ประวิทย์ แต่งอักษร: Utopia แห่งนักวิจารณ์

หลายๆ ครั้งที่ดราม่าบนโลกออนไลน์บังเกิดเพราะคอมเมนต์มหาศาลจากผู้คนที่ชักพาเรื่องราวหลุดไหลลอยออกทะเลไปถึงไหนต่อไหน หากลองไล่อ่านจากคอมเมนต์ท้ายสุด แล้วย้อนกลับไปอ่านที่ต้นเรื่องอีกครั้ง อาจจะรู้สึกว่ากำลังอ่านคนละเรื่องเดียวกันอยู่

ในโลกออนไลน์ นักวิจารณ์อิสระหน้าใหม่ไปจนถึงนักเลงคีย์บอร์ดถือกำเนิดขึ้นทุกวัน ยังมีหลายคนเฝ้าฝันถึงโลกอุดมคติแห่งการวิจารณ์ที่ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามที่คิดโดยที่ไม่ต้องนัดไปชกกันนอกรอบ

หากวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์สามารถลงหลักปักฐานในบ้านเราสำเร็จเมื่อไหร่ อาจถึงคราวที่นักวิจารณ์มืออาชีพทั้งหลายต้องเก็บกระเป๋าหลบฉากออกไปเงียบๆ

แต่ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง…นักวิจารณ์ภาพยนตร์มืออาชีพที่ยืนหยัดในแวดวงวิจารณ์เกือบ 30 ปีเต็มอย่าง ประวิทย์ แต่งอักษร รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนทางวิชาชีพของเขาหรือไม่

ในเดือนธันวาคม ปี 2558 จะถือว่าเขาทำอาชีพนักวิจารณ์ภาพยนตร์ครบ 30 ปีพอดี ถ้าเทียบกับชีวิตใครหลายคน ต้องเรียกว่า อยู่กับมันมาครึ่งชีวิต ถ้าไม่รักไม่ชอบกันจริงๆ ไม่น่าจะอยู่กับมันได้ยาวนานขนาดนี้ 

แม้จะยังรับหน้าที่อาจารย์พิเศษด้านการวิจารณ์ภาพยนตร์ให้หลายมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเราขอสัมภาษณ์เขาในฐานะนักวิจารณ์ จึงไม่อยากให้ใครติดภาพและเรียกว่า ‘อาจารย์’ 

บทสนทนาในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าคนรักหนังไม่จำเป็นต้องโตมาเป็นผู้กำกับทุกคน ยังมีอีกหลายส่วนในวงจรการสร้างงานศิลปะที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ 

หากการวิจารณ์คือหนึ่งในวงจรการสร้างงานศิลปะที่สำคัญ แต่จากความเห็นเขา ประเทศไทยยังไม่เคยไปถึงจุดที่สามารถรักษาการวิจารณ์ไม่ให้กลายเป็นการทะเลาะทุ่มเถียงได้สำเร็จจริงๆ สักที

ประวิทย์เห็นว่านี่คืออีกหน้าที่หนึ่งของนักวิจารณ์ ที่ต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ในสยามประเทศให้แข็งแกร่งกว่าที่เป็นอยู่

เคยทราบมาว่า ฝันอยากเป็นนักวิจารณ์ตั้งแต่อยู่มัธยมต้น

คือยุคนั้นเป็นยุคที่ความบันเทิงมันไม่ค่อยมี ไม่เหมือนสมัยนี้ และภาพยนตร์มันเหมือนเป็น time machine ของเรา มันเป็นการหลบหนีโลกของความเป็นจริง พอเราได้ดูก็หลงใหล และรู้สึกว่าการเข้าไปดูหนังมันเป็นการผจญภัย ก็เลยรู้สึกว่าแล้วเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง ในวัยขณะนั้น ประกอบกับเป็นคนชอบอ่านหนังสือ พอเราได้ดูหนัง ได้อ่านหนังสือหนัง มันก็ทำให้เราเอาหนึ่งบวกหนึ่ง คือสรุปว่าอยากจะเขียนอะไรเกี่ยวกับหนัง ความฝันก็คืออยากจะเขียนวิจารณ์หนังมาตั้งแต่อ่าน Starpics ตั้งแต่ มศ. 1 ก็สักประมาณปี 2521  

ช่วงนั้นหนังที่ชอบดูเป็นหนังแนวไหน

หนังโรง ตอน พ.ศ. 2521 สภาพการดูหนังในเมืองไทยคือหนังฉายโรง ไม่มีวิดีโอ วิดีโอจะเริ่มมีประมาณปี พ.ศ. 2522-2523 ซึ่งคนที่มีก็ต้องมีฐานะมากๆ เพราะว่าเครื่องหนึ่งก็ประมาณ 30,000 กว่าบาท ฉะนั้นโอกาสที่เราจะดูหนัง ก็มีแค่โรงภาพยนตร์อย่างเดียว และด้วยวัยผมคือต้องหนีโรงเรียนไปดู ตอนนั้นอยู่ในวัยที่พ่อแม่ต้องดูแล จะปล่อยปละละเลยก็ต้องอาศัยหนีโรงเรียน ซิกแซกหลายวิธีเพื่อที่จะดูหนัง ส่วนใหญ่ก็ดูหนังในโรง และก็ดูในทีวี ซึ่งทีวีตอนนั้นก็จะมีหนังเก่ามาฉายบ้างประปราย

หนังไทยกับหนังฝรั่งมีสัดส่วนต่างกันไหม

คือต้องเข้าใจค่านิยมของคนรุ่นผม ตอนนั้นเราโตมากับค่านิยมของอเมริกัน มันเป็นช่วงสงครามเย็น วัฒนธรรมอเมริกันมันหลั่งไหลมา คนชั้นกลางในกรุงเทพฯส่วนใหญ่ก็จะฟังเพลงฝรั่ง ดูหนังฝรั่ง หนังไทยมีเอาไว้สำหรับคนต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นถามว่าสัดส่วนของการดูหนัง คือไม่ดูหนังไทยเลย หนังไทยผมจะดูตอนที่มันมาฉายหนังกลางแปลง ตอนนั้นพอนึกย้อนกลับไป เรากลับรู้สึกว่าเราสะดวกกับการดูหนังไทยมาก เพราะมันเป็นหนังที่เราไม่ต้องอ่านซับไตเติล ไม่ต้องให้ใครมาพากย์เสียงประหลาดๆ มันเป็นหนังที่เราดูรู้เรื่อง วัฒนธรรมเราก็เข้าใจ แต่ตอนนั้นนึกออกไหม ใครๆ ก็ดูหนังฝรั่ง แล้วโรงหนังมันก็ฉายหนังฝรั่ง ในกรุงเทพฯ ผมว่าสัก 80 เปอร์เซ็นต์ จะมีโรงที่ฉายหนังไทยก็พวกเฉลิมไทย เฉลิมกรุง ซึ่งก็จะเป็นคนอีกแบบ อายุมาก หรือไม่ก็เป็นคนต่างจังหวัด 

ตอนที่เริ่มดูหนังใหม่ๆ ไปกับเพื่อนหรือไปกับใคร

ดูคนเดียว ผมคิดว่าตัวเองค่อนข้างประหลาดเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันนะ เพราะส่วนใหญ่เขาก็เตะบอล เล่นโน่นนี่นั่น แต่เรากลับสนใจดูหนัง คือเรารู้สึกตั้งแต่ตอนพ่อแม่พาเราไปดูหนัง เรารู้สึกว่ามัน move เราได้มหาศาลมาก มันทำให้เราตื่นเต้น ทำให้เราสนุก ทำให้เราหัวเราะ มันกลายเป็นดินแดนมหัศจรรย์ ฉะนั้นก็เลยหาโอกาสเพื่อที่จะดู ถามว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ดูหนังแบบผมไหม สมัยเรียนผมหาไม่เจอนะ ก็มีผมที่ค่อนข้างไม่ปกติอยู่คนเดียว (หัวเราะ) 

นอกจากหนังอเมริกัน ได้มีโอกาสดูหนังยุโรปไหม

ผมจะเริ่มดูหนังยุโรปตอนประมาณ มศ. 4 ตอนนั้นเริ่มไปดูหนังที่สถาบัน AUA เป็นหนังอเมริกัน แต่เป็นหนังอเมริกันเก่า แล้วก็มีสถาบันเกอเธ่ สมาคมฝรั่งเศส แต่ผมไม่ค่อยได้ไปสมาคมฝรั่งเศส คือพวกขาประจำเขาจะดูอยู่ หนังยุโรปก็ดูบ้างตอนโตขึ้นมาหน่อย แต่ถ้าถามว่าเราดูหนังอะไรเป็นหลัก ก็คืออเมริกัน หนังฮอลลีวูดนี่แหละ 

ดูแบบไม่เลือกแนวเลยหรือเปล่า

ทุกแนวที่มาฉาย แล้วดูอะไรก็สนุก มันเป็นธรรมดา เพราะตอนนั้นเราไม่มีความคาดหวัง และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าอะไรดี อะไรเลว ทุกอย่างมันเลยเป็นเรื่องสนุกสนานไปหมด มันก็มีหนังหลายเรื่องที่พอเราย้อนกลับไปดูทุกวันนี้ แล้วเราถามตัวเองว่าดูเข้าไปได้ยังไง ชอบมันเข้าไปได้ยังไง เราชื่นชมมันไปได้ยังไง มันสะท้อนว่าเรายังไร้เดียงสามากๆ ในตอนนั้น 

ถ้าเกิดดูทุกอย่างแล้วชอบหมด ทำไมถึงยังอยากจะวิจารณ์มัน

ตอนนั้นอย่างหนึ่งที่ผมจะทำหลังจากดูจบคือ เอาสมุดมาโน้ต คือมันไม่ใช่การเขียนวิจารณ์ในเชิงของการวิจารณ์ แต่เป็นการเขียนถึงในสิ่งที่เราดูมา วันนี้เราไปดูเรื่องอะไรมา ก็จะหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งตอนนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็หาปีที่สร้าง บางทีก็ดูเอาจากโปสเตอร์  ให้ดาว เขียนชื่อผู้กำกับ แล้วก็เขียนเรื่องย่อ ฉะนั้นมันก็สั่งสมมาจากตรงนี้ 

มันไม่ใช่เรื่องของการเขียนเพื่อประเมินคุณค่า แต่เป็นการเขียนเพื่อบันทึกความทรงจำของเราว่าไปดูเรื่องอะไรมา เพราะตอนนั้นดูอะไรมาเราก็สนุกหมด แต่เราไม่ได้เขียนบอกว่าสนุกแค่ไหน จะโน้ตไว้ว่าหนังเรื่องนี้มันเกี่ยวกับอะไร พอย้อนกลับไปดู เราก็เคยดูเรื่องโน้นเรื่องนี้มาบ้าง มันก็เลยสั่งสมความรักของเราที่มีต่อการดูหนังมากขึ้นเรื่อยๆ

พอย้อนกลับไปอ่านก็จะเห็นมุมมองของเรา ณ ตอนนั้นด้วย?

