ไพร่กินเหล้าขาว ควายกินหญ้า นักศึกษากินนม คนดีล้างถนน: การเมืองวัฒนธรรมในระบอบประชาธิปไตย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรในหมู่สมาชิกของสังคมโดยได้รับความยินยอม ไม่ว่าจะพร้อมใจหรือไม่ก็ตาม กิจกรรมจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์/การเมืองมีทั้งส่วนที่ปรากฏเห็นได้ชัดเจนและส่วนที่ไม่ปรากฏ หรือไม่ถูกรับรู้ว่าเป็นการเมือง/การจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์

พื้นที่การเมืองที่ไม่ถูกรับรู้ว่าเป็นการเมืองมักดำรงอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ‘สังคม’ อันเป็นพื้นที่ซึ่งข้อขัดแย้ง/การจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์บรรลุข้อสรุปลงตัว ณ ช่วงเวลาหนึ่ง สมาชิกในสังคมยอมรับการปันส่วนอย่างเป็น ‘ปกติ’ และรู้สึกว่าการปันส่วนนั้นเป็น ‘ธรรมชาติ’

การจัดสรรปันส่วนทรัพยากรถูกทำให้เป็น ‘ความปกติ’ ‘เป็นธรรมชาติ’ ด้วยการยอมรับระบบความคิดเกี่ยวกับการประเมินคุณค่าเช่น ความสูง/ต่ำ ฉลาด/โง่ งาม/อุจาด ดี/ชั่ว ชุดหนึ่งซึ่งนำไปสู่การจัดลำดับฐานะทางสังคมที่ส่งผลต่อการเข้าถึงทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียมกันของบุคคลในสังคม โดยไม่มีการตั้งคำถาม หากมีการตั้งคำถาม สังคมมีชุดความคิดอัตโนมัติที่พร้อมโจมตีทำลายคำถามนั้นให้ศิโรราบลงเป็นผงธุลี เป็นต้นว่า สามัคคี สมานฉันท์ อาวุโส กตัญญู เมตตา ความปรารถนาดี อนาคต ส่วนรวม ชาติ ฯลฯ แม้ว่าชุดคำจะมีหลากหลายแต่มีเป้าหมายเดียวคือ เพื่อหยุดคำถามด้วยจนเหตุผล

ด้วยเหตุนี้ไพร่ไม่ควรดื่มไวน์ ควายไม่ควรมีปัญญา นักศึกษาไม่ควรยุ่งการเมือง ไพร่ที่ดื่มไวน์ ควายที่แสดงปัญญาและนักศึกษาที่ตั้งคำถามจะถูกจัดประเภทเป็นความกำเริบเสิบสาน ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่รู้จักหน้าที่ ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนในสังคมที่จะสุขสงบดังเดิมได้ เมื่อความ ‘ผิดปกติ’ ดังกล่าวถูกจัดการ ให้ไพร่ ควาย และนักศึกษากลับไปอยู่ ณ ตำแหน่งแห่งที่ ‘อันสมควร’ และปล่อยให้กิจกรรมจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์อยู่ในมือ ‘คนฉลาด’ และ ‘คนดี’ ต่อไป

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สังคมดีถ้าไพร่กินเหล้าขาว (จะดีกว่านั้นถ้าไม่กิน) ควายกินหญ้า นักศึกษากินนม

การเมืองชนิดนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้อยู่บนโครงสร้างที่ได้เปรียบ เพราะการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ที่ถูกนับเป็นปริมณฑลทางสังคมวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ของความสงบเรียบร้อยอันดีงาม ที่ไม่ควรจะมีผู้ใดไปกวนให้ขุ่น เมื่อตะกอนไม่ถูกกวน โครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ก็มั่นคงไม่สั่นคลอน

