คน วัว และวัคซีน: เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ บิดาแห่งวิทยาภูมิคุ้มกัน

ในภาพยนตร์เรื่อง The Seventh Seal (1957) ของ อิงมาร์ เบิร์กแมน (Ingmar Bergman: 1918-2007) ว่าด้วยการเดินทางกลับบ้านหลังจากต้องไปเข้าร่วมสงครามครูเสดของอัศวินคนหนึ่ง ตลอดเส้นทางเขาได้พบกับผู้คนจำนวนมาก และผู้คนเหล่านั้นได้ติดสอยห้อยตามมาด้วยจำนวนหนึ่ง บ้างแยกกันระหว่างทาง บ้างตะลอนตามกันมาจนถึงบ้านของอัศวิน นอกจากมนุษย์แล้ว ‘ความตาย’ ยังเป็นสิ่งที่ตามติดอัศวินมาตลอดเส้นทาง

ความตายคือสิ่งที่ชนชั้นนักรบต้องต่อรองอยู่ด้วยตลอดเวลา ชนชั้นนักรบเป็นชนชั้นซึ่งถูกฝึกทั้งกายและใจให้พร้อมเสมอที่จะเผชิญหน้ากับความตาย การต่อรองกับความตายนี้ชัดเจนอย่างมาก ในการที่อัศวินต้องนั่งดวลหมากรุกกับความตาย ที่ในท้ายที่สุดฝ่ายอัศวินกลายเป็นผู้ปราชัย 

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าความพ่ายแพ้ของอัศวิน ไม่ได้เกิดผลร้ายแต่กับตัวเขาเพียงเท่านั้น แต่กลับพรากเอาชีวิตของคนรอบข้างตามไปด้วย ในแง่นี้ สิ่งเดิมพันที่วางอยู่บนกระดาน จึงไม่ได้มีชีวิตของเขาเพียงคนเดียวมาแต่แรก แต่ยังรวมไปถึงดวงวิญญาณอื่นๆ นอกจากเขาอีกเช่นกัน

การเดินทางของอัศวินออกจากสมรภูมิรบ แหวกหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้าง แทรกสูดอากาศอันแออัดในฝูงชน และการแลกเปลี่ยนไมตรีกับผู้คนอีกมากมาย กิจกรรมสุ่มเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้อัศวินไม่ต่างอะไรกับ ‘พาหะ’ ที่พร้อมนำโรคจากภายนอกกลับมาสู่บ้านและส่งต่อให้แก่สิ่งมีชีวิตอื่น 

สำหรับในช่วงยุคกลางนอกจาก ‘กาฬโรค’ แล้ว โรคฝีดาษหรือที่เรียกอีกชื่อว่า ‘ไข้ทรพิษ’ (Smallpox) ก็เป็นโรคระบาดที่พรากชีวิตคนไปจำนวนมาก โดยเฉพาะคนในวัยเด็ก หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคไข้ทรพิษระบาดอย่างหนัก ก็มาจากการเดินทางกลับจากตะวันออกกลางของเหล่านักรบในสงครามครูเสด 

การดวลหมากรุกระหว่างความตายกับอัศวินใน The Seventh Seal (1957)

การกวัดแกว่งดาบ และฆ่าฟันของเหล่านักรบ คือรูปแบบหนึ่งในการต่อรองกับความตาย การทำสงครามเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทหาร ที่ดำรงอยู่บนตรรกะ ‘หากไม่ฆ่าเขา เราก็ตายเอง’ สงครามยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมยุโรปเสมอมา หลังสงครามครูเสดก็มีสงคราม (ศาสนา) ตามมาอีกมากมาย เมื่อนับค่าเฉลี่ยแล้ว ตั้งแต่ปี 1500 ถึงปี 1945 ยุโรปจะมีสงครามทุกๆ 2.5 ปี ความรุนแรงจึงดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนในสังคมยุโรป จนกระทั่งเกิดการแทนที่ศาสนาโดยรัฐ ซึ่งตามกรอบคิดของ มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber: 1864-1920) รัฐจะดำรงอยู่ในฐานะองค์กรที่ผูกขาดความรุนแรงและความชอบธรรมในการใช้กำลังทางกายภาพ ในแง่นี้ ความรุนแรงจึงเป็นรากฐานและความชอบธรรมสำคัญในการดำรงอยู่ของรัฐ อันจะปรากฏชัดเจนในคำพูดของ เหมา เจ๋อตุง (Mao Zedong: 1893-1976) ที่ว่า “อำนาจทางการเมืองจะผุดออกมาจากปากกระบอกปืน” (Political power grows out of the barrel of a gun.)

