5 เหตุการณ์ที่รัฐต้อง ‘ไม่พลาดซ้ำ’ เมื่อคิดต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

28 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายเวลา พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คงระยะเวลาเคอร์ฟิวและขยายปิดน่านฟ้าต่ออีก 1 เดือน ตามข้อเสนอของศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (ศบค.) ซึ่งความน่ากังวลใจของการต่ออายุ ‘ยาแรง’ ในครั้งนี้ ก็คือ รัฐบาลได้ถอดบทเรียนการใช้มาตรการต่างๆ ที่ผ่านมามากแค่ไหน

ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่รัฐราชการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม ผิดฝาผิดตัว และนำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายต่อหลายครั้ง และเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น จึงขอยก 5 เหตุการณ์ที่สะท้อนปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังนี้

01 ขู่ฟ้องและยึดของ ‘คนแจกอาหาร’ เพราะทำให้คนมารวมตัวกัน

20 เมษายน 2563 มีรายงานข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่ยึดโจ๊กหมู 250 ถุงที่มีผู้มาบริจาค เพราะในขณะนั้นมีประชาชนจำนวนหลายร้อยคนมายืนรอรับหลังการประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ทำให้คนขาดรายได้ และขาดอาหารในช่วงที่ต้องกักตัวตามมาตรการของรัฐ โดยเจ้าหน้าที่ได้กล่าวต่อผู้แจกของว่า เข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกับยึดอาหารไปแจกจ่ายด้วยตนเองภายหลัง

ต่อมามีคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ผู้บริจาคสิ่งของปฏิบัติตาม เช่น ต้องมาแจ้งล่วงหน้าถึงการแจกของบริจาค ให้เตรียมหน้ากากอนามัย และมีสถานที่สำหรับล้างมือ เว้นระยะห่าง และควบคุมความแออัด รวมถึงห้ามเจ้าหน้าที่รัฐนำของของผู้บริจาคมาดำเนินการแจกจ่ายด้วยตนเอง

เหตุการณ์ดังกล่าวมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า การแจกของบริจาคนั้นนำไปสู่การรวมกลุ่มรวมตัวของผู้ต้องการอาหารหรือของบริจาค แต่อีกนัยหนึ่งของเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากการดูแลไม่ทั่วถึงของภาครัฐ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการของรัฐโดยขาดไร้ซึ่งมาตรการเยียวยา

การที่ภาคประชาชนหรือเอกชนยื่นมือเข้ามาช่วยนั้นจึงเป็นการสนับสนุนภารกิจของรัฐ แต่ทว่า แทนที่รัฐจะช่วยสนับสนุน กลับเลือกใช้กฎหมายมากดดันผู้ที่ให้ของบริจาค ยึดเอากฎระเบียบเป็นที่ตั้งแต่ไม่ได้นึกถึงผลลัพธ์ที่สังคมจะได้จากการช่วยเหลือดังกล่าว นี่จึงเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนปัญหาของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐราชการที่ยึดมั่นแต่กฎหมาย แต่ไม่สนใจเป้าหมาย

02 จับ ‘คนไร้บ้าน’ ดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนเคอร์ฟิวระหว่างเดินริมถนน

22 เมษายน 2563 มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมกลุ่มบุคคลเร่ร่อน หรือคนไร้บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยข้อมูลมาจากกลุ่มอาสาสมัครบริจาคข้าวให้กับคนไร้บ้านที่ทราบมาว่า มีคนไร้บ้าน 2 คนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและดำเนินคดี โดยคนแรกถูกจับกุมขณะเดินทางกลับไปที่นอนของตัวเอง แต่ไม่ทราบเวลาว่าเกิน 4 ทุ่มแล้ว ส่วนอีกกรณีได้เดินออกมาหาที่ปัสสาวะริมคลอง แต่รถของเจ้าหน้าที่ขับผ่านจึงถูกจับกุม