เมื่อการเมืองถูกซ่อนหายไปในพื้นที่สังคมวัฒนธรรม ชีวิตประจำวันจึงเป็นพื้นที่ทางการเมืองขนาดใหญ่ที่แนบชิดกับทุกคนแต่มองเห็นได้ยาก การผลิต ส่งต่อ และปฏิบัติการทางการเมืองวัฒนธรรมเป็นไปได้ และกำเนิดจากมือของผู้คนในสังคมโดยไม่จำเป็นต้องสำนึกรู้ตัว การกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบเหยียดหยามเพื่อนร่วมโลกไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยบุคคลที่มีจิตใจชั่วร้าย แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากน้ำมือของทุกคนโดยเฉพาะบุคคลที่มีจิตใจ ‘ดีงาม’

การเมืองของสิ่งที่ไม่เป็นการเมืองมักนำชิ้นส่วนความดีของสังคมมาประกอบเข้าด้วยกัน สิ่งเหล่านี้มักสอดประสานราวกับวงออร์เคสตร้าที่บรรเลงโดยวาทยกรที่มองไม่เห็น เป็นโปรเจ็คต์ทางการเมืองชุดหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้จัดสรรปันส่วนอำนาจและทรัพยากร ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับผู้มีอำนาจ

กิจกรรม Big Cleaning Day ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2553 ภายหลังการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. โดยรัฐบาล 2 ครั้งในวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ที่มีผู้เสียชีวิตรวม 94 ราย และบาดเจ็บรวม 2,000 ราย (ประชาไท, 2563) นับเป็นตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งของการเมืองในนามของสิ่งที่ไม่ใช่การเมืองแต่ส่งผลทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง

Big Cleaning Day ในวันดังกล่าวโดยตัวมันเองประกอบด้วยการทำความสะอาดพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครรวมเป็นจำนวนนับพัน กิจกรรมนี้ถ้าเกิดขึ้นในช่วงเวลาอื่นก็อาจจะเป็นเพียงการทำความสะอาด แต่การจัดให้มีกิจกรรมดังกล่าวในเวลาห่างจากโศกนาฏกรรมกลางเมืองไม่กี่วันย่อมทำให้งานนี้เป็นการเมืองเพราะส่งผลต่อการโยกย้าย หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องคือกิจกรรมนี้ส่งผลต่อการไม่โยกย้ายทรัพยากรสำคัญที่สุดของสังคมสมัยใหม่คืออำนาจรัฐ ให้คงอยู่ในมือคนกลุ่มเดิม

การตีความการเมืองของ Big Cleaning Day สำนวนหนึ่งเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมลบความทรงจำ ลบความเจ็บปวดของผู้สูญเสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ แทนที่ด้วยภาพเมืองในควันไฟ ความเหนื่อยล้าจากการเก็บกวาด การประกาศความเป็นเจ้าบ้าน ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความมีคุณธรรม สามัคคี ความศิวิไลซ์ (Veeraporn Nitiprapha, facebook, 24 May 2020)

การแสดงภาพเจ้าบ้านของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องออกมาทำความสะอาด (บ้าน) เมืองผลักให้เพื่อนร่วมชาติที่เพิ่งถูกสังหารและบาดเจ็บกลายเป็นผู้ร้ายผู้รุกราน

ตัวกิจกรรมนั้นเป็นการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้มาในนามของความสะอาด ความเรียบร้อย ความมีส่วนร่วมกับชุมชน ความเสียสละเพื่อส่วนรวม การเมืองชนิดนี้คือการทำให้ความโหดเหี้ยมไม่ได้เกิดจากเจตนาร้ายของคนเลว แต่เป็นไปได้ด้วยเจตนาดีของคนทั่วไปที่ตกอยู่ในอิทธิพลของโครงสร้างและเบ้าหลอมทางสังคม

อาการ ‘ตาสว่าง’ – การตระหนักรู้ถึงโครงสร้างครอบงำและการกล่อมเกลาทางสังคม ภาพใหญ่ของเหตุการณ์หรือความเป็นการเมืองของสิ่งต่างๆ ไม่ใช่ลักษณะทั่วไปของบุคคลในสังคม และไม่ใช่สิ่งที่ถาวรยืนยงครบถ้วนรอบด้านเพราะไม่มีใครตาสว่างอย่างรอบด้านยกเว้นพระเจ้า (ถ้ามีความเชื่อเรื่องนี้) การตาสว่างทำให้เห็นของบางอย่างเรื่องบางเรื่องชัดเจนขึ้นแต่ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกเรื่อง หรือบางทีก็เลวร้ายกว่านั้นเมื่อการตาสว่างอย่างเจิดจ้าในเรื่องหนึ่งทำให้มืดต่อเรื่องอื่นๆ

