระลอกที่ 3 ยิ่งชัดเจนขึ้นกว่าเดิม คือแคมป์คนงานถูกปิดไป 21 วัน ทั้งที่แคมป์เหล่านั้นไม่ได้เป็นพื้นที่ที่จะอาศัยอยู่ได้ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทั้งไฟฟ้า น้ำประปา หรือน้ำอุปโภคบริโภค เขาก็ยิ่งหลุดออกจากการดูแลของรัฐมากยิ่งขึ้น แรงงานต้องดูแลกันเอง รัฐไม่สามารถมอบบริการพวกนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นถังออกซิเจน น้ำดื่ม เตียงนอน ยารักษาโรค อะไรก็ตามพวกเขาจะต้องจัดหามากันเอง บางค่ายฝนตกแล้วน้ำท่วม ในบางกรณี แรงงานภาคเกษตรต้องไปนอนในเล้าไก่ เอาเล้าไก่มาเป็นโรงพยาบาลสนาม ทั้งร้อนและเตี้ย แถมยังลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สุดๆ ดังนั้นก็เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของคน ชีวิตใครกันที่ยืนยาวกว่าชีวิตคนอื่น หรือว่าชีวิตใครกันที่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ ไม่ใช่ว่าทุกชีวิตมีค่าเท่ากันหรอกหรือ 

การใช้อำนาจควบคุมตรวจตราของรัฐ โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉินแบบนี้ นับเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็นหรือไม่

ประเด็นนี้จริงๆ แล้วเราอยากให้ถกกันเยอะๆ หากถามว่ามันคือความชั่วร้ายที่จำเป็นไหม อาจจะตอบใช่ ถ้ามันเป็นสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องควบคุมโรคระบาดจริงๆ เราคิดว่าอาจจะเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็น แต่จำเป็นในระยะเวลาอันสั้นนะคะ

แต่ความชั่วร้ายที่มันไม่จำเป็นและเป็นความชั่วร้ายที่จริงจัง คือ เวลาที่รัฐประกาศสภาวะฉุกเฉินหรือใช้อำนาจที่มาจากกฎหมายในสภาวะฉุกเฉิน รัฐมักจะใช้นาน ไม่ได้ใช้แค่แป๊บเดียว ถ้าคุณสังเกตให้ดี ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะไม่ประกาศสภาวะฉุกเฉิน มีน้อยมากที่ประกาศ ต่อให้ประกาศก็จะยกเลิกไปในระยะเวลาอันสั้น แต่ประเทศที่ไม่ได้เป็นระบอบประชาธิปไตยมากนักมักจะประกาศสภาวะฉุกเฉิน เราอยู่ในสภาวะนี้มา 2 ปีกว่าแล้ว เป็นสภาวะฉุกเฉินอันเป็นนิรันดร์หรือเปล่าคะ 

เรายังต้องตั้งคำถามต่อไปว่า เรายังสมควรจะต้องอยู่ในสภาวะแบบนี้ต่อไปอีกหรือ รัฐพยายามใช้ประโยชน์อะไรกับอำนาจนี้ นอกเหนือไปจากอำนาจตรงนี้เพียวๆ ยังเห็นว่าภายใต้สภาวะฉุกเฉิน มันก็มีอำนาจที่มากับเทคโนโลยีด้วย คือควบคุม ตรวจตรา สอดส่อง คุณต้องไปวัดอุณหภูมิทุกครั้งที่ต้องเดินผ่านเครื่องใช่ไหม คุณอาจจะต้องแสดงผลตรวจ ATK หรือแม้กระทั่งแสดงหลักฐานผ่านแอพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ซึ่งเราจำได้ว่าตอนที่เรากลับมากักตัว เราจะต้องโหลดแอพพลิเคชันหมอพร้อมกับหมอชนะ แล้วก็ต้องเปิดแชร์โลเคชั่นตลอดเวลา ถามว่ามันเป็นความจำเป็นหรือเปล่า เราว่าไม่ใช่นะ เพราะว่านี่คือการละเมิดสิทธิส่วนตัว (privacy) ของประชาชน มันเป็นสิทธิส่วนตัวที่จะไปไหนก็ได้โดยที่ไม่ต้องแชร์โลเคชั่นตลอดเวลา 

การตรวจตราเหล่านี้ยังเป็นการตั้งสถานะว่า ร่างกายของคนที่เดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย คือร่างกายที่ติดเชื้อไปแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ดิฉันก็ตรวจ PCR test ก่อนขึ้นเครื่องบินมาแล้วไง ก็ไม่ได้ติดเชื้อถูกไหมคะ ดังนั้นทำไมถึงถูกปฏิบัติในฐานะที่กึ่งๆ เป็นนักโทษขนาดนี้ แล้วถ้าไม่เปิดแชร์โลเคชั่นไว้ ไม่เช็กอินที่โรงแรมทุกคืน คุณอาจจะไม่ได้ใบรับรองให้ออกจากการกักตัว เขามีสิทธิ์ที่จะไม่ให้คุณได้ ดังนั้นมันไม่ใช่ความชั่วร้ายที่จำเป็น

