ยังไม่จบที่รุ่นเรา การต่อสู้ครั้งใหม่ของหนุ่มสาวฮ่องกง

วันที่ 1 กรกฎาคม 2020 ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นวันแห่งชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลจีน ที่สามารถล้มล้างนโยบาย ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ ภายในฮ่องกง อันเป็นชนักติดหลังของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมานานมากกว่า 20 ปีลงได้สำเร็จ จากการที่รัฐสภาจีนสามารถนำบทบัญญัติทางด้านกฎหมายความมั่นคงที่จีนเป็นฝ่ายร่างขึ้นมายัดไส้เข้าไปไว้ในรัฐธรรมนูญของฮ่องกง (Basic Law) ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาฮ่องกง (LegCo) และประชาชนฮ่องกงเลย (ไม่มีแม้กระทั่งการทำประชามติ หรือการขอความเห็นใดๆ) ทำให้สถานการณ์หลังจากนี้ในทางพฤตินัย จีนจะสามารถกระทำการหรือดำเนินนโยบายภายใต้คำสั่งของรัฐบาลจีน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้โดยปราศจากข้อจำกัดทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิจับกุม สิทธิในการบุกค้นสถานที่ สิทธิในการพาตัวไปดำเนินคดี ขึ้นศาลที่จีนแผ่นดินใหญ่ เป็นต้น

ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกง

การเข้ามาของบทบัญญัติฉบับใหม่นี้ ไม่ได้มีนัยยะแค่ชัยชนะของจีนเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตยภายในฮ่องกงด้วย คนฮ่องกงไม่ว่าจะนักศึกษา นักเรียน และประชาชน ที่เคยออกมาทำการประท้วงเมื่อปี 2019 ก็ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว ตำรวจฮ่องกงในปัจจุบันถือไพ่เหนือกว่าอย่างชัดเจน นอกจากจะมีไพ่ไวรัส COVID-19 แล้ว ยังมีบทบัญญัติใหม่รองรับอีก ใครจะออกมาชุมนุมหรือก่อม็อบ ก็เสี่ยงโดนทั้งคดีด้านความมั่นคงและคดีการฝ่าฝืนกฎการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรของทางสาธารณสุขไปด้วย ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างเมื่อเดือนกรกฎาคม ผู้ชุมนุมถูกตำรวจฮ่องกงบุกรวบตัวไปไม่ต่ำกว่า 500 คน กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย และสิทธิในการแสดงออกกำลังจะค่อยๆ ทยอยหายไป ทั้งรายการโทรทัศน์ สถานีวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ หากใครมีแนวโน้มจะสนับสนุนม็อบฮ่องกงก็มีสิทธิที่จะโดนรัฐบาลสั่งระงับกิจกรรมได้ทั้งสิ้น

กรณีการจับตัวเจ้าพ่อสื่อรายใหญ่อย่าง จิมมี ไล (Jimmy Lai) และการไล่ปรับผังรายการโทรทัศน์ภายในฮ่องกงเมื่อเดือนกรกฎาคม คือตัวอย่างที่สำคัญ แม้ว่ารายการบางรายการจะไม่ได้มีพื้นเพทางด้านอุดมการณ์ต่อต้านรัฐบาลจีนมาแต่เดิมก็มีสิทธิที่จะจอดำ หรือถูกสั่งให้ฝ่ายความมั่นคงบุกเข้าไปตรวจสอบได้ บางรายการที่ติดต่อไปขอสัมภาษณ์ นาธาน ลอว์ (Nathan Law) หรือนำเสนอให้ปากเสียงแก่ลอว์ ก็จะถูกสั่งลงโทษ (โดยมีการให้เหตุผลว่า การนำเอาความคิดเห็นของลอว์มาออกอากาศนั้นมีความหมายไม่ต่างจากการสนับสนุนแนวคิดของลอว์) สำนักข่าวและหนังสือพิมพ์หลายหัวจึงเริ่มที่จะทำการเซ็นเซอร์ตนเองมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกรัฐบาลฮ่องกง และฝ่ายความมั่นคงอย่างตำรวจ และเจ้าหน้าที่จาก Office for Safeguarding National Security ของจีนบุกเข้ามาเยี่ยมเยียน เพราะกฎหมายฉบับใหม่นั้นถือว่าค่อนข้างรุนแรง หากแค่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในฐานสมรู้ร่วมคิด ก็มีสิทธิที่จะถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตได้

