จีนสมัยใหม่กับปรากฏการณ์ ‘ลูกเต็มเวลา’ เมื่อการแข่งขันในตลาดงานสูงเกินความอดทนของคนหนุ่มสาว

สังคมจีนกำลังเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ที่คนหนุ่มสาวใช้ชีวิตในวัยทำงานอยู่กับบ้าน รดน้ำต้นไม้ ล้างจาน ซักผ้า ทำงานบ้านทุกอย่าง รวมถึงการดูแลพ่อแม่ พาไปหาหมอ หรือคอยขับรถให้ แลกกับค่าตอบแทนหรือเงินเดือนที่พ่อแม่จะจ่ายให้ในฐานะนายจ้าง แทนการออกไปทำงานนอกบ้าน 

คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า ‘ลูกเต็มเวลา’ (full-time children) หรือ ‘ลูกที่ได้รับเงินเดือน’ (paid children) อาชีพที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเต็มใจเลือก แต่พวกเขากลับก้าวสู่วิถีนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยแรงขับที่แตกต่างกัน

ทำงานจนหมดไฟ หางานจนหมดแรง

โครงสร้างของปรากฏการณ์ ‘ลูกเต็มเวลา’ ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจาก 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ทำงานจนหมดไฟ กับกลุ่มที่เพิ่งเรียนจบและหางานจนหมดแรง 

จูลี่ หญิงสาววัย 29 หันหลังให้กับอุตสาหกรรมเกมที่เธอเคยเป็นส่วนหนึ่งในฐานะนักพัฒนาเกม ออกมาล้างจ้านและทำกับข่าวให้พ่อกับแม่ เธอไม่ได้ต้องการค่าตอบแทนที่พ่อแม่เสนอให้เดือนละ 2,000 หยวน (ประมาณ 9,476 บาท) แต่แค่อยากหลุดจากงานที่เอาเวลาเธอไปถึงวันละ 16 ชั่วโมง “สภาพฉันตอนนั้นเหมือนซากศพเดินได้” เธอกล่าว 

เช่นเดียวกับเฉิน ตูตู๋ (Chen Dudu) วัย 27 ปี ลาออกจากงานประจำในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากภาวะหมดไฟในการทำงาน ที่หาได้เท่าไรก็จ่ายค่าเช่าห้องหมด จึงตัดสินใจกลับไปอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านต่างจังหวัด เธอนิยามชีวิตใหม่ของตัวเองว่าเป็นการใช้ชีวิตที่ ‘เหมือนคนเกษียณอายุ’ 

ตลาดงานจีนเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยความเครียดและการแข่งขัน วัฒนธรรมการทำงานในสังคมยุคใหม่ของจีนถูกเรียกว่า ‘996’ หมายถึง การทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม สัปดาห์ละ 6 วัน แม้ 1 วันที่เหลือจะถูกกำหนดให้เป็นวันหยุด แต่หลายคนก็ต้องใช้เวลาวันหยุดเพียงวันเดียวนั้นกับข้อความต่างๆ เกี่ยวกับงาน ที่ถูกส่งผ่านมาทางช่องทางการสื่อสารต่างๆ ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ 

แจ็ค เจิง (Jack Zheng) เล่าว่า ก่อนจะลาออกจากงานประจำที่เทนเซ็นต์ (Tencent) บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของประเทศ เขาเคยต้องรับข้อความที่เกี่ยวกับงานในช่วงนอกชั่วโมงการทำงานมากถึงวันละกว่า 7,000 ข้อความ มันคือ ‘การทำงานล่วงเวลาที่มองไม่เห็น’ บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนใดๆ ภาระงานที่เทนเซ็นต์ทำให้เขาเครียดจนเป็นโรคผิวหนังที่เรียกว่ารูขุมขนอักเสบ จนต้องลาออกมาเป็นลูกเต็มเวลา

คนอย่างจูลี่ ตูตู๋ และเจิ้ง เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกกลุ่มแรกของโครงสร้างรองของปรากฏการณ์ลูกเต็มเวลา ขณะที่โครงสร้างหลักของปรากฏการณ์นี้คือคนหนุ่มสาวที่ไม่สามารถหางานทำได้ แม้จะเรียนจบจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง 

แต่ละปีมีเด็กหนุ่มสาวเรียนจบระดับปริญญาตรีจำนวนมากพร้อมเข้าสู่ตลาดงาน เฉพาะปีนี้ปีเดียวมีคนจบจากรั้วมหาวิทยาลัยถึง 11.58 ล้านคน ปัญหาสำคัญคือตลาดงานปัจจุบันไม่ใหญ่พอที่จะรองรับคนจำนวนมหาศาล ตัวเลขแสดงอัตราการว่างงานจากทางการจีนที่เปิดเผยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 21.3 ของคนจีนในช่วงอายุ 16-24 ปี อยู่ในภาวะว่างงาน 

