สปีติ: แม่น้ำสีไจ (จบ)

พวกท่านเคยเป็นกันหรือไม่ คล้ายกับใช้ชีวิตอยู่บนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลสักสี่ซ้าห้าพันเมตร หายใจไม่ออก พุ่งพรวดทะลึ่งตัวลุกขึ้นมาหอบหายใจเข้าปอดกลางดึก สูดเข้าไปออกซิเจนที่รัก อ่อนแรง มึนหัว เสื้อนอนคับอกหมวกสวมกันหนาวคับสมอง กินไม่ได้นอนไม่หลับ กลับไม่ได้ไปไม่ถึง ชื่อเรียกอาการเหล่านี้คือ Altitude sickness หรือโรคแพ้ที่สูง นั่นแหละพวกท่านทั้งหลาย มันคืออาการที่เกิดกับข้าพเจ้าในช่วง 1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา – Attitude sickness

เมื่อพวกท่านเข้าใจสถานการณ์ของข้าพเจ้า ก็คงพอเข้าใจถึงความว่างเปล่าในเวลาของสปีติ: แม่น้ำสีไจ ตอนที่ 5 ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2017 กับบทจบของซีรีส์สปิติ วัลเลย์ ซึ่งคือสิ่งที่พวกท่านทั้งหลายกำลังอ่านกันอยู่ตอนนี้

“เมื่อไหร่จะเขียนตอนจบ” คือคำเอ่ยทักท้วงมากกว่าหนึ่งครั้งในช่วง 1 ปี 6 เดือนที่บรรณาธิการผู้บริหาร WAY ไต่ถามถึงการเคารพตนเองแทนข้าพเจ้า

1 ปีกับ 6 เดือน ตอนจบของสปีติ: แม่น้ำสีไจ เพิ่งกำเนิด

เหลวไหล ไม่เข้าท่า หัดเคารพตัวเองเสียบ้าง คำก่นด่าตนเองคือสิ่งเดียวที่พัฒนาในความว่างเปล่าปีครึ่ง นับจากวันที่พวกเราเดินทางกลับจากอินเดียในวันสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม ปี 2017 ความทรงจำขนาด 692 GB ถูกทรยศด้วยการลืมและขังมันไว้ในฮาร์ดดิสก์ลูกใหญ่ของสำนักงาน WAY

ข้าพเจ้าขังลืมฟุตเทจการเดินทางในสปิติ วัลเลย์ไว้ในฮาร์ดดิสก์เป็นเวลาถึง 1 ปี 6 เดือน เช่นเดียวกับตัวหนังสือที่ถูกจองจำไว้ ทั้งที่มันไม่มีความผิด

ต้นปี 2019 อธิคม คุณาวุฒิ อดีตบรรณาธิการรูปงามผู้ผันตัวเป็นพ่อหล่อก็โพล่งขึ้นว่า come together ก่อนจะอธิบายขยายความจนเกิดเป็นอีเวนต์ ‘WAY of BIKE ep 1: Come Together’ ที่ WAY ร่วมเดินทางไปกับผู้อ่านด้วยจักรยานในอำเภอปากช่องวันที่ 26 เดือนมกรา

นอกจากกิจกรรมปั่นจักรยาน เก็บและกินอาหารกับ พี่กฤช เหลือลมัย สนทนารอบกองไฟกับ พี่หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ฟังเพลงของ เดือน จงมั่นคง และวงปิดอย่าง bok bok band หนังที่ไปเก็บฟุตเทจที่หุบเขาสปิติต้องฉายเผยแพร่ในคืนนั้น ฉายแบบกลางแจ้งในคืนนั้น เหมือนหนังกลางแปลงหลายพันคืนที่ข้าพเจ้าเติบโตมาจากมัน

ความทรงจำไม่ต้องใช้พาสปอร์ต ข้าพเจ้าหวนกลับไปสปิติ วัลเลย์ ผ่านฟุตเทจจำนวน 692 GB คัดและเลือกทั้งตัดและถอดเพื่อสร้างมันขึ้นมาใหม่ ความทรงจำเมื่อถูกรื้อฟื้นมันย่อมไม่ใช่เรื่องเดิมอีกต่อไป

1 ปี 6 เดือน ‘Spirit of Spiti: Come Together’ จึงมีชีวิตขึ้นมาใหม่ มันคือบันทึกการเดินทางที่พยายามบอกเล่าเรื่องการเดินทางด้วยจักรยานของเพื่อนร่วมทาง 16+4 คน (4 คือพวกไม่ขี่จักรยาน) และอาจเอื้อมให้ไปถึงมาตรฐานขั้นต่ำสุดของการมีชีวิต