กระบอกปืนที่สามารถชี้ขาดความเป็นความตายของชีวิตได้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการกำหนดชีวิตของผู้อื่น การเลือกว่าใครจะอยู่ หรือใครจะตาย จึงเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของรัฐ อย่างไรก็ตาม ตามกรอบคิดของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault: 1926-1984) นักปรัชญาศีรษะไร้เส้นผมชาวฝรั่งเศส การทำให้ตายและปล่อยให้มีชีวิต หรือ ‘to make die and let live’ นั้น เป็นเพียงกลไกที่ปรากฏในรัฐก่อนสมัยใหม่ ในขณะที่รัฐสมัยใหม่จะเป็นการ ‘ทำให้มีชีวิตและปล่อยให้ตาย’ หรือ ‘to make live and let die’ ตัวจักรสำคัญในการทำให้มีชีวิตต่อไปก็หลีกหนีไม่พ้น ‘การแพทย์’ ในแง่นี้ การควบคุมความตายจึงถูกแทนที่ด้วยการควบคุมชีวิต รากฐานของรัฐจึงไม่ได้วางอยู่บนเพียงแค่กระบอกปืนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่ยังอยู่ที่ปลายกระบอกยาอีกด้วย 

ในปี 1980 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ประกาศว่า ‘โรคไข้ทรพิษ’ ซึ่งพรากชีวิตมนุษย์จำนวนมหาศาลตลอดประวัติศาสตร์ ได้ถูกกำจัดให้หายไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว โดย ‘วัคซีน’ เป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ต่อกรกับโรคร้ายนี้ 

คำว่า vaccine มีรากศัพท์ละตินมาจากคำว่า vacca ที่แปลว่า ‘วัว’ และคำว่า vaccination (การฉีดวัคซีน) มาจากคำละตินว่า vaccinus ที่แปลว่า ‘มาจากวัว’ โดยผู้ที่สถาปนาคำนี้ขึ้นมา คือ เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner: 1749-1823) นักปักษีวิทยาและหมอชาวบ้าน ผู้มีปรัชญาการทำงานเชิงประจักษ์ตาม จอห์น ฮันเตอร์ (John Hunter: 1728-1793) ศัลยแพทย์ชื่อดังชาวสก็อตผู้เป็นอาจารย์ของเขา 

ภาพวาด เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ พร้อมวัวและหญิงรีดนมวัวอยู่ด้านหลัง (ภาพ: nationalgeographic)

ในช่วงศตวรรษที่ 18 มีข่าวลือหนาหูว่า หญิงรีดนมวัวติดโรคฝีดาษวัวซึ่งทำให้เธอมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้ทรพิษ ส่งผลให้ในปี 1796 เจนเนอร์ ได้ออกภาคสนามสังเกตการณ์ข่าวลือไปพร้อมข้อสันนิษฐานดังกล่าว

ด้วยปรัชญาการทำงานแบบเชิงประจักษ์ เจนเนอร์ เริ่มทำการทดลองด้วยการนำเชื้อฝีดาษวัวจากแขนของ ซาราห์ เนลมีส (Sarah Nelmes) หญิงรีดนมวัว ซึ่งติดมาจากวัวนมที่ชื่อว่า บลอสซัม (Blossom) ไปฉีดให้แก่ ผู้ที่ไม่เคยรับได้เชื้อไข้ทรพิษมาก่อนอย่าง เจมส์ ฟิปส์ (James Phipps) เด็กชายอายุ 8 ขวบผู้เป็นลูกของคนสวนของเขา เจนเนอร์ได้ปล่อยให้ร่างกายของฟิปส์ต่อสู้กับฝีดาษวัวอยู่เป็นระยะเวลา 10 วัน จนอาการดีขึ้นและหายป่วยในที่สุด

