Street Food อยู่อย่างไรในวันที่ผู้คน Work from Home

ข้อเขียนชิ้นนี้ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ ได้ใช้ข้อมูลจากการสนทนากับผู้ค้าข้างทางรายหนึ่งย่านสีลม เพื่อสำรวจผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 เพื่อสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อเขียนที่พยายามทำให้เห็นชีวิตของแรงงานนอกระบบ โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้สถานการณ์การระบาด ในต้นฉบับเดิม ผู้เขียนเรียกแหล่งข่าวรายนี้ว่า ‘ผู้ค้า’ กองบรรณาธิการ WAY จึงเปลี่ยนเป็น ‘พี่ซอ’ นามสมมุติซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากตัวละครที่ชื่อ ‘โชอีซอ’ จากซีรีส์เรื่อง Itaewon Class

ภูมิหลังชีวิตของ ‘พี่ซอ’ เคยเป็นแรงงานรับจ้างที่แผงหนังสือมา 10 ปีเศษ เป็นลูกจ้างทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงเต็มกำลัง เพราะมีแม่เป็นพลังเติมเต็มชีวิต จนสามารถเก็บหอมรอมริบซื้อบ้านได้ในจังหวัดนนทบุรี เวลานั้นพี่ซอยังไม่แต่งงาน อดทนทำงานที่แสนลำบาก ไม่มีวันหยุด ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท ซึ่งเป็นช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศ พี่ซอบอกว่า ค่าจ้างจำนวนนี้ในเวลานั้นถือว่าเยอะมาก เพราะราคาอาหารจานละ 20-30 บาท ต่อมื้อ แผงหนังสือที่พี่ซอเคยขายได้เลิกกิจการไปนานแล้ว บัดนี้อาคารนั้นอยู่ระหว่างการรื้อถอน

พี่ซอตั้งใจทำงานถวายชีวิตให้นายจ้างที่เป็นเจ้าของแผง ขายได้เท่าไรก็เก็บเงินส่งให้นายจ้างทุกวัน และรับเงินเป็นค่าจ้างรายวัน ไม่มีเงินพิเศษตามร้อยละของยอดขายแต่ละวัน ระหว่างนั้นพี่ซอรู้สึกมีความหวังว่าจะได้เป็นเจ้าของแผงหนังสือ เพราะนายจ้างรับปากว่าจะยกแผงหนังสือนี้ให้เมื่อลูกสาวของเขาสำเร็จการศึกษา

10 ปีผ่านไป กล่าวได้ว่า พี่ซอถูกนายจ้างโกหกมาโดยตลอด ให้ความหวังโดยใช้สัญญาใจ เวลาต่อมาพี่ซอเล่าให้เพื่อนของนายจ้างฟัง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านทำผมและเสริมสวยในบริเวณใกล้เคียง เขาช่วยเจรจาและไกล่เกลี่ยให้กับเจ้าของแผงหนังสือ แต่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่พี่ซอช่วยทำงานชดใช้หนี้สินให้กว่าสามแสนบาท

เวลานั้นเป็นยุคทองของหนังสือการ์ตูน นักเรียนที่มีครอบครัวฐานะทางเศรษฐกิจดี สามารถซื้อได้คราวละ 10 เล่ม เพราะเล่มละ 25-35 บาท แต่พี่ซอบอกว่า ตั้งแต่มีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีใหม่มาแทนที่ ส่งผลให้กิจการประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ได้รับผลกระทบตาม แผงค้าที่เคยขายได้แต่เดิมก็ขายไม่ได้อีกต่อไป รวมถึงพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเด็กก็อ่านบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทนหนังสือที่เป็นเล่มกระดาษ

