สปีติ: แม่น้ำสีไจ (4)

ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

ตอนที่ 4

 

NO HURRY, NO WORRY – BRO

บนถนนทางหลวงหมายเลข 5 จากหมู่บ้านคาลปา (Kalpa) – พู (Poo) – นาโก (Nako) เราพบป้ายข้อความแสดงถึงสัจธรรมของชีวิต NO HURRY, NO WORRY

ก็ถูกของ BRO  ถนนเล็กแคบสายนี้พาดผ่านชีวิตและความตาย ความตายขนาบข้างผู้สัญจรทั้งสองด้าน ด้านหนึ่ง ก้อนหินอาจหล่นลงศีรษะคุณได้ทุกเมื่อ เพราะเป็นภูเขาหินตั้งบนเปลือกโลกยังไม่หยุดขยับ ด้านหนึ่ง ก็เหวลึก ไม่มีรั้วกั้น

การมีสติทำให้เรามีโอกาสเดินทางผ่านพ้นถนนสายนี้ไปใช้สตางค์ต่อในชีวิตที่เหลือ

บางป้ายข้อความงดงามประหนึ่งบทกวี AFTER WHISKEY, DRIVING RISKY  ข้าพเจ้าชอบความงดงามของฉันทลักษณ์ และพึงใจตีความเช่นนี้ “วิสกี้ที่รัก คุณทำให้การขับขี่ของผมสนทนากับความตาย”

ตลอดเส้นทาง เราพบประติมากรรมสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และยังคงถูกสร้างราวไม่มีวันเสร็จ ตราบวันนี้ศตวรรษที่ 21

ประติมากรสลักถนนเข้าไปในสีข้างของภูเขาโบราณ ถนนบุเบียดเข้าไปในบรรพตรังสรรค์หิมาลัยที่เกิดจากการชนกันของแผ่นทวีปเมื่อกว่า 70 ล้านปีก่อน เทือกหิมาลัยยังเยาว์วัยนักหากเทียบบรรพตรังสรรค์แอปปาเลเชียน (Appalachian Orogeny) บรรพตรังสรรค์คาลิโดเนียน (Caledonian Orogeny) บรรพตรังสรรค์แอลป์ (Alpine Orogeny) และบรรพตรังสรรค์ยูรัล (Ural Orogeny)

ถนนซ้อนทบเป็นเชิงชั้น คดโค้งและวกวนแต่เป็นระเบียบ วิจิตรแต่น่าสะพรึงกลัว การไต่ขึ้นถนนภูเขาประหนึ่งเดินทางย่ำอยู่กับที่ โค้งและวนอย่างมีรูปแบบ เราเขยิบขึ้นองศาความชันที่ละนิด วกวนในเส้นแนวเดิม ความชันคือสิ่งที่เพิ่มขึ้นในแต่ละพับทบ การออกแบบถนนลักษณะนี้เพื่อให้เกิดพื้นที่ราบรักษาระดับความชันในการไต่ขึ้นที่สูง ท่านหมา-ประพฤติ แห่ง Bok Bok Bike นิยามถนนลักษณะนี้ว่า ‘ไส้เดือนสวรรค์’

หากเราไต่สูงขึ้นไปบนเชิงชั้นถนน มองลงมาจะพบพับทบถนนสีเทาเลื้อยเอื่อยเหมือนงูโบราณบนผืนดินกันดารสีฝุ่น จักรยานคันเล็กกะจิริดดุจแมลงตัวเล็กไต่คลานเชื่องช้าบนลำตัวสัตว์ดึกดำบรรพ์กำลังขดกายนิทรา โถงถ้ำหิมาลัยผิวขรุขระอายุกว่า 70 ล้านปีโอบล้อมรอบด้าน แม่น้ำสตลุช (Sutlej) เป็นเหมือนร่างแรกรอยพู่กันตวัดเป็นทางยาวหนเดียวของช่างเขียนชาวทิเบต ระลอกคลื่นเชี่ยวกรากบนผิวน้ำสตลุชเป็นเหมือนรอยขรุขระของหมึกบนผ้าใบหากเรามองผ่านแว่นขยาย ดุจภาพเขียนทังกาโบราณไร้ชื่อช่างศิลป์ เขาทำถวายพระพุทธเจ้าโดยแท้

