India is Back: 9 เหตุผล การผงาดคืนฟอร์มของบันเทิงภารตะ

เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์ /ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ: ฏิภัทร / เฉลิมพล ปัณณาณวาสกุล

 

เหมือนกระแสภาพยนตร์และละครอินเดียจะยูเทิร์นกลับเข้ามานั่งในใจผู้ชมเมืองไทยอีกครั้ง แต่อาจจะไม่ได้มาอย่างกระโตกกระตาก หากมาแบบนิ่งๆ ดึงติ่งตัวจริงให้ติดหนึบอยู่หน้าจอ รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้

  • การเข้ามากระชากเรตติ้งของละคร พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก

  • ร้านจำหน่ายสื่อบันเทิงภายในแบ่งพื้นที่ให้กับสื่อบันเทิงสายภารตะมากขึ้นเรื่อยๆ

  • กลุ่มคนรักหนัง/ละครอินเดียที่เกิดขึ้นไม่น้อยในโซเชียลออนไลน์และชุมชนตามเว็บไซต์ต่างๆ

  • การเพิ่มโรงฉายภาพนตร์อินเดีย จากเดิมที่มีแต่ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์เอกมัย ตอนนี้ขยายไปที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์พระราม 3 และตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อรองรับผู้ชมที่มากขึ้น

  • ละครอินเดียค่อยๆ เข้ามาเบียดผังออกอากาศในช่องทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิตอล แบบนิ่งๆ แต่ไหลลึก

และนี่คือ 9 เหตุผลที่การคืนเวทีของบันเทิงจากแดนภารตะคราวนี้ จะไม่วิ่งหายลับภูเขาไปอีกครั้ง

1. ‘มหากาพย์’ รากที่แท้

ในมุมมองของ ชาญชนะ หอมทรัพย์ อาจารย์ นักวิจารณ์ นักเขียนบทภาพยนตร์ ที่สนใจวัฒนธรรมบันเทิงอินเดีย เจ้าของชื่อในเฟซบุ๊คว่า Chanchana Khan (ชาญชนะ ‘ข่าน’)  หนังและละครอินเดียมีสองลักษณะสำคัญ หนึ่งในนั้นคือ ‘มหากาพย์’

ทั้งนี้ รากที่แท้ของหนัง/ละครอินเดียมาจากสองมหากาพย์คือ รามายณะ และ มหาภารตะ ซึ่งถือเป็น ‘ทางของการเล่าเรื่องทุกอย่าง’ ทั้งนิยาย กลอน และบทหนัง/บทละคร

ด้วยเนื้อเรื่องที่ยาวมากของสองมหากาพย์ ยกตัวอย่าง รามายณะ ที่กลายมาเป็นละครชุดรามเกียรติ์หลายเวอร์ชั่นในบ้านเรา มีบทที่ ‘ซ้อนในซ้อน’ อยู่หลายเรื่อง ศัพท์สายวรรณกรรมเรียกว่า ‘เมต้าฟิคชั่น (Metafiction)’

“อย่างเรื่อง รามยณะ พระรามกำลังเดินทางไปหาทศกัณฐ์ ระหว่างทางก็อาจแวะไปเล่าตัวละครรองแทน เช่น เรื่องของนางสีดาเมื่อชาติก่อน เรื่องของทศกัณฐ์ชาติก่อน หนุมานเป็นใคร นี่คือเรื่องเล่าระหว่างทาง คือเล่าเรื่องจากหนึ่งไปสิบก็จริง แต่รายทางมันแตกออกไปได้อีก”

และไม่ว่าจะถูกนำมาตีความใหม่กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ‘มหากาพย์’ ก็ยังกระชากเรตติ้งได้เสมอ

ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายซีรีส์ วาไรตี้ และภาพยนตร์อินเดีย ทัศนีย์ วาทินชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ซี เอนเตอร์เทนเมนท์ เอนเตอร์ไพรส์ ภายใต้ชื่อ ‘ซีหนัง’ เห็นพ้องว่า เหตุผลสำคัญคือศาสนาฮินดูซึ่งนับถือเทพเจ้าเป็นหลัก เมื่อใดก็ตามที่เทพเจ้ากลับมามีชีวิตโลดแล่น ยิ่งเพิ่มความแฟนตาซีเข้าไปอีก รีเมคกี่ครั้งก็ยังมีคนดู