ชีวิตของพี่ซอเปลี่ยนแปลงเมื่อตัดสินใจเซ้งกิจการแผงอาหารประเภทหนึ่งต่อจากผู้ค้ารายเก่าที่ขายแล้วไม่ประสบความสำเร็จ พี่ซอเห็นโอกาสจากความล้มเหลวของผู้ค้าอาหารรายนั้นที่ทำแบบเดิมซ้ำๆ ไม่ปรับปรุงสูตรอาหารให้ดีขึ้นตามคำติชมจากผู้บริโภค หลังจากนั้น พี่ซอเริ่มต้นศึกษาวิธีการปรุง พัฒนาสูตร และต่อยอดให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญคือการรับฟังคำติชมจากผู้บริโภคมาโดยตลอด จนพี่ซอมั่นใจแล้วว่า อาหารที่ทำขายสามารถออกงานต่างๆ ตามโรงแรมได้ ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ งานพิธีสมรส เป็นต้น

พี่ซอ เล่าถึงผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้นต่อผู้ค้ารายอื่นในบริเวณนั้น หลังจาก COVID-19 ส่งผลให้บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในย่านนี้ ปรับให้พนักงานร้อยละ 70 ทำงานที่บ้าน (work from home) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของผู้ค้าข้างทางบริเวณนั้นลดลง วัตถุดิบที่ลงทุนในแต่ละวันก็ลดลงประมาณร้อยละ 20-25 ขณะเดียวกัน รายได้ก็ลดลงไปประมาณร้อยละ 25 เช่นกัน บัดนี้ต้องคอยลุ้นช่วงเช้าและช่วงเที่ยง ถ้าช่วงเช้าขายได้น้อย ต้องลุ้นอีกทีว่าช่วงเที่ยงจะขายได้หรือไม่ มากหรือน้อยเพียงใด

พี่ซอและสามีต้องออกจากที่พักก่อนตี 5 ช่วยกันตั้งแผงค้าเวลา 6 โมงเช้า และเก็บแผงบ่าย 3 โมง จะเห็นได้ว่า พี่ซอใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมงต่อวัน ยังไม่นับรวมเวลาจัดเตรียมวัตถุดิบ เดินทางไปทำงาน และจัดเตรียมแผงในแต่ละวัน ในสถานการณ์การระบาด พี่ซอลดวันทำงานให้น้อยลง จากเดิมขายสัปดาห์ละ 5 วัน คือ วันอังคารถึงวันเสาร์ เปลี่ยนมาขายเพียงสัปดาห์ละ 4 วัน

เนื่องจากการค้าขายข้างทางที่เป็นอาชีพอิสระขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ผันแปรและมีความเสี่ยงที่หลายกรณีขาดมาตรการรองรับ ได้แก่ ผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศของฝุ่น PM2.5 ซึ่งผู้ค้าข้างทางที่อยู่บนทางเท้าและถนนเป็นคนกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพ และการปิดภาคการศึกษาของนักเรียนทำให้ในรอบปีหนึ่งจะขายได้เพียง 8 เดือน และอีก 4 เดือน ต้องรับมือกับความเสี่ยงทางการเงินที่ไม่สม่ำเสมอ

พี่ซอ เป็นเสาหลักของครอบครัว อาชีพการค้าข้างทางเริ่มต้นจากภูมิหลังชีวิตของพี่ซอ ขณะที่สามีมาช่วยและรับจ้างอิสระเป็นครั้งคราว พี่ซอต้องส่งลูกเรียนหนังสือ 2 คน คนหนึ่งอายุ 21 ปี กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาชั้นปริญญาตรี อีกคนหนึ่งอายุ 15 ปี กำลังจะเข้าศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด พี่ซอตั้งใจให้ลูกชายคนโตทำงานพาร์ทไทม์ ที่ร้านสะดวกซื้อ แต่ด้วยสถานการณ์เวลานี้ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ พี่ซอจึงให้ลูกของตนพักที่บ้าน ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านจะให้พ่อขับมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ไปส่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถขนส่งมวลชนสาธารณะ

