Direk’s Talk: มองทิศทางการเมืองโลกผ่านประเทศมหาอำนาจ

ภาพ:  อิศรา เจริญประกอบ

ครึ่งปึ 2017 ผ่านไปไวเหมือนโกหก หากย้อนมองหกเดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่ากระแสการเมืองโลกร้อนแรงขึ้น แต่คนไทยมักมองว่า ‘การเมืองระหว่างประเทศ’ เป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความเป็นจริง ทุกอย่างถูกผูกติด ยึดโยง เกี่ยวร้อย ทับซ้อน พัวพันกัน และหลีกหนีไม่ได้จากกระแสโลกาภิวัตน์ แม้ไทยแลนด์อยากจะหนีให้ไกลหรือหวนคิดถึงอดีตมากแค่ไหน แต่ก็ไม่อาจหนีพ้นการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่เชื่อมโยงผลกระทบทั้งแง่บวกและลบส่งตรงถึงบ้านเรา

เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม ได้ยกขบวนอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งสามสาขา ได้แก่ การเมืองการปกครอง บริหารรัฐกิจ และการระหว่างประเทศ หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละสาขามาเล่าสู่กันฟัง ผ่านงาน ‘Direk’s Talk’ ในหัวข้อ ‘ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ’ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

และต่อไปนี้คือ บทเรียนจากสาขาการระหว่างประเทศ การมองทิศทางการเมืองโลก ผ่านประเทศมหาอำนาจ ฉบับรวบรัด มัดตึง

จีน: พัฒนาแสนยานุภาพทางทหารไว้โชว์ ไม่ใช่ไว้รบ

จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมากว่า 40 ปี  อธิบายถึงประเด็นที่จีนหันไปเน้นพัฒนาบทบาททางการทหารเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผ่านงานวิจัยเรื่อง ‘แสนยานุภาพและบทบาทของกองทัพจีนในกิจการระหว่างประเทศ’

จุลชีพเล่าถึงจุดเริ่มต้นของกองทัพจีนที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำสงครามปฏิวัติ ฉะนั้นความสัมพันธ์ของกองทัพและพรรค จึงเป็นไปในลักษณะที่กองทัพไม่ใช่เพียงปกป้องประเทศอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องปกป้องพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย

ในอดีต กองทัพมักอยู่ภายใต้การชี้นำของคณะกรรมาธิการกลาโหมส่วนกลางจากพรรคคอมมิวนิสต์ และคณะกรรมาธิการกลาโหมส่วนกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นั่งอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนที่กองทัพให้การสนับสนุน ก็จะสามารถควบคุมอำนาจได้ทั้งหมด กล่าวคือ ความสัมพันธ์ของทั้งพรรคและกองทัพถูกถักทอผูกโยงกันอย่างพันแน่น

ซึ่งโครงสร้างของกองทัพจีนดังกล่าว เป็นโครงสร้างที่มีมาตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์สามารถสถาปนาอำนาจได้ตั้งแต่ปี 1949 จนถึงปลายเดือนธันวาคมปี 2015 จึงมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง โดยผู้นำรุ่นที่ 5 อย่าง สี จิ้นผิง ได้ปรับให้ศูนย์บัญชาการสูงสุดอยู่ที่ คณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางแทน เพื่อลดอิทธิพลกองทัพบก และกระจายอำนาจให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการสร้างเหล่าทัพขึ้นใหม่ ได้แก่ ทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ และทัพจรวด อีกทั้งยังแยกยุทธภูมิทางทหารออกเป็นห้ายุทธภูมิ แบ่งออกเป็น เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก และกลาง เพื่อให้กระจายออกไปทั่วประเทศ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้จีนตัดสินใจเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทหารของตนให้ทันสมัย จุลชีพอธิบายว่า ส่วนหนึ่งมาจากที่การรบครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1949 เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีน รุ่นที่ 2 พบว่า กองทัพจีนนั้นอ่อนแอและล้าสมัย แต่ตอนนั้นจีนไม่มีทรัพยากรในการพัฒนากองทัพ และต้องการเน้นพัฒนาเศรษฐกิจก่อน ตามสูตรนโยบายสี่ทันสมัย ที่ไล่ความสำคัญจากเศรษฐกิจ เกษตร อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสุดท้ายคือการทหาร