“ละครจะถูกนำมาตีความใหม่ทุกครั้งที่รีเมค คือทำซ้ำจริงแต่เปลี่ยนมุมมอง”

อรุณ นารัง ผู้ช่วยผู้จัดการ ซี เอนเตอร์เทนเมนท์ เอนเตอร์ไพรส์ ฝ่าย Social Media & Content Marketing ซึ่งเป็นคนอินเดียที่เกิดในเมืองไทยและพูดไทยชัดเจน เสริมว่า

“ประวัติศาสตร์ที่เราเคยรู้มาแล้ว มี meaning สูงมาก ดูเมื่อไหร่ก็มีความรู้ขึ้นมาทุกที เหมือนคุณรู้จักแค่พระรามแต่คุณไม่รู้ story ของพระราม แต่พอดูจบเราได้รู้เรื่องใหม่ แล้วคุณรู้หรือเปล่าที่ทศกัณฑ์มาเป็นอย่างนี้เพราะผ่านอะไรมาบ้าง”

ชาญชนะ หอมทรัพย์

2. เต้น เต้น และเต้น แต่ไม่วิ่งข้ามเขาแล้วนะ

ต่อจากมหากาพย์ ลักษณะสำคัญที่สองของบันเทิงแดนภารตะคือ การเต้น ถือเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแรงมาก วิวัฒนาการเริ่มต้นจากกึ่งรำกึ่งฟ้อน มาเป็นดิสโก้ จนมาสู่การเต้นร่วมสมัยในปัจจุบัน

ว่าแต่…การเต้นในอินเดีย เริ่มมาจากไหนกันนะ

“จริงๆ มาพร้อมกับการเริ่มทำหนังที่บ้านเค้าเลยครับ แต่ถ้านับในไทย คนไทยจะคุ้นมากสุดก็ช่วงยุค ค.ศ. 1960-1970 แล้วครับ เช่นหนังเรื่อง Hamraaz หรือ รอยรักรอยมลทิน หนังเมื่อปี 1967 หรือ Yaadon Ki Baaraat (สามพี่น้อง) ปี 1973 แต่เรื่อง Hamraaz  เป็นหนังที่ฉายที่บ้านเราแล้วดังมาก เล่าเรื่องความรักระหว่างพระเอก-นางเอกไม่ถูกกันแล้วถูกจับให้หมั้นกัน” ชาญชนะพาเราย้อนมองจุดเริ่มต้นของการวิ่งเต้นรอบภูเขา

เริ่มต้นมาจากฉากเพลงก่อน ซึ่งเป็นลายเซ็นสำคัญของหนังอินเดีย

“เพลงคือชีวิต ถ้าตัดเพลงออกไปเราจะดูหนังไม่รู้เรื่อง เพราะเค้าจะถ่ายทอดเรื่องราวและปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านเพลง” ทัศนีย์ อธิบายหน้าที่ของเพลง

มีฉากเพลงก็ต้องมีฉากวิ่ง และไม่ใช่วิ่งธรรมดา แต่เป็นการวิ่งข้ามภูเขา

“ที่วิ่งเพราะว่า เขาอยากให้เห็นการเคลื่อนไหวของตัวละคร แล้วทำไมต้องวิ่งข้ามภูเขา จริงๆ คือ เขาไม่ได้ต้องการวิ่งข้ามภูเขาแต่ต้องการให้ภาพบรรยากาศที่สวย เพราะจะสามารถเห็นเลเยอร์การเข้าออกของตัวละครได้ ภูเขาคือฉากที่เหมาะสม ถ้ามีทุนเยอะก็ไปวิ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่ถ้าไม่มีก็อาจไปวิ่งแค่แคชเมียร์”

