อุ่นเหลือ ‘ร้าย’

 

down jacket2

 

ช่วงต้นปี ที่เข้าสู่ฤดูหนาวเต็มตัว  หนึ่งในเครื่องนุ่งห่มยอดฮิตตอนนี้คือ   “เสื้อแจ็กเก็ตดาวน์” คือเสื้อหนาวนิยมใช้ขนห่านเป็นวัตถุดิบ หรือไม่ก็ใช้ขนเป็ด

เสื้อดาวน์ทำขึ้นจากขนสัตว์นุ่มๆ ชิ้นเล็กๆ จำพวกขนนก   แต่เสื้อแจ็กเก็ตดาวน์ถูกๆ ไม่ได้ใช้ขนประเภทนี้ทั้งหมด ทว่าจะหั่นซอยจากขนนก ขนห่าน หรือขนเป็ดชิ้นใหญ่ๆ เสื้อที่ใช้ขนประเภทนี้เมื่อใส่แล้วจะไม่อุ่นเท่าเสื้อดาวน์ประเภทที่ทำมาจากขนสัตว์ 100 เปอร์เซ็นต์ซึ่งมีราคาสูง  ตัวเสื้อจะเป็นปุยๆ ฟูออกมา ช่วยขับอากาศหนาวออกจากตัวเสื้อ และนำความอบอุ่นเข้ามาแทนที่

เสื้อดาวน์ให้ความอบอุ่นมากกว่าเสื้อที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ประมาณ 3 เท่าตัว  นอกจากนี้ยังเบาสบายมากกว่า อีกทั้งยังฟูและกลับสภาพเดิมได้ด้วย  หยิบออกมาใช้เมื่อไหร่ก็ฟูอุ่นเหมือนเดิมทุกครั้ง ผลิตภัณฑ์ดาวน์ดีๆ จะมีอายุการใช้งานที่นานมาก  หลายคนจึงไม่ลังเลใจแต่อย่างใดเมื่อต้องจ่ายหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งแจ็กเก็ตดาวน์ดีๆ สักตัว

แต่ของดี ก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป …..

 

July 2012 China feather farm investigation. Geese with feathers plucked.

 

ถอนสด-ขนนุ่ม

กระบวนการ “ดาวน์”  นั้นได้จาก “การถอนขนสด”  เพราะเชื่อว่าจะเป็นขนที่ดีที่สุด  ลองนึกภาพ คนงานที่ขังนกไว้และถอนขนมันด้วยมือ  แต่ถ้าเปลี่ยนนกเป็นห่าน ก็จะเห็นภาพการถอนขนจากช่วงท้องน้อยของห่าน หรือบางทีก็เป็นขนจากช่วงหลัง ใต้ปีกและคอ แต่ที่นิยมและนุ่มที่สุดคือ ขนส่วนหน้าอก

และบ่อยครั้งก็จะมีเศษผิวหรือเนื้อของมันติดขนมาด้วย  ทุกๆ ครั้ง ต้องแลกมาด้วยเสียงร้องอันเจ็บปวดและความพยายามบินหนีตลอดเวลา  และหลังจากถูกถอนขนไปและขนใหม่งอกขึ้นมาภายใน 5 สัปดาห์ มันก็จะถูกถอนซ้ำอีก ราว 6 ครั้งต่อตัว

…..บางครั้งมันก็ถึงกับเสียชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว

ขนห่านจากส่วนต่างๆ จะถูกผสมกัน ทำราคาได้ถึงกิโลกรัมละ 1,200 บาท ซึ่งห่านตัวหนึ่งจะให้ขนราว 150 กรัม ซึ่งเท่ากับหมอนขนาดปกติ

 

ขน-ตับ ตัวเดียวกัน

ในกูเกิล เพียงแค่พิมพ์คำว่า down cruelty ลงไป ก็จะพบภาพอันน่าสงสารมากมาย  ทั้งห่านไร้ขนและกำลังตาย

สำหรับคนทั่วไป “ดาวน์”  ถือว่าเป็นการทรมานสัตว์ ที่น้อยกว่าอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ห่านจะไม่ถูกเลี้ยงอัดแน่นในฟาร์มอุตสาหกรรมอย่างหมูหรือวัว

ข่าวจาก Veterinary Practice News ระบุว่า  ห่านของฟาร์มอุตสากรรมในฮังการี (ประเทศที่ เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเสื้อดาวน์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก)  จะถูกเลี้ยงรวมกันราว 20,000 ตัวในพื้นที่เล็กๆ  ซึ่งห่านเหล่านี้ถูกเลี้ยงเพื่ออุตสาหกรรมผลิตเสื้อแจ็กเก็ตดาวน์และตับห่านหรือฟัวกราส์ สินค้าขึ้นชื่อของฮังการี และยังทำกันอย่างถูกกฎหมาย ทั้งๆ ที่ เกือบทุกประเทศในสหภาพยุโรป ได้ห้ามการเลี้ยงห่านเพื่อผลิตฟัวกราส์ไปแล้ว  รวมถึงอิสราเอล แอฟริกาใต้ และในสหรัฐอเมริกา

นั่นหมายความว่าห่าน 1 ตัวจะถูกเลี้ยงเพื่อถอนขน ระหว่างนั้นก็ถูกขุนให้อ้วนพีเพื่อแลกมาซึ่งฟัวกราส์หรือตับห่านจานหรูในวาระสุดท้ายของชีวิต

 

goose2

 

