‘ปิดเมืองต้องไม่ปิดตาย’ ข้อเท็จจริงจากงานวิจัย คนจนเมืองจะอดตายก่อนติดเชื้อ COVID-19

13 เมษายน 2563 นักวิจัย 7 คน จากหลายมหาวิทยาลัย ร่วมกันเปิด Facebook Live แถลงการสำรวจ ‘ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง’ และข้อเสนอแนะทางนโยบาย โดยการศึกษานี้แสดงผลการสำรวจอย่างเร่งด่วนที่คนจนเมืองได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม 

การสำรวจนี้ดำเนินการโดยคณะนักวิจัยใน ‘โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยการสำรวจผลกระทบในหลากหลายพื้นที่ทุกภูมิภาค ซึ่งทีมวิจัยประกอบไปด้วย

  1. ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  3. รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  5. รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ
  6. ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  7. ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมื่อคนจนต้องอยู่บ้าน นักวิจัยจึงต้องทำงาน

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เริ่มการแถลงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า การสำรวจนี้สืบเนื่องจากนักวิจัยทั้ง 7 คนเห็นร่วมกันว่าสถานการณ์โควิดจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน ทำให้เกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อเสนอความคิดเห็นให้สาธารณะทราบว่า ความเข้มงวดของรัฐบาลจากการออกมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของโรคกระทบไปในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สถานบริการ ห้างสรรพสินค้า รวมถึงการรณรงค์เรียกร้องให้ประชาชนทำงานที่บ้าน ตามคำขวัญว่า ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ นั้นได้ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนมากมาย 

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

นักวิจัยจาก 6 มหาวิทยาลัย จึงได้จัดทำผลสำรวจผลกระทบต่อคนจนเมืองอย่างเร่งด่วนขึ้นมาเพื่อต้องการทราบสถานการณ์และผลกระทบของคนจนเมืองในสภาวะวิกฤติโควิด-19 การเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐ ตลอดจนเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เราได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสลัมแออัด 4 ภาค ชุมชนแออัดในพื้นที่คลองเตย และพื้นที่อื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ รวม 18 จังหวัด ใช้เวลาในการสำรวจ 4 วัน คือวันที่ 9-12 เมษายน 2563 โดยสามารถเก็บแบบสำรวจได้รวม 507 ชุด เกินจากที่ควรจะเก็บคือ 400 ชุด

“พวกเราทั้งหมดได้ทำวิจัยขึ้นมาเพราะพี่น้องคนจนเมืองได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การทำวิจัยระยะสั้นนี้จึงเพื่อให้รัฐบาลและสังคมเห็นร่วมกันว่าเราควรจะทำอะไรกันต่อไป”

บุญเลิศ วิเศษปรีชา นำเสนอระเบียบวิธีวิจัยและข้อค้นพบสำคัญที่ได้จากการสำรวจ โดยแบ่งเป็นข้อสรุปที่เป็นสาระสำคัญใน 3 ประเด็น คือ 1.สภาพความเป็นอยู่และการดูแลตนเองของคนจนเมืองในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 2.ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ 3.การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ

บุญเลิศกล่าวว่า โครงการนี้มีกระบวนการเก็บข้อมูล ด้วยการกระจายแบบสอบถามไปยังชุมชนแออัดในเมือง ซึ่งมีผู้ตอบคำถามจำนวน 507 ชุด แบ่งผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศหญิง 58.78 เปอร์เซ็นต์ เพศชาย  38.86 เปอร์เซ็นต์ ไม่ระบุเพศและเพศทางเลือก 2.37 เปอร์เซ็นต์ 

อายุเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามคือ 50 ปี สำหรับการออกแบบการวิจัยกำหนดให้สัดส่วนประชากรตามจังหวัดสัมพันธ์กับจำนวนประชากร ผู้ตอบแบบสอบถามกระจายอยู่ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ หากแจกแจงที่มาตามจังหวัดแบ่งได้ดังนี้

  • กรุงเทพฯ 44.77 เปอร์เซ็นต์
  • สมุทรปราการ 14.40 เปอร์เซ็นต์
  • เชียงใหม่ 10.65 เปอร์เซ็นต์
  • ชลบุรี 8.09 เปอร์เซ็นต์
  • สงขลา 6.90 เปอร์เซ็นต์
  • ขอนแก่น 5.72 เปอร์เซ็นต์
  • ปทุมธานี 5.33 เปอร์เซ็นต์

