คลังแสงที่รอคอย จากเรือดำน้ำเจ้าปัญหา ได้มาแค่เรือฟริเกต เพราะไทยเกรงใจจีน จนต้องยอมเสียค่าโง่

กองทัพเรือและกระทรวงกลาโหมอาจเดินมาสุดทาง ‘จีน’ ในประเด็นการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ โดยเฉพาะ ‘เรือดำนํ้าจีน’ รุ่น S26T ที่คั่งค้างมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเกิดปัญหาว่าทางเยอรมนีเจ้าของเครื่องยนต์ MTU 396 ไม่อนุมัติการขายให้กับจีน เพื่อนำไปประกอบเรือดำน้ำแล้วขายให้กับกองทัพเรือไทยตามสเปกเครื่องยนต์และข้อตกลงที่ไทยทำกับจีน จนทางการจีนได้เสนอให้เปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ CHD 620 ที่ผลิตในจีนแทน ซึ่งถือว่าจีน ‘ผิดสัญญา’ เพราะไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ตามที่กองทัพไทยต้องการได้ 

ในที่สุด เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความชัดเจนว่าต้องการ ‘ล้ม’ โครงการจัดหาเรือดำนํ้า โดยให้ชะลอโครงการออกไปก่อน โดยสั่งการให้ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พิจารณาขอเปลี่ยนจากการจัดหาเรือดำนํ้าเจ้าปัญหา มาเป็นการจัดซื้อ ‘เรือฟริเกต’ จากจีนแทน คาดกันว่าน่าจะเป็นเรือฟริเกตแบบ Type 054A Jiangkai II 

นายสุทินได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าเรือฟริเกตของจีนมีราคาประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนที่ตั้งราคาไว้ 17,000 ล้านบาทนั้น เป็นการตั้งจากปีงบประมาณ 2567 เผื่อไว้สำหรับเรือฟริเกตของยุโรป ซึ่งกองทัพยังไม่ได้เคาะว่าจะเอาจากประเทศไหนจึงต้องตั้งเผื่อไว้ ส่วนเรือที่ไทยจะแลกเปลี่ยนกับเรือดำน้ำอยู่ที่ราคา 14,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างต่อรอง และอาจถูกลงกว่านี้ได้ แต่รัฐบาลจะต้องเติมงบประมาณเผื่อไว้เป็น 17,000 ล้านบาท 

ความเคลื่อนไหวข้างต้นนำมาสู่คำถามจำนวนมากว่า จีนในฐานะ ‘ผู้ผิดสัญญา’ ที่ไม่สามารถหาเครื่องยนต์ตรงตามสเปกของกองทัพเรือไทย จะต้องชดเชยในส่วนนี้อย่างไร แย่ยิ่งกว่านั้น ความพยายามในการเปลี่ยนดีลจากเรือดำนํ้ามาเป็นเรือฟริเกตจีนนั้น ทำให้ไทยต้องเพิ่มงบประมาณขึ้นไปอีก แล้วจีนในฐานะผู้ผิดสัญญาจะรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร หรือเพียงเพราะไทยเกรงใจจีนจนต้องยอม ‘เสียค่าโง่’ ทั้งที่ไทยได้เปรียบจากการผิดสัญญาของจีน ซึ่งเราสามารถเลือกช้อปปิ้งอาวุธอื่นๆ ที่ขาดแคลนในกองทัพบนเงื่อนไขนี้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรือฟริเกต หรือดำเนินการจัดหาเรือฟริเกตโดยไม่ต้องเพิ่มงบประมาณ และต้องได้ของแถมเป็นอย่างอื่นที่ไม่จำกัดอยู่อาวุธเพียงอย่างเดียวได้ 

จากการชะลอโครงการเรือดำนํ้าออกไป เพื่อเปลี่ยนมาเป็นเรือฟริเกตนี้ ยังมีการวิเคราะห์กันว่า รัฐบาลเพื่อไทยนั้นดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยการมีท่าทีโน้มเอียงไปยังจีนที่พยายามขยายอิทธิพลและความขัดแย้งเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นความสำคัญของจีนในฐานะ ‘พี่ใหญ่’ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจากกรณีการจัดหาเรือฟริเกตแทนเรือดำนํ้านั้น แม้ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณในการจัดหา 17,000 ล้านบาท จะเป็นการประเมินคร่าวๆ จากทางกองทัพเรือและกระทรวงกลาโหม แต่หลายฝ่ายก็อดไม่ได้ที่จะวิจารณ์ท่าทีของไทยว่า ‘หงอ’ ทั้งที่พี่ใหญ่เองนั่นแหละที่ผิดสัญญา

