Marriage Story: รักที่บั่นทอน และการตัดความสัมพันธ์ที่ต้องจ่าย

‘ความรัก’ เป็นคำสั้นๆ แต่มีอานุภาพทรงพลัง ความรักเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่มีส่วนช่วยปลดแอกเราจากอำนาจที่ครอบงำทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ไม่มีใครกล้าปฏิเสธหรือดูแคลนพลังอำนาจของความรัก แต่หากจะบอกว่า ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ นั้นจริงหรือไม่?

ภาพยนตร์ความยาวกว่า 2 ชั่วโมง เรื่อง Marriage Story ซึ่งได้รับขนานนามว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดของผู้กำกับ โนอาห์ บอมบัค จะชวนผู้ชมตั้งคำถามและนำเสนอมุมมองด้านกลับของรักที่อาจไม่ใช่แค่พลังแห่งการสรรสร้าง แต่แท้ที่จริงกลับลิดรอนบางอย่างจากชีวิตของเรา

Marriage Story บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง ชาร์ลี ผู้กำกับละครเวทีและ นิโคล นักแสดงสาว ในห้วงกำลังเดินทางถึงจุดจบแม้ว่าจะมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนคือ เฮนรี นิโคลกำลังดำเนินคดีหย่าร้างเพื่อตัดขาดจากชาร์ลีและเริ่มต้นชีวิตใหม่

ตลอดทั้งเรื่องผู้ชมอาจจะไม่เข้าใจว่าเหตุใดทั้งคู่ต้องเลิกรากันทั้งๆ ที่ยังรักกันอยู่ บทความนี้จึงอยากจะชวนผู้อ่านเจาะลึกลงไปยังเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ครั้งนี้ต้องจบลง

“เหนื่อยเกินไปหรือเปล่า กับความรักของเรา”

ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยเสียงเล่าของชาร์ลีที่บอกให้ผู้ชมรับรู้ความเป็นนิโคลผ่านมุมมองของเขา และตามด้วยเสียงเล่าของนิโคลกล่าวถึงตัวตนของชาร์ลี

ฟังผิวเผินเหมือนเป็นความสัมพันธ์ที่ดี ไม่มีเหตุผลอะไรที่นำไปสู่การเลิกรา ทั้งคู่ยังรักกันและสร้างสมดุลของความสัมพันธ์บางอย่างที่ดูเข้าอกเข้าใจกัน

แต่หากพิจารณาให้ดี ภาระหน้าที่ทั้งหมดแทบจะตกมาเป็นของนิโคลแต่เพียงผู้เดียว เธอตัดผม หาซื้อกับข้าว เลี้ยงลูก เปิดขวดภาชนะให้ชาร์ลี  ฯลฯ ซึ่งตัวชาร์ลีเองก็รู้และบอกเองด้วยซ้ำว่า “เธอ (นิโคล)ไม่เคยถอนตัวจากการเล่น หรือรู้สึกว่าเหนื่อยเลย แต่บางครั้งมันก็เหนื่อยมากจริงๆ”

ในทางตรงข้าม สิ่งที่ชาร์ลีทำคือ “เขาพึ่งพาตัวเองได้ดีมาก เขาชุนถุงเท้าเป็น ทำอาหารเย็นกินเองและรีดผ้าเองได้” ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่าเขาทำเพื่อเธอ มีแค่ ‘เขารักการเป็นพ่อ’ เท่านั้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ ‘เขารัก’ แต่ไม่ได้มาจากจิตสำนึกของการคิดอยากจะช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่จากนิโคลเลยสักนิด

หลายฉากหลายตอนทำให้เราคิดว่าชาร์ลีเหมือนลูกชายมากกว่าสามี ไม่ใช่เพียงการปฏิบัติตัว แต่เป็นการนำเสนอผ่านลักษณะทางกายภาพของตัวละคร เช่นทรงผมของชาร์ลีและเฮนรีที่เหมือนกัน เหตุผลคงไม่ใช่เพียงเพราะคนตัดให้คือนิโคล แต่มุมกล้องบางช่วงบางตอนนำเสนอสองตัวละครพ่อลูกนี้ในระนาบเดียวกัน

