คนไทยล่าแม่มดคนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา

22 พฤศจิกายน 2563 เวลาประมาณ 10.00 น. ตามเวลาของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ กลุ่มชาวไทยประมาณ 15 คน ได้มารวมตัวกันที่บริเวณลานกว้างหัวมุมถนนเอลเลียต (Eliot) และถนนเบนเนท (Bennet) อันเป็นที่ตั้งของ ‘ภูมิพลสแควร์’ หรือ King Bhumibol Adulyadej Square เพื่อจัดกิจกรรมชุมนุมเชิงสัญลักษณ์

ในกิจกรรมการชุมนุมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ใช้ป้ายเขียนข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำเป็ดยางสีเหลืองอันเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 บริเวณอาคารรัฐสภาไทย ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางกลุ่มนำชุดแฟชั่นร่วมสมัยเพื่อนำมาสวมใส่ และถ่ายรูปร่วมกับการถือป้ายข้อความต่อต้านความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ผู้ชุมนุมร่วมยืนยันสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร รวมไปถึงการต่อต้านการคุกคามจากกลุ่มรักสถาบันฯ ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ต่อคนที่ออกมาร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 หลังมีการหมายหัวผู้ชุมนุมบางคน พร้อมทั้งใช้ข้อความและโทรศัพท์ข่มขู่ รวมถึงมีการรวบรวมรายชื่อส่งหน่วยตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐอเมริกา

วีระไกร จินังกุล คนไทยที่อาศัยอยู่ที่แมสซาชูเซตส์ เล่าถึงการเผชิญหน้ากันของชาวไทยซึ่งเห็นต่างทางการเมือง สืบเนื่องจากการออกมาชุมนุมของกลุ่มคนไทยในบอสตันเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ณ King Bhumibol Adulyadej Square หลังจากกิจกรรมชุมนุม มีผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งถูกคุกคามจากกลุ่มคนที่อ้างว่าอยู่ในมูลนิธิ KTBF หรือ The King of Thailand Birthplace Foundation ที่บริจาคอนุสาวรีย์แท่นหินที่สลักถึงสถานที่พระราชสมภพของ รัชกาลที่ 9 ให้กับเมืองเคมบริดจ์มาติดตั้งไว้ที่จัตุรัสแห่งนั้น

“เมื่อเย็นวันที่ 1 พฤศจิกายนที่มีการจัดชุมนุม หนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรมได้รับข้อความจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิท่านนั้น บอกว่าการชุมนุมที่ไปถือป้ายประท้วงข้างแท่นอนุสาวรีย์และถ่ายรูป เป็นการกระทำที่ผิด และเขาต้องการจะส่งคนคนนั้นไปให้ตำรวจเมืองเคมบริดจ์ คุณผู้หญิงคนนี้ยังได้ข่มขู่ถึงผู้เข้าร่วมชุมนุมบางท่านที่อาจมีสถานะการเข้าเมืองไม่ถูกต้อง ว่าจะมีการแจ้งกับทางรัฐบาลสหรัฐให้เข้ามาส่งตัวกลับ และได้กล่าวอ้างว่าตนทำงานให้กับรัฐบาลของมลรัฐแมสซาชูเซตส์อีกด้วย”

วีระไกรเล่าว่า ในช่วงอาทิตย์แรกหลังจากกิจกรรม คุณผู้หญิงท่านนี้ยังส่งข้อความพร้อมรูปภาพตามมาเรื่อยๆ เพื่อไล่ล่าบุคคลที่ถือ หรือนำป้ายข้อความไปถ่ายรูปร่วมกับอนุสาวรีย์ของมูลนิธิ และใช้คำขู่คล้ายๆ เดิม เช่น การกระทำเช่นนี้ผิดกฎหมายที่อเมริกา หรือรัฐแมสซาชูเซตส์ รวมถึงการขู่ว่าจะแจ้งตำรวจ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้งนี้คุณผู้หญิงท่านนี้ได้ขู่ให้ลบภาพในโพสต์ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นผู้โพสต์จะต้องชดใช้การกระทำที่จาบจ้วง (pay for their intrusive actions)

“และท้ายที่สุด คุณผู้หญิงผู้นี้ ได้โทรไปยังหนึ่งในร้านอาหารที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ทำงานอยู่ และขู่ให้เจ้าของร้านทำการไล่ผู้ชุมนุมท่านนั้นออก หรือไม่งั้นจะส่งพนักงานตรวจภาษีจากทางรัฐฯ มาตรวจสอบ”

หลังจากกลุ่มผู้จัดการชุมนุมได้ปรึกษาทนายเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ปรากฏว่าการถือป้าย หรือวางป้ายคู่กับแท่นอนุสาวรีย์นั้น ไม่ผิดกฎหมายใดของสหรัฐ หากแต่ยังถูกคุ้มครองให้สามารถทำได้อย่างอิสระโดย First Amendment ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ

“จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทีมงานจัดชุมนุมอีกรอบ พร้อมกับเปิดแคมเปญ Taboo Monument เพื่อรณรงค์ต่อต้านการถูกกดทับจากอำนาจนอกระบบ และสนับสนุนการเปิดพื้นที่เสรีและปลอดภัยให้ทุกๆ คนสามารถออกมาแสดงออกและพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์” วีระไกรเล่า

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า