ใช่ คือมุมมองในการตีความของเรา จริงๆ การเขียนเรื่องย่อหนังก็เป็นส่วนหนึ่งของการวิจารณ์ เพราะหนังมันเล่าเรื่องด้วยภาพ เพราะฉะนั้นในฐานะคนดูหนังต้องแปลงภาพออกมาเป็นตัวหนังสือ มันก็เป็นการตีความในระดับหนึ่ง ซึ่งพอเราต้องตีความภาพออกมาเป็นตัวหนังสือ มันก็เลยผิดๆ ถูกๆ คลาดเคลื่อนบ้าง บางทีก็ไร้เดียงสาบ้าง ดูโง่บ้าง ดูน่าขำบ้าง แต่มันก็เป็นมุมมองของเราตอนนั้น จริงๆ จะบอกว่าผมเขียนเป็นภาษาอังกฤษนะครับตอนนั้น พอมันเป็นหนังอเมริกันหรือหนังฝรั่ง มันก็ต้องปีนกระไดพอสมควร ก็เลยทำให้เราอยากจะสนใจมันมากๆ ก็เลยสนใจเรียนภาษาอังกฤษไปด้วย เวลาเขียนก็เลยเขียนเป็นภาษาอังกฤษ 

อีกอย่างหนึ่งที่ผมทำมาก นอกจากดูและเขียน คือ พยายามจะเข้าห้องสมุดที่มีหนังสือหนัง ตอนนั้นห้องสมุดที่มีหนังสือหนังในเมืองไทย เท่าที่รู้มีอยู่แค่ 2 ที่ คือห้องสมุด AUA กับห้องสมุดบริติช เคาท์ซิล ก็ไปยืมหนังสือมาแล้วเอามานั่งอ่าน ไปยืมรอบหนึ่ง 3 อาทิตย์ อ่านได้ 2 บท ก็ไปขอยืมต่อ อะไรแบบนี้ ก็ต้องขวนขวาย มันเลยทำให้เวลาเขียนอะไร ก็พยายามเขียนเป็นภาษาอังกฤษ 

ที่เคยเขียนไป ตอนนี้ยังเก็บไว้ไหม

คิดว่าไม่อยู่แล้วนะ ก็คิดว่าเก็บนะ แต่ไม่แน่ใจว่าอยู่หรือเปล่า คือผมย้ายบ้านด้วย แต่มันเป็นสิ่งที่ผมไม่ทิ้งแน่ ผมรับประกันว่าผมไม่ทิ้ง แต่ผมไปวางที่ไหนแล้วไม่รู้ 

หนังสือที่อ่านช่วงนั้นก็เป็นหนังสือหนังที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นหลัก? 

หนังสือหนังที่ยืมมาจากห้องสมุด หนังสือ Starpics นิยายก็อ่านนะ คือช่วงนั้นมันเป็นช่วงขวนขวายหาข้อมูล หาวัตถุดิบให้กับตัวเรา ก็อ่านเท่าที่กำลังความสามารถจะอ่านได้ คือผมก็คิดว่าผมได้เปรียบกว่าเด็กสมัยนี้ คือ ตอนนั้นผมไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีเฟซบุ๊ค เฟซบุ๊คนี่มันเสียเวลาพอสมควร มันก็มีข้อดี แต่ข้อเสียคือมันทำให้เราไม่มีเวลาไปหาอะไร input ใส่ตัว สมัยนั้นมันไม่ค่อยมีอะไร มันทำอะไรได้บ้าง ฟังเพลง ดูหนัง อ่านหนังสือ มันก็วนเวียนอยู่แถวๆ นี้ 

นอกจากดูหนังแล้วบันทึกไว้อ่านเองแล้วได้แลกเปลี่ยนอะไรกับเพื่อนบ้างหรือเปล่า

ไม่มีเพื่อนที่มาให้แลกเปลี่ยนด้วย คือมันไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีพวกบ้าหนังมารวมกัน ตัวผมนี่เหมือนหมาป่าเดียวดายมาก มันก็ทำให้เราอยู่กับตัวเองเยอะพอสมควร ตอนมัธยมผมเรียนโรงเรียนผู้ชายล้วน เรียนเทพศิรินทร์ ไม่เห็นมีใครบ้าหนังสักคน ไม่เห็นมีใครสนใจดูหนังสักคน 

เวลาเลิกเรียน ผมจำได้ว่าสมัยผมเรียนมันเป็นภาคเช้า ภาคบ่าย ครึ่งปีแรกเรียนเช้า ครึ่งปีหลังเรียนบ่าย ตอนที่ผมมีเรียนเช้า หนังมันจะเข้าประมาณเที่ยงหรือบ่ายๆ แล้วเทพศิรินทร์กับสยามมันไม่ไกลกัน บางทีโรงเรียนยังไม่เลิก ผมก็รีบวิ่งเพื่อเดินทางไปสยามเลยนะ ก็ไม่เห็นมีใครทำแบบเดียวกับผมเลย 

ถามว่ามีเพื่อนให้แลกเปลี่ยนไหม มันเลยไม่มี ก็เลยเดียวดายพอสมควร แต่ก็มีความสุขเวลาอยู่กับสิ่งที่เราชอบ ผมอิจฉาคนสมัยนี้เหมือนกัน ที่มี community มีคนคอเดียวกัน ผมเชื่อว่าคนรุ่นเดียวกับผมที่เป็นคนบ้าดูหนังก็มี แต่มันไม่เจอกัน ไม่รู้จะสื่อสารกันทางไหน พอโตมาก็เจอคนอายุไล่ๆ ผม ซึ่งก็ดูหนังแบบเดียวกัน ฟังเพลงแบบเดียวกัน รื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับหนังที่ฉายแบบเดียวกันก็มี 

การวิจารณ์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร มีหลักเกณฑ์ไหม 

ผมก็ไม่แน่ใจนะว่ามันมีหลักหรือเปล่า แต่ถ้าถามว่าการวิจารณ์คืออะไร มันคือการแสดงความคิดเห็น เวลาผมสอนหนังสือเกี่ยวกับการวิจารณ์ ผมไม่ค่อยจะตีกรอบนักศึกษาว่า การวิจารณ์คือการทำโน่นนะ ทำนี่นะ จริงๆ ผมจะให้นิยามไว้หลายๆ อย่าง เช่น การวิเคราะห์ ตีความ ประเมินคุณค่า นี่คือหลักหนึ่งที่คุณเอาไปใช้ประกอบได้ 

อีกนิยามที่ผมใช้เสมอคือ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานศิลปะ เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ซึ่งนิยามนี้เป็นนิยามที่ให้พื้นที่ ให้เสรีภาพ ให้โอกาสคนทำงานในการวิจารณ์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมาวิเคราะห์กันอีกว่าต้องทำยังไง 

นิยามของการวิจารณ์หนัง ก็คือการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังที่คุณดู ทีนี้การแสดงความคิดเห็นที่ดี หรือการวิจารณ์ที่ดี สำหรับผมคือการทำให้คนที่อ่านงานวิจารณ์ของเราเกิดความกระตือรือร้นอยากจะไปดู เราอาจจะด่ามันก็ได้ แต่สิ่งที่เราพูด มันทำให้เกิดความสงสัยใคร่รู้กับตัวคนอ่าน จนเขาอยากจะไปพิสูจน์ดูว่า หนังที่คนคนนี้พูดถึงมันเป็นยังไงกันแน่ 

เพราะเอาเข้าจริงๆ คนวิจารณ์ที่ดีไม่ควรจะบอกว่าหนังเรื่องนี้มันห่วยแตก คุณไม่ควรไปดู ตรงนี้ควรจะเป็นพื้นที่ให้คนอ่านสรุปเอาเอง วินิจฉัยเอาเองว่าเขาควรตัดสินใจไปดูหรือเปล่า แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น คุณต้องแสดงคุณค่าให้มันเห็นว่า มันดียังไง มันมีแง่มุมยังไง มีความโดดเด่นยังไง ประเด็นคืออะไร ความเชื่อมโยง แบคกราวน์คืออะไร บริบทมันคืออะไร 

ยุคที่เริ่มต้นเขียนงานวิจารณ์ คิดว่าแนวการวิจารณ์ของทุกๆ คนมองไปในมุมเดียวกันหรือเปล่า

เกือบ 30 ปี ที่ผมผ่านวิวัฒนาการของการวิจารณ์มา ตอนผมเริ่มต้นทำงาน การวิจารณ์มันไร้เดียงสามากๆ มันเกือบจะเป็นอย่างเดียวกับการแนะนำภาพยนตร์ ซึ่งเป็นเรื่องของการอธิบายให้คนดูรู้ว่านี่คือหนังแนวอะไร เนื้อเรื่องเป็นยังไง ใครแสดง คนนี้เคยทำอะไรมาก่อน อะไรแบบนี้ อาจจะมีสอดแทรกความคิดเห็นนิดหน่อยว่าหนังเรื่องนี้ดีตรงนั้น ตรงนี้ แต่โดยรวมแล้วมันตื้นเขินมากๆ แต่นั่นคือบทวิจารณ์ที่ผมอ่าน ตอนที่ผมเริ่มเขียนวิจารณ์ เราก็ต้องโมเดลใครสักคน หรือหนังสือสักเล่ม หรือนักวิจารณ์สักอิทธิพลหนึ่ง นั่นคือสิ่งที่ผมเขียน ผมก็เขียนแบบนั้นแหละ 

