เมื่อมดกับราชสีห์ลงเรือล่องโขงไปด้วยกัน

ราว 5 วันก่อนเทศกาลลอยกระทง เทศบาลเมืองหนองคายใช้รถแบคโฮปรับพื้นที่ริมตลิ่งทำทางลงสำหรับประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมงานประเพณีขอขมาแม่น้ำบริเวณชุมชนมีชัยในช่วงเทศกาลงานลอยกระทงในวันที่ 10-11 พฤศจิกายน

ปริมาณกระทงในท้องตลาดเริ่มถูกผลิตออกมาวางขาย สวนทางกับระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย ระดับน้ำที่วัด ณ ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 1.12 เมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 11.08 เมตร ระดับน้ำโขงต่ำสุดในรอบ 50 ปี

เมื่อเปรียบเทียบระดับน้ำในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ระดับน้ำโขงลดลงเกือบ 4 เมตร สำนักข่าวหลายแห่งเผยแพร่ภาพเสาเข็มใต้ตอม่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 โผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้เห็น เช่นเดียวกับทุ่นตาข่ายบรรจุหินใต้เขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง

ชุมชนวัดธาตุใน เขตเทศบาลเมืองหนองคาย เป็นอีกจุดหนึ่งที่ชาวหนองคายและนักท่องเที่ยวนิยมมาลอยกระทง เพราะมีการสักการะพระธาตุกลางน้ำ และยังเป็นจุดที่มีพิธีลอยอังคารหลวงพ่อคูณ แต่คนในชุมชนต้องทำทางขึ้น-ลงเป็นระยะทางไกลกว่า 30 เมตร ในช่วงที่ระดับน้ำโขงจังหวัดหนองคายลดระดับลงอยู่นี้ เราสามารถมองเห็นส่วนฐานพระธาตุกลางน้ำที่ล้มตะแคงจากการกัดเซาะตลิ่งเมื่อครั้งอดีตได้มากกว่า 5 เมตร ชาวบ้านนำผ้า ธงหลากสี และธงชาติ ไปห่มและปักตรงฐานของพระธาตุที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา

วันที่ 9 พฤศจิกายน อัตราการปล่อยน้ำจากเขื่อนจินฮงอยู่ที่ระดับ 836 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อนที่วันรุ่งขึ้นศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) มณฑลยูนนาน ประเทศจีน จะประกาศแจ้งเตือนประเทศผู้ใช้น้ำโขงตอนล่างถึงกำหนดการเพิ่มและลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนจินฮง เหมือนเด็กซนเปิดปิดก๊อกน้ำประปา

หากเอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง ความระทมนั้นอาจติดสันดอนทราย!

วิกฤติความผันผวนของระดับน้ำในแม่โขงเริ่มต้นขึ้นเมื่อฤดูมรสุมได้หายไปในปลายเดือนพฤษภาคม ปริมาณน้ำฝนที่น้อยทั้งภูมิภาค ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงทั้งที่เป็นช่วงฤดูมรสุม สถานการณ์ของแม่น้ำโขงเลวร้ายลง เมื่อผู้ประกอบการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศจีน – จินฮง ซึ่งตั้งอยู่ต้นน้ำ ได้ระงับการปล่อยน้ำเพื่อจุดประสงค์ของตนเอง รวมถึงการทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนสัญชาติไทยในประเทศลาว – ไซยะบุรี

ความจริงแล้ว ระดับน้ำโขงขึ้นลงผิดปกติมาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน 2562 ระดับน้ำเพิ่มระดับตั้งแต่วันที่ 5-11 มกราคม 2562 สูงถึง 2.05 เมตร (วัดที่สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน) สร้างความเสียหายต่อการปลูกพืชริมโขง ซึ่งอยู่ในช่วงต้นฤดูเพาะปลูก ส่งผลให้พืชผักที่อยู่ในระดับน้ำท่วมถึงได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ภายหลังน้ำลด เกษตรกรไม่มั่นใจที่จะลงทุนเพาะปลูกในพื้นที่ริมตลิ่งเดิม เพราะเกรงว่าน้ำโขงจะขึ้นมาอีก1

