จักรวรรดินิยมสมัยใหม่: ล่าอาณานิคมด้วยเงินตรา พลังงาน และวัคซีน

Veni Vidi Vici

(“ข้ามา ข้าเห็น ข้าพิชิต”)

Julius Caesar, 47 B.C.

คำกล่าวของ จูเลียส ซีซาร์ นักการเมืองการทหารคนสำคัญของจักรวรรดิโรมันต่อวุฒิสภาของเขานั้นดูจะกลายเป็นแม่แบบให้แก่ชาติมหาอำนาจตะวันตกในเวลาต่อมาอีกเกือบพันปี และสะท้อนภาพของการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจรูปแบบใหม่ที่มุ่งยึดครองดินแดนและประชากรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ 

ภาพการรวบรวมดินแดนเข้ามาอยู่ใต้การปกครองอันเด็ดขาดเช่นที่ซีซาร์ทำในสมัยจักรวรรดิโรมัน หรือที่เหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตกทำในยุคล่าอาณานิคมดูเหมือนจะผ่านพ้นมานานแสนนานประหนึ่งไม่มีวันหวนคืน หากทว่าการคิดเช่นนี้ตรงกับความจริงมากน้อยเพียงใด และจะเป็นเรื่องที่เกินจริงหรือไม่หากจะกล่าวว่าลัทธิล่าอาณานิคมไม่ได้สูญหายไปจากโลก แต่ยังคงอยู่ในธรรมชาติของบรรดามหาอำนาจผ่านเครื่องมือรูปแบบใหม่ที่ซีซาร์คงไม่มีวันจินตนาการถึง 

ปัจจุบันมหาอำนาจของโลกคงเหลือเพียงแค่สามผู้เล่นหน้าเก่า แต่สวมหน้ากากใบใหม่ อย่างจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ที่ดูจะพยายามรักษาระเบียบของโลกเอาไว้ด้วยกลไกองค์การระหว่างประเทศจำนวนมากภายใต้ข้ออ้างของยุคสมัยแห่งเสรีภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีที่รุดหน้าของมนุษย์ทำให้กลไกการค้าการลงทุนเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วเสียยิ่งกว่าการเดินไปจ่ายตลาดปากซอย ทุกมิติของชีวิตมีการใช้พลังงานเข้ามาเป็นส่วนประกอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสียจนตัดขาดไม่ได้ ขณะเดียวกันภัยร้ายอย่างโรคระบาดชนิดใหม่อย่าง COVID-19 ก็ทำให้มนุษยชาติต้องเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการล่มสลายสูญสิ้นเผ่าพันธุ์

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแก่นสาระหลักตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่มนุษยชาติพยายามครุ่นคิดหาวิธีทำให้การลงทุนหมุนเวียน มองหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ และการรักษาสุขภาพให้สถาพร แต่กลับกลายเป็นว่าทั้งสามสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือของมหาอำนาจในการมีอิทธิพลเหนือรัฐอธิปไตยอื่นๆ จนยากที่จะบอกได้ว่ายุคสมัยแห่งจักรวรรดินิยมได้จบสิ้นลงไปแล้วจริงๆ

การลงทุนและการกู้ยืม อำนาจเหนืออธิปไตยของพญามังกร

ในปี 2013 สาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มดำเนินนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) หรือเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลอดเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ ตั้งแต่ภูมิภาคเอเชีย ยุโรป ไปจนถึงชายฝั่งของทวีปแอฟริกา ซึ่งนโยบายนี้ดูสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเด็นเกี่ยวกับการค้าการลงทุน 

เส้นทางของโครงการ BRI ถูกแบ่งออกเป็น 2 เส้นทางหลักๆ คือ เส้นทางบก เคลื่อนออกจากแผ่นดินจีนไปสู่ภูมิภาคเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ก่อนที่จะตรงเข้าทวีปยุโรป ผ่านตุรกีตามเส้นทางสายไหมโบราณ ขณะที่เส้นทางทางทะเลจะออกจากจีนลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านศรีลังกา ตรงต่อไปยังทวีปแอฟริกา ก่อนจะเข้าสู่ทวีปยุโรปผ่านครองสุเอซ

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ[1] ดูจะมองโครงการ BRI ในแง่ดีว่า นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2020 จำนวนเที่ยวรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างจีน-ยุโรป ขยายตัวถึงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32 แต่ภาพของตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ตามแผนเส้นทาง BRI ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29.7 กลับกลายเป็นภาพสะท้อนของสิ่งใหม่ที่วงวิชาการเรียกกันว่า ‘Dept-trap’ ไปเสีย

