โรคระบาดกลางฤดูฝุ่น รัฐไทยอย่าประมาท เมื่อมลภาวะอากาศผนึกกำลังกับไวรัส

เราใส่หน้ากากกันมากี่ปีแล้วครับ?

ผู้อ่านที่อยู่ต่างจังหวัดอาจตอบว่า เพิ่งใส่หน้ากากตอนโควิด-19 เริ่มระบาด แต่ผู้อ่านในจังหวัดเชียงใหม่ สระบุรี และกรุงเทพฯ อาจตอบว่า ใส่หน้ากากมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ไม่ใช่เพื่อป้องกันโรค แต่เพื่อป้องกันฝุ่นที่มาเยี่ยมเยือนอย่างหนักในบางฤดูกาล

บทความนี้ ผมอยากเล่าเรื่องมลภาวะอากาศ มันคืออะไร มีที่มาอย่างไร แพร่กระจายด้วยวิธีใด ส่งผลกระทบอะไร รับมืออย่างไร เกี่ยวข้องกับโรคระบาดอย่างไร และทำไมเราจึงต้องตระหนักถึงผลเสียของมัน

ความหมายของมลภาวะอากาศ

โลกของเราถูกห่อหุ้มด้วยก๊าซนานาชนิด เรียกว่า บรรยากาศ (atmosphere) ส่วนก๊าซที่เราใช้หายใจเรียกว่า อากาศ (air) ซึ่งจะประกอบด้วยไนโตรเจน 78 ส่วน ออกซิเจน 21 ส่วน ที่เหลือคือก๊าซอาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ นีออน ฮีเลียม มีเทน คริปตอน ไอน้ำ และอื่นๆ 

คนสมัยก่อนเชื่อว่า อากาศที่สะอาดจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี ส่วนอากาศที่สกปรกจะเป็นสาเหตุของอาการป่วย ความเชื่อนี้เรียกว่า ทฤษฎีอายพิศม์ (miasma theory) แต่ภายหลังนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ตัวการที่ทำให้เราป่วยคือ เชื้อโรคที่อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างหาก ไม่ใช่อากาศ

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อว่าอากาศสกปรกเป็นเหตุแห่งความเจ็บป่วยก็ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเสียทีเดียว เพราะอากาศที่เจือปนด้วยมลสาร (pollutant) ในปริมาณที่มากพอ และคงอยู่เป็นระยะเวลานานพอ หรือที่เรียกว่า มลภาวะอากาศ (air pollution) จะก่อให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม 

มลภาวะอากาศมีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือแก๊สก็ได้ โดยส่วนประกอบของสภาพอากาศท้องถิ่นจะสัมพันธ์กับลักษณะของลมฟ้าอากาศ ชนิดและปริมาณของสิ่งเจือปนที่อยู่ในอากาศ ณ ช่วงเวลานั้น มลภาวะอากาศที่สำคัญได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และอนุภาคมลสาร แต่สิ่งที่กระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจปัญหามลภาวะอากาศมากที่สุดคงจะเป็นฝุ่นที่ปกคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

คนไทยส่วนใหญ่เพิ่งรู้จักฝุ่นขนาดเล็กที่เรียกว่า PM2.5 และฝุ่นขนาดใหญ่กว่าที่เรียกว่า PM10 เมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดย PM ย่อมาจาก Particle Matter ที่หมายถึงวัตถุขนาดเล็ก และตัวเลขต่อท้ายจะบอกว่า ฝุ่นดังกล่าวมีขนาดไม่เกินกี่ไมครอน (micron) (1  ไมครอนมีค่าเท่ากับ 1 ในล้านส่วนของ 1 เมตร) ดังนั้น PM2.5 จึงหมายถึงฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ส่วน PM10 หมายถึงฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน

ขนาดของฝุ่น PM2.5 และ PM10 เมื่อเทียบกับเม็ดทรายและเส้นผมมนุษย์ | photo: www.epa.gov

