23 ปีจากอังกฤษสู่จีน: กฎหมายความมั่นคงสำหรับฮ่องกงที่ออกโดยปักกิ่ง ก่อปฏิกิริยากว้างขวาง

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2020 คือวันครบรอบ 23 ปีการส่งมอบดินแดนฮ่องกงจากอังกฤษสู่จีน พลเมืองฮ่องกงตกอยู่ในความสับสนและไม่แน่ใจในชะตากรรมของตนเอง หลังจากกฎหมายใหม่ที่ออกโดยรัฐบาลปักกิ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีผลก่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อหลายสิ่งที่เคยเป็นมาแต่ดั้งเดิม

กฎหมายดังกล่าวจุดชนวนให้ปักกิ่งเข้าปะทะโดยตรงกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร รวมทั้งรัฐบาลฝ่ายตะวันตกอีกหลายประเทศ ซึ่งเคยกล่าวว่ากฎหมายนี้มุ่งทำลายความเป็นอิสระของฮ่องกงที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก นับตั้งแต่ได้รับมอบโอนคืนจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 1 กรกฎาคม 1997

สหรัฐอเมริกาเริ่มใช้มาตรการยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกงภายใต้กฎหมายของสหรัฐเมื่อวันจันทร์เช่นที่เคยประกาศไว้ ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทหารหยุดชะงักลง และมีการจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงของดินแดนฮ่องกง

สหภาพยุโรปแสดงความไม่พึงพอใจในหลายภาคส่วน ขณะที่อังกฤษและญี่ปุ่นแสดงความวิตกกังวลเมื่อวันอังคาร หลังจากที่รัฐสภาจีนซึ่งโลกส่วนใหญ่ถือว่าเป็นสภาตรายางลงมติรับรองกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติดังกล่าว

การเคลื่อนไหวทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากคลื่นมหาศาลของการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกหาประชาธิปไตยครั้งใหญ่ตลอดหลายเดือนในฮ่องกง ซึ่งได้รับประกันโดยรัฐบาลปักกิ่งด้านเสรีภาพที่ไม่เคยมีดำรงอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ภายใต้หลักการปกครอง ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ ขณะรับการส่งมอบดินแดนเมื่อปี 1997

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในปักกิ่งและฮ่องกงกล่าวมาตลอดว่ากฎหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อมุ่งเล่นงาน ‘ผู้ก่อปัญหา’ เพียงไม่กี่คนในฮ่องกง และจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของนักลงทุนโดยทั่วไป

หลักใหญ่ของกฎหมายความมั่นคง

ฮ่องกงไม่เคยมีกฎหมายความมั่นคง เพราะไม่ถูกจริตของพลเมืองส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้รัฐบาลปักกิ่งต้องการยื่นมือเข้าควบคุมเพื่อให้แน่ใจว่าฮ่องกงมีกรอบทางกฎหมายสำหรับใช้รับมือกับสิ่งที่จีนมองว่าเป็นอันตรายต่ออำนาจส่วนกลาง

กระทั่งขณะนี้ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ยังไม่มีใครรู้ถึงรายละเอียดของข้อความในตัวบท แต่เป็นที่รู้อยู่โดยกว้างว่ากฎหมายความมั่นคงฉบับนี้กำหนดไว้ให้การกระทำดังต่อไปนี้ถือเป็นอาชญากรรม — การแบ่งแยกดินแดน (แยกตัวเป็นอิสระจากประเทศจีน) การล้มล้างอำนาจ (บ่อนทำลายอำนาจ การปกครองของรัฐบาลกลาง) การก่อการร้าย (ใช้ความรุนแรง การข่มขู่ประชาชน) และ การสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังชาติอื่นหรือกองกำลังนอกดินแดน