ในฉากที่นิโคลตัดผมให้ชาร์ลีและเฮนรี เราจะเห็นได้ชัดจากฉากที่นิโคลตัดผมให้ทั้งคู่ ทั้งสองตัวละครสลับตำแหน่งอย่างเท่าเทียมกัน คนหนึ่งตัดผม อีกคนถือไม้กวาดกวาดเส้นผม และสลับกัน

หรือตอนที่สองพ่อลูกจูงมือกันออกมาจากโรงภาพยนตร์ เฮนรีบอกว่า “ผมร้องไห้ไปสี่รอบ” และชาร์ลีตอบว่า “เหมือนกัน ไม่รู้ว่าสี่รอบเท่ากันหรือเปล่า”

นิโคลจึงอาจจะรู้สึกว่าเธอมีลูกชาย 2 คน แทนที่จะเป็นสามี 1 คน และลูกชาย 1 คน

แต่เราอาจต้องให้ความชอบธรรมแก่ชาร์ลีสักนิด เพราะเขาอาจไม่ได้ตั้งใจเอาเปรียบภรรยาที่รักของเขา แต่คงเป็นอุดมการณ์บางอย่างที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ชายหญิง ที่ทำให้ผู้ชายรู้สึกว่าพื้นที่ในครัวเรือนเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้หญิง

ทั้งที่หากเราเชื่อว่าการมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ชายก็ควรช่วยแบ่งเบาภาระงานในพื้นที่ครัวเรือนบ้าง

ความรู้สึกเหนื่อยล้าที่เป็นเหตุผลหนึ่งในการเลิกรา อาจจะไม่ได้เป็นเหตุผลส่วนตัวของนิโคลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ ที่ลึกเกินการจัดการในระดับจิตสำนึกของทั้งคู่

“แต่เธอไม่เคยถาม ไม่เลยสักคำ เธอไม่เคยถาม ไม่เคยจะเข้าใจ”

อีกประเด็นหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน คือการที่นิโคลรู้สึกว่าเธอสูญเสียตัวตนในความสัมพันธ์ จนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นใคร

“เขาชัดเจนในสิ่งที่เขาต้องการ ไม่เหมือนฉันที่บอกไม่ค่อยได้ว่าฉันต้องการอะไร”

การไร้ตัวตนในความสัมพันธ์นั้นคงไม่ต่างอะไรกับตายทั้งเป็น

ประโยคแรกที่ทั้งคู่พูดถึงกันเผยให้เห็นถึงนัยยะสำคัญหลายประเด็น และมีความสำคัญมากเพราะเป็นสิ่งแรกที่เรานึกถึงอีกคน ชาร์ลีเริ่มว่า “เธอ (นิโคล) ทำให้คนอื่นสบายใจแม้เป็นเรื่องอับอาย เธอตั้งใจฟังเวลาคนอื่นพูดจริงๆ บางครั้งเธอฟังมากเกินไปและนานเกินไป เธอเป็นพลเมืองที่ดี”

ในขณะที่นิโคลขึ้นต้นว่า “เขาไม่เคยปล่อยให้ความคิดเห็นคนอื่น หรือความล้มเหลวใดๆ รั้งเขาไม่ให้ทำสิ่งที่อยากทำ” ภาพที่ทั้งสองคนมีให้กันแตกต่างกันชัดเจน คนหนึ่งคิดถึงคนอื่น แต่อีกคนกลับมองไม่เห็นคนอื่นเลย

อีกฉากหนึ่งที่สะท้อนการมองเห็นแค่ตัวเองของชาร์ลี คือตอนที่นิโคลบอกว่า “เขาเป็นคนมีสำนึกเรื่องพลังงาน”

ชาร์ลีปิดไฟโดยที่ ‘มองไม่เห็น’ ว่านิโคลนั่งอ่านหนังสืออยู่ตรงนั้น สำนึกรักพลังงานจึงอาจเป็นคำเสียดสีมากกว่าจะเป็นความเข้าใจในแง่บวก

นอกจากนั้น พื้นฐานครอบครัวของทั้งคู่ส่งผลในเรื่องตัวตนไม่น้อย

นิโคลเติบโตมาในครอบครัวที่แม่มีสามีเป็นเกย์ แต่แม่ของเธอก็ใจกว้างพอที่จะเป็นเพื่อนกับคู่เกย์ของสามี อีกทั้งเธอยังช่วยชาร์ลีในเรื่องของการสู้คดีหย่าร้างด้วยซ้ำ แม้ว่าชาร์ลีคือคู่กรณีของลูกสาวเธอเอง