คนที่มีอิทธิพลกับผมมากๆ คือ อาจารย์กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิณ ซึ่งแกเป็นคนทำให้เราเห็นว่าการวิจารณ์คือการวิเคราะห์แบบศิลปะ มันคือการมองหาคุณค่าบางอย่าง ด้วยความอ่อนด้อยทางประสบการณ์ ด้วยความซับซ้อนของมัน บางทีทำให้เรามองไม่เห็นมัน งานเขียนของ อาจารย์กิตติศักดิ์ เป็นแบบอย่างให้เราเห็นว่า เฮ้ย…หนังเรื่องนี้เราก็ดูนี่ แต่ทำไมเราถึงมองไม่เห็นจุดนี้ ผมคิดว่าทุกคนคงมีความคิดแบบเดียวกันเวลาอ่านงานวิจารณ์ฉลาดๆ ทั้งหลาย (หัวเราะ) ซึ่งผมเจอประจำ 

เราบอกหนังเรื่องนี้เราก็ดูเหมือนกัน แต่ทำไมเรามองไม่เห็น เขาใช้แว่นอะไร ใช้กรอบอะไรในการมอง อาจารย์กิตติศักดิ์ เป็นคนแรกที่จุดประกายมุมมองแบบนี้ให้กับเรา ซึ่งพอผ่านเวลาไปเรื่อยๆ มันสรุปได้ว่า ของแบบนี้มันฝึกฝนกันได้ สายตามันสามารถทำให้แหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ และแว่นก็มีหลายอันให้เราใส่ ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์อย่างเดียว มันก็เป็นเรื่องทักษะด้วย คือฝึกฝน เป็นเรื่องของการขวนขวายหาความรู้ เก็บข้อมูล ฝึกการมอง ฝึกการดู มันก็ทำให้เราแตกฉานกับหนังที่เราดูมากขึ้นเรื่อยๆ 

ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่การชี้ถูกหรือผิดใช่ไหม

ไม่ใช่ ผมว่าเรามาถึงยุคที่พูดไม่ได้แล้วว่าอะไรคือถูกหรือผิด เส้นมันอยู่ตรงไหน แล้วใครเป็นคนขีด แล้วคนขีดแน่ใจได้ยังไงว่าตัวเองถูก ผมเชื่อว่าเมื่อก่อนเป็นนะ การวิจารณ์ชี้ถูก-ชี้ผิด ในแง่ที่ว่าดีหรือเลว เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานของคุณงามความดีทั้งหมด ซึ่งวิธีคิดแบบนั้นมันล้าสมัยไปแล้ว ตอนนี้มันเป็นเรื่องของการใช้หนังเพื่อทำความเข้าใจความคิดของผู้กำกับ ของผู้สร้างงานศิลปะ ใช้หนังเพื่อทำความเข้าใจสภาพสังคม หรือใช้หนังเพื่อชื่นชมคุณค่าในตัวมันเอง ความบันเทิงของมัน หรือศิลปะของมัน ความงามและสุนทรียะของมัน 

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่ามันต้องมีรสนิยมส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง?

ใช่ๆ (เน้นเสียง) 

คือจะอ้างว่าฉันเป็นกลาง ฉันถอยออกมาแล้วไม่ได้?

จริงๆ ผมว่าทุกคนเวลาดูหนัง หรือวิจารณ์หนัง มันหลีกเลี่ยงการเอารสนิยมของตัวเองไปปะปนไม่ได้ แต่รสนิยมเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า การดูหนังเพื่อฝึกฝนความถนัดจัดเจน มันเป็นการยกระดับรสนิยมด้วย คือเมื่อก่อนรสนิยมของเราคือตลกคาเฟ่ สมมุตินะ…ผมไม่ได้ดูถูกตลกคาเฟ่ แต่มันอาจจะตื้น มันง่าย และมันเรียกร้องเสียงหัวเราะจากการกระทำที่มันโฉ่งฉ่างมาก แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องยึดติดอยู่กับตรงนั้นตลอดเวลา 

เพราะเราเชื่อว่ารสนิยมที่ดีคือความแนบเนียน คือความแยบยล คือความซับซ้อน ในที่สุดแล้วมันจะโยงใยอยู่กับเรื่องของสติปัญญา เรื่องของการวิจารณ์ เรื่องของความฉลาดเฉลียว คุณค่าของงานศิลปะบางทีก็โยงอยู่กับความแยบยลของมัน ฉะนั้นมันเลยเกี่ยวโยงกับรสนิยมไปโดยปริยาย เพราะหนังดี ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของเราเป็นตัวกำหนดเหมือนกัน เพราะถ้ารสนิยมเราดี ก็จะมีแนวโน้มที่เราจะชื่นชมหนังที่มันมีคุณค่าทางสติปัญญามากขึ้น 

เข้าทำนองปีนกระไดดูหรือเปล่า

คือปีนกระไดแปลว่าฝืนนะ แต่ผมว่าการฝืนตัวเอง การยกระดับการรับรู้ของตัวเองก็เป็นเรื่องจำเป็น เปรียบเปรยง่ายๆ เหมือนเรากินอาหาร ถ้าเรากินซ้ำๆ กินอย่างเดิมอย่างเดียว โลกทัศน์เราก็จะคับแคบไปด้วย เราก็จะซ้ำซากจำเจ มันจะส่งผลว่าคุณกินอะไรคุณก็เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นผมว่าการปีนกระไดไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าทำได้ แล้วก็ควรทำ ในกรณีที่งานวิจารณ์มันจะเข้ามามีบทบาท 

ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว มันก็จะมีหนังหลายเรื่อง งานศิลปะหลายชิ้น ที่เขายกย่องกันว่ามันดี มันวิเศษ และเราก็ เฮ้ย…มันดียังไง พอดูด้วยตัวเราเอง เราก็ไม่มีสติปัญญาพอ ไม่มีกำลังพอจะเข้าใจคุณค่าของมัน อย่างหนังของเบิร์กแมน (Ingmar Bergman) ของแอนโทนิโอนี (Michelangelo Antonioni) ที่เป็นบรมครูของวงการหนังศิลปะ ดูทีไรก็หลับทุกที 

หรือ Citizen Kane ที่ยกย่องกันว่าเป็นหนังดีที่สุดในโลก ดูไม่เคยพ้น 15 นาทีแรก คือนึกออกไหมถ้าเราจะว่ายน้ำด้วยกำลังของเราเอง มันคงจมน้ำตายกลางสระ กับพอมีคนยกย่องมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการวิจารณ์ มีคนบอกว่า มันดีอย่างนั้นอย่างนี้ การวิจารณ์มันก็เป็นการชี้จุดให้เราเห็น มันมีประเด็นตรงนี้ที่เรามองไม่เห็นหรืออาจจะมองข้ามไป การใช้สัญลักษณ์ตรงนี้แปลว่าอะไร นี่คือลายเซ็นของผู้กำกับคนนี้ ที่เขาชอบทำอะไรเกี่ยวข้องกับความบาดหมางระหว่างคนในครอบครัว สมมุติอย่างนี้ เออ…เราก็เห็นด้วย เออ…ก็จริงของเขา ค่อยๆ เริ่มไปทีละน้อย บันไดมันก็เริ่มปีนง่ายขึ้น แล้วในที่สุดเราก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องปีนอีกต่อไป แต่ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับผมคือ มันจะทำให้เราสูญเสียความสนุกในการดูหนังไป

นอกจากเสียความสนุกไปแล้ว มันทำให้เราดูหนังยากขึ้นด้วยหรือเปล่า

มันทำให้เราจู้จี้จุกจิกขึ้น คือผมอิจฉาคนที่ดูอะไรก็สนุก ซึ่งคนที่มีช่วง (range) ในการดูหนังที่กว้างๆ มาก ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่รักษาไว้ยากมาก 

ถ้าตอนนี้ให้กลับไปดูหนังแบบ ทาสรักอสูร หรือ A Million Ways to Die in the West ซึ่งเมื่อก่อนสมัยเรียนมัธยม เรามั่นใจเลยว่าต้องหัวเราะขี้แตกแน่เลย แต่มาดูตอนนี้มันกลับเป็นหนังที่นอกจากจะฝืดแล้ว เรายังรู้สึกว่ามันดูถูกสติปัญญาเรา ก็เสียดายความสดในการดูหนังตรงนี้เหมือนกัน เสียดายความดูอะไรก็สนุกของตัวเองเหมือนเมื่อก่อน

ถ้าเทียบกับการกินอาหาร เรากินอาหารปราณีตทุกมื้อ แต่บางวันเราอาจจะอยากกินฟาสต์ฟู้ดขึ้นมาก็ได้ มันมีอารมณ์อย่างนี้บ้างไหม

ก็มีนะ วันที่เราอยากดูหนังโง่ๆ เพื่อการพักผ่อน แต่สำหรับผมมันผ่านจุดนั้นไปแล้ว มันกลายเป็นว่าพอดูแล้วก็ดูได้ไม่ค่อยนาน สักครึ่งชั่วโมงก็ไม่ไหวแล้ว ก็จะหยุดดู หรือไปดูเรื่องอื่นแทน อีกอย่าง ภาพยนตร์สำหรับผมตอนนี้ในฐานะที่เป็นนักวิจารณ์ มันเป็นงานไปหมดแล้ว มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่อยากมาเข้าคิวดูรอบสื่อ ผมไม่มีวันทำอย่างนี้อีกแล้ว คือเราแก่เกินไปแล้วด้วย มันเป็นเรื่องของเราที่ไม่มีความกระตือรือร้นมากกว่านี้อีกแล้ว 

ยิ่งยุคสมัยนี้ ไอ้ความกระตือรือร้นมันยิ่งน้อยลง เพราะว่าวันนี้ไม่ดูเรื่องนี้ พรุ่งนี้กลับไปโหลดที่บ้านก็ได้ หรือกลับไปซื้อดีวีดีก็ได้ อีก 3 เดือนดีวีดีก็ออก มันไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่แบบเกอเธ่อยู่ซอยอรรถการประสิทธิ์ แถวสาธร บ้านผมอยู่ไกลพอสมควร เดินทางลำบากแต่ก็ยังดั้นด้นไปดู ไปดูหนังที่พูดภาษาเยอรมัน ซับภาษาอังกฤษ แล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับมัน คือมันยังมีความขวนขวาย ความกระตือรือร้น มีแรงบันดาลใจที่จะทำแบบนั้น แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว

แล้วมีปัญหากับความสนุกไหม

ไม่มี ถ้าหนังมันสนุก ยังไงมันก็สนุกวันยังค่ำ อย่างที่บอกความสนุกของเรามันก็มีเรื่องรสนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณค่าทางศิลปะมาเกี่ยวข้อง ต้องมีเรื่องของชั้นเชิง อะไรต่อมิอะไรของคนทำหนังมาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าหนังสนุกมันคือหนังสนุก ผมอาจจะขี้เบื่อมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ก็จะตอบตามเดิม สนุกมันก็คือสนุก หนังบางเรื่องยาว 3 ชั่วโมง แต่อาจเป็น 3 ชั่วโมงที่สั้นที่สุดสำหรับเราก็ได้ กับหนัง 90 นาทีที่โคตรยาว ไม่จบสักที เพราะฉะนั้น ถ้ามันสนุก ต่อให้ยาวเท่าไหร่ก็ไม่มีปัญหา

ถ้าไปเจอหนังที่ไม่ดีเลย แต่เราต้องเขียนวิจารณ์ จะทำอย่างไร

ก็ต้องเขียนครับ คือตอนที่ยังถูกกำหนดให้ต้องเขียนนู่นนี่ เวลาเราดูหนังที่ต้องเขียนก็ต้องเขียน แล้วข้อดีอย่างหนึ่งในการเขียนในนิตยสารรายเดือนคือ มันค่อนข้างมีอิสระในการเขียน ไม่ค่อยมีแรงกดดันสักเท่าไหร่ มันก็ท้าทายในแง่ที่ว่าเวลาที่ต้องเขียนถึงหนังที่เป็นสูตรสำเร็จมากๆ หนังที่ไม่มีแง่มุมอะไรที่มันดึงดูด เราจะทำยังไงให้ข้อเขียนของเราน่าอ่าน อันนี้ทำให้ผมกลับมาชัดเจนกับวิธีการเขียนหนังสือของตัวเองอย่างหนึ่งคือ เราจะเขียนหนังสือยังไงให้น่าอ่าน ก็เลยย้อนกลับไปสู่คำถามที่ว่า ผมอยากอ่านอะไร 

หลักในการเขียนหนังสือของผมตอนหลังก็คือ ผมจะเขียนในสิ่งที่ผมอยากอ่าน มันก็จะวนอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นในการหามุมเขียนก็คือไม่ใช่เขียนแบบงานประจำ เขียนให้เชื่อว่าถ้าเราอ่านแล้วเราจะอยากอ่าน ทีนี้จะพูดว่าไม่มีความกดดันจากการเขียน ไม่มีความกดดันจากบริษัทหนังก็ไม่ถูก 

ผมเคยเขียนถึงหนังเรื่อง Predator (1987) ที่ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ เล่น ในความรู้สึกผมว่ามันห่วยมาก ประสบการณ์ผมอาจจะยังอ่อนด้อยมากก็ได้ เพราะตอนหลังมันก็เป็นหนังคัลท์ที่คนชื่นชอบ แต่ตอนนั้นผมไม่ชอบ ผมก็เขียนด่ามันสาดเสียเทเสียเลย อาจจะยังขัดเกลาไม่ดีด้วย บริษัทหนังเขาก็เตือนมาทางหนังสือที่เขียน บอกว่าถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องเขียนก็ได้ (หัวเราะ) อันนั้นก็เป็นบทเรียนแรกที่ผมเจอเกี่ยวกับอิทธิพลของข้อเขียนที่ตีพิมพ์ลงหนังสือ 

ไม่เหมือนสมัยนี้คุณเขียนเฟซบุ๊คไป มีคนมากดไลค์ มีคนมาคอมเมนต์ มันคือปฏิกิริยาตอบรับ ซึ่งเมื่อก่อนการเขียนหนังสือลงสิ่งพิมพ์ ถ้าใครเขียนจดหมายมาหาคุณ ต้องถือว่าวิเศษมาก เพราะเขาต้องลงทุน ซื้อกระดาษ เขียนจดหมาย ใส่ซอง ติดแสตมป์ เดินมาส่งที่ตู้ไปรษณีย์ เมื่อก่อนการเขียนหนังสือมันแทบจะเป็นการสื่อสารทางเดียว แทบจะไม่รับรู้เกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบรับใดๆ เพราะฉะนั้นการที่มีคนหืออือเกี่ยวกับข้อเขียนเรา ก็แสดงว่ามันมีอิทธิพลอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ 

แต่กับ Predator อาจได้ผลตอบรับแบบไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ใช่ไหม

ก็ใช่ ไม่ปลื้ม แต่อย่างน้อยมันแสดงว่าเราไปสะกิดถูกอะไรแล้วมันเกิดผลบางอย่าง ไม่เหมือนเราชกกระสอบทราย ชกไปสิ มันก็แค่กระเด้งกลับมาหาเรา

เคยคุยกับนักวิจารณ์รุ่นใหม่ๆ เขาจะบอกว่า เวลาพูดถึงหนังฝรั่งจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าเป็นหนังไทยปุ๊บ ถ้าด่าจะเป็นดราม่าทันที

จริงๆ เพิ่งเกิดประเด็นเมื่อเร็วๆ นี้ คือผมเป็นคนจุดประเด็นขึ้นมาเอง คือ คิดถึงวิทยา สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนวิจารณ์หนังพวกนี้ก็คือ ไม่ว่าคุณจะเขียนถึงหนังชาติไหนก็ตาม การด่าแบบสาดเสียเทเสีย มันค่อนข้างจะไร้ชั้นเชิง ผมว่าไม่ยากหรอก ถ้าจะเขียนเพื่อเรียกร้องความสนใจคนน่ะ คุณก็อาจจะใส่คำหยาบเข้าไป คือการด่าให้หยาบแบบมีทักษะมันก็ยากเหมือนกัน แต่การด่าแบบหยาบทื่อๆ มันไม่ยากไง แต่การเขียนแบบมีกลวิธี มีชั้นเชิง มีสำบัดสำนวน และไม่ต้องใช้คำหยาบมันท้าทายกว่า 

ขณะเดียวกัน ความท้าทายอย่างที่สุดคือ ในการเขียนสิ่งที่เราไม่ชอบ เราสามารถจะสื่อสารความคิดของเราไปสู่คนอ่านได้แค่ไหน อันนี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าการวิจารณ์เป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับผม แม้จะทำงานมายาวนานก็ยังสนุกกับมันอยู่ 

อย่างกรณี คิดถึงวิทยา บอกได้เลยว่าผมไม่ชอบหนังเท่าไหร่ หนังมันเพ้อฝัน และข้อสำคัญคือ GTH เจ้าของบริษัทก็คือรุ่นพี่และเพื่อนผม ผมเดินเข้าไปใน GTH ผมเชื่อว่าผมก็รู้จักหลายคน พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ก็รุ่นพี่ผม จีน่า (จินา โอสถศิลป์) ก็เพื่อนรุ่นเดียวกัน และก็คนทำ ผู้กำกับ เขาก็เรียนกับผม เรียนวิจารณ์กับผมที่นิเทศฯ จุฬาฯ คนเขียนบทก็เคยเรียนกับเรา แต่อย่างที่บอก ถ้าเราไม่ชอบก็คือไม่ชอบ 

เรื่องการวิจารณ์ ผมชอบประโยคหนึ่งของ อาจารย์เจตนา นาควัชระ แกเขียนบทความวิชาการไว้ว่า เวลาเขียนวิจารณ์ เขียนให้คนที่อยากสร้างงานศิลปะยังยืนอยู่บนเวทีได้ ไม่ใช่เขียนแล้วถีบให้เขาตก ไม่ต้องผุดต้องเกิด เพราะฉะนั้น นี่เป็นหลักเกณฑ์ในการเขียนหนังสือของผม คือถ้าผมไม่ชอบ ผมจะไม่ด่า ไม่ใช้คำหยาบ แต่ก็เขียนเพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อที่เราไม่ชอบ และมันก็เป็นสิทธิ์ของเราที่จะไม่ชอบ แล้วก็เขียนด้วยวิธีที่รอมชอมที่สุด แต่ถ้าเหน็บได้ มันก็เป็นเรื่องเขี้ยวเล็บของแต่ละคน ชั้นเชิงของแต่ละคน ว่าจะทำไห้ข้อเขียนของเรามีพลังแค่ไหน 

ผมก็เขียนตามที่ผมเขียน พอเขียนเสร็จ ปกติถ้าอยู่ในเฟซบุ๊ค ก็จะมีพวกที่ไม่เห็นด้วยเข้ามาคอมเมนต์ ซึ่งผมก็ไม่ได้ว่าอะไร คือไม่เห็นด้วยก็โอเค ผมเขียนไม่ชอบไป คุณโต้แย้งมา ถือว่าเจ๊ากัน เป็นธรรมชาติของสังคมที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ปรากฏว่า มีคนเอาสิ่งที่ผมเขียนไปลงพันทิป พอลงปุ๊บ มันก็เหมือนโต๊ะจีนลิง คนละหนุบ คนละหนับ ซึ่งผมก็เชื่อว่าที่คนเข้ามาด่า เขาไม่ได้อ่านที่ผมเขียนหรอก หรืออาจจะอ่านแค่บางประโยค บางคนเขียนถึงขั้นว่า ไอ้พวกนี้มันจะวิจารณ์หนังไปทำไม โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ มันก็คือการวิจารณ์คนอื่นนั่นเอง เพราะฉะนั้นก็เลย โอเค…ไม่เป็นไร บทเรียนที่ผมเรียนรู้เกียวกับกรณีนี้ ซึ่งค่อนข้างครึกโครมพอสมควร คือนักวิจารณ์ยังทำงานไม่ดี ยังไม่สามารถทำให้คนเห็นว่าการวิจารณ์เป็นส่วนที่สำคัญมากๆ สำหรับการสร้างงานศิลปะ 

ส่วนที่สำคัญมากคือเรื่องของทักษะการเขียนด้วยหรือเปล่า

คือทักษะมันเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนน่ะ เพราะทุกคนก็เริ่มต้นมาจากความคิด ความเชื่อของตัวเองเป็นพื้นฐานทั้งนั้น ประเด็นก็คือ จะสื่อออกมายังไง มันก็จะเป็นเรื่องกลวิธีการนำเสนอ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องของทักษะ ถ้าเขียนออกมาทื่อๆ ตรงๆ มันก็จะหยาบคาย บางทีก็ไม่น่าอ่าน มีแต่จะยิ่งทำให้คนมีภาพลบเกี่ยวกับการวิจารณ์มากขึ้นไปอีก 