ฉากร้องเพลงในหนังอินเดียไม่ได้เล่าแค่ตามเนื้อเพลงแต่เป็นการเล่าเรื่องให้เห็นเส้นเรื่องบางอย่าง เช่น ตัวละครรักกันได้อย่างไร สมมุติว่า ก่อนฉากเพลงตัวละครทะเลาะกันอยู่ ก็ใช้ฉากเพลงช่วย พอเพลงจบตัวละครกลับมารักกันอีกแล้ว เป็นการเล่าเพื่อช่วยย่นระยะเวลา” เกร็ดความรู้จากชาญชนะ

เพลงยังทำหน้าที่เล่าเรื่องที่เล่าไม่ได้อย่าง ‘เซ็กส์’ เพราะวัฒนธรรมอินเดียดั้งเดิมไม่สามารถเล่าผ่านการ ตบ-จูบ-ข่มขืน ได้ แม้แต่การใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นก็ไม่ได้รับอนุญาต

“ก็ต้องเล่าผ่านฉากเพลง ฉากเพลงสามารถให้ตัวละครอ้อล้อกัน เพื่อให้คนดูเข้าใจเองว่าตัวละครผ่านเรื่องราวบางอย่าง ภาษาวรรณคดีก็คือ บทอัศจรรย์ จนกลายเป็นคู่รัก เซ็กซี่ที่สุดแล้วในยุคนั้น” ชาญชนะอธิบายอีกว่า “ฉะนั้นคนที่ทำหน้าที่เขียนเพลงให้หนังแต่ละเรื่องจึงสำคัญมาก ต้องอ่านบท ต้องคุยกับผู้กำกับและนักแสดง อีกคนคือผู้กำกับฉากเพลงต้องมีการคุยกันว่าต้องการอารมณ์อะไร อารมณ์แค่ไหน ขยี้ทุกๆ กี่นาที”

ถ้าใครเป็นคอหนังและละครอินเดียตัวจริงจะไม่เห็นการวิ่งข้ามเขาปรากฏในโปรดักชั่นปัจจุบัน นั่นเพราะมันเป็น ‘ลายเซ็น’ แค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่การเต้นและเพลงยังอยู่เหนียวแน่น

3. ในความยาวและคุ้ม มีความครบรส

มาตรฐานความยาวของหนังอินเดียคือสามชั่วโมง ส่วนละครอินเดียขั้นต่ำอยู่ที่ 70 ตอน ธรรมดาคือ 100 ตอน และมากที่สุดกว่า 1,000 ตอนก็มีมาแล้ว กินเวลาออกอากาศหลายปี พระนางผลัดรุ่นไปสู่รุ่นลูกและหลาน

แล้วทำไมต้องยาวขนาดนี้?

“จริงๆ หนังจะไม่ยาว เนื้อหาอยู่ที่สองชั่วโมง แต่มีเพลงเข้ามาด้วยห้าเพลง หรือราวๆ 30 นาทีเลยลากยาวไปถึงสามชั่วโมง” ชาญชนะอธิบาย ส่วนละครที่ออกอากาศกันอย่างมาราธอนนั้น ทัศนีย์เฉลยว่า ส่วนหนึ่งเพราะกระแสเรียกร้องของผู้ชม

“ถ้าเรื่องไหนติดตลาด จะมีกระแสเรียกร้องว่าไม่อยากให้จบ คือละครจบ คนไม่จบ เช่น หลังจากพระเอกนางเอกรักกัน อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้น การแต่งงานหรือลงเอยเป็นแค่การเริ่มต้น… บริษัทต่างๆ จึงเริ่มทำภาคต่อ และคนให้การตอบรับดี เรื่องไหนที่เค้าติดมากๆ ก็อยากจะดูทุกวัน เลยลากยาว ถ้าเรื่องสนุกจริงๆ มีเป็นพันตอนเลย  6-7 ปีถึงจะจบ” ช่วงหลังละครอินเดียไปตีตลาดหลายประเทศจึงปรับให้สั้นลง ความยาวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 ตอน

ในความยาว มีความ ‘คุ้ม’ ที่ผู้ชมอินเดียชอบในฐานะมหรสพ และในความคุ้มมีความ ‘ครบรส’ ซ่อนอยู่อีกที