หลังจากนั้น 2 เดือน เจนเนอร์ได้ฉีดเชื้อไข้ทรพิษเข้าไปในร่างกายของฟิปส์ และค้นพบว่าฟิปส์ไม่มีอาการป่วยหรือติดเชื้อไข้ทรพิษแต่อย่างใด เจนเนอร์ยังได้ทำการทดลองนี้กับคนงานและเด็กอีกจำนวนมาก และได้ผลออกมาในลักษณะเดียวกัน ผู้ที่ได้รับเชื้อฝีดาษวัวไปก่อนหน้าแล้ว จะไม่มีการติดเชื้อจากไข้ทรพิษแต่อย่างใด จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ยืนยันความถูกต้องในข้อสันนิษฐานของเจนเนอร์ว่า ร่างกายของผู้ที่ได้รับเชื้อฝีดาษวัว จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้ทรพิษขึ้นมาได้

หนังของ Blossom วัวตัวแรกที่เจนเนอร์ใช้ในการพัฒนาวัคซีนต้านโรคไข้ทรพิษ

หลังจากที่เจนเนอร์พยายามเผยแพร่วิธีการฉีดวัคซีน เขากลับได้รับการต่อต้านอย่างมาก ไม่ว่าจะจากวงการแพทย์ด้วยกันเอง ที่ยังคงเน้นวิธีการรักษาแบบเดิมคือ การปลูกฝี ซึ่งเป็นการขูดผิวหนังด้วยเข็มที่มีเชื้อไข้ทรพิษติดอยู่ เพื่อทำให้เกิดการติดเชื้อในบริเวณผิวหนังที่ได้ทำการขูดดังกล่าว อันจะนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ ภูมิคุ้มกันก็จะเกิดขึ้นเฉพาะแต่บริเวณที่ได้มีการปลูกฝีเพียงเท่านั้น จะไม่สร้างภูมิคุ้มกันครอบคลุมไปถึงทั้งร่างกายและตลอดชีวิต (หมายความว่าผู้เข้ารับการปลูกฝียังคงมีโอกาสตายจากไข้ทรพิษได้อยู่) ส่งผลให้ผู้เข้ารับการปลูกฝีมักจะมีร่องรอยการปลูกฝีเป็นตำหนิตามร่างกายจำนวนมาก 

กระบวนการฉีดวัคซีนของเจนเนอร์ ในด้านซ้ายคือการนำเชื้อฝีดาษวัวจากวัว แล้วนำไปฉีดใส่คนในด้านขวา (ภาพ: rtve.es)

หรือจะเป็นการต่อต้านจากทางศาสนจักร ที่ต่อว่าการนำเชื้อจากวัวมาสู่คนของเจนเนอร์อย่างรุนแรง ว่าต้องการจะเปลี่ยนคนให้กลายเป็นวัว ปรากฏการณ์เหล่านี้ นับว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่มีขบวนการต่อต้านการฉีดวัคซีนเกิดขึ้น และยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

เจนเนอร์และลูกศิษย์ ประจันหน้ากับกลุ่มแพทย์ที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน (ภาพ: Wellcome Library, London)
การต่อต้านการฉีดวัคซีน โดยเจนเนอร์และผู้ช่วยมีเขางอกอยู่บนหัว กำลังป้อนเด็กเข้าปากปีศาจรูปร่างคล้ายวัว ทำให้เด็กตายและมีเขางอกคล้ายวัว โดยมีกลุ่มที่กำลังจะเข้ามาจัดการกับพวกเขาในด้านหลัง (ภาพ: wiki.digitalmethods.net)