ต่อมา เพจสถานีตำรวจภูธรเชียงใหม่ ได้ชี้แจงถึงการจับกุมคนไร้บ้าน 2 คนที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวว่า ทั้งสองคนออกนอกเคหสถานโดยไม่มีความจำเป็นและไม่ได้รับอนุญาต โดยรายหนึ่ง ศาลแขวงเชียงใหม่มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 15 วัน และปรับ 1,500 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 1 ปี และห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานของตัวเองเป็นเวลา 7 วัน ส่วนอีกกรณี ศาลสั่งจำคุก 1 เดือน ปรับ 3,000 บาท โดยให้รอลงอาญา 1 ปี และห้ามออกนอกพื้นที่ตัวเอง 7 วัน

สิ่งที่น่าสนใจในคดีดังกล่าวคือ การมองเรื่อง ‘เคหสถาน’ ของรัฐกับคนไร้บ้านที่แตกต่างกัน เมื่อคนไร้บ้านไม่ได้มีพื้นที่ใดเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว จึงไม่มีสถานที่ใดที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นเคหสถาน และในขณะเดียวกันทุกพื้นที่สาธารณะก็อาจเป็นเคหสถานของคนไร้บ้านได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การลงโทษคนไร้บ้านจากวิถีชีวิตของพวกเขาจึงไม่มีความเป็นธรรมและตอกย้ำให้เห็นว่า การขาดแคลนสิ่งดำรงชีพพื้นฐานที่ควรได้รับการดูแลจากรัฐกลับกลายเป็นคนที่ถูกลงโทษ

03 ขู่ฟ้อง ‘นักศึกษา’ ที่รวมตัวยื่นหนังสือขอลดค่าเทอม

25 เมษายน 2563 มีรายงานข่าวว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เตรียมเข้ายื่นหนังสือพิจารณาเรื่องการลดค่าเทอมต่อสมาชิกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ทว่ากลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบสองนายจากสถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ เข้ามาสอบถามถึงการยื่นหนังสือดังกล่าว พร้อมกับขู่ว่ามันจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากมาชุมนุมกัน แต่นักศึกษาชี้แจงว่า ไม่ได้มาชุมนุม แค่มายื่นหนังสือ

จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามบอกให้นักศึกษากลับออกไป โดยอ้างเหตุเรื่องโรคระบาดและให้ยื่นเอกสารตามระเบียบของมหาวิทยาลัย แต่ท้ายที่สุดตัวแทนสมาชิกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ยินยอมออกมารับหนังสือจากนักศึกษา และอธิบายว่า มหาวิทยาลัยมีมาตรการในการช่วยเหลือและกำลังดำเนินการอยู่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และขณะนี้สมาชิกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับหนังสือของนักศึกษาแล้ว และอยู่ในระหว่างการรอมติสภามหาวิทยาลัยที่กำลังพิจารณาเรื่องการลดค่าเทอม

เหตุการณ์ดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นปัญหาของวลี ‘สุขภาพนำเสรีภาพ’ กล่าวคือ เป็นการนำข้ออ้างเรื่องสุขภาพมาบดบังสิทธิเสรีภาพของกลุ่มนักศึกษาในการใช้สิทธิยื่นหนังสือต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย แม้การกระทำดังกล่าวจะทำให้มีการรวมกลุ่มของคน แต่หากรัฐเห็นความสำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพ รัฐจะใช้วิธีช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้การรับมอบหนังสือร้องเรียนเป็นไปได้ด้วยดีและรวดเร็วเพื่อป้องกันความเสี่ยง แต่การเลือกที่จะข่มขู่ นอกจากเป็นการลดทอนปิดกั้นการใช้เสรีภาพแล้ว ยังไม่ได้ทำให้สถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น

04 จับ ‘ผู้รับเหมา-คนงาน’ เพราะกลับบ้านหลังเคอร์ฟิวแต่ขออนุญาตไม่ถูกต้อง

22 เมษายน 2563 มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจถนนบางนา-ตราด กม. 8 ทำการตรวจสอบรถกระบะที่มีผู้โดยสารรวมคนขับ 15 คน ทั้งหมดเป็นกรรมกรก่อสร้าง รับเหมาเทคอนกรีตลานจอดรถสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง แต่มีเหตุให้ต้องเลิกงานหลังเวลา 22.00 น.