ส่วนของการวิจารณ์ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในแง่ของศิลปะโดยรวม อยากให้ขยายความตรงส่วนนี้เพิ่ม 

อันนี้แน่นอน คืองานวิจารณ์ มันเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการสร้างงานศิลปะ มันไม่ได้เป็นส่วนเกิน คือคนมักจะคิดว่าการสร้างงานศิลปะ อย่างทำหนังขึ้นมาเรื่องหนึ่ง แล้วออกฉายเผยแพร่ให้คนดูแล้วจบ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันต้องมีการสะท้อนความคิดเห็นกลับไปสู่คนทำด้วย

ผมเชื่อว่าคนทำหนังทุกคน หรือคนที่ทำงานศิลปะทุกคน หรือคนทำอะไรสักอย่างทุกคน ย่อมต้องอยากรู้ว่าเมื่อทำไปแล้วสู่สาธารณชน ปฏิกิริยาของคนที่รับรู้จากสิ่งที่เราทำคืออะไร ไม่ว่าเขาจะเชื่อหรือเปล่า เพราะผลตอบรับมันจะทำให้เราเข้าใจสังคมที่เราสื่อสารด้วยมากขึ้น เราทำหนังที่เราคิดว่าดีมากๆ แล้วสังคมไม่เข้าใจ บางทีก็ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองเหมือนกันว่าเราเข้าใจคนที่เราสื่อสารด้วยมากน้อยแค่ไหน 

มันซ้อนทับกันนิดหนึ่งตรงที่ปัจจุบันมันมีเครื่องมือที่ทำให้ใครๆ ก็เป็นนักวิจารณ์ได้?

ใช่ ยิ่งเป็นเรื่องที่ดีใหญ่เลย 

ตรงนี้ส่งผลต่อนักวิจารณ์อาชีพบ้างไหม หรือว่าไม่เกี่ยวกัน

คือผมไม่ค่อยกังวลเรื่องนี้เท่าไหร่นะ อุดมคติสำหรับผมก็คือ สังคมที่ไม่มีนักวิจารณ์อาชีพเลย ทุกคนเป็นนักวิจารณ์กันหมด นี่พูดถึงในอุดมคตินะ ไม่ได้พูดถึงการหาเลี้ยงชีพตัวเอง คือถ้าถึงยุคนั้น ถ้าเกิดสังคมที่ทุกคนมีวิจารณญาณ มี sensitivity ในการรับงานศิลปะที่ดีพอ นักวิจารณ์ก็ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นคนติดป้ายชวนชิมอีกต่อไป แล้วคนทำงานศิลปะเอง เมื่ออยู่ในสังคมที่คนมีวิจารณญาณหรือเป็นนักวิจารณ์กันหมด เขาจะกล้าทำหนังห่วยๆ ออกมาหรือครับ เพราะถ้าเขาทำออกมา แล้วคนในสังคมรับไม่ได้ เขาก็จะลงโทษหนังเหล่านั้นด้วยการไม่ไปดูมัน ก็จะกลายเป็นการทำให้หนังเรื่องนั้นเจ๊งไปโดยปริยาย 

แต่สังคมเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ยังอีกไกลมาก เพราะฉะนั้นยังต้องมีคนที่คอยทำหน้าที่นี้เป็นการจำเพาะอยู่ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าคนที่ทำหน้าที่นี้เป็นการจำเพาะทำหน้าที่ได้ดีแล้ว เพราะมันก็พิสูจน์แล้วว่าคนทำหน้าที่นี้ ยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ให้เกิดขึ้นอย่างแข็งแรง จะเห็นได้จากการด่าทอกันอย่างหยาบคาย แล้วก็ไม่สร้างสรรค์ 

ล่าสุดผมเจอคำวิจารณ์เรื่อง Transformer 4 (2014) คือทรานส์ฟอร์เมอร์เป็นหนังเลวนะ ในมติเป็นเอกฉันท์แล้ว แต่คนที่ด่าหนังทรานส์ฟอร์เมอร์บางคน ด่าถึงโคตรเหง้าศักราชคนทำเลย ซึ่งผมว่า เฮ้ย…คุณเข้าใจเรื่องการวิจารณ์ หรือขอบเขตของการวิจารณ์ผิดแล้วนะ คือคุณด่างานที่เขาทำสิครับ คุณอย่าไปด่าความเป็นยิวของเขา หรือด่าความเป็นคนนิสัยเลวทรามต่ำช้า ซึ่งมันไม่เกี่ยวอะไรกัน อาจจะเกี่ยว แต่มันไม่ใช่การไปขุดเอาโคตรเหง้า หรืออะไรต่อมิอะไรขึ้นมาลำเลิกเบิกประจาน ซึ่งผมว่ามันเห็นได้ชัดว่าคนทำงานวิจารณ์อาชีพยังทำงานได้ไม่ดีพอ เลยสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์และสถาปนาไอ้สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาอย่างกระท่อนกระแท่น 

เป็นเพราะใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐานผสมกับความก้าวร้าวอย่างนี้ด้วยหรือเปล่า

มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้นะ คือผมเองก็เป็น ในแง่เมื่อเราเริ่มต้น การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นไม้บรรทัดในการวัดคุณค่างาน แล้วเรื่องความก้าวร้าวผมก็เห็น มันเหมือนกับถ้าคุณก้าวร้าวแล้วคนสนใจ แต่ถ้าเกิดคุณสุภาพ คุณสงบเสงี่ยม คุณเก็บเนื้อเก็บตัว เจียมเนื้อเจียมตัว มันจะเรียกร้องให้คนสนใจงานคุณน้อย มันก็เลยกลายเป็นว่าทำแล้วได้ผลมากกว่า 

เรื่องความก้าวร้าว อย่างที่บอก ผมไม่เคยเขียนคำหยาบ หมายถึงคำหยาบในความหมายของคำหยาบจริงๆ แต่คำหยาบที่เขียนนัยอื่นก็ต้องเขียนอยู่แล้ว เพราะมันเป็นส่วนหนึ่ง เหมือนเป็นสีหนึ่งบนจานสี แต่จะระวังมากในเรื่องท่าทีและทัศนคติ จะไม่ให้มันโชว์เหนือ อวดอุตริมนุสธรรม หรือโชว์ความฉลาดของตัวเอง ซึ่งผมระวังมาก

แต่มีคนทำใช่ไหม คือโชว์เกินกว่าภูมิของเขาจริงๆ?

มันก็มีนะ ผมอาจจะเป็นอย่างนั้นมาก่อนก็ได้ ซึ่งก็แปลว่าคนคนนั้น เขากำลังเรียนรู้ที่จะซ่อนมันอย่างแนบเนียนมากขึ้น คือผมจะพยายามมองโลกในแง่ดีแบบนี้ หวังว่าในที่สุดแล้วคนเราจะเรียนรู้ คือเราเขียนงานวิจารณ์ เราก็ต้องอ่านงานวิจารณ์ ก็ยอมรับแหละว่าเราเอาโมเดลงานวิจารณ์มาจากฝรั่ง งานวิจารณ์ที่ผมอ่าน นักวิจารณ์ที่ผมชื่นชอบ ทั้งก็อปปี้ ทั้งขโมยคำ มันก็มาพร้อมกับทัศนคติด้วย นักวิจารณ์ที่เราชอบมันมีทัศนคติแบบเดียวกันหมดเลย เจียมตัว และไม่โชว์ความฉลาด แต่เมื่อถึงเวลาที่ฉันต้องฆ่าเธอ เธอก็อย่าอยู่อีกต่อไปเลย คือถึงบทโหดก็ต้องโหด 

ผมรู้สึกว่า หลังจากอ่านงานวิจารณ์ของนักวิจารณ์มืออาชีพจากต่างประเทศที่ผมชื่นชอบ มันก็หลอมรวมมาเป็นแนวคิดแบบคล้ายๆ กันหมด เลยทำให้รู้สึกว่า ด้วยวิจารณญาณของเราด้วย เราคิดว่านี่ก็เป็นวิธีเดียวที่จะสื่อสารกับคนอ่านได้ดี แล้วมันจะเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีกับคนอ่านและวงการศิลปะด้วย 

คล้ายๆ พอเห็นร่วมกันในหมู่นักวิจารณ์ว่า Transformer 4 เป็นหนังไม่ดี พอพูดไปแบบนี้มันเกิดกระแสต้านอะไรไหม เช่น คนที่เขาไปดูแล้วบอกว่า ตัวเลขรายรับได้เยอะขนาดนี้ แสดงว่าหนังมันต้องดี

ผมว่าข้อดีอย่างหนึ่งของเฟซบุ๊ค คือมันสั่งสอนคนในเชิงตรรกะนี้อยู่เยอะนะครับ แต่ทีนี้กระแสต้านของคนที่เห็นว่านักวิจารณ์ด่าสาดเสียเทเสีย เท่าที่เจอก็มีที่เขาไม่เห็นด้วย ก็แลกหมัดกันไป หมายถึงถ้าคุณไม่เห็นด้วย คุณก็แสดงความคิดเห็นมา อย่างกรณีเฟซบุ๊ค มันเป็นสถานที่เดียวที่คุณสามารถจะแลกหมัดได้ เพราะที่อื่นมันคือชกข้างเดียว แล้วนักวิจารณ์อาชีพทั้งหลาย มันเคยตัว คือมันชกข้างเดียวมาตลอด มันชกในหนังสือ คือกูด่าไปแล้ว เพราะฉะนั้น สมมุติถ้าคุณจะมาแก้ ไอ้ความเดือดตอนที่อ่านตอนนั้นมันเย็นไปหมดแล้ว ฉะนั้นจะเขียนไปทำไม 

ผมว่าเฟซบุ๊คมันดีตรงที่ว่า มันทำให้กระแสของการแสดงความคิดเห็นแพร่หลายมากขึ้น ทำนองว่ามึงออกความคิดเห็นได้ กูก็ออกความคิดเห็นได้ ทุกคนก็มีคนละ 2 หมัดเท่ากัน อาวุธเท่ากัน ทีนี้ในเมื่อไม่เห็นด้วยมันก็ทะเลาะกัน 

สำหรับผมเวลาเขียนวิจารณ์ไปแล้ว สมมุติผมด่าหรือตำหนิไปแล้วก็จบ ไม่เห็นด้วยก็ท้วงมา อย่างกรณี คิดถึงวิทยา ก็มีคนท้วงมา แล้วผมก็เข้าไปกดไลค์ด้วย ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขาด้วยซ้ำ แต่ผมก็เข้าไปกดไลค์ เพราะผมดีใจที่คุณประกาศจุดยืนของคุณ ทุกคนล้วนมีจุดยืนของตัวเอง แต่ถ้าจะให้ต่อล้อต่อเถียงมันไม่จบหรอก มันเหมือนกับเถียงกันเรื่องความชอบ คุณชอบสีชมพู ผมชอบสีเขียว สีเขียวมันดีกว่าสีชมพูตรงไหน แบบนี้มันก็ไม่มีทางที่คุณจะเอาชนะกันได้ 

ยกเว้น เอาเข้าจริงๆ ในทางวิจารณ์หนัง มันสามารถยกได้ว่ามีความอ่อนด้อยในการแจกแจงบุคลิกตัวละคร เหตุบังเอิญเข้ามาได้ยังไง ทำไมมันอะไรแบบนี้ มันพูดได้ มันโน้มน้าวได้ มันชักแม่น้ำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่งานวิจารณ์ก็ทำอยู่ 

บางคนจะมีความรู้สึกว่าเขารักหนังจนเขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของมัน เวลาเห็นใครวิจารณ์ในแง่ลบก็อยากจะปกป้องมัน?