นั่นคือสตลุชที่เบื้องล่าง – ไกลลิบ

นี่คือถนนที่สาธิตให้เห็นความทะเยอทะยาน ความพยายาม และกดขี่ของมนุษย์

IF YOU CAN DREAM IT, YOU CAN DO IT- BRO

ป้ายข้อความนี้ปักไว้ริมทาง ข้าพเจ้าพบตอนเที่ยงวัน ตอนนั้นเรายังไม่ถึงหมู่บ้านนาโก

BRO หรือ The Border Roads Organization เป็นหน่วยงานสร้างและซ่อมบำรุงโครงข่ายถนนพื้นที่ชายแดนของอินเดีย เราจะพบเห็นคนงานระดับปฏิบัติการของ BRO ตลอดเส้นทางนี้

สตรีฮินดูสวมเสื้อผ้าหลากสีเพียรทุบหิน เป็นวิธีกำจัดหินก้อนใหญ่ที่กีดขวางถนนให้พ้นทาง บางช่วงเราจะพบหินแหลกจากแรงงานหญิงฮินดูถูกใส่เข้าไปในเครื่องผสมปูนเพื่อฉาบผิวถนน นี่คืองานของพวกเธอ

มีการระเบิดหินเป็นระยะ ระหว่างข้าพเจ้าและอนุชิตกำลังง่วนอยู่กับการมองแมลงตัวเล็กไต่คลานบนลำตัวงูโบราณจากมุมสูงด้วยเลนส์ระยะ 70-200 mm เสียงระเบิดดังมาจากถนนเบื้องล่าง เถ้าหินอายุมากลอยฟุ้งสู่อากาศ อาจารย์สื่อ-นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวัฒนธรรมจีน 1 ใน 16 นักเดินทางด้วยจักรยาน หยุดวินาทีที่คนงานระเบิดหินวิ่งหนีออกจากจุดชนวนไว้ในภาพถ่าย ระเบิดหินคืองานของพวกเขา

ภาพนี้ถ่ายโดย นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล

ชายชาวฮินดูใช้ไม้กวาดด้ามสั้นกวาดถนนที่ไม่มีวันสะอาด แต่เศษหินอาจสร้างอันตรายให้ผู้สัญจร นี่คืองานของพวกเขาอีกเช่นกัน

การงานที่ทำกันมาต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย อังกฤษปกครองพื้นที่บริเวณนี้ อินเดียประกาศเอกราช ถนนคืบคลานเลาะเลื่อยไปตามนโยบายผู้กุมอำนาจ ความมุมานะอย่างไม่มีทางเลือกอาจเริ่มต้นจากบรรพบุรุษมดงานของพวกเขา ผู้ถูกกดขี่มาแต่ประวัติศาสตร์ยังเยาว์วัย ตอนนั้นความทรงจำยังไม่ถูกเรียกว่าความทรงจำ

ลอร์ด ดัลเฮาซี (Lord Dalhousie) ข้าหลวงของอังกฤษในอินเดียระหว่างปี 1848-1856 เริ่มภารกิจสร้างถนนสายที่ชื่อ ฮินดูสถาน-ทิเบต (Hindustan-Tibet) ในเดือนมิถุนายน 1850 อังกฤษต้องการสร้างสัมพันธ์การค้ากับทิเบต เป็นเหตุผลหนึ่งนอกเหนือการมอนิเตอร์พื้นที่ห่างไกลภายใต้การควบคุมของอังกฤษ จากนั้นงานออกแบบแผนที่ เครื่องจักร คนงาน ทยอยกันมาแกะสลักภูเขาให้เป็นถนนในนามบริษัทอินเดียตะวันออก

