ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ภาษีเปื้อนเลือดประชาชนผู้มีประจำเดือน

4 ชั่วโมง คือ ระยะเวลาที่ผู้มีประจำเดือนควรเปลี่ยนผ้าอนามัยใน 1 วัน

6 แผ่น คือ จำนวนผ้าอนามัยขั้นต่ำที่ผู้มีประจำเดือนต้องใช้ต่อวัน

1,512 บาท คือ จำนวนเงินเฉลี่ยที่ผู้มีประจำเดือนต้องจ่ายต่อปี

55,944 บาท คือ จำนวนเงินเฉลี่ยที่ผู้มีประจำเดือนต้องจ่ายจนกว่าจะหมดประจำเดือน

ตัวเลขเหล่านี้ คือรายจ่ายที่เพศอื่นๆ อาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบมากนัก ทว่าสำหรับผู้หญิงหรือผู้มีประจำเดือนแล้ว มันต้องติดตัวพวกเธอไปทั้งชีวิต

“ปัญหาของการใส่ผ้าอนามัยนานเกินไปยังก่อให้เกิด toxic shock syndrome (ภาวะแทรกซ้อนที่อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด) นอกจากเรื่องสุขอนามัยที่ไม่ดีต่อช่องคลอดแล้ว มันยังก่อโรคอื่นๆ จากการสะสมของแบคทีเรียด้วย ซึ่งหลายคนที่มองว่าใช้แผ่นเดียวพอ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อยๆ จริงๆ มันสำคัญต่อสุขภาพและช่องคลอดเรามาก” 

คำตอบจาก เบสท์-ฟ้าใส เชี่ยวบางยาง และ ริน-รินทร์ อินทโรดม นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ริเริ่มแคมเปญ #DontBleedMyPurse หรือ #เสียเลือดไม่เสียตังค์ ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ทั้งคู่พูดคุยกับ WAY ถึงปัญหาการเก็บภาษีผ้าอนามัย ที่นอกจากจะสะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมแล้ว ยังสะท้อนการที่รัฐไม่เห็นความสำคัญต่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชนด้วย เพราะกลุ่มคนเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยจากการไม่ฟรีของผลิตภัณฑ์ ทำให้พวกเธอไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต

แคมเปญดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของประจำเดือน และความจำเป็นของผ้าอนามัย พร้อมสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ภาษีผ้าอนามัย ตลอดจนผลักดันและสนับสนุนให้มีการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

#DontBleedMyPurse 

เพราะผู้หญิงหรือผู้มีประจำเดือนในประเทศไทยต้องเสียเงินซื้อผ้าอนามัยประมาณ 45-315 บาท หรืออาจสูงได้ถึง 350-400 บาท ต่อการมีประจำเดือนหนึ่งครั้ง ซึ่งแตกต่างกันไปตามเกรดของผ้าอนามัยที่เลือกใช้ และปริมาณเลือดที่ออกในช่วงมีประจำเดือน

เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาทต่อวันในกรุงเทพฯ จึงอาจกล่าวได้ว่า เงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่มีรายได้น้อย

“จากประสบการณ์ส่วนตัวคือ เราซื้อผ้าอนามัยแล้วหมดเงินไปเกือบครึ่งพัน ก็รู้สึกทำไมแพงจัง แต่มันไม่ได้เป็นปัญหากับเราขนาดนั้น เพราะยังพอจ่ายได้ แต่คนที่จ่ายไม่ไหวล่ะ เลยเกิดคำถามว่ามันควรเป็นอย่างนี้ต่อไปเหรอ ในเมื่อสิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐควรจัดให้ 