ใช่ นี่เป็นเรื่องปกติ เขาพูดกันเลยว่า เวลาหนังออกฉาย แล้วคุณได้ดูมัน หนังเรื่องนั้นก็ไม่ใช่หนังของผู้กำกับอีกต่อไป แต่กลายเป็นหนังของคุณแล้วในทางจิตวิญญาณ มันคือหนังของฉัน ฉันชอบมัน ฉันรักมัน ถ้าใครจะมาแตะต้องของรักของหวงของฉัน ฉันก็ต้องปกป้อง แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า เราอยู่ในสังคมที่มีความเห็นหลากหลาย ถ้ายอมรับความเห็นต่างไม่ค่อยได้ก็ไม่ควรเข้าไปอ่าน หรือรู้สึกว่ารับไปแล้วจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ตัวเองถูกบั่นทอนสภาวะทางจิต ก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็มีคนด่าหนังที่ผมชอบมากมายมหาศาล ซึ่งในที่สุดก็ต้องเรียนรู้ว่าสังคมมันมีความหลากหลาย จะบอกว่านี่คือความงดงามของการวิจารณ์

ถ้าเป็นเรื่องของคนดู คือต้องฝึกตัวเองด้วยใช่ไหมในการยอมรับความเห็นที่ไม่เหมือนเรา

ใช่ ผมว่าโดยสามัญสำนึกของคนที่เล่นเฟซบุ๊ค ต่อให้เขาโหยหาการกดไลค์มากน้อยแค่ไหนก็ตาม ผมว่าเขาก็รู้ว่าในโลกนี้มีคนที่คิดไม่เหมือนกันมากมายมหาศาล เพียงแต่ว่าจะทนทานความไม่เห็นด้วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่มันไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเฟซบุ๊คนะ ยกเว้นว่าคุณไปเขียนอะไรที่มันกระทบ เช่น เห็นด้วยกับการข่มขืนในรถไฟอะไรแบบนั้น ถ้าคุณทำแบบนั้นก็สมควรโดน 

เหมือนกับตอนที่มีคนทำหนังเกี่ยวกับฮิตเลอร์ คือฮิตเลอร์มันก็สูตรสำเร็จมากว่า ถ้าคุณทำหนังเกี่ยวกับฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์ต้องเป็นปีศาจ ทุกคนก็รู้ว่าฮิตเลอร์เป็นปีศาจ และสิ่งที่ฮิตเลอร์ทำมันเป็นปีศาจจริงๆ แต่เฮ้ย มันมีความเป็นคนอยู่ในตัวฮิตเลอร์บ้างไหม อย่างน้อยฮิตเลอร์รักหมา แล้วหนังเรื่อง Downfall (2004) เขาก็ไม่ได้ไปเชิดชูฮิตเลอร์ ไม่ได้ไป โอ้! ฉันรักฮิตเลอร์ ไม่ได้ไปปลุกเร้าสิ่งที่เรียกว่า นีโอนาซี ขึ้นมา ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อยู่แล้ว 

แต่หนังพยายามจะบอกว่า การที่คุณเกลียดใครก็ตาม คนเรามันมี 2 ด้าน มันก็เป็นธรรมชาติในการเรียนรู้มนุษย์ ก็คือพยายามทำให้เห็นว่าฮิตเลอร์ก็มีความกดดันบางอย่าง ฮิตเลอร์ก็เป็นคนเหมือนกัน ซึ่งพอทำมาก็โดนถล่มแบบเละเทะ ผมว่ามันน่าจะเป็นกรณีเดียวกัน

หนังแต่ละเรื่องมันจะมีกรอบการมองได้หลายแบบ เหมือนมีแว่นให้เลือกหลายอัน ปกติแล้วใช้แว่นอะไรในการมองบ้าง

ผมก็ไม่ถนัดในการใช้แว่นหลายอันนะ สิ่งที่ผมใช้มากๆ คือ เรื่องของฟอร์ม มีทฤษฎีศิลปะซึ่งเป็นทฤษฎีพื้นฐานของการวิจารณ์ภาพยนตร์เลย เรียกว่า ‘รูปแบบนิยม’ (formalist criticism) คือดูการทำงานของฟอร์มเพื่อค้นหาความหมาย ฟอร์มเป็นตัวกำหนด กลั่นกรองให้เกิดความหมายขึ้น เขาใช้การตัดต่อ เพื่อจะบ่งบอกถึงความประสาทแดกของตัวละคร หรือเขาใช้การจัดแสง นี่คือเรื่องของฟอร์ม การทำงานร่วมกันของฟอร์ม เพื่อทำให้เราเข้าใจความหมายของคนทำหนัง 

ฉะนั้น คนทำหนังเองก็ต้องรู้จักการใช้ภาพ เสียง การตัดต่อ ในการสื่อสาร นี่เป็นแว่นที่ผมใช้บ่อยที่สุด และเป็นแว่นที่ง่ายที่สุดในการใช้ และก็เป็นเรื่องที่คนดูเข้าใจได้ง่ายที่สุดโดยไม่ต้องมีพื้นทางด้านสังคมวิทยา คือผมเองก็ไม่ได้วิจารณ์หนังอะไรที่มันลึกซึ้งไปกว่าสติปัญญาของตัวเองจะมี 

อาจจะมีอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องลายเซ็นของคนทำหนัง (auteur criticism) ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของการขวนขวายเฉพาะบุคคล เช่น คุณดูหนังของคนนี้บ่อยมาก คุณเห็นความถนัดของเขา เห็นกำพืดของเขา เห็นรสนิยมในการทำหนังของเขา รสนิยมทางเพศของเขา เห็นอุดมการณ์ทางการเมืองของเขา ก็ใช้สิ่งเหล่านี้มาช่วยทำให้เราเข้าใจหนังเหล่านั้นมากขึ้น เช่น นเรศวร (ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ) คนทำมีผลกับตัวหนังมาก ท่านมุ้ยเป็นเจ้า ท่านมุ้ยเป็นคนทำหนังที่ยึดอยู่กับเรียลลิสติกมากๆ อะไรอย่างนี้ ก็พยายามจะต้องรีเสิร์ช ก็เป็นสไตล์การทำงานของท่านมุ้ย 

คนทำหนังแบบมีลายเซ็นที่ชอบ นอกจาก อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก แล้ว มีใครอีกบ้าง 

วูดดี อัลเลน จริงๆ เวส แอนเดอร์สัน ก็ชอบนะ แต่การวิเคราะห์หนังด้วยลายเซ็นคนทำหนังจะค่อนข้างเหนื่อย เพราะดูหนังเรื่องเดียว แต่คุณต้องไปตามประวัติของเขา ไปตามงานเก่าๆ ของเขา แล้วส่วนที่ยากคือเชื่อมโยงงานเก่าๆ ของเขา ซึ่งบางทีคนทำหนังบางคนมันเหมือนมือปืนรับจ้าง คือมันไล่ฆ่าคนไปทั่ว ไม่มีลายเซ็น เพราะฉะนั้นมันเลยทำให้การเชื่อมโยงกลายเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ 

แต่บางคนอย่างเช่น ฮิตช์ค็อก หรือ วูดดี อัลเลน ก็เป็นคนที่ทำสิ่งที่เรียกว่าทำซ้ำตัวเอง ซึ่งก็ยากนะเวลาคุณ repeat ตัวเอง มันไม่ได้แปลว่ามันจะดีเสมอไป เพียงแต่ถ้าคุณ repeat ตัวเองจนคนยอมรับการ repeat นั้น ก็จะทำให้มันโดดเด่นขึ้นมา 

เอกลักษณ์ของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก อยู่ตรงไหน

เยอะครับ อันแรกสุดก็คือ หนังของฮิตช์ค็อกจะเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลที่มีอยู่ในตัวละคร และการแสดงภาวะทางจิตของตัวละคร อันนี้เด็ดมากคือ ด้านมืดของตัวละคร คือคุณดูฮิตช์ค็อกเหมือนคุณดูตัวเอง (หัวเราะ) จริงๆ คุณดูหนังฮิตช์ค็อกเหมือนคุณกำลังสำรวจด้านมืดของตัวเอง คือแทนที่หนังจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวละคร มันทำให้เราเห็น เฮ้ย…เราก็มีด้านนี้อยู่ในตัวเรา 

มีอยู่ฉากหนึ่งในหนังฮิตช์ค็อก ตัวละครที่เป็นผู้ร้าย แล้วคนดูก็รู้ว่าเป็นผู้ร้าย กำลังจะเอาไฟแช็คซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญไปทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ เพื่อจะปรักปรำพระเอก ปรากฏว่าระหว่างเดินไปมันทำไฟแช็คหล่นลงไปในท่อน้ำ แล้วภาพก็จับไปที่เขากำลังเอื้อมมือไปหยิบไฟแช็ค แล้วมันทำให้คนดูลุ้นว่าจะหยิบไฟแช็คได้ไหม คือมันดึงด้านมืดของเราออกมา ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าถ้ามันหยิบไฟแช็คได้มันจะปรักปรำตัวเอกที่เราชอบ แต่ว่าเรากลับมีความอยากให้เขาเอาไฟแช็คขึ้นมาให้ได้ เพราะเราอยากจะเห็น เราเอาใจช่วยผู้ร้าย ซึ่งผมมองว่านี่เป็นความฉลาดมากๆ ของหนัง 