บราห์มา เชลลานีย์ (Brahma Chellaney, 2017) ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ศึกษาจากศูนย์ศึกษานโยบายประจำกรุงนิวเดลี อธิบายถึงยุทธศาสตร์ Dept-trap กับสำนักข่าว Project Syndicate ว่า โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีนในประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาตลอดเส้นทาง BRI มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถูกใช้ในฐานะเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการเพิ่มอิทธิพลของจีนตามยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค และไม่ได้มุ่งให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินลงไปสู่เศรษฐกิจในพื้นที่แต่อย่างใด[2]

ตัวอย่างที่เชลลานีย์กล่าวถึงคือ กรณีของประเทศศรีลังกาที่มีการก่อสร้างอภิมหาโครงการ (Mega Project) สนามบินนานาชาติ Mattala Rajapaksa ที่มีขนาดอาคารผู้โดยสารถึง 12,000 ตารางเมตร และมีประสิทธิภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 1 ล้านคนต่อปี มูลค่าการก่อสร้างสนามบินคิดเป็นเงิน 209 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเงินจำนวนกว่า 190 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจากการปล่อยกู้ของรัฐบาลจีนโดยตรง จนทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องจ่ายหนี้ให้แก่รัฐบาลจีนเฉพาะจากโครงการสนามบินนี้ถึง 17 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี[3]

การลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศปลายทาง ทำให้ประเทศที่ขาดความสามารถในการใช้หนี้คืนได้ตามกำหนดต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีนแทบทั้งสิ้น โดยจีนอาศัยโอกาสจากการที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศเหล่านั้นกับสหรัฐหรือชาติตะวันตกอื่นๆ กำลังย่ำแย่ ด้วยการเสนอตัวเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ ก่อนที่จะเริ่มตักตวงผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์กลับมาในภายหลัง 

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในศรีลังกา แต่ยังเกิดกับท่าเรือกวาดาร์ซิตี้ในปากีสถานที่ถูกควบคุมโดย China Overseas Port Holding Company (COPHC) หรือสนธิสัญญาสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ระหว่างจีน-เนปาลที่ทำให้จีนมีอำนาจถือหุ้นเหนือเขื่อนดังกล่าวอยู่ถึงร้อยละ 75[4]

การทำสนธิสัญญาลงทุนตามแบบกลยุทธ์ Dept-trap นอกจากจะทำให้ประเทศคู่สัญญาไม่สามารถใช้หนี้ได้ไหวแล้ว จีนยังดำเนินมาตรการต่อไปด้วยเงื่อนไขว่า การจะยกเลิกการชำระหนี้ได้ก็ต่อเมื่อประเทศดังกล่าวลงนามในสนธิสัญญาลงทุนฉบับใหม่ต่อไปอีกด้วย ด้วยวิธีนี้จึงทำให้ประเทศที่อยู่ตลอดเส้นทาง BRI ที่หลงเข้าไปติดกับดักการพัฒนาดังกล่าวของจีนไม่สามารถที่จะหลีกหนีออกจากอิทธิพลของจีนได้โดยง่าย

หากมองพ้นสมัยที่แล้วของโครงการ BRI อย่างกรณีศรีลังกา ปากีสถาน เนปาล หรืออีกหลายประเทศตลอดเส้นทางโครงการ ภาพของ BRI ในปัจจุบันก็ยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นนโยบายด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางการเมืองมากกว่าการเป็นนโยบายการค้าการลงทุนเหมือนฉากหน้า ตัวอย่างสำคัญคือ นับตั้งแต่การถอนทหารออกจากกรุงคาบูลของสหรัฐ ในอัฟกานิสถาน จีนเป็นเพียงชาติเดียวที่ไม่ได้มีการปิดสถานทูตแต่อย่างใด หากทว่ายังจัดให้มีการพบปะพูดคุยกันระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนกับตัวแทนจากกลุ่มตาลีบันในมณฑลเทียนจินของจีนอีกด้วย[5]

