ผู้ประกันตน ม.33 อยู่ตรงไหนในชัยชนะของ ‘เราชนะ’

29 มกราคม 2564 วันแรกของการเปิดลงทะเบียนออนไลน์โครงการ ‘เราชนะ’ สำหรับกลุ่มที่ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’

กุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ระบบการลงทะเบียนของ ธ.กรุงไทย ไม่มีปัญหาขัดข้องแต่อย่างใด สามารถรองรับการลงทะเบียนได้ 5 แสนคนต่อวินาที รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนต่อเนื่อง จากวันที่ 29 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2564 ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น. เพราะไม่ได้จำกัดจำนวนผู้ลงทะเบียน ทั้งนี้ ใน 2 ชั่วโมงแรก มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 2 ล้านคน

มาตรการนี้ รัฐบาลออกมาเพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพ ด้วยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชน 31.1 ล้านราย ใช้เงินในโครงการทั้งสิ้น 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งจากการออกมาให้ข้อมูลตั้งแต่แรกของ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถสรุปแนวทางการจ่ายเงินเยียวยาโควิดในมาตรการเราชนะออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

  1. กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ประมาณ 14 ล้านราย)
  2. กลุ่มผู้ที่มีแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง
  3. กลุ่มที่ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในระบบ หรือ มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ลงทะเบียน แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียน

จะเห็นว่า แรงงานในกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ไม่ได้รับสิทธิในมาตรการเยียวยาในครั้งนี้

ผู้ประกันตน มาตรา 33 มีจำนวนกว่า 11 ล้านคน เป็นกลุ่มบุคคลที่หลุดเงื่อนไขการพิจารณารับเงินเยียวยาในมาตรการ ‘เราชนะ’ จำนวน 7,000 บาท จากรัฐบาล

ปฏิกิริยาจากฝั่งแรงงานคือการบุกทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามสิทธิที่หายไป ธนพร วิจันทร์ ประธานเครือข่ายเเรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า แรงงานในกลุ่มมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ กำลังเผชิญกับปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่การระบาดในรอบแรกเช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบ การไม่ได้รับการเยียวยาทำให้แรงงานกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการตกงาน เพราะหลายบริษัทปรับลดโครงสร้างต้นทุน โยนภาระไปให้ลูกจ้าง เช่น ลดวันทำงาน ไม่จ่ายเงินโอที ลาโดยไม่ได้รับเงินเดือน เป็นการถูกบีบให้ไปอยู่ในแรงงานนอกระบบ

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลปรับโครงสร้างงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น งบของกองทัพ ที่ใช้เงินไปโดยไม่จำเป็น และพิจารณาให้สิทธิแรงงานข้ามชาติเท่าเทียมกับประชาชนทุกคน รวมถึงปรับวิธีการรับเงินเยียวยาเป็นเงินสดเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ เนื่องจากมีผู้เข้าไม่ถึงสิทธิเพราะไม่มีสมาร์ทโฟนเป็นจำนวนมาก

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 28 มกราคม 2564 สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรณีที่มีการเรียกร้องให้เยียวยากลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ผู้ประกันตนมาตราดังกล่าวมีประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรีได้หารือร่วมกันถึงรูปแบบการจ่ายเงินเยียวยาว่าจะมีเงื่อนไขอย่างไร

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา มีความเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้ลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของลูกจ้าง จาก 3% หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 450 บาท เหลือ 0.5% หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 75 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน (กุมภาพันธ์-มีนาคม) 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เกณฑ์การพิจารณาการให้เงินเยียวยากลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 เบื้องต้น จะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้ฐานรายได้เท่าไหร่เป็นเกณฑ์ตัดสิน เช่น อาจจะมีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาท ต่อปี

ระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนออกมาจากภาครัฐ กลุ่มผู้ประกันตนจำนวน 11 ล้านคน ก็คงได้แต่ภาวนาให้เพื่อนร่วมประเทศที่กำลังลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิโครงการ ‘เราชนะ’ เป็นวันแรก ได้รับชัยชนะในความหมายของชัยชนะที่แท้จริง

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า