ชาวฮังกาเรียน คัดค้านสร้างมหาวิทยาลัยจีนในกรุงบูดาเปสต์

หลังจากการแผ่ขยายอิทธิพลการค้าการเงินของจีนไปในทุกทวีปและดินแดนที่เกิดเป็นข่าวมาโดยตลอด ระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวฮังกาเรียนนับหมื่นเข้าร่วมชุมนุมและออกเดินขบวนในเมืองหลวงบูดาเปสต์ เพื่อประท้วงแผนของรัฐบาลที่กำหนดให้สร้างวิทยาเขตสาขาของมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนในบูดาเปสต์ รวมทั้งมีการเปลี่ยนชื่อถนนบางสายเพื่อเป็นการประท้วงนโยบายกดปราบเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของจีนด้วย

ตามข้อตกลงที่ได้ลงนามไปแล้วระหว่างรัฐบาลฮังการี โดย นายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) กับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฟู่ตัน (Fudan) วิทยาเขตแห่งนี้ ซึ่งจะเป็นแห่งแรกของฟู่ตันในทวีปยุโรป บนพื้นที่ 500,000 ตารางเมตร ริมฝั่งแม่น้ำดานูบ เพื่อรองรับนักศึกษาประมาณ 8,000 คน ซึ่งมีกำหนดจะแล้วเสร็จภายในปี 2024

ฟู่ตัน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน ติดอันดับ 200 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

“วิทยาเขตใหม่แห่งนี้จะยกระดับมาตรฐานการศึกษา การให้ความรู้และการแข่งขันระดับโลกแก่นักศึกษา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจฮังการี” โซลตัน โควัคส์ (Zoltan Kovacs) เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศฮังการีแถลง

แต่โครงการที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้ได้สร้างความไม่สบายใจขึ้นในหมู่พลเมือง จากการที่ฮังการีมีแนวโน้มเอนเอียงทางการทูตที่หันเหจากฝ่ายตะวันตกไปสู่ตะวันออก และจะก่อภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นกับจีน ตลอดจนจุดชนวนความขัดแย้งทางการทูตขึ้นระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับนายกเทศมนตรีเสรีนิยมของเมืองบูดาเปสต์

“ไม่เอาฟู่ตัน! ตะวันตก ไม่ใช่ตะวันออก!” คือถ้อยคำบนป้ายประกาศแผ่นหนึ่งของประท้วง ขณะที่บางคนกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีออร์บานกับพรรคฝ่ายขวาของเขาอย่าง Fidesz ได้พยายามหาทางสนิทสนมกับจีนอย่างมาก

“ออร์บานกับพรรค Fidesz วาดภาพตัวเองว่าเป็นพวกต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกคอมมิวนิสต์นั่นแหละเป็นเพื่อนของพวกเขา” ซอนยา ราดิคส์ (Szonja Radics) นักศึกษามหาวิทยาลัย อายุ 21 ปี กล่าวกับ AFP ระหว่างการชุมนุมประท้วง ซึ่งเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ครั้งแรกในฮังการีของปีนี้

ฮังการีเป็นประเทศในยุโรปตอนกลางซึ่งไม่มีทางออกทะเล การปกครองนับตั้งแต่ปี 1989 เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยทางรัฐสภา หลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยมีอำนาจตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union: EU) สนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) และองค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน

ภาระทางการเงิน

เอกสารภายในที่รั่วไหลออกมาเมื่อเดือนที่แล้วเปิดเผยว่า ฮังการีจะต้องใช้งบประมาณเต็มจำนวน 1.5 พันล้านยูโร (1.8 พันล้านดอลลาร์) เพื่อสร้างวิทยาเขตแห่งใหม่ ซึ่งจีนจะต้องให้เงินกู้จำนวนมหาศาลถึง 1.3 พันล้านยูโร (1.6 พันล้านดอลลาร์) เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่

การเปิดเผยดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นว่า โครงการวิทยาเขตฟู่ตันจะทำให้ฮังการีก่อหนี้ก้อนใหญ่และจะต้องพึ่งพาอาศัยจีนมากขึ้น

“โครงการฟู่ตัน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในภาพกว้างเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างฮังการีกับจีน” กาบอร์ กียอริ (Gabor Gyori) จากองค์การ Policy Solutions ในบูดาเปสต์กล่าว

ท่ามกลางการผลักดันที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ‘ไร้จิตวิญญาณเสรี’ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งของสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกาตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีออร์บานได้พยายามเสริมสร้างความเชื่อมโยงของฮังการีให้หันเหไปสู่ประเทศฝ่ายตะวันออก

ขณะเดียวกัน เป็นที่เห็นได้ชัดว่าปักกิ่งได้พยายามใช้อำนาจทางการคลังขนาดมหาศาลของตนเพื่อแผ่ขยายอิทธิพลจีนเข้าสู่ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มพูนผลประโยชน์ของจีนภายในสหภาพยุโรปและกลุ่มพันธมิตรนาโต้