สาเหตุของมลภาวะอากาศ

ฝุ่น ควัน ก๊าซ สารระเหย และกลิ่นเหม็น อยู่กับเรามานานหลายสิบปีแล้ว เพียงแต่มีแหล่งกำเนิด ชนิด ปริมาณ ผลกระทบ และความรุนแรงแตกต่างกันไปตามสถานที่และช่วงเวลา สิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบก็ต่างกัน โดยบริเวณแหล่งกำเนิดจะมีความเข้มข้นของมลภาวะมากกว่าบริเวณที่ไกลออกไป 

ตัวผมเองป่วยออดๆ แอดๆ มาตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านเกิดที่จังหวัดสระบุรีเต็มไปด้วยเหมืองหินปูนซีเมนต์ รถบรรทุกที่ทำเศษดินหล่นฟุ้งตามท้องถนน และการก่อสร้างถนนที่ไม่รู้จักจบสิ้น แถมชาวบ้านบางส่วนยังนิยมกำจัดขยะหรือวัชพืชด้วยการจุดไฟเผา

ฝุ่นควันปกคลุมอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี วันที่ 31 มกราคม 2562

แหล่งกำเนิดของมลภาวะอากาศสามารถจำแนกออกเป็นแหล่งกำเนิดบนพื้นดินและแหล่งกำเนิดเหนือพื้นดิน แหล่งกำเนิดแบบอยู่กับที่ เช่น บ่อขยะ ปล่องควันของโรงงาน หรือไร่นาที่ถูกเผา และแหล่งกำเนิดเคลื่อนที่ เช่น รถยนต์ สิ่งที่ควรทราบคืออากาศขมุกขมัวไม่ได้มีแค่ฝุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหมอกควันสกปรกที่เรียกว่า สม็อก (smog) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาเคมี และแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1. สม็อกแบบเคมี-แสง (photochemical smog) เกิดจากแสงอาทิตย์ทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมันของรถยนต์ และบางส่วนมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ตัวอย่างของสม็อกประเภทนี้คือ ปัญหาหมอกควันพิษครั้งใหญ่ในนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1943 

2. สม็อกแบบซัลเฟอร์ (sulfurous smog) เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหินและสสารที่มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก เมื่อปี 1952 สม็อกดังกล่าวเคยทำให้กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จมอยู่ท่ามกลางหมอกควันพิษ จนมีผู้เสียชีวิตถึง 12,000 คน

กระบวนการเกิดสม็อกแบบเคมี-แสง | photo: G. Tyler Miller, Jr. and D. Hackett

เหตุการณ์ Great Smog of London ปี 1952

นอกจากมลภาวะอากาศที่เกิดจากมนุษย์ มลภาวะอากาศตามธรรมชาติก็มีเหมือนกัน ตัวอย่างเช่นละอองลอยพื้นหลัง (background aerosol) ที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ การลุกไหม้ของไฟป่า การพัดพาของพายุทราย การฟุ้งกระจายของดิน และอนุภาคเกลือทะเล

สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘ป่า’ ก็สร้างมลภาวะอากาศได้ด้วย เนื่องจากพืชจะปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่สามารถทำปฏิกิริยาเคมีกับแสงอาทิตย์และไนโตรเจนออกไซด์ แล้วกลายเป็นก๊าซโอโซน ละอองลอยอินทรีย์ทุติยภูมิ (secondary organic aerosol) และแกนควบแน่นของเมฆ (cloud condensation nuclei)

การปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายของป่า | photo: Defeng Zhao

ตรงนี้ ผมต้องขอย้ำว่า ป่าไม่ใช่ผู้ร้ายนะครับ เพราะไนโตรเจนออกไซด์ที่ทำปฏิกิริยาเคมีกับสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ส่วนใหญ่ก็มาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การขับขี่รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม หรือการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่มากเกินควร

