มาร-ดา: เมื่อคืนนี้เจอผีแม่

ไม่ได้ดูหนังผีในโรงหนังมานานเท่าไหร่แล้วนะ…

จริงๆ ก็ไม่ค่อยเลือกดูหนังผีในโรงเท่าไหร่ เพราะจังหวะ ‘ตุ้งแช่’ ใช้เสียงดังๆ ทำให้ตกใจนี่แหละ ดูทีไรอดสะดุ้งไม่ได้ทุกที จำความได้ก็มักจะดูหนังผีจาก VCD, DVD กับพี่ๆ ที่บ้านมากกว่า อย่างน้อยก็หลบเลี่ยงเสียงดังชวนให้ตกใจได้หน่อย

แล้วอะไรดลใจให้ไปดู มาร-ดา (The Only Mom) ในโรงล่ะนั่น

เหตุผลแรกเพราะผู้กำกับ ชาติชาย เกษนัส ภาพยนตร์เรื่องก่อนของเขา From Bangkok to Mandalay ถึงคน…ไม่คิดถึง ภาพยนตร์ร่วมทุนระหว่างไทย-พม่า ที่มีประเด็นไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นหนังไทย ทั้งๆ ที่ผู้กำกับและทีมงานก็เป็นคนไทย รวมถึงไม่ได้เป็นหนังในกระแสหลัก จึงได้จำนวนโรงและรอบฉายเพียงเล็กน้อย มันน่าเสียดายที่คนไทยเองไม่มีโอกาสได้ดูหนังจากผู้กำกับไทยแบบไม่ต้องขวนขวาย

เราเองก็ไม่ได้ดู From Bangkok to Mandalay ถึงคน…ไม่คิดถึง เหมือนกับคนไทยหลายๆ คน พอมีโอกาสที่จะได้ชมเรื่อง มาร-ดา จึงไม่อยากพลาด อยากรู้ว่าพอผู้กำกับไทยไปทำหนังพม่าแล้วจะเป็นอย่างไร ภาษาหนังจะเหมือนหนังไทยไหม เราจะเข้าใจบริบทความเป็นพม่าในเรื่องไหม (คิดเยอะไปไหม…ทำใจให้สบายแล้วดูไปเถอะน่า)

ก่อนไป เลยหาตัวอย่างหนังมาดู ภาพสวยน่าสนใจ เดาว่าเนื้อเรื่องคงจะเน้นไปที่ความดราม่าและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว มีผีโผล่มาให้ตกใจท้ายตัวอย่างหนังเล็กน้อยตามสไตล์ตัวอย่างหนังผี ดูจากสัดส่วนผีที่ออกมาในตัวอย่างหนัง ของจริงคงไม่เท่าไหร่มั้ง ซึ่งความจริงแล้วคิดแบบนี้…ผิดถนัด

เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ลูกสาวไม่สามารถเข้ากับเพื่อนที่โรงเรียนได้ พฤติกรรมของ ศิริ ลูกสาว ทำให้แม่อย่าง เมย์ กังวลใจ ศิริไม่สนิทกับผู้เป็นแม่ เธอสนิทกับพ่อและตุ๊กตาตัวโปรดของเธอมากกว่า ยิ่งการที่โรงเรียนเรียกเมย์ไปพบ แล้วแจ้งพฤติกรรมของลูกสาวให้เธอทราบ รวมถึงบอกว่าลูกของเธออาจจะเป็นออทิสติก ยิ่งทำให้เมย์กังวลใจมาก โชคดีที่สามีของเธอต้องย้ายที่ทำงานพอดี สมาชิกครอบครัวทั้งสามจึงใช้โอกาสนี้เปลี่ยนบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยกันใหม่

บ้านไม้หลังใหญ่ที่ทั้งสามย้ายไปอยู่ สวยงาม กว้างขวาง น่าอยู่ ผนังบ้านยังคงตกแต่งด้วยภาพถ่ายฟิล์มกระจกฝีมือเจ้าของเก่า ซึ่งเป็นช่างภาพชื่อดังเมื่อราว 50 ปีก่อน ผู้เป็นสามีซึ่งเป็นช่างภาพเช่นกัน เลือกที่จะแขวนภาพเหล่านั้นเอาไว้ดังเดิม เพราะหลงใหลในเสน่ห์ของมัน

หลังเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ไม่นาน ศิริก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จากที่ไม่เคยเชื่อฟังหรือเล่นกับเมย์เลย เธอเริ่มกอด หอม บอกรักแม่ และเล่นกับแม่ทั้งคืน ส่วนตอนกลางวันศิริกลับหลับไม่ตื่น พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกจากหน้ามือเป็นหลังมือทำให้ผู้เป็นพ่อเริ่มระแคะระคายใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกสาว ส่วนแม่กลับคิดว่าแม้จะดูน่าประหลาดใจไปบ้าง แต่ศิริเป็นเด็กน่ารักขึ้น เท่านี้เธอก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่สมบูรณ์ขึ้นมาบ้างแล้ว