ฮังการีเป็นหนึ่งในไม่กี่รัฐที่กระตือรือร้นที่จะรับเงินทุนในลักษณะนี้

นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงในการกู้ยืมเงิน 2 พันล้านยูโร เพื่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับเซอร์เบีย ซึ่งเป็นอีกรัฐหนึ่งของยุโรปที่กระตือรือร้นอย่างยิ่งกับเงินหยวน

นักวิจารณ์กล่าวว่าฮังการีไม่ต้องการเงินกู้ภายใต้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูของสหภาพยุโรป (EU’s Recovery Fund) และนั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีออร์บานต้องการเงินทุนชนิดที่มีข้อผูกมัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ถึงแม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การเงินและการลงทุนของจีนในฮังการีจะมีเพียงน้อยนิดเมื่อคำนึงถึงการไหลบ่าของการลงทุนมหาศาลของประเทศฝ่ายตะวันตก เช่นจากเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ความแตกต่างที่เชื่อมโยงให้เห็นว่าฮังการีเอนเอียงไปทางประเทศฝ่ายตะวันออกครั้งนี้ แสดงถึงความต้องการจะเบี่ยงเบนความสัมพันธ์ออกห่างจากประเทศฝ่ายตะวันตกอย่างชัดเจน

“รัฐบาลได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างมิตรภาพผูกพันกับจีนและรัสเซียด้วย มากกว่าเป็นเพียงประเทศพันธมิตรของสหภาพยุโรปกับนาโต้” นักวิเคราะห์ กียอริ แห่ง Policy Solutions กล่าว

เปลี่ยนชื่อถนน

ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นมากระหว่างนายกรัฐมนตรีออร์บานกับปักกิ่ง ทำให้เกิดประเด็นข่าวทั่วโลกมาแล้วตลอดเวลาหลายปี แต่ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามและสื่อท้องถิ่นหลายครั้งเผยให้เห็นถึงความมุ่งหมายทางการเงินและผลประโยชน์ของจีนในบูดาเปสต์ และเมื่อไม่นานมานี้เสียงคัดค้านได้เริ่มดังกึกก้องยิ่งขึ้นในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามที่แสดงออกโดยนักวิเคราะห์การเมืองและผลของการสำรวจความคิดเห็น

รายงานผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่า ชาวบูดาเปสต์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแผนก่อตั้งมหาวิทยาลัยดังกล่าว เจอร์เกลี คาราคโซนี (Gergely Karacsony) นายกเทศมนตรีของเมืองหลวง ได้เรียกร้องให้นายกออร์บานหยุดดึงดันเดินหน้าโครงการซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของเมืองหลวงแห่งนี้

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน นายกเทศมนตรีคาราคโซนีได้ประกาศเปลี่ยนชื่อถนนบางสายโดยรอบบริเวณที่ถูกเสนอให้ก่อตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ว่า ‘ถนนฮ่องกงเสรี’, ‘ถนนดาไลลามะ’ และ ‘ถนนผู้พลีชีพชาวอุยกูร์’ เพื่อเน้นถึงประเด็นปัญหาการกดขี่สิทธิมนุษยชนของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการ ‘ดูถูก’ แต่เสริมว่าความเคลื่อนไหวเช่นนั้นไม่น่าส่งผลกระทบอย่างใดต่อโครงการ

รัฐบาลของออร์บานให้เหตุผลว่า ศักยภาพอันมีชื่อเสียงสูงเด่นของมหาวิทยาลัยฟู่ตัน จะหนุนเนื่องให้นักศึกษาฮังการีกับนักศึกษาต่างชาติอีกหลายพันคนมีโอกาสได้รับวุฒิการศึกษาที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นโครงการนี้ยังสอดคล้องกับแผนดั้งเดิมที่จะสร้างโครงการเขตหอพักขนาดใหญ่ หรือ ‘Student City’ สำหรับนักศึกษาชาวฮังกาเรียนหลายพันคนในบริเวณดังกล่าวอยู่แล้ว แม้ว่านายกเทศมนตรีคาราคโซนี (ซึ่งกำลังชั่งใจอยู่ว่าจะสมัครลงแข่งขันกับนายกรัฐมนตรีออร์บานในการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าหรือไม่) ก็ยังหวั่นเกรงว่าวิทยาเขตฟู่ตันแห่งใหม่กำลังจะเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ไปทั้งหมด

“การชุมนุมประท้วงเมื่อวันเสาร์ (5 มิถุนายน) ไม่มีเหตุผล เนื่องจากกระบวนการยังเป็นเพียงขั้นตอนวางแผน” ทามาส ชานดา (Tamas Schanda) เจ้าหน้าที่ของรัฐกล่าว พร้อมเสริมว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2022

อาการหันเหจากกลุ่มพันธมิตร

ฮังการีเคยเพิกเฉยต่อคำเตือนของสหรัฐอเมริกาว่า การใช้ระบบโทรศัพท์ของ Huawei มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย จากการที่ฮังการีมอบให้บริษัทของจีนมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างเครือข่าย 5G ในประเทศ