การแพร่กระจายของมลภาวะอากาศ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มลภาวะอากาศกระจายตัว หลังถูกปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิด ก็คือ ‘ลม’ เราจึงต้องนำความรู้ทางอุตุนิยมวิทยา (meteorology) มาวิเคราะห์และพยากรณ์ว่า มลภาวะอากาศจะกระจายตัวอย่างไรและคงอยู่นานเท่าไหร่ 

ผู้อ่านลองจินตนาการถึงควันที่ลอยออกมาจากปล่องไฟ ควันที่มีลักษณะต่อเนื่องเป็นทางยาว เรียกว่า พลูม (plume) ส่วนควันที่มีลักษณะเป็นก้อนไม่ต่อเนื่อง เรียกว่า พัฟฟ์ (puff) พฤติกรรมของควันจะขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของอากาศ หากอากาศค่อนข้างนิ่ง ควันจะเคลื่อนที่เป็นแนวตรงและกระจายตัวช้า แต่ถ้าอากาศไม่นิ่ง ควันจะเคลื่อนที่แบบปั่นป่วนและกระจายตัวเร็ว

ลักษณะของพัฟฟ์และพลูม / photo: István Lagzi

ลักษณะการเคลื่อนที่ของพลูม | photo: Geiger et al. 1995

ปกติแล้วบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ (troposphere) ที่อยู่ติดกับพื้นผิวโลกจะมีลักษณะ ‘ยิ่งสูง ยิ่งหนาว’ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ ทั้งแนวตั้งและแนวนอน แต่บางครั้งก็อาจเกิดปรากฏการณ์ที่มวลอากาศอุ่นแทรกตัวอยู่เหนือมวลอากาศเย็น หรือมวลอากาศเย็นแทรกตัวอยู่ใต้มวลอากาศอุ่น หรือมีความกดอากาศกลุ่มหนึ่งมากดทับความกดอากาศอีกกลุ่มหนึ่ง ผลคืออากาศจะไม่เกิดการไหลเวียนและฝุ่นละอองจะลอยนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า อุณหภูมิผกผัน (thermal inversion)

รูปแบบอากาศปกติและปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน | photo: https://www.sciencelearn.org.nz/

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือ ‘ลักษณะทางภูมิศาสตร์’ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมืองใหญ่ที่มีตึกสูงเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก หากภายในเมืองมีรถยนต์เยอะ ถนนน้อย และการจราจรติดขัด ตึกสูงจะขัดขวางการไหลเวียนของอากาศ มลพิษที่รถยนต์ปลดปล่อยออกมาจึงกระจุกตัวหรือลอยค้างเติ่งอยู่ที่เดิมเป็นเวลานาน ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดกับพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะหรือมีภูเขาล้อมรอบได้เช่นกัน

บางครั้ง แหล่งกำเนิดของมลภาวะอากาศก็อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วลอยข้ามเขตแดนมายังประเทศไทย เรียกว่า มลภาวะอากาศข้ามเขตแดน (transboundary air pollution) ซึ่งธรรมชาติไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนดังกล่าว แต่มนุษย์เป็นคนกำหนดเส้นสมมติเหล่านี้ขึ้นเอง มลภาวะอากาศของประเทศที่มีเขตแดนติดกันจึงกลายเป็นปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ

ผลกระทบของมลภาวะอากาศ

ผู้อ่านทุกท่านคงทราบว่า อากาศจะดีหรือไม่ดีสามารถพิจารณาได้จากดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) ที่ประกอบด้วย PM2.5 PM10 ก๊าซโอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ 

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า มลภาวะอากาศสัมพันธ์กับการเกิดโรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคหอบหืด โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคสมองอักเสบ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย และผู้ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากมลภาวะอากาศมากกว่าคนกลุ่มอื่นคือ เด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา และคนมีโรคประจำตัว 

ดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ วันที่ 10 มกราคม 2566 | photo: www.iqair.com

มลภาวะอากาศยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์ การสังเคราะห์แสงของพืช การสึกกร่อนของสิ่งก่อสร้าง และทัศนวิสัยในการมองเห็น รวมถึงมีส่วนเพิ่มโอกาสการลุกลามของไฟป่าในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศแบบร้อน-แห้ง หรือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน (heat wave) เพราะก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับไนโตรเจนออกไซด์จะทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำแล้วกลายเป็นฝนกรด (acid rain) เมื่อฝนกรดตกลงสู่ป่าบ่อยๆ จุลินทรีย์บอบบางที่ทำหน้าที่ย่อยสลายใบไม้ ก็จะถูกทำลาย ใบไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้นดินจึงไม่ถูกย่อยสลาย แต่จะสะสมพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อฟ้าผ่าลงมา ไฟป่าจึงลุกลามได้ง่าย

ความจริงแล้ว มลภาวะอากาศไม่ได้มีแค่ผลร้าย แต่มีผลดีด้วยนะครับ ผมขอยกตัวอย่างฝุ่นที่ลอยมาจากภูเขาไฟและทะเลทราย ฝุ่นเหล่านี้จะอุดมด้วยแร่ธาตุที่มีประโยชน์ เมื่อแร่ธาตุจากฝุ่นร่วงหล่นลงสู่ผืนป่าและท้องทะเล ก็จะกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ทำให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ ไม่เพียงเท่านั้น ฝุ่นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศยังทำหน้าที่บดบังแสงอาทิตย์บางส่วน อุณหภูมิของโลกจึงต่ำลง และลดโอกาสในการก่อตัวของพายุด้วย

เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจคือ หากเราไม่มีสมาร์ตโฟนเพื่ออ่านค่าดัชนีคุณภาพอากาศบนอินเทอร์เน็ต เราสามารถสังเกตสีของท้องฟ้าและดวงจันทร์เพื่อประเมินคุณภาพอากาศได้ หากท้องฟ้าหรือดวงจันทร์มีสีแดงคล้ำกว่าปกติ ก็หมายความว่าในบรรยากาศมีฝุ่นเยอะ เพราะฝุ่นทำให้แสงอาทิตย์เกิดการกระเจิง (scattering) แสงสีอื่นจึงถูกกรองออกไป จนเหลือแต่แสงสีแดงนั่นเอง

การรับมือมลภาวะอากาศ

เมื่อกรุงเทพฯ และปริมณฑลถูกปกคลุมด้วยม่านฝุ่นสีขาวขมุกขมัว หน่วยงานราชการหลายแห่งก็ร่วมแรงร่วมใจออกมาพ่นละอองน้ำ แต่ความจริงแล้วการพ่นละอองน้ำมีประสิทธิภาพในการลดปริมาณฝุ่นต่ำมาก เพราะละอองน้ำขนาดเล็กจะระเหยไปก่อนจะทันจับตัวกับฝุ่น ส่วนละอองน้ำขนาดใหญ่จะหล่นลงพื้นก่อนจะจับฝุ่นได้ทัน แถมการพ่นละอองน้ำให้ทั่วเมืองก็สิ้นเปลืองน้ำปริมาณมาก และทำให้พื้นเปียกจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้

การรับมือมลภาวะอากาศมี 2 แนวทางหลัก คือ ป้องกันไม่ให้มลภาวะอากาศสัมผัสร่างกาย และลดปริมาณมลภาวะอากาศ 

วิธีที่เราสามารถทำได้เองคือ การสวมหน้ากาก N95 ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ และปลูกต้นไม้ที่ใบมีลักษณะเป็นพุ่ม ส่วนภาครัฐก็ต้องมีกฎหมายควบคุมการเผาและการปล่อยมลภาวะ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างทั่วถึง ปรับปรุงเทคโนโลยีที่ปล่อยมลภาวะให้สะอาดขึ้น พัฒนาเทคโนโลยีดักจับมลภาวะ สนับสนุนยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า วางรากฐานระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมนโยบายประหยัดพลังงาน และให้ความสำคัญกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านมลภาวะสิ่งแวดล้อม (environmental pollution) และภูมิอากาศวิทยา (climatology) เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ การแพร่กระจาย ผลกระทบ และการพยากรณ์ลักษณะของมลภาวะอากาศในระยะยาว