เส้นทางนี้ถูกใช้ลำเลียงสินค้า เช่น ชะมด, บอรแรกซ์, ขนสัตว์, ปศุสัตว์, เพชรพลอย จากและไปสู่ทิเบต ลาดักห์ และแคชเมียร์ พ่อค้าพื้นถิ่นและผู้คนต่างใช้เส้นทางในการข้ามพรมแดนไปมาหาสู่และค้าขาย

อินเดียประกาศเอกราช 1947 อีก 13 ปีต่อมา BRO ถือกำเนิดสานต่อภารกิจจากเจ้าอาณานิคมเดิม ความมั่นคงบริเวณพื้นที่ชายแดนเป็นเรื่องจำเป็นที่กองทัพต้องเข้ามามีบทบาท

จากพูสู่นาโก เราถูกโอบล้อมด้วยหุบเขาฮังกรัง (Hangrang Valley) ตั้งอยู่รอยต่อจังหวัดคินนัวร์ (Kinnaur) กับ ลาฮอล-สปิติ (Lahaul and Spiti) ธงมนตราหลากสีซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของพุทธแบบทิเบตผูกราวสะพานแขวนเหนือแม่น้ำสตลุชและแม่น้ำสปิติบรรจบกัน

ก่อนพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมทิเบต นักบวชในลัทธิบอนบูชาภูตผีย้อมผืนผ้าเป็นสีต่างๆ รักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเขาเรียงธงห้าผืนรอบตัวผู้ป่วย เชื่อว่าปรับธาตุในร่างกาย ธงมนตราห้าสี สีฟ้า หมายถึง อากาศธาตุ, สีขาว หมายถึง ลม, สีแดง หมายถึง ไฟ, สีเขียว หมายถึง น้ำ และ สีเหลือง หมายถึง ดิน

ชนชาวทิเบตยังไม่มีอักษรของตน กระทั่งพุทธศตวรรษที่ 12 พุทธศาสนาจากอินเดียแผ่อิทธิพลเข้ามา กูรูรินโปเช (Guru Rinpoche) นำภาษาสันสกฤตมาปรับประดิษฐ์อักษรทิเบต

OM – MA – NI – PADME – HUM คือการถอดเสียงจากอักขระทิเบตบนธงทั้งห้าผืน

“ณ สถานที่ที่เขากลัว หรือสถานที่ที่เขาจะต้องก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง จะมีธงมนตราทั้งนั้นเลย แล้วทุกที่ก็จะมีคนอยู่ตรงนั้นเพื่อรอช่วยคนอื่น เราไม่รู้ว่านี่คือคำตอบจริงๆ ของเขาหรือเปล่านะ แต่เรารู้สึกได้ว่า ในที่ที่มันแห้งแล้งหรืออันตรายมากๆ มักจะมีคนอยู่เสมอ เพื่อรอช่วยคนอื่น”

เป็นข้อสังเกตของ อาจารย์เมย์-ชนกพร พัวพัฒนกุล นักภาษาศาสตร์ และอีกบทบาทคือ ภรรยาพี่หมาแห่ง Bok Bok Bike

เมื่อเราข้ามสะพานแขวนข้ามแม่น้ำสตลุช มุ่งหน้าสู่นาโก เราเลียบเลาะแม่น้ำอีกสายชื่อแม่น้ำสปิติ (ต่อจากนี้เราจะเลียบแม่น้ำสปิติไปจนวันสุดท้ายของการเดินทาง ข้าพเจ้ามองแม่น้ำสปิติทุกวันและเกือบตลอดทาง เพื่อควานหาคำบางคำที่จะใช้บรรยายถึงบุคลิกของแม่น้ำสปิติ หลายวันต่อมาข้าพเจ้าคิดว่าสีของแม่น้ำเหมือนสีของไจ หรือ มาซาลา ไจ ชาผสมเครื่องเทศเครื่องดื่มที่ผู้คนในอินเดียนิยม)

