อุตสาหกรรมหนังจีน ซอฟต์พาวเวอร์สร้างชาติ ฝ่าวงล้อมฮอลลีวูดสู่อันดับ 2 ของตลาดภาพยนตร์

‘ภาพยนตร์’ เป็นผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมที่หลายประเทศใช้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสร้างความเสถียรภาพทางสังคมให้กับประเทศตนเองมาหลายทศวรรษ ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ประเทศที่ใช้ภาพยนตร์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ประสบความสำเร็จ นอกจากจะสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากและได้เผยแพร่วัฒนธรรมตนเองให้โลกรับรู้แล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพคือจีน ประเทศที่เป็นเผด็จการสังคมนิยม เต็มไปด้วยความเคร่งครัดด้านการเซ็นเซอร์และข้อกำหนดทางการเมืองมากมาย 

ความสำเร็จและประสิทธิภาพในการใช้ภาพยนตร์ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ของจีน ประเทศที่เคยปฏิวัติวัฒนธรรมจนแทบไม่เหลือที่ยืนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เมื่อ 5 ทศวรรษที่แล้ว วันนี้กลับทำให้ภาพยนตร์เป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ จนขึ้นแท่นประเทศที่มีรายได้จากอุตสาหกรรมภาพยนตร์สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก 

ประเทศน้องใหม่ที่ต้องการใช้ภาพยนตร์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมควรอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาและยึดเป็นต้นแบบในทางใดทางหนึ่ง อย่างน้อยก็ควรทำให้เกิดความตระหนักร่วมกันว่าการสร้างและใช้ซอฟต์พาวเวอร์ต้องมีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ วางแผนและลงมือทำอย่างเป็นกระบวนการระยะยาว ไม่ใช่เพียงการไขว่คว้าความสำเร็จของภาพยนตร์ในประเทศเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเฉลิมฉลอง แล้วป่าวประกาศว่านั่นคือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ

งานเขียนชิ้นนี้ชวนทุกคนพินิจกระบวนการปั้นภาพยนตร์ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลจีน 

รู้จักและเข้าใจบทบาทของซอฟต์พาวเวอร์

การจะมองเห็นและเข้าใจกระบวนการความสำเร็จของภาพยนตร์ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ของจีน จำเป็นต้องเข้าใจมุมมองของจีนที่มีต่อซอฟต์พาวเวอร์เสียก่อน 

จีนให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะเครื่องมือสำคัญที่จะบรรเทาความรุนแรงของสิ่งที่เรียกว่า ‘ทฤษฎีภัยคุกคามของจีน’ และสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เป็นมิตร เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาประเทศของจีนมากขึ้น 

2 ทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของอำนาจต่างๆ ของจีน ทั้งการทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง ส่งผลให้การเมืองระหว่างประเทศรุนแรงขึ้น นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายคนมองว่า การผงาดของจีนส่งผลท้าทายอำนาจของสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

จอห์น เมียร์สไฮเมอร์ (John Mearsheimer) นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาวอเมริกัน เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง The Tragedy of Great Power Politics ตีพิมพ์ในปี 1998 ว่า โลกมีโอกาสเกิดสงครามใหญ่ในปี 2020 โดยจีนเป็นพลังสำคัญในการทำลายเสถียรภาพของโลก ภาพลักษณ์ว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อโลกแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนในเวทีระหว่างประเทศ เพราะภูมิทัศน์ของโลกจะปกคลุมไปด้วยความหวาดกลัวของชาติต่างๆ ที่มีต่อจีน ตามมาด้วยการไม่ต้องการเห็นจีนเติบโต แนวคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์จึงเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาความหวาดกลัวของโลก และเพื่อเปิดพื้นที่ให้จีนได้เติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในเวทีโลก 

นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังมองว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นสินทรัพย์สำคัญในการรักษาอำนาจของชาติ และการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม สามารถส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพภายในประเทศได้ด้วย

ผู้นำจีนตั้งแต่ประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) หู จิ่นเทา (Hu Jintao) มาจนถึง สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ต่างให้ความสำคัญกับการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ และภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จีนหยิบมาเป็นอาวุธหลักของซอฟต์พาวเวอร์ที่ถูกวางบทบาทไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น 

