รักโลกที่คนข้างนอกมองไม่เห็น

cloth pads

เรื่อง : อภิรดา มีเดช

 

หนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ผู้หญิงไม่สามารถจินตนาการได้ว่าผู้ชายจะรู้สึกอย่างไร ก็คือเวลาที่ผู้ชายถูกทำร้ายบริเวณใต้สะดือลงไป ผู้ชายเองก็น่าจะมีอยู่อย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่ไม่สามารถจินตนาการแทนผู้หญิงได้ว่าเธอรู้สึกอย่างไร นั่นก็คือ ตอนที่พวกเธอมีประจำเดือน

ตัวเลขผ้าอนามัยทั้งแบบสอดและแบบแผ่นที่ผู้หญิงในอเมริกาเหนือใช้ตลอดชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 16,800 ชิ้น/คน พวกมันเป็นของที่ใช้แล้วทิ้ง ทั้งที่ความจริงแล้ว ทางเลือกของผู้ใช้ผ้าอนามัยน่าจะมีความหลากหลายมากกว่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ฉันเคยอยู่ในยุคตื่นเขียว ตอนนั้นพยายามสรรหาวิธีที่จะใช้ชีวิตให้ ‘เขียว’ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่แน่ใจว่าอะไรดลใจให้นึกถึงผ้าอนามัยที่ต้องใช้อยู่ทุกๆ เดือนขึ้นมา

ด้วยความช่วยเหลือจากโลกออนไลน์ ฉันได้มีโอกาสรู้จักกับ Cloth Pads หรือผ้าอนามัยที่ทำจากผ้า ตัดเย็บออกมาหน้าตาไม่ต่างจากผ้าอนามัยทั่วๆ ไป แต่ที่พิเศษคือมันสามารถนำมาซักทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ต้องขอสารภาพว่า ณ ตอนนั้นฉันได้แต่อึ้ง และจินตนาการภาพตัวเองซักอะไรแบบนี้ไม่ออกเอาเสียเลย คาดว่ามันอาจถูกเซ็นเซอร์จากหัวสมอง ด้วยความที่สยองเกินไป

ไม่ทราบว่า คุณๆ ผู้ชายพอจะนึกภาพตามทันไหมคะ…

อรุนาชาลาม มุรุกานันธาม

จากข่าวเมื่อต้นเดือนมีนาคมของ BBC ที่นำเสนอเรื่องราวของ อรุนาชาลาม มุรุกานันธาม ชายผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลิตผ้าอนามัยราคาเบาๆ ให้กับสาวอินเดีย ทำให้ไอเดียที่จะตามติดเรื่องผ้าอนามัยรักษ์โลกเวียนกลับมาอีกครั้ง

สาเหตุที่ทำให้เขาคิดผลิตผ้าอนามัยราคาย่อมเยา เกิดขึ้นตั้งแต่หลังแต่งงานใหม่ๆ เมื่อปี 1998 เขาพบว่าภรรยาใช้เศษผ้าเก่าๆ แทนผ้าอนามัย เมื่อสอบถามจึงได้ความว่า หากเธอเอาเงินไปซื้อผ้าอนามัยทั่วไปมาใช้ คนในบ้านก็จะไม่มีอาหารรับประทาน

เขาอาสาออกไปหาซื้อผ้าอนามัยมาให้เธอ และพบความสงสัยชนิดงงเป็นไก่ตาแตกเมื่อพาตัวเองมาถึงหน้าชั้นวางผ้าอนามัยในร้านค้าแห่งหนึ่ง อรุนาชาลามถามตัวเองซ้ำไปซ้ำมาว่า เหตุใดฝ้ายน้ำหนักเพียง 10 กรัมที่บรรจุอยู่ในผ้าอนามัย 1 ชิ้น จึงมีราคาแพงถึง 40 เท่าของฝ้ายทั่วๆ ไป นี่คือจุดที่อรุนาชาลามตัดสินใจว่าจะลองทำผ้าอนามัยคุณภาพเดียวกันในราคาที่ถูกกว่าให้ได้

