บอยคอต ‘มู่หลาน’ หรือควรคว่ำบาตรฮอลลีวูด

สืบเนื่องมาจากกรณีที่ หลิว อี้เฟย (Liu Yifei) นักแสดงนำในภาพยนตร์ Mulan (2020) จากค่าย Walt Disney Pictures ได้โพสต์ข้อความในบัญชี Weibo ส่วนตัวของเธอ แสดงท่าทีสนับสนุนการกระทำของตำรวจฮ่องกงในช่วงที่มีการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกงเมื่อปี 2019 จนทำให้ประชาชนชาวฮ่องกงรู้สึกไม่พอใจ และโกรธเคือง หลิว อี้เฟย เป็นอย่างมาก เพราะในสายตาของชาวฮ่องกงขณะนั้น สิ่งที่พวกเขามองไปยังตำรวจฮ่องกง คือมาตรการอันรุนแรง ทั้งยิงแก๊สน้ำตา และใช้กระบองทุบตีผู้ชุมนุมจนบาดเจ็บสาหัส จากนั้นกระแสการบอยคอตภาพยนตร์เรื่อง Mulan ก็ถูกปั่นต่อๆ กันเรื่อยมามากว่า 1 ปี จนมาถึงช่วงสัปดาห์ก่อนที่ภาพยนตร์จะออกฉายภายในโรงในแถบเอเชียนี้ โจชัว หว่อง (Joshua Wong) อดีตแกนนำพรรค Demosisto ก็เติมเชื้อไฟอีกครั้งด้วยการเรียกร้องให้กลุ่มผู้รักประชาธิปไตยบอยคอตภาพยนตร์เรื่องนี้

กระแสการบอยคอตภาพยนตร์ และ หลิว อี้เฟย ในฐานะนักแสดงกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์ทั่วเอเชียตะวันออกอีกครั้งในหมู่พันธมิตรชานม (Milk-tea Alliance) ทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน หรือแม้แต่ในสังคมไทยก็มีการระดมกระแสติดแฮชแท็กแบนภาพยนตร์ Mulan เพื่อช่วยกันแสดงพลังในการประท้วง และส่งสัญญาณไปถึงค่ายดิสนีย์ ว่าควรจะหามาตรการออกมาแก้ไขปัญหาและความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับทัศนคติของนักแสดงที่เขียนข้อความสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับประชาชนด้วยกันเองเมื่อปี 2019

นอกจากนี้ทาง โจชัว หว่อง และพรรคพวกคนอื่นๆ ยังมีการเรียกร้องเพิ่มเติมอีกด้วยว่าหากใครที่มีใจรักในเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน (และประชาธิปไตย) ก็ควรจะช่วยกันออกมารณรงค์คัดค้านเลิกสนับสนุนภาพยนตร์เรื่อง Mulan ที่ หลิว อี้เฟย เป็นนักแสดงนำ เพื่อให้ดิสนีย์ ได้รับรู้ว่าความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

ข้อพิจารณาที่ไม่ควรละเลยก็คือ การแบนหรือการบอยคอตภาพยนตร์เพื่อจะส่งสัญญาณไปถึงดิสนีย์ หรือแม้แต่รัฐบาลจีนนั้นเพียงพอแล้วหรือไม่และอย่างไร ถ้าย้อนไปยังจุดเริ่มต้นแต่แรก คนที่นำเอา หลิว อี้เฟย มาเป็นนักแสดงนำก็คือทางค่ายดิสนีย์ คนที่คิดวางแผนที่จะทำภาพยนตร์ที่ฉายให้เห็นถึงความดีงามในประวัติศาสตร์ประเทศจีน คุณค่าความเป็นจีน ก็คือค่ายดิสนีย์ และที่สำคัญ คนที่เป็นฝ่ายเลือกจะเอาใจประเทศจีนด้วยการตัดตัวละครบางส่วนออก (เช่น มังกรแดง-มูชู) ก็คือดิสนีย์

หากฝ่ายที่รณรงค์นั้นต้องการจะสร้างแรงกระเพื่อมที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ แค่การออกมาเรียกร้องให้บอยคอต หลิว อี้เฟย หรือภาพยนตร์ Mulan จึงออกจะดูเป็นการเคลื่อนไหวที่จำกัดจำเขี่ยอยู่แค่ภายในระดับจุลภาคมากไปสักหน่อย เพราะถ้าหากมองในภาพกว้างแล้ว วงจรความเลวร้ายที่บั่นทอนค่านิยมของเสรีภาพ และประชาธิปไตยนี้มันไม่ได้มีแค่ หลิว อี้เฟย หรือภาพยนตร์ดังว่าเสียทีเดียว