ฮังการีเป็นรัฐเดียวในสหภาพยุโรปที่ใช้วัคซีน Sinopharm ของปักกิ่ง ขณะที่พันธมิตรนาโต้หลายประเทศกำลังแสดงออกถึงความสงสัยเกี่ยวกับแนวนโยบายของฮังการีต่อกิจกรรมรุกคืบของปักกิ่งในน่านน้ำแห่งทะเลจีนใต้

ไฮโก มาส (Heiko Maas) รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี เคยส่งเสียงตำหนินายกรัฐมนตรีออร์บานอย่างรุนแรง เมื่อ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่บูดาเปสต์พยายามขัดขวางมาตรการของสหภาพยุโรปที่ออกมาต่อต้านการควบคุมและปราบปรามของจีนที่เข้มงวดกับชาวฮ่องกง

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฮังการีแยกตัวจากกลุ่มประชาคมในประเด็นเรื่องจีน” มาสกล่าวกับผู้สื่อข่าว “ผมคิดว่าทุกคนสามารถรู้ตระหนักได้เองถึงเหตุผลของเรื่องนี้”

ในทางกลับกัน ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง (Xi Jingpin) ได้กล่าวยกย่องชมเชยนายกรัฐมนตรีออร์บาน

“จีนชื่นชมฮังการีเป็นอย่างสูงสำหรับการยึดมั่นอยู่กับแนวนโยบายที่เป็นมิตร … (และนำ) โครงการสำคัญทั้งหลายมาเป็นแนวทาง” เขากล่าว

การ ‘เปิดสู่โลกตะวันออก’ กับ ‘เสรีภาพทางวิชาการ’

‘วิทยาเขตฟู่ตัน’ เป็นหมุดหมายสำคัญชิ้นล่าสุดในนโยบายต่างประเทศของออร์บานที่มุ่งหน้า ‘เปิดสู่โลกตะวันออก’ (Eastern Opening) ของเขา ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนอธิบายว่าเป็นความพยายามเพื่อสร้างสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์

แต่เหล่านักวิจารณ์พากันส่งเสียงขรม และวาดภาพนายกรัฐมนตรีชาตินิยมคนนี้ว่า เขากำลังทำให้ประเทศกลายเป็น ‘ม้าโทรจัน’ ของรัสเซียกับจีน ในสหภาพยุโรปและกลุ่มนาโต้

การที่รัฐบาลฮังการีพยายามออกข่าวหนุนเนื่องมหาวิทยาลัยฟู่ตันแห่งเซี่ยงไฮ้ (ซึ่งได้ลบล้างข้อความที่ระบุถึง ‘เสรีภาพทางความคิด’ ออกจากกฎบัตรมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2019) ยังผลักดันให้แวดวงการศึกษาเกิดความกังวลขึ้นอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตของเสรีภาพทางวิชาการในฮังการี

เมื่อปี 2018 มหาวิทยาลัยยุโรปกลาง (Central European University: CEU) ซึ่งก่อตั้งโดย จอร์จ โซรอส (George Soros) มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี ผู้ที่เกิดในฮังการี ออกแถลงการณ์ว่า “มหาวิทยาลัยถูกบังคับให้ย้ายออกจากบูดาเปสต์” ไปยังเวียนนา, ออสเตรีย หลังจากเกิดข้อพิพาททางกฎหมายอย่างรุนแรงกับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีออร์บาน

ไมเคิล อิกนาเตียฟ (Michael Ignatieff) ประธานของมหาวิทยาลัยยุโรปกลาง ซึ่งเป็นสถาบันภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาวิจารณ์การมาถึงของวิทยาเขตฟู่ตันว่าเป็น “การทำลายล้างเสรีภาพทางวิชาการอีกครั้งหนึ่ง” โดยบอกว่ามหาวิทยาลัยฟู่ตันจะไม่มีวันเปิดหลักสูตรที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนหรือฮังการีอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งมีความกังวลเพียงเล็กน้อยจากความคิดเห็นของประชาชนแห่งท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม มหาวิทยาลัยฟู่ตันแห่งเซี่ยงไฮ้ออกข่าวตามข้อเท็จจริงที่ว่า มหาวิทยาลัยได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับกรมโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว

แต่พวกผู้สนับสนุนก็ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ฟู่ตันยังคงเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่อิงอยู่กับแนวคิดเสรีนิยมมากที่สุดในบรรดาสถาบันทั้งหลายของจีน นักวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าฮังการีอาจเป็นเหยื่อของหลักการคิดแบบมือถือสากปากถือศีลก็เป็นได้

พวกเขาให้ความเห็นว่า นักศึกษาชาวจีนหลายพันคนก็ยังได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตั้งนานมาแล้ว โดยไม่เห็นว่าฝ่ายไหนจะเกิดปัญหาอะไร และในทางกลับกัน “จึงดูเหมือนเป็นวิถีทางสองมาตรฐานจากการส่งเสียงคัดค้านมหาวิทยาลัยของจีนที่จะมาดำเนินการในฮังการี” เช่นนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง:

ที่มา:

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า