ถนนสายฮินดูสถาน-ทิเบต ในศตวรรษที่ 21 แทรกซึม ต่อโยง ประสานเชื่อม ซอกซอนเข้าไปในกายของภูเขาลูกแล้วลูกเล่า เลาะเลียบแม่น้ำสายแล้วสายเล่า เข้าไปยังพื้นที่ห่างไกลความเข้าใจคนพื้นราบว่าสิ่งมีชีวิตสามารถปักหลักดำรงตนอยู่อย่างไรบนภูมิประเทศแบบนี้ ชีวิตคนงานไม่มีชื่อในหน้าประวัติศาสตร์เข้าไปสลักและคว้านภูมิประเทศ กร่อนหินและเลือดเนื้อตนออกจนประกอบเป็นความงาม ความงามที่คล้องแขนความตายก้าวเดินเข้าไปในหุบเขา

เราต่างเป็นลูกหนี้ผู้แผ้วถางถากทาง

ข้าพเจ้าอาจหยักไหล่พร้อมมองบนหากข้อความ “If you can dream it, you can do it” บอกกล่าวนักเดินทางด้วยจักรยานแบบเรา หรือส่งสารให้กำลังใจนักท่องเที่ยวด้วยมอเตอร์ไซค์หนุ่มชาวอินเดียหรือยุโรปผู้ขับเคลื่อนสี่ล้อหมู่คณะ แต่กลับรู้สึกล้ำลึกอย่างร้าวราน หากป้ายข้อความนี้ส่งความหมายไปยังหญิงชายผู้สังกัดวรรณะต่ำในโลกทุนนิยม พวกเขาคือผู้ทำงานหนักไม่รู้สิ้นบนถนนสายนี้

กิเลสชั้นหยาบคือเรื่องเงินทอง, กิเลสชั้นละเอียดคือชื่อเสียงเกียรติยศ – ข้าพเจ้าจดจำมาจากอดีตบรรณาธิการรูปงามผู้ผันตัวมาเป็น ‘พ่อหล่อ’ และนึกถึงข้อความช่างเปรียบช่างเปรยนี้บนถนนริมเหวและแสงแดดไม่ปรานี

พวกเขาคาดหวังหรือมีกิเลสชั้นละเอียดจากดอกผลของการงานตรงหน้าไหม ถ้ามองจากคนที่ยึดมั่นกิเลสประเภทนี้อย่างถือมั่น ภารกิจของพวกเขาเหมือนงานคนเฝ้าประภาคาร รอคอยสัญญาณจากเรือที่ไม่เคยออกจากฝั่ง

เหมซ์ บัณฑิต สาธิตการจัดระเบียบร่างกายระดับนายแบบของเขา

DRIVING AND DAY DREAMING, DO NOT GO TOGETHER – BRO

เหมซ์ บัณฑิต หนุ่มรูปงามชาวฮินดูวัย 24 ผู้ทำหน้าที่ขับรถเซอร์วิสหนึ่งในสองคันของเรา ข้าพเจ้าขอพื้นที่อธิบายความจำเป็นของการมีรถเซอร์วิส

คณะเดินทางด้วยจักรยานของเราจำต้องใช้บริการรถยนต์นำขบวนและปิดท้าย ความปลอดภัยคือหัวใจการเดินทางในภูมิประเทศนี้

คันหัวขบวนก็เพื่อสแตนด์บายยามมีนักเดินทางคนหนึ่งคนใดไม่สามารถขี่จักรยานต่อได้ ไม่ว่าด้วยสาเหตุร่างกายบาดเจ็บ จักรยานชำรุด สภาพอากาศเบาบางที่จะส่งผลต่อร่างกาย จักรยานจะถูกโยนขึ้นท้ายกระบะ