โทษจำคุกในความผิดด้านความมั่นคงของชาติจะอยู่ที่ระหว่าง 5-10 ปี รัฐบาลจีนจะมีอำนาจเรื่องการตีความตัวบทกฎหมาย ไม่ใช่หน่วยงานด้านตุลาการหรือด้านนโยบายของฮ่องกง โดยหากเกิดกรณีที่กฎหมายฉบับนี้ไปขัดกับกฎหมายฮ่องกง รัฐบาลจีนก็จะมีสิทธิพิเศษในการเข้าไปจัดการ และจีนจะจัดตั้ง ‘สำนักงานความมั่นคง’ ภายใต้อำนาจของปักกิ่งขึ้นในฮ่องกงด้วย

ปฏิกิริยาในฮ่องกง

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม ประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันในฮ่องกงด้วยอารมณ์โกรธแค้นต่อกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของปักกิ่งที่นำมาใช้บังคับในดินแดนฮ่องกง ในวันครบรอบ 23 ปี การส่งมอบดินแดนฮ่องกงจากอังกฤษสู่จีน

ผู้ประท้วงหลายคนถูกจับกุม รวมถึงชายคนหนึ่งที่ถือธงสนับสนุนการมีอิสรภาพของดินแดน หลังจากกฎหมาย ‘ต่อต้านการประท้วง’ ใหม่ ที่ปักกิ่งกำหนดไว้มีผลบังคับใช้

ในบางจุดตำรวจต้องพ่นสเปรย์พริกไทยเพื่อสลายการประท้วงที่มารวมตัวกันเพื่อระลึกถึงการครบรอบ 23 ปี นับตั้งแต่การปกครองของอังกฤษสิ้นสุดลง การเดินขบวนเพื่อประชาธิปไตยประจำปีสำหรับวันครบรอบได้ถูกสั่งห้ามเป็นครั้งแรกโดยเจ้าหน้าที่ที่อ้างคำสั่งห้ามการชุมนุมมากกว่า 50 คนเพราะป้องกันการแพร่กระจายไวรัสที่ก่อโรค COVID-19

photo: May James/HKFP

ที่ย่านคอสเวย์เบย์ ตำรวจยกป้ายเตือนฝูงชนว่าพวกเขาละเมิดกฎหมายที่ออกใหม่ แต่นักรณรงค์ยังคงรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการห้ามเช่นนั้น ในย่านอื่นตำรวจเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง ที่รวมตัวกันในใจกลางเมือง และมีอย่างน้อย 70 คนถูกจับกุมในข้อหา “การชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ละเมิดกฎหมายความมั่นคง ขัดขวางตำรวจ และครอบครองอาวุธ”

ในบรรดาผู้ถูกจับกุมรวมถึงชายที่ถือธง อิสรภาพของฮ่องกง — ผู้ประท้วงได้รับการเตือนว่า คำขวัญและป้ายประกาศถ้อยคำบางอย่างบัดนี้อาจกลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงภายใต้กฎหมายใหม่

ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักกิจกรรม เดโมซิสโต (Demosisto) ระบุว่า สมาชิกระดับนำหลายคน เช่น โจชัว หว่อง (Joshua Wong) อักเนส โชว (Agnes Chow) และ เนธัน ลอว์ (Nathan Law) ได้ขอให้ถอดชื่อพวกเขาออกจากกลุ่ม ทางกลุ่มจึงตัดสินใจ “สลายตัวและยุติการรวมตัวกันทั้งหมด” พร้อมชี้ว่าการต่อสู้กับ “การกดขี่ของระบอบเผด็จการ” จะดำเนินต่อไปในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นขึ้น”

ขณะที่ผู้นำกลุ่มต่อต้านอำนาจของปักกิ่ง โจชัว หว่อง ระบุว่า กฎหมายความมั่นคงนี้คือ “จุดสิ้นสุดของฮ่องกงที่โลกเคยรู้จักเมื่อก่อนหน้านี้”

ในวันแรกของการออกกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในฮ่องกง หัวหน้าผู้บริหาร แครี แลม (Carrie Lam) จัดให้มีการแถลงข่าวโดยยอมรับว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในฮ่องกงเมื่อหลายเดือนก่อนของปีที่แล้วเกิดจากความล้มเหลวผิดพลาดในอดีต และกล่าวว่า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่แสดงให้เห็นถึง ‘ความเชื่อมั่นของปักกิ่ง’ ที่มีอยู่กับเขตปกครองนี้