การพัฒนาวัคซีนของเจนเนอร์นับเป็นก้าวสำคัญในการประกาศชัยชนะเหนือโรคไข้ทรพิษ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาการตรงแบบแขนสู่แขนจากคนติดเชื้อไปยังคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันขึ้น (การใช้เข็มต่อกันนี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะก่อโรคอื่นได้ เช่น ซิฟิลิส) และเริ่มมีการเลี้ยงไวรัสไว้บนสะโพกของวัวเพื่อนำไปสู่การผลิตวัคซีนในปริมาณมาก วัคซีนของเจนเนอร์จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อโรคฝีดาษวัว ซึ่งเป็นโรคที่ไม่เป็นภัย อันมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรคไข้ทรพิษ ที่เป็นไวรัสที่มีอันตรายถึงตาย จนภูมิคุ้มกันไม่อาจแยกความแตกต่างของทั้งสองโรคออกจากกัน โรคไข้ทรพิษเป็นไวรัสประเภท DNA ที่มีอยู่บนโลกเพียงชนิดเดียว ส่งผลให้มันมีโอกาสน้อยมากที่จะกลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธุ์ที่ต้านทานวัคซีนได้ ต่างจากไวรัสชนิด RNA ที่มีโอกาสกลายพันธุ์ได้สูงกว่า เพราะมีรหัสพันธุกรรมที่ไม่แน่นอนตายตัว ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายตรวจจับได้ยาก (ไวรัสโคโรนาเองก็เป็นไวรัสชนิด RNA)

ความสำเร็จในการคิดค้นกระบวนการฉีดวัคซีนของเจนเนอร์ยังได้รับการต่อยอดเพื่อใช้ในการรักษาโรคอื่นๆ อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคกลัวน้ำหรือที่รู้จักกันในชื่อโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคโปลิโอ และโรคหัด (Measles) เป็นต้น ส่งผลให้เจนเนอร์ได้รับการยกย่องถึงขนาดที่ว่าเขาเป็น ‘ผู้ซึ่งได้ช่วยรักษาชีวิตของคนไว้เป็นจำนวนมากที่สุดในโลก’ และยังได้รับสมญานาม ‘บิดาแห่งวิทยาภูมิคุ้มกัน’

อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ยิ่งใหญ่คนใดบนโลกที่จะไม่ถูกตั้งคำถาม โดยมีเสียงโจมตีจำนวนหนึ่งว่า บุคคลที่สมควรได้ชื่อว่าเป็นผู้คิดค้นวัคซีนเป็นคนแรกควรจะเป็น เบนจามิน เจสตี (Benjamin Jesty: 1736-1816) เกษตรกรผู้สังเกตเห็นว่าหญิงรีดนมวัวที่ได้รับเชื้อฝีดาษวัวจะไม่ติดเชื้อไข้ทรพิษ จึงได้นำเชื้อฝีดาษวัวกลับไปฉีดให้แก่ภรรยากับลูกที่บ้าน และฉีดต่อๆ ไปยังคนในละแวกนั้น หรือจะเป็นการโจมตีว่ามีความเป็นไปได้ที่เจนเนอร์และลูกศิษย์ได้ฉีดเชื้อผิดพลาด โดยได้พลาดฉีดเชื้อไข้ทรพิษเสียก่อน แทนที่จะเป็นเชื้อฝีดาษวัว และที่สำคัญที่สุดคือการที่เจนเนอร์เชื่อในความรู้เรื่องภูมิคุ้มกันของตนเองอย่างมากว่า วัคซีนของเขาจะมีผลออกฤทธิ์ไปตลอดชีวิต (life-long) ของผู้ได้รับวัคซีนในทำนองเดียวกับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ จนปฏิเสธหลักฐานที่ขัดแย้งกับความเชื่อในความรู้ของเขา (เป็นที่รู้กันในปัจจุบันว่า เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งวัคซีนจำนวนมากจำเป็นจะต้องได้รับการฉีดกระตุ้นซ้ำ) 

