สปีติ: แม่น้ำสีไจ (2)   

ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

 

(ตอนที่ 1)

ตอนที่ 2

แสงแรกในอินเดียแยงตาที่ Divine Star Dhaba Raipur จุดพักรถบริการอาหารและเครื่องดื่มในเมืองทางผ่านชื่อ Nilokheri จังหวัด Karnal รัฐ Haryana พาที-ชายชาวอินเดียผู้ขับรถแวนขออนุญาตหลับสักชั่วโมง หลังพาเราฝ่าดงสิบล้ออินเดียพ้นซูเปอร์ไฮเวย์ (ข้าพเจ้าสะกดชื่อเขาตามอารมณ์ขันของอาจารย์เมย์-ชนกพร พัวพัฒนกุล นักภาษาศาสตร์ ผู้เห็นความเชื่อมโยงของรากและใบในภาษาที่ใช้ในอินเดียและไทย เธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมชะตากรรมบนจักรยานใน Spiti Valley)

ที่นี่เป็นจุดแรกที่เราได้เข้าใกล้อีกหนึ่งหัวใจของหิมาจัลประเทศ นั่นคือ ‘ไจ’

หัวใจซึ่งอยู่สะเปะสะปะตามรายทาง

Masala Chai หรือ มาซาลา จาย คือชาใส่เครื่องเทศ มาซาลาเป็นหัวใจของอาหารอินเดีย คำ ‘มาซาลา’ หมายถึง ‘เครื่องเทศผสม’ ส่วน ‘จาย’ คือ ‘ชา’ ฟังคนพื้นถิ่นออกเสียงข้าพเจ้าจับสำเนียงว่า ‘ไจ’ จึงเมินหลักการถอดเสียงจากอังกฤษเป็นไทย เพราะ ‘ไจ’ ฟังไพเราะกว่า ‘ชาย’ หรือ ‘จาย’

(แน่นอน ‘ไจ’ คือส่วนหนึ่งในชื่อเรื่องชุดนี้ ริอ่านตั้งชื่อว่า สปีติ: แม่น้ำสีไจ ก็ต้องดีเฟนด์ให้ไจหน่อย)

ไจมากกว่ายี่สิบแก้วภายใน 15 วันในหิมาจัลประเทศ ทั้งจากลิ้นสัมผัสและถามผู้รู้ ไจเหล่านี้บอกข้าพเจ้าว่า บางร้านในพื้นถิ่นต่างๆ ใส่เครื่องเทศแตกต่างกันไป แต่เฟรมเวิร์คการใส่จะมีขิง ใบกระวาน พริกไทยดำ อบเชย ยี่หร่า กานพูล สีของไจน้ำตาลซีดแต่ขุ่น ความคาดหวังก่อนดื่มคิดว่าคงหนีไม่พ้น ‘แตซูซู’ ชาใส่นมที่ชาวมุสลิมแถบภาคใต้ประเทศไทยนิยมดื่ม แต่แรกรสที่ลิ้นสัมผัสกลับหวานน้อยกว่าแตซูซู ความเผ็ดเล็กๆ ในไจกำจายบนปุ่มรับรส เครื่องเทศชนิดต่างๆ ทยอยรายงานตัว สำหรับข้าพเจ้า ไจหลายแก้วในหลายเมืองขิงนำโด่งสำแดงตัวตนชัดที่สุด ส่วนเครื่องเทศชนิดอื่นข้าพเจ้าอาจต้องสะสมเพดานความลิ้นมากกว่านี้

 

มาซาลา จาย ในร้านเมืองท่านผ่านในเขตจังหวัดราอูล สปิติ
เราจะพบกลิ่นอายของทิเบต รูปขององค์ดาไลลามะ ที่ 14, ภาพถ่ายเมืองลาซา เมืองหลวงของประเทศทิเบต แขวนบนผนังร้านค้าในจังหวัดราอูล สปิติ แทบทุกร้าน

 

ผู้คนในหิมาจัลประเทศ นิยมสูบ Beedi ระหว่างจิบไจ ข้าพเจ้าคิดถึงผู้คนทางภาคใต้ที่เคยจิบแตซูซูสูบบุหรี่ใบจากหลังพวกเขาเสร็จงานจากสวนยางพารา