‘มาซาลาฟิล์ม’ คือชื่อเรียกประเภทของหนังครบรส

“มาซาลาฟิล์ม มาจากแกงมาซาลา เป็นแกงพื้นเมืองที่ใส่ไก่ชุปแป้งทอด ข่า พริก เนย เป็นแกงที่รวมรสชาติความมัน เผ็ด เข็ม หวาน เอาไว้ด้วยกัน หนังรักแต่มีบู๊ หนังบู๊แต่มีรัก นี่คือตระกูลหนังอินเดีย” ชาญชนะอธิบาย

4. เหมือนได้กลับไปกินมัสมั่นถ้วยเก่า

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ หนัง/ละครอินเดียวิ่งข้ามเขาแล้วหายวับไปจากบ้านเราอยู่เกือบ 20 ปี ก่อนจะกลับมาเรียกเรตติ้งอีกครั้งไม่นานมานี้

“ช่วงบูมของหนังอินเดีย คือ ประมาณปี 2490-2520  (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) หนังต่างประเทศที่เข้ามาทำเงินในบ้านเรามากๆ คือหนังฝรั่ง หนังจีนและหนังอินเดีย ถ้าจัดอันดับแล้ว หนังอินเดียอาจจัดอันดับได้ดีกว่าหนังจีนด้วยซ้ำไป เพราะมันครบรสทุกอย่าง ช่วงนั้นมีวัฒนธรรมหนังกลางแปลง หนังประเทศไหนบันเทิงที่สุดก็ได้ฉาย ซึ่งก็คือหนังอินเดีย รองลงมาคือ หนังบู๊ไทย สมบัติ-อรัญญา รองลงมาคือหนังจีนกำลังภายใน สมัยที่ตลาดภาพยนตร์ไทยยังไม่ผูกขาด ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองก็มีแต่โรงหนังสแตนด์อโลนที่เจ้าของโรงจะเป็นคนเลือกหนังเอง”

ชาญชนะเล่าต่อว่า พอหมดยุคทั้งหนังกลางแปลงและโรงหนังสแตนด์อโลน สิทธิ์การเลือกหนังไม่ได้อยู่กับคนที่มีรสนิยมหลากหลายอีกต่อไป แต่ไปอยู่กับคนที่มีรสนิยมเพียงแบบเดียว – เจ้าของโรงหนังปัจจุบัน

“หนังอินเดียจึงถูกตัดออกจากชอยส์ไป เพราะคิดว่า หนังฮอลลีวูด ลงทุนแพงกว่า โปรดักชั่นดีกว่า ก็เลือกดูอันนี้ดีกว่า ประกอบกับกระแสหนังจากชาติอื่นเริ่มเข้ามาเรื่อยๆ อย่างหนังฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น สลับกันไป อินเดียก็ถูกลบเลือนหายไป และไม่มีใครกล้าเอามาฉายเพราะไม่เชื่อว่าจะมีคนดู”

ส่วนมุมมองของผู้จัดจำหน่ายอย่างทัศนีย์  ผู้ชมไทยจำนวนไม่น้อยคิดว่าบันเทิงอินเดียล้าสมัยเพราะการแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองอย่าง ส่าหรี หรือการนุ่งผ้าโรตี ที่ยังเป็นแบรนด์และภาพจำมาจนปัจจุบัน

แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้หนังและละครอินเดียคืนสังเวียนอีกรอบคือ ‘รสชาติที่คุ้นเคย’ ชาญชนะให้เหตุผลว่า

“คนไทยชอบดราม่า หนังญี่ปุ่นไม่ได้ทำงานกับคนไทยขนาดนั้น ฮ่องกงล่มแล้ว หนังจีนอาจไม่ถูกรสคนไทย เกาหลีก็ดังเป็นเรื่องๆ หรือแม้แต่หนังฮอลลีวูดเอง ถามว่าถ้าคนไทยสักคนกินแฮมเบอร์เกอร์ทุกมื้อเจ็ดวัน คุณว่าเขาจะกินได้มั้ย เบื่อตายเลย ประเด็นคือ มันไม่ใช่รสบ้านเรา แต่อินเดียเขายังกินข้าวเหมือนเรา กินแกงเหมือนเรา แค่รากฐานอาหารก็มาจากรากเดียวกันแล้ว กินเผ็ดก็กินเหมือนกัน เลยกลับมาได้ไม่ยาก”