อำนาจตรงนี้มันไม่เคยลดลง (scale-down) เลย มันใช้มานานแล้วก็จริง แต่มันไต่ระดับ (scale-up) ขึ้นตลอดเวลา เช่น คุณต้องใส่หน้ากากอยู่ตลอดเวลา คุณต้องเว้นระยะห่าง เดินทางในประเทศก็ต้องตรวจใบฉีดวัคซีน ตรวจ PCR-Test ตรวจ ATK ทั้งที่เมื่อก่อนกังวลกันเพียงแค่เรื่องของความปลอดภัย คุณคิดว่าการใช้มาตรการเหล่านี้มันจะหายไปง่ายๆ ไหม ดังนั้นอำนาจพวกนี้มันน่าติดตาม เพราะมันมีแต่จะคอยเพิ่มมาตรการและความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ ในนามของความปลอดภัย 

จากงานศึกษา ‘ระบบการดูแล’ คืออะไร แล้วโรงพยาบาลสนามตอบโจทย์แค่ไหน

ระบบของการดูแล (Casualties of Care) เป็นงานของ Miriam Ticktin นักมานุษยวิทยาการแพทย์ จริงๆ แล้วมีคนพูดถึงเรื่องนี้เยอะ เช่น Didier Fassin ก็เป็นนักมานุษยวิทยาการแพทย์เช่นกัน ระบบการดูแลหลักๆ หมายถึง การบอกว่าใครกันที่สามารถเข้าถึงการดูแลได้ ภายใต้ระบอบของการดูแลส่วนใหญ่จะใช้กับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นผู้ลี้ภัย ระบบของการดูแลก็จะคัดกรองว่าคุณจะได้รับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก่อนหรือหลังคนอื่น ภายใต้ความคิดเรื่องนี้การดูแลจะมอบให้กับคนที่เปราะบางที่สุดก่อนเสมอ คนที่เปราะบางที่สุดคืออะไร ก็คือเด็ก ผู้ป่วย หรือผู้ที่เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศ อันนี้ก็แล้วแต่ว่ารัฐไหนจะตีความความเปราะบางนี้อย่างไร

พอมองกลับมายังโรงพยาบาลสนาม เราคิดว่าในระลอกแรก รัฐไทยยังรับมือพอไหว ระลอกที่ 2 ก็ทำได้ค่อนข้างดี แต่พอมาระลอกที่ 3 ชัดเจนเลยว่าใครจะได้เข้าถึงระบบสาธารณสุขบ้าง ใครคือคนอื่นบ้าง โดยเฉพาะในส่วนหลังนี่ชัดเจน เราจะเห็นทั้งในบ้านพักคนงานที่หลักสี่ สีลม หรือที่สาทรก็มี แรงงานพวกนี้ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้เลย นี่คือการเลือก แล้วรัฐก็เลือกคนไทยก่อน 

มีข้อวิจารณ์ว่ารัฐไทยมองคนเป็นเพียงตัวเลข เพื่อจะยับยั้งการติดเชื้อให้เป็นศูนย์ คิดเห็นอย่างไร

เราคิดว่าพอเป็นตัวเลข มันเป็นตัวเลขที่พยายามให้น้อยด้วย ตัวเลขของคนตายมันสำคัญนะคะ แต่ว่ารัฐบาลไทยพยายามเล่นกับตัวเลขที่มันไม่ใช่ตัวเลขของคนตาย หรือผู้ติดเชื้อเท่านั้น เขาพยายามจะเล่นกับตัวเลขของคนที่รักษาหาย เล่นกับคนติดเชื้อโดยที่ไม่นับกลุ่มที่ตรวจด้วย ATK ฯลฯ แล้วแต่ว่ารัฐจะเลือกเล่นกับตัวเลขแบบไหน

อย่างกราฟิกในการนำเสนอให้คนเข้าใจ ซึ่งในประเทศอื่นๆ เขาชัดเจน เขาบอกมาเลยว่ามีผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ โดยเฉพาะในยุโรป พอสายพันธุ์โอไมครอนระบาดจนติดเชื้อกันเป็นแสน เขาก็รายงานเป็นแสน แต่ของไทยมันรายงานไม่ได้ มันยังมีการเมืองของตัวเลขนั้นอยู่อีก มากกว่านั้น ระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะการตรวจคัดกรอง PCR test ทำได้ดีแค่ไหน มันก็ยังมีข้อกังขานะคะว่าคุณตรวจได้แค่ 20,000 คนใช่ไหม ถัดมาจากนั้นอาจจะมี 40,000 คน คุณก็รายงานได้แค่เท่านี้ คุณไม่สามารถรายงานได้มากกว่านี้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ยังดูดีอยู่เพราะมีผู้ติดเชื้อน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะมีมากกว่านั้น