นอกจากภาพยนตร์เรื่อง Mulan แล้ว ยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความเอาอกเอาใจของค่ายดิสนีย์ ต่อรัฐบาลจีนอยู่ตลอดในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากที่ดิสนีย์ได้ควักเงินมูลค่ากว่า 4,000,000,000 ดอลลาร์ในการเข้าซื้อสิทธิในการผลิตภาพยนตร์ในค่าย Marvel ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เลยก็คือภาพยนตร์เรื่อง Doctor Strange ที่นำแสดงโดย เบเนดิคต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) ซึ่งตัวละครเอกนั้นมีความจำเป็นต้องไปฝึกวิชาเวทมนตร์จากกลุ่มตัวละครที่มีลักษณะพื้นเพ รูปร่างหน้าตาคล้ายกับพระธิเบต

แต่ด้วยความที่อยากจะเอาใจรัฐบาลจีนของดิสนีย์ ก็ทำให้ทีมสร้างภาพยนตร์ Doctor Strange ปรับเปลี่ยนพื้นเพของตัวละครสมทบตัวสำคัญอย่าง The Ancient One (รับบทโดย Tilda Swinton) จากคนเชื้อชาติธิเบตัน (Tibetan) ให้กลายไปเป็นคนเชื้อชาติเคลท์ (Celtic) เพื่อรักษาน้ำใจของรัฐบาลจีนที่ไม่อยากเห็นตัวละครเอกเป็นคนที่มีพื้นเพจากธิเบต

แล้วไม่ใช่แค่ใน Doctor Strange เท่านั้น แต่ใน Iron Man ภาค 3 ทางดิสนีย์ก็มีการปรับเปลี่ยนฉากการผ่าตัดตัวละคร โทนี สตาร์ค (Tony Stark) ครั้งใหญ่ ด้วยการปรับตัวละครจากเดิมที่ตัวละครมีพื้นเพเป็นชาวยุโรปเป็นกลุ่มตัวละครที่มีพื้นเพจากประเทศจีนทั้งหมด เพื่อที่จะเอาใจรัฐบาลจีน และเข้าถึงตลาดของผู้ชมภายในประเทศจีนอีกด้วย (การใช้ตัวละครสัญชาติจีนในหมู่ทีมแพทย์ที่รักษา โทนี สตาร์ค นั้นเป็นการใช้เกมสัญลักษณ์รูปแบบหนึ่งเพื่อที่จะชูว่าคนจีนเป็นคนที่มีบทบาทในการช่วยรักษาฮีโร่ที่ปกป้องโลก จุดนี้แม้จะไม่ใช่จุดที่สำคัญอะไรมาก แต่ในสังคมจีนที่เป็นสังคมชาตินิยมนั้นค่อนข้างมีผล) ทั้งหมดก็เพื่อที่ดิสนีย์จะได้ส่งภาพยนตร์ของตนเองเข้าไปกอบโกยรายได้จากโรงภาพยนตร์ภายในประเทศจีนที่กำลังอยู่ในสภาวะเติบโต และตีตลาดผู้ชมชาวจีนให้มากขึ้น (รายได้จากการขายตั๋วภายในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ที่ประเทศจีนปีล่าสุดอยู่ที่เกือบ 10,000,000,000 ดอลลาร์)

ในแง่หนึ่ง จะกล่าวโทษแต่ดิสนีย์ก็คงไม่ถูก หากจะกล่าวแบบให้ความเป็นธรรมแก่ ดิสนีย์ นั้นก็คงต้องเอ่ยในแง่ที่ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของดิสนีย์ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ดำเนินการบริหารโดยมีเป้าหมายทางธุรกิจเป็นสาระสำคัญ การที่มีตลาดเกิดใหม่อย่างตลาดชนชั้นกลางของประเทศจีนที่มีอำนาจซื้อสูงมากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะไปกระตุ้นความต้องการในการค้าขายของค่ายดิสนีย์

เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ในประเทศจีนมีโรงภาพยนตร์อยู่เพียงไม่ถึง 5,000 โรง มาถึงปี 2020 อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ของประเทศจีนนั้นขยายตัวขึ้นไปมากกว่า 10 เท่า มีโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศอยู่มากกว่า 50,000-60,000 โรง (มากกว่าประเทศอังกฤษอยู่หลายเท่าตัว) รายได้จากการขายตั๋ว ณ โรงภาพยนตร์ภายในจีนก็กำลังขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด มูลค่าการขายตั๋วในปัจจุบันนั้นแทบจะเทียบชั้นกับที่สหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว

จีนจึงกลายเป็นตลาดยักษ์ใหญ่แห่งวงการฮอลลีวูด ที่บริษัทอย่างดิสนีย์ และค่ายภาพยนตร์ภายในเครืออย่าง Marvel Studios ไม่สามารถที่จะปฏิเสธหรือมองข้ามผ่านไปได้ เอาแค่ Avengers: Endgame ที่เพิ่งฉายไปเมื่อไม่นานนี้ รายได้จากการขายตั๋วภายในประเทศจีนทั้งประเทศที่กว่า 600,000,000 ดอลลาร์ก็คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของรายได้นอกประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมดแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่แค่เฉพาะเครือดิสนีย์ หรือมาร์เวลฯ เท่านั้นที่ต้องพึ่งพาตลาดโรงภาพยนตร์ภายในจีน ภาพยนตร์จากค่ายในเครือของ Warner Bros. (DC) อย่าง Aquaman เมื่อปีก่อนนั้นกว่าจะทำรายได้ทะลุ 1,000,000,000 ดอลลาร์ไปได้ ก็ต้องพึ่งพาแรงสนับสนุนจากฐานแฟนคลับในประเทศจีนไปอย่างต่ำๆ ก็ 200,000,000 ดอลลาร์ (กรณีของ Aquaman นี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ฐานลูกค้าและแรงเงินสนับสนุนภายในประเทศจีนนั้นมีหนามากกว่าฐานภายในสหรัฐอเมริกา)

จึงเรียกได้ว่าในปัจจุบันนั้นค่ายใหญ่ๆ ไม่ว่าจะทั้ง Disney, Warner Bros. หรือแม้แต่ Sony เองก็คงต้องหันหน้าเข้าไปหาตลาดในประเทศจีนมากยิ่งขึ้น (กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ทั้งหมดของ Sony มาจากฐานลูกค้าที่ประเทศจีน) ทางฝั่งจีน และรัฐบาลจีนเองเมื่อเห็นว่าตลาดภายในประเทศกำลังได้รับความสนใจจากผู้บริหารวงการภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา ก็รู้สึกเข้าใจขึ้นมาทันทีว่าตนเองนั้นกำลังมีแต้มต่อในจุดนี้ เลยถือโอกาสสร้างเงื่อนไข ข้อต่อรองที่เป็นประโยชน์ต่อทางการจีนขึ้นกับกลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของ ฮอลลีวูด เพื่อแลกกับการเปิดทาง อำนวยความสะดวกให้ภาพยนตร์ในเครือของฮอลลีวูดได้มีโอกาสโลดแล่นภายในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ของประเทศจีน และสร้างรายได้มหาศาลจากฐานลูกค้าชาวจีนได้มากขึ้น ซึ่งเงื่อนไขที่รัฐบาลจีนนั้นได้ประกอบสร้างขึ้น ก็คือกลไก และตัวแปรสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์จากฮอลลีวูดมีความผูกโยงเข้าหาประเทศจีนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

รัฐบาลจีนเริ่มต้นจากการพยายามปรับโควตาการนำเข้าภาพยนตร์มาฉายภายในโรงของทางฝั่งจีน จากเดิมเมื่อช่วงประมาณเกือบ 30 ปีก่อน เคยอนุมัติให้ภาพยนตร์สัญชาติอเมริกาเข้ามาฉายได้ไม่เกิน 10 เรื่องต่อปี ปัจจุบันนี้มีการปรับโควตาเพิ่มเป็นปีละอย่างน้อยๆ 30 เรื่องแล้ว ที่ว่าปีละ 30 เรื่องนี้ ในหน้างานนั้นไม่ได้แปลว่าจะมีภาพยนตร์จากฮอลลีวูด เข้ามาฉายภายในจีนปีละแค่ 30 เรื่องแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายในการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์กับบริษัทในเครือของฮอลลีวูดแยกออกมาด้วย

