จากเทียนอันเหมินถึงไต้หวัน รู้จัก ‘แนนซี เพโลซี’ อริราชศัตรูของจีนตั้งแต่ยุค ’90

คืนวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา เดินทางสู่ประเทศไต้หวันเพื่อยืนยันความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะอยู่เคียงข้างประชาชนไต้หวันกว่า 43 ปี ขณะเดียวกันท่าทีกระตุกหนวดเสือของเพโลซีครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่ไม่พอใจ

การไปเยือนไต้หวันครั้งนี้ นับเป็นความกล้าหาญอย่างมากของเพโลซี เนื่องจากเป็นการเดินทางเยือนเกาะไต้หวันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 25 ปี ขณะเดียวกันการกระทำครั้งนี้กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่กล่าวอ้างคำแนะนำของเจ้าหน้าที่การทหารสหรัฐฯ ว่า “ไม่ใช่ความคิดที่ดีในขณะนี้”

อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ ทำให้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนไม่สามารถควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเพโลซีได้ และการเดินทางครั้งนี้ของเพโลซีอาจสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์อันแน่วแน่ของเธอที่มากไปกว่าการทำตามหน้าที่ผู้แทนราษฎร

เหยียบแผ่นดินจีน หมัดฮุกหลังโศกนาฏกรรม ‘เทียนอันเหมิน’

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 1989 จบลงด้วยการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และกลายเป็นบาดแผลที่รัฐบาลจีนพยายามทำให้ประชาชนลืม ทว่าเพโลซีคือหนึ่งในผู้ที่พยายามเน้นย้ำหลักฐานความโหดร้ายของการกดขี่ โดยเธอได้ออกมาเผยแพร่ผ่าน Twitter เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เพื่อชวนให้ชาวโลกรำลึกถึงวีรชนผู้เสียสละในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1991 เพโลซีได้ไปเยือนจัตุรัสเทียนอันเหมิน ประเทศจีน ในฐานะคณะผู้แทนของมลรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ณ กรุงปักกิ่ง ทว่าครั้งนั้นเธอกลับเลือกที่จะเดินทางไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยปราศจากคำอนุญาตของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ และได้แสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตโดยการวางดอกไม้ไว้อาลัย รวมไปถึงการชูป้ายผ้าเชิงสัญลักษณ์ว่า “แด่ผู้ที่ตายเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยในแผ่นดินจีน”

การกระทำดังกล่าวทำให้ทางการจีนไม่พอใจอย่างมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเชิญพวกเธอออกไปในภายหลัง และเธอถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนตำหนิว่า เป็น ‘การแสดงออกที่ไตร่ตรองไว้ก่อน’ 

นอกจากนี้ การกระทำ ‘นอกแผน’ ดังกล่าว ยังทำให้อดีตนักข่าวจากสำนักข่าว CNN ประจำปักกิ่ง พร้อมช่างภาพ ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่จีนและถูกสอบสวนนานหลายชั่วโมง เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่สามารถจับกุมคณะผู้แทนของสหรัฐฯ ได้ 

นี่คือความพยายามในการแสดงออก ‘นอกแผน’ ของเพโลซี และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย 

‘ราษฎรสาส์น’ ถึงรองประธานาธิบดีจีน

ปี 2002 หู จินเทา (Hu Jintao) รองประธานาธิบดีจีน ณ ขณะนั้น กำลังครองอำนาจ ทว่าช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนกำลังประสบปัญหาจากผู้ต่อต้านจำนวนมากทั้งในจีนและทิเบต จึงมีการจับกุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมหาศาล

เพโลซีพยายามส่งจดหมายไปถึงรองประธานาธิบดี หู จินเทา เพื่อแสดงความกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลจีนในการจับกุมผู้ต่อต้าน เธอได้พยายามส่งจดหมายไปทั้งหมดถึง 4 ฉบับ แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ จากพรรคคอมมิวนิสต์

7 ปีต่อมา เธอยังไม่ละความพยายาม โดยได้ยื่นจดหมายประท้วงดังกล่าวถึงมือของ หู จินเทา ที่กำลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนด้วยตนเอง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง หลิว เสี่ยวปัว (Liu Xiaobo) ซึ่งถูกคุมขังกว่า 11 ปีในเรือนจำ แต่ความพยายามนี้ก็ไร้ผลเมื่อ หลิว เสี่ยวปัว ไม่เคยได้รับอิสรภาพ

แม้ต่อมา หลิว เสี่ยวปัว ได้รับการเสนอชื่อในรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2010 แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนให้เดินทางออกไปรับรางวัลยังประเทศนอร์เวย์ จนถึงแก่ความตายในคุกเมื่อปี 2017 

การต่อต้านท่ามกลางโอลิมปิก

เพโลซีมีท่าทีต่อต้านการจัดงานโอลิมปิกที่ประเทศจีนตั้งแต่ปี 1993 และเธอเป็นเพียงไม่กี่คนที่พยายามเหนี่ยวรั้งไม่ให้รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) เข้าร่วมงานโอลิมปิกฤดูร้อนของจีนในปี 2008 ซึ่งเธอประสบความล้มเหลว 

เพโลซีพยายามอีกครั้งในการต่อต้านการจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง เนื่องจากปัญหาการจัดการกับกรณีชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน ซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนไปไกลเกินกว่าที่เธอจะเพิกเฉยได้ พร้อมทั้งยังยืนยันว่ารัฐบาลจีนได้กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์อย่างเป็นระบบ ซึ่งโฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันได้ออกมาตอบโต้ว่า นักการเมืองสหรัฐฯ ไม่มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์จีนโดยไม่รู้ ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของเพโลซีโดยเฉพาะการผลักดันผ่านกระบวนการทางรัฐสภาของเธอล้วนไม่เคยได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลยแม้แต่น้อย ตัวอย่างสำคัญคือการพยายามผลักดันให้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนถูกบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งในเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ทว่าถูกอดีตประธานาธิบดีบุชใช้สิทธิคัดค้าน (Veto) หรือหากย้อนกลับไปถึงสมัยอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) ก็ได้ทอดทิ้งร่างนโยบายดังกล่าวของเธอเช่นเดียวกัน

การเยือนไต้หวันของเพโลซีครั้งนี้ จึงเป็นหนึ่งในการต่อสู้ต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนอันยาวนานตั้งแต่ปี 1991 แม้ว่าเธอจะยังไม่ได้รับความไว้วางใจเพียงพอที่จะสนับสนุนโดยผู้มีอำนาจในสหรัฐฯ ทว่าการกระทำหลายครั้งของเธอก็เป็นการย้ำเตือนถึงหลักการสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก และการสนับสนุนประชาธิปไตย ที่สหรัฐฯ มักกล่าวอ้างว่าตนเองยึดถือ และกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนหันมาเห็นความสำคัญของปัญหาในภูมิภาคนี้อีกครั้ง 

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า