คันหลังเพื่อบรรทุกสัมภาระของนักเดินทางทั้ง 18 คน นักจักรยาน 16 คนไม่แยแสบรรทุกสัมภาระแนบกายแบบ ‘ฟูลโหลด’ เพื่อสำแดงศักยภาพของนักทัวริ่งแบบเต็มมายาเกียรติยศ มีสิ่งอื่นที่นักทัวริ่งต้องแบกหามมากกว่าเปลือกหรือกระพี้ของการเดินทางประเภทนี้

เหมซ์ บัณฑิต ขับรถคันหลัง เขาเพิ่งแต่งงานเมื่อสี่เดือนก่อน อนุชิต นิ่มตลุง ช่างภาพผู้ตามหาทรวงอกแยค – จามรี (และเครื่องแต่งกายของเขาทำให้ข้าพเจ้าประสบความลำบากยามเมื่อต้องตามตัวมากินข้าว เพราะบางแห่งเราไปพบแอ่งอุดมหญ้าที่คนต้อนฝูงแกะพาสัตว์ไปและเล็ม และที่นั่นเราจะพบอนุชิต อนุชิต และอนุชิต มีอนุชิตเต็มแอ่งหญ้าเต็มไปหมด แต่เราจะไม่พบอนุชิตจริงๆ เขาช่างแต่งกายคล้ายคนต้อนฝูงแกะราวกับเขาเป็นคนที่นี่เสียเหลือเกิน) ช่างภาพของเรานั่งรถคันของเหมซ์

เหมซ์ผู้มีหัวใจรักเสียงเพลงสไตล์ ‘ปัญจาบมิวสิค’ โวลุ่มระดับปลุกหัวใจโลดเต้น แต่เป็นอุปสรรคการทำงาน สามวันแรกอนุชิตประสบอุปสรรคใหญ่ ด้วยว่าเขานั่งอยู่ท้ายกระบะพร้อมกับกองสัมภาระของ 18 ชีวิต ด้านหน้าเหมซ์นั่งคู่กับนักเดินทางที่ขี่ต่อไม่ไหว ช่างภาพใจอารีย้ายตนนั่งหลังกระบะ เมื่อสายตาช่างภาพประสบพบนิรันดร์กาลแห่งอนาคตที่เคลื่อนไหวตรงหน้า หากเขาต้องการจะหยุดภาพนั้นให้เป็นอดีตกาลถาวร เขาต้องหยุดรถของเหมซ์ให้ได้ก่อน

“พี่ตบรถจนเจ็บมือ มันไม่ยอมหยุด” ช่างภาพบ่นกับข้าพเจ้า “มันฟังเพลงเสียงดัง บอกก็ไม่ฟัง”

พี่เล็ก-สุริยน เทพหัสดิน ณ อยุธยา นักจักรยานทัวริ่งผู้ได้รับสมญานาม ‘คนม้าบิน’ ยื่นนกหวีดให้ช่างภาพ – เป่าให้เหมซ์มันหยุดรถ! อนุชิตเหลือบมอง ‘นกหวีด’ อย่างละล้าละลัง ก่อนรับไว้เพื่อภารกิจถ่ายภาพ

พื้นนิสัยและทักษะช่างภาพของอนุชิตก่อความสนิทสนมกับสองผู้นำทางได้ไม่ยาก หลังได้รับนกหวีดมา (สายคล้องสีน้ำตาล) ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเหมซ์ก็ดีขึ้นตามลำดับ กระทั่งต่างฝ่ายต่างเรียกอีกฝ่ายว่า “My friend”

