เมื่อความเครียดคือโรคระบาด: จัดการจิตใจในภาวะ COVID-19

ในวันที่มาตรการของรัฐกำหนดให้ประชาชนงดออกนอกบ้านเริ่มเข้มข้นขึ้น

ในวันที่ไลน์หมู่บ้านแจ้งเตือนให้ระวังพื้นที่เสี่ยง

ในวันที่กรุ๊ปแชทครอบครัวพากันแชร์ข้อมูลการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสแบบรัวๆ

ในวันนี้ต้องยอมรับว่าการระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้ผู้คนปั่นปวนทั้งกายและใจไม่มากก็น้อย 

แม้เราจะยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่คนจิตอ่อนหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอมในกลุ่มแชท แต่เชื่อว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาบางคนอาจจะมีอาการจิตตกโดยไม่รู้ตัว หลังจากเสพข่าวสารแบบนาทีต่อนาที บางคนจึงอาจได้รับความกระทบกระเทือนต่อความรู้สึก จนเกิดเป็นความเครียดสะสม เพราะต้องปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างหนัก

แน่นอนว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่การกักตัวอยู่ในบ้านนานๆ ไม่ได้ออกไปไหน อาจทำให้ชีวิตเริ่มรู้สึกเหี่ยวเฉาและไม่สนุกเหมือนเก่า

คุยกับ เอก-สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาผู้เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาภายใต้ชื่อว่า ‘Knowing Mind’ บริการมิตรสหายผู้มีปัญหาด้านจิตใจมาเกือบ 3 ปี โดยเฉพาะการจัดการภาวะต่างๆ ภายในจิตใจ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งถือเป็นโรคใหม่ที่โลกใบนี้ยังไม่เคยเจอมาก่อน

หากประเมินสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันตามมุมมองนักจิตวิทยาเป็นอย่างไรบ้าง

อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคนี้เริ่มแพร่ระบาดเข้ามาสักพักแล้ว แน่นอนว่ามันมีผลกระทบอย่างมากต่อหลายๆ ด้าน รวมถึงด้านจิตใจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมากที่สุดควบคู่กันมาอย่างแยกไม่ขาดคือความกังวล 

เราเริ่มรู้สึกกังวลเพราะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน เราไม่รู้ว่าการระบาดครั้งนี้จะไปสิ้นสุดลงตรงไหน เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล ลามไปถึงอาการแพนิค (panic) เพราะธรรมชาติของอาการนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเราปะทะกับภาวะที่ไม่มั่นคง แม้เราจะตกอยู่ในการระบาดของเชื้อโรคเหมือนกันก็ตาม แต่ความกังวลหรืออาการแพนิคที่ว่านั้นอาจจะเกิดขึ้นไม่เหมือนกันและมีความเข้มข้นที่ต่างกันไป

ระดับความกังวลของแต่คน จะต้องพิจารณาควบคู่กับปัจจัยและมิติอื่นๆ ในชีวิต เช่น คุณอาจรู้สึกกังวลมากๆ เกี่ยวกับโรคระบาด ขณะเดียวกันก็เกี่ยวพันถึงเรื่องเศรษฐกิจและเงินในกระเป๋า บางคนอาจเกี่ยวพันกับงาน เกรงว่าจะถูกลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง บางคนยังกระทบกับความสัมพันธ์ เพราะต้องกักตัว แยกห่างจากคนรัก ติดต่อสื่อสารกันยากขึ้น หรือแม้ความกังวลที่ส่งผลกระทบระหว่างคนใกล้ชิด ด้วยความที่ต้องระแวงระวังกันมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในมิติใดก็ตาม ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น มากน้อยต่างกันไปตามแต่ละบุคคล

ลองยกตัวอย่างผลกระทบจากความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง 

อย่างที่บอกไป ไม่ว่าใครก็ตามในสถานการณ์นี้ล้วนกังวลใจเหมือนกันทั้งนั้น เพราะเป็นสภาวะที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ ผมยกตัวอย่างความกังวลไว้ดังนี้ 

