จริยธรรมไม่ครบโดส วัคซีนโควิด-19 ในความอับจนของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

ขณะที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกกันว่า ‘โควิด-19’ มียอดสะสมทั่วโลกเกินกว่า 126 ล้านคนแล้ว โดยยอดผู้เสียชีวิตสูงกว่า 2.7 ล้านคน หลายประเทศในยุโรปและเอเชียกำลังพิจารณาจะกลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดอีกครั้งเพื่อระงับการระบาดระลอกใหม่ บางประเทศอย่างบราซิลและอินเดีย ต้องเรียกว่ายังไม่สามารถเอาตัวออกจากการระบาดระลอกแรกที่ยาวนานได้ ผสมโรงด้วยเชื้อกลายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่โรคได้มากกว่าปกติหลายเท่าตัว

ดูเหมือนว่า ทั่วโลกจะตั้งความหวังไว้ที่วัคซีนที่จะนำพาโลกกลับสู่ภาวะปกติ มีการเร่งอัตราฉีดถึง 11.3 ล้านโดสต่อวัน ฉีดไปแล้ว 468 ล้านโดส แต่วัคซีนโควิด-19 กลายเป็นสินค้าหรูหราที่ประเทศร่ำรวยสามารถซื้อหา ครอบครอง และสั่งจองได้อย่างรวดเร็ว ประเทศอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป อินเดีย สหราชอาณาจักร บราซิล เยอรมนี ตุรกี รัสเซีย อิสราเอล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนจะเอื้อมถึงได้ในระยะเวลาอันใกล้

ศัตรูที่แท้ในการรับมือโรคระบาด คือการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญา

จากภาพรวมสถานการณ์ข้างต้น อุปสรรคสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน 

ประเทศร่ำรวยต่างๆ ที่มีประชากรรวมกันคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งโลก ได้ทำสัญญาจองซื้อวัคซีนต่างๆ ไปถึง 51 เปอร์เซ็นต์ของวัคซีน 7,480 ล้านโดส หรือกว่าครึ่งของวัคซีนที่จะทยอยผลิตออกมาจนถึงเดือนพฤศจิกายนปีนี้ วัคซีนที่ประเทศร่ำรวยสั่งจองมีจำนวนมากพอที่จะฉีดให้กับครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด แต่ประเทศร่ำรวยเหล่านั้นกลับจองซื้อวัคซีนไว้เกินกว่าจำนวนประชากรของตนเองกว่าเท่าตัว

หากจะก้าวผ่านอุปสรรคนี้ไป ต้องขจัดการผูกขาดเทคโนโลยีการผลิตและการกระจายวัคซีนภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญา

เมื่อตุลาคม 2563 แอฟริกาใต้และอินเดียได้ยื่นข้อเสนอต่อสภาความตกลงทริปส์ (TRIPs Council) ในองค์การการค้าโลก ขอให้มีการยกเว้นการบังคับใช้ความตกลงทริปส์ (การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา) บางมาตราชั่วคราว ทั้งในเรื่องสิทธิบัตร ความลับทางการค้า ลิขสิทธิ์ และการออกแบบทางอุตสาหกรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุม การป้องกัน และการรักษาโควิด-19 เพื่อให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 โดยที่ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และไม่ถือว่าเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

หากสภาความตกลงทริปส์ สามารถมีมติให้ระงับการบังคับใช้บางมาตราของความตกลงได้ จะส่งผลให้ไม่มีอุปสรรคทางทรัพย์สินทางปัญญามาขัดขวางการวิจัยและพัฒนา การผลิต และการจำหน่ายยาและวัคซีน รวมถึงผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีในรูปแบบอื่น ในการจัดการกับปัญหาโควิด-19 ได้ในราคาไม่แพงและครอบคลุมทั่วถึง ไม่จำกัดเฉพาะเพียงประเทศที่ร่ำรวยเช่นทุกวันนี้

118 ประเทศ จาก 164 ประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก สนับสนุนข้อเสนอนี้ 