เหมือนบุพเพสันนิวาส – เหมซ์&อนุชิต

เหมซ์ผู้มีกิริยางดงาม ร่างกายของเขาทำให้หุบเขาและแม่น้ำสปิติ ต้องลดออร่าในตนลงเป็นสตูดิโอส่วนตัวให้นายแบบหุ่นระหง ใบหน้าคมคาย ซ่อนดวงตาไว้ใต้แว่นกันแดดทรง Aviator ไม่ว่าเขาจะนั่งกอดเขา ยืนหย่อนขา แหงนหน้ามองฟ้า ท่วงท่าและกิริยาของเขาคล้ายจะตะโกนก้องหุบเขาสปิติว่า ผมพร้อมได้รับการถ่ายภาพแล้วขอรับ

ในสายตา อนุชิต ช่างภาพผู้ถ่ายภาพนักเขียน นักวิชาการ นายและนางแบบ มาทั่วฟ้าเมืองไทย ถึงกับเอ่ยปากว่า เหมซ์มีพรสวรรค์เรื่องจัดระเบียบร่างกายเป็นเลิศ ยิ่งเดินทางร่วมกัน อนุชิตเริ่มกลายเป็นช่างภาพประจำตัวพี่เหมซ์ จอดรถได้ที่ปุ๊บ พี่เหมซ์ยื่นสมาร์ทโฟนให้ช่างภาพของเราทันที

ฮาริ วัย 39 ผู้นำเที่ยวในหิมาจัลประเทศ ผู้เป็นพี่เขยของเหมซ์
อีกหนึ่งท่วงท่าของพี่เหมซ์
ฮาริไม่ยอมน้อยหน้าน้องเหมซ์

รับส่งมุกกันอย่างเข้าขาในระดับเดียวกับ บอล เชิญยิ้ม กับ แจ๊ส ชวนชื่น – ฮาริ&อนุชิต

ฮาริ เป็นคนนำเที่ยวในหิมาจัลประเทศ ระหว่างทางหากเขาเห็นเศษขยะ เขาจะเก็บมันขึ้นรถนำไปทิ้งถังขยะ ตั้งแต่วันที่ 7 ของการเดินทาง เขาเริ่มเก็บไม้เพื่อทำฟืนขึ้นท้ายรถ เพราะวันที่ 11 ของการเดินทาง แผนการพักแรมของเราคือแคมป์ปิ้งที่เมืองชาตรู (Chatru) เขาจะก่อกองไฟ นี่คือการใส่ใจกับรายละเอียดในงานที่ตนทำ ฮาริเป็นคนแบบนั้น เขาเคร่งครัดเรื่องเวลา เพราะต้องรับผิดชอบชีวิตคน 18 คน รวมถึงชีวิตตนเองและน้องเมียชื่อพี่เหมซ์

แต่ช่างภาพต้องการเวลา แต่คนขับรถต้องการรักษาเวลา ดีมานด์สวนทางซัพพลาย การต่อรองจึงเกิดขึ้น

“one minute” ฮาริยื่นคำขาดแก่อนุชิต เมื่อเขาเห็นว่าช่างภาพของเราหยุดถ่ายภาพนานเกินไปแล้ว ด้วยใบหน้าจริงจัง “one minute”

“two minute” อนุชิตต่อรองอย่างคนมักน้อย และตลอดการเดินทางในหุบเขาสปิติเราจะพบเห็นอนุชิตกับฮาริต่อรอง one minute, two minute หนุงหนิงกันสองคน

จากใบหน้าจริงจัง ฮาริเริ่มผ่อนปรน จนกลายเป็นมุกตลกของช่างภาพและคนขับรถในการเดินทางที่เหลือ

“one minute” ฮาริยื่นนิ้วบอกจำนวน และดักรอการต่อรองจากช่างภาพด้วยรอยยิ้ม

“two minute” และทั้งสองก็สวมกอด ตบหลังตบไหล่กันตามท้องเรื่อง

เมื่อเห็นเหมซ์เรียกช่างภาพว่า “My friend” ฮาริเกทับน้องเมียตนด้วยการเรียกอนุชิตว่า “Papa”