ทำไมถึงต้องเป็นภาพยนตร์

คำตอบที่ไม่ซับซ้อนคือ รัฐบาลจีนตระหนักถึงพลังอำนาจของภาพยนตร์ พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนมีประสบการณ์การใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ถ่ายทอดคำสอนและแนวคิดทางการเมืองมาตลอดตั้งแต่ยุคของ เหมา เจ๋อตุง (Mao Tse-tung)

การประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 16 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2002 หนึ่งปีหลังจากจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO มีมติยอมรับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และชี้ให้เห็นว่าจีนจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรด้านวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าที่สามารถแข่งขันกับวัฒนธรรมของตลาดโลกได้เพื่อความเข้มแข็งของชาติจีน ที่ประชุมพรรคในวันนั้นมองว่าวัฒนธรรมของชาติเป็นทรัพยากรที่ส่งผลต่ออำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และสังคมของจีนไม่น้อยไปกว่าทรัพยากรที่จับต้องได้เช่นพลังงาน นอกจากนี้พรรคก็ยังคงมองว่าภาพยนตร์ยังคงมีบทบาทต่อการสร้างและเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองของจีนอยู่เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต 

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ถูกหยิบยกมาเป็นตัวชูโรงของซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรม เพราะถูกมองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะคัดง้างกับวัฒนธรรมฮอลลีวูดของสหรัฐอเมริกาได้ 

ตั้งแต่ปี 2000 รัฐบาลมีการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมนักแสดงที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดภาครัฐได้มีส่วนและบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ประเทศ ทั้งการผลิต การจำหน่าย การจัดฉาย เปิดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถมาลงทุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในจีนได้ ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็นเจ้าของน้อยกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ 

ปี 2010 รัฐออกแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพื่อให้นักลงทุนนอกภาครัฐเข้ามาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ พร้อมกับลดความเข้มงวดในการเซ็นเซอร์ลง ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำคัญที่เรียกว่า Going Out Policy หรือ ‘การออกสู่โลก’ ที่ประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน วางไว้เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาประเทศตั้งแต่ปี 1999 

อัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จากจำนวนการสร้างภาพยนตร์ 88 เรื่อง ในปี 2001 เพิ่มเป็น 558 เรื่อง ในปี 2011 และ 1,037 เรื่อง ในปี 2019 ก่อนจะหยุดชะงักเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ไม่เพียงแต่จำนวนภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้น จำนวนโรงภาพยนตร์ก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นกัน จาก 1,581 โรง ในปี 2002 เพิ่มเป็น 31,627 โรง ในปี 2015 และปี 2013 อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนกลายเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีมูลค่า 21,700 ล้านหยวน (ประมาณ 100,000 ล้านบาท) คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเศรษฐกิจของตลาดภาพยนตร์ทั่วโลก

นโยบายออกสู่โลกกับการเติบโตของอุตสาหกรรมหนังจีน

ในช่วงต้นของการออกนโยบาย ‘ออกสู่โลก’ หรือ Going Out Policy เจียง เจ๋อหมิน เพียงต้องการหาตลาดใหม่ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีน บนเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ ให้วิสาหกิจที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ของจีนได้ไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ และเพื่อให้ภาพยนตร์พา ‘เสียง’ ของประเทศจีนไปให้ชาวโลกได้ยินได้ฟัง โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก

นโยบายออกสู่โลกของเจียง เจ๋อหมิน วางแนวทางให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนไว้ 4 ประการ

  1. จัดนิทรรศการภาพยนตร์จีนในต่างประเทศ
  2. เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ
  3. กระชับความสัมพันธ์กับผู้ผลิตภาพยนตร์ประเทศต่างๆ
  4. เชิญผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาเยี่ยมจีน ซึ่งแนวทางนี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติประการหนึ่งของ Beijing Film Academy (BFA) โรงเรียนสอนภาพยนตร์ชื่อดัง อันเป็นแหล่งผลิต ‘ผู้กำกับรุ่นที่ 5’ ที่ทุกปีจะมีการเชิญคนดังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลกมาบรรยายให้นักเรียนได้ฟัง 

ความต่อเนื่องของรัฐบาลจีนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์

ดังกล่าวในตอนต้นว่า พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนใช้ประโยชน์จากภาพยนตร์ในทางการเมืองในฐานะเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อมาโดยตลอด การเปลี่ยนบทบาทภาพยนตร์จากเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสร้างเสถียรภาพภายในประเทศ มาเป็นซอฟต์พาวเวอร์สำคัญในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในตลาดโลก เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ไม่อาจมองข้ามได้