ประชาชนทั่วไป: อาจจะกำลังกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะไม่รู้ว่าโรคนี้จะยุติการระบาดตอนไหน ทำให้กังวลถึงปัญหาปากท้องและการใช้ชีวิตต่อ

แพทย์: ต้องยอมรับว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีบทบาทสำคัญ พวกเขาทำงานหนักมาก ต้องทำงานบนความหวังของทุกคน จนเกิดเป็นความกดดันและกังวลเรื่องการรักษา 

ผู้ติดเชื้อหรือบุคคลกลุ่มเสี่ยง: นอกจากความกังวลแล้ว คนกลุ่มนี้มักมีความกลัว ความเครียด หงุดหงิดใจ ไม่พอใจ ว่าทำไมต้องเป็นเขาที่ป่วย นอกจากความโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว อาจจะเกิดเป็นความรู้สึกผิดบาป ผู้ป่วยบางคนคิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุการแพร่เชื้อและสร้างความเดือดร้อน ซึ่งในจุดนี้อาจจะทำให้เกิดความเศร้า ความเสียใจ หรือความสิ้นหวังก็ได้

ท่ามกลาง COVID-19 มีทั้งข่าวจริงข่าวปลอมสะพัดไปหมด ประเด็นนี้ยิ่งทำให้คนวิตกกังวลมากขึ้นไหม

ตามธรรมชาติมนุษย์เชื่อมโยงกับข้อมูลอยู่แล้ว ยิ่งเรารับรู้ข้อมูลที่น่ากลัว อันตราย ความกลัวก็จะเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ การเสพข่าวจึงมีผลกระทบโดยตรงมากๆ ฉะนั้นเราควรคัดกรองแหล่งข้อมูล เลือกเสพข่าวมากขึ้น ยิ่งในปัจจุบันข้อมูลข่าวสารมีเยอะมาก หลายช่องทาง ข้อมูลไหลไปอย่างเร็ว เราอาจจะตั้งธงกับตัวเองง่ายๆ ว่าเราจะเสพข่าวเพื่อติดตามสถานการณ์ก็พอ เพื่อป้องกันภาวะความเครียดที่ค่อยๆ สะสมโดยไม่รู้ตัว

พอทุกคนเครียดมากๆ ตระหนกมากๆ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมเปราะบาง จนทุกคนพร้อมจะสาด hate speech ใส่กันตลอดเวลาไหม อธิบายทางจิตวิทยาได้อย่างไร

ในประเด็น hate speech เป็นเรื่องที่เข้าใจได้นะครับ เมื่อเราประเมินว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่มันอันตราย มันคุกคามเรา เราไม่ปลอดภัย เราจะเกิดพฤติกรรมบางอย่างเพื่อตอบสนองสิ่งนั้น ซึ่งพฤติกรรมที่ว่ามันเป็นไปได้หลายอย่าง บางคนอ่านข่าวแล้วกังวล รีบกักตุนอาหาร บางคนอ่านข่าวแล้วรู้สึกทนไม่ไหว ต้องการระบายความโกรธออกมา โดยเลือกพิมพ์ข้อความด่าใครสักคนในสเตตัสเฟซบุ๊ค

ปฏิกิริยาเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนพฤติกรรมมนุษย์ที่พยายามจะ handle กับสถานการณ์ตรงหน้า แต่คำถามคือ ปฏิกิริยานั้นตอบโจทย์การคลี่คลายความกังวลของเราได้จริงหรือ?

ผมไม่ได้มองว่าการระบายอารมณ์โกรธเป็นเรื่องที่ผิดหรือถูก ถ้าเราโกรธ เราระบายได้ แต่อาจจะต้องประเมินควบคู่ไปด้วยว่า เมื่อเราด่าแล้วมันช่วยให้เราจัดการกับความหงุดหงิดใจได้ดีขึ้นหรือไม่ หรือจะยิ่งเพิ่มความโกรธให้ตัวเองรู้สึกหนักหนาไปกว่าเดิม 