แต่ที่มาของพ่อแม่ชาร์ลีกลับเป็นปริศนา นิโคลเล่าแค่ว่าความทรงจำเกี่ยวกับพ่อแม่ของชาร์ลีมีแค่เรื่องแอลกอฮอล์และความรุนแรง นี่จึงอาจเป็นเหตุผลลึกๆ ที่ทำให้ทั้งคู่มีทัศนคติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่นั่นคือการตีความตามตัวบท เพราะส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าเราไม่ควรใช้อดีตมาเป็นข้ออ้างให้เราเลือกที่จะประพฤติตัวไม่ดี นอกเสียจากว่าคุณจะเป็นเหมือนชาร์ลีที่อาจจะไม่รู้เท่าทันกลไกในจิตใต้สำนึกและปล่อยให้มันบงการชีวิตของคุณ

“อยากจะกลืนกินเธอทั้งตัวไม่อยากเหลือไว้ให้ใครได้กลิ่น”

การที่ชาร์ลีแอบไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่นทำให้นิโคลเจ็บปวด ชาร์ลีอธิบายเหตุผลว่าเป็นเพราะนิโคลไม่ยอมร่วมรักกับเขานานแล้ว… นอกจากความเหนื่อยล้า มีเหตุผลใดอีกบ้างที่นิโคลไม่อยากร่วมรักกับชาร์ลี? นิโคลบอกเหตุผลเราแล้วผ่านประโยคที่สองในตอนแรกของภาพยนตร์

“ชาร์ลีกินเหมือนพยายามกินให้เสร็จๆ ไป และเหมือนจะมีอาหารไม่เพียงพอสำหรับทุกคน แซนด์วิชจะถูกบีบอย่างแรงเวลาที่ถูกเขมือบ”

นอกจากคำบอกเล่านี้แสดงถึงความเห็นแก่ตัวลึกๆ ของชาร์ลีแล้ว ชุดคำที่นิโคลเลือกใช้อธิบายอุปนิสัยการกินของชาร์ลียังน่าสงสัย

หากเราเชื่อตาม ซิกมันด์ ฟรอยด์ ว่าการกินคือ oral stage ที่เด็ก 1 ขวบจะมีความสุขกับความรู้สึกที่ริมฝีปาก และเป็นการกระทำเพื่อตอบสนองแรงขับทางเพศที่ฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก การกินของชาร์ลีจึงฟ้องพฤติกรรมทางเพศของเขา รวมถึงการ ‘เขมือบ’ การ ‘บีบอย่างแรง’ และรูปลักษณ์ของแซนด์วิชที่คล้ายอวัยวะเพศหญิง แถมยัง ‘กินให้เสร็จๆ ไป’

สิ่งต่างๆ เหล่านี้คงเป็นนัยยะว่าเพศสัมพันธ์ของเขาคงทั้งรุนแรงและไม่แยแสฝั่งตรงข้าม ซึ่งสวนทางกับนิโคลที่คิดถึงหัวอกของอีกคนอยู่เสมอ เราจึงอาจจะสรุประหว่างบรรทัดได้ว่าพฤติกรรมทางเพศคงเป็นอีกเรื่องที่เป็นปัญหาของทั้งคู่

ฉากร่วมรักของนิโคลกับหนุ่มที่เธอเจอที่งานเลี้ยงคงเป็นอีกเรื่องที่จะช่วยเราชี้ชัดเรื่องนี้ได้อีกสักนิด นิโคลขอให้เขาใช้แค่ ‘นิ้ว’ กับเธอ อาจเป็นเพราะเธอยังรู้สึกว่าไม่ได้ปลอดพันธะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะในทางกฎหมายเธอยังเป็นภรรยาของชาร์ลีอยู่ แต่ขนาดว่าขึ้นรถไปแล้วจูบกันขนาดนั้น เงื่อนไขนี้เลยเป็นไปได้น้อยมาก

“ดีใจด้วยนะ ที่เธอเริ่มต้นใหม่สักที ดีใจด้วยนะ ที่พบเจอความสุขสักที”

การเป็นแม่และเมียอาจเป็นจุดหมายสูงสุดของการได้เกิดมาเป็นผู้หญิงของบางคน แต่นี่ไม่ใช่เป้าหมายของนิโคล

