เศรษฐกิจศรีลังกาในภาวะโคม่า จากกับดักหนี้ข้ามชาติสู่การล่มสลายของรัฐ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การล่มสลายทางเศรษฐกิจนำไปสู่จลาจล เพราะหลายประเทศทั่วโลกที่ประสบกับภาวะคับขันต่างก็ถูกสถานการณ์บีบคั้นไปสู่ทิศทางนั้นเสมอ ดังเช่นประเทศศรีลังกาในปัจจุบันที่มีแนวโน้มว่า ปลายทางของการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพและการก่อหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลกำลังจะนำพาสังคมไปสู่ความล่มสลาย อย่างไรก็ตาม การถอดบทเรียนตั้งแต่ต้นดูจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอีกหลายชาติที่อาจจะกำลังเดินรอยตาม

โครงสร้างสังคมของศรีลังกาประกอบไปด้วยความหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ ทำให้มีพรรคการเมืองจำนวนมาก แต่ก็มีเพียงไม่กี่พรรคเท่านั้นที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ภายใต้การนำของรัฐบาลศรีลังกาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีความพยายามนำพาเศรษฐกิจของประเทศไปตามแนวทางสังคมนิยมหรือไม่ก็เสรีนิยม แต่การพยายามพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำด้วยการกู้ยืมทุนสำรองจากต่างชาติเพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลับยิ่งสร้างเงื่อนไขผูกมัดอนาคตของชาติตนเองมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา สรุปภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา โดยเฉพาะเมื่อ มาฮินดา ราชปักษะ (Mahinda Rajapaksa) ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในนามของพรรคเสรีภาพศรีลังกา (Sri Lanka Freedom Party: SLFP) ก็ได้ประกาศวิสัยทัศน์มาฮินดา (Mahinda Vision) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาประเทศระยะเวลา 10 ปี จากปี พ.ศ. 2549-2559 โดยระบุว่า รัฐบาลจะปฏิเสธการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเข้าไปบริหารจัดการด้วยตนเอง แม้ว่าการบริหารโดยรัฐเองจะรับประกันได้ระดับหนึ่งว่า ประชาชนจะเข้าถึงบริการพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงและราคาถูก แต่ก็ทำให้ศรีลังกาต้องใช้งบประมาณมหาศาลจนเกิดเป็นช่องทางให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา เช่น ญี่ปุ่น และประเทศที่มีกลยุทธ์ ‘กับดักหนี้’ อย่างจีน

จุดเริ่มต้นจากหนี้สาธารณะสู่ข้อผูกมัดอธิปไตยของประเทศ 

จีนเริ่มพัฒนาโครงการ The Belt and Road Initiative (BRI) หรือที่เรียกกันว่า ‘เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21’ โดยอัดฉีดเงินกู้จำนวนมหาศาลไปตามเมืองสำคัญของหลายประเทศตั้งแต่ยุโรปจนถึงศรีลังกา เป้าหมายหลักที่จีนประกาศอย่างเป็นทางการคือ เพื่อสนับสนุนทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศนั้นๆ ให้มีความพร้อมเพียงพอที่จะค้าขายกับจีนตามเส้นทางการค้าดังกล่าว อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความจงใจที่จะบรรลุเป้าหมายนอกเหนือไปจากการพัฒนาการค้าและการลงทุน แต่เป็นการ ‘ล่าอาณานิคมสมัยใหม่’ (อ่านเพิ่มเติม: จักรวรรดินิยมสมัยใหม่ ล่าอาณานิคมด้วยเงินตรา พลังงาน และวัคซีน) เหนืออธิปไตยของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

ตัวอย่างสำคัญของกรณีนี้คือ การสร้างสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ ‘Mattala Rajapaksa’ ในศรีลังกา มูลค่า 209 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเงินจำนวนกว่า 190 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจากการปล่อยกู้ของรัฐบาลจีนโดยตรง จนทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องจ่ายหนี้ให้แก่รัฐบาลจีนเฉพาะจากโครงการสนามบินนี้ถึง 17 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากยังถูกจัดการโดยรัฐบาลศรีลังกาในลักษณะเดียวกัน การพยายามลดรายจ่ายของรัฐบาลและการลดอัตราภาษีในปี พ.ศ. 2562 เริ่มส่งสัญญาณไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้รายได้หลักช่องทางหนึ่งของศรีลังกาอย่างการท่องเที่ยวต้องหดหายไปเป็นเวลาหลายปี ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาก็ได้พยายามยื้อระยะเวลาที่จะเข้าหาความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เนื่องจากคาดหวังให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวทันและด้วยการพึ่งพาความช่วยเหลือจากจีน จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2565 เกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นจนรัฐบาลรับมือไม่ไหวอีกต่อไป (อ่านเพิ่มเติม: สงครามยูเครน-รัสเซีย)