ดูเหมือนเป็นเสียงส่วนใหญ่ น่ายินดี…แต่มิใช่

ในการประชุมสภาความตกลงทริปส์ เมื่อธันวาคม 2563 ในจำนวนสมาชิกทั้งหมดนั้นมีบางประเทศที่แสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งรวมถึงนิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และประเทศไทย ที่อ้างเหตุผลว่าข้อเสนอยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่รู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ประเทศร่ำรวยที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาและวัคซีนที่กุมศักยภาพการผลิต อาทิ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ฯลฯ ล้วนแสดงท่าทีคัดค้าน 

ต่อมา แคนาดา ชิลี โคลัมเบีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ตุรกี และออสเตรเลีย มีอีกข้อเสนอหนึ่งยื่นต่อองค์การการค้าโลก โดยโต้แย้งข้อเสนอของแอฟริกาใต้และอินเดียว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะในความตกลงทริปส์มีข้อยืดหยุ่นเช่นนั้นอยู่แล้ว

ข้อยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์ที่กล่าวถึง คือ มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ Compulsory Licensing: CL ที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกนำมาตรการนี้มาใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ ดังที่ประเทศไทยเคยประกาศใช้ในปี 2549-2551 กับยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาโรคหลอดเลือดอุดตันและมะเร็ง แต่มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐเป็นมาตรการที่ต้องใช้เวลาและใช้ได้กับสิทธิบัตรเท่านั้น ไม่รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นที่เกี่ยวกับการผลิตวัคซีน

นอกจากนี้ ในข้อเสนอที่ยื่นประกบมาในภายหลัง ยังเสนอให้มีการเจรจาทำสัญญาระหว่างผู้พัฒนาวัคซีนกับผู้ผลิตรายอื่น หรือที่เรียกว่า ‘การใช้สิทธิบัตรโดยสมัครใจ’ (Voluntary Licensing: VL) เพื่อให้มีกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น 

แต่ที่ผ่านมา การใช้สิทธิบัตรโดยสมัครใจยังมีปัญหาในตัวมันเองมาตลอด เพราะเป็นมาตรการเฉพาะคราวและดำเนินการโดยไม่เปิดเผย โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดราคา ดังเห็นได้จากกรณีที่วัคซีนของ AstraZeneca ที่บังคลาเทศและแอฟริกาใต้ซื้อมีราคาแพงกว่าประเทศในยุโรป ซึ่งไม่มีการชี้แจงเหตุผลว่าทำไม

นอกจากนี้ การใช้สิทธิบัตรโดยสมัครใจยังมีปัญหาในเรื่องข้อกำหนดที่เคร่งครัดกับประเทศที่มีสิทธิที่จะขายให้ได้ ดังกรณีตัวอย่างยารักษาโควิด-19 Redemsivir ของบริษัท Gilead ที่ออกใบอนุญาต (การใช้สิทธิบัตรโดยสมัครใจ – VL) ให้กับบริษัทยาในอินเดีย ปากีสถาน และอียิปต์ ผลิตยา Redemsivr ที่เป็นยาชื่อสามัญและขายในราคาที่ถูกกว่ายาต้นแบบได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะขายได้เฉพาะประเทศที่บริษัท Gilead กำหนดเท่านั้น ซึ่งมีประเทศรายได้ปานกลางหลายประเทศไม่อยู่ในรายชื่อที่จะได้รับสิทธินั้น

ดังนั้น การยื่นข้อเสนอประกบโดยแคนาดา ชิลี โคลัมเบีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ตุรกี และออสเตรเลียเช่นนี้ จึงถูกมองว่า เบี่ยงการแก้ปัญหาที่ฐานรากและสร้างภาพพจน์ ทั้งยังเป็นการยื้อเวลาไม่ให้ข้อเสนอที่มาจากการสนับสนุนของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ผ่านความเห็นชอบได้โดยง่าย

“การจะแก้ไขปัญหาการเข้าถึงวัคซีนที่เหลื่อมล้ำนั้น เราจะต้องยกอุปสรรคที่ขัดขวางออกให้หมด ซึ่งรวมถึงความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกด้วย” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกย้ำ

