วิวาทะ Hate Speech ต่อต้านยิวกับความเกลียดชังอิสลาม ผลประโยชน์ซ่อนเร้นของจีนบนสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ขณะการสู้รบที่สมรภูมิจริงในฉนวนกาซามีแนวโน้มทวีความรุนแรงและเป็นที่หวั่นวิตกของชาวโลก สื่อตะวันตกจำนวนหนึ่งกำลังให้ความสำคัญกับการปะทะกันของ hate speech ของชาวจีนที่มีต่ออิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยมีเวยป๋อ (Weibo) แพลตฟอร์มออนไลน์อันดับหนึ่งของจีนเป็นสมรภูมิสำคัญ 

“ทหารอิสราเอลก็นาซีทั้งนั้นแหละ ปีศาจนักฆ่า” 

“ปาเลสไตน์ไม่มีพลเรือนหรอก มันมีแต่พวกก่อการร้าย คนหนุ่มคนสาว คนแก่ ผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ก่อการร้ายทั้งนั้น สมควรถูกกำจัดให้สิ้นซาก” 

ข้างต้นคือตัวอย่างความเห็นที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังของฝ่ายที่ต่อต้านยิว (anti-semitic) และฝ่ายเกลียดชังอิสลาม (islamophobic) ที่ชาวจีนโพสต์กันเต็มเวยป๋อ โดยไม่มีการเซ็นเซอร์จากรัฐบาลจีน ทั้งที่เป็นความเห็นที่อยู่ในข่ายต้องห้ามตามนโยบายของรัฐบาลจีนที่ห้ามการแสดงความเห็นหรือโพสต์คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง หรือคำพูดที่ยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติหรือความรุนแรง 

การแสดงความเห็นด้วยการใช้ถ้อยคำในลักษณะที่เรียกว่า hate speech เกี่ยวกับฮามาสและอิสราเอลบนโลกออนไลน์ อาจเป็นสิ่งปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้บนโลกใบนี้ในปัจจุบัน แต่น่าจะไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับจีน ประเทศที่มีระบบควบคุมการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเข้มงวด ทั้งด้วยเครื่องมือที่เป็นระบบเซ็นเซอร์อัตโนมัติ และการใช้แรงงานคนนั่งตรวจสอบและสามารถลบความเห็นอันไม่เหมาะสมตามวิถีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทันที จนปรากฏในรายงาน Freedom on the Net 2023 ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่าเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมของเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตเลวร้ายที่สุดในโลก ติดต่อกันเป็นปีที่ 9 

สื่ออย่างวีโอเอ หรือ วอยซ์ออฟอเมริกา (Voice of America: VOA) สำนักข่าวเอพี (Associated Press: AP) สำนักข่าวอัลจาซีระห์ (Al Jazeera) และอีกหลายสำนักข่าว พากันตั้งคำถามถึงการที่ทางการจีนไม่ดำเนินการใดๆ ต่อข้อความที่แสดงอออกถึงการต่อต้านยิวและเกลียดกลัวมุสลิมอย่างชัดเจน นักวิเคราะห์บางคนมองว่าจีนอาจกำลังใช้ประโยชน์จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างฮามาสกับอิสราเอลเพื่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีนเอง

ให้พื้นที่ต่อต้านยิว เพื่อลดอิทธิพลสหรัฐ

หลังการโจมตีของฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 บัญชีเวยป๋อของสถานทูตอิสราเอลในกรุงปักกิ่งซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 24 ล้านคน ได้โพสต์ภาพและข้อความอันน่าสะเทือนใจที่แสดงให้เห็นว่าฮามาสได้ทำลายชีวิตเด็กและประชาชนชาวอิสราเอลผู้บริสุทธิ์ไปอย่างโหดร้ายเป็นจำนวนมาก โดยหวังว่าจะได้รับความเห็นใจด้านมนุษยธรรมจากชาวจีน แต่ข้อความที่ชาวจีนพากันโพสต์กลับไปยังสถานทูตอิสราเอลกลับออกมาในทิศทางตรงกันข้าม เช่น “วีรบุรุษฮามาส ทำได้ดีมาก” “ชาวอิสราเอลที่ดีคือชาวอิสราเอลที่ตายแล้ว” ไปจนถึง “สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอิสราเอล เพื่อนของศัตรูก็คือศัตรู” รวมถึงการชื่นชมอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)

ประชากรบนโลกอินเทอร์เน็ตของจีนจำนวนมากยังได้เปลี่ยนภาพอวตารของตนเองในบัญชีเวยป๋อเป็นธงชาติอิสราเอล มีเครื่องหมายสวัสดิกะอยู่ตรงกลาง 