ในวงการภาพยนตร์จีน แบ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ตามการสนับสนุนจากภาครัฐเป็น 3 ยุค คือ

ยุคแรก เรียกว่า ‘ยุคแห่งการสร้างชาติ’ (nationalisation) เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรกของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1946 ไปจนถึงสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1976 ยุคนี้ภาพยนตร์ถูกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ภาพยนตร์ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการให้การศึกษามวลชน ซึ่งเป็นวิถีทางเดียวกับที่อดีตสหภาพโซเวียตมองบทบาทของภาพยนตร์

ในช่วงนี้รัฐรวมศูนย์ทุกกระบวนการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตั้งแต่การสร้าง การจัดจำหน่าย และการฉาย โดยทุกกระบวนการของการผลิตหากไม่ได้เกิดจากหน่วยของรัฐเป็นผู้ลงมือทำ ก็ต้องได้รับการอุดหนุนทางการเงินจากรัฐบาลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

ช่วงนี้ระบบการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ถูกกำหนดขึ้นและบังคับใช้อย่างเข้มงวด ภาพยนตร์ทุกเรื่องต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ควบคุมก่อน โดยมีเกณฑ์ว่า ภาพยนตร์ต้องห้ามคือ ภาพยนตร์ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อต้านโซเวียต ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร ภาพยนตร์ที่เผยแพร่ลัทธิจักรวรรดินิยม เหยียดเชื้อชาติ ไปถึงการเผยแพร่ระบบศักดินา 

ช่วงครึ่งหลังของยุคนี้คือประมาณปี 1960-1966 มีการผลิตภาพยนตร์ค่อนข้างมาก ปีละ 30-40 เรื่อง และรัฐบาลสนับสนุนให้นำภาพยนตร์ของจีนไปฉายต่างประเทศ บนวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อแนะนำให้ชาติอื่นๆ ได้รู้จักสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการเผยแพร่ภาพยนตร์สู่ตลาดต่างประเทศยังคงผูกขาดอยู่กับรัฐ นอกจากนั้นยังมีการเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ และมีการจัดงานสัปดาห์ภาพยนตร์จีนในต่างประเทศ ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าจีนเริ่มใช้ภาพยนตร์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ในยุคนี้ เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่มีใครบัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมา

ต่อมาอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนหยุดชะงักลงเมื่อมีการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1966 Beijing Film Academy (BFA) โรงเรียนภาพยนตร์ที่รัฐบาลตั้งขึ้นต้องปิดตัวลง ปี 1967-1969 ไม่มีการผลิตภาพยนตร์เลย แม้หลังจากนั้นจะมีการผลิตภาพยนตร์อีกครั้ง แต่ก็เป็นไปเพื่อเผยแพร่คำสอนและแนวคิดทางการเมืองของเหมา เจ๋อตุง เท่านั้น 

ยุคสอง เรียกว่า ‘ยุคปฏิรูป’ ตั้งแต่ปี 1977-2000 หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง ไปจนถึงปีที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO เป็นยุคที่มีการกระจายอำนาจการผลิตภาพยนตร์เข้าสู่อุตสาหกรรมและตลาดโลก BFA กลับมาเปิดรับนักศึกษาอีกครั้งหนึ่ง และทำให้เกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘ผู้กำกับรุ่นที่ 5-6’ ที่เป็นกำลังสำคัญในการพาภาพยนตร์จีนไปประสบความสำเร็จในตลาดโลก

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงนี้ คือการที่รัฐเปิดโอกาสให้มีองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้น เช่น บริษัทเอกชน หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ 

ปี 1993 รัฐบาลยกเลิกการผูกขาดการจัดจำหน่าย/กระจายภาพยนตร์ และเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วม รวมถึงเริ่มมีการนำเข้าภาพยนตร์ฮอลลีวูดภายใต้การกำกับควบคุม เนื้อหาของภาพยนตร์ในช่วงนี้จึงเป็นการผสานการโฆษณาชวนเชื่อ กับการตลาด ทำให้ภาพยนตร์เป็นส่วนผสมระหว่างการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง อำนาจทางการตลาด และคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม 