หลายประเทศเดินหน้าทำทันที ไม่ดีแต่พูด

ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาด จนถึงราวกลางปี 2563 บางประเทศเริ่มตระหนักถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงยาเพราะอุปสรรคด้านทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้มีการขยับตัวหลายเรื่อง ทั้งการแก้ไขกฎหมาย ออกประกาศ CL (แต่วิธีการเช่นนี้ ไม่ใช่ทุกประเทศจะสามารถทนต่อแรงกดดันของบริษัทยาข้ามชาติและรัฐบาลมหาอำนาจด้านยาได้)

ชิลี อิสราเอล เอกวาดอร์ แคนาดา และเยอรมนี เร่งแก้ไขกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายในประเทศให้นำมาตรการยืดหยุ่นต่างๆ มาใช้ได้สะดวกและทันเวลา อาทิ แก้ไขกฎหมายให้ทำ CL ได้ง่ายขึ้น ทั้งทำโดยรัฐและโดยเอกชน จนกระทั่งได้มีการประกาศ CL ไว้อย่างกว้างๆ หรือพร้อมที่จะระงับใช้สิทธิบัตรลงชั่วคราว เพื่อให้สามารถผลิตหรือนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาชีวิตผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ไปก่อนหน้านี้แล้ว

มกราคม 2564 รัฐบาลรัสเซียประกาศ CL ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ โดยให้บริษัทยา Pharmasintez JSC ของรัสเซียสามารถผลิตยา Redemsivir ของบริษัท Gilead ของสหรัฐได้ แม้จะติดสิทธิบัตรในรัสเซียก็ตาม โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่เจ้าของสิทธิ แต่ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรของรัสเซียอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อเพิ่มเงื่อนไขการประกาศบังคับใช้สิทธิได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากประเด็นด้านความมั่นคง และเพื่อปกป้องชีวิตและสุขภาพของพลเมือง

มีนาคม 2564 บริษัท Biolyse ผู้ผลิตวัคซีนในแคนาดา จัดแถลงข่าวใหญ่โดย ประกาศว่า หาก Johnson & Johnson (J&J) ยังไม่พิจารณาให้ Biolyse เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมผลิตวัคซีนโควิดทั้งที่ J&J ก็ไม่มีศักยภาพที่เพียงพอ ทางบริษัท Biolyse จะเดินหน้าขอบังคับใช้สิทธิกับรัฐบาลแคนาดา ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นกลไกยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์ที่รัฐบาลอินเดียเคยอนุญาตให้บริษัท Natco Pharma ผลิตยามะเร็งของบริษัทไบเออร์ของเยอรมนีมาแล้ว หากรัฐบาลแคนาดาอนุมัติ นั่นหมายความว่า บริษัท Biolyse จะเข้าถึงข้อมูลที่ติดสิทธิบัตรและลงมือผลิตวัคซีนได้ ทั้งนี้ บริษัท Biolyse ระบุว่า การขอใช้สิทธิครั้งนี้จะไม่เพียงแค่ผลิตเพื่อขายเฉพาะในแคนาดา แต่จะส่งขายไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีศักยภาพการผลิตด้วย

ท่าทีไทยไร้ความกล้า มองไม่เห็นภัยคุกคามทางยา

นอกเหนือจากการที่รัฐบาลไทยจะมีจุดยืนแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่สนับสนุนข้อเสนอของแอฟริกาใต้และอินเดียที่ขอให้ยกเว้นการบังคับใช้ความตกลงทริปส์บางมาตราเป็นการชั่วคราวแล้ว ประเทศไทยยังมีความเคลื่อนไหวที่ดูจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการแก้ปัญหา

มกราคม 2563 ภาคประชาสังคมด้านการเข้าถึงยา ประกอบด้วย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย, ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้หารือร่วมกับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้เร่งพิจารณายกคำขอ (ปฏิเสธ) สิทธิบัตรยา Favipiravir ซึ่งเป็นยาสำคัญในการรักษาโรคโควิด ด้วยเหตุผลว่า “คำขอสิทธิบัตรของบริษัทฟูจิฟิล์ม เป็นแค่การตอกอัดเม็ดให้เล็กเพื่อสะดวกต่อการกิน แต่เขียนคำขอให้กว้างและครอบคลุมไปหมด ซึ่งถือเป็นคำขอแบบ Evergreening ไม่มีความใหม่ ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ยิ่งปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรช้า ประเทศก็ยิ่งเสียโอกาส ขณะที่หากสถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้ จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อคอร์สการรักษาจาก 6,250 บาท ลดลงต่ำกว่า 3,000 บาท” 