การมองเป็นตัวเลขคือการลดลดทอนมนุษย์ ทำให้ไม่เห็นชีวิตและลมหายใจของคน 

จากการลงพื้นที่ คิดว่ารัฐไทยพลาดอะไรและควรจะอุดเรื่องไหนบ้าง

เราไม่มีคำตอบหรอกว่าจะบอกยังไงให้รัฐบาลไทยทำ เราคิดว่ารัฐบาลไทยสมควรที่จะหันมาศึกษาทางมานุษยวิทยาหรือทางสังคมศาสตร์ให้มากขึ้น รัฐบาลไทยอยากอ่านหรือเปล่า คนที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขสนใจถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ้างไหม หรือคุณมองมันผ่านแค่มุมมองทางการแพทย์เท่านั้น คือถ้าคุณสนใจและอยากเรียนรู้ไปด้วยกันก็มีตั้งหลายประเด็นที่จะถอดเป็นความรู้ออกมา เพื่อพัฒนาต่อเป็นนโยบายในการรับมือกับอนาคตหากเกิดวิกฤติขึ้นมาอีกครั้ง

แต่เท่าที่ผ่านมา องค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ถูกกดเอาไว้ตลอดเวลา แถมยังไม่ได้ถูกมองว่าสำคัญ มันก็ไม่ตอบโจทย์ มันไม่ได้ช่วยรักษาชีวิตมนุษย์ได้ โอเค มันอาจจะไม่ได้ชัดเจนเร่งด่วนเท่ากับการค้นคว้าเรื่องวัคซีน แต่ก็ทำให้คุณสามารถมองเห็นถึงความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำในนโยบายที่มันผิดพลาด และส่งผลต่อชีวิตมนุษย์อย่างมากได้ เช่น การล็อกดาวน์ที่ทำให้เศรษฐกิจพังทับถมหลายรอบ แล้วคนตัวเล็กตัวน้อยหลุดร่วงไป เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไรกับนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลแบบนี้

ถ้าในประเด็นของโรงพยาบาลสนาม เราคิดว่าจริงๆ แล้วในระบบสาธารณสุขไทยค่อนข้างดี แม้ว่าจะฉุกละหุกบ้าง แม้ว่ายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ไม่พอ มันสะท้อนให้เห็นว่าอาจจะไม่ใช่แค่โรงพยาบาลสนาม แต่การกระจายทรัพยากรมันกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือเปล่า หรือว่าทรัพยากรที่รัฐต้องซื้อเข้ามาเพื่อตอบสนองให้ทันกับสภาวะฉุกเฉิน รัฐยังทำได้ไม่ดี รวมไปถึงการกระจายทรัพยากรด้วย 

เราคิดว่าในอนาคตควรจะมีการมองเรื่องนี้ให้ชัดเจนกว่านี้ จริงๆ แล้วเราก็มีประสบการณ์จากสึนามิมาก่อน คนหรือองค์กรต่างชาติที่บริจาคเข้ามา แต่มันไปกองกันอยู่ที่ที่หนึ่ง เช่น ไปกองกันอยู่ที่พังงา ที่เขาหลัก แต่ที่อื่นๆ กลับไปไม่ถึง ประสบการณ์ตรงนี้ก็ไม่ได้ถูกเอามาใช้ แทนที่จะถูกใช้ผ่านนโยบายการจัดการภัยพิบัติที่รัฐมีอยู่แล้ว

เห็นได้ชัดเลยว่าพอบทเรียนเก่าไม่ได้ถูกใช้ ไม่ได้ถูกมองผ่านกรอบการรับมือภัยพิบัติ การกระจายของทรัพยากรต่างๆ ก็จำกัดไปด้วย ดังนั้นเรายังคาดหวังว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ทุกอย่างน่าจะดีกว่านี้ได้ โดยเฉพาะระบบการจัดการ การดึงบุคลากรมาใช้ การกระจายงบประมาณ รวมไปถึงการกระจายทรัพยากร มันควรลื่นไหลมากขึ้น ไม่ใช่ทำทุกอย่างผ่านแค่ระดับบุคคล (personal) อย่างเดียว เช่น บุคลากรทางการแพทย์ต้องโทรศัพท์หากันเอง อบต. ต้องโทรยืมของกันเอง อะไรแบบนี้ 

สนับสนุนโดย

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Photographer

รัตนพล ทิพย์มะณี
หอบ Portfolio ไปสัมภาษณ์งานที่ร้านลาบ ย้ายข้ามฟากจากวิภาวดีมาอยู่ที่อ่อนนุช เป็น video creator ที่เขียนงานได้ ทำกาแฟเป็น ว่างจากจับเมาส์จ้องหน้าจอก็จดจ่อกับครกสากที่ห้องครัว ฝีมือทำอาหารเป็นเลิศ แต่ที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติคือการใช้ลูกคอเพลงหมอลำ ร้องดีจนพี่น้องในกองบรรณาธิการยอมอุทิศไมโครโฟนให้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า