ลอสแอนเจลิส-เมลเบิร์น-บอสตัน รวมสารพัดวิธีดับเมืองร้อน คนรวยอาจรอด แต่คนจนอาจถูกทอดทิ้ง

ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นทะลุ 1.15 องศาเซลเซียส มหานครลอสแอนเจลิส เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกาพยากรณ์เอาไว้ว่า ในปี 2050 อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันของเมืองอาจพุ่งสูงถึง 35 องศาเซลเซียส เมืองลอสแองเจลิสไม่รอช้า เริ่มหาทางแก้ไขปัญหาตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากลำพังการหวังพึ่งการสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มในเมืองคงไม่พอ การแก้ไขปัญหาด้วยการออกแบบรายละเอียดเมืองเสียใหม่ เช่น ใช้คอนกรีตพิเศษและสีสะท้อนความร้อน จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่ๆ เพื่อป้องกันเมืองร้อน  

ลอสแอนเจลิสไม่ใช่เมืองเดียวที่เริ่มลงมือหาทางทำให้เมืองเย็นลง รัฐต่างๆ ในประเทศออสเตรเลียก็เริ่มศึกษาวิธีการลดความร้อนของเมืองบ้างแล้ว อาทิ การใช้น้ำเป็นตัวช่วยในการลดอุณหภูมิของทั้งเมือง จนมาตรการดังกล่าวกลายเป็นกฎหมายบังคับใช้ในหลายรัฐของออสเตรเลีย 

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างเมืองเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นนี้กลับมีด้านมืดให้ต้องกังวล เมื่องานศึกษาหลายชิ้นพบว่า การปรับโครงสร้างเมืองให้ ‘เขียว’ ขึ้นกลับยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในเมือง เนื่องจากโครงการรักษ์โลกเหล่านั้นมาพร้อมค่าเช่าที่ที่สูงขึ้น เมื่อคนจนไม่สามารถจ่ายไหวก็ต้องออกจากพื้นที่นั้นไป ปล่อยให้อสังหาริมทรัพย์จำนวนมากตกอยู่ในมือคนร่ำรวยอย่างมหาเศรษฐีต่างชาติ

การทำเมืองให้เย็นลงและไม่ร้อนจนอยู่อาศัยไม่ได้ของหลายเมืองจึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะหากมนุษยชาติล้มเหลวในการลดอุณหภูมิโลกลง อย่างน้อยๆ เมืองและบ้านของใครหลายคนก็จะไม่ใช่สถานที่ที่เลวร้ายมากกว่าเดิมนัก

‘เมืองคูลๆ’ การปรับพื้นถนนและหลังคาทั่วเมืองลอสแอนเจลิส

เมืองใหญ่ระดับ ‘มหานคร’ อย่างลอสแอนเจลิสมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากคลื่นความร้อน (heat waves) ที่พัดเข้ามาไม่ได้ถูกพาออกไปง่ายๆ แต่กลับถูกกักเก็บไว้ตามถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง และอาคารต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทำมาจากคอนกรีตที่มีศักยภาพในการดักจับความร้อนได้ดี

เทคโนโลยี ‘พื้นเย็น’ (cool pavement) จึงถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการดักจับความร้อนของคอนกรีต ด้วยการทำให้คอนกรีตเหล่านั้นมีรูให้น้ำซึมผ่านเข้าออกได้ โดยไม่ลดทอนความแข็งแรงของคอนกรีตลง เมื่อต้องแสงแดด น้ำที่อยู่ภายในจะระเหยขึ้นสู่ด้านบนเพื่อลดความร้อนของพื้นผิวถนนได้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้สีสะท้อนความร้อนควบคู่ไปด้วย เช่น สีที่มีสาร Titanium Dioxide เป็นส่วนประกอบ เพราะช่วยสะท้อนคลื่นอินฟราเรดได้ดีกว่าสีธรรมดาทั่วไป

เทคโนโลยีพื้นเย็นถูกใช้ครั้งแรกในลอสแอนเจลิสในปี 2015 บริเวณสวนสาธารณะบัลบัว  (Balboa Park) และหลังจากพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถลดอุณหภูมิของถนนสายหนึ่งได้ถึง 10-11 องศาเซลเซียส และนวัตกรรมนี้ยังได้รับการสนับสนุนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘LA’s Green New Deal’ 