ประชาชนฮ่องกงเริ่มมีการถกเถียง และแสดงออกถึงความกังวลว่าขบวนการประชาธิปไตยภายในฮ่องกงกำลังจะมาถึงทางตัน ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อีก โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศลี้ภัยของแกนนำคนสำคัญอย่าง นาธาน ลอว์ตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ หลังมีการแก้บทบัญญัติภายในรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนกรกฎาคม ตามมาด้วยการประกาศยกเลิกการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนกันยายนนี้ กำหนดการใหม่คือเดือนกันยายนปี 2021 โดยอ้างถึงความเสี่ยงในการระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ยิ่งตอกย้ำสภาวะทางตันดังกล่าวให้มีความหนาทึบและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ว่าคงหมดสิ้นหนทางสำหรับการต่อสู้ เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว จากการหดหาย ลดเลือนของหนทางที่เคยมีมาแต่ก่อน

การปรับยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของฮ่องกง

แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง การประกาศลี้ภัยของ นาธาน ลอว์ ก็ไม่ได้หมายความว่าขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยภายในฮ่องกงจะจบลงแล้วแต่อย่างใด ในทางกลับกัน มันมีมิติที่แสดงให้เห็นถึงการปรับยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว และการประท้วงภายในฮ่องกงอย่างน่าสนใจ ตอนที่ลอว์ประกาศลี้ภัยนั้น เขาได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ระบุอย่างชัดเจนว่า การที่เขาลี้ภัยนี้ไม่ได้เป็นการลี้ภัยเพื่อล้มเลิก หรือยุติการเคลื่อนไหว เขายังมีใจและอุดมการณ์ที่จะต่อสู้ เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยให้แก่ฮ่องกงเหมือนเดิม เพียงแค่เขามีความจำเป็นที่ต้องลี้ภัยถอยออกมาตั้งหลักที่ต่างประเทศก่อน เนื่องจากต้องรักษาความปลอดภัยของตนเอง ลอว์เคยบอกไว้ว่า เขาไม่ได้กลัวรัฐบาลจีน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยงของการถูกอุ้ม หรือถูกส่งไปติดคุกที่จีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

การลี้ภัยของ นาธาน ลอว์ จึงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ 2 ประการ อย่างแรกคือรักษาชีวิตตนเอง อย่างที่สองคือ การออกมาเคลื่อนไหวที่ต่างประเทศ แล้วขยายแนวร่วมของการประท้วงผ่านการรวบรวมสมาชิกพรรคพวกให้มีขอบเขตที่กว้างขึ้น ใช้โอกาสที่สังคมประชาธิปไตยอย่างประเทศอังกฤษหยิบยื่นให้ เพื่อนำสารและข้อความของขบวนการฯ ส่งต่อไปยังภาคี และกลุ่มการเมืองต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญคือ ลอว์จะสามารถติดต่อ และเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และนักการทูตต่างชาติเพื่อเรียกร้อง ผลักดันให้เกิดการกดดันรัฐบาลจีนได้สะดวกมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องบทบัญญัติ ข้อบังคับภายในรัฐธรรมนูญฮ่องกง กรณี ‘การสมรู้ร่วมคิด หรือ การดึงเอาอิทธิพลของรัฐบาลต่างชาติเข้ามาแทรกแซง’ (collusion with foreign forces) ที่อาจถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในการกล่าวหาปรักปรำตัวเขาต่อการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวนี้ได้

เช่นเดียวกันกับการประกาศยุบพรรค Demosisto ของ นาธาน ลอว์, แอกเนส โจว (Agnes Chow) และ โจชัว หว่อง (Joshua Wong) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็เป็นการตัดสินใจในเชิงยุทธศาสตร์ หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็จะเห็นว่าวันประกาศยุบพรรคนั้นเป็นเวลาเพียง 1 วันก่อนจะมีการบังคับใช้บทบัญญัติทางด้านความมั่นคงฉบับใหม่บนแผ่นดินฮ่องกงพอดี

เนื่องด้วยพรรค Demosisto นี้มีอุดมการณ์แนวเสรีนิยมขั้นสุดโต่ง และเคยมีแผนผลักดันให้เกิดการเรียกร้องเอกราชของฮ่องกงให้มีความเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ หากพรรค Demosisto ยังมีการดำเนินการต่อไปในฐานะ ‘สถาบัน’ ที่เป็นรูปธรรมเช่นเดิมเหมือนเมื่อช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็มีความเป็นไปได้และความเสี่ยงสูงมากที่จะกลายไปเป็นเป้านิ่งให้รัฐบาลจีนเพ่งเล็งจะเอาบทบัญญัติด้านความมั่นคงฉบับใหม่นี้มาไล่บี้ ดังจะเห็นได้จากความพยายาม และเสียงเชียร์ภายในสื่อฝั่งรัฐบาลอย่าง Global Times และ CGTN ที่มักออกมาเขียนบทความแปะป้ายกลุ่มของลอว์ ด้วยถ้อยคำและภาษาในเชิงเหยียดหยามว่าเป็น “ไอ้พวกกบฏแบ่งแยกดินแดน” (secessionists) อยู่ตลอด