การด่าเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เมื่อรู้สึกไม่พอใจ เอาง่ายๆ การด่าก็คือวิธีการหนึ่งที่ใช้จัดการความรู้สึก บางคนด่าแล้วมันโล่ง มันหลุด รู้สึกได้แสดงความเห็นของตัวเองออกมา บางคนด่าแล้วเครียดกว่าเดิม เรื่องแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องของใคร มันเป็นเรื่องของตัวคุณที่จะตอบตัวเองได้ว่า คุณสบายใจไหมเมื่อได้ด่า

ท่ามกลางความเครียดและวิตกกังวล เมื่อเราค้นพบช่องทางการระบายอารมณ์ของตัวเองแล้ว ถือว่าเดินถูกทางแล้วหรือไม่

เดินถูกทางไหม ผมไม่รู้ แต่จะทำให้เราเห็นทางเลือกในการจัดการตัวเองมากขึ้น

ถ้าสมมุติคุณตอบตัวเองได้ว่า คุณกำลังกังวลเรื่องงาน เพราะคุณถูกบริษัทเลิกจ้างงาน คุณกังวลว่าเราจะเอาเงินจากไหนมาใช้ เราจะไปหางานอื่นทำได้อย่างไร แล้วก็ค่อยๆ จัดการตัวเองไปทีละขั้นตอน มีสติในการหาช่องทางทำงานใหม่ ซึ่งไม่มีใครบอกได้หรอกว่าทางเลือกไหนจะจัดการได้ดีที่สุด แต่อย่างน้อยเราจะไม่จมอยู่กับความกังวลจนทำอะไรไม่ได้

COVID-19 ทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเยอะมาก เช่น work from home, การกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนฉับพลัน จะส่งผลกระทบใดในเชิงพฤติกรรมหรือไม่

ความคุ้นชินจะทำให้มนุษย์ปลอดภัย เป็นความรู้สึกตามธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าเมื่อมนุษย์อยู่กับอะไรก็ตามนานๆ เขาจะรู้สึกโอเค ถ้าเรามีวงจรชีวิตที่ตื่นเช้าไปทำงาน ตกเย็นกลับบ้าน เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราย่อมไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าวันหนึ่งมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ความเครียดก็เกิดขึ้นทันที

เมื่อเราไม่คุ้นชินกับสถานการณ์ตรงหน้า ก็เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่เราต้องใช้เวลาเพื่อปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ สังคมใหม่ แต่ถ้าถามว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่อยากขอให้เข้าใจว่า ‘ความรู้สึกแย่ๆ ความรู้สึกไม่โอเคที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มันเป็นเรื่องปกติ’ เราจำเป็นต้องให้เวลากับตัวเอง อย่าบีบคั้นตัวเองให้รู้สึกดี ขนาดผมที่เริ่มทำงานที่บ้านย่างเข้าวันที่ 3-4 แล้ว ก็ยังไม่โอเค ผมยังไม่ชินเลย 

COVID-19 ส่งผลกระทบอะไรต่องานของนักจิตวิทยาบ้าง

ผมทำงานในศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ มีเคสที่เข้ามาปรึกษาเพราะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกังวลกับสถานการณ์โรคระบาดมากเกินไป ในกรณีนี้ผมจะช่วยเขาคุยต่อว่า ความกังวลของเขาคืออะไรกันแน่ เพื่อหาความต้องการที่แท้จริง

สถานการณ์ใหม่ที่เข้ามาคุกคามชีวิตเราครั้งนี้ มันคุกคามเราในเรื่องอะไร ในแง่หนึ่งความกังวลที่เกิดขึ้นก็สะท้อนถึงสิ่งที่เราให้คุณค่าเหมือนกันนะ เช่น กังวลว่าตัวเองและพ่อแม่จะติดเชื้อ กังวลว่าจะถูกลดเงินเดือน ตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง ตัวอย่างเช่น ผมกังวลถึงเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพราะคนที่จะเข้ามารับบริการคำปรึกษา เขาเดินทางมาไม่ได้ ผมต้องคุยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งไม่ค่อยโอเค ไม่เหมือนกับการเจอหน้ากัน การสื่อสารของผมและเขาก็หายไป