“เราเห็นแฮชแท็กของต่างประเทศ เช่น #freeperiod #DontTaxMyPeriod ก็เข้าไปอ่าน จึงตระหนักว่านี่มันปัญหาใหญ่และเป็นกันทั่วโลก แล้วเพื่อนเรามีไอเดียเรื่องนี้พอดีก็เลยร่วมด้วย” 

photo: https://www.freeperiods.org

คำบอกเล่าของฟ้าใสต่อปัญหาผ้าอนามัยราคาแพง และการตระหนักถึงปัญหาการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญของริน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำแคมเปญ ‘Don’t Bleed My Purse’ หรือ ‘เสียเลือดไม่เสียตังค์’ ที่ร่วมกับ The Standing Committee on Sexual and Reproductive Health Including HIV/AIDS (SCORA) คณะกรรมการหรือกลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่อยากสร้างพื้นที่ให้กับปัญหาเรื่องเพศ ซึ่งทำงานภายใต้สมาพันธ์นิสิตแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย 

แคมเปญมีจุดประสงค์ 3 ข้อ ดังนี้

หนึ่ง – ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย 

สอง – สร้างสวัสดิการผ้าอนามัยให้กลุ่มคนที่ยังไม่มีรายได้ เช่น นักโทษหญิง นักเรียน นักศึกษา

สาม – ลดค่านิยมที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับประจำเดือน เพราะยังมีคนมองว่าประจำเดือนเป็นเรื่องที่ไม่ดีหรือเป็นของต่ำ เนื่องจากไม่มีการปลูกฝังความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้อง 

“โครงการเราอยากจัดให้มีกิจกรรมที่พูดถึงเรื่องผ้าอนามัยหรือประจำเดือนให้เป็นเรื่องปกติที่ใครก็พูดได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือไม่ใช่สิ่งไม่ดี การพูดถึงสุขอนามัยช่องคลอดที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ” ฟ้าใสกล่าว

เพื่อให้คนในสังคมเข้าถึงสุขอนามัยที่ดีมากขึ้น คณะทำงาน SCORA จึงร่วมมือกับองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายสวัสดิการและฝ่ายพัฒนาบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม จัดแคมเปญ ‘ผ้าอนามัยฟรี’ ให้เป็นสวัสดิการของจุฬาฯ โดยจัดเตรียมผ้าอนามัยไว้สำหรับผู้มีประจำเดือนที่เข้ามาใช้บริการพื้นที่ส่วนกลางภายในมหาวิทยาลัย

“แกนกลางของแคมเปญเราคือ การยกเลิกภาษีผ้าอนามัย แต่ถ้าจะรอรัฐอาจต้องเป็นกระบวนการที่ยาวขึ้น ดังนั้น การที่จะจัดสวัสดิการนี้ให้นิสิต มหาวิทยาลัยจึงเป็นองค์กรที่สามารถเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้” 

มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานแรกในการจัดทำสวัสดิการพื้นฐาน เนื่องจากทั้งคู่เห็นว่า นิสิต นักศึกษา บางส่วนยังไม่สามารถหารายได้เองได้ การเสนอให้มีสวัสดิการเช่นนี้ขึ้นจึงเป็นการนำร่องให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ทำตาม เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี โดยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ง่ายภายในรั้วสถานศึกษา

ไม่ใช่จาก 0 แต่ผู้มีประจำเดือนเริ่มจาก -1

“ปัจจุบันร่างกายของเรากำลังถูกรัฐบาลเอาเปรียบ เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผู้มีประจำเดือนต้องแบกรับภาษีมูลค่าเพิ่มของผ้าอนามัย ทั้งๆ ที่ประจำเดือนเป็นเรื่องที่มนุษย์ที่มี biological gender เป็นผู้หญิงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การที่เพศหญิงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในผ้าอนามัยทุกๆ เดือน มันเหมือนเราโดนเลือกปฏิบัติ โดนเก็บภาษีที่เกิดมาเป็นผู้หญิง 

“ในระบอบปิตาธิปไตย กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือผู้หญิงเอง ค่อนข้างโดนกดจากระบอบนี้ ทำให้เป็นกลุ่มที่เห็นและตระหนักถึงสิ่งที่เป็นปัญหาเหล่านี้ได้ง่ายที่สุด”