จากบริบทของจีนในช่วงนั้น ที่ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะไปพัฒนาเรื่องทหาร อีกทั้งความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นสิ่งแรกที่ต้องมาก่อนเหนือสิ่งอื่นใด จึงทำให้เรื่องการทหารถูกซ่อนไว้อยู่ใต้พรม

อย่างไรก็ตาม จีนก็มาถึงจุดที่ต้องพัฒนาทางการทหาร เนื่องจากเมื่อกลางทศวรรษที่ 1990 หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง แม้จะไม่มีความขัดแย้งหรือภัยคุกคามในลักษณะสองขั้ว (bi-polar) ตรงข้ามอย่างชัดเจนอีกแล้วก็ตาม แต่จีนเองยังคงมีเหตุปัจจัย ทั้งจากภายนอกและภายใน ที่เร่งเร้าให้จีนนั้นไม่อาจอยู่เฉย นิ่งดูดายความล้าสมัยทางการทหารของตนเองได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุโรปตะวันออก กล่าวคือ หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกแตกกระจาย ทำให้จีนเกิดความรู้สึกกังวลใจกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของจีนเอง ว่าอาจตกเป็นเป้าหมายต่อไปของสหรัฐอเมริกา

ยิ่งไปกว่านั้น แสนยานุภาพทางการทหารของสหรัฐอเมริกาที่ปรากฏให้เห็นในสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1990 ยังชี้ให้เห็นว่า สหรัฐก้าวนำจีนไปหลายก้าว สหรัฐนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนากิจการทหาร ซึ่งกลายเป็นยิ่งทำให้จีนหวาดเกรงมากกว่าเดิม

ส่วนประเด็นที่ผลักดันให้การพัฒนาทางการทหารเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น เป็นผลจากความสำเร็จของนโยบายสี่ทันสมัย จีนสามารถกอบโกยเงินได้เป็นกอบเป็นกำ จากการพัฒนาเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ประกอบกับผลประโยชน์แห่งชาติของจีนเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงนำมาสู่การพัฒนาทางการทหาร

ส่งผลให้กองทัพจีน ภายใต้ สี จิ้นผิง มีการพัฒนาการทหารอย่างรวดเร็วและมีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งขีปนาวุธ ขีดความสามารถทางด้านสารสนเทศ เทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีอวกาศ

เรื่องกิจการระหว่างประเทศของกองทัพจีน จุลชีพอธิบายว่า จีนส่งผู้ช่วยทูตทหารไปประจำประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยบทบาทและภารกิจส่วนใหญ่เป็นสายงานข่าวกรอง แลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงในเวทีการประชุมสำคัญระดับโลก รวมถึงการซ้อมรบ โดยความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างจีนและไทย เริ่มซ้อมรบร่วมกันเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว ช่วงแรกเป็นซ้อมขนาดเล็ก และเป็นกำลังทางบก หลังจากนั้นสามปีจึงขยายเป็นการซ้อมรบกำลังทหารเรือ และสองปีถัดมาเป็นการซ้อมรบกำลังทางอากาศ

สำหรับนโยบายการทหารภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 5 จุลชีพมองว่า มีลักษณะเป็นเชิงรุกและแข็งกร้าวมากขึ้น แม้จีนกล่าวว่า จะพัฒนาทหารอย่างสันติก็ตาม แต่คำว่า ‘สันติ’ ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่ได้หมายความว่า จีนจะยอมประนีประนอมสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สำคัญของจีน เช่น อำนาจอธิปไตยและบูรณภาพดินแดน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า จีนได้ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศที่เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (One Belt, One Road) พาดผ่าน