ทั้งชาร์ลีและนิโคลทำงานอยู่ในแวดวงเดียวกัน ชาร์ลีเป็นผู้กำกับละครเวทีที่กำลังโด่งดัง เขามีความทะเยอทะยาน มีมุมมอง อ่านเกมขาด และรู้ความต้องการชัดเจน ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของการเป็นผู้กำกับ ผนวกกับชีวิตส่วนตัวอันแสนสุขสบายที่มีนิโคลคอยรองรับภาระหน้าที่อื่นๆ ให้อีกมาก

นิโคลอาจจะได้รับคำชื่นชมเรื่องการแสดงอยู่บ้าง แต่เธอกลับรู้สึกพ่ายแพ้ หลงทาง และสูญเสียความเป็นตัวเอง ซึ่งบทวิเคราะห์ทั้งหมดทำให้เราเข้าใจได้ว่า ความรู้สึกล้มเหลวของนิโคลไม่ได้เกิดจากตัวเธอเอง แต่เป็นความสัมพันธ์ (หรือพูดให้ชัดคือ) ‘ความเป็นแม่และความเป็นเมีย’ ที่เป็นอุปสรรค และนั่นอาจเป็นปัญหาเดียวกันกับที่ผู้หญิงอีกมากมายประสบพบเจอในชีวิต เป็นปัญหาระดับมนุษยชาติที่ต่อสู้กันมาเป็นร้อยปี แต่ก็ยังมีให้เห็นทุกที

แม้ว่านิโคลจะดูแข็งแกร่งและเด็ดเดี่ยวแค่ไหน แต่หลายครั้งความรักและความผูกพันก็กลายเป็นอุปสรรคที่ลวงเธอจนความตั้งใจจะเริ่มต้นใหม่เกือบล้มไม่เป็นท่า และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมเธอจึงต้องยืมมือคนอื่นมาช่วย

ตลอดทั้งเรื่องเราอาจรู้สึกว่าถ้าปัญหามันจบได้ด้วยการตกลงกันของคนสองคน เรื่องก็คงไม่เลยเถิด พวกเขาคงไม่เสียเวลาและทรัพย์สินให้กับขั้นตอนและกระบวนการยุติธรรมมากมายขนาดนั้น แต่อย่าลืมว่านั่นคือราคาที่นิโคลยอมจ่าย และเป็นราคาที่หลายๆ คนบนโลกใบนี้ยอมจ่าย เพื่อปลดแอกตัวเองออกจากคุกที่กักขังและได้มาซึ่งอิสรภาพในชีวิต

ประเด็นนี้จึงยิ่งตอกย้ำว่าความรักและความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกล้วนๆ แต่มันมีราคาที่ต้องจ่าย เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง มีปัจจัยผันผวนอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่แน่นอน คือผู้หญิงต้องจ่ายมากกว่าผู้ชาย และบางคนต้องจ่ายด้วยชีวิตทั้งชีวิต

หลังจากการหย่าร้างสำเร็จ พันธนาการทุกอย่างในชีวิตของนิโคลก็เหมือนจะคลาย เธอได้ทำตามความต้องการของเธอ เป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียง มีความสุขกับชีวิตส่วนตัว หันมายิ้มให้กับกล้องและผู้ชมได้อย่างเต็มภาคภูมิ และสิ่งที่พิเศษที่สุดคือการโอบรับความเจ็บปวดในอดีตเอาไว้แต่รู้สึกรู้สากับมันแบบพอดิบพอดี ราวกับบาดแผลในระดับผิวหนังที่ไม่อาจบาดลึกเข้าไปในหัวใจ และนั่นคือการเริ่มต้นชีวิตครั้งใหม่ที่สวยงามและคุ้มค่าเหลือเกินกับทุกสิ่งที่เสียไป

เราอาจจะคิดว่าเฮนรีน่าสงสารที่ต้องมาพบเจอเรื่องแบบนี้… ส่วนหนึ่งอาจจะใช่ เพราะดูเหมือนเขาต้องปรับตัวไม่น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่เฮนรีน่าชื่นชมมากคือเขาไม่งอแงเลยสักนิด (ซึ่งเราจะไม่เห็นในละครไทยแน่ๆ) อาจจะมีบางครั้งที่เขารู้สึกเบื่อกับกติกาที่พ่อแม่สร้างขึ้น แต่เขาก็เข้าใจ อาจเป็นความไว้ใจที่พ่อและแม่มีต่อเขาจนเขารับรู้ได้