คำพูดของรินและฟ้าใสสะท้อนปัญหาจากระบอบปิตาธิปไตยที่ทำให้เพศทางเลือกหรือเพศหญิงถูกกดขี่ จนนำมาสู่ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในปัจจุบัน

“คำว่าเท่าเทียมที่เราพูดถึง คือเหมือนการเกิดมามีประจำเดือนของผู้ที่มี biological gender เป็นผู้หญิงและโดนเก็บภาษี มันเหมือนเราเริ่มต้นที่ -1 ขณะที่เพศอื่นเริ่มที่ 0 เพราะไม่โดนเก็บภาษี” 

การเรียกร้องให้กลับมาเป็น 0 ของการยกเลิกภาษีผ้าอนามัย สำหรับรินแล้วจึงเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเท่าเทียมสำหรับทุกคน 

กล่าวคือ ไม่ใช่แค่เพศหญิงเท่านั้นที่ต้องจ่ายเงินซื้อผ้าอนามัย ทว่าเพศทางเลือกอย่าง transmen หรือ คนข้ามเพศจากหญิงเป็นชาย บางคนยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ และยังมีประจำเดือนและมดลูกอยู่ ก็มีความจำเป็นในการใช้ผ้าอนามัยเช่นกัน

“transmen ในอเมริกามีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเพศแล้ว และมีค่อนข้างเยอะที่ยังต้องการผ้าอนามัยอยู่ ดังนั้น ควรที่จะ include พวกเขาเข้าไปในกลุ่มของผู้ที่ต้องใช้ผ้าอนามัยหรือมีประจำเดือนด้วย นี่คือเหตุผลที่ทาง SCORA ใช้คำว่ากลุ่มผู้มีประจำเดือนแทนคำว่ากลุ่มผู้หญิง เพราะยังมีอีกหลายคนที่ไม่ใช่ผู้หญิง แต่ต้องใช้ผ้าอนามัย” 

นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงการเรียกร้องการแจกผ้าอนามัย ให้เหมือนกับการแจกถุงยางอนามัย ในแง่นี้ทั้งสองให้ความเห็นว่า การเรียกร้องกำลังสะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศอยู่เช่นกัน

“สิ่งที่คล้ายกันของสองอย่างนี้คือ เป็นของใช้จำเป็น และมีความสำคัญต่อ reproductive health (อนามัยการเจริญพันธุ์) แต่ความแตกต่างคือ ถุงยางมีความจำเป็นสำหรับทุกเพศ เพื่อป้องกันโรค แต่สามารถควบคุมการใช้ได้ ส่วนผ้าอนามัยมันจำเป็นสำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และใช้เพื่อการรักษาสุขอนามัย ซึ่งสำหรับกระบวนการธรรมชาติของร่างกาย เราควบคุมไม่ได้ มาเมื่อไหร่ก็ใช้เมื่อนั้น” รินกล่าว

“ทั้งสองสิ่งควรเป็นสิ่งที่รัฐจัดเตรียมให้อยู่แล้ว เพราะว่าถุงยางจำเป็นสำหรับทุกเพศ ทั้งป้องกันเรื่องโรคและควบคุมประชากร รัฐอาจจะมองว่าทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน แต่สำหรับ sanitary product หรือ period product รัฐอาจมองว่าเป็นสิ่งที่เหมือนจะใช้แค่ผู้มีประจำเดือน ดังนั้น ถ้ายกเลิกภาษีส่วนนี้ จะกลายเป็นผู้มีประจำเดือนได้รับการยกเว้น แล้วจาก 0 จะกลายเป็น +1 ทั้งๆ ที่ความจริงคือจาก -1 ต้องการเป็น 0” ฟ้าใสอธิบาย

เธอได้ขยายให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศให้ชัดเจนขึ้น ผ่านตัวอย่างประเด็น pink tax หรือ ‘ภาษีสีชมพู’ ที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง

“ในระดับโลกกำลังมีประเด็น pink tax อยู่ มันคือภาษีที่เก็บเพราะเป็นผู้หญิง เช่น สินค้าที่มีลายน่ารักกว่าของผู้ชาย หรือน้ำหอมกลิ่นผู้หญิงก็มี tax แพงขึ้น 

“สำหรับเรามันคือภาษีที่ไม่เท่าเทียมทางเพศ ซึ่งภาษีผ้าอนามัยก็อยู่ในนั้นเหมือนกัน ในต่างประเทศมีข้อโต้แย้งกันอยู่ เช่น อังกฤษบอกว่าผ้าอนามัยผลิตยากกว่า ต้องทำดีไซน์สวยๆ หรือมีกลิ่นต่างๆ ให้หลากหลาย ดังนั้น ผู้หญิงจ่ายมากกว่า ถูกแล้ว ในขณะที่มีดโกนผู้ชายไม่เก็บภาษี มันกลายเป็นว่าแค่เรามีเพศสภาพเป็นผู้หญิงก็ถูกเก็บภาษีแล้ว ซึ่งผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่ point out ได้อย่างชัดเจนที่สุด”

ไม่เพียงแค่ความเท่าเทียม แต่ต้องเป็นบริการขั้นพื้นฐาน 

“That’s right, Scotland has become the first country in the world to make period products free for all. Because in Scotland, we believe it’s fundamental to dignity, equality and human rights.” 

Scottish Parliament

หรือแปลเป็นไทยว่า “ใช่แล้ว สก็อตแลนด์กลายเป็นประเทศแรกที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนฟรีสำหรับประชาชน เพราะในประเทศสก็อตแลนด์ เราเชื่อว่านี่คือพื้นฐานของเกียรติภูมิ ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชน” 

ข้อความจาก Scottish Parliament หรือ @ScotParl แอคเคาท์ทวิตเตอร์ทางการของประเทศสก็อตแลนด์ ที่กล่าวถึงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อการให้บริการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับประจำเดือนฟรี

สำหรับฟ้าใส ประโยคข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า “รัฐบาลสก็อตแลนด์คำนึงถึงเรื่องความเท่าเทียม และสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงหรือผู้มีประจำเดือนเป็นสวัสดิการจากรัฐ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน”

ดังนั้น การยกเลิกภาษีผ้าอนามัย จึงไม่ใช่เรื่องที่เรียกร้องเฉพาะคนเพศใดเพศหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่คือการเรียกร้องเพื่อคนทุกคนในสังคม

“ภาษีผ้าอนามัยเป็นเรื่องของทุกคน เพราะการที่รัฐไม่สามารถให้บริการ primary health care (การสาธารณสุขมูลฐาน) ได้ มันสื่อถึงการดูแลที่ไม่ทั่วถึงของรัฐ ฉะนั้นถ้าเราเรียกร้องได้สำเร็จ สิ่งนี้จะเป็นขั้นแรกของการเรียกร้องสวัสดิการรัฐ ซึ่งสุดท้ายผู้ได้ประโยชน์ก็คือทุกคน ไม่ว่าจะมีประจำเดือนหรือไม่มีก็ตาม” รินกล่าว

“ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องของทุกคน เพราะทุกคนอยู่ในสังคมเดียวกัน การเมืองและรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของทุกคน เราอาจไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มเปราะบางหรือผู้เสียประโยชน์แล้วเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การที่เรามองเห็นปัญหา ในฐานะมนุษย์ที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน การเรียกร้องให้ได้รับสวัสดิการที่สมควรจากภาครัฐ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือกันและกันได้