จะเห็นได้ว่าครอบครัวของพี่ซอค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องนี้ จึงทำประกันภัยสำหรับโรคนี้ให้แก่ลูกชายคนเล็ก แต่สมาชิกในครอบครัวอีก 3 คน ยังไม่ได้ทำประกัน เพราะมีค่าใช้จ่าย จึงต้องทยอยทำทีละคน

ที่สำคัญ ชีวิตของพี่ซอมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อไวรัส COVID-19 แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้ได้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้พี่ซอต้องไปรอซื้อหน้ากากที่ร้านสะดวกซื้อเวลา 9 โมงเช้า และไปต่อแถวรอซื้อสินค้า ซึ่งมีสินค้ามาส่งที่ร้านวันละ 10 แพ็ค (4 ชิ้น/แพ็ค) ส่งผลให้พี่ซอต้องใช้หน้ากากอนามัย 1 ชิ้นต่อ 3 วัน

อย่างไรก็ตาม พี่ซอพยายามไม่วิตกกับสถานการณ์ในเวลานี้ เพราะทราบดีว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์นี้ได้ด้วยตนเอง ทางออกที่ดีคือการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงให้มากที่สุด โดยเลือกทำชีวิตทุกวันให้ดีที่สุด และไม่ไปคลุกคลีในพื้นที่ชุมชนแออัด รถไฟฟ้าโดยสาร เป็นต้น

ขณะที่บทบาทของรัฐบาลและภาครัฐควรมีวิธีการช่วยเหลือที่ชัดเจนและเข้าถึงได้มากกว่านี้ ซึ่งในกรณีของการให้เงินช่วยเหลือก็ไม่ทราบรายละเอียดของโครงการจะต้องทำอย่างไรและเข้าเงื่อนไขหรือไม่

นอกจากผู้ค้าข้างทางในฐานะแรงงานนอกระบบ ยังพบว่า แรงงานรับจ้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะแผงค้าขนาดใหญ่ที่เป็นรถเข็นขายอาหารและมีโต๊ะนั่งรับประทาน ส่วนใหญ่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติ เช่น ร้านขายอาหารประเภทข้าวมันไก่ บะหมี่หมูแดง เป็นต้น แต่เมื่อนโยบายรัฐให้ร้านค้าและแผงอาหารขายอาหารโดยนำกลับไปรับประทานที่บ้าน ส่งผลให้ปริมาณของผู้บริโภคลดลง เพราะทำงานที่บ้านและบางส่วนใช้บริการส่งอาหารโดยแอพพลิเคชั่น จึงต้องลดจำนวนลูกจ้างลง ตามมาด้วยแรงงานรับจ้างที่เป็นผู้ย้ายถิ่นต้องถูกเลิกจ้าง เนื่องจากบางแผงค้าจ้างแรงงานวันละ 500 บาท แต่อาจมีให้เงินน้อยหรือมากกว่านั้น

เมื่อแผงค้าไม่สามารถขายได้ นำไปสู่การลดอัตราการจ้างแรงงานข้ามชาติ แน่นอนว่าแรงงานเหล่านี้ในภาคนอกระบบจะไม่ได้รับการเยียวยาและชดเชยใดๆ ซึ่งสถานการณ์แย่ยิ่งกว่าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในสถานประกอบการ ทั้งนี้ พี่ซอสังเกตเห็นว่าแรงงานข้ามชาติแผงหนึ่งไม่มาทำงานแล้วกว่าสัปดาห์ จึงคาดว่าเดินทางกลับภูมิลำเนาไปแล้ว เพราะเมื่อไม่มีงานทำย่อมไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ส่วนการเข้ามาทำงานถูกต้องหรือไม่นั้น พี่ซอก็ไม่ทราบแน่ชัด แต่เท่าที่ทราบมา แรงงานเหล่านี้มีหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวที่ภาครัฐออกให้