ในทางปฏิบัติ บางจุดอนุชิตอยู่นานร่วมครึ่งชั่วโมง แต่หากฮาริจริงจัง เขาก็ผ่อนปรนยอมขึ้นรถ

งานกับมิตรภาพคล้องแขนไปด้วยกันในสปิติวัลเลย์

แต่สำหรับพี่เหมซ์ ฮาริจะตะโกนด่าทอเขาทุกๆ การจอดรถมาเจอกัน ข้าพเจ้าไม่เข้าใจความไม่พอใจของฮาริที่มีต่อเหมซ์ เข้าใจกว้างๆ แค่ว่า เขาด่าทอน้องเมียในเนื้องาน การขับรถบนถนนอันตรายและต้องรับผิดชอบชีวิตลูกค้าของเขา 18 ชีวิต เขาต้องการสอนงานน้องเมีย

เขาคงต้องการบอกเหมซ์เหมือนป้ายของ BRO ที่บอก “DRIVING AND DAY DREAMING, DO NOT GO TOGETHER” นะน้องชาย

 

AFTER RIDING, LET’S DANCING – HARI&HEMZ

ตั้งแต่อายุยังไม่เต็ม 20 เหมซ์ขับรถบรรทุกสินค้าประเภทอะไหล่เครื่องแต่งกายบนเส้นทางแถบนี้ ใช่-สิบล้ออินเดีย สไตล์การขับรถของเขาไม่ต่างจากสิบล้ออินเดียผู้เป็นสัตว์ดุร้ายในป่าหิมพานต์ซึ่งจักรยานเป็นเพียงหิ่งห้อย

ถนนในสปิติวัลเลย์เหมือนบ้านหลังที่สองของเขา เด็กหนุ่มอายุยังไม่ถึงยี่สิบก็ต้องขับรถไกลบ้านบนถนนอันตราย ชั่วโมงบินของพี่เหมซ์คงพอตัว

อีซี่ – เขาว่าแบบนั้น

การงานของพี่เหมซ์คล้ายท่านหมาและเจ้าชายกบ ที่จำเป็นต้องเดินทาง แต่งานของเหมซ์พรากเขาจากบ้านที่เมืองชิมลาไป 26 วัน เขามีเวลาอยู่บ้านเพียง 3-4 วันต่อเดือน

พี่เหมซ์เป็นคนรักภรรยา เรียกว่ารักคุณอาจไม่เห็นภาพ ต้องบอกว่าพี่เหมซ์ของเราเป็นคนเทิดทูนภรรยา เขามักพรรณนาถึงความงดงามของ ปารี ให้ข้าพเจ้าฟัง

เธอชื่อ ปารี (แวบแรกข้าพเจ้านึกถึง ‘ปาลี’ ของ ทินกร หุตางกูร ตัวละครในคอลัมน์เกี่ยวกับศิลปะสมัยที่ WAY ยังพิมพ์บนกระดาษ) ปารีเป็นนางรำ พินทิสีชาดบนหน้าผากบอกกล่าวแก่ทุกชายหนุ่มในหิมาจัลประเทศว่า เธอครองรักมั่นแล้ว ใช้เวลาสี่ปีคบหากันก่อนตัดสินใจแต่งงาน

วินเซนต์ เยียว เพียว ตัน หนึ่งในนักเดินทางชาวสิงคโปร์ผู้ใกล้ชิดเหมซ์ที่สุด เพราะเขานั่งรถเซอร์วิสทุกวัน กล่าวแนะนำเหมซ์บนประสบการณ์วัย 65 ว่า ยูควรมีลูกได้แล้ว

“ยังครับท่าน ผมขอเวลาอีกสามปี”

ถ้าฮาริมีสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม เหมซ์ก็มีใจเผื่อแผ่ เขามักเดินมาท้ายกระบะ ขอน้ำดื่มของเราไปให้เด็กแบกฟืน คนเลี้ยงแกะ ที่พบข้างทางเสมอ