บทความ ‘เสียงของหมาป่าจากต้นน้ำหลานชางเจียง แม่น้ำโขงในกรงเล็บมังกรจีน’ โดย มนตรี จันทร์วงศ์ ระบุว่า ระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ – 30 มีนาคม 2562 ระดับน้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นมาอีก 1.93 เมตร วัดที่สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน นับเป็นการเพิ่มระดับน้ำที่มีระยะเวลานานถึง 48 วัน ส่งผลให้หาดทรายและเกาะแก่งตลอดแนวริมแม่น้ำโขงจมอยู่ใต้น้ำ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น สร้างความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจชุมชน

แม้ระดับน้ำได้ลดลงในช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างวันที่ 7-11 เมษายน 2562 เนื่องจากเขื่อนในจีนลดการปล่อยน้ำ แต่ไม่อาจฟื้นฟูสภาพหาดทรายและเกาะแก่งธรรมชาติให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เช่นเดิม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ของหลายปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้ลดการระบายน้ำจากเขื่อนจินฮง โดยให้เหตุผลในเรื่องการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า2

มนตรี จันทร์วงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) ชี้ชัดว่า การลดการระบายน้ำของเขื่อนจินฮง เพื่อการรักษาน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่ทั้ง 6 เขื่อนในจีน เป็นไปเพื่อผลประโยชน์โดยตรงของจีนแทบทั้งสิ้น

แม้ว่าฝนจะเริ่มตกลงมาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม แต่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงก็เพิ่มขึ้นอย่างเชื่องช้า ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาเตือนถึงภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ อาจเลวร้ายกว่าภัยแล้งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ซึ่งทำให้เกิดไฟป่าและผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำบริเวณโตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา

ปัจจัยหนึ่งของสภาพความแห้งแล้งในภูมิภาคแม่น้ำโขงเกิดจากกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นปัจจัยผลักดันที่ทำให้ฤดูมรสุมสั้นลงอย่างมาก ขณะเดียวกัน เขื่อนส่วนบนของแม่น้ำโขงก็กำลังก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศแม่น้ำทั้งหมด3

ปัญหาที่แท้จริงของแม่น้ำโขง ไม่ใช่น้ำแล้งหรือน้ำท่วม เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวประชาไท เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“เราพูดถึงความผันผวนของระดับน้ำที่มันผิดแผกจากที่เคยเป็นตามฤดูกาล ผิดธรรมชาติ แม่น้ำโขงมีวงจรน้ำขึ้นน้ำลงตามฤดูกาล ในฤดูฝนที่ฝนตก น้ำก็จะขึ้นตามลำน้ำสาขาต่างๆ น้ำจะท่วมไปถึงที่ราบน้ำท่วมถึง ป่าบุ่ง ป่าทาม และ wet land ต่างๆ พวกตะกอนดินหรือน้ำฝนใหม่ก็จะเป็นตัวส่งสัญญาณให้ปลาชนิดต่างๆ อพยพขึ้นมาตอนบนเพื่อวางไข่ ขยายพันธุ์ พอปลายฝนก็ค่อยๆ ลดลงตามฤดูกาล น้ำในช่วงหน้าแล้งก็จะลดลง กลายเป็นหาดทราย เป็นเกาะแก่ง เป็นระบบนิเวศของแม่น้ำ วงจรเป็นแบบนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงแห่งแรกตอนปี 2539 ตอนนี้สร้างเสร็จไปแล้วถึง 11 แห่ง, 9 แห่งในจีน และ 2 แห่งในลาวที่ไซยะบุรีและดอนสะโฮง มันก็เห็นว่าน้ำขึ้นลงผิดธรรมชาติ นี่คือหัวใจการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง”4

เพียรพร กล่าวด้วยว่า – นี่แค่ปฐมบท

เขื่อนแม่น้ำโขง

แม่น้ำโขงไหลจากหิมาลัยสู่ทะเลจีนใต้ ผ่าน 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ด้วยความยาว 4,880 กิโลเมตร หากคำนวณจำนวนเขื่อนที่ทั้งสร้างเสร็จแล้ว กำลังก่อสร้าง และอยู่ในขั้นวางแผนสร้าง แม่น้ำโขงจะมีเขื่อนกั้นอยู่ถึง 23 แห่ง หรือเฉลี่ยแล้วมีเขื่อนทุกๆ 212 กิโลเมตร จีน 11 เขื่อน ลาว 7 เขื่อน กัมพูชา 3 เขื่อน และอีก 2 เขื่อนเกิดขึ้นบนพรมแดนไทย-ลาว