Beedi คือ บุหรี่พื้นเมืองชาวอินเดียนิยมสูบ บีดิเรียกร้องความสนใจตั้งแต่แพ็คเกจจิ้งและวิธีมวนขาย ถ้าเป็นใบจากและใบยาสูบในประเทศไทยจะขายแยก ผู้สูบต้องใช้ศิลปะการมวน เรียกได้ว่านักสูบบ้านเราเป็นผู้พันกันถ้วนหน้า แต่บีดิจำหน่ายแบบสำเร็จรูป เกล็ดแข็งๆ ของใบยาสูบถูกมวนห่อด้วยใบไม้ที่ชาวฮินดูเรียกว่า Abnus เรียกกันในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros Melanoxylon ตรงก้นมวนมีเชือกสีเขียวหรือไม่ก็แดงมัดบีดิไว้ให้เป็นมวนพร้อมบริโภค

(ข้าพเจ้าหิ้วบีดิมาฝากบรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ WAY และพนักงานรักษาความปลอดภัยหน้าอพาร์ตเมนต์ ทั้งสองต่างหัวเราะให้กับแพ็คเกจจิ้งของบีดิ “เขาห่อกันมาอย่างนี้เลยเหรอ” ทั้งสองอุทานแทบจะเป็นประโยคเดียวกัน)

บีดิประมาณสิบมวนถูกห่อด้วยกระดาษพิมพ์ลายตามแต่แรงดาลใจนักออกแบบ เช่น พระพิคฆเนศ, บุรุษอินเดียมีหนวด ฯลฯ พื้นที่มากเปอร์เซ็นต์คือภาพสาธยายโรคภัยจากบุหรี่ ราคาห่อละ 10 รูปี รสชาติจะออกเปรี้ยวๆ เฝื่อนๆ เล็กน้อย กลิ่นนั้นสุภาพกว่าบุหรี่ก้นกรองราวอยู่คนละวรรณะ

เนื่องจากราคาไม่แพง บีดิเป็นที่นิยมในหมู่สโมกเกอร์ชาวอินเดีย ก้นบุหรี่สีเปลือกไม้ซีดเกลื่อนพื้นหิมาจัลประเทศ เหมือนก้นบุหรี่ใบจากในมหาวิทยาลัยรามคำแหง บีดิคือประเภทบุหรี่ที่ชาวอินเดียบริโภคถึง 48 เปอร์เซ็นต์ มันมีศักยภาพส่งมอบมะเร็งให้ผู้สูบมากกว่าบุหรี่ประเภทอื่น

 

Beedi บุหรี่ท้องถิ่นในอินเดีย

 

เช้าวันนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้ลิ้มรสไจและบีดิ มันคือวันแรกที่เราออกเดินทางจากนิวเดลี สะลึมสะลือขึ้นมาในเช้าแปลกหน้าที่สถานพักรถเมือง Nilokheri พบกับนักบวชมหายานเดินท่องมนต์ระหว่างยืดเส้นยืดสายคลายเมื่อยจากการเดินทาง อินเดียตื่นแล้วที่ถนนทางหลวงมุ่งสู่หิมาจัลประเทศ คนทำการค้า, โรงงานฝ้าย, เด็กๆ เริ่มออกจากบ้าน, ชายหนุ่มขี่จักยานหญิงสาวซ้อนท้าย, วัวนอนหมอบไม่ไกลจากเจ้าของ, ริคชอว์รับผู้โดยสารสัญจรบนถนน (ริคชอว์คือรถสามล้อเครื่องสีเหลือง-เขียว), คนส่งนมแพะคานถังอลูมิเนียมท้ายมอเตอร์ไซค์หรือไม่ก็จักรยาน ลักษณะบ้านเรือนของคนที่นี่เป็นทรงเหลี่ยม เหมือนบ้านสร้างไม่เสร็จ เปลือยอิฐเปลือยปูนแบบสัจจะวัสดุ

กาแฟดำไม่นมไม่น้ำตาลคือความเคยชินที่ถือครองเคร่งครัด มันคือกำแพงที่ก่อขึ้นขวางเรากับวัฒนธรรมอื่น เราขังตัวเองในแบล็คคอฟฟี โนมิลค์ โนชูการ์ ขึ้นรถมุ่งหน้าเข้าหิมาจัลประเทศ

สองข้างทางที่เคลื่อนผ่าน ต้นกัญชาดารดาษบนดินข้างถนน มันขึ้นราวดอกหญ้าริมทางหลวงประเทศไทย อินเดียไม่อนุญาตให้การสูบกัญชาเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่พืชล้มลุกชนิดนี้ก็ถือกำเนิดตามรายทางอย่างเริงร่าแม้กฎหมายจะทำหน้าบึ้งตึงใส่