แน่นอนว่าการคิดค้นและเผยแพร่วัคซีนของเจนเนอร์เป็นหมุดหมายสำคัญอย่างมิอาจปฏิเสธได้ แต่ข้อกังขาเหล่านี้ย่อมเป็นตัวยับยั้งมิให้คำยกยอปอปั้นเจนเนอร์ จนจำแลงกลายเป็นเทวดาที่แตะต้องไม่ได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดความยิ่งใหญ่ของผู้เป็นบิดา หรือความเป็นพ่อแห่งวิทยาภูมิคุ้มกันของเจนเนอร์ ก็จะมีไม่ได้หากเขาขาดหญิงรีดนมวัวอย่าง เนลมีส และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กชายอายุ 8 ขวบผู้ต้องวางชีวิตเป็นเดิมพันกับการทดลองที่มีข้อมูลสนับสนุนสมมุติฐานเพียงเล็กน้อยของเจนเนอร์อย่าง ฟิปส์ ตลอดจนถึงวัวนมนามว่า บลอสซัม

เจนเนอร์ฉีดวัคซีนเป็นครั้งแรกให้แก่ เจมส์ ฟิปส์ เด็กชายอายุ 8 ขวบ

อ้างอิง:

  • ครอว์ฟอร์ด, โดโรธี เอช. 2563. ไวรัส ฉบับกระชับ. แปลโดย นำชัย ชีววิวรรธน์. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์. หนังสือแปลเล่มนี้มีคำอธิบายเกี่ยวกับไวรัสไว้อย่างละเอียด อีกทั้ง คำพูดในบทสุดท้ายของครอว์ฟอร์ด ความว่า “เราต้องมั่นใจว่าความกระตือรือร้นของเราจะไม่มีมากเกินไปกว่าความสามารถของเราที่จะพัฒนาก้าวต่อไปอย่างปลอดภัย ความก้าวหน้าด้านการรักษาบำบัดโรคจะต้องอาศัยข้อมูลจากงานวิจัยพื้นฐาน ที่จะจุดไฟแห่งองค์ความรู้ทำให้เราสามารถเข้าใจกลไกและวิถีแห่งโรคได้” ยังอาจนำมาโต้ตอบกับการทำงานเชิงประจักษ์แบบ “Don’t think; try.” ของเจนเนอร์ได้อีกด้วย 
  • Cary P.Gross, Kent A.Sepkowitz. 1998. “The Myth of the Medical Breakthrough: Smallpox, Vaccination, and Jenner Reconsidered.” International Journal of Infectious Diseases 3 (1): 54-60.
  • J L Turk, Elizabeth Allen. 1990. “The influence of John Hunter’s inoculation practice on Edward Jenner’s discovery of vaccination against smallpox.” Journal of the Royal Society of Medicine 83: 266-267.
  • การบรรยายของ แฟรงค์ สโนว์เดน (Frank Snowden) ใน Open Yale Courses วิชา HIST 234: Epidemics in Western Society Since 1600. Lecture 7 – Smallpox (II): Jenner, Vaccination, and Eradication ในการบรรยายครั้งนี้มีความน่าสนใจ เพราะ สโนว์เดนจบลงด้วยคำถามที่ว่า ในการฉีดวัคซีนนั้น เป็นทางรอดทางเดียวในการต่อสู้กับโรคทุกโรค หรือแท้จริงแล้วมันเป็นแค่ทางเลือกหนึ่ง และเป็นทางเลือกที่มีความเฉพาะตัวตามแต่ละกรณีเพียงเท่านั้น 
  • Meet the Man Credited with Saving More Lives than Any Other
  • How did Edward Jenner test his Smallpox Vaccine?
  • How We Conquered the Deadly Smallpox Virus – Simona Zompi
  • Holy Cow and The Story of Origin of Vaccine That Ended Smallpox ในบทความนี้ยังมีการวิเคราะห์สาธารณสุขในอินเดียอีกด้วย

สิ่งน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า