สำนักข่าววีโอเอซึ่งเป็นผู้เปิดประเด็นนี้อ้างถึงรายงานของผู้สื่อข่าวในท้องถิ่นของตนเองว่า ไม่สามารถจำแนกได้ว่าในบรรดาชาวจีนที่พากันไปถล่มบัญชีเวยป๋อของสถานทูตอิสราเอลด้วยข้อความที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของการต่อต้านยิวนั้นจะมีผู้ที่ทำงานให้กับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลจีนมากน้อยเพียงใด

บัญชีเวยป๋อของสถานทูตและนักการทูตชาติอื่นๆ ที่โพสต์สนับสนุนอิสราเอลก็ตกเป็นเป้าหมายของชาวเน็ตจีนเช่นกัน 

ขณะที่เมื่อสถานทูตอิหร่านในประเทศจีนโพสต์ความเห็นของประธานาธิบดีอิหร่านที่กล่าวหาสหรัฐและอิสราเอล ว่าเป็นต้นเหตุของเหตุระเบิดร้ายแรงที่โรงพยาบาลอะห์ลี อาหรับ (Ahli Arab) กลับได้รับข้อความสนับสนุนจากชาวจีนเป็นจำนวนมาก 

เอริค หลิว (Eric Liu) บรรณาธิการ China Digital Times กล่าวกับสำนักข่าววีโอเอว่า เขาเชื่อว่าเหตุผลที่โลกออนไลน์ของจีนมีพื้นที่ให้การต่อต้านยิวได้เต็มที่ เป็นเพราะรัฐบาลจีนเองก็สบายใจที่ได้เห็นข้อความเหล่านั้น เพราะทางการจีนเองสนับสนุนปาเลสไตน์มานานแล้ว เช่นเดียวกับ หลิน ปู (Lin Pu) นักวิชาการด้านเผด็จการดิจิทัลและอิทธิพลของจีน แห่งมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) สหรัฐอเมริกา มองว่าการที่ทางการจีนงดเว้นการเซ็นเซอร์ความเห็นของกลุ่มต่อต้านยิว เพราะรัฐบาลจีนไม่ต้องการแสดงความรู้สึกต่อต้านอิสราเอลออกมามาอย่างชัดเจนด้วยตนเอง ด้วยเหตุผลทางการทูต 

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้การสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวระดับชาติของปาเลสไตน์มาตลอด ในนามของการต่อต้านอาณานิคมและลัทธิจักรวรรดินิยม จีนเป็นชาติแรกๆ ที่ให้การยอมรับ ‘รัฐปาเลสไตน์’ ซึ่งมีรายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลปาเลสไตน์ซึ่งปกครองพื้นที่บางส่วนของเขตเวสต์แบงก์ ได้สนับสนุนการกดขี่และประหัตประหารชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมเติร์กอื่นๆ ในเขตซินเจียงของจีนอีกด้วย 

นับตั้งแต่การสู้รบระหว่างฮามาสและอิสราเอลครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้น จีนเป็นมหาอำนาจชาติเดียวที่วางตัวเป็นกลางและเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในฉนวนกาซา แต่ทางการจีนไม่เคยไม่เคยกล่าวประณามกลุ่มฮามาส ขณะที่ หวัง อี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เคยกล่าวประณามอิสราเอลว่ากระทำการอัน ‘เกินขอบเขต’

การที่รัฐบาลจีนยอมรับและอนุญาตให้มีการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อที่เป็นการต่อต้านชาวยิวไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะอิสราเอลเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจีนมองว่าเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของตนเอง หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จะเห็นได้ชัดเจนว่า จีนยึดเอาความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ เป็นโอกาสในการบ่อนทำลายจุดยืนอเมริกาในระเบียบโลกมาตลอด รายงานของสื่อของทางการจีนหลายชิ้นในช่วงเร็วๆ นี้ กล่าวโทษลัทธิจักรวรรดินิยมของอเมริกาว่าเป็นต้นกำเนิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ยืดเยื้อมาหลายศตวรรษ

ไม่เพียงทางการจีนจะไม่เซ็นเซอร์ hate speech ของประชาชน ยังพบว่ารัฐบาลจีนเองก็ได้ประโยชน์จากความรู้สึกต่อต้านยิวของประชาชนในช่วงนี้จากการโหมกระพือข้อมูลที่บิดเบือนความจริง โดยวันที่ 10 ตุลาคม เพียง 3 วัน หลังฮามาสเปิดฉากถล่มอิสราเอล สถานีโทรทัศน์ CCTV ของทางการจีนนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของชาวยิวในการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา โดยเผยแพร่ข้อมูลว่า ชาวยิวที่มีสัดส่วนคิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรสหรัฐ แต่เป็นผู้ที่กุมความมั่งคั่งของสหรัฐไว้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ 