เหมซ์ บัณฑิต (ชายผู้จะเข้ามามีส่วนสำคัญต่อเรื่องของเราในตอนถัดๆ ไป เขาเป็นคนขับรถนำทางอีกคนใน Spiti Valley) ให้ข้อมูลเชิงสถิติ ผู้ชายกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในหิมาจัลประเทศ ล้วนแต่สูบกัญชา แน่นอนว่าพี่เหมซ์ของเราให้ข้อมูลระหว่างสูบกัญชายัดไส้บีดิ ซ่อนดวงตาไว้ใต้แว่นกันแดดทรง aviator

(เหมซ์เป็นหนุ่มรูปงามวัย 24 สวมแว่นกันแดดทรง aviator เขาเป็นผู้ทำให้ทุกโขดหินใน สปิติ วัลเลย์ กลายเป็นพร็อพเสริมความสง่างามของร่างกาย และทำให้ อนุชิต นิ่มตลุง ต้องผันตัวมาถ่ายภาพให้เพื่อนของเขาในทุกระยะทางที่เราผ่าน หากเหมซ์ต้องการรูปดีๆ เก็บไว้ในสมาร์ทโฟน ข้าพเจ้าสาบานว่า จะเขียนถึงเขาอีกครั้ง)

ข้าพเจ้าอ่านพบข้อมูลน่ารื่นรมย์ก่อนเดินทาง หมู่บ้านคาลปา (ที่เราจะเดินทางไปถึงในเวลาประมาณตีสองของเช้าวันที่ 3 กรกฎาคม) “เดิมมีชื่อว่า ชินี ตามตำนานกล่าวว่า เมืองชินีเปรียบเสมือนพระราชวังฤดูหนาวขององค์พระศิวะ ในฤดูหนาวพระองค์จะเสด็จจากหิมาลัย มาประทับที่นี่และเสพกัญชาอย่างมีความสุข” (ข้อมูลบอกอย่างชัดแจ้งว่า “อย่างมีความสุข”)

เมื่อได้ข้อมูลดังนี้ ข้าพเจ้าขุดเอาความรู้เดิมที่เคยสะสมออกมาวิเคราะห์ทันที ทำไมต้นกัญชาจึงขึ้นเยอะมากในพื้นที่แถบนี้? (ถ้าย้อนกลับไปช่วงขบวนการฮิปปี้ ก็คงคลายสงสัยได้ถึงต้นกัญชาบนดินแดนนี้ มันเป็นดินแดนปลายทางของผู้เสาะแสวงหาทางจิตวิญญาณ) ทำไมผู้คนจึงสร้างความเชื่อปรัมปราขึ้นมาว่า พระศิวะเสด็จมาสูบกัญชาในดินแดนแถบนี้?

พื้นที่แถบนี้อยู่เหนือระดับน้ำทะเลมาก กัญชาทำให้ความดันของผู้ใช้ต่ำ เมื่อร่างกายขึ้นที่สูง ร่างกายจะต้องการออกซิเจนมาก ทำให้ความดันสูง บวกลบคูณหารแล้ว ข้าพเจ้าก็เดา (อีกแล้ว) ว่า กัญชาช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายปรับตัวได้ ในภูมิประเทศแบบนี้?!

 

เราจะพบเห็นสวนแอปเปิลเป็นระยะในรัฐหิมาจัลประเทศ เป้นสินค้าขึ้นชื่อของที่นี่
แน่นอนที่สุด เราจะพบต้นกัญชาเต็มเมืองอินเดีย

 

ต้นกัญชาที่เห็นเกลื่อนบ้านเมืองอินเดีย กูรูหลายท่านฟันธงว่า มันคือกัญชาเพศชาย ความเคลิบเคลิ้มของกัญชาเกิดจากสาร THC ในดอกของต้นเพศเมีย ข้าพเจ้าพบใบกัญชาตากแดดบนหลังคาคนพื้นถิ่นเมืองคาลปา ไม่แน่ใจจริงๆ ว่าพวกเขาเอามาทำอะไรหลังจากนี้ แต่คิดว่าไม่น่าจะสูบ คำถามที่ดีมักจะนำเราไปสู่การหาคำตอบอย่างเป็นเหตุเป็นผล เมื่อได้ยินเรื่องเล่าถึงความดกอุดมของกัญชาเพศผู้ ไพรัช แสนสวัสดิ์ นักแปลอาวุโสผู้ถ่ายเทความเจ็บปวดของประวัติศาสตร์บาดแผลชาวอินเดียนในสหรัฐจากภาษาแม่เป็นไทยของหนังสือ Bury My Heart at Wounded Knee ตั้งคำถามว่า “หากต้นกัญชาที่นายเบียร์เห็นมีแต่ตัวผู้ล้วนๆ จริง แล้วต้นกัญชามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรหากไม่มีเพศแม่”