“ขณะเดียวกัน คนที่ใช้ผ้าอนามัยไม่ได้มีแค่ผู้หญิงหรือผู้มีประจำเดือน อย่างคนที่เป็นริดสีดวงทวาร หรือมีเลือดออกจากช่องทางอื่น ก็สามารถใช้ผ้าอนามัยได้เหมือนกัน มันเลยเป็นมากกว่าแค่สินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าประเภทที่ไม่ต้องมีก็ได้ แต่มันเรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์สุขอนามัย ดังนั้นก็ควรจัดเป็น primary health care หรือสุขอนามัยที่ประชาชนควรได้รับเป็นสวัสดิการจากรัฐ ไม่ใช่รัฐผลักภาระให้ประชาชนต้องจ่ายเพื่อสุขภาพของตัวเอง” ฟ้าใสเสริม

การที่ประเทศหรือรัฐหนึ่งๆ ไม่เห็นถึงความสำคัญของการยกเลิกภาษีผ้าอนามัย สะท้อนออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ 

ส่วนแรก – แสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม 

ส่วนที่สอง – แสดงว่ารัฐไม่สามารถจัดหา primary health care ที่ครอบคลุมประชาชนทุกคนหรือทุกกลุ่มได้

ส่วนที่สาม – แสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในสังคม

“ภาษีผ้าอนามัยสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง ว่าผู้มีประจำเดือนแทบไม่ต้องคิดด้วยซ้ำว่าวันพรุ่งนี้จะมีข้าวกินไหม เพราะต้องเอาเงินมาซื้อผ้าอนามัยก่อน กลุ่มเปราะบางบางคนถึงขั้นต้องขาดงาน หรือไม่ไปโรงเรียน เพราะไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของเขา มันคือ primary health care ที่รัฐไม่สามารถรับรองความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ 

“มันสะท้อนความไม่เท่าเทียมทางรายได้ การมีประจำเดือนต้องใช้ผ้าอนามัย 4 ชิ้นต่อวันเป็นอย่างต่ำ ถ้าเฉลี่ย 5 วัน ใช้ 20 แผ่น ตกแผ่นละ 5 บาท รวมเป็นเงิน 100 บาท คนบางกลุ่มอาจคิดว่าเงินจำนวนนี้ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตเขา แต่สำหรับกลุ่มคนเปราะบางที่มีรายได้ต่ำ นั่นคือปัญหาที่ผู้มีรายได้สูงมักมองไม่เห็น” เสียงจากฟ้าใส

เสียงของประชาชนมีความหมาย อย่าปล่อยให้ภาษีผ้าอนามัยเงียบหาย

ประเทศเคนยา คือประเทศแรกที่มีการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยสำเร็จในปี 2004 ส่วนอินเดีย แคนาดา เยอรมนี และอังกฤษ คือประเทศล่าสุดที่ยกเลิกภาษีดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2021

ฟ้าใสเห็นว่ากระบวนการของแต่ละประเทศมีความหลากหลายและแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่จะทำให้การยกเลิกภาษีเป็นจริงได้ คือการผลักดันให้เป็นกฎหมาย โดยการร่วมมือกันของภาคประชาชน 

“ถ้าจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมต้องมีนักกิจกรรมหรือกลุ่มคนที่เรียกร้อง อย่างสก็อตแลนด์ก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองที่ออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เข้ายื่นเรื่องกับ ส.ส. ทำให้ประเด็นนี้ถูกผลักดันต่อ” ฟ้าใสกล่าว

โมเดลข้างต้นเป็นรูปแบบเดียวกับไทย กล่าวคือ ในระดับกฎหมาย วันที่ 24 มีนาคม 2021 กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการยื่นเสนอร่างกฎหมายต่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมี นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษก กมธ. เป็นผู้รับเรื่อง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณา

รินและฟ้าใสกล่าวว่า ในขั้นตอนกฎหมายอาจต้องใช้เวลานาน แต่ก็มีแนวโน้มการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยที่อาจเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้มีประจำเดือนต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นหลายเท่า ทั้งคู่เห็นว่าหากภาครัฐมีการปรับหรือแก้ไขภาษีในส่วนนี้ก็จะช่วยบรรเทาและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กลุ่มเปราะบางได้