ชวนอ่าน: ‘สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21’ และ ‘5 โครงการเมกะโปรเจ็คท์’

ดูเหมือนว่า ทางบกอย่างเดียวสำหรับจีนคงไม่พอ เพราะจีนยังต้องการเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเล (Maritime Power) เพื่อทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยจุลชีพชวนย้อนมองดูบทบาทของจีนในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา จีนมีความขัดแย้งร่วมกับไต้หวัน ญี่ปุ่น และบางประเทศในอาเซียนที่มีข้อพิพาททะเลจีนใต้ เห็นได้ว่า จีนพยายามแสดงบทบาททางทะเลอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มในอนาคตทางการทหารของจีน จุลชีพวิเคราะห์ผ่านการศึกษาแสนยานุภาพทางการทหารของจีนที่เพิ่มขึ้นในทุกเหล่าทัพว่า มีความเป็นไปได้ที่จีนจะนำกองทัพต่างๆ ไปใช้ในกิจการระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งเพื่อป้องปราม และเป็นในลักษณะการทูตเชิงบังคับ กล่าวคือ เป็นการสาธิตอำนาจมากกว่าเป็นกำลังปฏิบัติการ และคาดการณ์อีกว่า ใน 4-5 ปีข้างหน้า จีนจะไม่ใช้กำลังในการรบ แต่อาจใช้กำลังเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวนั้นสำคัญสำหรับจีน ตามคอนเซ็ปท์ทางการทหารของจีน คือ “ชนะอย่างไร โดยไม่ต้องใช้กำลัง”

ญี่ปุ่น – อินเดีย: พันธมิตรอำนาจคู่ (ไม่) ใหม่

กิตติ ประเสริฐสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงประเด็นที่แวดวงนักวิชการการระหว่างประเทศกำลังตั้งคำถามกันอยู่ในขณะนี้ว่า จริงหรือที่โครงสร้างอำนาจกำลังแปรเปลี่ยนไป ในหัวข้อ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอินเดียในโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป’

กิตติเริ่มต้นจากการเล่าให้เห็นบริบทโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านประเทศมหาอำนาจต่างๆ และกล่าวว่า ประเทศจีนถือเป็นตัวแปรต้นสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นและอินเดียจับมือกันในช่วงที่ผ่านมา โดยชวนดู One Belt, One Road หรือ ‘เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21’

ญี่ปุ่นและอินเดียถือว่า เมกะโปรเจ็คท์ยักษ์ใหญ่ของจีนในขณะนี้เป็นภัยคุกคามของตน กล่าวคือ เส้นทางสายไหมใหม่ได้สร้างผ่านประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย เช่น เมียนมาร์ ศรีลังกา และปากีสถาน จึงอาจกล่าวได้ว่า อินเดียกำลังถูกล้อมกรอบโดยจีน สร้างความไม่พอใจให้กับอินเดียเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้อินเดียปฏิเสธเข้าร่วมการประชุม One Belt, One Road Summit เมื่อเดือนที่ผ่านมา

ด้านญี่ปุ่น แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหม แต่กิตติวิเคราะห์ว่า เส้นทางสายไหมใหม่ของจีนอาจเป็นสิ่งที่จีนแสดงให้เห็นว่าจีนกำลังสร้าง New Center of Graffiti กล่าวคือ เป็นจุดศูนย์ถ่วงอำนาจเศรษฐกิจและการเมืองโลกใหม่ โดยมีจีนเป็นศูนย์กลาง ขยายไปยังยุโรป แอฟริกา เอเชียกลาง และลงมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – อินเดียและญี่ปุ่นจึงมองว่า จีน คือภัยคุกคามร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจีนและอินเดียจะไม่เคยญาติดีกัน กิตติเล่าย้อนถึง สมัยประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ที่ภาพร่วมของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเป็นไปด้วยดี แต่พอมายุคประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เนื่องจากผลประโยชน์แห่งชาติของจีนเป็นไปในลักษณะที่ค่อนข้างก้าวร้าว ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ หรือเส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งกระทบกับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