จริงของป๋า – ข้าพเจ้าควานหาคำตอบจากมิตรสหายผู้ศึกษากัญชา เขาศึกษาและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชา ทั้งกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และประโยชน์ในการผ่อนคลาย เผยแพร่ในเพจ กัญชาชน และนิตยสาร Highland  รัฐพล แสนรักษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ต้นกัญชาที่เห็นตามรายทางในอินเดีย อาจจะเป็นกัญชาลักษณะที่เรียกว่า Hermaphroditism หรือ กัญชากะเทย

ดอกที่พัฒนาขึ้นมาในกัญชากะเทยจะมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียในต้นเดียวกัน ซึ่งไม่เป็นที่ประสงค์ของนักเพาะพันธุ์กัญชา รัฐพลเคยเขียนถึงสาเหตุของการเกิดกะเทยในกัญชาไว้ในเพจของเขา มี 2 สาเหตุหลักคือ 1. พันธุกรรม 2. สิ่งแวดล้อม ท่านผู้ใฝ่ใจกับพืชชนิดนี้สามารถอ่านรายละเอียดได้ใน กัญชากะเทย

เราจะพบต้นกัญชาตั้งแต่ออกจากนิวเดลีกระทั่งเข้าเขตหิมาจัลประเทศ จากถนนทางเรียบเริ่มไต่ขึ้นทางชัน อากาศเริ่มเย็นลง กัญชายังไม่คลาดสายตา และอีกครั้งที่การสัญจรบนถนนภูเขาแห่งรัฐหิมาจัลประเทศทำให้เราอยากกลับไปค้นสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนดินแดนแห่งนี้

ปี 2014 สำนักงานประวัติอาชญากรรมอินเดีย รายงานว่า ในหนึ่งชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ 16 คน จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนในปี 2014 มีทั้งสิ้น 141,000 ราย จำนวนอุบัติเหตุ 450,000 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 480,000 คน สำนักงานประวัติอาชญากรรมอินเดียสรุปบทเรียนว่า อุบัติเหตุจำนวนมากเพราะขับด้วยความเร็วและประมาท

ข้าพเจ้าคิดย้อนกลับไปตอนที่นั่งวิเคราะห์กับเพื่อนร่วมทางในทำนองใจกว้าง ว่านี่คือรหัสทางวัฒนธรรมที่เราต้องอ่านให้ออก แต่ที่ไหนได้ พวกเขาแขวนชีวิตบนความตาย

และก็ถึงคราวของเรา ที่เมืองโซลัน รัฐหิมาจัลประเทศ เมื่อพาทีพารถไปจูบบั้นท้ายเก๋งคันเล็กกะจิริด เฟิร์สคิสอินอินเดีย! ทั้งสองลงมาเคลียร์ด้วยเสียงดังอินเดียนสไตล์ หลายนาทีผ่านไป ไม่มีการกระทบกระทั่งกันทางกาย ก่อนจะแยกย้าย – ไม่ต้องเรียกประกัน?!

ง่ายๆ แบบนั้นเอง

 

ถูกเหวี่ยงไปมาตามโค้งของภูเขาจนมืดค่ำดึกดื่น คาลปาหลับใหลแล้วเมื่อเราไปถึง ออกจากสนามบินเที่ยงคืนถึงคาลปาตีสองของอีกวัน พาทีตัวสั่นทำท่าเหมือนร่างจะแหลก ทั้งที่ตลอดทางกว่า 20 ชั่วโมง เขาไม่แสดงอาการอะไรเลย การทำท่าทางแบบนี้หลังปิดงานเหมือนเป็นการคูลดาวน์ทางอารมณ์แบบหนึ่ง ข้าพเจ้าเดินไปบีบไหล่เขา เขายิ้มให้ เป็นรอยยิ้มแบบอินเดีย

(หมดหน้าที่ของพาที ต่อจากนี้ ฮาริ และ เหมซ์ จะมารับช่วงนำทางใน Spiti Valley)

เราขนย้ายจักรยาน 16 คันลงมากองรวมกันที่โถงที่พัก แยกย้ายกันเข้านอน

รู้สึกตัวตอน 05.00 น. ความแปลกถิ่นกระซิบข้าพเจ้าให้ลุกขึ้นไปดูโลกที่ไม่เคยเห็น เสียงเครื่องดนตรีธรรมชาติของอนุชิตยังคงทำงาน (ข้าพเจ้านอนกับเขาทุกคืน และเขาก็ช่างเอาอกเอาใจขับกล่อมข้าพเจ้าทู้กคืน) เปิดประตูห้องออกมา ลมเย็นลูบทั้งตัว ความรู้สึกไม่มีชื่อจู่โจมข้าพเจ้า