เพื่อที่จะจัดการกับสภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ธนาคารกลางศรีลังกาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 14.5 แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ปัจจุบันหนี้สาธารณะจำนวนหลายพันล้านของศรีลังกายังคงไม่ได้รับการชำระคืนแก่ผู้ให้กู้ยืมในต่างประเทศ และจำนวนหนี้ของศรีลังกาต่อทั้งสองประเทศนี้แทบจะสูงถึงร้อยละ 10 ของจำนวนหนี้ต่างชาติทั้งหมด ซึ่งทำให้การเจรจากับ IMF กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น เนื่องจาก IMF กลัวว่าหากให้งบช่วยเหลือไปแล้วเงินก้อนนี้จะตรงไปยังเจ้าหนี้อย่างญี่ปุ่นและจีนทันที ดังนั้นหนทางที่เป็นไปได้คือต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ของศรีลังกาครั้งใหญ่ และอาจจะหมายถึงจีนหรือญี่ปุ่นต้องยกหนี้บางส่วนให้แก่ศรีลังกาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากศรีลังกาได้รับการช่วยเหลือจาก IMF แล้ว มาตรการที่จะดำเนินต่อมาคาดว่าจะเป็นการเพิ่มอัตราการเก็บภาษี เพิ่มราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายของภาครัฐ และอาจจะรวมไปถึงการกลับไปพิจารณาเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง มาตรการที่เป็นไปได้เหล่านี้หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นผลดีในระยะยาวต่อเศรษฐกิจของศรีลังกา แต่ประชาชนย่อมได้รับผลกระทบในระลอกแรกอย่างหนักแน่นอน

การชุมนุมของประชาชน และการโทษกลุ่มอำนาจเก่าของรัฐบาลใหม่

วันที่ 8 เมษายน 2565 ประชาชนจำนวนมากเดินขบวนประท้วงบริเวณหน้าที่พักของประธานาธิบดี โคฐาภยะ ราชปักษะ (Gotabaya Rajapaksa) เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีและรัฐบาลชุดดังกล่าว ความเดือดดาลยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อพบว่ารัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและกีฬาบินไปยังหมู่เกาะมัลดีฟส์ ขณะที่ประชาชนจำนวนมากในประเทศยังไม่มีเงินซื้ออาหารได้ การตอบโต้ของรัฐบาลคือ การประกาศสภาวะฉุกเฉิน เพิ่มอำนาจกองทัพ การประกาศเคอร์ฟิว ไปจนถึงการห้ามใช้โซเชียลมีเดียในบางช่วงเวลา 

ดูเหมือนว่าปัญหาด้านการปกครองของรัฐบาลศรีลังกาจะไม่ได้มีเพียงการชุมนุมของประชาชนที่เกิดจากพิษเศรษฐกิจ แต่ปัญหาด้านเสถียรภาพภายในรัฐบาลเองก็ยังไม่มีความมั่นคงนัก เห็นได้จากการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อาลี ซาบรี (Ali Sabry) เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนน้องชายของประธานาธิบดีอย่าง บาซิล ราชปักษะ (Basil Rajapaksa) แต่เพียง 1 วัน เขาก็ยื่นเรื่องลาออกจากตำแหน่ง เพราะสภาพที่ย่ำแย่ของศรีลังกา อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรต่อจากนั้น อาลีก็ได้ถอนใบลาออกเพื่อกลับสู่ตำแหน่งใหม่

นอกเหนือไปจากความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคณะรัฐมนตรีแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลยังถอนตัวออกจากแนวร่วม จนทำให้รัฐบาลไม่มีเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา และพรรคฝ่ายค้านก็ยังปฏิเสธที่จะสนับสนุนรัฐบาล ข้อเรียกร้องที่ประชาชนต้องการให้ประธานาธิบดีราชปักษะลาออกนั้นก็ดูไม่มีสัญญาณอย่างเป็นทางการว่าจะเป็นจริงได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะเป็นการยืดระยะเวลาและความพร้อมในการเลือกตั้งใหม่ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