ส่วนที่โดดเด่นที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ ขอยกให้กับความสามารถของนักแสดง โดยเฉพาะ วุด มน ชเว ยี ที่รับบทเมย์ และ พีย์ พีย์ นักแสดงเด็กผู้หญิง รับบทศิริ (ลูกสาว) เราประทับใจการแสดงของ วุด มน ชเว ยี ในฉากที่เธอโดนผีสิง มีการต่อต้านกันของวิญญาณสองดวงในร่างเดียว เธอต้องสลับท่าทาง ลักษณะการพูด รวมถึงความรู้สึกที่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างผู้เป็นแม่และผีร้าย ส่วนนักแสดงหญิงตัวน้อยที่รับบทลูกสาวก็มีฝีมือการแสดงโดดเด่นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะฉากโดนผีฉุดกระชาก ฉากกรี๊ดเพราะโดนน้ำมนต์ เธอก็สามารถแสดงได้ดีมากจนเราคิดในใจ โห…น้องเล่นได้ยังไง ไหนจะร้องไห้ ไหนจะต้องกระตุกตัว ไหนจะกรี๊ด

วุด มน ชเว ยี รับบท เมย์
พีย์ พีย์ รับบท ศิริ

ส่วนที่ชอบรองลงมาคือลักษณะของผี เมื่อปรากฏตัวแล้ว คือผีจะมาเป็นตัวๆ เห็นเป็นคนชัดเจน มีเท้าเดินได้ รูปลักษณ์ของผีในเรื่องเลยไม่น่ากลัวนัก ไม่เหมือนกับผี CG หรือผีที่แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ในเรื่องอื่นๆ ที่มีการเติมจินตนาการไปเยอะจนน่าเกลียดน่ากลัว ตั้งใจให้เป็นภาพหลอนติดตา แต่ผีในเรื่อง มาร-ดา ไม่ได้ทำให้เราหลอนด้วยลักษณะภายนอก แต่ทำให้เรากลัวด้วยลักษณะท่าทาง การพูด การกระทำ ทำให้รู้สึกได้ว่าผีตนนี้ดุร้ายนะ ไม่ได้ออกมาให้หลอนอย่างเดียว

แต่สิ่งที่ไม่ปลื้มเลยก็คือ จังหวะตุ้งแช่เพิ่มความหลอนที่มีมากเกินไป เรียกได้ว่าผีมาหาเราทุกคืน ตลอดทั้งเรื่องจะมีเสียง ตึงงงงงงงง! ลั่นโรง ชวนให้สะดุ้งอยู่เป็นระยะ แม้จะทำใจแล้วว่าคืนนี้ผีต้องมาหาเราแน่ แต่พอเสียงดังทีไรก็ห้ามไม่ให้ตกใจไม่ได้ทุกที จากตอนแรกเอนเบาะเก้าอี้นั่งได้ไม่สุด พอผีโผล่มาเก้าอี้นี่เอนสุดเลยจ้า เป็นหนังผีที่เสียงดังมากจริงๆ

การเล่าเรื่องของหนังไม่มีอะไรซับซ้อน เข้าใจเรื่องได้ง่าย และไม่มีอะไรเกินคาดเดา ช่วงแรกหนังจะเล่าพฤติกรรมของศิริที่เปลี่ยนไปผ่านเวลาแต่ละคืน จนเมื่อตัวละครพ่อเริ่มสงสัยว่าลูกสาวของเขาไม่ใช่ลูกคนเดิมและเริ่มหาคำตอบ เราชอบฉากที่เฉลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับศิริ ผู้สร้างใช้การ reverse ภาพ ถอยหลังไปยังเหตุการณ์คืนแรก จริงๆ ไม่ใช่เทคนิคใหม่ หรือไม่มีใครเคยทำ แต่พอมีฉากนี้เข้ามาแทรกทำให้รู้สึกว่าหนังมีลูกเล่นดี เพราะเราเริ่มจะเลี่ยนกับกราฟิกตัวหนังสือขนาดใหญ่แทบล้นจอ ซึ่งทำหน้าที่ระบุจำนวนคืนที่ผ่านพ้นไปพร้อมกับเสียงตึงดังลั่นโรงเต็มทีแล้ว

เข้าใจว่าที่ต้องมีกราฟิกระบุจำนวนคืนให้ชัดเจน เพราะเรื่องราวเกิดขึ้นในตอนกลางคืนหมดเลย ถ้าเอาฟุตเทจมาเรียงต่อกันโดยไม่มีอะไรบอก ผู้ชมอาจจะสับสนได้ การที่หนังเลือกเอาการย้อนภาพมาแก้เลี่ยนตรงนี้จึงดูเป็นทางออกที่ดี แต่ยังมีอีกหลายจุดของบทที่ไม่สามารถทำให้เราเชื่อได้ว่า แค่เพราะสิ่งนี้เองเหรอ ตัวละครจึงเปลี่ยนท่าที เช่น ตอนที่พ่อเริ่มหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกสาว เพียงเพราะว่าคืนก่อนหน้านั้นเขาหูแว่ว ได้ยินเหมือนเสียงลูกตะโกนเรียก หรือในตอนที่แม่กำลังต่อว่าพ่อด้วยอารมณ์โกรธมากๆ เพราะพ่อตบหน้าลูกอย่างแรง แต่พอพ่อพูดว่า “ตบแรงขนาดนี้ ลูกยังไม่ตื่นเลย นี่มันผิดปกติแล้ว” แม่ก็เปลี่ยนท่าทีเป็นสงสัยและเป็นห่วงลูกทันที การที่ตัวละครเปลี่ยนท่าทีอย่างรวดเร็วจึงดูไม่สมจริงนัก