สำหรับอาชีพของผู้ตอบแบบสอบถาม นักวิจัยออกแบบจาก 4 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มใหญ่ที่สุดของผู้ตอบแบบสำรวจคือ รับจ้างรายเดือนแต่ไม่มีประกันสังคม 29 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นอันดับสองคือกลุ่มอาชีพรับจ้างรายวัน 24 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่สามคือ แม่ค้า หาบเร่ รถเข็นแผงลอย และกลุ่มที่สี่ คือคนทำอาชีพอิสระ เช่น ช่างต่างๆ ที่มีคนเรียกไปใช้บริการ 23 เปอร์เซ็นต์

ใครบอกคนจนไม่ดูแลสุขภาพ

บุญเลิศ วิเศษปรีชา รายงานผลจากการศึกษาโดยแจกแจงเป็นข้อๆ โดยบางข้อเท็จจริงที่ค้นพบ อาจเขย่าความเชื่อเดิมๆ ที่เรามองไปยังคนจนเมือง

1. สภาพความเป็นอยู่และการดูแลตนเองของคนจนเมืองในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19

“คำถามแรกที่เราถามคือ คนจนเมืองมีหน้ากากอนามัยใส่หรือไม่ จากการสำรวจแบ่งเป็น 3 ประเด็นนี้  

1.1 คนจนเมืองเกือบทั้งหมดของผู้ตอบแบบสอบถาม (89.90 เปอร์เซ็นต์) มีการดูแลตนเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน โดยแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน และมีราคาแพงด้วยการหันมาใช้หน้ากากผ้าที่มีราคาถูกกว่า ขณะที่บางครัวเรือนมีการปรับตัวมาเย็บหน้ากากอนามัยขายด้วย 

“ข้อเท็จจริงนี้ หักล้างความเข้าใจที่ว่า คนจนเป็นผู้ละเลยไม่ดูแลตนเองและอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ความเข้าใจที่ว่านี้เป็นความเข้าใจที่ผิด

และข้อค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเข้าใจว่าคนจนเป็นกลุ่มไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกนอกบ้าน ไม่ดูแลสุขภาพ ไม่ดูแลตัวเอง จนเป็นกลุ่มเสี่ยงในการแพร่เชื้อ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง  

1.2 คนจนเมืองเกือบกึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (44.27 เปอร์เซ็นต์) พกเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ส่วนอีก 29.45 เปอร์เซ็นต์ พกเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือเป็นบางครั้งที่ออกจากบ้าน และ 26.28 เปอร์เซ็นต์ ไม่พกเจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์เมื่อออกจากบ้าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเจลหรือแอลกอฮอล์มีราคาแพงกว่าหน้ากากอนามัยจึงมีผู้ใช้น้อยกว่า

1.3 สภาพที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองไม่สามารถที่จะจัดสรรพื้นที่หากมีสมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและต้องกักตนเอง โดย 43.79 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่าไม่สามารถหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้พื้นที่อยู่อาศัยเป็นที่กักสมาชิกในครอบครัวโดยแยกจากคนอื่น กลุ่มถัดมา 26.43 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่า สภาพที่อยู่อาศัยไม่พร้อม แต่สามารถดัดแปลงได้ มีเพียง 29.78 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ที่ตอบว่าที่อยู่อาศัยของตนมีความเหมาะสมหากจะต้องใช้กักสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวแยกจากสมาชิกคนอื่นๆ 

“ข้อเท็จจริงประการนี้สะท้อนว่า หากคนจนเมืองคนใดเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 รัฐจำเป็นต้องให้การดูแลให้การกักตนเองระหว่างดูอาการนั้นมีความเป็นไปได้จริงมากน้อยเพียงใด มิเช่นนั้น เขาอาจจะนำเชื้อไปเผยแพร่ให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวได้

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
2. ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 

“ข้อมูลจากการสำรวจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐที่จำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างเข้มงวด โดยไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้คนจนเมืองต่างประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจอย่างมาก

2.1 ผลการศึกษาผลกระทบด้านการทำงานว่ายังสามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้มากน้อยเพียงใด โดยพบว่าไม่สามารถประกอบอาชีพและหารายได้ตามปกติ ซึ่งแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบในระดับใกล้เคียงกัน ในลักษณะแตกต่างกันดังนี้ 