มาตรการ Social Distancing ในมุมมองเชิงจิตวิทยาเป็นอย่างไร

มันค่อนข้างส่งผลสะเทือนมากๆ มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ดีในการป้องกันโรค แต่ก็มีงานวิจัยหลายๆ แห่งยืนยันเหมือนกันว่า social distancing มีผลกระทบหลายๆ อย่างต่อจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์เกิดมาเป็นสัตว์สังคม เราเกิดมาต้องการปฏิสัมพันธ์ในโลกแห่งความเป็นจริง บางคนอาจจะบอกว่า ฉันเป็น introvert แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการความสัมพันธ์ในชีวิตจริงมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ดังนั้นเมื่อเราปฏิบัติตามมาตรการนี้แล้ว ผมอยากให้เราไม่ลืมมิติในเรื่องความสัมพันธ์ไป

หากให้ประเมินสุขภาพจิตของคนไทยในภาวะ COVID-19 เป็นอย่างไรบ้าง

ผมมองในภาพกว้างๆ อาจจะพูดได้ไม่ชัดว่าหนักไหม แต่ระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นพอสมควร  เพราะ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคนในวงกว้างอย่างทั่วถึงทุกแวดวง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ต่อให้คุณอยู่ในเมือง อยู่ในชนบท คุณจะอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจแบบใดก็ตาม คุณได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้หมด แต่มากน้อยแตกต่างกันไป 

บางคนที่มีต้นทุนมากก็อาจจะจัดการปัญหาได้ดีกว่า คุณอาจจะเก็บตัวอยู่ในบ้าน แต่ยังมีเงินสั่งอาหารมากิน ไม่ต้องออกไปไหนก็จัดการได้ทุกอย่าง แต่บางคนที่เขาไม่มี เขาอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ การเก็บตัวอยู่ในห้องมืดๆ ก็อยู่ได้ยากกว่า ข้อจำกัดที่ว่านี้มันนำไปสู่มิติเรื่องจิตใจได้เหมือนกัน

ผมคิดว่าเราควรคำนึงถึงมาตรการในการดูแลช่วยเหลือให้สอดคล้องกับคนแต่ละกลุ่ม ตอนนี้ทุกคนกังวลเหมือนกัน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร อยู่ในฐานะใด แต่ความสามารถในการรับมือกับความกังวลนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่แต่ละคนมี 

ถ้าต้องอยู่กับภาวะนี้ในระยะยาว แย่สุดอาจนานถึงสิ้นปี เราจะอยู่กันอย่างไร

(หัวเราะ) เอาจริงๆ ให้ผมตอบว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ผมยังตอบไม่ได้เลย ตอนนี้ทุกแวดวงต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด เศรษฐกิจ การแพทย์ เราไม่รู้หรอกว่าเขาประเมินอนาคตได้ถูกต้องหรือไม่ เราต้องยอมรับก่อนว่าสถานการณ์โรคระบาดนี้เป็นเรื่องที่ใหม่มาก แม้เราเคยเจอภาวะการแพร่ระบาดของโรคอื่นมาก่อน แต่ครั้งนี้มันคือโรคสมัยใหม่ เราไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้จะจบลงตรงไหน แต่ผมว่าอย่างน้อยที่สุดสิ่งที่เราพอจะทำได้คือ การกลับมาอยู่กับวันนี้ วันนี้มีปัญหาอะไรที่เราจัดการได้ก่อน