นอกจากนี้ สภาเมืองลอสแอนเจลิสยังออกกฎให้อาคารใดก็ตามที่สร้างหลังปี 2015 เป็นต้นมา ต้องใช้ ‘หลังคาเย็น’ (Cool Roofs) ซึ่งทาสีที่อ่อนและกันแดดได้ หรือใช้วัสดุอย่างชิงเกิ้ลรูฟ (Shingle Roof) หลังคาในเมืองลอสแอนเจลิสจะต้องทาสีเคลือบที่ผ่านการประเมินจากเทศบาลเมืองว่ากันความร้อนได้จริง 


งานศึกษาของ ดร.โจเซฟ โค (Joseph Ko) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียใต้ (USC) ระบุว่า การติดตั้งพื้นเย็นทั่วเมืองเช่นนี้จะช่วยลดอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งหมดได้ถึง 1 องศาเซลเซียส ข้อโต้แย้งเดียวของ ดร.โค คือ รังสีความร้อนที่สะท้อนขึ้นมาจากถนนตลอดเวลาอาจทำให้ผู้คนที่ใช้ชีวิตโดยรอบรู้สึกไม่สบายตัวนัก จึงมีการทดลองเพื่อปรับปรุงสมรรถนะของพื้นเย็นในห้องแล็บอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างนั้น เมืองลอสแอนเจลิสจึงพึ่งพาการปลูกต้นไม้กว่า 2,000 ต้น เพื่อลดอุณหภูมิควบคู่ไปด้วย

ดร.โจเซฟ โค

แต่ปัญหาคือ ลอสแอนเจลิสอาจไม่สามารถพึ่งพาโครงการปลูกต้นไม้ใหญ่ในระยะยาวได้ งานศึกษาของฮานนาห์ ชแลร์ธ (Hannah Schlaerth) จากมหาวิทยาลัย USC ระบุว่า ต้นไม้บางตระกูล เช่น ปาล์ม จะปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compound: VOCs) เมื่อสัมผัสความร้อนของเมือง กลายเป็นการสร้างมลภาวะในอากาศเพิ่ม และแม้จะเป็นการเพิ่มพื้นที่เขียวก็จริง แต่ต้นไม้เหล่านั้นกลับกีดขวางไม่ให้ลมพัดมลภาวะเหล่านี้ออกจากเมือง และยังกลายเป็นแหล่งกักเก็บความร้อนสูงเหนือแนวร่มไม้อีกด้วย

‘เมืองคู่น้ำ’ การใช้น้ำลดความร้อนในออสเตรเลีย 

ขณะที่เทศบาลเมืองลอสแอนเจลิสใช้วิธีสร้าง ‘พื้นเย็น’ และปรับหลังคาเพื่อลดอุณหภูมิเมือง ทางฝั่งประเทศออสเตรเลียที่เผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ก็พยายามหาหนทางรับมือด้วยการออกแบบเมืองให้ไวต่อการจัดการกับทรัพยากรน้ำ (Water Sensitive Urban Design: WSUD)

Water Sensitive Urban Design: WSUD

ดร.โคมาลี เยนเนตี (Komali Yenneti) นักวิชาการด้านผังเมืองจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) เสนอว่า การวางระบบจัดการน้ำที่ดี ไม่ว่าจะเป็นระบบ active หรือ passive สามารถช่วยลดอุณหภูมิเฉลี่ยของเมืองได้ถึง 3-8 องซาเซลเซียส ระบบน้ำจึงมักถูกนำไปใช้งานคู่กับโครงการสีเขียวอื่นๆ เพื่อทำให้สถานที่สาธารณะมีอุณหภูมิเย็นลง แต่ระบบนี้ยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายในสถานที่อื่นๆ ของเมืองเท่าที่ควร

ดร.เยนเนตี แยกประเภทการใช้น้ำลดอุณหภูมิของเมืองออกเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่ สปริงเกอร์ (sprinkler) หอคอย (tower) สระน้ำ (pool) น้ำพุ (fountain) และแบบผสมผสาน (combination) โดยค้นพบว่า รูปแบบสปริงเกอร์และหอคอยใช้งานได้ผลที่สุด 