  • นายจ้างให้หยุดงานโดยสิ้นเชิง 18.87 เปอร์เซ็นต์
  • นายจ้างให้ลดเวลาทำงานและรายได้ลดลง 18.00 เปอร์เซ็นต์
  • ผู้ประกอบอาชีพค้าขายหาบเร่ แผงลอย ไม่สามารถค้าขายได้ เพราะพื้นที่ที่ค้าขายถูกจำกัด 18.22 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่บางคนเคยขายในพื้นที่สวนสาธารณะ หรือคนจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ถูกห้ามเสียทีเดียว แต่เมื่อมีผู้สัญจรลดลงลูกค้าก็ลดตาม บางคนบวกกำไรเหลือแค่ 100 บาทต่อวัน

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งแต่เดิมจะมีผู้ใช้บริการก็ได้รับผลกระทบ ตัวอย่างเช่น คนในชุมชนแออัดย่านคลองเตยที่เป็นช่างปูพื้นปาร์เก้ตามคอนโด พอเกิดโรคระบาดก็ปฏิเสธ ไม่รับช่าง ทำนองเดียวกับกรณีคนขับรถตู้ รถรับจ้างที่คลองเตย เดิมจะมีคนรับจ้างขับรถสองแถวส่งคนงานไปทำงาน เมื่อไม่มีการจ้างงานก็ทำงานนี้ไม่ได้ ขณะที่คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถรับจ้าง รถตู้ ฯลฯ ก็ไม่มีคนจ้างเช่นกัน ได้รับผลกระทบมีผู้ว่าจ้างน้อยลงหรือไม่มีเลยที่สัดส่วน 18.44 เปอร์เซ็นต์

2.2 เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังปกติจึงทำให้รายได้ลดลง โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 60.24 เปอร์เซ็นต์ พบว่ารายได้ลดลงเกือบทั้งหมด ส่วนอีก 31.21 เปอร์เซ็นต์ รายได้ลดลงราวครึ่งหนึ่ง หรือกล่าวได้ว่าคนจนเมืองมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากวิกฤติโควิด-19 มีเพียงผู้ที่ทำงานมีเงินเดือนประจำไม่ถึงร้อยละ 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่ได้รับผลกระทบเลย

“ถ้าหากนำสองกลุ่มมารวมกัน จะมีคนประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ที่มีรายได้ลดลงถึงครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย และจะมีแค่คนที่ประกอบอาชีพพนักงานประจำที่มีเงินรายเดือนซึ่งยังไม่ถูกตัดเงินเดือน”

หายใจแบบวันต่อวัน

2.3 หากคำนวณเป็นรายได้ที่ลดลงของผู้ตอบแบบสำรวจ พบว่าคนจนเมืองมีรายได้ลดลงเฉลี่ย 70.84 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมรายได้เฉลี่ยของคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามก่อนวิกฤติโควิดอยู่ที่ 13,397 บาทต่อเดือน ดังนั้นในช่วงระหว่างวิกฤติคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามรายได้ลดลง 70.84 เปอร์เซ็นต์ หรือ 9,490 บาท ต่อเดือน คงเหลือรายได้เพียง 3,906 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงมาก

2.4 จากรายได้ที่ลดลงราว 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนจนเมืองต่างประสบความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้ ไม่มีเงินชำระหนี้สิน ทั้งหนี้สินนอกระบบ หนี้รถจักรยานยนต์ หนี้รถปิ๊กอัพถึง 54.41 เปอร์เซ็นต์ และมีถึง 29.83 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่มีรายได้ถึงขนาดประสบปัญหาการกินอยู่ในชีวิตประจำวัน คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งดำรงชีพอยู่ได้จากการช่วยเหลือจากภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปที่ทำอาหารแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อน จำนวนไม่น้อยต้องกู้หนี้ยืมสิน (33.82 เปอร์เซ็นต์) บางส่วน (13.24 เปอร์เซ็นต์) ต้องนำข้าวของไปจำนำ 

“จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์พบว่าบางบ้านไม่มีทีวีจะดูแล้ว เพราะเอาไปจำนำ นอกจากนี้ยังมีผู้ตอบแบบสอบถาม 26.05 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเจ้าของบ้านหรือเจ้าของห้องขับไล่ ให้กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