ฝั่งความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนนั้น กิตติอธิบายว่า ทั้งสองประเทศเป็นคู่ขัดแย้งกันมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ เช่น ประเด็นเรื่องการเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิของอดีตนายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคอิซูมิ ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์เสื่อมทรามตั้งแต่ตอนนั้น แม้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นะโอะโตะ คัง พยายามปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ก็ไม่ดีขึ้นมากนัก และตกต่ำลงเช่นเคย

โดยเฉพาะเมื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ชินโซ อะเบะ หันไปเน้นบทบาททางความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น ปฏิรูปด้านความมั่นคงขนาดใหญ่ เพื่อให้ญี่ปุ่นมีความสามารถในการปกป้องประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

ค่อนข้างชัดเจนว่า จีนถูกมองว่าเป็นประเทศอันตรายต่อญี่ปุ่นและอินเดีย ดังนั้นแล้ว อินเดียจึงหันไปร่วมมือกับสหรัฐ ประเทศมหาอำนาจที่มีค่านิยมร่วมกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาความสัมพันธ์ทางความมั่นคง เช่น ซ้อมรบร่วมกัน และร่วมมือกันทางพลังงานนิวเคลียร์สำหรับพลเรือน

สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ผลักดันนโยบาย ‘Pivot to Asia’ เป็นยุทธศาสตร์ที่สหรัฐกลับมาสนใจประเทศในทวีปเอเชียอีกครั้ง ส่งผลให้อินเดียและสหรัฐพัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกันให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกันในหลายด้าน บนพื้นฐานของค่านิยมและภัยคุกคามร่วมกัน ซึ่งก็คือ ภัยก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังเป็นที่จับตามองกันอยู่ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะสานต่อการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ เหมือนเมื่อก่อนหรือไม่ โดยนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมที (Narendra Modi) มีแผนเยือนสหรัฐในวันที่ 25 มิถุนายนที่จะถึงนี้

กลับมาสู่ประเด็นที่อยู่ในหัวข้อ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและญี่ปุ่น กิตติเล่าถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งสองมาจากการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ตั้งแต่สมัยที่อินเดียมีนโยบาย ‘มองตะวันออก’ (Look East Policy) ในช่วงยุค 1990

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของหุ้นส่วนคู่นี้ก็ชะงักงันไป เมื่ออินเดียและปากีสถานเกิดข้อขัดแย้งกันทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ปี 1998 และกลับมาจับมือกันอีกครั้งผ่านหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และหุ้นส่วนระดับโลก (strategic and global partnership) ในสมัยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิโร โมริ และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการเยือนกันของผู้นำทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

กิตติแสดงความเห็นว่า การที่ทั้งสองประเทศลงนามกันเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นั้น เพราะต่างฝ่ายต่างเห็นว่า จีนกำลังเป็นภัยคุกคาม จึงจำเป็นที่จะต้องรีบหาพันธมิตร เพื่อป้องกันจีนที่กำลังผงาดขึ้นมา

ส่วนความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นและอินเดียในปัจจุบัน กิตติอธิบายว่า นายกรัฐมนตรีอาเบะ หันไปเน้นการมีค่านิยมสากลร่วมกัน กล่าวคือ ค่านิยมประชาธิปไตย ซึ่งเท่ากับเป็นการโยนเผือกร้อนใส่จีน เพราะจีนเป็นประเทศมหาอำนาจนำในทวีป แต่ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือด้านนิวเคลียร์พลเรือนและทางการทหารเพิ่มขึ้น โดยเน้นเรื่องความมั่นคงทางทะเลร่วมกัน เช่น การซ้อมรบ Malabar หรือ GIMEX เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกับอินเดียกลับไม่ได้แน่นแฟ้นหากเทียบกับความมั่นคง