ขณะเดียวกัน แผงค้าขนาดเล็กที่เป็นรถเข็นหรือโต๊ะตั้งก็เผชิญผลกระทบเช่นกัน เพราะโรคระบาด COVID-19 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเพื่อนร่วมอาชีพของพี่ซอในบริเวณนั้น บางกรณีผู้ค้าหลายแผงมีประสบปัญหาทางการเงิน มีการกู้ยืมเงินนอกระบบ มีหนี้สินต้องจ่ายค่าบ้านและรถยนต์เป็นรายเดือน และมีภาระต้องส่งบุตรหลานเรียนหนังสือ มิหนำซ้ำมีผู้ค้าแผงหนึ่งต้องดูแลลูกเล็กที่ป่วยเป็นมะเร็ง

จากกรณีดังกล่าว ผู้ค้าขายคนนี้เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อเดือนก่อนว่า ได้กำไรวันละไม่ถึงพันบาท ซึ่งยังไม่หักลบต้นทุนแต่ละวัน และต้องเดินทางไปขายในวันเสาร์ แม้นักเรียนจะมีไม่มากก็ตาม ด้วยเหตุที่การหยุดงานถือว่าวันนั้นขาดรายได้ ในฐานะที่ผู้ค้าเป็นแรงงานอิสระต้องแบกรับความเสี่ยงไม่เหมือนกับลูกจ้างประจำ ที่สำคัญภรรยาของเขาไม่สามารถไปทำงานได้ เพราะต้องอยู่ดูแลลูกที่บ้าน หมายความว่า เขาคนเดียวต้องแบกรับภาระทั้งภรรยาและลูกโดยมีการค้าข้างทางเป็นอาชีพหลักเพียงอาชีพเดียว แต่รายได้ที่ได้มาแต่ละวันไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เพราะไหนจะมีค่าครองชีพทั้งครอบครัว ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาลและดูแลลูก นี่คือชีวิตจริงของแรงงานนอกระบบ แม้ว่าจะมีผู้ค้าหลากหลายทั้งที่เป็นผู้ค้ารายเก่าและใหม่ก็ตาม แต่ผู้ค้าล้วนแล้วต้องเผชิญความเสี่ยงร่วมกัน

เท่าที่ได้สนทนากับพี่ซอ ความซบเซาเกิดขึ้นมาก่อนหน้าการระบาดของ COVID-19 แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เศรษฐกิจแย่ลงไปทุกที และหลายเหตุการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ส่งผลทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ค้าอยู่เป็นระลอกๆ

ยิ่งกว่านั้น นโยบายของรัฐบาล คสช. และรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถจัดการปัญหาการค้าข้างทางหรือหาบเร่แผงลอยได้อย่างชัดเจน แม้ดูเหมือนจะมีความพยายามแต่ก็ไม่เป็นผล โดยส่วนตัวเชื่อว่ามีตัวแสดงที่มองไม่เห็นคอยกำกับเรื่องนี้ เหมือนกับผู้ค้าบางคนก็คิดเช่นเดียวกันและเคยสะท้อนออกมา

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนค่อนข้างชอบคำที่ รศ.ดร.นฤมล นิราทร ใช้ในบทความชิ้นหนึ่งที่นำเสนอทในการประชุมวิชาการที่นิด้า เมื่อ 2 ปีก่อน โดยเรียกการจัดการของกรุงเทพมหานครในกรณีนี้ว่าเป็นความคงเส้นคงวา ซึ่งเกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ที่ใช้ทั้งมาตรการเข้มงวดและผ่อนปรนสลับกันไปมา แต่ไม่ชัดเจนใดๆ