มลภาวะอากาศกับโรคระบาด

ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่า ประเทศไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน และเชื่อมั่นว่า ระบบสาธารณสุขไทยมีศักยภาพรับมือการระบาดครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าปลายเดือนธันวาคม 2565 หน่วยงานรัฐของอิตาลีเพิ่งตรวจพบว่า ชาวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวติดโรคโควิด-19 เกือบครึ่งก็ตาม

การกลับมาเยือนของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงฤดูหนาวที่มีการกระจายตัวของฝุ่น ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่ากังวลนะครับ เพราะอากาศเย็นในฤดูหนาวจะทำให้ไวรัสมีอายุขัยยืนยาวขึ้น และไวรัสยังสามารถเกาะกับฝุ่นที่ล่องลอยไปตามลมได้ด้วย งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า มลภาวะอากาศสัมพันธ์โดยตรงกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พูดง่ายๆ คือ ฝุ่นยิ่งเยอะ โรคยิ่งร้ายนั่นเอง

ผมประเมินว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่ความรุนแรงของโรคอาจไม่มากเท่าการระบาดระลอกแรกๆ เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในระดับหนึ่งแล้ว เว้นเสียแต่ว่าไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ (mutation) ให้รุนแรงกว่าเดิม 

ดังนั้น เราจึงห้ามประมาท และควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด หมั่นล้างมือให้สะอาด รักษาระยะห่างทางกายภาพ และเลือกฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพ เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเสื่อมถอยลงตามกาลเวลา ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องมีมาตรการคัดกรอง จัดเตรียมยา วัคซีน และบริการทางการแพทย์ เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจอยู่เหนือการคาดหมาย เพราะคนที่ติดเชื้ออาจมีอาการโควิดเรื้อรัง (long COVID) ซึ่งยังเป็นเรื่องใหม่ที่อยู่ระหว่างการศึกษา และไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง

มลภาวะทางอากาศและสิทธิขั้นพื้นฐาน

อย่างที่เล่าไปตั้งแต่ต้น ปัญหามลภาวะอากาศไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบ้านของผมในจังหวัดสระบุรีประสบปัญหานี้มานานหลายสิบปี จนชาวบ้านจำนวนมากป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ แต่รัฐก็ไม่เคยเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาเลยสักครั้ง และแม้ปัญหาเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมลฑล รัฐก็ยังคงไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ

พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐกำลังปกป้องนายทุนและผลักภาระให้ประชาชนดูแลตัวเอง คนมีเงินสามารถซื้อหน้ากาก เครื่องฟอกอากาศ และจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองได้ไม่ยาก แต่สำหรับคนจน คงเป็นเรื่องยากที่จะไขว่คว้าสิ่งเหล่านี้มาปกป้องตัวเอง ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนจึงยิ่งถูกขยายให้กว้างขึ้น

อากาศที่ห่อหุ้มโลกเป็นทรัพยากรที่มนุษย์ สัตว์ พืช และทุกชีวิตบนโลก ใช้หายใจร่วมกัน หากมนุษย์ยังไม่ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเผชิญ มลภาวะอากาศอาจไม่ได้มาเยี่ยมเยือนเราแค่บางฤดูกาล แต่อาจอยู่กับเราตลอดทั้งปี จนต้องใส่หน้ากากกันฝุ่นและเชื้อโรคตลอดเวลา 

คงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องเข้าใจตรงกันว่า การมีอากาศสะอาดให้หายใจเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกชีวิต

อ้างอิง

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า