ช่วงนี้การผลิตภาพยนตร์เริ่มให้ความสำคัญกับรสนิยมของผู้ชมภาพยนตร์ เนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นเริ่มถูกลดบทบาทลง การผลิตภาพยนตร์มีความหลากหลายมากขึ้น เนื้อหาเพื่อความบันเทิงกลายเป็นเนื้อหาหลัก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงควบคุมอุดมการณ์รักชาติ ลัทธิคุณค่ารวมหมู่ (collectivism) และลัทธิสังคมนิยม แม้จะมีการเซ็นเซอร์อยู่ แต่ก็ไม่ได้ใช้เคร่งครัดเหมือนในยุคแรก โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีมอบรางวัลและให้เงินสนับสนุนเป็นพิเศษสำหรับภาพยนตร์ที่ผลิตตามแนวทางนี้ 

บทบาทของรัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคนี้ยังมีการใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น สลายมิติทางการเมือง ให้ภาพยนตร์มีความเป็นการเมืองน้อยลง มีเนื้อหาด้านวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น ยุคนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของภาพยนตร์จีนในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะผลงานของผู้กำกับรุ่นที่ 5 ที่ผ่านชีวิตยากลำบากในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม หยิบเอาประสบการณ์ตรงของตนเองช่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรม มาตีความและนำเสนอภายใต้มุมมองของตนเองจนโด่งดังไปทั่วโลก แม้ภาพยนตร์หลายเรื่องจะถูกแบนในประเทศจีน แต่กลับเปิดพื้นที่ตลาดโลกให้กับภาพยนตร์จีนมากมาย ทั้งในเชิงคุณค่าทางศิลปะของภาพยนตร์ที่หลายเรื่องได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในหลายเวที และทั้งในเชิงมูลค่าทางเศรษกิจ

ยุคสาม ยุคปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ ปี 2001 ที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO เป็นต้นมา เป็นยุคที่โลกมีศัพท์บัญญัติว่าซอฟต์พาวเวอร์ และจีนเองก็ให้ความสำคัญกับการนำซอฟต์พาวเวอร์มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำหน้าที่ลดความน่ากลัวของจีนในทางมหาอำนาจด้านการทหารและการเมือง ขณะที่สร้างความเข้มแข็งในเชิงสังคมและวัฒนธรรมให้กับจีน

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นคือ แนวคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่นำแนวคิดด้านการตลาดมารับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ตัวอย่างที่พูดถึงกันมากในประเด็นนี้คือ การที่รัฐให้ทุนสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Founding of Republic เพื่อเผยแพร่ในวันครบรอบ 60 ปี ของการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 2006 ดาราดังอย่าง เฉินหลง (Jackie Chan) เจ็ต ลี (Jet Li) และ จาง ซิยี (Zhang Ziyi) รับบทเป็นผู้ก่อตั้งพรรค ทำให้หนังประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งด้านรายได้และการเผยแพร่แนวคิดของพรรค

ยุคนี้เป็นยุคที่ภาพยนตร์จีนก้าวออกไปสู่ตลาดโลกมากที่สุด ปี 2013 จีนได้กลายเป็นตลาดภาพยนตร์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ในเชิงรายได้จากอุตสาหกรรมนี้ 

ในยุคที่ 3 นี้ รัฐบาลจีนเปิดกว้างด้านการสนับสนุนภาพยนตร์มากกว่าเดิม แม้จะยังคงกำหนดว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องมีหน้าที่รับใช้อุดมการณ์ทางการเมือง และยังคงมีระบบเซ็นเซอร์อยู่ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลจีนมาจนถึงวันนี้ในการทำให้ภาพยนตร์จีนสามารถยืนหยัดได้ในตลาดโลกที่เป็นเสรีนิยม แต่ยังต้องรับใช้และตอบโจทย์อุดมการณ์ทางการเมืองของสังคมนิยมแบบจีนอยู่ด้วย 

จากทั้งหมดจะเห็นภาพแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างชัดเจนว่าเริ่มขึ้นอย่างมีทิศทาง ด้วยการกำหนดบทบาทของซอฟต์พาวเวอร์ไว้ก่อน แล้วจึงลงลึกสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้เดินตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของชาติ ซึ่งทั้งหมดถูกออกแบบอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ ครบวงจร และใช้เวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก 

การจะทำให้ภาพยนตร์สามารถเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการนำวัฒนธรรมของชาติออกสู่โลก สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจเหมือนที่จีนทำได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคิดวันนี้ ทำพรุ่งนี้ แล้วประสบความสำเร็จได้ทันที 

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า