กติกาคือ ถ้าบริษัทใดในเครือฮอลลีวูด ต้องการที่จะส่งภาพยนตร์เข้ามาฉายภายในจีน แต่หลุดออกจากโควตารายชื่อ 30 เรื่องที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าฉายประจำปีนั้นๆ ก็จะต้องเปิดช่องทางให้กับบริษัทผลิตภาพยนตร์สัญชาติจีนนั้นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต เพื่อที่จะใช้จุดนี้เป็นการเลี่ยงบาลีว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ไม่ได้มีสัญชาติเป็นภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา แต่เป็นการร่วมทุนสร้างระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ก็จะได้รับการอนุโลมให้เข้ามาทำการฉายได้ในฐานะภาพยนตร์ภายในประเทศโดยไม่ต้องพึ่งเรื่องโควตา

ถือเป็นพฤติการณ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายฮอลลีวูดก็ได้โอกาสในการขยายฐานแฟนคลับ และลูกค้าภายในตลาดของประเทศจีน ส่วนทางฝั่งจีนนั้น เมื่อได้ส่งทีมสร้าง กับนักธุรกิจเข้าไปร่วมงาน และร่วมทุนกับทางฮอลลีวูดก็จะเปิดโอกาสในการพัฒนาให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ภายในจีนทั้งในมิติของการบริหาร การสร้าง และเทคโนโลยีในการผลิตอีกด้วย

นอกเหนือไปจากการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ด้วยกันแล้ว สิ่งที่แสดงออกถึงความพยายามในการเข้ามาควบคุม แทรกแซงวงการฮอลลีวูด ของรัฐบาลจีนอย่างชัดเจนก็คือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้ามาฉายภายในประเทศจีนในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ที่มีการปรับระบบโควตาของการร่วมทุนสร้างขึ้นมาใหม่ ในทิศทางที่ว่าหากภาพยนตร์จากฮอลลีวูด ต้องการที่จะเข้ามาตีตลาดภายในโรงฉายของจีน ก็ต้องมีการลงทุนจากนายทุนฝ่ายจีนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุนสร้างทั้งหมด และต้องมีนักแสดงเป็นชาวจีนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของนักแสดงทั้งหมด ที่สำคัญที่สุดในเกณฑ์ใหม่นี้คือ ต้องมีการยกกองถ่ายมาถ่ายในประเทศจีนอย่างน้อย 1 ฉาก

ถึงแม้ค่ายภาพยนตร์จากฮอลลีวูด จะสามารถผ่านเกณฑ์ดังกล่าวที่รัฐบาล สี จิ้นผิง ตั้งเป็นกำแพงเอาไว้ไปได้ ก็จะต้องไปเจอด่านของกองเซ็นเซอร์ ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาร่วมจากทางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีอำนาจในการปฏิเสธภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เมื่อใดก็ได้ หากเห็นว่าเนื้อหาที่ทีมสร้างส่งมานั้นขัดต่อหลักการ หรือหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลจีนกำหนด

ห้ามมีฉากเลือดสาดอย่างรุนแรง ห้ามมีการใช้ธงของไต้หวันประกอบฉาก ห้ามให้นักแสดงที่มีพื้นเพมาจากประเทศจีน หรือคนจีนเข้าไปรับบทตัวร้าย ห้ามมีเนื้อเรื่องออกไปในแนวทางผีสาง ไปจนถึงห้ามให้ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับธิเบตเป็นตัวเอก (อย่างกรณีบท The Ancient One นั้นเอง) โดยกองเซ็นเซอร์ดังกล่าวนี้จะทำงานร่วมกับทางกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศจีนอย่างเข้มงวด เคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้ค่ายภาพยนตร์จากฮอลลีวูด นั้นได้เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อของประชาชนชาวจีนได้อย่างเต็มที่

สำหรับบริษัทภาพยนตร์ภายในฮอลลีวูดที่มีความต้องการจะเข้าไปทำมาค้าขายภายในประเทศจีน ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทน ยอมประนีประนอมทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลจีนเพื่อแลกกับการได้รับเงินจากฐานลูกค้าชาวจีนไป ในจุดนี้จึงไม่ใช่แค่ดิสนีย์เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายค่ายหลายเครือที่กำลังพยายามเอนเอียงเข้าไปหาตลาดภายในจีน (Columbia Pictures ในเครือของ Sony เองก็กำลังพยายามจะเจาะตลาดเข้าไปยังประเทศจีน)