ด้านกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกหนังสือเชิญให้กองทัพเรือเข้ามาชี้แจงในวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ทางกองทัพเรือส่งหนังสือแจ้งกลับว่า ยังไม่สามารถเข้ามาชี้แจงได้ เนื่องจากต้องการรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนก่อน นอกจากนี้ ทาง กมธ.ทหาร ได้เรียกให้นายสุทินเข้ามาชี้แจงด้วยในสัปดาห์หน้า 

เรือฟริเกตแบบ 054A เจียงไค 2 รหัส 530 หรือ ‘ซูโจว’ แห่งกองเรือตะวันออก กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

‘ความงงในงง’ ของระบบคลังแสงกองทัพเรือไทย

การเสนอเปลี่ยนจากเรือดำนํ้าจีนมาเป็นเรือฟริเกตจีนนั้น เป็นการฉีก ‘สมุดปกขาว’ ของกองทัพเรือ พ.ศ. 2566 ทิ้งไปโดยปริยาย ทั้งที่สมุดปกขาวดังกล่าวมีอายุเพียงเดือนกว่าเท่านั้น 

เว็บไซต์และเพจการทหารชื่อดังของไทย thaiarmedforce.com หรือ TAF ระบุว่า สมุดปกขาวของกองทัพเรือมีความตั้งใจในการลดขนาดของกองทัพเรือให้มีความทันสมัยและกะทัดรัด ดังระบุในข้อ 17 และ 39 ซึ่งจะทำให้ยุทโธปกรณ์ที่จัดหาใหม่นั้นต้องมีประเภทและแบบเดียวกัน (Focused Force) เพื่อให้เกิดความง่ายในการจัดหา บำรุงรักษา และการสับเปลี่ยนกำลังพลในการปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อันที่จริงแล้ว กองทัพเรือประสบปัญหาการมีระบบอาวุธที่แตกต่างกันและมีเพียงอย่างละลำเต็มกองทัพเรือไปหมด ไม่สามารถรวมกันเป็น ‘ชุดเรือ’ ที่มีประสิทธิภาพในการร่วมรบได้ดีนัก เพราะมีการซื้ออาวุธจากหลากหลายประเทศและมีหลักนิยมที่แตกต่างกัน เช่น ระบบอาวุธของนาโต้ ระบบอาวุธรัสเซีย/จีน ทำให้เกิดปัญหาในเชิงปฏิบัติเพราะไม่สามารถใช้กระสุน จรวด หรืออื่นๆ ร่วมกันได้ 

ทาง TAF ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรือฟริเกตแบบ 054A เจียงไค 2 นั้น ไม่มีระบบอาวุธอะไรเลยที่กองทัพเรือมีไว้ใช้งานมาก่อน ทั้งเครื่องยนต์ เรดาร์ตรวจการณ์ แท่นยิงจรวด จรวดต่อต้านเรือผิวนํ้า ส่วนระบบการสื่อสารนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นคนละระบบกับ Link Y ที่กองทัพเรือไทยใช้อยู่ หากจะจัดหาเรือฟริเกตตามสเปกนี้ กองทัพเรืออาจต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การฝึก การส่งกำลังบำรุง ระบบอาวุธ อะไหล่ ฯลฯ ซึ่งเรือรบจีนที่ไทยมีประจำการล้วนมีปัญหาข้างต้นอยู่ตลอดเวลา หลายอย่างจึงต้องเสียงบประมาณเพิ่มเพื่อการโมดิฟายเอง

ตำนานเรือรบจีน จ่ายตังค์ซื้อไม่พอ ยังต้องโมฯ เอง

กองทัพเรือไทยมีการจัดหาเรือรบจีนครั้งแรกในปี 2534 เป็นเรือฟริเกตชุด ‘ร.ล.เจ้าพระยา’ จำนวน 4 ลำ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีประสิทธิภาพตํ่ากว่าเรือคอร์เวตชุด ‘รัตนโกสินทร์’ ที่จัดซื้อมาจากสหรัฐฯ จนกระทั่งในปี 2537 กองทัพเรือได้จัดหาเรือฟริเกตชุด ‘ร.ล.นเรศวร’ อีก 2 ลำ ที่ประกอบไปด้วยระบบอาวุธแบบผสมทั้งของตะวันตกและจีน เครื่องยนต์มีสมรรถนะสูง และได้จัดหามาในราคามิตรภาพ แต่สุดท้ายประสบปัญหามากมายจากระบบอาวุธที่ไม่สามารถใช้งานร่วมกันอย่างบูรณาการได้