ข้อตกลง BRI ระหว่างรัฐบาลจีนและอัฟกานิสถานถูกลงนามครั้งแรกย้อนกลับไปในปี 2016[6] ซึ่งอัฟกานิสถานมีความจำเป็นในการพึ่งพาเงินสนับสนุนจากต่างชาติ อาจจะต้องหันเข้าหาประเทศจีนในโครงการ BRI มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มชาติตะวันตกมีความจำเป็นต้องพิจารณาการให้งบสนับสนุนใหม่อีกครั้งหลังจากรัฐบาลตาลีบันขึ้นมาปกครองประเทศ หากทิศทางเป็นไปเช่นนี้ก็จะทำให้อัฟกานิสถานซ้ำรอยกับศรีลังกาหรือปากีสถานที่ถูกจีนอาศัยช่องว่างจากการถอนตัวของสหรัฐและชาติตะวันตกในการเข้ามามีอิทธิพลในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียกลางที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในฐานะแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญอย่างเหมืองแร่และน้ำมัน รวมไปถึงการเป็นปราการคั่นกลางระหว่างอิทธิพลของชาติตะวันตกและชายแดนของจีน

การพยายามเจาะเข้าไปยังเอเชียกลางผ่านอัฟกานิสถานด้วยโครงการ BRI ยังเป็นไปเพื่อลดบทบาทของอีกหนึ่งเจ้ามหาอำนาจที่ใช้แนวคิดการครอบงำประเทศอื่นด้วยยุทธศาสตร์สมัยใหม่อย่างรัสเซียเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวมีอัตราการพึ่งพาประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซียที่ค่อนข้างสูง โครงการย่อยอย่างการสร้างทางรถไฟ Sino-Afghan Rail Link จึงกลายเป็นความท้าทายมหาอำนาจเดิมในภูมิภาคอีกหนึ่งเจ้าอย่างรัสเซียไปในทันที

แน่นอนว่าจีนไม่ใช่ผู้เล่นเดียวที่ดำเนินกลยุทธ์ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และรัสเซียเองหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นก็ไม่ได้ลดละความพยายามในการเข้าไปมีอิทธิพลในประเทศอื่นเช่นเดียวกัน โดยหากจีนใช้อิทธิพลในความร่ำรวยทางเศรษฐกิจเป็นใบเบิกทางเข้าสู่หัวใจสำคัญของประเทศอื่น แต่รัสเซียกลับเลือกใช้วิธีการดั้งเดิมกว่านั้นมาก นั่นคือ การควบคุมการใช้จ่ายพลังงาน

ก๊าซธรรมชาติ ท่อ และน้ำมัน อำนาจเหนืออุตสาหกรรมของราชาหมี

ถึงแม้ว่าในบริเวณเอเชียกลาง รัสเซียจะเพลี่ยงพล้ำในเกมภูมิรัฐศาสตร์ให้แก่จีน ด้วยโครงการ BRI ที่ทำให้บทบาทของรัสเซียในพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียตลดลงเสียยิ่งกว่าช่วงการเข้ามาในภูมิภาคของสหรัฐหลังวิกฤติการโจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ แต่อิทธิพลของรัสเซียในทวีปยุโรปตะวันออกไปจนถึงยุโรปกลางกลับสามารถรุกคืบเข้าไปได้อย่างเหลือเชื่อ ด้วยเครือข่ายท่อส่งก๊าซพลังงาน

บริษัทขนส่งพลังงานข้ามชาติ Gazprom เป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของยุโรปและตุรกี รวมถึงยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติร้อยละ 12 ของโลก โดยในปี 2020 มีรายรับอยู่ที่เกือบ 2 ล้านล้านเหรียญรูเบิลอีกด้วย[7] บริษัท Gazprom ไม่ใช่บริษัทข้ามชาติธรรมดา หากแต่เป็นบริษัทข้ามชาติที่ภาครัฐของรัสเซียเป็นเจ้าของร้อยละ 100 ของทุกโครงการ[8] โดยโครงการขนส่งพลังงานสำคัญที่มีบทบาทมากไปกว่าการส่งเสริมตลาดพลังงานธรรมดาคือ โครงการ Nord Stream 2 ที่เริ่มวางท่อส่งก๊าซออกจากอ่าวนาร์วาในเลนินกราดของประเทศรัสเซีย ก่อนจะเดินสายท่อผ่านใต้ทะเลบอลติกเพื่อไปถึงเป้าหมายปลายทางยังใจกลางของยุโรปอย่างเมืองลุบมีน (Lubmin) ที่อยู่ใกล้เคียงกับเมืองไกรฟส์วาลด์ (Greifswald) ของประเทศเยอรมนี ที่เหล่านักการเมืองยูเครนต่างโจมตีว่าเป็นการปิดล้อมประเทศในยุโรปตะวันออกอย่างยูเครนให้หมดหนทางต่อต้านอิทธิพลของรัสเซีย และเป็นการผันก๊าซธรรมชาติของรัสเซียที่จะส่งเข้ายูเครนไปสู่ยุโรปแทนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

