ธรรมศาสตร์เตรียมนำเข้าวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ ช่วยปลดล็อควิกฤติโควิด-19

หลังจากมีมติโดยเอกฉันท์ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 8/2564 ที่เห็นชอบให้ประกาศใช้ ‘ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564’ โดย ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยได้ลงนามประกาศใช้ข้อบังคับดังกล่าวในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 

โดยข้อบังคับดังกล่าวมีเพื่อประกาศภารกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการทั้งในประเทศ และต่างประเทศเกี่ยวกับการจัดหา นำเข้า หรือขึ้นทะเบียน บรรดาสิ่งจำเป็นทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้เอง โดยเป็นไปในแนวทางเดียวกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ทั้งนี้ จากการรายงานของสำนักข่าว ไทยโพสต์ ให้ข้อมูลว่า ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต ปทุมธานี เป็นผู้นำเสนอวาระเรื่องขอให้ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุมัติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยออกประกาศข้อบังคับดังกล่าว 

โดยให้เหตุผลและความจำเป็นว่า เนื่องจากขณะนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มีผู้ป่วยโควิด-19 กำลังรักษาตัวอยู่จำนวนมาก รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ก็ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ซึ่งหากรอวัคซีนที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ อาจไม่เพียงพอ และล่าช้าเกินไป สำหรับสถานการณ์วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น อีกทั้งเห็นว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สามารถออกข้อบังคับนำเข้าวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์เองได้ จึงได้เสนอขอให้สภา มธ. อนุมัติหลักการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้แถลงถึงรายละเอียดของการจัดหาวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

โดยกล่าวว่า สำหรับผู้ปฏิบัติ และผู้มีอำนาจในการจัดหาจัดซื้อ หรือดำเนินการต่างๆ สภามหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจโดยตรง ซึ่งในส่วนนี้จะมีการเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแล ทั้งระดับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุข และคณะเภสัชกรรม ดำเนินการต่อไป

นำเข้าวัคซีนทางเลือกเพื่อปลดล็อควิกฤติ

เพื่อปลดล็อคและช่วยคลี่คลายวิกฤติให้ดีขึ้น รศ.นพ.พฤหัส กล่าวว่า การช่วยแก้ปัญหาเรื่องการนำเข้าวัคซีนต้องดูที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ โดยขณะนี้มีการนำเข้าวัคซีน เช่น ซิโนแวค แอสตราเซเนกา หรือแม้แต่วัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์ และวัคซีนทางเลือกอย่างซิโนฟาร์ม ที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามาแล้ว หรือโมเดอร์นาที่ทางภาคเอกชนนำเข้ามาด้วย 

ซึ่งทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ตั้งเป้าว่าจะไม่นำเข้าวัคซีนเหล่านี้เพิ่มเติม แต่จะนำเข้าวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ และเป็นวัคซีนที่มีการพัฒนาจากเดิม เช่น วัคซีนโนวาแวกซ์ (Novavax) เพื่อป้องกันไวรัสโควิดสายพันธ์ุใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นต้น 

แต่อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัคซีนทางเลือกนี้จะดำเนินการในช่วงปี 2565

“ต้องเรียนว่ามันขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีนที่จะออกมาด้วย อย่างตอนนี้ถ้าพูดถึง mRNA คงไม่ทันแล้วเพราะจองกันยาว เราอยากได้กลุ่มวัคซีนที่พัฒนาขึ้นเป็นรุ่นสอง ที่เพิ่มเติมจากปัจจุบัน หรือวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ ถ้าถามว่านำเข้าตอนไหนคงยังตอบไทม์ไลน์ได้ไม่ชัด แต่ปีหน้าแน่นอน ซึ่งระหว่างนี้หากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น เช่น เทคโนโลยีใหม่ยังไม่ออก หรือภาครัฐดำเนินการไม่เพียงพอ เราก็จะไปทำตรงนี้ได้” รศ.นพ.พฤหัส กล่าว

ส่วนในเรื่องของราคาหรือค่าใช้จ่าย ผอ. กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร แต่หากพูดเชิงงบประมาณ โรงพยาบาลไม่ได้งบสนับสนุนจากที่ใด นอกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง

ฉะนั้นเรื่องค่าใช้จ่ายวัคซีนจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 

กล่าวคือ หากองค์กรหรือหน่วยงานใดที่ประสงค์จะได้วัคซีนทางเลือกนี้ ต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย โดยตัวอย่างที่ ผอ. ยกขึ้นมา คือ สอท. หรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่สามารถซื้อเพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนในระดับโรงงานได้ และมหาวิทยาลัย หรือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ 

เร่งจัดหาชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น

นอกเหนือจากวัคซีนแล้ว การนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ชุดตรวจ ผอ. ชี้ว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรดำเนินการ เพราะมีปัญหาในเรื่องราคา ซึ่งหากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรตินำเข้ามาได้ก็จะทำให้เห็นราคาที่แท้จริง และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น 

“ผมคิดว่าเรื่องที่เป็นตัวเร่งด่วนน่าจะเป็น เรื่องของ ATK (Antigen Test Kit) เพราะคิดว่าตรงนี้เราอาจจัดการดูก่อนเพื่อให้เห็นส่วนของราคาที่แท้จริง เรื่องการเข้าถึงของประชาชน เหมือนกับการแก้ปัญหาสองส่วนเรื่องราคา ประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย เรามีความตั้งใจอย่างนั้น” ผอ. กล่าว

พร้อมศึกษา ทดลอง วิจัย และค้นคว้า ‘ยา’ ให้ก้าวหน้าต่อไป

การดำเนินการหลังมีข้อบังคับใช้ดังกล่าว รศ.นพ.พฤหัส เสริมว่า ในเรื่องยา เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่ามีความยากลำบาก เนื่องจากยังไม่มียาตัวไหนที่พิสูจน์ได้ว่าสามารถรักษาโควิด-19 ได้ผลดี ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ และแอนติบอดี้ค็อกเทล ที่ มธ. ได้นำเข้ามา

แต่ถึงอย่างนั้น ทางโรงพยาบาลก็มีความต้องการที่จะนำยาต่างๆ มาศึกษา ทดลอง วิจัย และค้นคว้า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป 

อ้างอิง

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า