โดยเฉพาะการกลับมาของละครรสชาติครบรสที่คุ้นเคย เหมือนได้กินแกงมัสมั่นถ้วยเก่า มันก็เลยจุดติดไม่ยาก

“เขายังเล่าเรื่องแบบยุคที่เราดูปริศนาสมัยหมิว-ลลิตาเล่นอยู่ แต่สนุกกว่า บ้านเราไม่ได้ทำละครใสซื่อบริสุทธิ์ และมีดราม่าเข้มข้น พระเอก ผู้ร้าย ขาว-ดำชัดเจน เราไม่ทำอะไรแบบนั้นอีกแล้ว มันเลยทำให้มีคนบางกลุ่มรู้สึกโหยหา โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านอายุ 40 ปีขึ้นไป” ชาญชนะเปรียบเทียบรสชาติว่าเหมือนผลงานระเบิดภูเขาเผากระท่อมของ ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ ที่เราคุ้นเคยและรสยังติดปาก มาทีไรก็กระชากเรตติ้งทุกที

5. ‘ขยี้’ อย่างคุ้นเคย

ในความมัสมั่นถ้วยเก่านั้น ทีเด็ดของมันคือการ ‘ขยี้’ ปางตายแทบจะทุกตอน (อันนี้เฉพาะติ่งละคร)  

“ด้วยความที่เราเป็นคนไทยอาจจะเข้าใจหนังอินเดียมากกว่าชาติอื่น เพราะว่า ภาษาภาพ การเร้าอารมณ์ หรือรูปแบบละคร ค่อนข้างคล้ายคลึงกับบ้านเรา เลยตอบได้ว่าทำไมละครอินเดียถึงดังในไทย นั่นคือการขยี้อารมณ์ อินเดียไม่กลัว เขาขยี้ไปจนสุด ถ้าฉากนี้ทำให้คนดูร้องไห้ ก็จะเอาให้ร้องไห้จนน้ำตาแตก”

ชาญชนะเล่าต่อว่า

แต่หลังๆ คนไทยจะรู้สึกว่าขยี้มากไม่ได้ กลัวจะอี๋  ถึงอย่างนั้น ละครไทยที่ขยี้มากๆ ในยุคหลัง คือ แรงเงา ดังมาก แต่พอละครที่พยายามจะจริงจัง realistic ขึ้นมาหน่อย ก็จะไม่ทำงานกับคนไทยในวงกว้างมาก หรือแม้แต่ ฮอร์โมนฯ ก็ยังเป็นละครขยี้ แค่เปลี่ยนอายุช่วงวัยนักแสดง ดังนั้นในแง่ของอารมณ์หรือการเล่าด้วยภาพ อินเดียกับไทยจึงไม่ค่อยต่างกัน”

แม้บางครั้งละครอินเดียจะถูกมองว่า “จะเล่นใหญ่ไปไหน” ก็ตาม

“ผมมองว่า ในความไม่สมจริงของอินเดีย ทุกอย่างจริงจังหมดเลย ตัวละครเล่นให้รู้สึกเหมือนจริง ภาพถ่ายออกมาอย่างสมจริง ถึงเค้า (อินเดีย) จะจูงเราเข้าไปดูยังที่เดิมๆ ที่เคยเจอ แต่ใหม่กว่า สดกว่า แต่เขาทำให้มันน่าสนใจกว่าเดิม”

ด้านงานภาพ ชาญชนะอธิบายต่อว่า ภาพในละครอินเดียถูกดีไซน์มาเพื่อให้คุ้นชินกับคนดูมากที่สุด ทั้งจังหวะซูม จังหวะขยี้ จังหวะตัดต่อ ทั้งหมดถูกผลิตมาเพื่อเร้าอารมณ์ ธรรมชาติมนุษย์พอเจอสิ่งที่เร้าอารมณ์แบบนี้ ผลลัพธ์ก็คือ ติดแน่นอน

สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ‘ประเด็นครอบครัว’ ที่เป็นธีมหลักของละครแทบทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องชนชั้นวรรณะแต่มีความรักเข้ามาเป็นตัวแปร ฯลฯ ประเทศไทยที่มีช่องว่างและความเหลื่อมล้ำเยอะ จึงจุดติดได้ไม่ยาก