ดังนั้น ผู้เขียนจึงสนับสนุนว่า ควรปฏิรูปการบริหารภาครัฐของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะรูปแบบของการกระจายอำนาจ ที่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังเหมือนการรวมศูนย์อำนาจ รูปแบบจะดีหรือไม่ ให้พิจารณาจากการกำหนดและตัดสินใจเชิงนโยบาย ว่าคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะของทุกฝ่ายหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเคยถามกับผู้ค้าข้างทางและชาวบ้านในเขตพื้นที่นั้นๆ ทราบก็แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคือใคร แต่ไม่ทราบว่าในคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีใครบ้าง รวมทั้งผู้อำนวยการเขตในเขตที่พักอาศัยและที่ทำงานอยู่คือใคร ซึ่งอาจดูเหมือนเรื่องตลกขบขัน แต่จริงแล้วเป็นเรื่องที่น่าเคร่งเครียด

ในกรณีของเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลนำเสนอมาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน พี่ซอเกิดความสงสัยและไม่เข้าใจการสื่อสารของภาครัฐและสื่อมวลชน ว่าใครจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ เนื่องจากจำนวน 3 ล้านคนที่นำเสนอมานั้นคือใคร เฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 หรือไม่ หรือครอบคลุมทุกคนที่ไม่จัดอยู่ในภาคทางการ

นับเป็นปัญหาการสื่อสารที่รัฐบาลสร้างความคลุมเครือให้แก่ประชาชน แต่ถ้าครอบคลุมประชากรที่เป็นภาคนอกระบบทั้งหมด ต้องเกิดการแย่งชิงกันขึ้นทะเบียนและศักยภาพของการคัดกรองในฐานข้อมูลภาครัฐ สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะการคัดกรองนั้นหมายความว่าจะต้องประเมินผลกระทบว่าใครเสี่ยงมากหรือน้อยกว่าถึงจะได้รับสิทธินั้น ซึ่งจริงๆ แล้วมาตรการในยามวิกฤติหรือภาวะฉับพลันคือการให้เงินช่วยเหลือ

พี่ซอยังให้ความเห็นว่า “ทุกคนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่แตกต่างกัน จะมากหรือน้อยต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงเสนอว่าภาครัฐมีฐานข้อมูลผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว ย่อมทราบดีว่าใครมีงานทำและไม่มีงานทำ ใครทำงานอยู่ในและนอกระบบ ควรใช้ข้อมูลนี้เชื่อมโยงกับทะเบียนราษฎร์ เพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 โดยไม่ต้องสมัครตามระบบ” และ “ควรจัดสรรเงินให้กับทุกคน ไม่เฉพาะทำงานอาชีพอิสระ เพราะทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน รวมทั้งผู้ค้าคนนี้มีงานทำอยู่ก็จริง แต่รายได้เวลานี้ก็ลดลง ก็ควรได้รับการเยียวยาเช่นกัน” จึงต้องการให้รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุกข์ยากของประชาชนอย่างแท้จริง

พี่ซอยังกล่าวต่ออีกว่า ก่อนหน้านี้ “ภาครัฐแทบจะไม่ส่งเสริมการประกอบของอาชีพอิสระของคนจนและผู้มีรายได้น้อย ไม่เฉพาะแต่ผู้ค้าข้างทาง” แต่เคยมีอาชีพอื่นอย่างผู้เก็บของเก่าขาย (waste picker) ก็ถูกทำให้หายไปแล้วจากสังคมไทย ซึ่งเคยเป็นอาชีพที่บางครอบครัวใช้เลี้ยงดูสมาชิก และส่งบุตรหลานเรียนจนจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ผู้เขียนจึงตระหนักว่าหาบเร่แผงลอยอาจเผชิญสภาวะเช่นเดียวกับอาชีพของผู้เก็บของเก่าขายได้เหมือนกันในอนาคต ถ้าภาครัฐยังกำหนดนโยบายและการปฏิบัติที่คงเส้นคงวาเช่นนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้ต้องการเสนอผลกระทบนี้เป็นภาพแทนของผู้ค้าทั้งหมดในบริเวณสีลม แต่ “เป็นการเล่าเรื่องจากผู้ค้าข้างทางคนหนึ่งที่ขายมากว่า 10 ปี และเป็นลูกจ้างขายหนังสือในบริเวณนั้นมากว่า 10 ปี รวมระยะเวลาที่ใช้ชีวิตในย่านนั้น 20 ปีกว่าแล้ว” ผู้ค้าคนนี้จึงเข้าใจ “บริบทของพื้นที่ สภาพปัญหา และการเปลี่ยนแปลงของอาชีพการค้าข้างทาง”