แล้วการที่ฮิตช์ค็อกปรากฏตัวในหนังของเขาถือเป็นลายเซ็นด้วยไหม

อันนี้ไม่ค่อยเกี่ยว เขาปรากฏตัวเกือบทุกเรื่องเลยล่ะ ช่วงหลังๆ มันกลายเป็นเกมเล็กๆ ระหว่างคนดูหนังกับคนทำหนัง แต่แรกๆ ต้องปรากฏตัวเพราะว่านักแสดงสมทบไม่พอ แต่พอปรากฏตัวไปเรื่อยๆ มันเลยกลายเป็นเครื่องหมายการค้า ผมเคยอ่านเจอ เขาบอกว่า ยิ่งคุณทำแบบนี้ตอนหลังๆ คนดูหนังก็มีภารกิจอย่างหนึ่งคือต้องมองหาฮิตช์ค็อก แล้วเวลาคุณดูหนังอยู่ ตาก็จะต้องคอยสอดส่องไปด้วย มันทำให้สมาธิกับหนังเสีย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ชอบทำคือ พยายามจะปรากฏตัวให้ได้ประมาณ 5 นาทีแรก ให้มันจบๆ กันไป คือตอนหลังกลายเป็นเขาบ่นเลยว่ามันเป็นภาระ มันเป็นเรื่องยุ่งยาก จะไม่ปรากฏตัวก็ไม่ได้ เพราะว่าเดี๋ยวก็คาดหวัง มันเป็นสิ่งที่ทำมาเป็นธรรมเนียม 

มีผู้กำกับบางคนพยายามจะหนีทางของตัวเอง อย่างกรณีพี่น้อง อีธาน กับ โจเอล โคเอน กับหนังเรื่องล่าสุด Inside Llewyn Davisส (คน กีตาร์ แมว) แบบนี้เรียกว่าหนีแล้วหรือยัง    

ผมว่าเขาก็ไม่หนีนะ จริงๆ แล้ว พี่น้องโคเอนเป็นคนที่ทำให้ออเตอร์มันยาก คือถ้าเป็นแบบ วูดดี อัลเลน นี่มันของตายอยู่แล้ว คือคนที่มันทำอะไรที่มันซ้ำซากจำเจจนกลายเป็นเรื่องที่แบบ อ๋อ…เรื่องนี้นี่มันเป็นวิญญาณของเรื่องนี้นี่ เพราะฉะนั้นโคเอนจะเป็นคนที่ทำหนังมีลายเซ็น มีตัวตน การที่เขาสถาปนาภาพแบบนี้ออกมา เลยทำให้คนดูหนังเรื่องใหม่ของเขาต้องหาทางเชื่อมโยง และเรื่องล่าสุดนี่มันหนักหนาสาหัสมาก 

เพราะถ้าเทียบกับงานเก่าๆ เมื่อก่อนอาจจะง่ายหน่อย หนังของโคเอนมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการขโมยเงิน แล้วก็ความโลภที่เกิดขึ้นจากการขโมยอย่าง Fargo หรือ No Country for Old Men นั่นแหละ แต่พอเรื่องใหม่นี่ ผมดู 2 รอบนะ พอรอบ 2 มันจะเริ่มชัดเจนขึ้น แล้วมันมีเรื่องความเป็น loser ความเป็น underdog ของตัวละคร อีกเรื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงคือเรื่อง A Serious Man ซึ่งคลิกทุกอย่างที่โคเอนทำ อย่างหนึ่งที่อยู่ในหนังของโคเอนทุกเรื่องคือ ความเย้ายวน อย่างเรื่อง A Serious Man คือมันดูเย้ายวนให้ทำผิด แต่มันก็เอาชนะจนได้ จนมันกระทั่งมาตบะแตกเอาตอนสุดท้าย ตลกร้ายจนกลายเป็นลายเซ็นไง 

ไม่เคยมีความคิดอยากเป็นผู้กำกับบ้างหรือ

ไม่เคยครับ ไม่เคยมีความคิดอยากจะเป็นผู้กำกับหนังเลย เพราะว่าชอบเขียนหนังสือ ชอบอ่านหนังสือ แล้วก็รู้สึกว่าการทำสิ่งเหล่านี้มันคุมได้ มันอยู่ที่ตัวเรา ซึ่งจริงๆ แล้ว พอหลุดจากมือเราไปแล้ว ก็เจอหลายกรณีที่ วรรคตอนไม่ได้ รูปไม่ใช่ แต่ก็ถือว่ามีปัญหาน้อยมาก

เทียบกับที่ผมเคยช่วยเพื่อนทำหนังตอนเรียนหนังสืออยู่ มันยิ่งทำให้เราเห็นเลย คือเราไม่อยากทำหนังอยู่แล้ว พอได้เห็นความเป็นจริง มีแต่การแก้ปัญหา มันทำให้ยิ่งไม่มีความอยากทำหนังเข้าไปใหญ่ ผมเชื่อว่ามันมีอะไรที่คอยแต่บั่นทอนความฝันของคนทำหนัง เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่าคนทำหนังเป็นคนที่เก่งมาก ในการทำหนังออกมาให้เป็นอย่างที่ตัวเองฝันไว้ โดยที่ต้องแก้ปัญหากับความเป็นจริง ซึ่งทำทุกวิถีทางให้ความฝันของคุณล่มสลาย 

ถึงตอนนี้ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ว่า อยากให้นักวิจารณ์หนังมาลองทำหนังดูบ้าง 

อันนี้ก็เป็นตรรกะที่เราถูกเฟซบุ๊คช่วยให้ความรู้คนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็นั่นแหละครับ ต้องตอบแบบสูตรสำเร็จ ว่างานวิจารณ์มันเป็นส่วนหนึ่งของการทำหนัง แล้วการวิจารณ์มันก็คือการทำแบบหนึ่ง นักวิจารณ์จำเป็นจะต้องทำหนังได้ไหม ก็คนกินอาหารต้องทำอาหารได้ไหม ถึงจะพูดว่าอาหารนั้นอร่อย มันก็เป็นการอุปมาอุปไมยที่ชัดเจนที่สุด คือคนดูหนังเขาทำหนังให้คนดูดู คนดูหนังก็ต้องมีสิทธิ์ที่จะรู้ร้อนรู้หนาวเกี่ยวกับหนังที่คุณทำให้ผมดู การรู้ร้อนรู้หนาวมันก็คือการวิจารณ์ โห…มันตลกจังเลย มันเศร้าจังเลย มันเหี้ยอะไรวะ สมมุตินะ เหล่านี้มันคือความคิดเห็นทั้งนั้น 

ถามว่าเราพูดสิ่งเหล่านี้ได้ไหมเวลาเราดู ถ้าเราต้องทำให้ได้ก่อน เราถึงจะพูดได้ ก็คงไม่มีใครพูดได้ มันก็ต้องมีคนทำหนังเท่านั้นที่จะพูดได้ ประเด็นที่ผมอยากจะพูดต่อก็คือ คนวิจารณ์หนังเวลาจะวิจารณ์หนัง สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำ ในความเห็นของผมคือ ไม่ควรสอนคนทำ คือถ้าคุณไม่รู้จักในเชิงเทคนิค คุณไม่ควรไปพูดหรอกว่าคุณควรจะตั้งกล้องมุมนั้นมุมนี้ ผมว่าไม่ควรทำ เพราะว่าคุณไม่รู้ แต่ถ้าในฐานะที่ผมเป็นนักวิจารณ์ สิ่งที่ผมจะพูดคือในฐานะคนดูหนัง คือไม่ได้วิจารณ์ในฐานะคนทำหนัง คือนักวิจารณ์หนังที่ดี ถ้าเขาทำหนังได้ มันจะทำให้เขาแตกฉานเกี่ยวกับงานวิจารณ์มากขึ้น 

ยกตัวอย่างพี่เก้ง จิระ (มะลิกุล) คือเขาไม่ได้วิจารณ์หนังเป็นปกติ แต่ผมเคยฟังพี่เก้งคอมเมนต์หนังหลายครั้ง คือคอมเมนต์แบบคนที่รู้ 2 ด้าน ซึ่งมันให้ความสว่างมากเลยกับคนถูกคอมเมนต์ คือบอกทั้งในฐานะคนดูหนังว่าเขาดูแล้วเขาเข้าใจมันยังไง สมมุติว่าเขาคอมเมนต์ว่าหนังเรื่องนี้ต้องไม่มีการตัดต่อแน่ๆ เลย เพราะว่ามันยืดเยื้อ นึกออกใช่ไหมว่าเราไม่มีทางมองแบบนี้ได้ เพราะเราไม่เคยอยู่ในห้องตัดต่อ เราไม่เคยรู้ว่าการตัดต่อมันสร้างปาฏิหาริย์ให้หนังเรื่องหนึ่งได้ขนาดไหน เรารู้ว่าการตัดต่อมันทำงานเวลามันปรากฏอยู่บนจอ ในกรณีที่การตัดต่อมันใช้แก้ปัญหา เรามองแง่แบบนี้ไม่ออก เพราะเราไม่ได้เป็นคนทำ 

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าคนวิจารณ์หนังไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนทำหนังก็วิจารณ์ได้ แต่มันจะดีมากถ้าเกิดคุณทำหนังได้ด้วย มันจะทำให้คุณมองงานศิลปะ มองหนังได้แบบรอบด้านมากขึ้นไง ก็เลยขอฝากทุกคนว่าเลิกพูดได้แล้วว่า ‘เก่งจริงมาทำสิ’ อะไรแบบนี้ คือผมว่าสังคมเราโตกว่าที่จะวนเวียนอยู่กับตรรกะตื้นๆ อันนี้แล้ว แต่มันก็ยังมีอยู่ไง เพียงแต่เรารู้สึกว่า แม้กระทั่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับการวิจารณ์หนัง ก็ควรจะมองข้ามตรงนี้ไปได้แล้ว ว่าไปวิจารณ์เขาทำไม ทำเป็นหรือเปล่า ซึ่งมันเลยจุดนั้นมาช้านานแล้ว 