สำหรับบางคนอาจเคยมีชีวิตที่ดี แล้วต้องมากักตัวอยู่ในบ้าน แต่พอสถานการณ์แย่ลงก็เหมือนถูกบีบ เกิดเป็นภาวะเครียด อึดอัด เริ่มรู้สึกไม่ไหว เราอาจจะต้องระบุให้ชัดว่าสิ่งที่เราไม่พอใจคืออะไร ยิ่งระบุให้ชัดมากเท่าไร เราจะมีทางรับมือกับปัญหามากขึ้นเท่านั้น ถ้าบอกว่าเราไม่โอเคกับการอยู่บ้านในช่วงกักตัว นั่นเป็นเพราะเรารำคาญญาติ ที่บ้านมีคนอยู่เยอะจนเราไม่มีสมาธิในการทำงาน ถ้าเรายิ่งหารายละเอียดของความกังวลได้ชัดเจนมากขึ้นเท่าไร เราอาจจะหาทางเลือกในการจัดการได้ตรงจุดมากขึ้น แต่ความกังวลที่เป็นนามธรรมกว้างๆ ลอยอยู่ในอากาศ มันจัดการยากและยิ่งบั่นทอน ทำให้คุณรู้สึก overwhelmed การที่คุณมองทุกอย่างไม่ดีไปเสียหมด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่อันตราย ถ้าคุณพอจะแยกแยะและค่อยๆ คลี่คลายปัญหาไปทีละเรื่อง ผมเชื่อว่าคุณน่าจะรับมือกับความเครียดวิตกกังวลนี้ได้มากกว่า

ปัญหาสุขภาพจิตหรือสุขภาวะด้านจิตใจ ถูกมองเห็นมากน้อยอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน

ผมว่าเริ่มมีความพยายามที่จะพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นบ้าง ในแง่หนึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะมาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่เน้นไปที่สุขภาพร่างกาย การดูแลสุขภาพ การใช้ชีวิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นหลัก เช่น ใช้เจลล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย ส่วนเรื่องจิตใจอาจจะมีพื้นที่น้อยกว่าอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เท่าที่ผ่านมาผมก็ติดตามในมิตินี้พอสมควร ในกรณีต่างประเทศก็เริ่มมีการพูดถึงประเด็นปัญหานี้กันบ้างแล้ว 

สำหรับประเทศไทยในระยะต่อไป ผมคิดว่าเราต้องกลับมาพูดถึงประเด็นจิตใจมากขึ้น หน่วยงานต่างๆ สมาคมจิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต เริ่มออกมาพูดถึงแง่มุมทางสุขภาพจิตบ้างแล้ว แต่แน่นอนหากเทียบกันในภาพรวม เวลาเราดูข่าวตามสื่อหลัก เรามักจะพบแต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกายมากกว่ามิติด้านจิตใจ

ตอนนี้เราอยูกับสถานการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว หลายๆ คนอาจกำลังต้องการเครื่องมือแก้ปัญหา เขาอยากรู้ว่าเมื่อเขาเครียดขึ้นมาต้องทำอย่างไร หรือแม้กระทั่งเขาจะสามารถสังเกตตัวเองได้ด้วยวิธีไหน จะปรับพฤติกรรมตัวเองได้อย่างไร ผมว่าวันนี้เรายังมีพื้นที่ตรงนี้น้อยไป แต่โชคดีที่เราเริ่มมองเห็นความพยายาม ไม่ว่าจะจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเองก็ตาม

ยืนยันได้ไหมว่า การดูแลสุขภาพจิตสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพกาย

สำหรับประเด็นนี้ ผมมองว่า ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เริ่มรู้สึกไม่โอเคจากข้างใน คุณคือผู้ได้รับผลกระทบเลยทันที ถึงแม้คุณจะไม่ได้ติดเชื้อไวรัสก็ตาม นั่นหมายความว่าถ้าคุณดูแลสุขภาพจิตของตัวเองไม่ได้ ต่อให้วันนี้คุณสบายดี คุณไม่ป่วยเป็น COVID-19 แต่คุณจะป่วยเป็นโรคแพนิค เครียด กังวล กลัว รู้สึกแย่ทันที 

ต่อให้คุณบอกว่าโชคดีที่ไม่ติดเชื้อไวรัส แต่ถ้าคุณเครียดมากๆ แพนิคมากๆ นั่นหมายความว่าคุณได้รับผลกระทบที่เลวร้ายไปแล้วเรียบร้อย โดยที่คุณยังกังวลว่าคุณจะติดไวรัสหรือเปล่า คุณจะตกงานไหม คุณจะมีเงินไหม เพราะคุณละเลยที่จะดูแลและจัดการจิตใจของคุณไปแล้ว