โปสเตอร์หนังสารคดี SPIRIT of SPITI: COME TOGETHER ภายถ่ายโดย อนุชิต นิ่มตลุง ออกแบบโดย ณขวัญ ศรีอรุโณทัย ซึ่งเขาทำออกมาหลายเวอร์ชัน

 

 

 

ปัญหาของการกลับไปดูฟุตเทจจำนวนนั้นกับปีครึ่งที่หายไป คล้ายเราคือคนแปลกหน้าต่อความทรงจำ ซีนนี้คือเมืองไหน โลซาหรือคาซา ซีนนี้ที่กดถ่ายกำลังคิดอะไรอยู่ ราวกับเป็นอัลไซเมอร์ชั่วขณะ

แล้วมันก็หวนกลับมา เรื่องราว กลิ่น อุณหภูมิ ความหิว อาการหายใจไม่คล่อง เสียงหัวเราะ ทุกอย่างค่อยๆ กลับคืนมา กลั่นกลายเป็นเรื่องราวใหม่เหมือนก้อนเมฆเคลื่อนเปลี่ยนรูปทรงบนท้องฟ้าสปิติ วัลเลย์

สปิติมีเสน่ห์อย่างทารุณ – คือสำนวนของอธิคม คุณาวุฒิ ผู้บริหาร WAY ข้าพเจ้าเห็นด้วยและชอบสำนวนนี้จึงนำมาทำให้พวกท่านรู้สึกถึงความหนาวแต่ร้อน คิดถึงบ้านแต่ไม่อยากกลับ สวยงามแต่น่ากลัวของสปิติ

ข้าพเจ้าถูกขโมยถ้อยคำที่จะเอ่ยถึงสปิติ เพราะมันไปรวมอยู่ในบันทึกการเดินทางที่คัดเลือกนำมาเล่าด้วยรู้สึกนึกคิดของปี 2019 มันคือ Spirit of Spiti: Come Together และระหว่างการทำงานชิ้นนี้มันก็เป็นไปตามชื่อเรื่อง ‘ไปด้วยกัน’ ข้าพเจ้าได้รับความช่วยเหลือทั้งจากพี่คม คอมเมนต์จากพี่เพื่อนและน้องช่วยให้ข้าพเจ้าไม่หลงทางในเรื่องเล่า กราฟิกดีไซน์สวยๆ ในหนังนั่นคือผลงานของ ณขวัญ ศรีอรุโณทัย ส่วนโทนสีและวิชวลเอฟเฟ็คต์เป็นฝีมือของหนุ่มน้อยหน้าหวานนาม สิทธิกร ขุนนราศัย ภาพนิ่งตราตรึงและหยุดทุกสิ่งในเวลาของ อนุชิต นิ่มตลุง ภาพถ่ายติดจักรยานที่ให้มุมมองพริ้งเพริศของ เป้-วสันต์ เจริญอภิญโญ นักจักรยานที่ร่วมเดินทางไปกับพวกเราเมื่อ 1 ปี 6 เดือนก่อน ยังไม่นับน้องๆ ตระกูลพืชผักอย่าง น้องบัวและน้องอ้อย สองคนรุ่นใหม่ของ WAY ที่คอยถามไถ่ หรือแม้แต่พี่สาว (ใหญ่) อย่างคีรีบูนผู้เป็นหลายอย่างในสำนักงานที่คอยโทรปลุกข้าพเจ้าในห้วงเส้นตายของเวลา

สิ่งหลงเหลือคือรู้สึกและคิดถึงผู้คน

คิดถึงทุกคนที่เคยร่วมเดินทางด้วยกันในระยะสั้นๆ แต่ก็อย่างที่ พี่เล็ก-สุริยน เทพหัสดิน ณ อยุธยา เคยบอกข้าพเจ้าว่า เก็บข้อมูลบางอย่างไว้ใน harddisk วันหนึ่งมันต้องสูญหายหรือชำรุด พี่เล็กผู้ถูกเรียกว่า คนม้าบิน จึงเก็บข้อมูลความทรงจำไว้ใน heartdist แทน แม้แต่ถ้อยคำนี้ของพี่เล็กยังสาบสูญไปจากเครื่องบันทึกเสียง มันหายไปแล้วแต่ยังคงอยู่ในความทรงจำ

คิดถึงลิปมันของ อาจารย์สื่อ-นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล คิดถึงเนื้อทอดที่ พี่แนน-วีริศ บัวลำใย แบ่งให้ในมื้อที่ข้าพเจ้าพกเพียงข้าวเปล่าเดินทาง คิดถึงหัวใจของ วินเซนต์ เยียว เพียว ตัน คิดถึงความหล่อของ กบ-ชิดพันธ์ สุนทรพิศาล คิดถึงเหมซ์ผู้หล่อเหลากว่ากบ คิดถึงบีดิยัดไส้โอสถพระศิวะที่ฮาริหยิบยื่นให้ระหว่างเดินทาง คิดถึงเสียงกรนของอนุชิต คิดถึงจนเอ่ยไม่หวาดไม่ไหว