ทว่าจนถึงขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับยังไม่พิจารณายกคำขอดังกล่าว

ตั้งแต่กันยายน 2563 กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร โดยเนื้อหาของร่างฉบับดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า จะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ ทำให้ไม่สามารถพัฒนายาที่หมดอายุสิทธิบัตรได้ เนื่องจากยาเหล่านั้นจะถูกคำขอสิทธิบัตรอีกหลายฉบับลากอายุความคุ้มครองผูกขาดออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางยาและการเข้าถึงยาของประชาชน อีกทั้งยังทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภาพรวม

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการพัฒนาและเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาฯ ตั้งข้อสังเกตว่า สาระของร่าง พ.ร.บ.สิทธบัตร ฉบับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่แก้ไขหลายเรื่องเป็นข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ (TRIPs plus) ที่เคยถูกเสนอมาในการเจรจา FTA ต่างๆ ทั้งที่ร่างขึ้นภายหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก แต่ผู้ร่างกลับขาดมุมมองในเรื่องภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งข้อจำกัดของกฎหมายอาจซ้ำเติมวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น อาทิ

  • ทำให้การประกาศใช้มาตรการ CL ยุ่งยากและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาของคนไทยมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันกระทรวง ทบวง และกรม มีอำนาจประกาศใช้ CL ได้เอง แต่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไข กลับต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน และยังอนุญาตให้เจ้าของสิทธิบัตรที่ไม่พอใจกับการประกาศใช้มาตรการ CL สามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อคัดค้านการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐ หรือฟ้องยกเลิกมาตรการได้ถ้าหมดความจำเป็นแล้ว รวมถึงการกำหนดค่าชดเชยจากการใช้ CL ก็มีการแก้ไขให้ผู้ประกาศใช้ต้องเป็นผู้จ่าย โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจที่เจ้าของสิทธิบัตรจะต้องสูญเสีย แทนที่จะคำนึงถึงเศรษฐานะของประเทศผู้ประกาศใช้ เพราะยาถูกผูกขาดและราคาแพง
  • มีการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามของการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองในมาตรา 9(4) ของร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับรับฟังความคิดเห็น ซึ่งอาจทำให้ตีความได้ว่า การบำบัดรักษาโรคสามารถจดสิทธิบัตรได้ ทั้งที่กฎหมายปัจจุบันชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่อนุญาตให้จด
  • แม้การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรจะมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้น แต่ในรายละเอียดกลับลิดรอนสิทธิของภาคประชาสังคมในการตรวจสอบและคัดค้าน โดยให้อำนาจกับอธิบดีเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นผู้มีสิทธิยื่นคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรได้ ซึ่งในกฎหมายปัจจุบันเปิดกว้างว่าเป็น ‘ผู้ใด’ ก็ได้ นอกจากนี้ ยังจำกัดประเภทของเอกสารที่ยื่นเป็นข้อมูลขอให้กรมฯ พิจารณาประกอบเพื่อยกคำขอฯ ที่เห็นว่าขาดคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิบัตรอีกด้วย

เมษายน 2564 รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามอีกครั้งเพื่อให้ไทยได้เข้าไปร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) แม้ว่าจะมีเนื้อหาเพิ่มการผูกขาดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่กระทบต่อการเข้าถึงยา ทั้งการลดทอนความสามารถในการประกาศ CL ความเสี่ยงที่จะถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องผ่านกลไกลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (ISDS) การผูกโยงการขึ้นทะเบียนยาเข้ากับการจดสิทธิบัตร (Patent Linkage) และทำลายศักยภาพการผลิตยาชื่อสามัญของไทย

ผลการวิจัยเบื้องต้นในเรื่อง CPTPP Impact on Access to Medicines ที่เน้นเนื้อหาในเรื่อง Patent Linkage กับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ (Government Procurement) พบว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP ค่าใช้จ่ายในด้านยาจะสูงขึ้น หมายความว่า ประชาชนต้องบริโภคยาในราคาที่แพงขึ้น ประเทศไทยต้องพึ่งพายานำเข้ามากขึ้นจาก 71 เปอร์เซ็นต์ เป็นประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ และมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศจะมีแนวโน้มลดลง