มูลหนี้จำนวนมากที่ถูกจัดการไม่ดีมาตั้งแต่ต้น ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังการ่อยหรอไปมาก ปัญหานี้จะทำให้การนำเข้าสินค้าเป็นสิ่งที่ลำบากมากขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม รวมไปถึงการปั่นไฟสำหรับประชาชน จนจำเป็นต้องมีการหยุดจ่ายไฟเป็นระยะๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ธุรกิจหลายแห่งของศรีลังกาต้องหยุดกิจการ หลังจากนั้นไม่นานธนาคารกลางจึงประกาศยอมแพ้และเริ่มลอยค่าเงินจนเกิดสภาวะเงินเฟ้อรุนแรงภายในไม่กี่วัน ทั้งหมดนี้เป็นเชื้อไฟให้เกิดการประท้วงรุนแรงตามมา การชุมนุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุมถึงหลักพันกลางเมืองหลวง ขณะที่อีกจำนวนมากเริ่มพยายามหาทางหนีออกนอกประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีราชปักษะไม่ได้มองว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมสมเหตุสมผล โดยเขาได้กล่าวออกอากาศเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ว่ารัฐบาลศรีลังกาได้ทำทุกวิถีทางแล้วในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งประเทศอื่นทั่วโลกก็เจอสถานการณ์ย่ำแย่เช่นเดียวกัน และกล่าวด้วยว่าปัญหาครั้งนี้เขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ แต่ผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างปัญหาเศรษฐกิจคือผู้ที่กำลังปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต่อหน้ามวลชนที่มาชุมนุมต่างหาก ก่อนจะปิดท้ายด้วยว่า ขอให้ประชาชนมีศรัทธาในการทำงานของรัฐบาล

ประธานาธิบดี โคฐาภยะ ราชปักษะ (Gotabaya Rajapaksa)

นอกเหนือไปจากข้อครหาเรื่องการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดแล้ว ประธานาธิบดีราชปักษะยังถูกครหาว่าใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในการปกป้องเครือญาติของตนเองที่อยู่ในหลายตำแหน่งสำคัญของประเทศ ข้อครหานี้เห็นได้ชัดจากการชนะเลือกตั้งของประธานาธิบดีราชปักษะ ทำให้ผู้นำการสืบสวนจากกรมสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมที่กำลังสืบความผิดของตระกูลการเมืองราชปักษะตัดสินใจหนีออกจากประเทศไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ต่างจากสื่อมวลชนหรือนักวิชาการอื่นๆ ที่ต้องลี้ภัยเช่นเดียวกัน

ถ่วงดุลและตรวจสอบ ศรีลังกาในฐานะบทเรียนของประชาคมโลก

จากสถานการณ์ข้างต้น ศรีลังกาเลือกวิธีการดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดจนนำมาสู่จลาจลและการล่มสลายของสังคม ปัญหาหลักไม่ใช่การที่ตระกูลราชปักษะเพียงตระกูลเดียวขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง แต่เป็นการไม่สามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ต่างหากที่ทำให้ประเทศเดินมาถึงปากเหวของวิกฤติ

เนื่องจากประเทศศรีลังกาพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว และการกู้เงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาลเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ได้มีการเตรียมแผนสำรองหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำลายการท่องเที่ยวจนย่อยยับ หรือสงครามยูเครน-รัสเซียที่ทำให้ราคาเชื้อเพลิงและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้น เมื่อประเทศไม่มีแผนสำรอง ประกอบกับพิษเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบด่านหน้า

ในแง่การรับฟังเสียงของประชาชนก็ยังเป็นปัญหาของรัฐบาลศรีลังกาด้วยเช่นกัน โดยรัฐเลือกที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในการปราบปรามประชาชนแทนการพูดคุย เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงและการปะทะในหลายพื้นที่ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นเมื่อทางออกสุดท้ายอย่างการเลือกตั้งใหม่ไม่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สมเหตุสมผลไปกว่าการโยนความผิดให้รัฐบาลชุดเก่า 

ปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเหล่านี้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคม และเป็นภาพสะท้อนของการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความโปร่งใส และขาดความเป็นประชาธิปไตยมาตลอดหลายปี จนนำมาซึ่งความสูญเสียครั้งมหาศาล ทั้งที่ทุกอย่างสามารถหลีกเลี่ยงได้หากศรีลังกามีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลด้วยกลไกทางการเมืองที่เข้มแข็ง แต่เมื่อผู้บริหารประเทศเลือกตัดสินใจอย่างผิดทิศผิดทาง ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการออกแบบระบบการเมืองย่อมมีผลชี้เป็นชี้ตายให้แก่ประเทศในระยะยาวได้เสมอ

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า