เสียงสะท้อนจากไต้หวัน ญี่ปุ่น

ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing Wen) กล่าวว่าเธอรู้สึก “ผิดหวังมาก” จากการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ของจีน “เราหวังว่าคนฮ่องกงจะยังคงยึดมั่นกับเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาเคยยึดถือเป็นหลักการไว้” เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ไต้หวันส่งเสียงประณามจีนที่สภาได้ลงมติรับรองกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง โดยกล่าวว่าการเคลื่อนไหวโดยพลการนั้นเป็นการทำลายเสรีภาพและหลักการของกฎหมายที่นั่นอย่างแท้จริง

เมื่อวันอังคาร ไต้หวันเตือนประชาชนของตนว่ามีความสุ่มเสี่ยงในการเยี่ยมเยือนเขตฮ่องกง หลังจากที่รัฐสภาจีนผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติดังกล่าว

คณะรัฐมนตรีของไต้หวันกล่าวในแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง ชาวไต้หวันประชาธิปไตยจะยังคงให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวฮ่องกงต่อไป

ก่อนหน้านี้ สภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันกล่าวในแถลงการณ์ว่า ปักกิ่งทรยศต่อคำมั่นสัญญาที่มีต่อประชาชนชาวฮ่องกงว่าเป็นเขตแดนที่มี ‘เอกราชในระดับสูง’ หลังจากการส่งมอบเมื่อปี 1997 จากการปกครองของอังกฤษ

ไต้หวันเปิดสำนักงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในวันพุธเพื่อช่วยให้ผู้คนย้ายถิ่นที่อยู่ออกจากฮ่องกง หลังจากที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ โดยรัฐมนตรีอาวุโสของไต้หวันกล่าวว่า ไต้หวันหวังที่จะคว้าโอกาสในการดึงดูดมืออาชีพและเงินทุนจากดินแดนนี้

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นคือถ้อยคำอันหนักหน่วงซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนเท่าที่ส่งสารไปถึงรัฐบาลจีนในประเด็นฮ่องกง หลังจากที่ปักกิ่งผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ รัฐบาลที่โตเกียวแถลงว่า การกระทำนี้จะ ‘สั่นคลอนศรัทธา’ ระหว่างประเทศ เมื่อได้มีการละเมิดหลักการ ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ ลงสิ้นเชิง

หัวหน้าสำนักคณะรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ (Yoshihide Suga) กล่าวในการบรรยายสรุปแถลงข่าวด้วยคำว่า ‘น่าเศร้า’ และกล่าวว่าการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลปักกิ่งก่อให้เกิด “ความกังวลของชุมชนระหว่างประเทศและประชาชนในฮ่องกง”

“การตรากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติทำลายความน่าเชื่อถือของหลักการหนึ่งประเทศสองระบบ” ซูกะกล่าวเสริมว่า ญี่ปุ่นจะยังคงร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้ให้เกิดการตอบสนองที่เหมาะสม

มาตรการของสหรัฐ

“วันนี้เป็นวันอันน่าเศร้าสำหรับฮ่องกงและสำหรับผู้รักอิสรภาพทั่วประเทศจีน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ไมค์ พอมพิโอ (Mike Pompeo) กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากปักกิ่งลงมติผ่านกฎหมายแล้ว

“จีนเคยสัญญากับประชาชนชาวฮ่องกงว่าจะดำรงระบบเดิมเป็นเวลา 50 ปี แล้วก็ให้เพียง 23 ปีเท่านั้น” เขากล่าวเสริมว่าการเพิ่มมาตรการตอบโต้ของสหรัฐจะมีการประกาศถัดไปในอีกไม่นาน