“จากการประมาณการตัวเลขต่างๆ ของงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยาอยู่ที่ 196,898 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการนำเข้ายาอยู่ที่ 71 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมูลค่าตลาดของผู้ผลิตยาในประเทศอยู่ที่ 69,326 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในตลาดอยู่ที่ 6,904 ล้านบาท หากในกรณีที่ยังคงสถานการณ์เหมือนปัจจุบัน (Business as Usual: BAU) ไปอีก 30 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาจะอยู่ที่ 980,637 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการนำเข้ายาเพิ่มเป็น 76 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าตลาดของผู้ผลิตยาในประเทศอยู่ที่ 285,454 ล้านบาท โดยสัดส่วนของ อภ. ในตลาดจะอยู่ที่ 24,089 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไทยเข้าร่วม CPTPP โดยพิจารณาผลกระทบจาก Patent Linkage กับ Government Procurement มีการคาดการณ์ว่าใน 30 ปีข้างหน้า ในระดับ low impact จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นจาก BAU ไปอีก 107,900 ล้านบาท สัดส่วนการนำเข้ายาเพิ่มเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าตลาดของผู้ผลิตยาในประเทศติดลบ 79,491 ล้านบาท โดยมูลค่าตลาดของ อภ. ติดลบ 7,917 ล้านบาท 

“ขณะเดียวกัน ผลกระทบในระดับ high impact คาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นจาก BAU ไปอีก 452,150 ล้านบาท สัดส่วนการนำเข้ายาเพิ่มเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าตลาดของผู้ผลิตยาในประเทศติดลบ 19,860 ล้านบาท โดยมูลค่าตลาดของ อภ. ติดลบ 13,142 ล้านบาท” ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าคณะวิจัยระบุ

ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร กล่าวว่า การคาดการณ์ผลกระทบจะมีตัวแปรต่างๆ ที่หลากหลาย ทำให้ตัวเลขข้างต้นยังไม่นิ่ง แต่ก็สามารถระบุแนวโน้มได้ว่า ถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP จะทำให้มูลค่าการใช้ยาในภาพรวมของประเทศแพงขึ้น ส่วนจะแพงขึ้นเท่าไหร่ มีตัวเลขคาดการณ์ตั้งแต่ระดับ low ถึง high และอีกประเด็นที่บอกทิศทางได้คือ ประเทศไทยจะต้องพึ่งพิงยานำเข้าในสัดส่วนที่สูงขึ้น จาก 71 เปอร์เซ็นต์ เป็นประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ และส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศจะลดลง

สภาเภสัชกรรม คาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562-2590): ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่เพิ่มขึ้น มาจากราคายาสูงขึ้น ประเทศไทยพึ่งพิงยานำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสรุปดังนี้ 

  1. ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท 
  2. อัตราส่วนการพึ่งพิงนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 71 เป็นร้อยละ 89 
  3. มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท 

จะเห็นว่า การพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ดังกล่าวจึงจัดเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

7 เมษายน 2564 คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจจะพิจารณามาตรการเตรียมความพร้อมตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่อง CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วมการเจรจา ต้องมีการเตรียมพร้อมด้านต่างๆ ถ้าไม่พร้อม อย่าไปเข้าร่วม เพราะความเสียหายรุนแรง และคงต้องติดตามว่า ข้อเสนอแนะที่สำคัญของคณะกรรมาธิการจะได้รับการปฏิบัติหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่มีความเสี่ยงสูงและจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่องบประมาณรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ (บทสรุปผู้บริหาร หน้า ง-1) ให้มีกรอบการเจรจา เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยต่อสาธารณชน ระบุชัดโดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง

เพียงแค่ 3 ประเด็นความเคลื่อนไหวนี้ ก็ดูช่างผิดทิศผิดทางกับคำสัญญาของรัฐบาลที่ประกาศว่าจะเตรียมความพร้อมในการดูแลประชาชนในภาวะวิกฤติเสียเหลือเกิน 

