จุดยืนต่อ ‘นโยบายจีนเดียว’ รัฐไทยสยบยอมเพราะอยู่เป็น

ประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันกลายเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้างอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เมื่อเครื่องบิน C-40 Clipper ของ แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา ลงจอดบนแผ่นดินไต้หวัน โดยเสียงสะท้อนที่น่ากังวลยังคงมาจากฟากฝั่งของจีนที่บรรดาผู้รักชาติ ตั้งแต่ระดับประธานาธิบดีอย่าง สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ที่ออกมาประกาศซ้อมรบ พร้อมปิดเส้นทางการเดินเรือบริเวณรอบๆ ช่องแคบไต้หวัน ไปจนถึงระดับชาวเน็ตจีนในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Weibo (internet trolls) ซึ่งต่างออกมาระดมฟลัดข้อความใน Weibo เชียร์ให้กองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army: PLA) ช่วยกันยิงเครื่องบินของเพโลซีให้ตกหายลงไปในทะเลก่อนจะสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่ชาวจีนไปมากกว่านี้ 

ตามธรรมเนียมและมารยาททางการทูตสำหรับประเทศที่เรียกได้ว่าอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกัน (bloc) หรือเป็นพันธมิตรบ้านใกล้เรือนเคียงกันนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็มักจะมีวิธีการเดินหมากที่เห็นกันจนชินตาอยู่เพียงไม่กี่รูปแบบ หนึ่งในนั้นก็คือ การให้กระทรวงการต่างประเทศของตนเองออกแถลงการณ์เพื่อยืนยันในหลักการจีนเดียว (One-China Policy) ที่หมายถึงการยอมรับให้มีเพียงจีนแผ่นดินใหญ่ (PRC) เป็นประเทศที่มีสถานะชอบธรรมบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนไต้หวัน (ROC) จะถูกนับว่าเป็นจังหวัดหรือดินแดนส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น 

ไทยเองก็เป็นอีกประเทศที่ให้กระทรวงการต่างประเทศออกมาแถลงในทิศทางดังว่า ท่ามกลางความคับข้องคลางแคลงจิตใจของสาธารณชนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรชานม (Milk-Tea Alliance) ของคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติไม่สู้จะดีนักต่อจีนแผ่นดินใหญ่มาก่อนหน้านั้นแล้ว จากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ซินเจียง การแทรกแซงการเมืองภายในฮ่องกง ข้อพิพาททะเลจีนใต้ การสนับสนุนรัฐบาลคณะรัฐประหารในเมียนมา รวมไปถึงโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ที่จีนพยายามจะใช้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (debt-trap diplomacy) เป็นเครื่องมือในการครอบงำประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย 

ในขณะที่ไต้หวันนั้นแม้จะไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศบนเวทีโลก แต่ก็พร้อมจะให้การสนับสนุนแก่ไทย และพยายามใช้การทูตสาธารณะและภาคประชาชนพัฒนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยมาโดยตลอด ทั้งด้านการศึกษา วัฒนธรรม การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดวิวาทะที่น่าสนใจตามมาถึงความจำเป็นในการแสดงจุดยืนต่อนโยบายจีนเดียวของไทย และท่าทีที่ไทยพึงจะแสดงต่อไต้หวันบนเวทีโลกในอนาคต เพราะอย่างน้อยๆ ไต้หวันก็เป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก (East Asian regional power) ร่วมกับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรที่สำคัญภายใต้ปีกของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งไทยเองก็ยังขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจเพื่อสร้างความสมดุลในระบบความสัมพันธ์ (Bending with the Wind)

หากจะกล่าวตามสภาพความเป็นจริง คำตอบพื้นฐานที่สุดสำหรับกรณีดังกล่าว คงไม่พ้นการอ้างอิงถึงหลักการการยอมรับสถานะ (diplomatic recognition) ที่ปัจจุบันมีไม่ถึง 30 ประเทศในโลกที่ให้การยอมรับไต้หวันว่าเป็นประเทศอย่างชอบธรรม ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกับไต้หวันอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรือแม้แต่องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เคยออกแถลงการณ์สนับสนุนไต้หวันเมื่อครั้งไวรัส COVID-19 ระบาด ก็ไม่ได้ให้การยอมรับไต้หวันเป็นประเทศจริงๆ จังๆ เลย ไทยเองก็เช่นกัน เพราะไทยเปลี่ยนมารับรองสถานะให้จีนไปตั้งแต่เมื่อปี 1975 แล้ว หากกระทรวงการต่างประเทศไปแถลงการณ์ขัดกับหลักการก็เสี่ยงจะมีปัญหากับจีนแผ่นดินใหญ่เอาได้ง่ายๆ