เด็กสาวคนหนึ่งจากมณฑลซานซี (Shanxi) เขียนระบายความในใจไว้ในโลกออนไลน์ว่า การสำเร็จการศึกษาจากออสเตรเลียไม่ได้ช่วยให้เธอหางานได้เลย สุดท้ายเธอต้องยอมเลือกรับตำแหน่งลูกเต็มเวลา มีหน้าที่อยู่บ้าน ทำอาหารเย็นให้พ่อกับแม่ แลกกับเงินเดือนเดือนละ 3,000 หยวน (ประมาณ 14,216 บาท) แม้จะเป็นงานเบา รายได้ดีเมื่อเทียบกับเนื้องาน และทำให้เธอมีเวลานอนอ่านนิยายได้วันละหลายๆ เล่ม แต่เธอก็คาดหวังที่จะได้งานทำที่ดีกว่านี้ 

การเรียนจบออกมาแล้วหางานทำไม่ได้ ทำให้ใบปริญญาไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นเทศกาลจบการศึกษาของประเทศจีน แทนที่โลกออนไลน์จะเต็มไปด้วยภาพรอยยิ้มแห่งความสุข ความสำเร็จ และความหวัง ทว่าภาพในชุดครุยของเหล่าบัณฑิตกลับสื่อถึงความรู้สึกเหนื่อยล้าและสิ้นหวังของพวกเขา

หนุ่มสาวหลายคนสวมชุดครุยนอนคว่ำหน้ากับพื้นถนน บางคนเลือกทอดร่างนอนหงายอย่างหมดแรงอยู่ตามขั้นบันได หญิงสาวคนหนึ่งนั่งบนม้านั่งยาวในสวนสาธารณะ ซบหน้ากับพนักพิง สองแขนปล่อยห้อยอย่างสิ้นหวัง บางคนชูใบปริญญาเหนือถังขยะ ในสภาพพร้อมที่จะหย่อนมันลงไป บางคนถือป้ายกระดาษแข็งในมือที่มีข้อความอ่านได้ว่า ‘สถานีต่อไปเกษียณอายุ’ นี่คือส่วนหนึ่งของภาพถ่ายบัณฑิตที่พวกเขาแชร์อวดกันบนแพลตฟอร์มต่างๆ ของโซเชียลมีเดีย ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของวิถีเด็กรุ่นใหม่ที่เลือกมีชีวิต ‘นอนราบ’ (lying flat) แทนการดิ้นรนต่อสู้และแข่งขันของชีวิตชาวจีนสมัยใหม่ 

การนอนราบ ในนิยามของพวกเขาหมายถึงชีวิตที่ไม่ดิ้นรน ไม่ต่อสู้แข่งขัน ไม่ซื้อบ้าน ไม่ซื้อรถ ไม่แต่งงาน ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ และบริโภคให้น้อยลง และชีวิตนอนราบที่ได้รับความนิยมสูง (อย่างที่เจ้าตัวไม่เต็มใจนิยม) คือการเป็นลูกเต็มเวลา 

วิกฤตตลาดงาน ผลักชีวิตคนรุ่นใหม่ให้ดำดิ่ง

การที่ตลาดงานของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีอัตราการแข่งขันสูง เกิดจาก 2 สาเหตุ หนึ่งคือ ระบบการศึกษาผลิตคนออกมาสู่ตลาดงานมากกว่าที่เคยเป็น 

ในรอบทศวรรษระหว่าง ค.ศ. 2012-2022 อัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของจีนเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านั้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะหนุ่มสาวพากันมองว่าใบปริญญาจะเป็นใบเบิกทางสำหรับโอกาสหลายๆ อย่างในตลาดงานที่อัตราการแข่งขันสูง แต่สุดท้ายก็มีคนไม่กี่คนที่จะได้สัมผัสโอกาสเหล่านั้น 

สาเหตุที่สองคือ ตลาดงานในจีนหดตัวลง โดยเฉพาะตลาดงานที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ เมื่อรัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการยกระดับการคุมเข้มอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจจีนสูงมากคือเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ต 

ภายในเวลาประมาณ 1 ปี ของการคุมเข้ม มูลค่าการตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนหายไปมากกว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทที่ทำธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ตเลย์ออฟพนักงานเป็นจำนวนมาก มีตัวเลขว่าระหว่างเดือนมิถุนายนปีที่แล้วถึงกลางเดือนมีนาคมปีนี้ พนักงานบริษัทอินเทอร์เน็ตต้องตกงานมากถึง 216,800 คน นอกจากนี้การออกระเบียบเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมสอนพิเศษ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในประเทศที่ใหญ่มากของจีน รวมถึงการห้ามการลงทุนด้านการศึกษาจากต่างประเทศ ล้วนส่งผลต่อการลดจำนวนการจ้างงาน 