เมื่อพิจารณาจากภูมิศาสตร์ แม่น้ำโขงไหลผ่านแผ่นดินของประเทศเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติจึงสร้างปัญหาซ้อนทับต่อการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำ เพราะด้านหนึ่งประเทศนั้นๆ มองว่านี่คือกิจการภายใน แต่แม่น้ำโขงไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว การสร้างเขื่อนไซยะบุรีหรือเขื่อนอื่นๆ แม้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนแผ่นดินของประเทศนั้นๆ ก็จริง แต่มันกระทบถึงสิ่งแวดล้อมและผู้คนแบบไร้พรมแดน5

หรือถ้าจะมองผ่านแนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิดในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับแนวคิดเชิงสังคมศาสตร์แบบสิ่งแวดล้อมมนุษยนิยม6 ผลกระทบก็เกิดต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และผู้คนแบบไร้พรมแดนอยู่ดี

มดบางตัวอยากกัดราชสีห์

กล่าวเฉพาะกรณีเขื่อนไซยะบุรี นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องแม่น้ำโขงอย่าง มิลตัน ออสบอร์น (Milton Osborne) แห่งสถาบันโลวี (Lowy Institute) หน่วยงานวิชาการด้านนโยบายต่างประเทศในออสเตรเลีย เคยเตือนไว้ว่า สถานการณ์ในอนาคตของแม่น้ำโขงจะสิ้นสุดสถานะการเป็นแหล่งปลาที่อุดมสมบูรณ์ แม่น้ำโขงตอนล่างจากจีนลงมาจะกลายเป็นแค่อ่างเก็บน้ำที่ไร้ชีวิต

คล้อยหลังวันปฐมฤกษ์การขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการของเขื่อนไซยะบุรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง ที่ก่อนหน้านี้ในปี 2559 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ฟ้องหน่วยงานรัฐในกรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด นั้นไม่สมบูรณ์ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พวกเขาออกมาเผยแพร่รายงาน ข้อเท็จจริง 8 ประการจากผู้เชี่ยวชาญและจากพื้นที่แม่น้ำโขง กรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่มีการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม2562 โต้แย้งข้อมูลของเขื่อนไซยะบุรี

“ต้นแบบของเขื่อนไซยะบุรีอาจจะเรียกได้ว่า ‘สร้างไป ศึกษาไป กู้ไป’ การลงทุนสร้างเขื่อนไซยะบุรี นอกจากผลกำไรจากการก่อสร้างแล้ว ผู้พัฒนาเขื่อนยังระบุอีกว่าจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าถึง 13,000-14,000 ล้านบาทต่อปี (หรือคิดเป็นรายได้ 35-38 ล้านบาทต่อวัน) จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการสัมปทานพัฒนาเขื่อนไซยะบุรี เป็นการนำทรัพยากรส่วนรวมของภูมิภาคอุษาคเนย์ไปใช้สร้างผลกำไรสำหรับบริษัทและครอบครัวไม่กี่ราย” บางส่วนจากรายงาน ระบุ

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand ) ออกแถลงการณ์ เรื่อง เรียกร้องความรับผิดชอบของธนาคารเจ้าหนี้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี

แถลงการณ์ฉบับนี้ นำเอาข้อมูลจากงานวิจัยที่ชี้ว่า เขื่อนไซยะบุรีจะก่อให้เกิดปัญหาข้ามพรมแดนที่เยียวยายากยิ่ง จากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำ กีดกันการไหลของตะกอน และกีดขวางเส้นทางอพยพของปลา ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งทางตรงและทางอ้อม

แถลงการณ์ยังระบุว่า บริษัทไม่เคยเปิดเผยข้อมูลปลา และข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขาดไม่ได้ในการประเมินประสิทธิผลของเทคโนโลยีทางปลาผ่านและแนวโน้มผลกระทบทั้งต่อชุมชนริมฝั่งโขงและระบบนิเวศแม่น้ำ

แนวโน้มผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ตลอดจนความไม่โปร่งใสของโครงการ เป็นมูลเหตุหลักที่แถลงการณ์ฉบับนี้ตั้งคำถามไปที่หัวใจห้องหนึ่งของโครงการ คือ เงินทุนที่ปล่อยกู้