(สิ่งที่ทำให้ฮาริและเหมซ์ปรองดอง คือบีดิสอดไส้กัญชา)

แน่นอนว่า เหมซ์ก็เก็บไม้สำหรับทำฟืนตามรายทาง ตามคำสั่งของฮาริ เพื่อรอวันก่อกองไฟ

วันนั้นเป็นวันที่ 11 ของการเดินทาง เราลาจากโลซาร์ (Lozar) มุ่งหน้าสู่ชาตรู เป็นอีกวันที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดของนักเดินทาง

กลุ่มแรกมาถึงชาตรูก่อนกลุ่มหลังพอสมควร ทั้งเหมซ์และฮาริก็ยังมาไม่ถึงทั้งที่ควรจะมาถึงได้แล้ว นักเดินทางกลุ่มแรกยืนรอฮาริเพราะเขายืนยันว่าจะหาที่พักให้ บริเวณนั้นมีแคมป์สำหรับนักท่องเที่ยวสองสามแคมป์ แต่รอฮาริ ทั้งหนาวและฝนตก พวกเขาไม่มีเครื่องบรรเทาความหนาว เพราะสัมภาระอยู่กับพี่เหมซ์

ฮาริมาพร้อมนักเดินทางกลุ่มหลังพร้อมความมืด และพี่เหมซ์ก็โดนลูกพี่จัดหนักตามระเบียบ (เวลาคนอินเดียด่ากัน เสียงจะดังเป็นพิเศษ) พวกเราจัดหาที่กางเต็นท์ก่อนจะได้นอนในเรือนหลังโบราณ นักเดินทางรุ่นใหญ่สามสี่คน กางเต็นท์นอนกลางสายฝนทดสอบศักยภาพผ้าใบเต็นท์

เผลอแป๊บเดียว กองไฟถูกจุดขึ้นที่ลานสนามหญ้า แสงไฟหน้ารถเหมซ์ส่องเพิ่มความสว่าง ปัญจาบมิวสิคส่งเสียงครื้นเครงราวกับนี่คือเทศกาลเฉลิมฉลอง พวกเราอยู่ใต้ชายคากันทุกคน เว้นสองพี่น้อง ฮาริกับเหมซ์ คืนนั้นฝนตกปรอยๆ

พวกเขาสองคนคือหลักฐานชั้นดียืนยันว่าที่เราเคยเห็นในหนังอินเดียน่ะเบสออนเรื่องจริงนะนายจ๋า คนอินเดียชอบเต้น

ฮาริกับเหมซ์เต้นรำรอบกองไฟกันสองคน ตะโกนเรียกพวกเราไปร่วมฟลอร์เต้นรำเปียกหยาดน้ำฝน ร้องตามเนื้อเพลงไปด้วย โยกย้ายส่ายสะโพก มือแขนก็ชูก็ชี้ตามข้างในตน

การเต้นรำคือการสื่อสารแบบหนึ่ง

เป็นคืนที่ดีคืนหนึ่ง การได้เห็นชายชาวอินเดียสองคนเต้นรำรอบกองไฟ ฝนตกปรอยๆ เหมือนเด็กชายสองคนทะเลาะกันมาทั้งวัน แต่เสียงเพลง กองไฟ และสายฝน ชะล้างเรื่องชั่วครั้งไว้ชั่วคราวก่อน เต้นรำไปตามเสียงเพลง ก่อนจะตื่นขึ้นเช้าวันใหม่ อาจมีเรื่องต้องทะเลาะกันอีกรอบ.

สปีติ แม่น้ำสีไจ (3) https://waymagazine.org/spiti-valley-3/
สปีติ แม่น้ำสีไจ (2) https://waymagazine.org/spiti-valley2/
สปีติ แม่น้ำสีไจ (1) https://waymagazine.org/spiti-valley1/

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า