และไม่นานหลังจากพรรค Demosisto ถูกประกาศยุบ แอกเนส โจว แกนนำคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่อยู่ภายในขั้วเดียวกับ โจชัว หว่อง ถูกพาตัวขึ้นศาลเขตเกาลูนตะวันตก พร้อมกับประกาศยอมรับข้อกล่าวหาและรับสารภาพผิดในคดีพากลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนไม่ต่ำกว่า 200 คนไประดมกันล้อมศูนย์บัญชาการตำรวจฮ่องกง ชักชวนให้ผู้ชุมนุมขว้างปาข้าวของใส่อาคารจนเกิดความเสียหายเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2019

เธอให้สัมภาษณ์ South China Morning Post ว่า เธอจะยอมรับแต่โดยดี และจะไม่หลบหนีไปไหน เพราะไม่เคยกระทำความผิดใดๆ ร้ายแรงมาก่อน การขึ้นศาลและยอมรับผิดจึงไม่น่าจะนำมาสู่การถูกลงโทษสถานร้ายแรง และต่อให้ต้องถูกศาลตัดสินโทษให้จำคุก เธอก็ได้เตรียมใจไว้แล้ว เธอต้องการยืนหยัดในอุดมการณ์ประชาธิปไตย

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจ หลังจากที่ จิมมี ไล ถูกตำรวจจับกุมในคดีความมั่นคง เขาได้ออกมาส่งสัญญาณถึงเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้รักประชาธิปไตยในฮ่องกง ว่าควรจะยุติการเคลื่อนไหวแบบสุดโต่ง (radical) เช่นเมื่อก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2019

ต่อจากนี้ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยภายในฮ่องกง ควรจะเปลี่ยนแนวทาง และรูปแบบการประท้วงต่อต้านของตนเองใหม่ อย่าให้ซ้ำรอยเดิม อย่าให้มีความรุนแรงสุดโต่งแบบเดิมอีก เพราะยิ่งต่อสู้ด้วยความรุนแรง สุดโต่งมากเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้ขบวนการมีอายุที่สั้นลงมากเท่านั้น หากไม่มีความระมัดระวังที่เพียงพอในการเคลื่อนไหว

ต้องเป็นเหมือน ‘น้ำ’

คำเตือนของ จิมมี ไล ไม่ได้หมายความว่า เขาถูกรัฐบาลจีนข่มขู่ให้ออกมาพูดห้ามปรามเหล่านักศึกษา หลังจากที่เขาได้รับการประกันตัวออกมาแต่อย่างใด สิ่งที่ไลกำลังกล่าวถึงอยู่นั้น เพราะเขาไม่ต้องการให้ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยภายในฮ่องกงต้องกระทำการวู่วาม หรือไม่คำนึงถึงความเสี่ยงเช่นการประท้วงเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาอีก เพราะรัฐบาลจีนได้นำเอาบทบัญญัติด้านความมั่นคงมาใช้กับฮ่องกง ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนเหมือนมีสิทธิสภาพเหนืออาณาเขตกับฮ่องกงได้เต็มที่

ขบวนการเคลื่อนไหวจึงอยู่ในสถานะที่เปราะบางต่อกลไกอำนาจนอกระบบชุดนี้มากขึ้น หากกลุ่มผู้ชุมนุมและนักเคลื่อนไหวต้องการที่จะทำให้ขบวนการสามารถสู้ไปในศึกระยะยาว ก็ต้องมีการนำเอาความคิดสร้างสรรค์ ความใจเย็น และความรอบคอบเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการวางแผน

โจชัว หว่อง ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันกับ จิมมี ไล เขาได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ The Guardian เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนข้อเสนอของไล ว่าการประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนในยุคที่ความหวาดกลัวและกฎหมายถูกนำมาใช้กดขี่ข่มเหงประชาชนเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องใช้ทั้งความกล้าหาญ และความสร้างสรรค์ในการต่อสู้กับอิทธิพลมืดของรัฐบาลจีน

ดังนั้นวิธีการเคลื่อนไหวแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันร้องเพลง การเอาสติกเกอร์ไปแปะตามจุดต่างๆ การนำธงชาติของต่างประเทศมาโบก หรือแม้แต่การออกมาถือกระดาษเปล่า ป้ายเปล่าๆ สีขาวก็อาจจะถูกตีความผ่านบทบัญญัติด้านความมั่นคงฉบับใหม่ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ทั้งสิ้น ดังนั้นเขาจึงอยากเรียกร้องให้สมาชิกของขบวนการเคลื่อนไหวฮ่องกงนี้ทำตัวให้เหมือน ‘น้ำ’ นั่นคือเป็นของเหลวที่ยืดหยุ่นปรับรูปร่าง และลื่นไหลได้อย่างอิสระเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนไปนี้