ผมจึงอยากให้ทุกคนกลับมาตระหนักในตัวเอง ทบทวนดูว่าวันนี้คุณโอเคดีอยู่ไหม โดยที่ไม่ต้องพยายามหาคำตอบของวันพรุ่งนี้ ณ วันนี้ วันที่เรายังไม่เป็นโรค เราเครียดไหม ถ้าเราเครียด เรารีบจัดการตัวเองให้ดีขึ้นดีกว่าไหม 

ทุกวันนี้นอกจากที่เราจะแพร่เชื้อไวรัสระหว่างกันและกันแล้ว เรายังแพร่ความเครียด แพร่ความกังวลใส่กันไปเรียบร้อยแล้ว อาการแพนิคจึงไม่ต่างจากโรคระบาด ฉะนั้นโจทย์สำคัญของวันนี้คือ เราจะลดการระบาดของอาการเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง นอกจากดูแลใจของตัวเองให้ดีแล้ว คุณต้องดูแลคนที่อยู่ใกล้ตัวด้วย

ต้องบอกก่อนว่าการที่ผมพูดไปเช่นนี้ มันอาจจะดูโลกสวยสำหรับใครบางคน ผมไม่ได้บอกว่าเราจะไม่แคร์การระบาดของโลก คุณกังวลได้ คิดมากกับมันได้ แต่ในส่วนอื่นๆ ของชีวิต คุณก็ต้องห้ามละเลย ชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่อง COVID-19 ชีวิตของคุณยังมีเรื่องราวอีกมากที่ต้องยินดีและมีความสุขกับมัน ไม่ละเลย ถ้าเจอปัญหาก็จัดการ ส่วนไหนที่มีความสุขได้ก็จงมีความสุข

เราจะมีวิธีดูแลจิตใจอย่างไร ในวันที่เราต่างมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว

ก่อนจะพูดถึงหลักการ ผมขอพูดถึงข้อพึงระวังก่อน ผมว่าทุกเรื่องราวในโลกใบนี้ โดยเฉพาะหลัก How to ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะทำได้ ถ้าคุณทำไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก คุณไม่ต้องรู้สึกแย่ที่ตัวเองทำไม่ได้

How to ทุกอย่างที่เราเห็น อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน มันอาจจะเป็นแค่หลักการเบื้องต้น ถ้าเราทำไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าเราผิด ดังนั้นสิ่งที่ผมจะแนะนำจึงเป็นหลักเบื้องต้นจริงๆ นั่นคือ การชวนทุกคนกลับมาทบทวนตัวเอง และตั้งสติกับสถานการณ์นี้ให้มากที่สุด

อันดับแรกอาจเป็นเรื่องการยอมรับและถามตัวเองว่าเราโอเคดีอยู่ไหม ถ้าเรามุ่งกระโจนไปหาวิธีการจัดการเลย เราอาจจะแก้ได้ไม่ตรงจุด เช่น คุณกำลังกังวลใช่ไหม งั้นคุณจัดการตัวเองแบบนี้สิ หนึ่ง สอง สาม สี่ … ความกังวลก็มีหลายหน้าตา ความกังวลของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าคุณกำลังเครียด กำลังแพนิค คุณอาจจะลองหากระดาษสักแผ่น เขียนความกังวลที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ เขียนความคิดของเราออกมาเป็นข้อๆ เช่น ฉันกังวลว่าจะตกงาน ฉันกังวลว่าจะไม่เงิน ไม่มีเงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ไม่มีเงินให้พ่อแม่ ฉันกังวัลว่าตัวเองจะติดเชื้อ กลัวตาย ฉันกังวลว่าพ่อแม่จะติดเชื้อ เขียนความกังวลที่เป็นนามธรรม ระบุมันออกมาให้ชัด แล้วเราจะเจอหนทางแก้ไขแต่ละข้อที่ชัดเจน