“เราก็สงสัยว่า เขาไม่มีเงินเลยแล้วอยู่กันอย่างไร ก็จะเห็นว่ามีภาคประชาชน บริษัทห้างร้าน ทำอาหารไปแจกจ่าย พอให้คนจนอยู่ได้แบบวันต่อวัน”

2.5 ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการปรับตัวมาทำงานที่บ้านหรือ work from home ตามคำขวัญรณรงค์ที่ว่า ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ นั้น แท้จริงแล้วคนจนเมืองอยู่ได้หรือไม่ คนจนเมือง 79 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่า อาชีพที่ตัวเองทำนั้นไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นการตอกย้ำว่า คนจนเมืองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการของรัฐที่จำกัดการออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะคนจนเมืองต่างจากชนชั้นกลางหรือผู้ประกอบอาชีพอื่นที่สามารถปรับตัวจากการทำงานในสำนักงานโดยใช้เครื่องมือสารสนเทศทำงานที่บ้านได้

“ผมเห็นว่ามีคนถึง 3 ใน 4 ไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ การโฆษณาให้ work from home คุณต้องเข้าใจว่าอาชีพของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนชั้นกลางที่ปรับตัวใช้คอมพิวเตอร์ทำงานที่ไหนก็ได้ กับคนจนที่ทำงานภาคบริการอยู่ที่บ้านไม่มีรายได้”

3. การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ 

“คำถามต่อมาคือ แล้วคนจนที่เราสำรวจสามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาลได้หรือไม่ เช่น มาตรการคนไทยไม่ทิ้งกัน เป็นต้น ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนจนเมืองจำนวนมากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ 

คนจนไม่ใช่นักฉวยโอกาส

3.1 คนจนเมืองที่ตอบแบบสำรวจราวครึ่งหนึ่ง (66.67 เปอร์เซ็นต์) ที่พยายามจะลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกันของรัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือคนละ 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน โดยพบว่าลงทะเบียนสำเร็จ 51.87 เปอร์เซ็นต์ และลงทะเบียนไม่สำเร็จ 14.60 เปอร์เซ็นต์

“เรามีคำถามจากการสำรวจโครงการก่อนหน้านี้ว่า เนื่องจากใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนเกินไป เช่น ต้องลงทะเบียนตอนกลางคืน ช่วงนี้จะเห็นว่าคนที่คุ้นเคยกับการลงทะเบียนก็ต้องดิ้นรนหาทางลงทะเบียนให้ได้ เพราะช่วงนี้วิกฤติจริงๆ เงิน 5,000 บาท มันจำเป็นจริงๆ มีคนจำนวนมากให้ดูว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จทั้งๆ ที่กรอกตัวเลขฐานข้อมูลถูกต้องแล้ว

และมีคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถาม 28.99 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ลงทะเบียน เพราะทราบว่าตนเองขาดคุณสมบัติ เช่น ผู้ที่ทำงานประจำและมีสิทธิจากกองทุนประกันสังคม รวมทั้งผู้ที่ว่างงานอยู่ก่อนแล้ว 

“กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนจนเมืองไม่ใช่เป็นคนฉวยโอกาส เพราะเกรงว่า หากไม่มีคุณสมบัติแล้วได้รับเงินจะมีความผิดในภายหลัง นอกจากนี้ ยังมีคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามอีก 4.54 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ทราบวิธีการในการลงทะเบียนจึงไม่ได้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ  

“จากการสำรวจพบว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ทำงานประจำ เขาจะรู้เลยว่าเขามีประกันสังคม เข้ามาตรา 33 หรือบางคนทำงานเย็บผ้าอยู่บ้านแล้วบอกว่าเขาไม่ได้รับผลกระทบแบบคนอื่น ฉะนั้นคนจึงไม่ได้ลงทะเบียน ผมอยากจะชี้ว่าคนจนเมืองไม่ใช่คนที่ฉวยโอกาส ไม่ใช่คนที่คิดว่าลงไปก่อนเผื่อฟลุคหวังได้ ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนหนึ่ง เกรงกับข้อกฎหมายว่าหากลงทะเบียนไปแล้วไม่มีคุณสมบัติ จะมีความผิด

“มีคนตกงานคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาเป็นคนต่างจังหวัดไม่รู้ว่าจะไปลงทะเบียนที่ไหน กลัวว่าจะหลงทาง สะท้อนให้เห็นว่า เขาไม่เข้าใจว่าลงทะเบียนออนไลน์คืออะไร