ปัญหาที่เกิดจากการจัดหาเรือรบจีนของกองทัพเรือยังไม่สิ้นสุด โดยในปี 2548 กองทัพเรือจัดหาเรือตรวจการไกลฝั่ง ชุด ‘ร.ล.ปัตตานี’ จำนวน 2 ลำ แม้จะเป็นเรือตรวจการไกลฝั่ง ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและระบบอาวุธสูงนัก แต่ทางกองทัพเรือจำเป็นต้องว่าจ้างบริษัทเอกชนจากยุโรป เข้ามาควบคุมคุณภาพในการประกอบเรือและติดตั้งระบบอาวุธจากตะวันตกแทบทั้งสิ้น เท่ากับว่าเป็น ‘เรือเปล่า’ และต้องซื้ออาวุธมาใส่เอง ทั้งยังต้องเผชิญปัญหาทางเทคนิคจากการออกแบบเรือของจีน โดยเฉพาะโลหะที่นำมาใช้ในการต่อเรือ ขณะที่เรือรบจีนหลายลำก็มีปัญหาในการซ่อมบำรุง จำเป็นต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้มหาศาลเพื่อยืดอายุการใช้งานออกไป ซึ่งแตกต่างจากเรือรบของสหรัฐฯ ที่เรานำเข้าประจำการที่สามารถซ่อมบำรุงได้เองตามปกติ

จากประสบการณ์ของกองทัพเรือที่มีต่อการจัดซื้อเรือจีน 3 ครั้งเป็นอย่างตํ่า ดูเหมือนจะทำให้กองทัพเรือไทยถอดใจจากเรือจีนไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดหาเรือฟริเกต ชุด ‘ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช’ จำนวน 2 ลำ (อีกลำคือ ร.ล.อานันทมหิดล ที่เลื่อนโครงการออกไป) จากเกาหลีใต้ ในปี 2556 ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประสบการณ์ในการต่อเรือสูง รวมถึงเรือรบด้วย ที่มาพร้อมกับระบบอาวุธมาตรฐานตะวันตกทั้งสิ้น

ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช (471) ต่อโดย Daewoo Shipbuilding and Marine Engineering จากเกาหลีใต้ พัฒนามาจาก ‘เรือพิฆาตควังแกโทมหาราช’ 

การชะลอโครงการเรือดำนํ้าออกไปของรัฐบาลในครั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนมาเป็นเรือฟริเกต แม้ว่าเรือประเภทนี้จะมีขีดความสามารถในการปราบเรือดำนํ้า ทว่า วิธีปฏิบัติการระหว่างเรือทั้งสองแบบไม่สามารถแทนกันได้เลย เพราะพันธกิจและการรบที่แตกต่างกัน

เมื่อพูดถึงการจัดหาเรือรบจากประเทศจีนแล้ว การคำนึงถึงประสิทธิภาพ สมรรถนะ และการส่งกำลังบำรุง ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไทยจะต้องใช้งบประมาณต่อไปอีกหลังจากเรือรบนั้นเข้าประจำการเรียบร้อยแล้ว การทำหมันเรือดำนํ้าจีน เพื่อเปลี่ยนมาเป็นเรือฟริเกต จึงจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อการจัดซื้อเข้าไปอีก ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าได้ไม่คุ้มเสีย และไทยก็ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่อย่างใด จึงควรยกเลิกสัญญาเสีย เพื่อนำไปสู่การชดเชยจากฝ่ายจีน ซึ่งเป็นหน้าที่ทางการทูตที่สมควรจะต้องกระทำ ขณะที่โครงการต่อเรือฟริเกตชุด ร.ล.อานันทมหิดล นั้นก็ยังคั่งค้างอยู่ ซึ่งสมควรนำกลับมาพิจารณาแทนเรือฟริเกตจีน เพื่อให้กองทัพเรือไทยมีเรือชุด เพื่อประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการทำการรบต่อไป นอกจากนี้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการต่อเรือภายในประเทศ ยังสามารถสร้างเศรษฐกิจ การจ้างงาน และพัฒนาเทคโนโลยีการต่อเรือของไทยได้ ซึ่งส่วนนี้เองภาคเอกชนไทยก็มีความพร้อมอยู่แล้ว รัฐบาลจึงควรหันมาพิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน 

อ้างอิง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า