เมื่อสำรวจความรู้สึกของตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อมาเพื่อเอาตัวให้รอดจากความหวาดกลัวโรค เราอาจจะต้องกลับไปตั้งคำถามว่า อะไรคือข้อเท็จจริงในความกังวลของเรา เช่น ฉันกังวลว่าตัวเองจะติดเชื้อ ซึ่งถึงแม้เราจะไม่เคยไปไหน กักตัวอยู่กับบ้าน ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็หนีความวิตกนี้ไปไม่ได้ ฉะนั้นเราควรหาข้อเท็จจริงเพื่อมาคลี่คลายให้เบาลง เช่น เราไปในพื้นที่เสี่ยงมาหรือเปล่า เราคลุกคลีกับผู้ที่เสี่ยงไหม ถ้าไม่ เราก็ควรจะหลีกหนีความเครียดนั้นดีกว่าไหม

สิ่งที่ผมพูดมันไม่ใช่ How to สำเร็จรูป ผมไม่ได้บอกว่าถ้าคุณเครียดจากปัญหาโรคระบาด ให้คุณไปออกกำลังกาย ไปพักผ่อน กินอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งผมก็โอเคกับวิธีการเหล่านี้ ถ้าคุณสบายใจที่จะทำก็ทำได้เลย แต่ในแง่หนึ่งการจัดการแบบนี้สุดท้ายอาจเป็นการจัดการเพียงแค่ภายนอก เพราะต้นตอภายในจิตใจยังอยู่ และมันก็ไม่มีวิธีปลอบโยนที่เป็นสิ่งสำเร็จรูป หัวใจสำคัญก็คือการค่อยๆ ทบทวน และนี่อาจจะเป็นโอกาสอย่างหนึ่งที่โรคระบาดเปิดพื้นที่ให้เราเข้าใจภายในตัวเองมากขึ้นก็เป็นได้

ท้ายที่สุดปรากฏการณ์โรคระบาดครั้งนี้สะท้อนให้มนุษย์กลับมามองเห็นอะไรในตัวเองบ้าง

มนุษย์ก็คือมนุษย์นะครับ เมื่อมนุษย์เจอสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันหรือสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ เราย่อมกลัวและเกิดความกังวล เรียกได้ว่านี่คือความรู้สึกพื้นฐานของการเป็นมนุษย์เลยก็ว่าได้ เราไม่ผิดที่จะแพนิคนะครับ ถ้าเราไม่กังวลต่างหากคือเรื่องที่แปลก 

ความกังวลที่ไหลอยู่ในตัวมนุษย์มันมีประโยชน์ ตั้งแต่อดีตถ้ามนุษย์ใช้ชีวิตอย่างสบายๆ เราอาจจะตายไปแล้วก็ได้ ตายก่อนที่เรายังไม่สืบเผ่าพันธุ์

ดังนั้นสถานการณ์ COVID-19 ที่เรากำลังเจอ มันคือภาพสะท้อนที่โคตรจะปกติ แต่เราจะทำอย่างไรให้ความกังวลนี้เป็นแค่สัญญาณเตือนให้มนุษย์อย่างเราจัดการหรือแก้ไขปัญหาต่อ ทำให้เรารู้จักป้องกันตัวเอง รักษาชีวิตของตัวเองมากกว่าที่จะปล่อยให้ความกังวลนั้นเป็นปัญหาในตัวมันเอง เพราะผมเชื่อว่าหลายคนเลือกปล่อยให้ความกังวลเป็นปัญหาในชีวิต ทั้งที่ชีวิตจริงไม่ได้มีปัญหา 

และท้ายที่สุดเมื่อสถานการณ์นี้จบลง เราอาจจะประเมินบางอย่างได้ในมุมที่กว้างขึ้น ว่าแท้ที่จริงแล้วภาวะสุขภาพจิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง คุณพร้อมแค่ไหน แล้วในอนาคตหากมีโรคระบาดใหม่เข้ามาหรือมีสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เข้ามา เราจะพร้อมรับมือกับมันไหม มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้การศึกษาและข้อมูล รวมถึงให้ทักษะการจัดการจิตใจให้ติดตัวมนุษย์รุ่นต่อไป 

จบจากโรคนี้ (ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร) ผมหวังว่าเรื่องความเครียด แพนิค และภาวะจิตใจ จะเป็นเรื่องที่ทุกคนหยิบมาพูดกันมากขึ้น

สนับสนุนโดย

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า