ผลสำรวจโดย AC Nielsen เมื่อปี 2011 พบว่าผู้หญิงอินเดียใช้ผ้าอนามัยเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น ส่วนหญิงสาวในหมู่บ้านของเขา มีคนใช้ผ้าอนามัยเพียงร้อยละ 10 นอกจากเศษผ้าเก่าๆ เขายังพบว่าพวกเธอดัดแปลงอะไรแปลกๆ มาใช้แทนผ้าอนามัย ไม่ว่าจะเป็น ทราย ขี้เลื่อย กระทั่งเศษใบไม้

หญิงสาวที่ใช้เศษผ้าแทนผ้าอนามัยมักจะไม่กล้านำมันไปตากที่กลางแจ้ง ร้อยละ 70 ของโรคทางระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงอินเดีย มีสาเหตุมาจากการสุขอนามัยที่น่าเป็นห่วงในช่วงที่มีรอบเดือน

ความสำเร็จของอรุนาชาลาม คือสามารถทำให้กลุ่มสตรีในแต่ละหมู่บ้านผลิตผ้าอนามัยใช้และจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดเกือบเท่าตัว คือจากชิ้นละ 4 รูปี เหลือ 2.5 รูปี

pads muruganantam
ผ้าอนามัยราคาเบาๆ จาก มุรุกานันธาม

เมื่อพูดถึงวัสดุที่นำมาผลิตผ้าอนามัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในต่างประเทศ มีทั้งการนำผักตบชวา ต้นกล้วย กกปาปิรุส ไปจนถึงเศษผ้า พวกมันล้วนนำมาผลิตแผ่นอนามัยเพื่อใช้แทนผ้าอนามัยใยสังเคราะห์ที่บุเยื่อกระดาษติดแถบกาวแบบที่หญิงสาวส่วนใหญ่ต่างคุ้นเคยกันดี

นอกจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้แล้ว ฉันก็ได้พบกับอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราผ่านวันนั้นของเดือนไปได้แบบกรีนสุดๆ มันคือ Menstrual Cup เป็นวัสดุยืดหยุ่นรูปทรงคล้ายถ้วยใบเล็กๆ ผลิตจากซิลิโคน ชิ้นหนึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี แต่มั่นใจได้ว่าสาวไทยส่วนใหญ่คงทำใจใช้ค่อนข้างลำบาก เพราะวิธีใช้ไม่ต่างจากผ้าอนามัยแบบสอด นั่นคือต้องนำมันเข้าไปในร่างกายของเรา…

ข้อดีของเจ้าถ้วยเล็กๆ ใบนี้ คือสามารถใส่ได้นาน 12 ชั่วโมงโดยไม่ต้องกังวลเรื่องสุขอนามัย หรือนานกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับผ้าอนามัยปกติ ข้อแนะนำในการใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ ซึ่งเป็นทางออกของหญิงไทยอย่างคุณและฉันก็คือ มันอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน หากลองใช้ไปประมาณ 3-4 เดือนแล้วยังไม่ใช่ วิถีรักษ์โลกแบบนี้อาจไม่เหมาะกับเราก็ได้

menstrual-cups

ถ้าคุณเลือกแล้วว่าจะใช้ชีวิตแบบเอ็กซ์ตรีมสุดๆ เพื่อสิ่งแวดล้อม ก็ควรพาตัวเองก้าวข้ามอุปสรรคอะไรแบบนี้ไปให้ได้ใช่ไหม แต่เอาเถิด สำหรับบางเรื่อง เราคงต้องยอมเป็นอนุรักษ์นิยมกันบ้าง ตอนนี้ขอเป็นฝ่ายยกธงขาวยอมแพ้ชั่วคราวอีกสักครั้ง

 

ข้อมูลอ้างอิง:
greeneconomycoalition.org
ecouterre.com
thealternative.in

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ สิ่งแวดเรา นิตยสาร Way ฉบับ72, เมษายน 2557)

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า