นอกจากนั้น รสหนึ่งที่ห่างหายจากละครไทยไปนาน แต่มีอย่างสม่ำเสมอในละครอินเดียคือ ‘ความแฟนตาซี’

“เขามีความเหนือจริง แฟนตาซี โดยเฉพาะเมื่อเอามาผนวกกับประวัติศาสตร์มหากาพย์ จึงกลายมาเป็นจุดแข็งของอินเดียที่ไทยไม่มี ทั้งที่บางครั้งเราเองก็ต้องการความแฟนตาซีเพื่อหนีไปจากโลกแห่งความเป็นจริง” ทัศนีย์เปรียบเทียบ

ทัศนีย์ วาทินชัย และ อรุณ นารัง

6. ยอมใจในความทุ่มทุนสร้าง

อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย แบ่งได้ 3 หมวดใหญ่ๆ เรียกตามชื่อย่อของแต่ละเมือง คือ บอลลีวูด (ภาคกลาง-ใช้ภาษาฮินดี) ทอลลีวูด (ภาคใต้-ใช้ภาษาเตลูกู) และ กอลลีวูด (ภาคใต้-ใช้ภาษาทมิฬ) ซึ่งทั้ง 3 วงการนี้ทำหนังคนละรสชาติกัน

“รวมๆ อินเดียทำหนังเองเฉลี่ยปีละ 200-300 เรื่อง เพื่อรองรับคนดูพันล้านคน มันเลยทำให้อุตสาหกรรมหนังบ้านเขาเฟื่องฟู ทั้งในแง่รายได้และโปรดักชั่น ลองนึกภาพประชากรอินเดีย สมมุติมี 50 เมืองและทุกเมืองมีประชากรเท่ากรุงเทพฯ หมายความว่า แค่ทำหนังขายในรัฐตัวเอง ก็สามารถทำรายได้ในระดับเท่ากับเรื่อง พี่มากพระโขนง ซึ่งสามารถทำเงินในกรุงเทพฯได้ 500 ล้านบาท” ชาญชนะยกตัวอย่าง

ในแง่ปริมาณผู้ชม ชุมชนอินเดียในต่างประเทศถือว่าใหญ่พอๆ กับจีน ยิ่งไปกว่านั้นสังคมหรือชุมชนอินเดียในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกามีภาพลักษณ์ต่อคนในชนชาติดีกว่าจีน อาชีพตัวละครคนอินเดียในหนังฮอลลีวูดมักจะเกี่ยวข้องกับแพทย์ เมื่อสถานะทางสังคมต่างกัน บทบาททางสังคมก็ต่างกันเช่นกัน

“จึงส่งผลต่ออิทธิพลของหนังที่ไปฉายต่างประเทศ เราจึงเห็นว่าหนังอินเดียได้ขึ้น Box Office ของฮอลลีวูดอยู่เรื่อยๆ คือไม่ได้ขึ้นไปอันดับหนึ่งหรือสอง แต่ติด Top Ten ตลอด หนังอินเดียก็จะอยู่ราวๆ อันดับ 7-8 ถ้าวัดหัวคนดูต่อโรง หนังอินเดียน่าจะมีคนดูแน่นกว่าหนัง Blockbuster ฮอลลีวูดด้วยซ้ำ จึงเป็นคำตอบให้กับคำถามที่ว่าทำไมอุตสาหกรรมหนังบ้านเขาเข้มแข็ง เพราะแต่ละจังหวัดแข็งแรงจนทำหนังของตัวเองออกมาได้”

7. รักที่ตัวบุคคล

ปัจจัยสำคัญในการเลือกหนัง/ละครเข้ามาออกอากาศบ้านเรา ทัศนีย์บอกว่าดูที่เรตติ้งที่อินเดียเป็นอันดับ 1