ทั้งนี้ ฝ่ายนายจ้างแรงงานได้แสดงหนังสือของบริษัทฯ ลงวันที่ 20 เมษายน 2563 แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วเห็นว่า เป็นการทำงานล่วงเวลาหรือทำโอที ไม่ใช่เป็นการทำงานเป็นกะในเวลากลางคืน จึงถือว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้ยกเว้น ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 3 ข้อ 1(6) จึงแจ้งข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมฉีกเอกสารทิ้ง

ด้าน พ.ต.อ.ประสาทพร ศรีสุขโข ผกก.สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ระบุด้วยว่า เอกสารที่ตำรวจฉีกทิ้งลงถังขยะนั้น เป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะยังไม่มีลายเซ็นอนุมัติของปลัดอำเภอ

ต่อมา พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้ออกมาชี้แจงอีกว่า ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง หรือทำงานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว แต่อยู่นอกหลักเกณฑ์ที่ยกเว้น ก็ยังมีทางออกให้คือ ต้องขอกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ผู้อำนวยการสำนักงานเขต หรือหัวหน้าสถานีตำรวจ ออกเอกสารอนุญาตให้ เพื่อเป็นหลักฐานยื่นให้เจ้าหน้าที่ด่าน

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐราชการ ที่ถือกฎระเบียบเป็นสำคัญยิ่งกว่ามองความเป็นธรรม เมื่อนำกฎหมายมาบังคับใช้แล้วจึงเป็นปัญหา จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ครอบคลุมการทำงานล่วงเวลา แต่เจตนาของผู้เดินทางนอกเวลาที่รัฐกำหนดนั้น ได้มีความพยายามจะทำให้ถูกต้องในกฎระเบียบ แต่เข้าใจสาระสำคัญในการขออนุญาตผิด ดังนั้น การพยายามจับและลงโทษฐานฝ่าฝืนเคอร์ฟิวจึงเป็นการใช้กฎหมายโดยไม่สนใจเจตนา

05 จับและดำเนินคดี ‘ชาวประมง’ ฐานฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ทั้งที่ต้องได้รับการยกเว้น

23 เมษายน 2563 มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร (อส.) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้จับกุม ‘วีรชัย’ ชายชาวประมงที่ขับรถผ่านมาที่ด่านตรวจ เพื่อจะไปยังท่าเรือเพื่อวางอวนในทะเล โดยวีรชัยได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่า เป็นชาวประมง แต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อและนำตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจะนะ โดยไม่ได้รับสิทธิในการติดต่อกับญาติ

ต่อมา เมื่อญาติทราบข่าวจึงมาขอประกันตัวแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ โดยระหว่างการควบคุมตัวพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ อส. ที่จับกุมและได้ความว่า “พื้นที่จับกุมไม่ได้เป็นบริเวณท่าเรือ จึงฟังไม่ได้ว่า จะเดินทางไปทำการประมงตามอ้าง”

อย่างไรก็ดี ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะต้องพาตัววีรชัยไปขออำนาจศาลเพื่อฝากขัง พนักงานสอบสวนได้แจ้งกับทนายความว่า วีรชัยได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพและถูกนำตัวไปส่งฟ้องที่ศาลจังหวัดนาทวี โดยศาลสั่งปรับเป็นเงิน 5,000 บาท

จุดที่น่าสนใจในคดีดังกล่าวคือ ตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 3 ได้ระบุให้ กลุ่มที่ประกอบอาชีพซึ่งจำเป็นต้องกระทำภายในช่วงเวลาพิเศษ ได้แก่ ผู้เข้าออกเวรยามที่กำหนดไว้ตามปกติของทางราชการ เอกชนหรือโรงงาน หรือการดูแลรักษาความปลอดภัย ผู้ทำการประมง กรีดยาง และตรวจรักษาสัตว์ ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องการออกนอกเคหสถาน ดังนั้น ชาวประมงที่เดินทางนอกเหนือเวลาเคอร์ฟิวจึงไม่ควรมีความผิด นี่คือตัวอย่างของการใช้กฎหมายโดยไม่เข้าใจขอบเขตและแม่นในตัวบทกฎหมาย

 

Author

ณัชปกร นามเมือง
ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี และเลือกหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า