(ลับเฉพาะ)

‘วัคซีน’ ตลาดที่ผู้ขายรอทำกำไรสูงสุด

ในภาวะที่การระบาดของโควิด-19 ยังเป็นวิกฤติระดับโลก แน่นอนว่า เราจะยังไม่เห็นท่าทีอันกระเหี้ยนกระหือรือเพื่อทำกำไรของบริษัทวัคซีน เพราะแต่ละเจ้าต้องสงวนท่าที รักษาภาพลักษณ์ เพื่อให้ได้รับความวางใจและเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อเร่งการวิจัยและผลิต อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ภาวะปกติวิสัยของบริษัทวัคซีนที่ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรสูงกว่าอุตสาหกรรมยาในภาพรวมมาแต่ไหนแต่ไร ยิ่งกับกรณีของโควิด-19 ที่การฉีดวัคซีนอาจจะต้องฉีดต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

รายงานเจาะลึกของ The Intercept ที่ไปแฝงตัวในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ๆ พบว่า เกือบทุกบริษัทเตรียมที่จะขึ้นราคาวัคซีนไปสู่ ‘ราคาตลาด’ ที่จะสามารถเพิ่มกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างเต็มที่ ภายในปลายปีนี้

ซีเอฟโอของ Pfizer บอกในการประชุมผู้ถือหุ้นว่า เมื่อไรที่มีการปรับจากการระบาดใหญ่เป็นการระบาด จะเป็นโอกาสสำหรับพวกเรา ทั้งนี้ Pfizer ได้รับเงินจากยอดสั่งซื้อแบบจ่ายก่อนจากรัฐบาลสหรัฐ 2,000 ล้านดอลลาร์ ไม่นับรวมเงินสนับสนุนที่รัฐบาลเยอรมนีให้ผ่าน BioNTech อีก 500 ล้านดอลลาร์ และแม้จะยังไม่มีการขึ้นราคา ยอดขายวัคซีนเฉพาะในปีนี้คาดการณ์ว่า กำไรสุทธิของบรรษัทยายักษ์ใหญ่จะไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ จากยอดขาย 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนักสังเกตการณ์ระบุว่า เป็นการทำกำไรมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ส่วน Moderna และ Johnson & Johnson ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแบบฟูลสเกลจากรัฐบาลสหรัฐประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ แม้ภายนอกจะประกาศว่า จะขายวัคซีนในราคาที่ผู้คนเข้าถึงได้ แต่เมื่อกล่าวกับผู้ถือหุ้น บอกกันตรงๆ ว่า ปลายปีนี้มีแผนที่จะปรับราคาให้ทำกำไรมากกว่านี้

ทำให้ สว.เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) เสนอให้พิจารณาควบคุมราคาวัคซีนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชน และแบ่งปันข้อมูลสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนทั้งหมดเหล่านั้น ให้บริษัทอื่นๆ สามารถร่วมผลิตด้วย แต่แน่นอนว่า ข้อเสนอนี้กำลังถูกกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ของบริษัทยาขัดขวางอย่างหนัก

หากไม่พูดถึง AstraZeneca คงไม่ได้ เพราะ AstraZeneca ประกาศทั่วว่า ขายวัคซีนแบบไม่ทำกำไร ‘ในช่วงของการระบาด’ รายงานชิ้นนี้ไปได้เอกสารสัญญาหลุดระหว่าง AstraZeneca กับผู้ผลิตท้องถิ่น (คล้ายๆ กับ Siam Bioscience ในไทย แต่เป็นผู้ผลิตในภูมิภาคอื่น คาดว่า template ของสัญญาน่าจะใกล้เคียงกัน และจนถึงขณะนี้ในไทยยังไม่มีการเปิดเผยสัญญา) ในสัญญาระบุว่า AstraZeneca สงวนสิทธิการประกาศยุติการระบาดใหญ่เพื่อเหตุผลด้านการตั้งราคา ซึ่ง The Financial Time สื่อของอังกฤษได้รับเอกสารอีกฉบับที่ระบุว่า การตั้งราคาแบบไม่ทำกำไรจะยุติในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

ข้อมูลเพิ่มเติม:

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า