สำหรับผู้เขียนที่ทำหน้าที่จัดการข้อมูลและเรียบเรียง เพื่อให้เกิดการนำไปขบคิดต่อชีวิตของแรงงานนอกระบบที่รัฐบาลและภาครัฐไม่เหลียวแล ไม่มีแนวทางและมาตรการที่ชัดเจน บ่อยครั้งกล่าวถึงความยั่งยืนของงานอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง แต่คำถามที่เกิดขึ้นเสมอว่า “ใครได้รับความยั่งยืนและมั่นคงระหว่างชาวบ้าน 99.999 เปอร์เซ็นต์ หรืออภิสิทธิ์ชนเพียง 0.001 เปอร์เซ็นต์” (เปรียบสัดส่วนตามที่ Guy Standing กล่าวถึง Precariat (แรงงานเสี่ยง) และ Plutocrat (คนมั่งมี) )

ด้วยเหตุที่ “ความจนทางรายได้และทรัพย์สินตามที่ธนาคารโลกเคยกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นจนอย่างใดหนึ่ง หรือจนทั้งสองอย่าง ก็ดูว่าน่ากลัวแล้ว แต่ยังพิจารณาไม่ถึงความจนเชิงโครงสร้างที่มาพร้อมกับการกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนและการเมืองภายใต้ความร่วมมือแบบหุ้นส่วน การสร้างนวัตกรรมโดยใช้สินทรัพย์สาธารณะแต่ผูกขาดลิขสิทธิ์โดยชื่อเอกชน ชีวิตที่เกิดมาในเมืองพร้อมหนี้สินแต่ไม่มีมรดกตกทอด ฯลฯ”

ท้ายนี้ แม้หลังวิกฤติ COVID-19 จะจบสิ้นลงอย่างไรในอนาคต แต่มีความเป็นไปได้ว่าแรงงานนอกระบบจะเพิ่มขึ้นเพราะในระบบถูกเลิกจ้าง ขณะที่ผู้ค้าข้างทางอาจต้องเรียนรู้จากผลกระทบครั้งนี้ โดยเฉพาะการพิจารณาสถานการณ์ใหม่และปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะความสะดวกสบายของการซื้ออาหารเพื่อบริโภค เหมือนเวลาพักรับประทานอาหารเที่ยง บางคนก็เลือกไม่ออกจากอาคารที่พักหรือที่ทำงานมาซื้ออาหารนั่งที่ร้าน แต่ใช้การสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น แต่จะเห็นได้ว่า มีผู้ค้าข้างทางที่ขายอาหารแผงขนาดเล็กไม่สามารถปรับตัวในเรื่องนี้ได้

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้เป็นโอกาสของธุรกิจแพลตฟอร์มที่ให้บริการส่งอาหาร จะสร้างเงื่อนไขต่างๆ ต่อผู้ค้าอาหารตามร้านและแผงลอย แรงงานผู้ขับขี่ และผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดราคาและร้อยละของค่าบริการ ดังนั้น ผู้ค้าคนนี้ไม่ได้นำร้านหรือแผงอาหารเข้าสู่ระบบแพลตฟอร์ม แต่มีข้อสังเกตว่าจะหลีกเลี่ยงได้ในระยะยาวหรือไม่ เพราะมีผู้บริโภคฝากซื้อกับผู้ขับขี่โดยแอพพลิเคชั่น แม้จะไม่มาก แต่ก็พอมีมาบ้างแล้ว

Author

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนใจเรื่องแรงงานและนโยบายสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า