หลังจากโครงการ Nord Stream เริ่มต้นขึ้น ก็ได้ทำให้เยอรมนีกลายเป็นผู้บริโภคหลักด้านพลังงานของรัสเซียนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยกว่าร้อยละ 40 ของการบริโภคก๊าซธรรมชาติ และการใช้น้ำมันอีกกว่าร้อยละ 30 ในเยอรมนีมาจากรัสเซียทั้งสิ้น[9] ด้วยเหตุนี้ทำให้มิติด้านอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวันของชาวเยอรมันถูกรัสเซียเข้าครอบงำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้การเข้ามามีอิทธิพลด้านการทหารของรัสเซียในยูเครนเป็นไปได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น เมื่อหลายชาติในยุโรปจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากที่กล่าวไปข้างต้น

ไม่เพียงแค่หัวใจของยุโรปอย่างเยอรมนีเท่านั้น แต่ทางด้านยุโรปใต้เองก็ถูกวางเอาไว้ในโครงการ South Stream ของรัสเซียด้วยเช่นกัน โดยเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและยูเครน จนเป็นเหตุให้รัสเซียพยายามลดการพึ่งพิงทางผ่านของการส่งก๊าซธรรมชาติจากยูเครนลงไปทางยุโรปใต้เพิ่มเติม โดยโครงการนี้ลากเส้นผ่านใต้ทะเลดำไปสู่ประเทศบัลเกเรีย เซอร์เบีย ฮังการี ออสเตรีย และสโลวาเนีย รวมถึงมีการแตกกิ่งก้านออกไปยังประเทศกรีซและตอนใต้ของอิตาลีอีกด้วย

เป้าหมายของโครงการ South Stream นี้เป็นไปเพื่อ ‘ตัดขาและปิดล้อม’ ยูเครนด้านพลังงานอย่างหนักหน่วง ขณะเดียวกันก็ทำให้ตลาดด้านพลังงานของยุโรปใต้ตกอยู่ใต้อิทธิพลการพึ่งพาอาศัยรัสเซียก่อนการเข้ามาถึงของประเทศในกลุ่มทะเลสาบแคสเปียนและเอเชียกลาง อย่างไรก็ตาม ความพยายามของท่อส่งก๊าซนี้ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกับโครงการทางเหนือก่อนหน้า เนื่องจากถูกสหภาพยุโรปรวมตัวกันขัดขวางภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นการละเมิดกฎหมายด้านพลังงานของสหภาพยุโรป ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้รัสเซียเลือกที่จะหันไปเจรจาด้านการสร้างเครือข่ายพลังงานนี้กับตุรกีเพื่ออ้อมไปสู่ยุโรปใต้แทน[10]

แน่นอนว่าเมื่อรัสเซียมีทีท่าจะสยายปีกของตนเองเข้าสู่ยุโรปตะวันออกและยุโรปใต้อีกครั้งประหนึ่งหวนคืนกลับสู่โลกยุคสงครามเย็น สหรัฐก็ได้พยายามขัดขวางเส้นทางการก่อสร้างท่อส่งก๊าซของรัสเซียอยู่บ่อยครั้ง โดยในวันที่ 21 ตุลาคม 2020 สหรัฐได้ประกาศขยายการแทรกแซง (sanction) โครงการ Nord Stream 2 และตามมาด้วยการกดดันต่ออีกครั้งในเดือนมกราคม 2021 โดยอาศัยกฎหมายสหรัฐ ฉบับเดิมชื่อ Protecting Europe’s Energy Security Act of 2019 (PEESA) และกล่าวว่ารัสเซียพยายามทำลายความมั่นคงด้านพลังงานของยุโรปด้วยโครงการท่อส่งก๊าซเป็นจำนวนมาก และมีเป้าหมายเพื่อทำให้สหภาพยุโรปตกอยู่ใต้การพึ่งพิงและอิทธิพลทางการเมืองการทหารของรัสเซีย[11]

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ตั้งแต่โครงการเริ่มเดินหน้ามาจนถึงปัจจุบัน ประเทศพันธมิตรของสหรัฐในยุโรปต่างมีภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับท่าทีการแทรกแซงโครงการท่อส่งก๊าซของรัสเซียเสมอมา เนื่องจากตนเองก็เป็นผู้บริโภคอันดับต้นๆ ขณะเดียวกันก็ถูกปัจจัยด้านการเมืองและเศรษฐกิจเข้ามากดดัน ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาแยกย่อยกันออกไปอีกในหลายชาติ ระหว่างท่าทีของผู้สนับสนุนโครงการเหล่านี้กับเหล่าผู้ต่อต้าน