“ธนาคารที่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับโครงการทั้งหกแห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นธนาคารสัญชาติไทย มีแนวทางกำกับบริษัทในฐานะลูกหนี้ของธนาคารอย่างไร โดยเฉพาะในเมื่อธนาคารไทยห้าแห่งที่ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการนี้ อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทิสโก้ ล้วนร่วมลงนามใน “แนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ” (Sustainable Banking Guidelines: Responsible Lending) เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา”

ส่วนท้ายของแถลงการณ์ฉบับนี้ เรียกร้องต่อธนาคารทั้ง 6 แห่ง เร่งรัด บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยข้อมูลสำคัญต่อสาธารณะก่อนการขอเบิกเงินกู้ (drawdown) งวดต่อไป รวมทั้งให้ประกาศรับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ขององค์การสหประชาชาติ และกำหนดให้บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในฐานะลูกหนี้ของธนาคาร ประกาศรับหลักการดังกล่าวด้วย

เมื่อมดอยู่ในเรือของราชสีห์

“เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจากจีน ได้ควบคุมการไหลของน้ำโขงในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างลงมาจนถึงเขตจังหวัดหนองคายของไทยไว้เกือบสมบูรณ์” คือบางส่วนจากบทความของ มนตรี จันทร์วงศ์

มีเขื่อนของจีน 11 แห่งตามลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง แม้จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการดำเนินงานเขื่อนที่ปิดเป็นความลับโดยไม่คำนึงถึงกระแสน้ำและผลกระทบที่จะเกิดแก่ผู้คนที่อาศัยแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งที่จีนไม่ใช่สมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC)

ซาราห์ นัลล์ (Sarah Null) ศาสตราจารย์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ต้นน้ำ มหาวิทยาลัยยูทาห์สเตท (Utah State University) กล่าวว่า การควบคุมการกักเก็บหรือปล่อยน้ำจากเขื่อนของจีน ชี้ให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคในหมู่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

“ประเทศที่ร่ำรวยได้รับประโยชน์จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมากขึ้นรวมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการจัดหาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศที่ยากจนกว่าจะได้รับผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงด้านอาหาร”

คงจะจริงอย่างที่บทความของมนตรีได้เขียนไว้ จีนอาจเป็นผู้กำหนดปริมาณน้ำในแม่โขง และอาจจะควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียด้วย

เพราะระหว่างที่เทศบาลเมืองหนองคายใช้รถแบคโฮปรับพื้นที่ริมตลิ่งในช่วงก่อนเทศกาลลอยกระทงอยู่นั้น ศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ประกาศออกมาในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ว่า จะมีการเพิ่มอัตราการระบายน้ำออกจากเขื่อนด้วยอัตรา 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่เวลา 06.00-08.00 น. ก่อนจะกลับไปลดการระบายน้ำในอัตรา 836 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

จีนยังแจ้งอีกว่า ในเวลา 16.00-18.00 น. ของวันเดียวกัน จะกลับไประบายน้ำจากเขื่อนในอัตรา 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีอีกครั้ง และจะลดลงเหลือเพียงประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สลับกันไปมา

จีนประกาศว่า ต่อจากนี้จะมีการแจ้งอัตราการปล่อยน้ำล่วงหน้าหลายวันเพื่อให้ผู้ที่อยู่ท้ายน้ำได้เตรียมตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำได้ทัน

สำนักข่าวเชียงใหม่นิวส์ ตั้งข้อสังเกตว่า การแจ้งอัตราการระบายน้ำอย่างละเอียดของทางการจีนครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการเปิดใช้เขื่อนจินฮงเมื่อปี 2552 ก่อนหน้านี้จีนแจ้งวิทยุสื่อสารไปถึงคนเดินเรือสินค้าในแม่น้ำโขง บางครั้งแจ้งล่วงหน้าเพียง 1-2 วัน แต่ในครั้งนี้ได้มีการแจ้งข้อมูลล่วงหน้าหลายวันและให้ข้อมูลอย่างละเอียด