นักเดินทางด้วยจักรยานในทริปนี้มีทั้งหมด 16 คน ประกอบด้วยคนหลายวัย
พวกเขากำลังลงเนินจาก Rotang pass ที่ความสูง 3,978 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

คิดถึงป้าหน่อง-มัลลิกา เจริญวงศ์ หญิงสาววัย 62 จากเมืองขอนแก่นผู้ตอนนี้ร่อนเร่เดินทางกับจักรยานเพียงลำพังไปในดินแดนอเมริกาใต้ เธอมีความฝันในวัยที่ลูกสาว 4 คนเติบโตดูแลชีวิตของตนได้ “แม่ขอเดินทางรอบโลกนะลูก” ป้าหน่องเริ่มออกเดินทางกระทั่งเดินทางรอบประเทศ ต่างประเทศ วันนี้ป้าหน่องยังอยู่ที่อเมริกาใต้ เดินทางเพียงลำพัง ป้าหน่องเคยบอกว่า ชอบเดินทางลำพังมากกว่าหมู่คณะ แต่ก็ไม่ปฏิเสธการเดินทางเป็นกลุ่ม

ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า Spiti: Come Together ทารุณมากหรือน้อยกว่า South America: Come Alone

ชีวิตมีเสน่ห์อย่างทารุณ สวยงามแต่ยากลำบาก ท้อแท้แต่ทะเยอทะยาน สิ้นหวังแต่ไม่ยอมแพ้ ล้มแต่ลุกขึ้นใหม่ ชราภาพแต่หนุ่มสาว ยืนหยัดแต่สักวันอาจล้มอีก ชีวิตช่างเปี่ยมเสน่ห์แต่ทารุณอะไรเช่นนี้ แม้ว่าตำแหน่งแห่งที่ที่ยืนจะอยู่ระดับเสมอน้ำทะเล

 

วินเซนต์ เยียว เพียว ตัน ชายหนุ่มอายุ 66 ปี เขาเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ หลังจากนั้น 5 วันเขาร่วมเดินทางมายังสปิติ วัลเลย์ ประเทศอินเดีย
อารมณ์ขันของพี่หมา-ประพฤติ ปาลสาร แห่งร้านจักรยาน BOK BOK BIKE แสดงออกอย่างชัดเจนในรูปที่เขานำมือของวินเซนต์ไปจับกับเจ้าของร้านอาหารในสปิติ วัลเลย์

 

“ผมจะต้องเจออะไรบ้าง ตอนที่ผมแก่” ข้าพเจ้าถาม วินเซนต์ เยียว เพียว ตัน ชายหนุ่มวัย 65 ชาวสิงคโปร์ผู้เพิ่งลงจากเตียงหมอเคยผ่านบายพาสหัวใจก่อนเดินทางมายังสถานที่ที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นคำถามที่ถูกลืมไปแล้วในไฟล์บันทึกเสียง

“คุณต้องมีความฝัน และพยายามที่จะเติมมันให้เต็ม ผมมีฝันว่าอยากจะเที่ยวรอบโลก อยากจะเห็นโลก”

“เอาจริงๆ ถ้าผมรู้เงื่อนไขทุกอย่าง ถ้ารู้ว่าเส้นทางมันจะยากถึงขนาดนี้ ผมอาจคิดหนักว่าจะมาหรือไม่มาก็ได้นะ เพราะว่าเส้นทางมันยากมาก การปีนป่ายมันก็เรื่องหนึ่งใช่มั้ย แต่ถนนเนี่ย มันยากมากๆ มันท้าทายมากในทุกๆ เส้นโค้งของมันเลย แต่ผมดีใจมากที่ผมมา เพราะผมได้เห็นว่าตัวเองถูกท้าทายได้แค่ไหน และมันเป็นแค่ประสบการณ์ครั้งเดียวในชีวิต ซึ่งผมจะจดจำไปจนลมหายใจสุดท้าย”

วินเซนต์บอกข้าพเจ้าในอีก 1 ปี 6 เดือนว่า “So I was very lucky. Cycling saved my life.”

เมื่อข้าพเจ้ากลับไปค้นเจอฟุตเทจ คำตอบของเขาเมื่อ 1 ปี 6 เดือนก่อนก็ช่วยชีวิตข้าพเจ้าไว้เช่นกัน

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า