Water Systems: Maximum temperature reduction

หลายรัฐในออสเตรเลียเริ่มนำแนวคิด ‘WSUD’ ไปปรับใช้เป็นกฎหมายกำกับที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ตัวอย่างเช่น รัฐแทสเมเนียได้บังคับใช้กฎหมาย State Stormwater Strategy กำหนดให้ทุกอาคารที่มีโครงสร้างขนาด 500 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีถังขนาดใหญ่เพื่อเก็บกักน้ำฝนไปใช้ประโยชน์ หรือรัฐวิคตอเรียที่ประกาศแผนพัฒนา ‘Victorian Planning Provisions’ กำหนดให้อาคารที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่ต้องวางแผนจัดการน้ำให้ดีขึ้น

Water Sensitive City

ดังนั้น เมื่อหลายรัฐในออสเตรเลียเห็นความสำคัญในการใช้น้ำเพื่อลดอุณหภูมิของเมืองลง ปัญหาจึงไม่ใช่การเพิ่มจำนวนของถังเก็บน้ำฝนขนาดใหญ่ (stormwater) เท่านั้น แต่คือการวางระบบท่อขนาดเล็กจำนวนมากในการเชื่อมถังเหล่านั้นให้ทั่วเขตเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาอุณหภูมิที่แตกต่างกันในแต่ละจุดของเมือง และช่วยให้ทั้งเมืองเย็นลงพร้อมกันได้อย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างการใช้น้ำและโครงสร้างสีเขียวทั้งหมดนี้จะส่งผลโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนเดิมในเขตเมือง และมีผลการศึกษายืนยันว่า การปรับปรุงเมืองไม่เพียงช่วยในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างสุดโต่งได้ด้วย

‘เมืองเขียวๆ’ โครงการสีเขียวกับความเหลื่อมล้ำในบอสตัน

หลายเมืองทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับกระแสปรับปรุงเมืองให้มีสีเขียวมากขึ้น ลดการใช้วัสดุที่สะสมอุณหภูมิ การส่งเสริมความยั่งยืน ไปจนถึงการดำรงชีวิตคู่กับธรรมชาติ ทว่าการสร้างเมือง ‘สีเขียว’ เช่นนี้ ก็มีด้านที่ ‘ดำมืด’ เช่นกัน โดยเฉพาะการเกิด ‘Green Gentrification’ ที่ถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในเมืองอย่างเลวร้าย

“การก่อสร้างโครงการสีเขียว สวนสาธารณะแบบยั่งยืน และบริเวณริมฝั่งน้ำ มักทำให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำถูกบังคับย้ายออก แล้วแทนที่ด้วยบ้านราคาแพงของครอบครัวที่มีรายได้สูง” 

อิซาเบล อันเกลอฟสกี (Isabelle Anguelovski) นักภูมิศาสตร์เมืองจากมหาวิทยาลัยอิสระแห่งบาร์เซโลนา (Universitat Autònoma de Barcelona) เขียนไว้ในบทความ Why green “climate gentrification” threatens poor and vulnerable populations ใน วารสาร PNAS ฉบับที่ 116 

อันเกลอฟสกีเรียก Green Gentrification ว่า ‘ความอยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ’ (climate injustice) รูปแบบหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อราคาซื้อหรือค่าเช่าบ้านและสถานที่รอบๆ โครงการสีเขียวของเมืองเริ่มพุ่งสูงขึ้น กระทั่งบีบให้คนจนต้องย้ายออกจากพื้นที่เหล่านั้นในที่สุด ปัญหานี้ยิ่งเลวร้ายเมื่อพบว่า ชนชั้นล่างๆ มีส่วนร่วมในการก่อปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับชนชั้นอื่นๆ แต่กลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะนอกจากเข้าไม่ถึงโครงการพื้นที่สีเขียวของเมืองแล้ว ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาใดๆ 

