รางวัลโนเบลคือหนึ่งในรางวัลที่คนทั่วโลกจับตามองและให้การยอมรับอยู่เสมอในสังคมอารยะ อย่างไรก็ตาม การประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2021 นี้กลับยิ่งแสดงให้เห็นถึงความหดหู่ของเสรีภาพทางการสื่อสารในประเทศรัสเซีย เมื่อหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลออกมากล่าวถึงการได้รับรางวัลของตนเองด้วยการพูดถึงเหล่านักข่าวอีก 6 คนที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2021 สำนักข่าว The Economist ได้รายงานว่า บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าว Novaya Gazeta ดิมิทรี มูราตอฟ (Dmitry Muratov) ได้ออกมายืนสงบนิ่งที่หน้าอพาร์ตเมนต์ของ อันนา โปลิตคอฟสกายา (Anna Politkovskaya) อดีตเพื่อนร่วมงานที่ถูกสังหารเมื่อ 15 ปีก่อน ในวันที่ 7 ตุลาคม 2006 ซึ่งตรงกับวันเกิดของ ประธานาธิบดีวลาดิมี ปูติน และยังกล่าวถึงการคุกคามสื่ออื่นๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“ผมได้รางวัลเพราะรางวัลนี้มอบให้คนที่ตายไปแล้วไม่ได้”
มูราตอฟพูดถึงการคุกคามและลอบสังหารนักข่าวตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งสำนักข่าว Novaya Gazeta นอกจากจะสูญเสียโปลิตคอฟสกายาแล้ว ยังมีนักข่าวอีกทั้งสิ้น 5 คนที่ถูกลอบสังหารเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่ประธานาธิบดีปูตินเรืองอำนาจ ตั้งแต่ ยูริ เชคโกชิกิน (Yuri Shchekochikhin) ถูกวางยาพิษ, อิกอร์ โดมนิคอฟ (Igor Domnikov) ถูกทุบตีด้วยของแข็งจนถึงแก่ชีวิต, อนาสตาเซีย บาบูโรวา (Anastasia Baburova) ถูกยิงที่ศีรษะ, เพื่อนร่วมงานกับสำนักข่าวอย่างนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน นาตาเลีย เอสเตมิโรวา (Natalia Estemirova) และนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน สตานิสลาฟ มาร์คีลอฟ (Stanislav Markelov) ถูกลักพาตัวก่อนจะถูกยิงจนเสียชีวิต รายชื่อเหล่านี้ยิ่งย้ำถึงสิ่งที่มูราตอฟกล่าวให้หนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีก
แต่จุดเริ่มของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้คือใคร สิ่งที่เขาและเพื่อนร่วมงานทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และถูกสังหารไปได้กระทำอันใดไว้บ้าง การกลับมาทบทวนประวัติของสื่อมวลชนผู้นี้อาจจะทำให้เราเข้าใจถึงสถานการณ์การคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพทางการสื่อสารในประเทศรัสเซียได้อย่างชัดเจนขึ้น
อันนา โปลิตคอฟสกายา
(Anna Politkovskaya)ยูริ เชคโกชิกิน
(Yuri Shchekochikhin)อิกอร์ โดมนิคอฟ
(Igor Domnikov)อนาสตาเซีย บาบูโรวา
(Anastasia Baburova)นาตาเลีย เอสเตมิโรวา
(Natalia Estemirova)สตานิสลาฟ มาร์คีลอฟ
(Stanislav Markelov)
สื่อรัสเซียใต้ยุคทมิฬมาร
มูราตอฟเกิดในสมัยของสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 1961 และเริ่มเป็นที่โด่งดังระดับประเทศ (หรืออาจจะถึงระดับโลก) ในปี 1993 เมื่อเขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าว Novaya Gazeta เนื่องจากสำนักข่าวของเขาเชี่ยวชาญในประเด็นการสืบสวนสอบสวนเรื่องราวของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป ซึ่งในสมัยนั้นยังคงเป็นเรื่องแปลกในแผ่นดินรัสเซีย ซึ่งต่อมาคณะกรรมการปกป้องนักข่าว (Committee to Protect Journalists) ได้ยกย่องว่า Novaya Gazeta คือหนึ่งในสำนักข่าวที่ตรงไปตรงมาและทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งในรัสเซีย
สำนักข่าวนี้ได้ถ่ายทอดความเชื่อและอุดมการณ์ของมูราตอฟออกมาผ่านการกระทำอย่างแน่วแน่ ข่าวที่เขามักนำเสนอส่วนใหญ่คือ เรื่องการทุจริตของผู้มีอำนาจ การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ และสิทธิเสรีภาพที่ถูกกดขี่ ซึ่งกลายเป็นประเด็นปัญหาที่หนักข้อมากขึ้น แต่น้อยคนจะกล้าพูดถึงอย่างตรงไปตรงมานับตั้งแต่ประธานาธิบดีปูตินขึ้นครองอำนาจในปี 2000