เรื่องสืบเนื่องต่อมา คือ ต้องไม่ลืมว่าในมุมมองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP’s narrative) เชื่อว่าประเด็นที่เกิดขึ้นในช่องแคบไต้หวันครั้งนี้เป็นเรื่องที่กระทบถึง ‘ความมั่นคงภายใน’ (domestic security issue) ของจีน ทำให้ไทยในฐานะรัฐขนาดเล็กที่มีอำนาจต่อรองไม่ทัดเทียมกับจีนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากไทยเองก็มี ‘เรื่องภายใน’ ที่ไม่ต้องการให้ประเทศอื่นเข้ามายุ่มย่ามเช่นเดียวกัน อาทิ ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความอิหลักอิเหลื่อคลุมเครือในนโยบายเกี่ยวกับการขุดคอคอดกระ (Kra Isthmus) ผลลัพธ์คงจะออกมาไม่สวยนัก หากจีนเริ่มมีปากเสียง หรือยื่นแขนขาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็น ‘ภายใน’ เพื่อตอบโต้ไทย

เดิมแวดวงการเมืองทางฝั่งสหรัฐอเมริกาเคยมีความกังวลเกี่ยวกับ ‘นักล็อบบี้จากอิสราเอล’ จะเข้ามาใช้เส้นสายและความสัมพันธ์ในการกำหนดทิศทางการเมืองจนอาจกระทบถึงผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาฉันใด ปัจจุบันไทยเองก็มีความกังวลเรื่อง ‘นักล็อบบี้จากจีน’ ฉันนั้น เรื่องนี้เป็นปกติ ยิ่งย้อนกลับมาพิจารณาประเทศรอบบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะเห็นว่าทุกประเทศล้วนมี ‘เรื่องภายใน’ ให้หนักใจจนไม่ค่อยอยากจะแสดงจุดยืนเชิงลบต่อประเด็นภายในของประเทศอื่นให้อีกฝ่ายคับข้องใจเท่าใดนัก เพราะต่างไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะถึงคราวของตนเมื่อใด

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าย้อนกลับมาขบคิด คือ ขนาดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่แสดงจุดยืนเป็นมิตรอย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวัน ใน 3-4 สมัยที่ผ่านมา ทั้งยุคของ บารัค โอบามา (Barack Obama) โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จนมาถึง โจ ไบเดน (Joe Biden) ก็ยังไม่เคยแสดงท่าทีหรือส่งสัญญาณใดในการล้มล้างหลักการจีนเดียวที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้เลย อย่างมากก็ทยอยส่งมอบอาวุธสงคราม และสนับสนุนทางการทหารให้อย่างเงียบๆ และส่งเรือรบมาแล่นปฏิบัติการ Freedom of Navigation (FONOP) ในทะเลใกล้เคียงเป็นครั้งคราว เมื่อครั้งที่ไต้หวันพยายามจะเข้าร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) ช่วงไวรัส COVID-19 ระบาด สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม ทั้งยังปล่อยให้ไต้หวันจมอยู่ภายใต้ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ (strategic ambiguity) ของสหรัฐอเมริกาต่อไป

สถานการณ์ลักษณะนี้จึงไม่ใช่ธุระใดของไทยที่จะต้องไปแสดงจุดยืนหรือท่าทีล้ำหน้าหรือแหวกแนวไปจากประเทศมหาอำนาจ เอาไว้ถึงคราวที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเดินทางไปเยือนไต้หวันได้จริงในอนาคต ไทยค่อยพิจารณาก็ยังไม่ถือว่าสาย การเยือนไต้หวันของเพโลซีที่มีสถานะเป็นเพียงประธานรัฐสภา ไม่ใช่ประเด็นที่มีน้ำหนักมากพอที่ไทยจะต้องลงแรงหรือออกหน้าไปรับคมขวานบนเวทีร่วมกับไต้หวัน เพราะอย่างที่ทราบกันดี หากติดตามความเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมาก่อนหน้านี้ จีน-ไต้หวันมีการเล่นเกมยุแหย่ และกลั่นแกล้งกันเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว แค่ไม่ได้เป็นกระแสความสนใจของคนไทยในวงกว้างเท่านั้น 