“มาตรการของรัฐออกมาไม่ทันการณ์กับความเดือดร้อนของผู้คน ตัวอย่างเช่น มีป้า 2 คน เช่าห้องเล็กๆ อยู่ในชุมชนแห่งหนึ่งย่านหัวลำโพง ประกอบอาชีพรถเข็นขายน้ำบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่นับจากวันที่ 1 เมษายน ที่มีการหยุดวิ่งรถไฟสายยาวไป หัวลำโพงก็ปิด ป้าก็ไม่มีรายได้ แล้วตนเองเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแล ป้าอีกคนหนึ่งไม่เพียงแต่ไม่มีลูกหลานดูแล แต่ยังต้องดูแลลูกสาวที่พิการ”

3.2 มาตรการบรรเทาหนี้สินที่คนจนเมืองมีกับสถาบันการเงิน เช่น หนี้รถจักรยานยนต์ พบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 44.40 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว 

อย่างไรก็ดีมีคนจนถึง 30.11 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ เพราะหนี้สินที่มีอยู่เป็นหนี้นอกระบบ ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนว่า มาตรการบรรเทาหนี้สินให้กับประชาชนที่ดำเนินมาและที่ภาครัฐกำลังจะดำเนินการในอนาคต ต้องคำนึงถึงคนจนที่ไม่มีหลักประกัน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ การจัดสรรเงินทุนให้องค์กรชุมชนเป็นผู้ดำเนินการจะทำให้คนจนเมืองเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายกว่า

“คำถามคือจะช่วยเหลือคนจนที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ในระบบได้อย่างไร วิธีการที่ผมคิดว่าขบวนการหรือเครือข่ายคนจนเมืองทำกันมานาน หรือคนชนบทก็ทำกันคือ ให้ปล่อยกู้หมุนเวียนภายในชุมชน แต่วิธีการดังกล่าวแทบจะไม่ถูกพูดถึงในรัฐบาลชุดนี้ เราจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลอัดเงินไปสู่รากหญ้า ไปที่กองทุนชุมชน แทนที่จะให้ผ่านช่องทางสถาบันการเงินอย่างเดียว วิธีการที่ผมคิดว่าขบวนการหรือเครือข่ายคนจนเมืองทำกันมานาน หรือชนบทให้ปล่อยกู้หมุนเวียนในชุมชน หายไปอย่างมากในรัฐบาลที่ผ่านมา อาจจะต้องคิดถึงช่องทางอื่นๆ ในการอัดเงินไปสู่รากหญ้า”

รัฐผิดพลาด และ AI ที่คลาดเคลื่อน

สมชาย ปรีชาศิลปกุล นำเสนอข้อเสนอแนะที่เรียกว่า “เป็นข้อเสนอแนะในระยะเฉพาะหน้า” 5 เรื่อง โดย 2 ข้อแรกเป็นข้อเสนอแนะต่อนโยบายของรัฐ และ 3 ข้อหลังจะเป็นข้อเสนอแนะต่อส่วนอื่นๆ

สมชายกล่าวว่า คนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด หากอยู่ในวัยทำงานแล้ว คนกลุ่มนี้ควรได้รับการช่วยเหลือทุกคน ดังเช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ต่างก็ดำเนินการในแนวทางนี้ และรัฐต้องตระหนักว่า ภาครัฐไม่มีข้อมูลของคนกลุ่มนี้อย่างครบถ้วนและทันสมัย จึงไม่ควรยึดฐานข้อมูลของรัฐเป็นเกณฑ์ ในการตัดสิทธิประชาชน หากแต่รัฐควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างฐานข้อมูลและให้การช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด 

“หลายประเทศก็ใช้แนวนโยบายแบบนี้ คือไม่ได้ตั้งเกณฑ์แล้วคัดคน แต่กระจายทรัพยากรหรือแจกเงินลงไปที่ประชาชนโดยตรง แต่การใช้ระบบฐานข้อมูลของรัฐบาลไทย มันไม่สู้ที่จะชัดเจน มีตัวอย่างจำนวนไม่น้อยที่เราได้รับรู้ว่าการคัดคนของรัฐมีปัญหา