ค่ายหนังบางค่ายก็ยอมให้นายทุนจีนเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ อย่าง Legendary Entertainment เองก็เพิ่งถูกขายไปให้กับ Dalian Wanda Group ของจีนด้วยเม็ดเงินเกือบ 4,000,000,000 ดอลลาร์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการบอยคอตภาพยนตร์เรื่อง Mulan และตัวนักแสดง หลิว อี้เฟย จึงไม่ใช่ทางออกที่จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมอะไรให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องมากมายนัก เพราะถึงพันธมิตรชานมรวมกลุ่มกันคว่ำบาตรภาพยนตร์ สุดท้ายก็จะมีกระแสต่อต้านจากกลุ่มมวลชนชาตินิยมภายในจีนตามไปดูอยู่ดี

รัฐบาลจีนในปัจจุบันนี้มีอิทธิพล และแต้มต่อเหนือวงการฮอลลีวูดอยู่มาก และดูท่าทางค่ายภาพยนตร์ และบริษัทในเครือฮอลลีวูดเองก็จะไม่ได้สนใจต่อความเสียหาย และความตกต่ำในมิตินี้เท่าใดนัก หลายบริษัทยอมที่จะทำตามคำร้องขอของรัฐบาลจีนเพื่อหวังจะได้ขยายฐานลูกค้า กระทรวงวัฒนธรรมของจีนสั่งให้แก้บทพูด แก้ฉาก แก้มุมกล้องอย่างไร ฮอลลีวูดก็แทบจะไม่มีความกล้าเพียงพอที่จะขัดขืน เนื่องด้วยกลัวจะเสียฐานลูกค้าบ้าง กลัวจะไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปฉายในโรงของประเทศจีนบ้าง

ความกลัวที่จะสูญเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจเหล่านี้จึงนำมาสู่การละเลย และปล่อยผ่านพฤติกรรม แนวคิดที่ขัดต่อแนวทางของหลักสิทธิมนุษยชนสากล และประชาธิปไตยที่วงการฮอลลีวูดพยายามจะเผยแพร่ไปอย่างง่ายๆ ปัญหาเรื่องความเกี่ยวโยง ความผูกโยงของวงการฮอลลีวูด ที่มีต่อรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนนี้จึงเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ และมีโครงข่ายซับซ้อนมากเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ หรือสร้างแรงสั่นสะเทือนได้ด้วยเพียงแค่การบอยคอตที่ปลายน้ำอย่างตัวนักแสดง หลิว อี้เฟย หรือภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียว

เพราะสุดท้ายแล้วตัวต้นเหตุจริงๆ ก็คือบริษัทอย่างดิสนีย์และกลุ่มพรรคพวกภายในแวดวงฮอลลีวูด การเลือกเป้าหมายที่จะบอยคอตก็ควรเลือกไปที่ต้นน้ำ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในเชิงระบบ การจะทำให้บริษัทระดับยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์ หรือกลุ่มอื่นๆ ในวงการฮอลลีวูดได้รับความเสียหายได้ตระหนักถึงเส้นทางที่ผิดพลาดในการเอนเอียงไปหารัฐบาลเผด็จการ แล้วปล่อยให้คนอย่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เข้ามามีบทบาทนำในการควบคุมการผลิตเนื้อหาภาพยนตร์จนเข้าข่ายการบ่อนทำลายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ก็ต้องมีการประท้วงส่งสัญญาณที่มีความเด็ดขาด และขยายวงให้กว้างออกไปมากกว่าปัจจุบันนี้

เหมือนอย่างที่สมาชิกวุฒิสภา และผู้แทนฯ จากพรรครีพับลิกัน กลุ่มเดียวกันกับ มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) และ เท็ด ครูซ (Ted Cruz) เคยตั้งข้อเสนอชี้แนะเอาไว้ หากฮอลลีวูดยังก้มหัว และยอมสยบให้แก่อิทธิพลของรัฐบาลจีนอย่างไม่รู้จักขอบเขตแบบนี้ต่อไป ก็ต้องมีการผลักดันให้มีการลงโทษ และคว่ำบาตรกันขึ้นในระดับภาครัฐอย่างเป็นระบบมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ และหากภาคประชาชน หรือประชาสังคมต้องการจะบอยคอต ก็ต้องบอยคอตให้กว้างขึ้น ภาพยนตร์เรื่องไหนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเครือข่ายโยงใยเหล่านี้อีกก็ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการบอยคอตด้วย

เพื่อให้วงการฮอลลีวูดกลับเข้ามาอยู่กับร่องกับรอยให้มากขึ้น หากจะส่งสารการประท้วงให้ครบถึงทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง วิธีและแนวทางในลักษณะดังกล่าวจึงน่าจะได้ผลอย่างเป็นระบบมากกว่า ทั้งกับวงการฮอลลีวูดและรัฐบาลจีน

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า