ความสำเร็จของโครงการ Nord Stream 2 ดูจะเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของรัสเซียเมื่อท่าทีของสหรัฐค่อยๆ อ่อนลงหลังการขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ของ โจ ไบเดน ที่มองว่าการขัดขวางจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหภาพยุโรป และหากเป็นไปตามที่สำนักข่าว The Interpreter คาดการณ์ไว้ ความสำเร็จของโครงการ Nord Stream 2 จะทำให้ยูเครนสูญเสียรายรับต่อปีถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ[12] และจะยิ่งทำให้การเมืองภายในประเทศของยูเครนและภูมิภาคใกล้เคียงไม่มีตัวช่วยอื่นใดนอกจากการพึ่งพารัสเซียต่อไป ประหนึ่งตกเป็นอาณานิคมด้านพลังงาน

ขยายอิทธิพลผ่านปลายเข็ม จักรวรรดินิยมยุคใหม่ภายใต้วัคซีน

หากนโยบายจักรวรรดินิยมสมัยใหม่อย่าง BRI จะโจมตีด้วยเงินตรา หรือ Nord Stream 2 จะขยายอิทธิพลด้วยพลังงาน แต่คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าใน 2 ปีที่ผ่านมานี้เครื่องมือใหม่ที่มหาอำนาจหลายเจ้าใช้ในการสยายปีกคือ การพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนเพื่อต่อสู้กับไวรัส COVID-19 

ประเด็นดังกล่าวอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เอ. คายัม อาห์เหม็ด (A. Kayum Ahmed) กล่าวเอาไว้ว่า คำถามที่เชื่อมโยงอำนาจอธิปไตยเข้ากับการครอบครองวัคซีนเริ่มต้นมาจากข้อตกลงด้านการพัฒนาวัคซีนระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร กับบริษัทวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ให้ความสำคัญในการจัดหาวัคซีนให้กับสหราชอาณาจักรและสหรัฐ เป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นผู้ให้ทุนในการสนับสนุน[13] ซึ่งขัดแย้งกับข้อตกลง International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights ของ Committee on Economic, Social and Cultural Rights (CESCR) ที่ระบุว่า “รัฐมีหน้าที่เพื่อจัดหาทุกวิธีการและใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอย่างเต็มที่เพื่อรับประกันการเข้าถึงวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 อย่างไม่มีการแบ่งแยก”[14] 

อำนาจของอธิปไตยที่สัมพันธ์กับการจัดหาวัคซีน COVID-19 นี้ อาห์เหม็ดระบุว่าเป็นการสะท้อนถึงสัญญะว่าใครคือ ‘ผู้กระทำ’ (subject) และการหวนคืนสู่รากฐานของอำนาจอธิปไตยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมว่าใครควรมีชีวิตและใครที่ไม่ควรจะมี เพียงแค่จากอำนาจอธิปไตยในการกำหนดเป็นตายโดยตรงแบบในอดีตถูกเปลี่ยนเป็นการจัดซื้อจัดหา หรือส่งมอบวัคซีนเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจะผลิตวัคซีนให้คนอังกฤษก่อน เนื่องจากเป็นประเทศต้นสังกัดก็อาจที่จะสมเหตุสมผลอยู่บ้าง แต่การที่ข้อตกลงดังกล่าวไปคาบเกี่ยวกับประเทศอื่นอย่างสหรัฐด้วย จึงยิ่งนำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า นอกเหนือจากเหตุผลด้านผลประโยชน์ของชาติแล้ว มีเหตุผลใดอีกบ้างในการเข้าถึงวัคซีน

แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างข้อตกลงในการผลิตวัคซีนเพื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษก่อนประเทศอื่นๆ นั้น จึงนำมาซึ่งข้อพิพาทในสังคมหลายแห่งทั่วโลก อาห์เหม็ดได้กล่าวว่า ในทางภูมิรัฐศาสตร์แล้วจะเกิดเป็นความบาดหมางระหว่างประเทศในแถบซีกโลกเหนือและประเทศในแถบซีกโลกใต้ เมื่อซีกโลกเหนือสนับสนุนแนวคิด ‘อธิปไตยวัคซีน’ แต่ซีกโลกใต้สนับสนุนแนวคิด ‘วัคซีนของประชาชน’ (People’s Vaccine) ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงวัคซีน COVID-19 ฟรีอย่างทั่วถึง ซึ่งไม่ได้รวมแค่เฉพาะตัววัคซีนเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงการตรวจ การรักษา และปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย[15]