แน่นอนว่าการจ่ายเงินด้วยหลักคิดใหม่นี้ ผู้ประกอบอาชีพอิสระบางรายที่ยังมีรายได้ตามปกติจะหลุดลอดเข้ามาเป็นผู้รับประโยชน์บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว คนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้าและรวดเร็ว 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 ชี้ว่า ประเทศไทยมีแรงงานรวม 37.5 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งคือ 20.5 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขผู้ลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ทีมวิจัยเห็นว่าหากรัฐให้การช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คือ 15,000 บาทต่อคน ก็จะใช้เงินราว 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินเพียงครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ตั้งไว้ 600,000 ล้านบาท ที่สำคัญจะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถ้วนหน้าและทันท่วงที 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ในทางตรงกันข้ามวิธีการที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ สะท้อนหลักคิดที่ผิดพลาด คือมุ่งคัดกรองเฉพาะคนผ่านตะแกรงร่อนมารับความช่วยเหลือโดยไม่ได้ตระหนักว่ามาตรการที่เข้มงวดของรัฐ ทำให้ผู้ประกอบอาชีพนอกระบบต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า อีกทั้งวิธีการดังกล่าวยังล่าช้าและเกิดข้อผิดพลาดในหลายกรณี เพราะเชื่อมั่นในระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มากเกินไป โดยไม่ได้ตระหนักว่าระบบ AI หากไม่มีฐานข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ดังกรณีที่ชัดเจนที่ คุณสมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง แต่เข้าเรียนโรงเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม กลับถูกระบบปัญญาประดิษฐ์เข้าใจว่า คุณสมบัติเป็นนักเรียน/นักศึกษา และตัดสิทธิคุณสมบัติ

“ใครที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการประจำของรัฐ พนักงานของรัฐ ลูกจ้างบริษัทรายเดือน ชัดเจนว่าไม่มีรายได้ลดลง ถ้าเรายังไม่มีฐานข้อมูลที่กว้างขวางและละเอียดเพียงพอ AI ก็จะคัดกรองออกไป นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ กรณี”

ปิดเมืองต้องไม่ปิดตาย

2. จากบทเรียนการจ่ายเงินช่วยเหลือในโครงการไม่ทิ้งกันที่ผ่านมา พบว่าปัญหาสำคัญคือการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังนั้นการตั้งงบประมาณอีก 400,000 ล้านบาท สำหรับฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ โดยการจัดสรรผ่านหน่วยงานต่างๆ นั้น รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณส่วนนี้จำนวนหนึ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน คณะกรรมการกองทุนชุมชนและหมู่บ้าน สำหรับฟื้นฟูชีวิตของคนระดับรากหญ้า ที่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้นประกอบอาชีพใหม่และเข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบ การจัดสรรงบประมาณผ่านเครือข่ายภาคประชาชนจะทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้เดือดร้อนจริง และเกิดการตรวจสอบกันในระดับพื้นที่

3. ข้อเสนอต่อกองทุนประกันสังคม มีผู้ประกอบอาชีพประจำและเป็นผู้ประกันตนจำนวนหนึ่งที่มีสิทธิจากกองทุนประกันสังคม เนื่องจากนายจ้างให้หยุดงานหรือปิดกิจการ แต่การดำเนินงานของกองทุนประกันสังคมที่จะเบิกจ่ายกลับมีความล่าช้ากว่าของกระทรวงการคลังเสียอีก กระทรวงแรงงานควรเร่งรัดให้กองทุนประกันสังคมปฏิรูปการทำงานให้จ่ายเงินตามสิทธิของผู้ประกันตนโดยเร็ว ทุกวันนี้ผู้ประกันตนหลายคนสะท้อนความคิดเห็นทำนองเดียวกันว่า

“ประกันสังคมหักเงินเราตรงเวลาทุกเดือน แต่พอเราเดือดร้อนจะได้รับเงินประกันตามสิทธิกลับต้องรอเป็นเดือน”

4. รัฐควรผ่อนปรนเปิดพื้นที่ค้าขายและการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างมีการจัดการ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้คลี่คลายลง และการดำเนินชีวิตของประชาชนก็ต่างตื่นตัวในการป้องกันตนเอง ดังนั้นการเปิดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ค้าขายอย่างมีการจัดการ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย มีเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือ อย่างทั่วถึง การจัดพื้นที่ไม่ให้ผู้คนอยู่ใกล้ชิดกัน การต่อคิวอย่างมีระยะห่าง ฯลฯ จะช่วยฟื้นชีวิตทางเศรษฐกิจให้คนจนเมือง และทำให้ผู้คนในเมืองมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และมีความปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน

“การปิดพื้นที่แบบล็อคดาวน์ ประชาชนไม่สามารถอยู่ได้ภายใต้มาตรการเหล่านี้ ปิดเมืองต้องไม่ปิดตาย ประชาชนต้องสามารถหายใจได้ หารายได้ได้ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

5. ในช่วงภาวะวิกฤติ รัฐควรเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐให้แก่ผู้สูงอายุคนละ 600-800 บาท ต่อเดือนตามช่วงอายุ เป็น 2,000 บาท เพราะครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุต่างก็ประสบภาวะฝืดเคืองในช่วงภาวะวิกฤติ การเพิ่มเงินในส่วนนี้ขึ้นไประดับหนึ่งอย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระของครัวเรือนต่างๆ ได้

“ต้องเสริมให้คนเปราะบางสามารถผ่านวิกฤติไปได้ ทั้งหมดเป็นข้อเสนอต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

AI ย่อมาจาก Armchair Idiot

ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวเสริมว่า “ประเด็นเรื่องรายได้ของคนจนเมือง ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 13,400 บาท ต่อเดือน และลดลงไปเหลือเกือบ 4,000 บาท หรือกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างเช่นมีอาชีพรับดูแลคนแก่ รายได้ประมาณวันละ 300 บาท รายได้ของคนกลุ่มนี้เดือนหนึ่งจะประมาณ 4-5 พัน ตอนนี้ก็แทบจะไม่เหลือรายได้ เพราะมีคนมาอยู่บ้านแล้ว ไม่ต้องมาเฝ้า

ประภาส ปิ่นตบแต่ง

“หรืออย่างอาชีพรถเข็น รายได้ที่มี 100-200 บาท จะเห็นว่าทำมาหากินยากลำบาก ตลาดก็ปิด กรณีนี้โยงไปสู่มาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาล เห็นได้จาก ผลการพิจารณาคุณสมบัติของ AI ในคืนที่ผ่านมาที่ผมอยากจะเรียกว่า ‘Armchair Idiot’

“ประเด็นคือมีคนที่ถูกดีดออกมาจากระบบ ทำนองว่าคุณยังพอทำมาหากินได้ แต่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแถวบ้านผมซึ่งต้องไปขายของตามตลาดต่างๆ และสถานที่ราชการก็ปิดหมด การประมวลผลออกมาว่า ‘ทำมาหากินได้’ ชาวบ้านก็ฝากถามมาว่า ‘ให้ทำมาหากินที่ไหน’ กรณีนี้เห็นว่าคนยิ่งรายได้ต่ำยิ่งกลับไม่ได้เงินชดเชย ไม่เหมือนลูกจ้างในศูนย์การค้า มัคคุเทศก์ซึ่งชัดมากกว่า อันนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาอย่างมาก

“ในประเด็นที่อาจารย์สมชายได้พูดถึงเงินที่ใช้ในมาตรการเยียวยา ส่วนแรกคือเงิน 5,000 บาท อีกส่วนที่จะไปสู่เกษตรกร ที่ผ่านมายังมีปัญหา เช่น การลงทะเบียน บางคนก็ไม่ได้ลงทะเบียนเพราะทำนาไว้เพื่อกิน บางคนเป็นแรงงานนอกระบบที่หลุดคุณสมบัติแน่ๆ ขณะที่งบฟื้นฟูซึ่งผ่านหน่วยงานราชการต่างๆ ในแง่การกระจายทรัพยากรจะทำให้การเข้าถึงของคนในชุมชนจะเป็นปัญหาอย่างมาก  

“แม้กระทั่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งมานาน ให้อยู่จนถึงเกษียณ อาจจะมีปัญหาเรื่องอำนาจการต่อรองของคนในชุมชน ผ่านกลุ่มองค์กรต่างๆ ไม่สามารถมองคนแบบเป็นลูกเต๋า แบ่งกลุ่มก้อนได้ แต่ต้องมองในฐานะสังคมวิทยาการเมือง งบประมาณจะไม่สามารถไปถึงปัจเจก แต่จะไปตามกลไก ถ้ากลไกต่อรองไม่ได้ยิ่งมีปัญหามาก กลไกจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ที่สามารถกุมทรัพยากรได้ ตรงนี้จะเป็นปัญหาแน่ๆ เรื่องนี้คิดว่าพูดล่วงหน้าไว้ก่อนได้” 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า