เวลาที่เราเป็นคนดูหนังพร้อมๆ กับคนวิจารณ์หนัง เราจะสามารถสนุกกับมันโดยที่สมองไม่คิดจุกจิกได้ไหม

ได้ ผมคิดว่าทุกคนทำได้หมดแหละ หมายถึง มันก็เป็นเรื่องของ sensitivity ของแต่ละคน ซึ่งอันนี้มันก็เป็นเรื่องที่อาจจะไม่ได้มีการฝึกฝนมาเท่ากัน หมายถึงความเป็นคนช่างสังเกต ซึ่งถ้าไม่มี มันทำให้มีได้ ฝึกฝนได้ ทีนี้ เวลาดู เราก็ดูเหมือนกับคนดูหนัง แต่ถ้าเราฝึกเรื่องเซนส์ มันก็เหมือนกับเรามีความถนัด มีทักษะอะไรบางอย่าง หรือทำอยู่เป็นประจำ เราก็จะรู้ว่า อ๋อ…กล้องมันทิ้งอะไรแบบนี้ หรือมีรายละเอียดแบบนี้ทิ้งไว้ แสดงว่าเดี๋ยวมันต้องมาเก็บแน่ๆ คือถ้าเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ ก็อาจจะไม่ทันสังเกต 

เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่ผมว่าฝึกฝนได้ แล้วก็ไม่ได้ต้องแยกร่างว่าตอนนี้ฉันกำลังเป็นนักวิจารณ์หนังอยู่ ตอนนี้ฉันกำลังเป็นคนดูหนัง เพราะเอาเข้าจริงๆ เราดูหนัง เราก็ดูในฐานะที่เราเป็นคนดูหนัง ซึ่งแน่นอน ก็ยอมรับว่าผมอาจจะเป็นคนที่มีต้นทุนเยอะพอสมควรตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาทำงานวิจารณ์ มันก็ทบทวนได้ ทุกคนทบทวนได้หมด ที่เราเพิ่งดูไปแล้ว มันมีอะไรน่าสนใจ จุดประสงค์มันคืออะไร เพราะจริงๆ แล้ว งานศิลปะมันต้องดูในภาพรวม ไม่สามารถจะดูเป็นส่วนๆ ได้ 

เวลาต้องเขียนวิจารณ์ ต้องดูหนังเกินหนึ่งรอบไหม

สำหรับหนังที่คู่ควรจะดูเกินหนึ่งรอบ ควรดูมาก แต่ถ้าหนังบางเรื่องเช่น Transformer หรืออะไรแบบนี้ ไม่จำเป็น 

แล้วอย่าง Step Up ภาค 5?

‘Step Down’ (หัวเราะ) ขอโทษนะ ผมเป็นคนเรียกคนแรกเลย ตอนดู Step Up ภาคแรก ผมเดินออกมาแล้วผมก็เรียกมันว่า ‘Step Down’ ผมไม่ได้ดูนะ คือเป็นหนังที่รู้อยู่แล้วว่ามันจะประมาณไหน แล้วก็มีเวลาในชีวิตเหลือน้อยแล้ว (หัวเราะ) คืออายุเยอะแล้ว ถ้าเป็นเด็ก สมัยเริ่มดูหนังใหม่ๆ ผมก็เหมือนทุกคน สามารถมาเข้าคิวยาวๆ รอดูหนังได้ สามารถจะทนดูหนังห่วยๆ ได้ แล้วก็ไม่เสียดาย 

แต่ตอนนี้เวลาดูหนังห่วย 2 ชั่วโมง เท่ากับ 2 ชั่วโมงนั้นหายไปเลยนะ เอาคืนมาไม่ได้ ซื้อกลับมาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยต้องรอบคอบ ต้องระมัดระวังนิดหนึ่งเวลาจะดูหนัง แล้วสถานการณ์ตอนนี้มันไม่ยากไงครับ เพราะเราสามารถจะหาข้อมูลมาก่อนได้ คือนักวิจารณ์ หรือนักดูหนังมันจะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือเป็นพวกจมูกไว คือรู้ว่ามีหนังอะไรดีและฉายที่ไหน ฉะนั้นมันก็พัฒนาเรื่องความเป็นคนจมูกไวเกี่ยวกับหนัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนมีได้ ฝึกฝนได้ พอมีตรงนี้ปุ๊บ มันก็เอาไปใช้ในเรื่องของการวิจารณ์ได้

ความเป็นไปได้ที่ทำให้หนังห่วยๆ สักเรื่องหนึ่งข้ามเส้นมาเป็นหนังคัลท์มีมากแค่ไหน 

คัลท์มันเป็นเรื่องของระยะเวลา มันก็เหมือนคนอกหักบนศาลาพักใจ เหมือนศาลาคนเศร้า คือคนที่ผิดหวังในหนังศิลปะทั้งหลายมาเจอกัน มาเลียแผลซึ่งกันและกัน แล้วก็มาชื่นชมหนังกากเดนทั้งหลายทั้งปวง ต้องยอมรับว่าหนังคัลท์ที่เขาชื่นชมมันคือหนังที่สอบตกในทางศิลปะเสียเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น Sharknado ไอ้พวกพายุฉลาม หรือฉลามที่ขึ้นมาบนทะเลทราย คือเขาต้องสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวอะไรบางอย่างให้กับชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเขา 

ผมมองว่าในความคัลท์ มันหลุดเลยในเรื่องของศิลปะไปแล้ว มันไม่ใช่งานศิลปะแล้ว มันเป็นเรื่องของความหมกมุ่นอะไรเป็นพิเศษ อาจจะโยงกับเรื่องของความไม่ปกติทางจิตของคนดูด้วย อันนี้พูดจริงๆ มันมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เรื่อง The Last House on the Left กับ I Spit on Your Grave นี่เป็นหนังบรมครูของหนังคัลท์ คือหนัง exploit ทั้งหลาย ที่ใช้ประโยชน์จากเซ็กส์ ความรุนแรง คือนักดูหนังกลุ่มนี้เขาไม่ได้สนใจเรื่องศิลปะ มันไม่ประเทืองปัญญานะ มันเป็นเรื่องของการตอบสนองสิ่งที่ขาดหายไปในจิตใต้สำนึกของคนดู ซึ่งเขาจะตั้งกันเป็นชุมชนของเขา ผมก็ยินดีด้วยนะ เพราะว่าอย่างน้อยเขาก็มาชื่นชมหนัง

แต่บางเรื่องก็ดูเพลินๆ กว่า Transformer ?

บางเรื่องเป็นหนังที่ถูกมองข้ามในตอนที่มันออกฉาย เพราะความที่มันทุนต่ำ เพราะมันมีงานสร้างที่ไม่ประณีต ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงๆ แล้วมันมีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ที่น่าทึ่งมาก คือก็ไม่ได้เหยียดหนังคัลท์ว่ามันแย่ไปหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่มันอาจจะโดนบดบังด้วยงบด้านโปรดักชั่นของมัน ซึ่งต่อมาพวกที่เป็นสาวกทั้งหลายของหนังเหล่านี้ ก็ทำให้หนังกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง หรือมีชีวิตที่สองไปเลย ซึ่งผมว่าก็โอเค ก็เป็นกำลังสนับสนุนที่ดีในวัฒนธรรมการดูหนัง 

ก็ยังถือว่ามันควรต้องมีอยู่ใช่ไหม

ไม่ว่าเราคิดว่าควรหรือไม่ควร มันมีโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ผมว่ามันเป็นธรรมชาติของคนดูหนัง ที่ตอนนี้มันมีความหลากหลายของคนดูหนัง ซึ่งมันเยอะมาก เดี๋ยวนี้คนไม่ได้เข้าไปดูหนังเพื่อค้นหา Citizen Kane น่ะ แต่เขาไปดูเพื่อค้นหาบางสิ่งบางอย่างที่เขาชื่นชอบ เขาสนใจ หรือเป็นแนวเฉพาะทางของเขาก็มี

เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของหนังเรื่องหนึ่งก็เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนแล้ว

ผมว่ามันกว้างขึ้นและมันหลากหลายขึ้น เมื่อก่อน แรกๆ ผมว่าจุดประสงค์การดูหนังก็เพื่อความบันเทิง ดูเพื่อสนุก เพื่อหลุดลอยไปจากโลกของความเป็นจริง ดูเพื่อทำให้เวลา 2 ชั่วโมงผ่านพ้นไปอย่างมีความสุข แต่ตอนหลังก็อย่างที่บอก คนมันหลากหลาย คนมันร้อยพ่อพันแม่ คนมันแบ็คกราวด์ต่างกัน ชนชั้นมันต่างกัน รสนิยมทั้งหลายทั้งปวงมันแตกต่างกัน ก็เลยมองหาหนังที่แตกต่างกัน

ถ้าอย่างนั้นนักวิจารณ์หนังก็ต้องมีหลายๆ แบบ ทั้งแบบมีชั้นเชิง แนบเนียน และแบบแรงๆ?

ก็มีคนที่แรง หยาบ และดี ก็มี ก็เป็นคนที่ผมชื่นชมมาก และผมก็ไม่สามารถจะทำแบบนั้นได้ อยากด่าแบบนั้นได้ อยากปากจัดแล้วดูดีแบบนั้นได้ ซึ่งผมก็มองว่ามันเป็นศิลปะแบบหนึ่ง จะบอกว่าเขาไม่ได้ใช้ทักษะ ชั้นเชิง หรือความสามารถในทางภาษา ก็ไม่ใช่ คือเขาก็ใช้ในแบบของเขา เขาก็สร้างของเขามาแบบนั้น 

เพียงแต่ในท้ายที่สุดแล้ว ท่าทีของการวิจารณ์หนัง ผมอาจจะหัวเก่าก็ได้ แต่ก็ยังเชื่อว่า ถ้าคุณเหยียบย่ำให้คนทำหนังเขาล้ม จม ตกเวทีไปเลย มันจะเรียกว่าเป็นการสร้างสรรค์ได้ยังไง ผมก็ยังเชื่อว่าการวิจารณ์ของเราควรจะต้องให้เขายืนอยู่บนเวทีได้ มีผลงานต่อไปได้ ถ้าเกิดเขายังทำอยู่ แต่คนที่ด่าแบบสาดเสียเทเสียมันก็มี แต่ผมว่าคนดูคนอ่านก็น่าจะแยกออก

*เผยแพร่ครั้งแรกใน WAY magazine vol.77 กันยายน 2557

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า