ประเด็นด้านการแจกจ่ายวัคซีนกับอำนาจอธิปไตยนี้เองที่ได้ทำให้ประเทศคิวบาพยายามผลักดันประสิทธิภาพการผลิตและวิจัยวัคซีนเป็นของตัวเองขึ้นมา โดยเริ่มต้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ที่มีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในคิวบาถึง 675 ราย และการระบาดยังทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงไปถึงร้อยละ 11 ในปีเดียวกัน ซึ่งความต้องการวัคซีนโดยด่วนนี้เองทำให้คิวบาเริ่มต้นลงมือวิจัยวัคซีนเพื่อลดการพึ่งพาวัคซีนจากชาติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิวบายังคงอยู่ใต้การแทรกแซงทางเศรษฐกิจของสหรัฐ[16] และการผลิตวัคซีนได้เองเช่นนี้ทำให้คิวบาลดการพึ่งพิงประเทศในกลุ่มซีกโลกเหนือได้เป็นอย่างมาก

การผลิตวัคซีนด้วยตนเองของประเทศอย่างคิวบาทำให้ประเทศอื่นๆ ที่ไม่สามารถจ่ายค่าวัคซีนหรือไม่สามารถจัดหาวัคซีนจากตะวันตกด้วยเหตุผลทางการเมืองเริ่มที่จะมีความหวังมากยิ่งขึ้น จากการรายงานข่าวของ CNN ระบุว่า อิหร่านได้มีการทำข้อตกลงจัดซื้อวัคซีน Soberana 02 ของคิวบาแล้วเป็นจำนวนถึง 100,000 โดส และอีกกว่า 30,000 โดส จะถูกส่งมอบไปยังเวเนซูเอลา[17] หากคิวบายังสามารถขยายการส่งออกวัคซีนออกไปได้อย่างต่อเนื่อง ดุลอำนาจเหนือชีวิตและอธิปไตยด้วยวัคซีน COVID-19 อาจจะเกิดการขยับเขยื้อนมากยิ่งขึ้น

การระบาดของไวรัส COVID-19 ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เผยให้เห็นถึงอำนาจที่ไม่เท่ากันทางสาธารณสุขในระดับระหว่างประเทศ สำนักข่าว EURACTIV รายงานเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2021 ว่าประเทศแอฟริกาใต้ทำการประท้วงข้อตกลง Trade-Related Aspects of Intellectual Property (TRIPS) ของ World Trade Organization (WTO) ที่มีผลคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลไปถึงผลิตภัณฑ์ด้านเวชกรรมอีกด้วย การประท้วงดังกล่าวเนื่องจากประเทศแอฟริกาใต้มีความเห็นว่าข้อตกลง TRIPS ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจจะทำให้เกิดการซ้ำรอยความล้มเหลวในการรักษาชีวิตของชาวแอฟริกันกว่า 11 ล้านคน ในช่วงการระบาดของโรค AIDS ครั้งใหญ่ในอดีตได้[18]

การประท้วงดังกล่าวไม่ได้ถูกยื่นเรื่องด้วยประเทศแอฟริกาใต้เพียงอย่างเดียว หากยังได้รับการสนับสนุนจากอินเดียและประเทศกำลังพัฒนาอีกกว่า 80 ประเทศ ซึ่งถูกประเทศในกลุ่มโลกตะวันตกอย่างสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศในเครือยุโรป รวมไปถึงยักษ์ใหญ่ของวงการเวชกรรมอย่างสหรัฐ ปฏิเสธคำทักท้วงดังกล่าว