“เราคิดว่าภาษี 7 เปอร์เซ็นต์จากผ้าอนามัยมันไม่ได้เยอะมาก รัฐสามารถหารายได้จากภาษีอย่างอื่นไปทดแทนได้ เช่น ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ถ้าสมมุติลดได้ ก็จะทำให้กลุ่มคนเปราะบางเข้าถึงผ้าอนามัยได้มากขึ้น” รินกล่าว

“รัฐควรจัดให้เป็นสวัสดิการผ้าอนามัยแก่กลุ่มคนที่ยังไม่มีรายได้ เช่น สวัสดิการนักโทษภายในคุก หรือนักเรียน นักศึกษา ซึ่งส่วนนี้เราอาจสามารถขอความร่วมมือกรมราชทัณฑ์หรือมหาวิทยาลัยให้มองว่า นี่เป็นสวัสดิการที่ควรมีในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งสามารถเริ่มจากกลุ่มไปก่อนได้” ฟ้าใสแสดงความเห็น

การออกมาพูดถึงปัญหาและออกมารณรงค์ให้มีการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยอย่างต่อเนื่องของภาคประชาสังคม นับเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียมและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมได้

“สิ่งที่ทำได้ในฐานะประชาชน คือช่วยกันให้ความสนใจในประเด็นนี้ และไม่ปล่อยให้เงียบหายไป ต้องคอยให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อคนกลุ่มใหม่เพื่อกระพือกระแส และกระตุ้นให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของประเด็นปัญหานี้ และเร่งดำเนินการรับร่างและบังคับใช้กฎหมายโดยเร็วที่สุด” รินกล่าว

“แคมเปญของเราที่ผ่านมามีการทำ trend tag เชิญคนมาร่วมกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูล หรือทำ filter ig หรือ #เสียเลือดไม่เสียตังค์ #DontBleedMyPurse และประสาน กมธ. ให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ เพื่อไม่ให้กระแสเงียบหายไป เพราะถ้ายังมีประชาชนออกมาเคลื่อนไหว รัฐก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้” ฟ้าใสเสริม

อีกทั้งเธอเห็นว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนออกมาร่วมมือกัน และทำให้พวกเขาตระหนักถึงปัญหาก็คือ การให้ความรู้ความเข้าใจอย่างทั่วถึงและถูกต้องกับคนในสังคม

“ในระยะสั้น ควรเน้นให้ผู้คนมีความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับผ้าอนามัยและประจำเดือน และเข้าใจเพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้นว่าปัญหายังมีอยู่ บางคนอาจยังไม่ตระหนักเพราะไม่เคยรับรู้ปัญหานี้มาก่อน เพราะฉะนั้นการเผยแพร่ข่าวสารจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก 

“ส่วนระยะยาว คิดว่าเป็นเรื่องระบบการศึกษา ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง ก็จะเป็นการสร้างความรู้ที่ยั่งยืนให้กับประชาชนหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถ้าเขาเข้าใจหรือมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขอนามัย หรือสอนให้ยกเลิกค่านิยมที่กดทับความไม่เท่าเทียม ทุกคนก็จะสามารถมองเห็นปัญหาได้ง่ายขึ้น และสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดสวัสดิการและเกิดการเปลี่ยนแปลงได้” ข้อคิดเห็นจากฟ้าใส

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกเก็บภาษีผ้าอนามัยหรือไม่ก็ตาม รินและฟ้าใสอยากให้ทุกคนเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้กำลังกดทับประชาชนอยู่ 

หากผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้าใจถึงปัญหานี้อย่างแท้จริงก็จะตระหนักได้ว่า การเก็บภาษีผ้าอนามัยคือความไม่เท่าเทียม และรัฐไม่ควรกระทำซ้ำเติมกับประชาชนผู้ซึ่งเจ็บปวดจากประจำเดือน (period pain) และเจ็บปวดจากความยากจน (poverty pain) 

อ้างอิง

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า