สาเหตุที่ทางการจีนกลับมาปล่อยน้ำและลดระดับการปล่อยน้ำจากเขื่อนจินฮงสลับกันไปมา คาดว่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือสินค้าเนื่องจากมีเรือสินค้าของจีน ไทย สปป.ลาว เมียนมาร์ และจีนตอนใต้ แล่นขนส่งสินค้าจำนวนมาก ส่วนช่วงที่ลดการระบายน้ำก็จะเข้าไปปรับปรุงร่องน้ำโขง ตั้งแต่เขตเมืองกาหลันป้า-กวนเหล่ย ในเขตของจีน เพื่อให้การเดินเรือสะดวกและเตรียมการก่อสร้างเขื่อนกาหลันป้าในเขตจีน

นี่แค่ปฐมบท? เพราะเขื่อนที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา คือเขื่อนกั้นแม่โขงที่จังหวัดกระแจะ ในประเทศกัมพูชา – เขื่อนสมโบร์ (Sambor Dam)

‘เขื่อนสมโบร์’ เป็นการร่วมมือกันระหว่างกัมพูชาและจีน โดยจีนเป็นผู้ออกงบประมาณ มีความยาวถึง 18 กิโลเมตร เป้าหมายคือการผลิตและขายกระแสไฟฟ้าให้เวียดนาม 70 เปอร์เซ็นต์ และขายให้ไทย 10 เปอร์เซ็นต์ เตรียมจะสร้างอย่างเร็วที่สุดในปีหน้า หรือปี 2020

ในปี 2018 สำนักข่าว The Guardian รายงานข่าวชิ้นหนึ่งที่พาดหัวว่า ‘Leaked report warns Cambodia’s Biggest Dam could ‘literally kill’ Mekong River’ สรุปข้อค้นพบจากการวิจัยผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสมโบร์ที่ปิดลับของรัฐบาลกัมพูชา ข้อค้นพบสำคัญระบุอย่างชัดเจนว่า “เขื่อนสมโบร์จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมประมง เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวจะปิดทางอพยพของปลาน้ำจืดมายังโตนเลสาบ ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ของกัมพูชา รวมถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง และบริเวณวางไข่ต้นน้ำ”

รายงานชิ้นนี้ ระบุว่า การสร้างเขื่อนสมโบร์ “เป็นการฆ่าแม่น้ำ” และ “ตัวเลือกที่เลวร้ายที่สุดที่จะใช้สร้างเขื่อนหลัก” สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงหลังการสร้างเขื่อนสมโบร์ อาจเลวร้ายยิ่งกว่าเขื่อนไซยะบุรี ที่ส่งผลกระทบต่อปลา 229 สายพันธุ์ และทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำโขงช่วงที่กั้นเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับลาว

“จีนกับไทยได้นั่งเรือลำเดียวกัน” คือคำกล่าวของ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ หลี่ เค่อเฉียง ได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความเข้าใจระหว่างไทย-จีน รวม 3 ฉบับ หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวกับนายกรัฐมนตรีของจีนว่า “มดน้อยบางครั้งก็สามารถช่วยพญาราชสีห์และพญาคชสารได้”

บางที มดน้อยที่พายเรือไม่เป็น ก็อาจจะนั่งอย่างสงบเสงี่ยมบนเรือของราชสีห์ โดยไม่เอาเท้าไปราน้ำ

อ้างอิงข้อมูลจาก:

  1. มนตรี จันทวงศ์, ‘เสียงของหมาป่าจากต้นน้ำหลานชางเจียง แม่น้ำโขงในกรงเล็บมังกรจีน’ 
  2. อ้างแล้ว
  3. Stefan Lovgren, ‘Mekong River at its Lowest in 100 Years, Threatening Food Supply’
  4. กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, ‘เพียรพร ดีเทศน์: แม่น้ำโขง สายน้ำที่กำลังถูกรุมทึ้งทรัพยากร’
  5. โกวิท โพธิสาร, เปลี่ยนแม่น้ำเป็นไฟฟ้า ข้อเท็จจริงเรื่องเขื่อนไซยะบุรี 1 ใน 23 กำแพงยักษ์ขวางน้ำโขง
  6. นภัสดล สินเกิดสุข, การปะทะทางความคิดการเมืองต่อเรื่องการจัดการลุ่มแม่น้ำโขง: กรณีศึกษาเขื่อนไซยะบุรี

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า