อีกจุดหนึ่งซึ่งเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในเรื่อง แต่ชอบเป็นการส่วนตัว คือมิตรภาพระหว่างศิริ ลูกสาวของครอบครัวนี้ กับเพื่อนผี จริงๆ จะเรียกว่า ‘มิตรภาพ’ ก็ไม่ค่อยถูก เพราะเพื่อนคงไม่หลอกกันแบบนี้

ศิริพบกับธิดา วิญญาณเด็กที่อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ ในคืนแรกที่ย้ายเข้าไป ธิดาไม่ได้ปรากฏตัวด้วยรูปลักษณ์น่ากลัว ทั้งคู่เล่นด้วยกัน และเป็นครั้งแรกที่เราเห็นเด็กที่ดูนิ่งเงียบไม่แสดงความรู้สึกอย่างศิริ เล่นกับเพื่อนอย่างมีชีวิตชีวา จากนั้นศิริก็โดนหลอกเอาร่างไป ที่ธิดาต้องมาหลอกสิงร่างของศิริก็เพราะเธอหวาดกลัวผีแม่ของตัวเองที่ดุร้าย เธอต้องการอยู่กับแม่ใจดีอย่างแม่เมย์ของศิริมากกว่า ยิ่งศิริเห็นร่างที่โดนสิงของตัวเองเล่นกับแม่อย่างมีความสุขก็ยิ่งทำให้วิญญาณศิริน้อยใจ เธอคิดว่าแม่ไม่รัก แต่สุดท้ายแล้วธิดานี่แหละที่ช่วยคลี่คลายเรื่องทุกอย่าง ก่อนที่เธอจะคืนร่างให้ศิริ เธอยังกล่าวขอโทษศิริด้วย และศิริก็ให้อภัย แอบรู้สึกว่า ง่ายๆ แบบนี้เลยเหรอ แต่อีกทางหนึ่งความง่ายแบบนี้เองที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความไร้เดียงสาของเด็กผู้หญิงทั้งสอง ทำผิดก็ขอโทษ มีคนมาขอโทษแล้ว เราก็อภัยให้ ไม่มีอะไรซับซ้อนง่ายๆ เท่านี้เอง  ซึ่งทั้งหมดทำให้เรื่องฟีลกู้ดขึ้นมาหน่อย

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่านี่เป็นหนังพม่า ในหนังมีการสอดแทรกวัฒนธรรมและความเชื่อของพม่าเอาไว้ด้วย แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันเยอะมากจนยากจะเข้าใจ อาจเพราะวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องผีที่ใกล้เคียงกันของบ้านเรากับบ้านเขาส่วนหนึ่ง และหนังก็ไม่ได้พยายามยัดหรือเล่าเรื่องความเชื่อเรื่องผีสางแบบลงลึก ไม่มีอะไรเข้าใจยาก แต่ก็ไม่ได้รู้อะไรเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เราจึงได้สัมผัสวัฒนธรรม ความเชื่อ ของพม่าจากหนังเรื่องนี้เพียงผิวๆ เท่านั้น

ส่วนที่อยากชื่นชมของหนังอีกอย่างหนึ่งคือ ตัวหนังถ่ายทอดบรรยากาศออกมาได้สวยงาม การวางองค์ประกอบและจัดแสงดี ให้ความรู้สึกนิ่งสงบ ไม่วุ่นวาย พาเราหลบหลีกบรรยากาศความวุ่นวายของเมืองกรุงในชีวิตไปได้ชั่วขณะหนึ่งเลย

ช่วงไคลแม็กซ์ของหนังเล่นกับอารมณ์ของคนดูไม่หยุด มันพลิกไปพลิกมา ทำเราลุ้นตลอด จนแอบคิดในใจว่า พอเถอะพี่จ๋า ไม่ไหวแล้วแม่… จนเรื่องคลี่คลายนี่แหละ ในที่สุดก็จบสักที รอดแล้วเรา โชคดีว่าเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นที่พม่า แถมฉากที่มีผีโผล่มาก็ดูเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเจอได้ง่ายๆ พอกลับถึงบ้านคืนนั้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่รู้สึกว่า อ่า…บ้านเรานี่ปลอดภัยดีนะ คงไม่มีผีโผล่มาจากมุมไหนหรอกม้างงงง…

อย่างน้อยถ้าผีมาจริงก็คงไม่พกลำโพงมาช่วยปล่อยเสียงดัง สร้างจังหวะตุ้งแช่ บิ๊วให้เราตกใจหรอกเนอะ ปลอบขวัญตัวเองไว้แบบนั้นแล้วเข้านอนอย่างสบายใจ

Author

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า