ส่วนอันดับ 2 คือ ดารานักแสดง

“คนไทยชอบคิดว่าพระเอกอินเดียไม่หล่อ ตัวดำ นางเอกก็อ้วน เราจึงพยายามเลือกเรื่องที่พระเอกนางเอกสวยหล่อเข้ามา สวยหล่อแบบไหนก็มีข้อกังขาอีก พระเอกอินเดียที่บ้านเราชอบจะไม่ดูอินเดีย แต่จะค่อนไปทางตะวันออกกลางมากกว่า ส่วนหล่อแบบอินเดียจริงๆ คือ คมเข้ม มีเครา ผิวไม่ขาว บ้านเราไม่ค่อยชอบ (ยิ้ม)”

ทัศนีย์ให้ข้อมูลว่า กลุ่มผู้ชมหลักคือ ผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป กลุ่มแม่บ้านถือเป็นกำลังสำคัญ

และมีไม่น้อยที่เลือกดูเพราะ ‘คน’ มากกว่า ‘เนื้อเรื่อง’

“เรามักจะชอบเป็นตัวบุคคล เราไม่สนหรอกว่า นักแสดงคนนี้เล่นเป็นตัวอะไร เราดูเพราะเราอยากดูนักแสดงคนนี้ เป็นสิ่งที่คนไทยติด อาจพูดก็ได้ว่ามันคือ ลัทธิตัวบุคคล หมายถึง คนไทยเกิดมากับการยึดเหนี่ยวตัวบุคคลมากกว่าสถาบัน ซึมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เช่น เราไปเรียนติวเตอร์ เขาก็ขายความเป็นตัวบุคคล เราเลือกเพราะอาจารย์สอนสนุก ทุกหน่วยในสังคมไทยถูกยึดโยงอยู่กับการบูชาตัวบุคคลหมดเลย” มุมมองชวนถกเถียงของชาญชนะ

8. ยิ่ง rare ยิ่งอยากดู

ต่างจากซีรีส์เกาหลีหรือญี่ปุ่น ที่มีช่องทางให้ดูย้อนหลังหลากหลายทั้งบนดินและใต้ดิน แต่ละครอินเดีย เว็บท่าสำหรับดูย้อนหลังก็มีแต่ยัง rare item มากๆ วิธีดู ณ ตอนนี้ คือ 1. ดูตามวันเวลาที่ออกอากาศ 2. ดูรีรันตามเวลาที่ช่องกำหนด และ 3. ซื้อแผ่นดีวีดีเอา

“เรายังติดปัญหาลิขสิทธิ์หลายอย่าง ตอนนี้เรายังไม่มีความพร้อมต่อการให้ดูย้อนหลัง”

ถ้าพลาดจริงๆ ทำอย่างไร คำแนะนำจากทัศนีย์คือ

“เรามีเวลารีรัน อยู่ที่ไหนก็ดูผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ แทบเล็ตต่างๆ ได้ค่ะ”

กูร์มีท โชด์ฮารี

และ 9. โอปป้าหลบไป ‘ไบยา’ กำลังมา

ภาษาเกาหลีเราเรียกนักแสดงชาย(พระเอก) วัยผู้ใหญ่ว่าโอปป้า ฝั่งอินเดียก็มี ‘พี่ชาย’ เหมือนกัน เรียกกันสั้นๆ สองพยางค์ว่า ไบยา

“ชื่อ กูร์มีท โชด์ฮารี โชฮารี พระเอกเรื่องขอรักอีกสักครั้ง หน้าตาออกเข้มๆ ดูไม่เหมือนอินเดีย ออกไปทางแขกขาวมากกว่าค่ะ คนนี้เราได้รับกระแสจากผู้ชม ขอให้จัดมีทแอนด์กรี๊ดพระเอกคนนี้ ซึ่งเราคิดว่าจะจัดให้เร็วๆ นี้ค่ะ” ทัศนีย์ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม


ชวนดูหนังอินเดีย 5 เรื่อง

สำหรับคนที่สนใจอยากเริ่มต้นดูหนังอินเดียที่แท้ ชาญชนะแนะนำหนัง 5 เรื่องนี้

Sholay (1975)

“เป็นหนังแห่งชาติของอินเดีย ถ้าพูดหนังอินเดียก็ควรพูดถึงเรื่องนี้ ว่ากันว่าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อินเดียมี 2 ช่วง คือ ช่วงก่อน Sholay และหลัง Sholay เป็นหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบ้านเขา เป็นตัวอย่างที่ดีของมาซาลาและเป็นตัวอย่างที่ดีว่า หนังอินเดียกับไทยมันใกล้เคียงกันแค่ไหน