ชาร์ลีและนิโคลเลือกที่จะไม่ใช้เฮนรีเป็นตัวประกันของความสัมพันธ์ (ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่หลายคนยกย่องหากพ่อแม่ฝืนทนในความสัมพันธ์อันเป็นทุกข์นี้ได้) เขาทั้งคู่ให้เกียรติลูกในฐานะส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ที่ต้องรับรู้ปัญหาและเรียนรู้ทางออกร่วมกัน ทั้งคู่ไม่ใช้ความสงสารมากดทับความเป็นมนุษย์และความเป็นเด็กของเฮนรี ไม่ปิดบังซ่อนเร้นจนกลายเป็นความไม่เข้าใจ และค่อยๆ ปล่อยให้เฮนรีเรียนรู้ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นด้วยความเคารพตัวตน ไม่ดูแคลนภูมิคุ้มกันของความเป็นมนุษย์ของเขา แม้ว่าเขาจะเป็นเด็ก และไม่ทอดทิ้งเขาให้รู้สึกโดดเดี่ยวจนรู้สึกว่าการเลิกราคือปัญหา

ประสบการณ์ความเจ็บปวดเป็นเรื่องธรรมดาที่ชีวิตมนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ขึ้นอยู่กับว่ามันจะมาในรูปแบบใด มันอาจเป็นรอยแผลเป็นในหัวใจที่ไม่มีวันหาย แต่ในขณะเดียวกันมันอาจทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นได้แน่นอน เราจึงไม่ควรพรากสิทธิแห่งความเจ็บปวดนั้นจากใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสิทธินั้นมีผลต่ออิสรภาพในชีวิตของเราด้วย

สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นคือความมีวุฒิภาวะของทุกตัวละคร ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย ทุกคนล้วนแล้วแต่เข้าอกเข้าใจ และมีสปิริตมากพอที่จะประสานรอยร้าว แม้ว่าต่างฝ่ายต่างสร้างบาดแผลให้แก่กัน แต่ทุกคนก็ปฏิบัติต่อกันฉันมิตรสหายที่ดูจะเข้าอกเข้าใจกัน และความเข้าใจนี้เองที่เป็นกุญแจของเรื่อง

ภาพยนตร์คงไม่ได้กำลังบอกเราว่าการเลิกราคือทางออกของทุกปัญหา แต่สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์อาจเป็นอุปสรรคขวางกั้นในชีวิตหากเราปล่อยให้มันเป็นไป และไม่ว่าคุณจะปรารถนาดีต่อผู้อื่นแค่ไหน แต่คุณก็ต้องรักตัวเองด้วย ฟังเสียงหัวใจของตัวเอง เชื่อมั่นในเสรีภาพและศักยภาพของตัวเอง คุณก็มีสิทธิมีเสียงมากพอที่จะลุกขึ้นมาสร้างสมดุลในชีวิตไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

ภาพยนตร์เรื่อง Marriage Story แสดงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ของความสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลเหนือกว่าความรักและความรู้สึกของคนสองคน ไม่ว่าจะเป็นอุดมคติของสังคม ความเท่าเทียมกันทางเพศ การก่อร่างสร้างตัวตนและแรงขับที่อยู่ในจิตใต้สำนึก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ได้ทั้งสิ้น ซึ่งปัญหาบางเรื่องใหญ่เกินกว่ากำลังของคนสองคนจะแก้ไขได้

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราควรจะท้อแท้หรือหมดกำลังใจ เพราะเส้นแบ่งระหว่างจุดจบและการเริ่มต้นใหม่มักจะทับซ้อนกันเสมอ

ส่วนหลายคนที่กำลังอยู่ในความสัมพันธ์กับใครสักคนและรำพึงกับตนเองว่า ฉันช่างโชคดี รู้สึกสุขสบายและเป็นตัวเองสุดๆ มันก็ไม่แน่ว่าความสัมพันธ์นั้นราบรื่นไร้อุปสรรค ตรงกันข้าม ความสุขสบายของคุณ อาจกำลังลิดรอนตัวตนของอีกคนอยู่ ซึ่งอาจนำมาสู่ทางออกสุดท้ายเหมือนกับความสัมพันธ์ของนิโคลและชาร์ลี ก็เป็นได้

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า