Climate Ready Boston Plans

ตัวอย่างสำคัญคือ โครงการสีเขียวในเมืองบอสตันตะวันออก (East Boston) โครงการภาครัฐอย่าง ‘Climate Ready Boston Plans’ ทำนายตั้งแต่ปี 2017 ว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของเมืองจะถูกน้ำท่วมเมื่อเกิดพายุขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้แผนพัฒนาเมืองของรัฐและแผนธุรกิจของเอกชนในบอสตันจึงเริ่มใส่ใจกับโครงการสีเขียวมากขึ้น ตั้งแต่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสร้างเขื่อนและสวนเพื่อเป็นจุดรับน้ำตลอดความยาว 47 ไมล์ของชายฝั่งบอสตัน ขณะเดียวกันเอกชนเจ้าของโครงการที่อยู่อาศัยอย่าง Clippership Wharf ก็ได้สร้างที่พักสีเขียวขึ้นใหม่หลายร้อยชั้น โดยมีค่าเช่าเริ่มต้น 2,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่วนที่อยู่อาศัยและอาคารเก่าๆ รวมถึงพื้นที่ชุมชนอีกมากกลับถูกกีดกันออกและปล่อยให้เผชิญความเสี่ยงน้ำท่วมขังในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ นอกจากจะทำให้ค่าเช่าที่ดินและราคาบ้านแพงขึ้นทันทีแล้ว Green Gentrification ในบอสตันตะวันออกยังแบ่งแยกคนรวยและคนจนด้วย ในขณะที่คนรวยปลอดภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต คนจนกลับโดนกีดกันและทิ้งให้เผชิญความเสี่ยง นอกจากนี้ การบังคับย้ายที่อยู่อาศัย (displacement) จากกระบวนการเปลี่ยนเมืองเป็นสีเขียวยังสร้างปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาอีกจำนวนมาก

(อ่านเรื่องผังเมืองกับการบังคับย้ายถิ่นฐานของผู้อยู่อาศัยได้ที่ เจน เจคอบส์ นักคิดผู้พลิกชีวิตเมือง: เมื่อผังเมืองหลงลืมผู้คน)

สิ่งที่ทำให้อันเกลอฟสกีกังวล ไม่ใช่การที่โครงการสีเขียวจะเปลี่ยนเมืองให้เป็นของชนชั้นกลางเท่านั้น แต่เธออธิบายว่า หากปล่อยให้กระบวนการเช่นนี้พัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างไร้การควบคุม ท้ายที่สุดแทบทุกอาชีพที่เป็นผู้ทำให้เมืองมีชีวิต อย่างครู ตำรวจ บุคลากรด้านสาธารณสุข คนขับรถขนส่ง และอาชีพอื่นๆ จะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตในเมืองไหว ไม่เว้นกระทั่งชนชั้นกลางเอง จนเป็นเหตุให้โครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเบียดบังที่อยู่อาศัยเดิม และถูกกว้านซื้อโดยมหาเศรษฐีต่างชาติ

แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราต้องหยุดพัฒนาเมืองเพื่อรับมือและปกป้องตัวเองจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน (อ่านเรื่องการสร้างเมืองพลวัตได้ใน วิจิตรบุษบา มารมย์: ‘เมืองพลวัต’ ทางรอดของมหานครก่อนถึงวันจมบาดาล) ถึงที่สุดแล้ว เราต้องพยายามหาทางเพิ่มพลวัตของเมืองเพื่อรับแรงกระแทกจากธรรมชาติในอนาคต แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางออกนโยบายควบคุมค่าเช่าและค่าครองชีพให้ยังอยู่ในระดับที่ชาวเมืองทุกคนสามารถดำรงชีวิตปกติต่อไปได้ด้วย

ดังนั้น เมืองที่กำลังเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการใช้ความรู้เชิงเทคนิคหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ หากต้องร่วมมือกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์ เพื่อไม่ให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวการสร้างปัญหาและความเสี่ยงทางสังคมอื่นๆ ขึ้นมาแทน และเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมีส่วนร่วมมือกันสร้าง

ที่มา
  1. Eight warmest years on record witness upsurge in climate change impacts 
  2. Los Angeles is becoming too hot to bear. Can it design its way cooler?
  3. Why green “climate gentrification” threatens poor and vulnerable populations
  4. Cities Fighting Climate Woes Hasten ‘Green Gentrification’
  5. After another hot summer, here are 6 ways to cool our cities in future
  6. Watering our cities: The capacity for Water Sensitive Urban Design to support urban cooling and improve human thermal comfort in the Australian context

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า