เราเข้านอนตอนฟ้ามืด ประตูห้องพักอยู่ตรงชานระเบียง เราจึงมองไม่เห็นวิวภายนอก แต่เมื่อเปิดประตูออกมาในตอนเช้า (ที่นี่สว่างตั้งแค่ 04.00 น. และกว่าจะค่ำมืดก็เกือบ 20.00 น.) ภูเขาไม่รู้ชื่อทำให้ข้าพเจ้าลนลานหาคำอธิบายความรู้สึก ทำไมต้องควานหา ข้าพเจ้าปล่อยเฉยให้ความปั่นป่วนพลุ่งพล่านในตนบ้างไม่ได้หรือ

มารู้ภายหลังจากอดีตบรรณาธิการรูปงามเปิดประตูห้องติดกันออกมาว่า นี่คือ คินนัวร์ ไกรลาส หรือไกรลาสน้อย ซึ่งมักจะสร้างความสับสนแก่นักท่องเที่ยวว่าภูเขายิ่งใหญ่เบื้องหน้าคือเขาไกรลาสที่อยู่ฝั่งทิเบต

“ยอดของไกรลาสไม่ใช่แบบนี้ จะมนกลม แต่ที่เราเห็นมันแหลม” อดีตบรรณาธิการรูปงามผู้ผันตัวมาเป็น ‘พ่อหล่อ’ กล่าวอภิปรายไว้เช่นนี้

คินนัวร์ ไกรลาส แผ่ขยายจากขวาไปซ้าย แม้เราเห็นเพียงครึ่งบนของภูเขาแต่ก็บอกได้ว่าเขานี้ยิ่งใหญ่ ม่านหมอกเคลื่อนเข้าบดบังก่อนจะสลายกระจายไปในอากาศ รอม่านเมฆก้อนใหม่เข้าปิดทึบแผ่นเขาและยอดแหลม ราวกับม่านเปิดปิดการแสดงในโรงละคร

 

คินนัวร์ ไกรลาส บนความสูง 6,500 เมตร ทอดสายตาลงมองข้าพเจ้าอย่างเมตตา ตื้นตันคือคำที่ข้าพเจ้ารังสรรค์เพื่อสรุปอาการในตน คิดถึงคนที่รักทุกคนในชีวิต อยากให้พวกเขาเห็นความสงบเย็น ละอองแดด ม่านหมอกเรื่อเรือง ธารหิมะแตกสายกระจายกันลงเขาสวมใส่เป็นอาภรณ์สีขาวให้คินนัวร์ ไกรลาส ผู้มีร่างกายสีดินสลับเขียว

“มันไม่ใช่การปะทะด้วยสายตา แต่ภูมิประเทศมันโอบล้อมเรา…” พ่อหล่อคลายความรู้สึกของเขาออกมาหลังจากที่เรากลับเมืองไทยแล้ว ข้าพเจ้าริบเอาความรู้สึกเขามาบันทึกในที่นี้ นักแปลอาวุโสผู้นั่งฟังอยู่ถึงกับเก็บสำนวน “โอบล้อม” ของ พ่อหล่อ มาแซวต่อในวงสนทนา

เบื้องล่างหมู่บ้านคาลปากำลังถูกปลุกให้ตื่นในเช้าวันใหม่ เรามองเห็นหมู่บ้านจากข้างบน หมู่บ้านเล็กกะจิริดเมื่อเทียบกับภูเขา เหมือนเรามองไม้สลักชีวิตและเรื่องราวในราชสำนัก ที่มีผู้คนตั้งแต่ฮ่องเต้ไปจนเห็นรายละเอียดเล็กๆ ของเสี่ยวเอ้อในงานศิลปะของช่างสลักชาวจีน ภูเขาโอฬาร โอ่โถง องอาจ คล้ายจะจับต้องได้ แต่เอื้อมไม่ถึง หยิบโทรศัพท์วิดีโอคอลไปหาคนที่รักสองคน คนหนึ่งไม่รับ อีกคนที่รับคือแม่

ข้าพเจ้าไม่เคยวิดีโอคอลหาแม่ แต่ตื้นตันจากร่างกายปลดล็อคสมาร์ทโฟน แม่รับสายแล้วมอง คินนัวร์ ไกรลาส อย่างเงียบงัน เงียบงันนานร่วมนาทีราวหญิงในโลกโบราณเขินอายเมื่อต้องสนทนาผ่านเครื่องมือที่มาจากโลกอนาคต

ความเงียบงันถูกทำลายเมื่อแม่พูด พูดตามท่วงทำนองแบบแม่ “คืองามแถะ”.

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า