ทางฝั่งตัวแสดงสำคัญที่ไม่ควรลืมในเวทีโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ กิตติมองว่า กลับจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและอินเดียกระชับมากกว่าเดิม เพราะทรัมป์ชูนโยบาย America’s First กล่าวคือ ผลประโยชน์แห่งชาติสหรัฐต้องมาก่อนเหนือสิ่งอื่นใด โดยทรัมป์เสนอให้ญี่ปุ่นออกเงินและออกแรง เพื่อป้องกันภัยความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีร่วมกับเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น สหรัฐยังถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (The Paris Agreement) ยังไม่นับรวมถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เข้มข้นเหมือนเดิมของสหรัฐกับประเทศในเอเชีย ยิ่งทำให้อินเดียและญี่ปุ่นกระชับความสัมพันธ์เพิ่มขึ้น

ครบรอบความสัมพันธ์ไทย – รัสเซีย 120 ปี: วิเทศพาณิชย์สัมพันธ์ ประเด็นที่ถูกหลงลืม

จิตติภัทร พูนขํา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศทวีปยุโรป โดยเฉพาะรัสเซีย อธิบายถึงเหตุใด เราจึงต้องฉลองครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ไทย – รัสเซีย ผ่านงานวิจัยหัวข้อ ‘ไทย-รัสเซีย: ปริทัศน์ สำรวจวรรณกรรมทางวิชาการว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและรัสเซีย’

จิตติภัทรชวนย้อนมองประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซีย เพื่อทำให้เราเข้าใจปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ผ่านกรอบที่แตกต่างออกไปจากกระแสหลัก ที่มักมองเส้นประวัติศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายเป็นเส้นตรงและมีพัฒนาการต่อเนื่อง เปลี่ยนเป็นกรอบใหม่ที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกหัก ความไม่ต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ ซึ่งเผยให้เห็นแง่มุมอื่นที่ไม่เคยรู้มาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น จุดแตกหักที่ว่า กลับสร้างความสัมพันธ์ชุดใหม่ขึ้นมา

คำอธิบายกระแสหลักเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซียมักบอกว่า ทั้งสองกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้งหลังสงครามเย็น เพราะในช่วงสงครามเย็น ความสัมพันธ์ของทั้งสองถูกกำกับด้วยอุดมการณ์ของแต่ละฝ่าย ที่เชื่อมั่นและยึดติดอยู่กับมัน จนกลายเป็นข้อจำกัดที่จะเดินความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

จิตติภัทรชี้ว่า คำอธิบายดังกล่าวไม่สามารถอธิบายว่า ทำไมไทยกับรัสเซียจึงกลับมาดีกัน และทำไมจึงทำการค้าร่วมกัน กล่าวคือ ไม่สามารถอธิบายในมุมวิเทศพาณิชย์สัมพันธ์ร่วมกันได้ เพราะในช่วงนั้น ไทยและสหภาพโซเวียตได้เจรจาทางด้านการค้าร่วมกัน โดยสหภาพโซเวียตได้ขอซื้อยางกับดีบุกจากไทย

ส่วนในประเด็นทำไมไทยกับสหภาพโซเวียตจึงกลับมาปรับความสัมพันธ์กันในช่วงผ่อนคลายความตึงเครียด (Détente) ปี 1968-1969 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐและรัสเซียมีความตั้งใจลดความตึงเครียดจากการแข่งขันการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ หันมาพูดคุยและร่วมมือกันทางเศรษฐกิจแทน โดยจิตติภัทรให้คำตอบว่า แท้จริงแล้วไทยต่างหาก ที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อน

ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงนั้นกล่าวสุนทรพจน์ว่า ไทยจะปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียและจีน ก่อให้เกิดการลงนามข้อตกลงทางการค้าด้วยกันเป็นฉบับแรก (และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน) ตามมาด้วยข้อตกลงทางการบิน

และตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา การค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มสูงถึงห้าเท่า อีกทั้งไทยยังยกเลิกกฎหมายห้ามทำการค้ากับกลุ่มประเทศสังคมนิยม นำสู่การเยือนสหภาพโซเวียตของนายกรัฐมนตรี เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เดือนมีนาคมปี 1979 หลังจากเดินทางเยือนสหรัฐไม่นาน