ก่อนหน้านี้ วอชิงตันได้แถลงว่า ฮ่องกงบัดนี้ไม่ได้มีการปกครองอิสระแยกต่างหากจากแผ่นดินใหญ่แล้ว จึงไม่มีคุณสมบัติที่สมควรได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า

“ตามคำสั่งของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เราจำต้องล้มเลิกมาตรการยกเว้นในนโยบายปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่างที่เคยมอบให้แก่ฮ่องกง โดยจะยังเหลือกรณียกเว้นเพียงไม่กี่อย่าง” พอมพิโอ กล่าวเสริม

ในสภาคองเกรส กลุ่มผู้แทนของทั้งสองพรรคกำลังร่วมมือกันเสนอร่างรัฐบัญญัติที่สามารถให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่เป็นพลเมืองฮ่องกง

สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร

สหภาพยุโรปแสดงความขุ่นเคือง ขณะที่สหราชอาณาจักรส่งเสียงแสดงความวิตกกังวล เมื่อวันอังคาร หลังจากที่รัฐสภาจีนรับรองกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ

“เราขอแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจเช่นนั้น” ชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel) ประธานสภาสหภาพยุโรปกล่าวในการแถลงข่าว “กฎหมายนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำลายอิสรภาพของพลเมืองฮ่องกงอย่างรุนแรง และมีผลเสียต่อความเป็นอิสระของตุลาการและหลักนิติธรรม”

สหภาพยุโรปยังได้เตือนถึงผลกระทบร้ายแรงจากกฎหมาย ซึ่งบางคนกล่าวว่าอาจส่งผลเสียต่อสถานะเขตแดนกึ่งอิสระของฮ่องกง และบทบาทในฐานะศูนย์กลางการเงินระดับโลก

“เราจะให้ความสำคัญกับการตอบสนองอย่างระมัดระวัง” อูร์ซุลา ฟอน เดอร์ ลีเยน (Ursula von der Leyen) หัวหน้าคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวเสริมว่า ทางกลุ่มกำลังหารือถึงมาตรการตอบสนองที่เป็นไปได้กับ ‘พันธมิตรระหว่างประเทศ’ แต่เธอไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐสภายุโรปเรียกร้องให้ อี.ยู. นำจีนขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก (International Court of Justice in The Hague) ซึ่งเป็นองค์กรด้านกฎหมายที่สูงที่สุดของสหประชาชาติ ในกรณีที่ได้ออกกฎหมายบังคับเสรีภาพในฮ่องกง ซึ่งอาจมีการดำเนินเรื่องต่อไป

ที่ลอนดอน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ โดมินิค ราอับ (Dominic Raab) แถลงถึงกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า “เรากังวลอย่างมากจากรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าปักกิ่งผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ” ราอับกล่าว
เขากล่าวว่าจีนเพิกเฉยต่อพันธกรณีระหว่างประเทศโดยการยึดอำนาจครั้งใหม่ซึ่งส่งผลเป็นการระงับเสรีภาพของพลเมือง

“แม้จะมีการเอ่ยกระตุ้นเตือนโดยประชาคมระหว่างประเทศ แต่ปักกิ่งก็ยังเลือกที่จะไม่ถอยออกจากการบังคับใช้กฎหมายนี้ จีนเพิกเฉยต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับฮ่องกง สิ่งนี้เป็นขั้นตอนปฏิบัติที่น่าวิตกกังวลมาก”

รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่าสหราชอาณาจักรจะตัดสินใจดำเนินการเมื่อได้เห็นกฎหมายฉบับสมบูรณ์ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เผยแพร่ต่อสังคม

ลอร์ด คริส แพทเทน (Lord Chris Patten) อดีตผู้ว่าการอังกฤษคนสุดท้ายของฮ่องกง กล่าวว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อตกลงกับสหราชอาณาจักร ซึ่งได้ทำกันไว้ก่อนการส่งมอบเขตปกครองฮ่องกงเมื่อปี 1997

ข้อตกลงเหล่านั้นรับประกันสิทธิบางประการเป็นเวลา 50 ปี

 

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า