เรื่องราวของหนังคือ พระเอกเป็นโจรแต่ต้องตามล่าจับโจรด้วยกันเอง เพราะตำรวจเชื่อว่า ถ้าจะจับโจรได้ก็ต้องใช้โจรจับ พล็อตสุดคลาสสิกเลย เป็นหนังอินเดียที่ทำรายได้มหาศาลในบ้านเรา และเป็นหนังที่ทำให้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรารู้จักหนังอินเดีย”

Dilwale Dulhania Le Jayenge (1995)

“เรื่องนี้ฉายต่อเนื่องยาวนานที่สุดในอินเดีย ฉายกันต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปี เป็นหนังที่พูดถึงความรักระหว่างพระเอกนางเอกไม่ลงรอยกันเพราะฐานะครอบครัว พูดถึงครอบครัวอินเดียยุคใหม่ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนเดิมแต่เป็นครอบครัวขนาดเล็ก แต่ว่ามีเรื่องของชนชั้นวรรณะ เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า มันเลยถูกใจคนอินเดีย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่”

Singham (2011)

“เป็นหนังเหมือนยุคสมบัติ เมทะนี แต่ทำถึงทั้งอารมณ์และแอ็คชั่น เล่าเรื่องว่าพระเอกเป็นตำรวจตัวเล็กๆ ต้องสู้กับมาเฟียจากเมืองใหญ่ ที่สามารถซื้อนักการเมือง ซื้อตำรวจได้ เล่าให้เห็นระบบมาเฟียของอินเดีย ตัวร้ายฟอกตัวเองให้เป็นคนดีด้วยการเป็นพราหมณ์ และทำให้เรื่องผิดกฎหมายเป็นถูกกฎหมาย อยากให้ดู เพราะหนังระเบิดภูเขาเผากระท่อม ยังมีที่ทางอยู่ได้ ชาวบ้านต้องการดูหนังที่พระเอกสามารถเอาชนะผู้ร้ายได้”

Baahubali: The Beginning (2015)

Baahubali 2: The Conclusion (2017)

“ดูทั้ง 2 ภาคเลยครับ เป็นหนังเล่าเรื่องแบบละครจักรๆ วงศ์ๆ บ้านเรา เล่าเรื่องสองรุ่น คือรุ่นพระเอกกับพ่อพระเอก พ่อพระเอกถูกคนสนิทตัวเองฆ่า เขามีความเชื่อเรื่องกลับชาติมาเกิด จึงกลับมาเกิดเป็นลูกตัวเองที่หน้าตาเหมือนกันแล้วมาทวงราชบังลังก์คืน เป็นสูตรหนังจักรๆ วงศ์ๆ ที่สำคัญคือ หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังมาจากบอลลีวูด แต่มาจากเตลูกู ซึ่งเป็นการบอกว่า อุตสาหกรรมหนังไม่จำเป็นต้องรับมาจากส่วนกลางอย่างเดียว แต่ทุนสร้างเขาสูงมาก”

Bajrangi Bhaijaan (2015)

“ชื่อหนังเป็นการผสมคำระหว่างภาษาฮินดีกับภาษาปากีสถาน แค่ชื่อหนังที่ผสมคำจากประเทศที่มีความขัดแย้งกันก็น่าดูแล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับพระเอกนับถือหนุมานเป็นเทพองค์หนึ่งและเชื่อว่าการนับถือหนุมานต้องพูดตรง พูดความจริง ห้ามโกหก แล้วเจอเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นใบ้พลัดหลงกับแม่มาจากปากีสถาน แล้วพระเอกต้องพาเด็กกลับบ้านที่ปากีสถาน เพราะเขาเชื่อว่า เขาเป็นหนุมาน เป็นหนังที่ตอบโจทย์ได้ว่า รากของรามายณะในอินเดียเป็นอย่างไร เรื่องนี้อธิบายได้แล้วจะเข้าใจเพิ่มมากขึ้น”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า