อาห์มัด โคลิส แฮมซาห์ (Ahmad Cholis Hamzah) จากมหาวิทยาลัยแอร์แลงกา (Airlangga University) ในอินโดนีเซีย เขียนถึงยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกเอาไว้บนเว็บไซต์ UNAIR ว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฯลฯ เริ่มแข่งขันกันในด้านการเป็น ‘ที่หนึ่ง’ ของวงการเวชกรรมในระดับโลก ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่แข่งขันกันในด้านการผลิตอาวุธสมัยใหม่อย่างโดรนหรือการป้องกันทางไซเบอร์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่ต้องการให้อำนาจในการต่อสู้กับไวรัส COVID-19 ตกไปอยู่ในมือของอำนาจนอกประเทศ ตัวอย่างที่แฮมซาห์ยกขึ้นมาประกอบคือ การกล่าวถึงประสิทธิภาพของการผลิตวัคซีนในสหรัฐ โดยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กล่าวว่าวัคซีนจะต้องผลิตและแจกจ่ายภายในประเทศเท่านั้น หรือการที่จีนใช้นักวิทยาศาสตร์กว่า 1,000 คน ในการทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อคิดค้นการสร้างวัคซีนโดยใช้องค์กรทางการทหารอย่าง Military Academy of Military Medical Sciences เข้ามาช่วยด้วย ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความเข้มข้นของการแข่งขันดังกล่าวที่ประเทศกำลังพัฒนาได้แต่เป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้น[19] 

นอกจากนี้ประเทศจีนยังได้ประกาศนโยบาย Health Silk Road ควบคู่ไปกับนโยบายเดิมอย่าง BRI เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านสาธารณสุขโลก โดยส่งความช่วยเหลือด้านวัคซีนอย่างซิโนฟาร์มหรือซิโนแวคไปตามประเทศต่างๆ ตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในอาเซียนและแอฟริกา[20] ขณะเดียวกัน วัคซีนสปุตนิค วี ของรัสเซียก็รุกคืบเข้าสู่กลุ่มประเทศบอลข่านและยุโรปตะวันออก เนื่องจากยุทธศาสตร์ด้านการจำหน่ายวัคซีนที่ติดขัดของสหภาพยุโรป จากคำสัญญาในการมอบสถานะสมาชิกภาพสหภาพยุโรปให้แก่กลุ่มประเทศบอลข่านตั้งแต่การประชุม Thessaloniki Summit ปี 2003 แต่จนถึงปัจจุบันก็มีเพียงโครเอเชียเท่านั้นที่ได้สถานะดังกล่าว รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนตามสิทธิที่ประเทศสมาชิกพึงได้รับ[21]

จากสถานการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นภาพของการพยายามใช้อำนาจในการจัดการระบบควบคุมการแจกจ่ายวัคซีนของกลุ่มประเทศตะวันตกในซีกโลกเหนือที่มีความร่ำรวยเหนืออธิปไตยของประเทศในซีกโลกใต้ ส่วนประเทศใดที่มีความพร้อมและมีความจำเป็นจะต้องยืนหยัดให้ได้ด้วยตนเองอย่างกรณีคิวบาและอิหร่านนั้นก็จำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนเป็นของตนเอง ขณะเดียวกัน จีนและรัสเซียก็ได้รุกคืบทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เข้าสู่กลุ่มประเทศที่ไม่ถูกนับให้เป็นพวกเดียวกันกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างกรณีของกลุ่มประเทศบอลข่านและเอเชีย เพื่อสร้างความนิยมด้วย soft power และอำนาจเหนืออธิปไตย

นักวิชาการจำนวนไม่น้อยคาดการณ์กันว่า การแพร่ระบาดขนาดใหญ่ระดับโลกของไวรัส COVID-19 นี้เป็นผลมาจากความอ่อนแอของความร่วมมือในการลงทุนด้านเวชกรรมและการป้องกันโรคอุบัติใหม่ของนานาชาติตั้งแต่หลายปีก่อนการระบาดจะเกิดขึ้น และคาดการณ์กันต่อไปว่าหลังจากจบสิ้นการระบาดขนาดใหญ่ครั้งนี้แล้ว การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคอื่นๆ ที่จะตามมาหลังจาก COVID-19 จะพร้อมมากขึ้นจากบทเรียน ความร่วมมือ และการลงทุนในครั้งนี้

คำถามที่สำคัญต่อมาคือ แล้วครั้งหน้าหากมีโรคระบาดชนิดใหม่เกิดขึ้นอีก มิติความมั่นคงของรัฐและอำนาจทางการเมืองอย่างภูมิรัฐศาสตร์วัคซีนเช่นที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ จะมีการพัฒนาต่อไปในทิศทางที่ซับซ้อนกว่านี้เพียงใด และแต่ละประเทศจะมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดในการเตรียมพร้อมที่จะตักตวงผลประโยชน์ต่อไปในอนาคต

อ้างอิง

[1] กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, จาก https://www.ditp.go.th/contents_attach/709462/709462.pdf 

[2] Brahma Chellanney. (2017). Project Syndicate, จาก https://www.project-syndicate.org/commentary/china-one-belt-one-road-loans-debt-by-brahma-chellaney-2017-01 