แบรนด์ไหนใช้ขนสด

เสื้อดาวน์ส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐอเมริกา แบรนด์ส่วนใหญ่ใช้บริการบริษัท  Allied Feather & Down  จากข้อมูลของ Four Paws กลุ่มต่อสู่เพื่อสิทธิสัตว์ในเยอรมัน  ระบุว่า บริษัท Allied Feather & Down  ใช้ขนห่านจากฮังการีมากที่สุด  เนื่องจากขนห่านจากที่นี่ขึ้นชื่อว่าคุณภาพดีที่สุดในโลก เพราะขนอุยหรือขนใต้ปีกจะใหญ่กว่าห่านจากที่อื่นๆ ซึ่งทำให้อุ่นกว่า

หลายๆ บริษัทก็ใช้บริการ  Allied Feather & Down  เช่น North Face ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดเสื้อผ้าประเภทเอาท์ดอร์ในสหรัฐสูงถึง 33.5 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2012 (อ้างอิงข้อมูลจาก Sport one source) อันเป็นแบรนด์โปรดของเซเลบริตี้ด้านสังคมสงเคราะห์อย่าง แองเจลินา โจลี และ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา

ตัวแทนของ North Face แถลงว่า บริษัทดำเนินการทั้งหมดบนมาตรฐาน “การดาวน์อย่างรับผิดชอบ (Responsible Down Standard) ” และเมื่อ Four Paws สอบถามไปยัง Allied Feather ก็ไม่มีการตอบรับใดๆ กลับมา

ด้าน Ikea หลังจาก ภาพการถอนขนสดถูกเผยแพร่ในรายการโทรทัศน์ 60 Minutes-esque Kalla Fakta ในสวีเดน  ก็สั่งตรวจสอบทันที และพบว่าเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้น  Ikea  ใช้บริการขนสด จึงยกเลิกการสั่งซื้อขนจากจีน ซึ่ง China Feather and Down Industrial Association อ้างว่าตัวแทนการผลิตนั้นโกหก และบอกว่าไม่ได้ใช้วิธีถอนขนสด

ตอนนี้ Ikea ไม่ได้ใช้ขนห่านเป็นวัตถุดิบการผลิตอีกต่อไป และเปลี่ยนไปใช้ขนสังเคราะห์เกือบทั้งหมด ซึ่งโดยตัวมันเองก็มีปัญหาที่แตกต่างออกไป  และถ้าจำเป็นต้องใช้ขนห่าน ก็จะใช้จากห่านที่ตายแล้วซึ่งมีผู้ผลิตจำนวนน้อยกว่า

แบรนด์ Patagonia  ก็ใช้บริการ Allied Feather เช่นเดียวกับ North Face  ที่รับประกันว่า ขนต่างๆ นั้นไม่ได้มาจากการทรมานสัตว์ อย่างไรก็ตาม จากแรงกดดันจาก Four Paws   ทำให้ Patagonia ส่งผู้บริหารไปยังฮังการีเพื่อตรวจสอบขั้นตอนการผลิต และเมื่อพวกเขาไม่เห็นกระบวนการการถอนขนสดกับตา  พวกเขาจึงแสดงความโปร่งใสและแถลงสู่สาธารณะ

ในคอลเลคชั่น ultralight down  ของฤดูใบไม้ผลิ ปี  2013 ของ Patagonia ระบุว่าใช้วัตถุดิบดาวน์ที่ “ตรวจสอบที่มาได้”  ซึ่งรับประกันได้ว่าไม่ได้มาจากการถอนขนสดหรือห่านฟัวกราส์ และเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Patagonia ก็ประกาศใช้ “ขนที่ตรวจสอบได้” 100 เปอร์เซ็นต์

 

down jacket3

 

แบรนด์ Westcomb ก็ใช้ขนห่านในการผลิต แต่ใช้บริการจากกลุ่ม Canadian Hutterite down ที่ติดป้าย Downmark®  ซึ่งกระบวนการเลี้ยงห่านเป็นแบบทุ่งกว้างในทุ่งหญ้าแพร์รี่ และใช้แต่ขนห่านที่ตายแล้ว  ซึ่งเจ้าหน้าที่ Four Paws    ได้ไปตรวจสอบแล้วว่าจริง

แบรนด์อย่าง Ralph Lauren, Puffa, Armani และ Tommy Hilfiger  ไม่มีปฏิกิริยาหลังผู้สื่อข่าวจาก dailymail สอบถามถึงวัตถุดิบการผลิต

ส่วน Benetton เผยเพียงแค่ว่าขนมาจากสัตว์ที่ตายแล้ว  ด้านโฆษกของ Gap บอกว่า ไมได้ขนที่ถอนสด แต่ก็ไม่สามารถชี้แจงได้ว่า ขนห่านนั้นมาจากแหล่งเดียวกับการผลิตฟัวกราส์หรือไม่

 

หมายเหตุ : คำแนะนำ

–    ถ้าต้องการซื้อแจ็คเก็ตดาวน์จริงๆ  แนะนำให้ซื้อของมือสอง ไม่ต้องห่วงว่าความยืดหยุ่นจะน้อยลง เพราะอายุและความคงทนอยู่ยาวหลายปี

–    ให้สังเกตเครื่องหมาย  DOWNMARK®  ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากแคนาดาที่ไม่อนุญาตให้ถอนขนสด เลี้ยงห่านแบบฟาร์มเปิดและใช้แต่ขนจากสัตว์ตายแล้ว

 

………………………………………………………………….

ที่มา: salon.com,peta.org

สนับสนุนโดย

 

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า