สำนักข่าวที่มีพนักงานเพียงประมาณ 50 คน แต่ทำเรื่องยิ่งใหญ่เช่นนี้จึงต้องเผชิญกับราคาของการพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมาในสังคมรัสเซียนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปี 2001 Novaya Gazeta กล่าวหาว่าอดีตนายกรัฐมนตรี เซอร์กีย์ คิริเยนโก (Sergey Kiriyenko) ยักยอกเงินที่ได้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จำนวน 4.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 1998 ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้คิริเยนโกฟ้องร้องสำนักข่าวกลับและชนะคดีในที่สุด ซึ่งนอกจากการตกเป็นเป้าทางกฎหมายแล้ว การคุกคามทางด้านอื่นๆ อย่างจดหมายข่มขู่ก็ตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการขุดค้นคดีเกี่ยวกับการฆาตกรรมเกย์ในเชเชน คดีนายทุนใหญ่ที่มีเส้นสายใหญ่โต และการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้มีอำนาจ

ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวของการทำงาน มูราตอฟได้สูญเสียเพื่อนร่วมงานไปถึง 6 คนที่กล่าวได้ว่า ‘เสียชีวิตในหน้าที่’ ซึ่งตลอดการปกครองของประธานาธิบดีปูติน ได้ทำให้สังคมการเมืองของรัสเซียมีลักษณะที่แข็งตัวและไม่เป็นมิตรต่อเสรีภาพทางการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นประชาชน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้นำฝ่ายค้าน ไปจนถึงสื่อมวลชนที่รัฐมองว่าเป็นศัตรู อย่างตัวมูราตอฟและสำนักข่าว Novaya Gazeta เอง การทำหน้าที่ของพวกเขาจึงทำให้สังคมโลกภายนอกรัสเซียชื่นชมในความกล้าหาญ เนื่องจากชีวิตของพวกเขากำลังอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา
ในปี 2017 มูราตอฟได้ถอยลงมาจากตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ เนื่องจากความเหนื่อยล้าจากการทำงาน อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 เขาก็ได้กลับมารับตำแหน่งอีกครั้งภายหลังจากพนักงานลงมติเรียกร้องให้เขากลับมาดำรงตำแหน่ง
โนเบลสาขาสันติภาพ รางวัลที่คนตายไม่ได้รับ
“รางวัลนี้ไม่ใช่ของผม”
มูราตอฟกล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Meduza เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2021 เมื่อถูกถามถึงการได้รับรางวัลโนเบลดังกล่าว โดยเขาได้ขยายความต่อไปว่า รางวัลโนเบลไม่ได้มีไว้เพื่อมอบให้กับผู้ที่จากไป แต่มีไว้สำหรับการมอบให้แก่คนเป็น ซึ่งเขาคิดว่าทางคณะกรรมการมอบรางวัลคงอยากที่จะมอบให้ใครสักคนที่มีความเกี่ยวข้องและยังต่อสู้เช่นเดียวกับ ยูริ เชคโกชิกิน, อิกอร์ โดมนิคอฟ, อนาสตาเซีย บาบูโรวา, นาตาเลีย เอสเตมิโรวา, อันนา โปลิตคอฟสกายา และ สตานิสลาฟ มาร์คีลอฟ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว เขายังนับรวมอดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Novaya Gazeta อย่าง นูราซ มิเคลาดเซ (Nuraz Mikeladze) กับ โซยา อีโรโชค (Zoya Eroshok) ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่ควรเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
“รางวัลนี้เป็นของเพื่อนร่วมงานทุกคนที่เสียชีวิตของผม พวกเขามอบชีวิตให้แก่ประชาชน ต่อสู้กับเผด็จการ และยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการแสดงออก”
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลและผู้มีอำนาจในเครมลินก็แสดงท่าทียินดีต่อการได้รับรางวัลดังกล่าวของมูราตอฟ โดยสำนักข่าว Reuters ได้รายงานเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2021 ว่า โฆษกประจำเครมลิน ดิมิทรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) ได้กล่าวถึงการรับรางวัลของสำนักข่าวที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเครมลินมาอย่างยาวนานนี้ว่า “เราสามารถร่วมแสดงความยินดีกับมูราตอฟได้ เพราะเขาได้ทำงานด้วยอุดมการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ทุ่มเท และมีความสามารถ” รวมถึงยังกล่าวปิดท้ายกับนักข่าวอีกด้วยว่า “มูราตอฟเป็นคนที่กล้าหาญ”
มูราตอฟมีความตั้งใจที่จะนำเงินรางวัลที่ได้จากรางวัลดังกล่าวนี้ไปให้แก่สถานดูแลเยาวชนที่เจ็บป่วย และเมื่อสำนักข่าว Meduza ถามถึงสิ่งที่มูราตอฟเคยกล่าวว่าจะนำรางวัลนี้ไปช่วยเหลือด้านเสรีภาพสื่อในรัสเซียต่อไปว่าจะทำอย่างไรนั้น มูราตอฟกล่าวว่า จะเริ่มประชุมให้แล้วเสร็จถึงแผนการภายในอาทิตย์หน้ากับคณะทำงานทุกคนของ Novaya Gazeta
ที่มา
- A Russian editor says he won the Nobel because his slain colleagues could not
- Global Security.org
- ‘This prize belongs to my lost colleagues’ Novaya Gazeta editor-in-chief Dmitry Muratov on winning this year’s Nobel Peace Prize
- Kremlin welcomes fact that editor who criticises it won Nobel peace prize