เปิดเสรีข้อความสร้างความเกลียดชังอิสลาม เพื่อลดภัยคุกคามตนเอง

การสร้างกระแสให้เกิดความเกลียดกลัวอิสลามไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมจีน ความรุนแรงที่ซินเจียงถูกมองว่าเป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิมมาโดยตลอด และรัฐบาลจีนเองก็ไม่ปล่อยให้ข้อความรุนแรงที่ต่อต้านมุสลิมปรากฏบนโลกออนไลน์มาตลอด สำนักข่าวเอพีเคยรายงานกระแสเกลียดมุสลิมในจีนที่รุนแรงมากในปี 2017 ที่ชาวมุสลิมมีความพยามยามสร้างมัสยิดขนาดใหญ่ขึ้นที่เมืองเหอเฟย์ (Hefei) แต่ต้องเผชิญกับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากชาวเมืองที่ไม่ใช่มุสลิม มีการเผยแพร่ข้อความคุกคามในโลกออนไลน์ ทั้งการขู่จะนำหัวหมูไปฝังในพื้นที่ที่จะมีการสร้างมัสยิด ไปจนถึงการขู่ฆ่าโต๊ะอิหม่ามและครอบครัว หากยังคงมีความพยายามสร้างมัสยิด ซึ่งข้อความที่รุนแรงและเต็มไปด้วยความเกลียดชังเช่นนี้ไม่เคยถูกเซ็นเซอร์จากรัฐบาล 

ความรู้สึกโกรธเกลียดมุสลิมที่ถูกสร้างภาพว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและคอยแบ่งแยกดินแดนจีน ฝังอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของคนจีนกลุ่มหนึ่ง เมื่อเกิดความรุนแรงในฉนวนกาซาครั้งนี้ โลกจึงได้เห็นข้อความโจมตีฮามาสไปจนถึงปาเลสไตน์อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ของจีน บางความเห็นเรียกร้องให้สังหารชาวอาหรับให้หมดสิ้นเพื่อให้การก่อการร้ายหมดไป อีกข้อความหนึ่งบอกว่า มุสลิมคือผู้ก่อการร้าย จำเป็นต้องบอมบ์ให้หมดเพื่อให้โลกบรรลุสันติภาพ 

นักวิเคราะห์พากันมองว่า เหตุผลที่รัฐบาลจีนไม่เซ็นเซอร์ข้อความรุนแรงที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม เพราะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องการลดภัยคุกคาม ดังที่เกิดในมณฑลซินเจียง

หรือสมรภูมิออนไลน์กลายเป็นความรุนแรงจริง

นักวิชาการจำนวนหนึ่งมีความเห็นว่า การที่ชาวจีนออกมาแสดงความเห็นที่หลากหลายมากเกี่ยวกับการสู้รบระหว่างฮามาสกับอิสราเอล ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้อยู่บนฐานของความรู้ความใจเกี่ยวกับเบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ไม่ได้ตระหนักถึงความแบ่งขั้วทางการเมืองภายในปาเลสไตน์ ระหว่างกาซาและเวสต์แบงก์ แต่เป็นการแสดงความเห็นบนฐานของอารมณ์ความรู้สึกที่ฝังแน่นอยู่ในใจ ที่ถูกสถานการณ์การสู้รบในปัจจุบันกระตุ้นให้แสดงออกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อไม่มีการขัดขวางหรือเซ็นเซอร์จากรัฐบาล คำพูดที่แสดงให้เห็นความเกลียดชังทั้งต่อชาวยิวและมุสลิมจึงดูเหมือนจะไม่หยุดหลั่งไหลออกมาเลย

รัฐบาลปล่อยให้ประชาชนเผยแพร่ข้อความที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และยุยงให้เกิดความรุนแรง หลั่งไหลออกมาบนโลกออนไลน์ของตนเอง ในขณะที่การสู้รบในสมรภูมิจริงที่ฉนวนกาซาก็เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน จนหลายฝ่ายมองว่าความรุนแรงในสมรภูมิจริงจะยิ่งโหมให้ความรุนแรงในสมรภูมิเวยป๋อของจีนระหว่างกลุ่มต่อต้านยิวกับกลุ่มเกลียดชังอิสลามเพิ่มมากยิ่งขึ้นจนอาจนำสู่ความรุนแรงจริงได้ ดังความเห็นของนักเขียนจีนที่ใช้ชื่อว่า ‘Yashalong’ ที่แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ปัจจุบันไว้ว่า เป็นไปได้ที่ความเกลียดชังในโลกออนไลน์จะนำไปสู่ความรุนแรงในโลกจริง “เมื่อหายใจเข้าต้องมีหายใจออก เลือดที่หลั่งไหลจากการโจมตีด้วยวาจาก็อาจตามมาด้วยเลือดที่หลั่งไหลจากการถูกกระทำจริง” 

อ้างอิง

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า