อีกประการหนึ่งที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด คือ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สี จิ้นผิง และ โจ ไบเดน ได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์แล้ว และมีแนวโน้มสูงว่า สี จิ้นผิง จะรับรู้กำหนดการที่เพโลซีจะเดินทางเยือนไต้หวันตั้งแต่ 1 สัปดาห์ก่อนแล้ว แต่ด้วยความที่สหรัฐอเมริกากำลังจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในปลายปีนี้ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาคะแนนความนิยมในตัวไบเดนก็ลดไปมาก ส่วนจีนก็กำลังจะมีการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (National Congress of the CCP) ครั้งที่ 20 ในปลายปี ซึ่ง สี จิ้นผิง ตั้งความคาดหวังว่าตนจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เป็นวาระที่ 3 จึงเป็นเหตุให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนตัดสินใจเดินหมากในทิศทางข้างต้น โดยใช้ไต้หวันเป็นโรงละครสำหรับจัดแสดงอิทธิพลของทั้งสองฝ่าย 

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่สุดคือ แม้ไต้หวันจะถือเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคควบคู่กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน แต่ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของไต้หวันยังไม่ได้ยิ่งใหญ่นักเมื่อเทียบกับจีน และยังไม่ติด 1 ใน 10 อันดับเลยด้วยซ้ำ ขณะที่จีนติดอยู่ใน 2 อันดับแรกมาตลอด ด้วยเหตุนี้อำนาจต่อรองหรืออิทธิพลทางเศรษฐกิจ (economic significance) ย่อมมากกว่าไต้หวันเป็นทุนเดิม เมื่อมีอำนาจต่อรองสูงกว่าจึงไม่แปลกที่รัฐบาลไทยจะต้องเกรงกลัวจีนมากกว่าไต้หวัน เพราะเศรษฐกิจไทยผูกติดอยู่กับจีนเกือบทุกระดับและอุตสาหกรรม จีนเป็นผู้ค้ารายใหญ่ของทั้งไทยและอาเซียน อีกทั้งยังมีการนำเงินลงทุนมหาศาล (FDI) เข้ามาในไทยทุกปี เพียงจีนยืดระยะของนโยบาย Zero-Covid Policy ต่อไปอีกสัก 2 ปี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยก็พร้อมจะพังทลายได้ไม่ยาก 

จุดยืนเรื่องนโยบายจีนเดียวเจ้าปัญหานั้น ในแง่หนึ่งอาจจะดูเหมือนการเอนเอียงเข้าหาจีน และการสยบยอมต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมของจีน แต่แท้จริงแล้ว นโยบายดังกล่าวเป็นหนึ่งในเครื่องมือและกลไกที่ช่วยให้สหรัฐอเมริกาสามารถอยู่ร่วมกับจีนคอมมิวนิสต์อย่างสันติได้ในระยะยาว (peaceful co-existence) โดยที่สหรัฐอเมริกายังสามารถเข้ามาแสดงบทบาทนำในภูมิภาคและอนุภูมิภาครอบๆ อาณาเขตของจีนควบคู่กันไปได้ อีกทั้งการที่ไทยยึดมั่นในจุดยืนดังกล่าวจึงอาจหมายความถึงการเดินตามแนวทางที่สหรัฐอเมริกาขีดเส้นชี้แนะเอาไว้ให้ก็เป็นได้ 

ไทยเป็นประเทศที่มีแบบแผนการดำเนินนโยบายการทูตแบบอนุรักษนิยมมานาน เมื่อชั่งน้ำหนักของสถานการณ์แล้ว หากยังมองไม่เห็นผลประโยชน์ที่ชัดเจนจากการกระทำที่เสี่ยงจะก่อผลด้านลบมากกว่าด้านบวก ก็ไม่มีความจำเป็นใดต้องดำเนินการให้เกิดความเสียหายแก่ตนเอง 

ปี 2022 นี้ยังมีโอกาสให้ไทยแสดงบทบาทได้อีกหลายเวที โดยเฉพาะ APEC

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า