[3] Wade Shepard. (2016). The Story Behind The World’s Emptiest International Airport. Forbes, from https://www.forbes.com/sites/wadeshepard/2016/05/28/the-story-behind-the-worlds-emptiest-international-airport-sri-lankas-mattala-rajapaksa/?sh=2f6a2e387cea 

[4] People Daily, China. (2017). Nepalese, Chinese companies ink joint venture agreement to build hydel project. from http://en.people.cn/n3/2017/0117/c90000-9167952.html 

[5] France24. (2020). China ready for ‘friendly relations’ with Taliban, welcomes Afghan development projects. from https://www.france24.com/en/asia-pacific/20210816-china-ready-for-friendly-relations-with-taliban-welcomes-afghan-development-projects 

[6] OBOReurope. (2021). Afghanistan: The heart of the New Silk Road strategy? from https://www.oboreurope.com/en/afghanistan-new-silk-road/ 

[7] Gazprom. (2021). Europe. About Gazprom, from https://www.gazprom.com/about/marketing/europe/ 

[8] Members of the Ukrainian parliament. (2020). Putin’s pipeline is a strategic weapon. It must be stopped. UkraineAlert, from https://www.atlanticcouncil.org/blogs/ukrainealert/putins-pipeline-is-a-strategic-weapon-it-must-be-stopped/ 

[9] Kosowski, Piotr & Kosowska, Katarzyna. (2016). The geopolitics of Gazprom’s pipelines. AGH DRILLING, OIL, GAS. 33. 757. 10.7494/drill.2016.33.4.757. 

[10] BBC. (2014). Russia drops South Stream gas pipeline plan. from https://www.bbc.com/news/world-europe-30283571 

[11] BUREAU OF ENERGY RESOURCES. (2021). Protecting Europe’s Energy Security Act (PEESA), as Amended. U.S. Department of State, from https://www.state.gov/protecting-europes-energy-security-act-peesa/#.X48HEJEF3_w.twitter 

[12] NIKOLA MIKOVIC. (2021). Nord Stream 2: Assessing Russia’s “serious geopolitical victory”. The Interpreter. from https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/nord-stream-2-assessing-russia-s-serious-geopolitical-victory 

[13] Kayum Ahmed. (2020). Oxford, AstraZeneca Covid-19 deal reinforces ‘vaccine sovereignty.’ We need a people’s vaccine instead. STAT, from https://www.statnews.com/2020/06/04/oxford-astrazeneca-covid-19-deal-reinforces-vaccine-sovereignty/ 

[14] Rytis Satkauskas. (2021). Vaccine sovereignty and international law. Leiden Law Blog, from https://www.leidenlawblog.nl/articles/vaccine-sovereignty-and-international-law 

[15] UNAIDs. (2020). Uniting behind a people’s vaccine against COVID-19. from https://www.unaids.org/en/resources/presscentre/featurestories/2020/may/20200514_covid19-vaccine-open-letter 

[16] Amilcar Pérez Riverol, Dan Merino And Gemma Ware. (2020). Cuba’s race to make its own coronavirus vaccine – podcast. The Conversation Weekly podcast, ep.14, from https://theconversation.com/cubas-push-for-coronavirus-vaccine-sovereignty-160551 

[17] Patrick Oppmann. (2021). Inside Cuba’s race to vaccine sovereignty. CNN, from https://edition.cnn.com/2021/03/31/americas/cuba-vaccines-covid-phase-three-intl-latam/index.html 

[18] EURACTIV. (2021). Rich countries block push by developing nations to waive COVID vaccine patents rights. from https://www.euractiv.com/section/economy-jobs/news/rich-countries-block-push-by-developing-nations-to-waive-covid-vaccine-patents-rights/ 

[19] Ahmad Cholis Hamzah. (2021). Merah Putih Vaccine and State Sovereignty. UNAIR News, from http://news.unair.ac.id/en/2021/07/30/merah-putih-vaccine-and-state-sovereignty/ 

[20] Kirk Lancaster, Michael Rubin and Mira Rapp-Hooper. (2020). Mapping China’s Health Silk Road. The Council on Foreign Relations (CFR), from https://www.cfr.org/blog/mapping-chinas-health-silk-road 

[21] Michael Leigh. (2021). Vaccine diplomacy: Soft power lessons from China and Russia? Bruegel, from https://www.bruegel.org/2021/04/vaccine-diplomacy-soft-power-lessons-from-china-and-russia/ 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า