การล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 ยังส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาใน 1-2 ปีนี้หางานยากขึ้น เพราะบริษัทต่างๆ ไม่ต้องการจ้างบัณฑิต ‘กระดาษเปล่า’ ที่มีประสบการณ์การทำงานน้อยกว่าคนรุ่นที่จบก่อนหน้า 

เมื่อชีวิตหลังมหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบที่ดี นักศึกษาจำนวนไม่น้อยจึงตัดสินใจไม่ก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย พวกเขาตั้งใจสอบตก เพื่อยืดระยะเวลาการเรียนในมหาวิทยาลัยออกไป

“สถานการณ์ถือว่าเลวร้ายทีเดียว ผู้คนต่างเบื่อหน่ายและปฏิเสธที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องแข่งขัน และมีแต่ความสิ้นหวัง” มิเรียม วิกเคิร์ตไชม์ (Miriam Wickertsheim) ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทจัดหางาน ไดเรกท์ เอช อาร์ (Direct HR) ในเซียงไฮ กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี (BBC)

รัฐบาลจีนเองตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น และพยายามแก้ไขปัญหาในแบบของจีน

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พีเพิลส์ เดลี (People’s Daily) หนังสือพิมพ์รายวันของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเผยแพร่สารจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ที่ส่งตรงถึงคนรุ่นใหม่ว่า ขอให้ “อดทนต่อความยากลำบาก” 

‘ลูกเต็มเวลา’ อาชีพถูกใจพ่อแม่ชนชั้นกลาง 

ปรากฏการณ์ลูกเต็มเวลาที่เกิดขึ้นในจีนอย่างเงียบๆ เมื่อประมาณ 1-2 ปีมาแล้ว และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเทศกาลสำเร็จการศึกษา จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม เป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับชนชั้นกลาง 

เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังประสบปัญหาการว่างงานเป็นคนที่เกิดในช่วงที่จีนดำเนินนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ (one child policy) ที่รัฐบาลเริ่มประกาศใช้ใน ค.ศ. 1979 เพื่อควบคุมจำนวนประชากร และยกเลิกในปี 2015 หลังมีสัญญาณเตือนถึงภาวะวิกฤตของสังคมสูงอายุเมื่อพ่อแม่สูงวัยไม่มีคนดูแล สำหรับครอบครัวที่ไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ รายได้ของลูกไม่ใช่สิ่งจำเป็น พ่อและแม่จึงยอมจ่ายเงินให้ลูกใช้ต่อไป แลกกับการมีลูกคอยดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะการพาไปหาหมอ เพราะพ่อแม่ของคนรุ่นนี้กำลังอยู่ในวัยใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้ว 

หากมองอย่างฉาบฉวย ปรากฏการณ์ลูกเต็มเวลาจึงอาจดูเหมือนเป็นสถานการณ์ที่ลงตัวทั้งต่อพ่อแม่และตัวคนรุ่นใหม่ แต่หากมองอย่างวิเคราะห์ในระยะยาว ปรากฏการณ์นี้อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่

“หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ฉันก็คงกลายเป็นปรสิตจริงๆ” เฉิน ตูตู๋ พูดถึงชีวิตการเป็นลูกเต็มเวลาของตัวเอง

photo: radii.co

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกเต็มเวลาเหล่านี้ไม่มีความสุข นอกจากเพราะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดงานจริงได้แล้ว พวกเขาตระหนักดีว่าพ่อและแม่ไม่สามารถอยู่จ่ายเงินเดือนให้พวกเขาได้ตลอดไป และ ‘คำสาปของคนวัย 35’ ยังคงหลอกหลอนพวกเขาอยู่

สังคมจีนเชื่อว่า นายจ้างมักไม่จ้างงานคนที่อายุเกิน 35 ปี แต่จะเลือกจ้างคนที่อายุน้อยกว่า และมีค่าตัวถูกกว่า แต่สำหรับจูลี่ แม้จะอยู่ในวัยเพียง 29 ปี ก็ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากคำสาปของคนวัย 35 ปีแล้ว ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เธอหว่านใบสมัครไปที่บริษัทต่างๆ ถึง 40 แห่ง มีเพียง 2 แห่งที่เรียกเธอไปสัมภาษณ์

“ฉันหางานใหม่ตั้งแต่ยังไม่ลาออก ตอนนั้นก็ว่าหายากแล้ว ตอนนี้ยิ่งหายากกว่าอีก” 

ลูกเต็มเวลา อาจเป็นวิธีทางสังคมที่หนุ่มสาวจีนใช้ซื้อเวลาเพื่อจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี แต่ก็สามารถเป็นระเบิดเวลาที่อานุภาพร้ายแรง หากสถานการณ์ยังคงอยู่ต่อไปอีก 10 ปี เมื่อลูกๆ ต้องเผชิญหน้ากับคำสาปของคนวัย 35 ปี และเมื่อพ่อแม่เข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุเต็มตัวที่ต้องการคนดูแลเต็มเวลา 

อ้างอิง

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า