นอกจากนี้ สังคมก่อรูปถักทอด้วยเครือข่ายของความเข้าใจผิด ความหลงผิด ความยึดมั่นในสิ่งที่ผิดฝาผิดตัวกันอย่างซับซ้อนและหนา-แน่นจนอาจกล่าวได้ว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ร่วมเป็นสังคมได้หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ หรืออย่างน้อยมนุษย์ก็หนีไปจากสิ่งเหล่านี้ไม่พ้น ความเที่ยง-ธรรม จริง-แท้ของบุคคลหนึ่งอาจเป็นมายาภาพในสายตาของอีกบุคคลหนึ่ง

ใครบางคนกล่าวไว้ว่า “ท่านสามารถฆ่าบุคคลแต่ไม่สามารถฆ่าความคิดของเขา” แต่ซีรีส์เรื่อง Homeland มีความเห็นว่า “ทำไมต้องฆ่าบุคคลในเมื่อเราสามารถฆ่าความคิดเขาได้” (Homeland, 2011, season 1) ระบอบประชาธิปไตยมีโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้เปลี่ยนศัตรูมาเป็นคู่แข่งขันที่ไม่จำเป็นต้องฆ่าฟันกันให้ล้มหายตายจาก เพราะสิ่งที่จำเป็นสำหรับชัยชนะคือจำนวน

หนทางสู่ชัยชนะของอุดมการณ์หนึ่งๆ ในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การตราหน้าปักหมุดตรึงฝ่ายตรงข้ามให้อยู่กับที่ แต่เป็นในทางกลับกันคือการแสวงหาแนวร่วม เปลี่ยนความคิด ทำให้ย้ายข้าง เปลี่ยนฝ่าย หรือถ้าจะพูดให้ยากขึ้นนี่คือกระบวนการเปลี่ยนจากจำนวนเป็นคุณภาพและใช้คุณภาพสร้างจำนวน

จริงอยู่ที่ว่าวิธีการเปลี่ยนจำนวนให้เป็นคุณภาพวิธีหนึ่งคือ การถอดรื้อหรือรื้อสร้างเพื่อให้สาธารณชนเห็นมายาการของความปกติธรรมดาที่กดขี่รังแกเพื่อนมนุษย์ แต่การกระทำนี้จะได้ผลดีและมักกระทำในเชิงสถาบันหรือเหตุการณ์มากกว่าตัวบุคคล เพราะเป้าหมายคือถอดรื้อความปกติของสังคมเพื่อให้บุคคลในโครงสร้างได้เห็นความไม่ปกติธรรมชาติในนั้น และพิจารณาทางเลือกอื่นที่แต่เดิมไม่เคยเห็นหรือรู้ว่ามีอยู่

วิธีการรื้อสร้างเมื่อถูกนำไปใช้ในระดับบุคคล มักประสบกับปัญหาการลดพลังของการทำให้เห็นโครงสร้างลงไปเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือวิภาษบุคคล ซึ่งบ่อยครั้งวางอยู่บนจุดยืนทางศีลธรรมที่สูงส่งกว่าโดยอัตโนมัติจากจุดยืนทางการเมือง

สังคมที่เน้นศีลธรรมแบ่งแยกระหว่างผู้หลงผิดกับผู้มีดวงตาเห็นธรรม-ตาสว่าง และยึดถือคนสองจำพวกนี้เป็นสิ่งตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปิดโอกาสให้คนย้ายข้างเปลี่ยนความคิด หรือในทางกลับกันคือปิดโอกาสที่จะทบทวนความคิดของตนเองเพราะถือว่าได้เลือกฝั่งที่ทรงคุณธรรมยิ่งกว่านั้น เป็นสังคมที่คับแคบและโหดร้าย

Author

เอกสิทธิ์ หนุนภักดี
ปัจจุบันสอนวิชาสังคมวิทยาการเมืองอยู่ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า