ในแง่นี้ การเมืองเชิงสถาบัน การเมืองแบบเก่าทั้งการเคลื่อนไหว รวมพลกันก่อม็อบ เดินขบวนประท้วง การตั้งพรรคมาสู้กับรัฐบาลภายในระบบการเมืองกระแสหลักในรัฐสภา LegCo เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นกลยุทธ์ที่พิสูจน์แล้วว่าไม่มีหนทางสำหรับพวกเขา เพราะถึงแม้ฝั่ง โจชัว หว่อง จะพยายามเล่นตามกติกาหลักด้วยการลงเลือกตั้งเข้าสภาอย่างไร สุดท้ายก็โดนอำนาจมืดของรัฐบาลจีนเอื้อมเข้ามากีดกันให้ออกจากสนามอยู่ดี

ความเป็นไปได้ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือทำให้อิทธิพลอำนาจของรัฐบาลฮ่องกง และอำนาจนอกระบบจากพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนแผ่นดินใหญ่ลดลงนั้นแทบไม่มีเลย การเคลื่อนไหวหลังจากนี้จึงอาจจะจำเป็นต้องถูกยกเครื่องใหม่ ไม่ว่าจะด้วยการขยับลงไปอยู่ในปริมณฑลที่เรียกว่า ‘ใต้ดิน’ ไปจนถึงการพยายามจับเอาสิ่งที่ไม่น่าจะมีความหมายของการประท้วง สอดใส่ความหมายของการประท้วงเข้าไป เช่นการเอาท่อนหนึ่งของเพลงชาติจีนมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านแทน เป็นต้น

การต่อสู้ครั้งใหม่

สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัญญาณสำคัญที่กำลังบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในหน้างานของการเคลื่อนไหวที่ฮ่องกงทั้งสิ้น การประกาศยุบพรรค แล้วถอนตัวแยกย้ายกันออกไปตามแนวและวิถีทางที่แตกต่างกันของแกนนำแต่ละคนจึงเป็นเหมือนกลยุทธ์รูปแบบหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยสายฮ่องกง ที่นำโดยกลุ่มของ โจชัว หว่อง และ นาธาน ลอว์ นี้ ทุกคนต่างรู้กันดีว่าถ้าหากยังใช้กรรมวิธีแบบเดิมก็คงไม่มีหนทางจะชนะแน่ ก็เลยต้องใช้วิธีแยกย้ายกันไปตี

โดยให้ลอว์ (และผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง) นั้นออกไปตั้งค่ายอยู่ที่อังกฤษพยายามทำการรวบรวมเสียงสนับสนุน และเป็นปากเสียงให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหวนอกฮ่องกง (รัฐบาลจีนเรียกแนวรบฝั่งลอว์นี้ว่า ‘parliament in exile’) ส่วน แอกเนส โจว ก็ยอมรับสภาพเบื้องต้น ถ้าหากตนเองต้องติดคุก เพื่อที่จะแปลงตนเองเป็นผู้พลีชีพเพื่อประชาธิปไตย (ขณะนี้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วเอเชียตะวันออกนั้นยกย่องให้โจวกลายเป็นไอดอลสาวแห่งประชาธิปไตยไปเรียบร้อยแล้ว)

ส่วน โจชัว หว่อง เองหลังจากที่รู้ตัวอย่างแจ่มชัดแล้วว่า ต่อให้ดื้อดึงสู้ต่อไปภายในกติกาตามระบบกระแสหลัก เช่น การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. สุดท้ายก็จะถูกรัฐบาลกลั่นแกล้ง แล้วพยายามหาทางตัดสิทธิทางการเมืองอยู่ดี ก็ได้ออกมาประกาศชักชวนให้พรรคพวกของตนเองที่เหลืออยู่ภายในฮ่องกง ว่าถ้าหากอยากจะสู้ต่อไปก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อต้านของขบวนการให้มีความยืดหยุ่น และพึ่งพาช่องทางกระแสหลักให้มากกว่านี้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าหากทำได้ก็ให้ลงใต้ดินเลย เพื่อหลบหลีกป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีน หรือฮ่องกงนั้นพยายามเอาบทบัญญัติด้านความมั่นคงมาใช้ในการบีบคั้นขบวนการเคลื่อนไหวของพวกเขา ในจุดนี้มองดูเผินๆหยาบๆ อาจจะดูเหมือนว่าขบวนการประชาธิปไตยฮ่องกงกำลังจะดับมอดลง หลังจากพรรค Demosisto ถูกยุบ พร้อมๆ กับการเกิดของ Office for Safeguarding National Security แต่ในสนามความเป็นจริง การต่อสู้ครั้งใหม่ต่างหากที่กำลังจะเริ่มขึ้น

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า