โดยจิตติภัทรมองว่า คำอธิบายกระแสหลักง่ายดายเกินไปที่จะอธิบายความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งมองไม่เห็นถึงพลวัตสำคัญที่ไทยกับรัสเซียมีร่วมกัน นอกจากนั้นยังหลงลืมความสัมพันธ์ชุดใหม่ เช่น อัตลักษณ์ร่วมกันระหว่างไทยและรัสเซีย โดยยกตัวอย่างว่า หากรัสเซียมีนโยบายที่เน้นตะวันตก หรือมีความเป็นตะวันตกนิยมมากขึ้น รัสเซียก็จะให้ความสำคัญกับประเทศในเอเชียรองลงมา หรือหากรัสเซียในช่วงนั้นมีนโยบายแบบยูเรเชีย (Eurasia) ก็จะลดความสำคัญกับยุโรป และให้ความสำคัญกับเอเชียมากกว่า รัสเซียก็จะหันมามองไทยมากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้รัสเซียให้ความสนใจกับเอเชียนั้น จิตติภัทรตอบว่า ส่วนหนึ่งมาจากการโดนเบียดขับออกมาจากยุโรป เห็นได้ชัดจากในกรณีหลังวิกฤตการณ์ไครเมีย (Annexation of Crimea) ปี 2014 ที่ยุโรปพากันคว่ำบาตรรัสเซีย

การมองผ่านแว่นทั้งสองแบบของรัสเซียจึงนำมาสู่อัตลักษณ์ร่วมกันของไทยและรัสเซียเอง โดยจิตติภัทรยกตัวอย่างความสอดคล้องที่มีร่วมกัน เช่น รัฐบาลทักษิณและรัสเซียมีท่าทีนิยมตะวันตกเหมือนกัน หรือสมัยอภิสิทธิ์ ไทยมีค่านิยมตะวันตก ตรงกันข้ามกับรัสเซียที่เป็นปฏิปักษ์กับตะวันตก นำมาสู่ประเด็นขัดแย้งระหว่างทั้งสองในกรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน วิคเตอร์ บูท (Viktor Bout) พ่อค้าอาวุธรัสเซีย และสมัยปัจจุบัน ภายใต้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีท่าทีต่อต้านตะวันตกเหมือนกัน

จิตติภัทรได้สรุปพร้อมทั้งเน้นย้ำว่า งานของเขาต้องการชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหลงลืม และหวังว่าจะนำมาสู่การเปลี่ยนเรื่องเล่าแบบเดิมที่อธิบายความสัมพันธ์ของไทยและรัสเซีย นำมาสู่การกำหนดผลประโยชน์ของประเทศในอนาคต

แต่ประเด็นที่ไม่ควรลืมในการกำหนดท่าทีและนโยบายกับรัสเซียเพื่อเปิดตลาดทางการค้า กลับหนีไม่พ้นการทูตและการเมือง กล่าวคือ ระบอบการปกครองรัสเซียเป็นแบบประชาธิปไตยที่มีการจัดการ (sovereign democracy) ที่เน้นองค์อธิปัตย์ เน้นอำนาจรัฐ และหากสิทธิประชาชนขัดแย้งกับอำนาจอธิปไตย รัฐต้องมาก่อน ดังนั้น การทูตและการเมืองจึงเป็นประเด็นที่จะเปิดทางให้กับเศรษฐกิจ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในแง่มุมวิเทศพาณิชย์สัมพันธ์ จะช่วยให้ไทยได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น

ฉะนั้นแล้ว คำถามที่ว่า เราจะฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 120 ปี ไทย – รัสเซียอย่างไร จิตติภัทรเสนอว่า ถ้ากลับไปดูประวัติศาสตร์ กลับไปดูจุดกำเนิด เราจะเห็นประเด็นที่เราละลืมนั่นก็คือ วิเทศพาณิชย์สัมพันธ์

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า